อ่าน ‘โลกซึมเศร้า’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (4)

 

[su_note note_color=”#f0fcfb”]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา เขียนโดย โยฮันน์ ฮารี แปลโดย ดลพร รุจิรวงศ์ และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

ไม่ว่าคุณจะเป็นโรคซึมเศร้า มีบาดแผลทางจิตใจ หรือเป็นคนทั่วไปที่เผชิญความทุกข์เป็นครั้งคราว หนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นว่า อาการซึมเศร้าไม่ใช่เพียง ‘ความป่วยไข้’ แต่เป็นสัญญาณเตือนให้หันกลับมาทบทวนชีวิต แล้วค้นหาหนทางเยียวยาความเจ็บปวด ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสังคม เพื่อก้าวออกจาก ‘โลกซึมเศร้า’ ไปด้วยกัน[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

ภาค 2 ตัดขาดความสัมพันธ์

สาเหตุเก้าประการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล (2)

 

ครั้งที่แล้วเขียนถึงสาเหตุของโรคซึมเศร้าข้อแรกคือการตัดขาดจากงานที่มีความหมาย มีปรากฏในบทที่ 6 ครั้งนี้จะเป็นสาเหตุข้อที่ 2-9 มีปรากฏในบทที่ 7-13

 

การตัดขาดจากผู้อื่น

บทนี้อ้างงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าความเหงาเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า แต่จะพบปัญหาเช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชอีกบางชนิดในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหงา หรือความเหงาทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้า และแม้ว่าผู้เขียนจะเล่างานวิจัยอีกหลายชิ้นที่บอกว่าความเหงามาก่อนโรคซึมเศร้าเต็มรูปแบบ แต่จะไปพบคำอธิบายสมัยใหม่ว่าพันธุกรรมของโรคซึมเศร้าทำให้ใครคนหนึ่งเลือกที่จะใช้ชีวิตคนเดียว

วิวาทะลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับโรคจิตเภท (schizophrenia) ด้วย เพราะแม่เลี้ยงลูกผิดพลาดลูกจึงป่วยด้วยโรคจิตเภท หรือที่แท้ลูกมีพันธุกรรมของโรคจิตเภทและมีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เลี้ยงยากอยู่ก่อนแล้วแม่จึงทำกับเขาไม่เหมือนพี่น้อง

เรื่องที่ควรทราบคือคนเราแต่ละคนเกิดมาด้วยบุคลิกภาพต่างกัน บ้างชอบสังคม ดังที่เรียกว่าเอ็กซ์โทรเวิร์ต (extrovert) บ้างชอบเก็บตัว ดังที่เรียกว่าอินโทรเวิร์ต (introvert) ความจริงคือปกติทั้งคู่ และทั้งคู่มีราคาต้องจ่ายสำหรับการใช้ชีวิตเช่นนั้น ปัญหามักจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าตัวไม่ยอมรับบุคลิกภาพของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกอินโทรเวิร์ตมักถูกพ่อแม่กดดันตั้งแต่เป็นวัยรุ่นให้ทำตัวเป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ต ครั้นทำอย่างไรก็ทำมิได้จึงเกิดอารมณ์เศร้าเรื้อรังติดตามมาภายหลัง

ความคาดหวังของสังคมจึงเป็นส่วนหนึ่งด้วย ตัวอย่างที่โยฮันน์ยกขึ้นมาเกี่ยวกับพ่อแม่ของตัวเองที่มาจากชุมชนที่รู้จักกันและแบ่งปันกันทุกหลังคาเรือน เป็นตัวอย่างสากลใช้ได้กับทุกที่รวมทั้งชนบทไทย เมื่อชนบทกลายเป็นเมือง ความห่างเหินเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และเมื่อเป็นเมืองสมบูรณ์แบบเราจะไม่รู้จักข้างบ้านเลย แม้แต่ซอยเดียวกันในเมืองเมืองหนึ่ง จากที่พ่อแม่เคยดุด่า สั่งสอนและอบรมเด็กทั้งซอยได้ กลายเป็นลูกใครลูกมันไปเสีย กรณีเช่นนี้เรามองว่าสังคมเป็น supporting system หรือระบบเกื้อหนุนมิให้คนคนหนึ่งออกนอกลู่นอกทางจนเกินไป หรือไม่อยู่คนเดียวมากจนเกินไป

