
ปวริศ อำนวยพรไพศาล เรียบเรียง
คุณเชื่อเหมือนกันไหม เชื่อในความสามารถที่ไม่สิ้นสุดของนักเรียน พวกเขาทุกคนมีศักยภาพสรรค์สร้างความเป็นไปได้ที่น่าทึ่ง ทุกคนมีความสามารถเฉพาะตัวซุกซ่อนอยู่เพียงแต่ยังไม่รู้ตัว ปัญหาคือจะทำอย่างไรเพื่อดึงความสามารถนั้นออกมา ตรงนี้ละที่ครูจะช่วยนักเรียนได้
หน้าที่อย่างหนึ่งของครูคือการดึงเอาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของนักเรียนแต่ละคนออกมา ภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ฟังดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่เราจะทำอย่างไรล่ะให้เด็กๆ เชื่อในสิ่งที่คุณพูด ลองคิดภาพตามว่าคุณจะเชื่อใครระหว่างคนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคุณเลยนอกจากคะแนนสอบครั้งล่าสุด กับคนที่ตั้งใจและพยายามจะรู้จักคุณ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การจะดึงความสามารถของตัวนักเรียนออกมา ให้เขาตระหนักในศักยภาพของตัวเอง ครูต้องเริ่มต้นจากการสร้างสัมพันธ์ที่ดีและลึกซึ้งต่อนักเรียน
บทความนี้ว่าด้วยเรื่องของครูกับนักเรียน กลวิธีสานสัมพันธ์ต่อกัน และตัวอย่างแบบฝึกคิดที่น่าสนใจ
มาจับมือกันดีกว่า
ตัวอย่างของสายสัมพันธ์ที่ดีอาจดูได้จากคลิปไวรัลในปี 2017 เกี่ยวกับกิจกรรมยามเช้าสุดพิเศษของครูประจำชั้นเกรดห้าในเมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา ทุกๆ เช้า แบร์รี ไวต์ จูเนียร์ (Barry White, Jr.) จะจับมือและทักทายกับนักเรียนด้วยท่าทางน่าสนุก นักเรียนจะต่อแถวหน้าประตูห้องเพื่อรอจับมือทักทายด้วยท่าทางในรูปแบบที่พวกเขาคิดขึ้นมาเอง
ครูไวต์กับนักเรียน จับมือทักทายกันแบบสร้างสรรค์
“ก่อนที่ผมจะถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนได้ นักเรียนต้องไว้ใจครูเสียก่อน” – แบร์รี ไวต์ จูเนียร์
คำกล่าวของไวต์ไม่ไกลเกินความเป็นจริงเลย เนื่องจากมีผลวิจัยชี้ว่า การสานสัมพันธ์คือก้าวแรกที่สำคัญของการเรียนรู้ ความสัมพันธ์อันดีตั้งแต่แรกเริ่มกับครูผู้สอนจะสะท้อนไปถึงผลการเรียนที่ดีเมื่อเวลาผ่านไป ในทำนองเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่ไม่ดี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลการเรียนออกมาไม่ดีเช่นกัน
“นักเรียนทุกคนควรมีผู้สนับสนุน ผู้ใหญ่ที่จะไม่ทอดทิ้งพวกเขา ผู้ที่เข้าใจถึงพลังแห่งความสัมพันธ์ และยืนยันกับเด็กๆ ว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้นและได้เป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด” – ริตา เพียร์สัน
ข้างต้นคือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากไวต์และเพียร์สัน คำแนะนำนี้น่าจะช่วยให้ครูพานักเรียนเตรียมตัวเพื่อไปถึงเป้าหมายในภายภาคหน้าได้ แต่ในความเป็นจริงการสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ไม่ง่าย เช่น จำนวนนักเรียนที่มากเกินไป ภาระงานของครูที่เกินพอดี การควบคุมอารมณ์ของเด็กนักเรียนที่อาจไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ หากตัวอย่างดังกล่าวทำให้เรารู้สึกท้อ ก็ขอให้เรามองว่าอุปสรรคที่พบเจอนั้นเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนา อันเป็นมุมมองของผู้ที่มีชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset)
