คุยเรื่อง “ประชานิยม” กับเกษียร เตชะพีระ

 

 เรื่อง & ภาพ: อภิรดา มีเดช

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ประชานิยม” คือหนึ่งในศัพท์การเมืองยอดฮิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งทำให้หลายคนสับสน เพราะไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ขวาหรือซ้าย ต่างเชื่อมโยงและผสมผสานแนวคิดที่มีอยู่เดิมเข้ากับประชานิยมได้อย่างแนบแน่น ทั้งยังเป็นแนวนโยบายที่มีฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านอย่างสุดโต่งด้วยกันทั้งคู่

เศรษฐกิจการเมืองโลกในยุค “หันขวา” ไม่ว่า Brexit หรือโดนัลด์ ทรัมป์ ล้วนมี “ประชานิยม” หนุนหลัง และไม่ใช่แค่อังกฤษกับอเมริกาเท่านั้นที่กระแสประชานิยมพุ่งแรง หากนับกันจริงๆ ต้องถือว่าประชานิยมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการและผู้แปล ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา คือผู้ให้ความกระจ่างแก่ข้อสงสัยนานาประการเกี่ยวกับคำเจ้าปัญหาคำนี้ รวมทั้งความเหมือนและแตกต่างระหว่างนิยามของ “ประชานิยม” กับ “ประชารัฐ” ที่คนไทยหลายคนอาจยังข้องใจ

 

อะไรคือจุดเด่นของเล่ม ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา

หนึ่ง มองกว้าง ทบทวนวรรณกรรม แจกแจงนิยามความเข้าใจประชานิยมแบบต่างๆ

คือตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ตัวผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์ขนาดยาวเรื่องหนังสือดีที่สุด 5 เล่มเกี่ยวกับประชานิยม แล้วพอมาเขียนเล่มนี้ ผู้เขียนก็รีวิวหนังสือเล่มหลักๆ เหล่านี้ออกมาให้อีกรอบหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่า ก่อนจะเขียนเล่มนี้ ผู้เขียนช่วยสำรวจวรรณกรรมโดยกว้างๆ ว่า บรรดางานเขียนทางวิชาการการเมืองที่เกี่ยวกับประชานิยมหลักๆ นั้นมีอะไรบ้าง

ฉะนั้น โดยอาศัยเล่มนี้เล่มเดียว เราสามารถเห็นภาพรวมของความพยายามที่จะเข้าใจประชานิยมทางวิชาการ จากแนวทางวิธีการต่างๆ ได้หลากหลาย แล้วผู้เขียนยังช่วยลำดับให้ด้วยว่า แนวทางหลักๆ มีอะไรบ้าง จุดเด่นหรือจุดด้อยของแต่ละเล่มมีอะไรบ้าง

สอง มองลึก เสนอนิยามประชานิยมที่คมชัดแต่ยืดหยุ่นและกินความครอบคลุมพอรองรับปรากฏการณ์ประชานิยมหลากหลายประเทศ วัฒนธรรม และอุดมการณ์

ผมรู้สึกว่าข้อเสนอหรือนิยามประชานิยมของผู้เขียนทั้งคู่ มันคือกระบวนท่าการคิดทางการเมือง ถ้าถามว่าประชานิยมคืออะไร มันคือกระบวนท่าการคิดทางการเมืองแบบหนึ่ง แปลว่า ถ้าเมื่อไหร่คุณมองโลกการเมืองแล้วคุณคิดแบบนี้ กระบวนท่าออกมาทำนองนี้ คุณก็เป็นประชานิยม ไม่ว่าคุณจะซ้ายจะขวาหรืออย่างไรก็แล้วแต่ กล่าวคือ

หนึ่ง โลกการเมืองแบบประชานิยมนี้ แบ่งเป็นสองซีก ไม่มีซีกที่สาม เดินเข้าสู่การเมืองเมื่อไรจะเห็นมันแบ่งเป็นสองซีก ซีกหนึ่งชนชั้นนำหรืออีลีต (elite) อีกซีกคือประชาชน