 

การตัดขาดจากค่านิยมที่มีความหมาย

ค่านิยมในบทนี้แบ่งออกเป็นสองขั้วง่ายๆ ก่อนคือค่านิยมด้านวัตถุ และค่านิยมด้านที่ไม่ใช่วัตถุ เป็นเรื่องที่เราทุกคนรู้มาก่อนแล้ว อยู่ที่จะจัดสมดุลหรือความสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้อย่างไร การสะสมของเล่นนำสมัยในเด็กไปจนถึงการสะสมแก้วแหวนเงินทอง บ้าน รถยนต์ ชุดเครื่องเสียง หรือชื่อเสียงส่วนตัว เหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับความสุขที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมหรือผู้อื่น แบบใดที่ดีต่อสุขภาพจิตมากกว่ากัน น่าที่คนส่วนใหญ่จะรู้คำตอบอยู่แล้ว

แต่ที่โยฮันน์เขียนก็มีสาระมาก ผมพบว่าในห้องตรวจผู้ป่วยจิตเวช เราพบว่าหลายคนไม่รู้ ความเจ็บป่วยเกิดจากเราให้ค่าผิดที่จริงๆ ความตอนนี้โยฮันน์เขียนได้น่าฟัง

“ก็เหมือนกับพายชิ้นหนึ่ง คุณมีชิ้นจิตวิญญาณ ชิ้นครอบครัว ชิ้นเงินทอง และชิ้นสุขนิยม เราทุกคนมีพายครบทุกชิ้น”

เมื่อเราตัดแบ่งชิ้นหนึ่งใหญ่ขึ้น ชิ้นที่เหลือย่อมเล็กลง เมื่อเลิกงานสี่โมงเย็น โยฮันน์เลือกจะทำงานต่อก็ได้หรือกลับบ้านไปเล่นกับลูกก็ได้ แต่ทำสองอย่างไม่ได้ มิใช่ว่าคนที่ทำงานต่อไม่รักลูก แต่เมื่อได้พายชิ้นหนึ่งใหญ่ขึ้นไปแล้ว ชิ้นที่เหลือย่อมเล็กลง

การเติมวัตถุไม่มีวันเต็ม รวมถึงการเติมยอดไลก์หรือคำชื่นชมตัวเราเองก็ไม่มีวันเต็มด้วย

 

การตัดขาดจากเรื่องสะเทือนใจในวัยเด็ก

บทนี้โยฮันน์เล่าให้ฟังถึงงานวิจัยขนาดใหญ่บางชิ้นที่ชี้ว่าเรื่องสะเทือนใจในวัยเด็กเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตามเป็นที่ยอมรับด้วยว่าเรื่องสะเทือนใจของคนหนึ่งมิใช่เรื่องสะเทือนใจของอีกคนหนึ่ง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนมีประวัติวัยเด็กที่ทารุณและน่าหดหู่ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนมีประวัติวัยเด็กที่เรียบร้อยดี นอกเหนือจากนี้ยังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนที่เริ่มป่วยหลังจากพบเหตุการณ์ตึงเครียดเพียงไม่นาน เช่น ตกงาน หรือหย่าร้าง เป็นต้น ข้อสรุปในเรื่องนี้จึงไม่สามารถทำได้โดยง่าย

ปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่ยังทำงานบนโมเดล “กาย ใจ สังคม” กล่าวคือโรคซึมเศร้าเกิดจากทั้งสามองค์ประกอบ ได้แก่ พันธุกรรม จิตใจ และเหตุการณ์ในชีวิต ประโยคสุดท้ายของโยฮันน์ในบทนี้เป็นข้อเตือนใจที่ดี

“เวลาที่คนทั่วไปเผชิญปัญหาลักษณะนี้ คุณต้องเลิกถามว่ามีตรงไหนในตัวเขาที่ผิดปกติ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มถามว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับเขา”

 