สานสัมพันธ์กับนักเรียนเจ้าปัญหา
เป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป เมื่อนักเรียนไม่ได้ประพฤติตัวอย่างที่ครูต้องการ ซึ่งเป็นได้ทั้งเรื่องเล็กน้อยอย่างลืมทำการบ้าน เหม่อลอย ไปจนถึงขั้นก่อกวน แต่เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าพฤติกรรมของเด็กๆ ก็คือครูมีท่าทีตอบกลับนักเรียนอย่างไร
ครูที่มีชุดความคิดแบบตายตัว (fixed mindset) อาจตอบสนองด้วยความหงุดหงิด รำคาญใจ และด่วนสรุปตัดสินไปว่าเด็กนักเรียนคนนั้น “ไม่ตั้งใจเรียน” จึงน่าจะดีกว่าหากครูหันมารับมือด้วยชุดความคิดแบบเติบโตการพยายามเข้าใจพฤติกรรมของเด็กว่ามีที่มาหรือมีสาเหตุจากอะไร ทั้งครูและนักเรียนก็คงจะช่วยกันแก้ไขปัญหานั้นได้
ใน แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset ผู้เขียนทั้งสองคือ แอนนี บร็อก (Annie Brock) และ เฮเธอร์ ฮันด์ลีย์ (Heather Hundley) ได้ยกตัวอย่างคู่ความสัมพันธ์สมมติระหว่างนักเรียนกับครูขึ้นมา โดยนักเรียนคนนี้ชื่อว่าเชน เชนเป็นเด็ก “เจ้าปัญหา” ที่ครูอย่างลอราต้องเผชิญ เชนทั้งขัดจังหวะการสอน คุยกับเพื่อน ไม่ทำการบ้าน ไม่สนใจการเรียน ทำตัวมีปัญหาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเรียน และลอราเองก็ไม่พอใจเชนอย่างชัดเจน ยิ่งลอราปรามเชนเท่าไร เขาก็ยิ่งทำตัวแย่หนักข้อมากขึ้น วันหนึ่งเธอจึงระบายเรื่องของเชนให้ครูคนอื่นฟังในห้องพักครู ทว่าลอราก็ต้องแปลกใจเพราะไม่มีเพื่อนครูคนใดที่มีปัญหากับเชนเลย หนำซ้ำเชนยังเป็นที่ชื่นชอบของครูอีกด้วย ครูคณิตศาสตร์บอกลอราว่า “บางทีที่เชนทำตัวต่อต้านคงเพราะปัญหาครอบครัวน่ะ พ่อแม่เขาหย่ากัน”
ลอราไม่เคยนึกถึงเรื่องที่เชนต้องเจอนอกห้องเรียนเลย เมื่อได้คุยกับครูคนอื่นและรู้เรื่องราวของเชนมากขึ้น เธอจึงเข้าใจมากขึ้นและเริ่มปฏิบัติกับเชนดีขึ้น ลอราเริ่มจากการชื่นชมเชนเมื่อรู้ว่าเขาไปแข่งฟุตบอลและผลออกมาดี จากนั้นในคาบเรียนวรรณกรรมเรื่องเชกสเปียร์ เธอก็ถามคำถามกับเชนว่าเขาอยากแสดงเป็นตัวละครตัวไหนเพราะเห็นว่าเชนเรียนวิชาการละคร เชนประหลาดใจเล็กน้อย แต่ก็กระตือรือร้นที่จะตอบคำถาม วันนั้นเขาไม่มีปัญหาเรื่องความประพฤติเลย
ลอราพบว่าการพยายามทำความรู้จักตัวตนของเชนให้มากขึ้น ช่วยควบคุมไม่ให้สถานการณ์บานปลายได้ ทั้งยังตระหนักด้วยว่าพฤติกรรมที่เชนแสดงออกในห้องเรียน เป็นกลไกรับมือกับสิ่งที่เขาต้องพบเจอนอกชั้นเรียน หากลอรายังคงติดอยู่ในวังวนแห่งการลงโทษ ดัดนิสัย และต่อว่า สถานการณ์คงยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม
แนวทางสานสัมพันธ์กับนักเรียน
ต่อไปนี้คือตัวอย่างแนวทางการสานสัมพันธ์ที่ครูสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมได้
- กิจกรรมยามเช้า: ให้นักเรียนนั่งเป็นวงกลมและบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อวันนั้นๆ ให้ครูแบ่งเวลาให้คนที่มีความรู้สึกลบได้เขียน บักทึก วาดรูป หรือพูดคุย เพื่อพร้อมเริ่มต้นวันใหม่
- กระเป๋า “เรื่องเล่าของฉัน”: ให้นักเรียนเล่าเรื่องราวจากสิ่งของที่อยู่ในกระเป๋าของพวกเขา ว่าเกี่ยวข้องกับตัวตนของตัวเองอย่างไร และให้ครูนำเรื่องเหล่านั้นไปสานสัมพันธ์กับนักเรียนต่อ
