อ่าน ‘โลกซึมเศร้า’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5)

 

[su_note note_color=”#fcfcf0″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา เขียนโดย โยฮันน์ ฮารี แปลโดย ดลพร รุจิรวงศ์ และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

ไม่ว่าคุณจะเป็นโรคซึมเศร้า มีบาดแผลทางจิตใจ หรือเป็นคนทั่วไปที่เผชิญความทุกข์เป็นครั้งคราว หนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นว่า อาการซึมเศร้าไม่ใช่เพียง ‘ความป่วยไข้’ แต่เป็นสัญญาณเตือนให้หันกลับมาทบทวนชีวิต แล้วค้นหาหนทางเยียวยาความเจ็บปวด ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสังคม เพื่อก้าวออกจาก ‘โลกซึมเศร้า’ ไปด้วยกัน[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

ภาค 3 เชื่อมต่อความสัมพันธ์อีกครั้ง (1)

 

โยฮันน์ขึ้นต้นภาคสามด้วยเรื่องเล่าจากกัมพูชา ชาวบ้านกัมพูชาคนหนึ่งขาขาดจากช่วงสงคราม พวกเขาไม่รู้จักโรคซึมเศร้าแม้ว่าจะมีหลักฐานว่าชาวบ้านคนนี้มีอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ชาวบ้านคนอื่นๆ ลงขันซื้อวัวให้ชาวบ้านคนนี้แล้วเขาก็หายจากอาการซึมเศร้าในเวลาต่อมา ดูเหมือนหลายคนจะคิดว่าการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยวัวตัวหนึ่งจะเป็นเรื่องตลก และโรคซึมเศร้ามิได้เกิดจากสารเคมีในสมองที่เสียสมดุล

ที่จริงแล้วจิตแพทย์ทุกคนไม่เคยคิดว่าการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการซื้อวัวให้เป็นเรื่องตลก เรารู้อยู่แล้วว่ามันได้ผลจริง เมื่อผู้ป่วยสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตที่สำคัญบางเรื่องได้เขาจะหายจากอารมณ์เศร้าหรือกลุ่มอาการโรคซึมเศร้าทั้ง 9 ข้อนั้นได้จริงๆ อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ก็ยังคงอธิบายได้อยู่ดี

  1. ความดีใจที่ได้วัวไปช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองจริง
  2. เรื่องสำคัญอาจจะมิใช่วัวแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงสังคมกับเพื่อนบ้าน
  3. จิตแพทย์ซื้อวัวให้ก็น่าจะมีค่าเท่ากัน แต่ก็ไม่แน่เพราะข้อ 2 สังคมต่างหากที่สำคัญ
  4. ในหลายสถานการณ์ ไม่มีใครสักคนบริเวณนั้นที่มีปัญญาซื้อวัว
  5. ราคาวัวตัวละสองสามหมื่นบาท เท่ากับค่ายารักษาโรคซึมเศร้าในโรงพยาบาลเอกชนกรุงเทพมหานครเดือนเดียว แต่ถ้าใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งหมดนี้ฟรีตลอดปี ดังนั้นลงทุนที่อะไรคุ้มค่ากว่ากัน

วิวาทะที่ว่าสมองไม่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าจึงเป็นวิวาทะที่อาจจะชวนให้เราไปผิดทิศ เพราะสมองเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าแน่ และความสัมพันธ์เชิงสังคมก็เกี่ยวข้องด้วย แต่วัวตัวนั้นอาจจะไม่แน่เพราะในเวชปฏิบัติเราก็พบผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ดีขึ้นแม้ว่าสมบัติวาสนาจะพร้อมมูล พูดง่ายๆ ว่าเศร้าท่ามกลางกองเงินกองทอง

อันที่จริงเรื่องเล่านี้น่าแปลกใจมากว่าชาวเขมรหลังสงครามยังมีเงินเหลือพอจะลงขันช่วยเพื่อนบ้าน แต่เพราะว่ามันเป็นเรื่องจริงนั่นเองยิ่งตอกย้ำว่าประเด็นมิได้อยู่ที่วัว แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์และการเกื้อกูล

เมื่ออ่านต่อไปจะพบว่าโยฮันน์ก็รู้ว่าความสัมพันธ์ต่างหากที่เป็นกุญแจไขความลับ มิใช่วัว ในภาคสามนี้เขาจึงเสนอทางแก้ไขโรคซึมเศร้าด้วยการฟื้นฟูความสัมพันธ์ 7 รูปแบบ แต่เกริ่นนำด้วยความกังวลว่าหนทางเหล่านี้ต้องการการลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง หรือรวบรวมความกล้าที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง

นี่คือส่วนที่เป็น paradox ของโรคซึมเศร้า เพราะพวกเขาจะไม่มีวันที่จะกล้าลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง และถ้าเราจะหาเรื่องกับโยฮันน์อีกสักเล็กน้อยก็จะเติมว่า “จนกว่าจะได้รับต้านอารมณ์เศร้า” แต่นี่คือคำพูดหาเรื่องชัดๆ เพราะความจริงคือจิตแพทย์เราพยายามให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงเสมอๆ บ้างด้วยคำแนะนำตรงๆ บ้างด้วยจิตบำบัด บ้างด้วยพฤติกรรมบำบัด แต่เชื่อได้ว่าทุกคนจะไปติดปัญหาที่ไม่มีเวลา โดยเฉพาะจิตแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐบ้านเราซึ่งมีภาระงานล้นมือ