การตัดขาดจากสถานะและการได้รับเกียรติ

บทนี้เริ่มจากงานวิจัยสังคมของลิงบาบูนที่พบว่า ลิงบาบูนมีลำดับชั้นของตนเองในฝูงว่าตัวไหนใหญ่กว่าตัวไหน และจะได้สิทธิพิเศษมากกว่าไปตามลำดับ โดยที่ตัวสุดท้ายมีลักษณะทางกายภาพเสมือนหนึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั่นคือ “ก้มหัวและค้อมตัว พร้อมเอ่ยเบาๆ ว่าอย่ายุ่งกับฉันเลย เธอชนะแล้ว ฉันทนไม่ไหวแล้ว”

จากข้อสังเกตนี้นำไปสู่งานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากกว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากกว่า ตัวอย่างที่ยกมาคือสหรัฐอเมริกา และแม้ว่าจะลงไปดูที่ระดับมลรัฐก็พบปรากฏการณ์อย่างเดียวกัน นั่นคือมลรัฐที่มีความเหลื่อมล้ำมากกว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากกว่า

รายได้ที่แตกต่างกันอย่างมากในสังคมที่เหลื่อมล้ำมากทำให้ทุกคนพยายามรักษาสถานะและตำแหน่งของตนสุดชีวิตนำมาซึ่งความตึงเครียดและโรคทางจิตเวชหลากหลายชนิดรวมทั้งโรคซึมเศร้าด้วย

 

การตัดขาดจากธรรมชาติ

บทนี้พูดถึงงานวิจัยที่น่าสนใจ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ย้ายจากเมืองใหญ่ไปชนบทเทียบกับที่ย้ายจากชนบทไปเมืองใหญ่พบว่ากลุ่มหลังมีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้ามากกว่า และเมื่อทดลองใหม่โดยเปรียบเทียบระหว่างคนที่อยู่ในเขตเสื่อมโทรมที่มีสีเขียวของใบไม้น้อยกว่าพบว่าจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า

มีคำอธิบายที่น่าสนใจคือมนุษย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเคยอาศัยอยู่ในธรรมชาติมาก่อน สัตว์ต้องการการเคลื่อนไหวมนุษย์ก็เช่นกัน การกลับสู่ธรรมชาติและเคลื่อนไหวร่างกายจึงช่วยเยียวยาโรคซึมเศร้าได้ดี มีการทดลองที่บอกว่าการวิ่งบนลู่วิ่งและการวิ่งในธรรมชาติสามารถลดอาการของโรคซึมเศร้าได้ทั้งคู่แต่คนที่วิ่งในธรรมชาติมีอาการลดลงมากกว่า คำอธิบายที่ว่าทำไมการออกกำลังกายจึงช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ คำตอบคือเพราะร่างกายได้เคลื่อนไหวเท่านั้นเอง ไม่ต้องมีคำอธิบายอื่นใดที่ซับซ้อนเลย

ชวนให้นึกถึงเวลาที่ผมไปเที่ยวปางช้าง มักจะพบช้างบางตัวยืนโยกตัวตลอดเวลาเหมือนคนเป็นโรคประสาท พวกมันเครียดจริงนั่นแหละและการเคลื่อนไหวร่างกายช่วยได้

ยังมีอีกคำอธิบายหนึ่งน่าสนใจ ธรรมชาติที่กว้างขวางและยิ่งใหญ่มักทำให้เรารู้สึกว่าเราเล็กนิดเดียวเสมอและเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่ใหญ่โตกว่ามาก ความรู้สึกเช่นนี้เองที่ทำให้เรารู้จักลดอัตตาและลดความต้องการลง

ชวนให้นึกถึงเรื่องที่ผมชอบขับรถไปตามถนนเส้นเล็กในชนบท และพบว่ายังมีพื้นที่ว่างเปล่าเขียวขจีอุดมสมบูรณ์อีกมากมายนอกเมือง นอกที่ทำงาน นอกถนนใหญ่ ผมมักพูดกับคนข้างๆ เสมอว่าคนที่คิดฆ่าตัวตายน่าจะออกมาอยู่แถวนี้สักพัก ถือเสียว่าเป็นการซ้อมตายก่อนจะฆ่าตัวตายจริง มาอยู่คนเดียวในธรรมชาติกว้างใหญ่ห่างจากผู้คนแล้วค่อยสำรวจตนเองอีกครั้งว่ารู้สึกอย่างไรแน่