- ข้อตกลงร่วมกัน: กำหนดข้อตกลงร่วมกันกับนักเรียนแทนที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เอง โดยต้องเป็นข้อตกลงที่กระตุ้นให้เกิดสภาพแวดล้อมแห่งการเติบโต
- ถาม-ตอบ: ถามคำถามนักเรียนหรือให้นักเรียนแลกเปลี่ยนกันถามตอบ และนำข้อมูลที่ได้รับมาสานสัมพันธ์
- สร้างตัวตน: ให้นักเรียนออกแบบสิ่งที่บ่งบอกตัวตน (เช่น ป้ายชื่อ เพลง หนังสือ สิ่งประดิษฐ์) ที่สื่อถึงความสนใจ ความกลัว ความหวัง แล้วให้ทำความเข้าใจว่าทุกคนล้วนมีจุดอ่อนจุดแข็ง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นหล่อหลอมให้เราเป็นเรา
- สื่อสารเชิงบวก: สื่อสารกับนักเรียนแต่ละคนด้วยข้อความเชิงบวก
วิธีจัดการกับปัญหาพฤติกรรม
ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนบนพื้นฐานของความเคารพต่อกันเปรียบได้กับรากฐานที่มั่นคงและยืดหยุ่นเมื่อถึงคราวที่ต้องพูดคุยประเด็นละเอียดอ่อนหรือชวนให้ลำบากใจ การเอาแต่จับผิดนักเรียนอาจส่งผลให้ครูยิ่งจัดการปัญหาไม่ได้
ใน แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset ได้แนะนำวิธีที่จะรับมือกับปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับนักเรียนด้วยวิธีจดบันทึกแบบเป็นระบบ โดยให้ดูเทียบกับตารางด้านล่างนี้ เริ่มต้นจาก เมื่อครูสังเกตพบพฤติกรรมบางอย่างของนักเรียน ให้จดลงในตารางช่องที่หนึ่งในหัวข้อ “พฤติกรรมที่พบ … ” และยิ่งมีรายละเอียดก็ยิ่งดี แล้วจากนั้นในตารางช่องที่สอง ให้ครูตั้งคำถามถึงพฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออก จากนั้นจึงลองคิดหาคำตอบลงในช่องที่สาม และช่องสุดท้าย ให้เขียนวิธีแก้ไขปัญหาและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้
ตัวอย่างตารางที่เสร็จเรียบร้อยจะมีลักษณะดังนี้
อย่าหงุดหงิดรำคาญใจ แต่จงสงสัยใคร่รู้
หากครูไม่ลงรอยกับนักเรียนคนหนึ่ง ให้ลองตั้งข้อสงสัยแทนที่จะหงุดหงิด ไม่มีประโยชน์เลยถ้ามัวแต่จะตั้งแง่กับนักเรียน หากครูพบปัญหาในการสานสัมพันธ์กับนักเรียน จงถามตัวเองและตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า คุณมีทัศนคติอย่างไรกับนักเรียนคนนั้น ต่อไปนี้คือตัวอย่างคำถามสำหรับทบทวนตนเอง
- จริงๆ แล้วฉันรู้สึกอย่างไรกับนักเรียนคนนี้
- ฉันแสดงออกถึงความรู้สึกดังกล่าวกับนักเรียนระหว่างคาบเรียนหรือไม่
- ฉันได้แสดงท่าทางที่บ่งบอกถึงความไม่ใส่ใจหรือความไม่คาดหวังหรือไม่ (เช่น กลอกตา ยิ้มเยาะ หรือถอนหายใจ)
- สถานการณ์ใดที่มักกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมหรืออากัปกิริยาเชิงลบ
- ฉันคาดหวังในตัวนักเรียนเกินกว่าที่พวกเขาจะทำได้ในตอนนี้หรือไม่
- ฉันหงุดหงิดนักเรียนคนนี้เพราะจริงๆ แล้วฉันรำคาญ หงุดหงิด หรืออารมณ์เสียเพราะเรื่องอื่นอยู่หรือเปล่า
- ฉันจะอารมณ์เสียกับพฤติกรรมไม่ดีของเด็กคนนี้ แต่จะให้อภัยนักเรียนคนอื่นที่แสดงพฤติกรรมในแบบเดียวกันใช่หรือไม่
- ฉันจะลดระดับความหงุดหงิดที่มีต่อนักเรียนคนนี้ได้อย่างไร
- ฉันได้มองหาสาเหตุที่นักเรียนแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นในชั้นเรียนอย่างถี่ถ้วนแล้วหรือยัง
เมื่อเข้าใจความรู้สึกและปฏิกิริยาที่ตัวเองมีต่อนักเรียน คุณอาจจะแปลกใจว่าแท้จริงแล้วคุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่ย่ำแย่ส่งผลเสียต่อครูเช่นกัน
