อ่าน ‘โลกซึมเศร้า’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)

 

[su_note note_color=”#f0fcfb”]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา เขียนโดย โยฮันน์ ฮารี แปลโดย ดลพร รุจิรวงศ์ และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

ไม่ว่าคุณจะเป็นโรคซึมเศร้า มีบาดแผลทางจิตใจ หรือเป็นคนทั่วไปที่เผชิญความทุกข์เป็นครั้งคราว หนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นว่า อาการซึมเศร้าไม่ใช่เพียง ‘ความป่วยไข้’ แต่เป็นสัญญาณเตือนให้หันกลับมาทบทวนชีวิต แล้วค้นหาหนทางเยียวยาความเจ็บปวด ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสังคม เพื่อก้าวออกจาก ‘โลกซึมเศร้า’ ไปด้วยกัน[/su_note]

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

ภาค 2 ตัดขาดความสัมพันธ์

สาเหตุเก้าประการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล (1)

 

โยฮันน์เขียนภาคสองนี้ 9 บทเพื่ออธิบายสาเหตุ 9 ประการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล โดยที่บทที่ 5 เป็นการเกริ่นนำ ส่วนบทที่ 13 พูดถึงสาเหตุข้อที่ 8 และ 9

ก่อนอื่น ควรทราบว่าโรคซึมเศร้า (Major Depression) และโรควิตกกังวล (Generalized Anxiety Disorder) เป็นคนละโรคกัน มีที่มา พยาธิสภาพ และกลุ่มอาการต่างกัน

ความสับสนของงานจิตเวชเป็นเรื่องของคำศัพท์ตั้งแต่แรกมานานแล้ว กล่าวคือเรากำลังพูดเรื่องเดียวกันด้วยคำศัพท์ที่ต่างกัน หรือพูดถึงโรคคนละโรคด้วยคำศัพท์เดียวกันกันแน่

แม้แต่คำศัพท์สองคำข้างต้น ก็เป็นเพียงคำศัพท์ทั่วไปที่แพทย์จำนวนหนึ่งใช้ แต่ถ้าเราจะลงรายละเอียด ลำพังคำว่า Major Depression มีความหมายแตกต่างกันไปในตำราแต่ละเล่ม คู่มือจำแนกโรคขององค์การอนามัยโลก (ICD) และคู่มือจำแนกโรคของสมาคมจิตแพทย์สหรัฐฯ (DSM) เรียกชื่อ นิยาม และบรรยายต่างกัน พูดง่ายๆ ว่าคนคนหนึ่งอาจจะเข้าข่ายโรคซึมเศร้าตามนิยามขององค์การอนามัยโลก แต่ไม่เข้าข่ายโรคซึมเศร้าตามนิยามของสมาคมจิตแพทย์สหรัฐฯ ได้เฉย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในเวชปฏิบัติ (ปรากฏการณ์ทำนองนี้เกิดได้กับแพทย์ทุกสาขา) แต่วิทยาศาสตร์ด้านจิตเวชไม่ให้เกิดขึ้นในงานวิจัย ดังนั้นเมื่อจะวิจัย คำนิยามและเกณฑ์วินิจฉัยจำเป็นต้องชัดตั้งแต่แรกว่าเรากำลังวิจัยใคร

พูดง่ายๆ ว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไร

โรคซึมเศร้ามีหลายชนิด ดังนั้นเวลาเราพูดขึ้นมาว่า “โรคซึมเศร้า” ที่จิตแพทย์ถามในใจคือชนิดไหน ผมแบ่งเร็วๆ ในใจวันนี้มีมากกว่า 10 ชนิด ยกตัวอย่างแค่ 2 ชนิดก่อน Unipolar Depression ไม่เหมือน Bipolar Depression มีที่มา พยาธิสภาพ และกลุ่มอาการต่างกัน พวกเขาเป็นคนละคนกัน วิธีรักษาด้วยยาต่างกัน และถ้าจิตแพทย์จะทำจิตบำบัดหรือให้คำปรึกษา ก็จะทำด้วยเป้าหมายที่ต่างกันและด้วยวิธีที่ต่างกัน เราไม่สับสนอลหม่านกับเรื่องเช่นนี้