สอง ในแต่ละซีก ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำหรือประชาชนก็ดี ต่างอยู่รวมเป็นก้อนเดียว ไม่มีความหลากหลายข้างในเลย ประชาชนเป็นหนึ่งเดียว นั่นแปลว่าทันทีที่มีคนคิดเห็นต่างออกมาจากประชาชน ซึ่งโดยทั่วไปประชาชนคิดอย่างไร ตัวผู้นำก็จะเป็นคนตีความ กลายเป็นว่าในประชาชนไม่อนุญาตให้มีกลุ่มปลีกย่อยหรือฝ่ายค้านในหมู่ประชาชน ประชาชนเป็นก้อนเดียว ทันทีที่คุณคิดเห็นต่าง คุณไม่ใช่ประชาชน คุณโดนกันออกไป กลายเป็น “คนอื่น” ถ้าพูดภาษาเราคือ “ไม่ไทย” ทันทีเลย

ดังนั้น ในแง่หนึ่งมองอีลีตเป็นก้อนเดียว ทั้งที่อีลีตไม่ใช่ก้อนเดียว อีลีตมีหลายกลุ่ม แล้วบางทีถ้าฉลาดพอ คุณจะเห็นความขัดแย้ง เห็นรอยปริแยก แล้วใช้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหมู่อีลีตให้เป็นประโยชน์ แต่อันนี้จะมองอีลีตรวมเป็นก้อนเดียว

สาม การแบ่งแยกนี้เป็นการแบ่งแยกเชิงศีลธรรม ยกตัวอย่าง ในฝ่ายอีลีต ผมเห็นความต่างระหว่างอีลีตกลุ่มทหาร คสช. กับกลุ่มประชาธิปัตย์ ดังนั้น ถ้าผมเป็นนักการเมืองที่ชาญฉลาด และต้องการค้าน คสช. เป็นจุดหลัก ผมก็พร้อมจะยื่นมือไปจับกับประชาธิปัตย์ อันนี้เป็นการแบ่งทางการเมือง กล่าวคือ คุณคิดถึงเกม คิดถึงดุลกำลัง ฯลฯ แต่การแบ่งเชิงศีลธรรมแปลว่า อีลีตเลวร้ายหมด ไม่มีความต่าง ไม่มีเฉดต่าง ขณะเดียวกัน ประชาชนดีหมด ทั้งที่ประชาชนแย่ๆ ก็เยอะ ประชาชนโหดเหี้ยมก็ไม่น้อย ดังนั้น การแบ่งแบบนี้จึงน่ากลัวมาก

สี่ การเมืองประชานิยมง่ายมากเลย มันไม่ใช่การพยายามประสานผลประโยชน์ของกลุ่มฝ่ายต่างๆ ที่ไม่ตรงกัน ไม่ใช่การพยายามประสานผลประโยชน์ของเกษตรกรเข้ากับคนงาน หรือประสานผลประโยชน์ของคนงานเหมืองแร่กับกลุ่มที่ห่วงใยเรื่องมลภาวะ การเมืองประชานิยมคือการหา “เจตจำนงของประชาชน” (people’s will หรือ general will) ถ้าหาเจออันนั้น มันคือคำตอบสุดท้าย

แล้วเจตจำนงที่ว่ามาจากไหน มันจะลงเอยตรงที่ ในที่สุด ผู้นำเป็นคนตีความ อันนี้ก็น่ากลัวอีก ฉะนั้น การเมืองแบบประชานิยมจึงไม่ใช่ว่าเวลามีผลประโยชน์ต่างกันแล้วเราจะมาเจรจาต่อรองไกล่เกลี่ยหรือหาวิธีพลิกแพลงร่วมกันยังไง แต่ประชานิยมนั้น เพียงเราหาเจตจำนงประชาชนเจอ ก็จบ