 

ตัดขาดจากอนาคตที่สดใสหรือมั่นคง

ความข้อนี้มีปรากฏในตำราจิตเวชศาสตร์อยู่แล้ว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความผิดปกติของ cognition กล่าวคือรับรู้และตีความสิ่งต่างๆ ผิดไปจากความเป็นจริง มีสามเรื่องใหญ่ที่ผู้ป่วยตีความผิด แล้วมองเห็นแต่ด้านร้าย แง่ลบ และไม่มีทางออก ได้แก่ การมองตนเองในแง่ลบ การมองโลกในแง่ลบ และการมองอนาคตในแง่ลบ รวมเรียกว่า negative cognition

ผมพบว่าบ่อยครั้งที่จิตแพทย์รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปพักหนึ่งแล้วผู้ป่วยยังคงพูดว่ารักษามาตั้งนานแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นเลย คำอธิบายคือผู้ป่วยยังคงมองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่ลบแม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการรักษาแล้วเขามีชั่วโมงการนอนที่ยืดยาวขึ้นมาก มีการทำร้ายตนเองลดน้อยลงไปมาก มีอาการร้องไห้ลดลงไปอย่างมาก หรือสามารถทำงานได้แล้วจากเดิมสูญเสียสมาธิอย่างรุนแรงไม่สามารถทำงานได้ ถ้าแจงให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเห็นตัวชี้วัดเหล่านี้เขาจึงจะยอมจำนนว่าที่แท้แล้วเขาดีขึ้นมาก มิใช่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยอย่างที่เขารู้สึก

 

บทบาทที่แท้จริงของยีนและการเปลี่ยนแปลงในสมอง

เริ่มด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสมอง ปัจจุบันเรารู้แล้วว่าสมองของคนเรามีสิ่งที่เรียกว่า plasticity กล่าวคือมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสูงมาก โดยที่สมองจะพัฒนาตัวเองไปตามการใช้ชีวิตและพฤติกรรม พูดง่ายๆ ว่าเด็กอนุบาลที่เล่นมากกว่าเรียนจะได้สมองแบบหนึ่ง ส่วนเด็กอนุบาลที่เรียนมากกว่าเล่นก็จะได้สมองอีกแบบหนึ่ง นอกจากนี้สมองยังมีสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการตัดแต่ง (pruning) มาคอยตัดแต่งจุดประสานประสาทที่เรียกว่า synapses ให้เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตของเจ้าตัว เช่น หากใช้ไอทีมากก็จะได้สมองแบบหนึ่ง หากอ่านหนังสือมากก็จะได้สมองอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น

เรื่องพันธุกรรมเป็นเรื่องที่มีงานวิจัยในฝาแฝดและบุตรบุญธรรมมากแล้วว่าโรคซึมเศร้าถ่ายทอดทางพันธุกรรมจริง อย่างไรก็ตามผู้มีพันธุกรรมมิได้ลงเอยด้วยการป่วยทุกคนเพราะพันธุกรรมจะแสดงออกเมื่อมีการเปิดสวิตช์ด้วยเหตุการณ์จำเพาะด้วย

การสรุปว่าโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องของสมองและพันธุกรรมโดยตัดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือสังคมออกไปมิได้ช่วยลดการตีตราดังที่เคยคาดหวัง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในปัจจุบันยังคงถูกตีตราอยู่ดี และหลายครั้งถึงกับไปลดทอนความเป็นมนุษย์ กล่าวคือประสบการณ์ของคุณไม่มีค่าอะไรควรแก่การพูดถึงเลย คุณป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเพียงเพราะพันธุกรรมไม่ดีหรือสมองไม่ดีเท่านั้นเอง

ความเป็นมนุษย์ของคุณมิได้มีความหมายอะไรตั้งแต่แรก – คือที่ได้จากการอ่านภาคสองนี้

 

โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา

Johann Hari เขียน

ดลพร รุจิรวงศ์ แปล

464 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่