อนึ่ง คำว่า Unipolar Depression และคำว่า Bipolar Depression ก็เป็นคำศัพท์รุ่นเก่าที่จิตแพทย์รุ่นเก่าแบบผมใช้ สมัยนี้เรามีคำศัพท์เป็นทางการของ ICD และ DSM เรียกหาผู้ป่วยสองคนนี้ด้วยนิยามและข้อบ่งชี้ที่ต่างออกไปอีกเล็กน้อย เพียงแต่ผมถนัดเรียกหาด้วยคำสั้นๆ เท่านี้เสมอมา ประเด็นนี้สำคัญ มีคำถามเสมอมาว่าโรคซึมเศร้า (รวมทั้งโรคสมาธิสั้น) เป็นเราสร้างขึ้นเองทำให้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมหาศาลตามตลาดยาหรือเปล่า หรือที่จริงมีอยู่ก่อนแล้วแต่เราเพิ่งค้นพบ

ผมมีคำตอบส่วนตัวว่าถูกทั้งคู่

เรื่องเราสร้างขึ้นเองเพื่อขายโรคแล้วตามด้วยขายยาตามยุทธศาสตร์อุบายขายโรคนั้นเป็นที่รู้กันว่ามีทุกสาขามิใช่เฉพาะสาขาจิตเวชศาสตร์ เราบอกว่าคุณป่วยด้วยโรค X แล้วเราขายยา X  พอยา X ล้นตลาดเราก็ห่อโรค X ด้วยแพ็กเกจใหม่แล้วออกสื่อว่าคนจำนวนมากกำลังเป็นโรค Y แล้วเราก็ขายยา Y พร้อมทั้งวางงานวิจัยรองรับยา Y นี่เป็นเรื่องที่ธุรกิจยาและการแพทย์ทำกัน เราจึงจำเป็นต้องรู้ทัน แต่โรคทางจิตเวชหลายๆ โรคในปัจจุบันก็มีมาก่อนแล้วจริงๆ เพียงแต่เราไม่สามารถขีดวงให้ชัดเท่านั้นเองว่านี่คือโรค a b c d ไปจนถึง x y z

เราเรียกรวมๆ ด้วยคำคำเดียวคือ ผีเข้า

โรคซึมเศร้าวันนี้ในศตวรรษที่ 21 ที่จังหวัดเชียงรายที่ผมทำงานก็ยังมีหลายคนเชื่อว่าผีเข้า ซึ่งสมเหตุผลมาก จู่ๆ นักเรียนคนหนึ่งก็หยุดเรียน ไม่พูด ถามไม่ตอบ ไม่หลับไม่นอน เดินไปมาเงียบๆ ผมเผ้ากระเซิง น้ำไม่อาบ แล้วกระโดดน้ำตาย ไม่เรียกผีเข้าแล้วจะเรียกว่าอะไร แต่ทั้งหมดนี้มิได้แปลว่าผีมีชนิดเดียว ผีสร้างโรคจิตเวชได้ตั้งแต่ a ถึง z แล้วงานวิจัยสมัยใหม่เราก็กำลังค่อยๆ คลี่คลายและอาจจะพบว่าที่แท้โรค a และโรค s เป็นโรคซึมเศร้าทั้งคู่ นักเรียนโรค a เป็นอย่างที่เล่ามาสักครู่ แต่นักเรียนโรค s นั่งดื่มกับเพื่อนอย่างสนุกสนานสามวันแล้วแขวนคอตายเฉย เป็นต้น หากเป็นสมัยก่อน (ว่าไปสมัยนี้ก็ยังทำ) พ่อแม่ของนักเรียนทั้งสองคนจับนักเรียนที่ป่วยไปไล่ผี