ดังนั้น แนวโน้มของการเมืองแบบประชานิยมจึงปฏิเสธเสรีนิยม ปฏิเสธความหลากหลาย ปฏิเสธพหุนิยม มันมีแนวโน้มโดยตัวมันเองที่จะไปในทางอำนาจนิยมอยู่ ไม่ว่าซ้ายหรือขวาก็ตาม เพราะมันไม่ยอมให้มันมีความแตกต่างหลากหลายแบบนี้ในหมู่ประชาชน

คือถ้าเราคิดเชิงการเมือง ต่อให้ไม่พอใจอภิสิทธิ์แค่ไหน ในสถานการณ์ทางการเมืองที่แน่นอน เราต้องสามัคคีกับอภิสิทธิ์ คือเราต้องกะล่อนเป็น พอคุณคิดเชิงศีลธรรมปั๊บ มันไม่มีที่ให้กะล่อน

 

โดยนิยามแล้ว ประชารัฐ กับ ประชานิยม มีความเหมือนหรือต่างกันตรงไหน อย่างไร

ประชารัฐนั้นสร้างขึ้นมาจากกลุ่มอำนาจข้าราชการ กลุ่มอำนาจกองทัพที่ขึ้นไปครองอำนาจการเมืองด้วย แล้วเขาก็เรียกสิ่งที่เขาทำ โดยรีแบรนด์มันใหม่ แล้วเรียกว่า “ประชารัฐ” แล้วก็จำแนกความต่างระหว่างสิ่งที่เขาทำกับกลุ่มก่อนหน้านั้นว่า ของเขาไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ไม่ต้องง้อประชาชน ไม่ต้องง้อด้านมืด ด้านโง่ ด้านลบของประชาชน

ขณะที่ประชานิยมมาจากนักเลือกตั้ง นักเลือกตั้งต้องอาศัยเสียงประชาชน เลยต้องง้อด้านมืด ด้านลบของประชาชน แต่ประชารัฐไม่ต้องง้อด้านนั้น ของเขาเริ่มต้นจากผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

พูดง่ายๆ ว่าทำเหมือนประชาชนเป็นเด็ก เด็กจะไม่รู้ว่าตัวเองไม่ควรกินทอฟฟี กินทอฟฟีแล้วฟันจะผุ แต่เขารู้ เพราะเขาเป็นผู้ใหญ่ ฉะนั้น เขาให้สิ่งที่ดีที่สุดกับประชาชน ที่ประชาชนเองยังไม่เข้าใจเลย แต่มันจริงหรือเปล่าที่มันดีที่สุดกับประชาชน อันนี้ก็ต้องมาทะเลาะกันอีกที นี่คือฐานที่มา วิธีคิดแบบประชารัฐ

ประชารัฐคือข้อเสนอเชิงนโยบายที่พูดให้ถึงที่สุดแล้วไม่ต่างจากประชานิยม แต่เสนอโดยปฏิเสธประชาธิปไตย ปฏิเสธที่จะฟังด้านมืด ด้านลบ ด้านเด็ก ของประชาชน ขณะที่ประชานิยมมาจากการเลือกตั้ง มันพร้อมจะฟัง เพราะต้องพึ่งพาประชาชนในการเลือกตั้ง นี่คือความต่างพื้นฐานว่าทำไมต้องรีแบรนด์เป็นคำว่าประชารัฐ

แต่ควรเข้าใจก่อนว่า ความเป็นจริงของการเมือง-เศรษฐกิจไทยคือ มีชาวนารายได้ปานกลางมหาศาลซึ่งคงฐานะรายได้ปานกลางคือไม่จนของเขาไว้ได้โดยเงินอุดหนุนของรัฐเท่านั้น คือนี่จะเป็นบุญหรือเป็นกรรมก็แล้วแต่ ที่เรารับมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมหลายสิบปีที่ผ่านมา เราทำให้ชาวนาจนน้อยลง แล้วก็กลายเป็นรายได้ปานกลาง แต่เราไม่สามารถผลักเขาเข้าไปสู่งานภาคอื่นที่รายได้ดีกว่าได้