บทความชื่อ “Something Is Rotten in the State of US Education” ในเว็บไซต์ theconversation.com ซึ่งกล่าวถึงอัตราการลาออกของครูได้ระบุว่า ครูส่วนใหญ่มักรู้สึกกดดันและเร่งรีบที่โรงเรียนเพราะต้องสอนโดยยึดตามหลักสูตร จนไม่มีเวลาสานสัมพันธ์อย่างมีคุณภาพกับนักเรียน และมีงานวิจัยที่ระบุว่าปฏิสัมพันธ์เชิงลบระหว่างครูกับนักเรียน เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะเครียดในที่ทำงานของครู ซึ่งบร็อกกับฮันด์ลีย์มีคำแนะนำให้ หากครูถูกกดดันให้ยึดตารางสอนและกิจวัตรที่อัดแน่นจนไม่มีเวลาสานสัมพันธ์กับนักเรียน ดังนี้
- สนทนาผ่านบันทึก: ครูกับนักเรียนจะคุยกันผ่านการเขียน นอกจากจะช่วยให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการเขียนแล้วยังช่วยสานสัมพันธ์ได้ดีอีกด้วย
- สัมมนาแบบโสคราตีส: กระตุ้นให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมอภิปรายในชั้นเรียนอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเราเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนในชั้นเรียนได้พูด เท่ากับเราได้ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนที่บางครั้งไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
- กลวิธี 2×10: ใช้เวลา 2 นาทีต่อวันคุยกับนักเรียนหนึ่งคนในเรื่องที่เขาสนใจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 วัน
- เข้าร่วมกิจกรรม: เข้าชมหรือร่วมกิจกรรมที่นักเรียนทำนอกเวลา
- ยืนรอที่ประตู: ทักทายนักเรียนเพื่อสร้างบรรยากาศ จะดียิ่งขึ้นหากคุณสังเกตสิ่งต่างๆในตัวนักเรียนแล้วทักออกมา เช่น การแข่งขันกีฬาเมื่อวันก่อน หรือทรงผมใหม่
นักขว้างดาว
หากคุณคิดว่าก็นักเรียนทั้งโรงเรียนมีเป็นร้อยเป็นพันคน แล้วอย่างนี้จะสานสัมพันธ์กับนักเรียนทุกคนได้อย่างไร ถ้าเป็นเช่นนั้นเราขอให้คุณอย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะในระหว่างที่คุณกำลังตั้งใจมุ่งมั่นอยู่นั้น อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับตัวนักเรียนหลายคนแล้ว
บร็อกกับฮันด์ลีย์ยกตัวอย่างต่อกรณีนี้ผ่านเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับชายที่โยนปลาดาวที่เกยตื้นขึ้นมาตามชายหาดกลับลงทะเล เพราะถ้าไม่ทำพวกมันคงตายกันหมด ทีนี้ก็มีชายอีกคนเดินผ่านมาเห็น ด้วยความสงสัยจึงเข้าไปคุยกับชายผู้โยนปลาดาว เมื่อได้ทราบเรื่องเขาจึงแย้งว่า“คุณไม่รู้หรือว่าชายหาดนี้ยาวเท่าไรและมีปลาดาวเป็นพันๆ ตัว คุณไม่มีทางโยนได้เร็วพอจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอก” หลังจากนั้นชายหนุ่มผู้โยนปลาดาวก็หยิบปลาดาวตัวหนึ่งขึ้นมาและโยนมันลงทะเล พร้อมกล่าวว่า “ผมเพิ่งเปลี่ยนแปลงเจ้าตัวนี้ไป”
จงทำเรื่องที่คุณทำได้ตามความสามารถที่มี และไม่หยุดแสวงหาวิธีที่จะทำให้ดียิ่งขึ้น นี่คือหลักแห่งการเติบโต ซึ่งยังผลให้เกิดเรื่องดีๆ ขึ้น และแน่นอนว่าดีกว่าการไม่พยายามทำอะไรเลย
อ่านวิธีคิดและเทคนิควิธีที่จะช่วยสร้างเสริมชุดความคิดแบบเติบโตได้ใน
The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset
The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success
Annie Brock และ Heather Hundley เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล
นุชชา ประพิณ ออกแบบปก