หรือสืบชะตา

ไล่ผี เช่น นักเรียนนั่งพนมมือกลางลานบ้านพ่อหมอ พ่อหมอเอาน้ำมนตร์ทั้งถังสาดโครม อย่างเจ็บจะบอกให้ สืบชะตา เช่น พระเรียงข้าวสารเป็นร่างของเราแล้วให้เรานอนบนข้าวสารร่างคน เอาผ้าขาวคลุมแล้วสวดศพเป็นอันเสร็จพิธี นักเรียนเกิดใหม่ด้วยชะตาที่ไฉไลกว่าเดิม มาวันนี้พ่อหมอ (คนที่เขียนบทความนี้) จ่ายยาเฉย นักเรียน a และ s จะได้ยาคนละชนิด และถ้าพ่อหมอจะทำจิตบำบัด (หลังจากตรวจผู้ป่วย 100 คนแรกเสร็จก่อนอะนะ) ก็จะทำจิตบำบัดด้วยคนละแนวทาง เพราะที่แท้แล้วเขาสองคนเป็นโรคซึมเศร้าคนละแบบ ไม่นับว่าเราต้องเช็กก่อนว่ามีข้อบ่งชี้หรือข้อห้ามในการทำจิตบำบัดหรือเปล่าอีกด้วย เพราะ a และ s มีพื้นฐานที่มาที่ต่างกัน ศักยภาพในการรับมือจิตบำบัดไม่เท่ากัน

ทำจิตบำบัดในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามอาจจะเหนี่ยวนำให้เขาฆ่าตัวตายเฉยได้เช่นกัน

เขียนมายืดยาวเพียงนี้เพื่อเตือนว่าลำพังการอ่านเรื่องที่โยฮันน์เขียน เราอาจจะต้องถามตนเองอยู่เสมอว่าเรากำลังหมายถึงใคร ระหว่างโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล หรือเราจะพูดพร้อมๆ กัน ซึ่งก็ไม่ผิดกติกาอะไร อย่างไรก็ตามควรรู้ว่างานวิจัยสมัยใหม่มีความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์ด้านสมองมาก ความเที่ยงตรงและแม่นยำของแบบประเมินที่สามารถแยกโรคทางจิตเวชออกเป็น a ถึง z ก็พัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ จริง

บทที่ 6 เล่าเรื่องการตัดขาดจากงานที่มีความหมาย

ข้อเขียนของโยฮันน์บทที่ 6 นี้ผมสรุปได้ว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเกิดจากการตกอยู่ในสภาพที่ต้องทำงานที่ไม่มีความหมายเป็นเวลานานโดยไม่มีทางออก หรือการตกอยู่ในสภาพการทำงานที่ไม่สามารถเสนอข้อคิดเห็นหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยเป็นเวลานานโดยไม่มีทางออก

รายละเอียดและตัวอย่างผู้ป่วยตามแบบฉบับมีแสดงในหนังสือ

จิตเวชศาสตร์เรียกภาวะเช่นนี้ว่า Learned Helplessness แปลสั้นๆ ว่าเรียนรู้ที่จะหมดทางช่วยเหลือ อธิบายคือภาวะหมดทางช่วยเหลือที่เกิดจากการเรียนรู้ หรือถูกทำให้เรียนรู้ (เติม -ed) ว่าหมดทางช่วยเหลือ มีเขียนในตำราจิตเวชศาสตร์หลายสิบปีแล้ว เป็นหนึ่งในหลายสิบโมเดลของการเกิดโรคซึมเศร้า ที่อธิบายตั้งแต่พันธุกรรมไปจนถึงสิ่งแวดล้อม