เราไม่สามารถทำให้เกษตรกรรมของเราพัฒนาจนมีผลิตภาพสูงพอที่จะคงฐานะของเขาไว้ได้โดยรัฐไม่ต้องเข้าไปอุดหนุน ขณะที่คนส่วนใหญ่ในชนบทเรากลายเป็นชาวนารายได้ปานกลาง เขาอยู่ได้เพราะรัฐเข้าไปอุ้มในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ตั้งแต่ประกันราคาพืชผล เงินอุดหนุนเวลาหน้าแล้ง คือรูปแบบการอุดหนุนเศรษฐกิจชนบทออกมาหลากหลายมาก ในยุคเลือกตั้งออกมาเป็นจำนำข้าว ในยุคนี้ก็ออกมาเป็นจำนำยุ้งฉาง

พูดง่ายๆ คือ ถ้าคุณเข้าใจความเป็นจริงทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองของชนบทว่าเรามีชาวนารายได้ปานกลางมหาศาลที่รัฐต้องกระเตงอุ้มเขาไว้ ไม่อย่างนั้นเขาจะยากจนลงไป สิ่งที่เรียกว่าประชานิยมคงไม่มีทางเลี่ยง ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ต้องดำเนินนโยบายอุ้มชาวนารายได้ปานกลาง โดยอุดหนุนราคาผลิตผลของเขา ราคาพืชที่เขาผลิตนั้นขึ้นลงตามราคาตลาด มันไม่มั่นคง ถ้ารัฐไม่เข้าไปประกันราคา แล้วเขาเกิดพังทลายขึ้นมา รัฐก็ไม่สามารถแบกรับปัญหาทางการเมืองสังคมที่เกิดจากการที่พวกเขาทรุดได้ ฉะนั้น รัฐทำได้อย่างเดียวคือ เข้าไปอุ้ม ต่อให้รัฐไม่อยากทำแค่ไหนก็ต้องทำ

จุดแตกหักอยู่ตรงที่ว่า คนชั้นกลางในเมืองเริ่มไม่อยากอุ้มแล้ว และในระยะยาวรัฐเองก็ไม่แน่ว่าจะอุ้มไหว คือตอนนี้ภาระที่ทับถมอยู่มีมาก ปัญหาคนชรา ปัญหาการรักษาพยาบาล งบประมาณเรื่องนี้สูงขึ้นทุกปี ภาระเยอะขนาดนี้ ในที่สุดถึงจุดหนึ่งการอุ้มชาวนารายได้ปานกลางโดยนโยบายเหล่านี้ มันจะทำลำบากขึ้นเรื่อยๆ มันจะแย่งทรัพยากรกัน แล้วท่ามกลางปัญหาทั้งหมดนี้ คุณก็ยังไปซื้อเรือดำน้ำ หรือซื้ออาวุธอีก คือนึกออกไหมว่าเราไม่ได้อยู่ในภาวะอย่างนั้นตั้งนานแล้ว แต่มันยังใช้เงินแบบนี้อยู่

 

ส่วนใหญ่แล้วอุดมการณ์ประชานิยมจะไม่อยู่โดดๆ แต่มักจับกับอุดมการณ์อื่นๆ ไม่ว่าซ้ายหรือขวา แล้วมันเคยจับกับเผด็จการไหม

จับบ่อยครับ ถ้าคุณไล่ตามตรรกะสี่อย่างนั้น มันจะออกไปในทางอำนาจนิยม มันปฏิเสธว่าในหมู่ประชาชนมีความแตกต่างหลากหลาย มีกลุ่มก้อนผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ถ้าคุณปฏิเสธแบบนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปได้ยังไงนอกจากอำนาจนิยม หรือเรียกให้แรงขึ้นก็คือเผด็จการ

ดังนั้นแนวโน้มอำนาจนิยมนั้นมากับประชานิยม แต่ขณะเดียวกัน ควรเข้าใจด้วยว่า ประชานิยมเกิดจากความบกพร่องของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่ไม่สามารถนำเสนอแนวนโยบายทางเลือกหรือฟังเสียงประชาชนในการเสนอนโยบายที่แตกต่างไปจากกระแสหลักได้