ยกตัวอย่าง

เรามักบอกให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าออกกำลังกาย แม้ว่าจะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนักว่าทำไมการออกกำลังกายช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ แต่ทุกคนก็รู้ว่าผู้ป่วยที่ยอมลุกขึ้นวิ่ง ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเต้นแอโรบิกทุกวันจะมีอาการดีขึ้นชัดกว่าและเร็วกว่า ยังไม่นับว่างานวิจัยสมัยใหม่พบว่าการออกกำลังกายทุกวันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮิปโปแคมปัสอีกด้วย

ปัญหาคือเขาไม่ออก

และเมื่อเราไปสำรวจอาการ 9 อย่างของโรคซึมเศร้า จะพบว่าหนึ่งในเก้าที่เขียนคือไม่มีแรง (fatigue) เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่มีแรงจริงๆ มิได้แกล้ง ทั้งนี้ไม่นับว่าไม่อยากทำ เหตุที่ไม่อยากทำก็เพราะโรคซึมเศร้านั่นเองที่ทำให้เขาไม่อยากออกกำลังกาย มิใช่เพียงไม่อยากออกกำลังกายแต่ไม่อยากทำอะไรเลย รวมทั้งไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำอีกด้วย เอากับเขาสิ

อีกคำอธิบายหนึ่ง

เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความผิดปกติของความคิด หรือ cognition กล่าวคือผู้ป่วยพร้อมที่จะมีความคิดลบรอบด้าน ต่อตนเอง ต่อโลก และต่ออนาคต ความคิดลบรอบด้านสามร้อยหกสิบองศานี้เองที่ทำให้เขาไม่อยากเปลี่ยนแปลง ดังนั้นก่อนจะไปถึงขั้นตอนที่จะบอกให้เขาเปลี่ยนแปลง เราต้องผ่านขั้นตอนสร้างความอยากที่จะเปลี่ยนแปลงก่อน และถ้าจะพูดกันแบบหาเรื่องอีกครั้งหนึ่งก็คือ

“กินยาสิ แล้วจะอยากเปลี่ยนแปลง”

ที่จริงแล้วไม่ต้องกินยาก็ได้ จิตแพทย์มีวิธีทำจิตบำบัดเชิงความคิดระยะสั้นเรียกว่า Cognitive Therapy ใช้เวลา 10-12 ครั้ง ครั้งละ 45-60 นาทีตามมาตรฐานที่กำหนด แต่จะเห็นว่าเราหมดเวลาไปสามเดือนด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร เมื่อเทียบกับยาต้านอารมณ์เศร้าในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเวลาที่หมดไป 14 วัน

โยฮันน์อารัมภบทเรื่องราวที่เบอร์ลิน ก่อนจะไปถึงเนื้อหาสำคัญที่ว่าด้วยการฟื้นฟูโรคซึมเศร้าด้วยการฟื้นฟูความสัมพันธ์ 7 แบบ เป็นที่น่าสังเกตว่าเขาเริ่มเรื่องที่เขมรซึ่งย่อยยับหลังสงครามอินโดจีนทศวรรษที่ 1970 แล้วก็มาต่อที่เบอร์ลินซึ่งย่อยยับหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตามด้วยการสร้างกำแพงเบอร์ลินหลังจากนั้น และการทลายกำแพงเบอร์ลินซึ่งจะเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนหนึ่ง

เรื่องเล่าชุมชนนี้ยาวมาก สร้างเป็นหนังที่กินใจเรื่องหนึ่งได้สบายๆ เนื้อหาสำคัญคือเรามิได้อยู่ตัวคนเดียว หากมีโอกาสหรือมีสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยเราจะพบว่ามีคนที่มีความทุกข์แบบเดียวกับเรามากมาย และถ้าเราได้พูดคุยกันเองมากขึ้นเราจะรู้สึกดีขึ้น มีพลังมากขึ้น และลุกขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ จะว่าไปเหล่านี้คือกระบวนการจิตบำบัดกลุ่ม (Group Therapy) เพียงแต่เรื่องเล่าที่เบอร์ลินนี้เกิดขึ้นบนสถานที่จริง

“ทำตัวเป็นสาธารณะ” เป็นคำสั้นๆ ของบทสรุปเรื่องเล่านี้

เมื่อเราทำตัวเป็นสาธารณะอะไรๆ จะดีขึ้น จิตแพทย์จำนวนหนึ่งทำงานด้านนี้เสมอ เมื่อผู้ป่วยรู้สึกเครียด ไม่มีทางออก แก้ไขปัญหาชีวิตของตัวเองมิได้ ให้หยุดหมกมุ่นเรื่องของตัวเอง ลองไปทำอะไรบางอย่างให้สาธารณะดูบ้าง จะเริ่มด้วยการตั้งโรงทานก็ได้ แล้วคุณจะพบว่าอะไรๆ จะดีขึ้น

ตอนต่อไป วิธีฟื้นฟูความสัมพันธ์ 7 แบบ

 

โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา

Johann Hari เขียน

ดลพร รุจิรวงศ์ แปล

464 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่