ภาวะเรียนรู้ที่จะหมดทางช่วยเหลือนี้หมายความว่าอย่างไร

หมายความว่าผู้ป่วย “เรียนรู้” ได้ในเวลาที่ยาวนานช่วงหนึ่งว่าเราไปไหนไม่ได้ ต้องทำงานนี้ชั่วชีวิต ไม่ชอบงานนี้และแก้ไขมันไม่ได้ รวมทั้งไม่สามารถเสนอแนะหรือเปลี่ยนแปลงอะไรมันได้ด้วย ประเด็นคือคำว่า “เรียนรู้” เมื่อผู้ป่วยเป็นประธานของประโยค แต่ที่จริงเขาถูกบังคับให้ “เรียนรู้” ไว้ซะดีๆ ว่ามึงไปไหนไม่พ้นหรอก ไม่ต้องพยายามเลย มึงก้มหน้างานแบบนี้ไปเรื่อยๆ ชั่วชีวิตดีที่สุดแล้ว

คำถามคือนี่ดีที่สุดแล้วจริงหรือ?

การโจมตีหรือทำลายกรอบความคิดแบบนี้ของผู้ป่วยง่ายมาก จริงหรือที่ว่าไม่มีทางออก พรุ่งนี้ไปยื่นใบลาออกก็เสร็จแล้ว (ซึ่งอาจจะอดตายในเวลาไม่นาน) จริงหรือที่ว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ สมมติว่าเราเปลี่ยนแปลงงานมิได้จริงๆ ก็เปลี่ยนแปลงตนเองให้ยอมรับสภาพที่เปลี่ยนแปลงมิได้เสียสิแล้วจะรู้สึกดีขึ้น ส่วนคำถามที่ผมเติมเข้ามาเองว่านี่ดีที่สุดแล้วจริงหรือ ก็แก้ได้ด้วยการเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าแล้วย้ายบ้านไปจังหวัดอื่นเท่านั้นเองจึงจะรู้ว่าที่ดีที่สุดแล้วจริงหรือเปล่า

จะเห็นว่าภาวะ learned helplessness นี้มีส่วนจริง มิใช่ผู้ป่วยคิดไปเอง ระบบงานที่แย่ ค่าตอบแทนที่ต่ำเหลือกำลัง บ้านที่ไม่ให้โอกาสลูกหลานย้ายออกไปเพราะต้องอยู่กตัญญู หรือสังคมชนชั้นที่ทำงานมากเท่าไรก็ยากจนเท่าเดิม เหล่านี้จริงทั้งสิ้นผู้ป่วยมิได้คิดไปเอง อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งเกิดจากการเรียนรู้ด้วย

นั่นแปลว่าเป็นไปได้ที่เราเรียนรู้ผิด

ความจริงเล็กๆ อีกข้อหนึ่งคือเราแก้ได้เพียงแต่ไม่ยอมแก้เท่านั้นเอง ซึ่งประการหลังนี้จิตแพทย์ช่วยได้ ไม่ว่าจะด้วยยาหรือการทำจิตบำบัด ทั้งนี้แล้วแต่ผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้อะไร และจิตแพทย์มีฝีมือแค่ไหนเป็นสำคัญ สมมติว่าแก้มิได้จริงๆ เราทำให้ผู้ป่วยยอมรับได้ ขอเพียงยอมรับกลับจะมีหนทางใหม่ๆ บางเส้นปรากฏขึ้นตรงหน้า

ยอมรับ (accept) มิใช่ยอมแพ้ (surrender)

จิตบำบัดอาจจะใช้เวลา 10 สัปดาห์ หลังจากพบกันสัปดาห์ละ 1 ครั้งครั้งละ 1 ชั่วโมง นาน 10 ครั้ง

ยาต้านอารมณ์เศร้าหรือยาจิตเวชตระกูลอื่นอาจจะทลายกรอบความคิดที่มีอยู่ได้ใน 14 วัน

 

โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา

Johann Hari เขียน

ดลพร รุจิรวงศ์ แปล

464 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่