การที่ประชานิยมโผล่ขึ้นมาในช่วงสี่ห้าปีหลัง ทั้งที่อังกฤษและอเมริกาในรูปของ Brexit และในรูปทรัมป์ก็ดี มันเกิดจากประเทศทุนนิยมหลักทั่วโลกเดินตามเสรีนิยมใหม่ เดินตามโลกาภิวัตน์มาตั้งนาน โดยไม่คิดว่ามีทางเลือกอื่น ฉะนั้น มันสร้างสมความอึดอัดคับข้องใจให้กับผู้แพ้ในเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ แล้วผู้แพ้เหล่านี้ก็คืออุตสาหกรรมที่ตายซากเพราะโดนส่งออกไปผลิตที่อื่น คือกลุ่มคนที่อาชีพการงานของเขามันตกยุคทางเทคโนโลยี เขากลายเป็นประชากรส่วนเกินที่ไม่มีอนาคต

ฉะนั้น ถึงจุดหนึ่งคนเหล่านี้ก็รู้สึกว่าประชาธิปไตยมันไม่มีความหมายสำหรับเขา โอเค เขาได้ไปโหวตก็จริง แต่ไม่เห็นว่านโยบายของพรรค ก กับพรรค ข จะต่างกันตรงไหน เพียงแต่ว่าจะเอา ก นำ ข หรือ ข นำ ก มันเหมือนกันหมด พอมีผู้นำคนหนึ่งเสนอแนวนโยบายที่ต่างไปจากเดิม ถึงแม้ผู้นำคนนั้นจะมีปัญหาบ้าบอคอแตกต่างๆ นานา ปัญหาลวนลามผู้หญิง ปัญหาโกงเงิน หรือปากหมาก็ตาม แต่คนก็ต้องเอาไว้ก่อน

ดังนั้น ประชานิยมเป็นผลผลิตจากความบกพร่องของประชาธิปไตยที่ไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในบางเรื่อง หรือกระทั่งประชาชนกระแสหลักได้ เพราะถูกล็อกไว้โดยเงื่อนไขทางโครงสร้าง เงื่อนไขทางความคิด ของระเบียบเศรษฐกิจทุนนิยม นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงเห็นประชานิยมเฟื่องฟูในช่วงหลัง


อ่านเล่มนี้แล้ว เราเห็นดีเบตที่ไปต่อจากข้อถกเถียงในสังคมไทยอย่างไรบ้าง

ขอแบ่งเป็นสองประเด็น หนึ่ง มันยังยึดนิยามอย่างที่ทำกันในลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นนิยามแคบที่ตกยุคไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะหลายประเทศในลาตินอเมริกาเขาได้ผู้นำประชานิยมซึ่งแสดงตัวเป็นประชานิยม แต่เมื่อได้อำนาจก็เดินตามเสรีนิยมใหม่ทันทีเลย ประชาชนช็อก ตอนหาเสียงบอกจะทำอย่างหนึ่ง แต่พอได้อำนาจกลับทำอีกอย่าง

แล้วก็ยังไปยึดติดกับการทุ่มงบประมาณ กู้เงินมาเพื่อหล่อเลี้ยงรากหญ้า ถ้าการทุ่มแบบนั้นไม่นำไปสู่ผลิตภาพที่เพิ่มพูนขึ้น มันมีขีดจำกัดทางการคลังที่คุณจะทำ มีขีดจำกัดทางการเงินที่คุณจะกู้ แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ในเงื่อนไขของระบบระเบียบเศรษฐกิจโลกที่ถูกผลักให้ไปเดินในแนวทางเสรีนิยมใหม่ แล้วฟังแต่อีลีตทางการเงิน ฟังแต่อีลีตทางอุตสาหกรรมกลุ่มเล็กๆ แล้วเสียงประชาชนจำนวนมากไม่ถูกรับฟัง ถูกรัดเข็มขัดตลอดเวลา ตัดสวัสดิการ งบประมาณที่เคยเอื้อเฟื้อในแง่การศึกษา การแพทย์ตลอดเวลา นโยบายประชานิยมถือว่ามีเหตุผล

ถ้าคุณเจอนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่มานานๆ มันบีบคั้นคุณขนาดนั้น ประชาชนเกิดความเหลื่อมล้ำ ถูกรัดเข็มขัดเสียจนชีวิตเขาแย่ลง นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมมีเหตุผล มีที่มาของมัน ไม่ใช่จะชูป้ายแดงแล้วก็ไม่เห็นด้วย คือคุณเห็นแต่ภัยด้านเดียว คุณไม่เห็นว่านโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่มันมีปัญหา

สอง ประชานิยมจะเกิดในสังคมไทยไปได้เรื่อยๆ ตราบที่เราอยู่ใต้อำนาจนำของแนวนโยบายแบบรัฐราชการอำมาตยาธิปไตย ซึ่งมุ่งรับใช้อีลีต และมุ่งกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งร่ำรวย หรือกลุ่มทุนใหญ่ โดยละเลยการกระจายให้เบื้องล่าง หรือคิดถึงการกระจายเฉพาะในแบบทำบุญสุนทาน ไม่ได้คิดถึงมันในแง่สวัสดิการอย่างเป็นจริง อันนี้จะผลิตประชานิยมไม่หยุดหย่อน คุณเกลียดตระกูลชินวัตร คุณคิดว่าคุณทำอะไรตระกูลชินวัตรไปแล้ว แต่มันยังมีประชานิยมตระกูลอื่นๆ เกิดขึ้นมาได้ ตราบเท่าที่คุณพรวนดินใส่ปุ๋ยให้มันทุกวัน

ประชานิยมจะเกิดในสังคมไทยไปได้เรื่อยๆ ตราบที่เราอยู่ใต้อำนาจนำของแนวนโยบายแบบรัฐราชการอำมาตยาธิปไตย ซึ่งมุ่งรับใช้อีลีต และมุ่งกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งร่ำรวย หรือกลุ่มทุนใหญ่ โดยละเลยการกระจายให้เบื้องล่าง หรือคิดถึงการกระจายเฉพาะในแบบทำบุญสุนทาน ไม่ได้คิดถึงมันในแง่สวัสดิการอย่างเป็นจริง

อะไรคือการพรวนดินใส่ปุ๋ยให้กับประชานิยม

ก็คือการสร้างความขุ่นข้องหมองใจเหมือนถูกทอดทิ้งให้กับคนจำนวนมากในสังคม ที่รู้สึกว่าเขาไม่ได้ดิบได้ดีไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คุณกำลังปั่นอยู่ข้างบนนั่นเลย

จริงๆ แนวทางที่กำลังเดิน อย่าง EEC มันต่างตรงไหนกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่ผ่านมา วิธีคิดคุณก็คือ ให้คนรวยข้างบนโตไปก่อนแล้วมันจะหยดติ๋งๆ มาถึงข้างล่าง แล้วมันไม่เคยหยด ทำไม ก็เพราะคุณไม่ให้เขาม็อบ เพราะคุณคิดว่าการม็อบเป็นปัญหา เพราะคุณไม่แบ่งอำนาจให้เขา คุณคิดว่านโยบายสำคัญเกินกว่าคนโง่ๆ อย่างประชาชนจะมาร่วมกำหนดได้ ดังนั้นคนฉลาดอย่างพวกเขาซึ่งทำมาหากินอยู่ใกล้ชิดกับเศรษฐีข้างบน จึงช่วยกำหนดนโยบายให้ ซึ่งก็ไม่มีวันจะหยดติ๋งลงมาถึงข้างล่างแน่ๆ

นโยบายแบบที่ไปลอกมานั้น มันเป็นไปได้ถ้ามีประชาธิปไตย แต่พอลอกมาแล้ว เขากลับเกลียดประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อสร้างความมั่งคั่งให้ข้างบนแล้ว ตามกระบวนการ มันต้องมีประชาธิปไตยไปกดดัน บีบให้มีการกระจาย โดยผ่านการเลือกตั้ง โดยผ่านประชาธิปไตย โดยผ่านม็อบด้วยซ้ำไป แต่เขาเกลียดส่วนประชาธิปไตย เขาเหยียบประชาธิปไตยเสียแบนเลย แล้วบอกว่าจะต้องไปสร้างการเติบโตก่อน มันก็โตขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่เคยลงมาถึงข้างล่างสักที

ฉะนั้น ทันทีที่คุณเปิดประชาธิปไตย ประชานิยมมาแน่ครับ เพราะคุณไม่เคยให้ทางเลือกเขาเลย คุณพรวนดินใส่ปุ๋ยให้ประชานิยมทุกวัน

 

ดูเหมือนเมืองไทยมองชนชั้นนำและประชาชนกลับตาลปัตรกับทางลาตินอเมริกา กลายเป็นชนชั้นนำบริสุทธิ์ และประชาชนยังโง่อยู่แทน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

หมายถึงวิธีเข้าใจตัวเขาเองใช่ไหม ผมคิดว่า หนึ่ง เขาคิดว่าความรู้สมัยใหม่ ความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจและการเมืองสมัยใหม่ เป็นสมบัติที่พวกเขานำเข้ามา แล้วคนข้างล่างไม่รู้ ผมคิดว่าอาจจะจริงเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว แต่ตอนนี้มันไม่จริง

สอง พอเขาหมดข้ออ้างเรื่องความเหนือกว่าในแง่สติปัญญา เขาเหลือเรื่องเดียว คือความเหนือกว่าในแง่ศีลธรรม แล้วก็ปั้นนิยามตัวเองเป็นคนดี แต่งตั้งตัวเองเป็นคนดี แล้วก็ให้ถ้วยกันเอง

 

อาจารย์พอมีข้อเสนอหรือทางไปต่อสำหรับสังคมไทยไหม คือเห็นๆ อยู่แล้วว่าเราคงหนีประชานิยมไม่พ้น แล้วเราจะมีวิธีรับมือมันอย่างไร

ถ้าเงื่อนไข ระเบียบอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ และการไม่เปลี่ยนนโยบายของอีลีตกลุ่มเก่าอย่างที่เป็นอยู่ มันจะผลิตซ้ำประชานิยมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็คือ

หนึ่ง เราควรอยู่กับมันอย่างรู้เท่าทัน คือรู้ว่าประชานิยมมีปัญหาตรงไหน โดยเฉพาะด้านที่ปฏิเสธความหลากหลาย และด้านที่มีแนวโน้มอำนาจนิยม ถ้าต้องอยู่กับมัน อย่าอยู่อย่างคิดว่ามันไม่มีปัญหา อย่าลืมว่าสมัยทักษิณมีผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดเสียชีวิตเป็นพันๆ คล้ายกับที่ดูตาร์เต (Rodrigo Duterte ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์) ทำ อันนี้คือด้านมืดของประชานิยมที่เราต้องรู้เท่าทัน

สอง คือ ต้องหาทางทำให้เสรีประชาธิปไตยแข็งแรงพอที่เราจะมีระบอบระเบียบการเมืองโดยไม่ต้องเป็นประชานิยม เพราะประชานิยมมันงอกมาจากความบกพร่องของประชาธิปไตย ที่ประชาธิปไตยขาดทางเลือกเชิงนโยบาย คุณเดินเป็นแต่ตามเสรีนิยมใหม่ มีคนจำนวนหนึ่งถูกทอดทิ้ง ถ้าเราจะตัดประชานิยม ก็ต้องเสริมสร้างทั้งในแง่มุมเสรีนิยมของเสรีประชาธิปไตย ในแง่มุมประชาธิปไตยของระบอบนี้ให้มีสุขภาพแข็งแรงพอที่มันจะไม่จำเป็นต้องลงเอยเป็นประชานิยมเสมอไป อย่างน้อยมีแรงดึงถ่วงเอาไว้บ้าง

พูดอย่างเป็นรูปธรรม เงื่อนไขเสรีนิยมขั้นต่ำสุดคือการเลือกตั้งต้องเสรีและเป็นธรรม ถ้าคุณไม่มีขั้นต่ำสุดตรงนี้ ประชาธิปไตยไม่มีทางแข็งแรง

ในแง่กลับกัน ประชาธิปไตยจะช่วยรักษาสิทธิเสรีภาพได้อย่างไรบ้าง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย เพราะสิ่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้คนในสังคมคือกฎหมาย เมื่อไรคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย ก็แย่ เหมือนกับที่เรามีตอนนี้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคม ถ้าไปร่วมในการออกกฎหมาย เราจะไม่ออกกฎหมายแบบที่จะมาจำกัดสิทธิเราถ้าเราไม่ยอม

ดังนั้น สิ่งที่ประชาธิปไตยจะรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอาไว้ได้ ก็คือเปิดกว้างช่องทางที่สาธารณชนจะเข้าไปร่วมในกระบวนการออกกฎหมาย อย่าให้มันกลายเป็นช่องแคบของคนที่แต่งตั้งมา ช่องแคบของคนที่อ้างตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ กฎหมายจำนวนมากที่เรามีตอนนี้ คนที่เป็นเจ้าของเรื่องกลับเป็นคนต้องปวดหัว กฎหมายสื่อออกมาในยุค สนช. คนทำสื่อไม่แฮปปี้ กฎหมายไซเบอร์ออกมาในยุค คสช. คนที่เล่นอินเทอร์เน็ตก็ไม่แฮปปี้ ไม่มีกฎหมายสักฉบับเลยที่เจ้าของเรื่องเขาแฮปปี้ เพราะคนที่ออกกับคนที่เป็นเจ้าของเรื่องไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน ดังนั้น ประชาธิปไตยมันค้ำประกันสิทธิเสรีภาพตรงที่มันเปิดช่องให้คนเข้าไปออกกฎหมาย ถ้าเราไม่มีช่องแบบนี้ก็เสร็จ

ถ้าทำสองข้อนี้ได้ แรงดึงดูดใจของประชานิยม ความจำเป็น หรือเงื่อนไขที่จะเกิดประชานิยมก็จะน้อยลง

 

แต่ก็มีสิทธิ์จะเกิดปรากฏการณ์แบบผู้นำบารมีขึ้นได้อีกใช่ไหม

ในเล่มผู้เขียนเสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า ในที่สุดแล้ว ผู้นำบารมีไม่ใช่ปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ ผู้นำบารมีเป็นปรากฏการณ์จากบทสนทนาในสังคมระหว่างผู้นำกับผู้ตาม ในสังคมไทยที่ผู้ตามรู้สึกว่าเสียงเรียกร้องที่พวกเขาเปล่งออกไปไม่เคยมีหูไหนฟังเลย โดยเฉพาะหูของผู้มีอำนาจ แล้วถ้าเกิดมีคนคนหนึ่งแสดงตนว่าพร้อมจะเป็นผู้นำเขา แล้วได้ยินเขา ไม่เพียงได้ยินเขา ยังพูดซ้ำสิ่งที่เขาเสนอด้วย เมื่อนั้นเงื่อนไขจะเกิดผู้นำแบบประชานิยมซึ่งอาจจะเป็นผู้นำบารมีด้วยก็เป็นได้

คุณจะป้องกันได้ คุณต้องเปิดช่องทางของการออกกฎหมายนโยบายให้รับคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่กันคนบางกลุ่มออกไปเพราะเสียงของพวกเขาขัดกับแนวทางเศรษฐกิจแบบ EEC ขัดกับแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ คุณต้องเปิดช่องแล้วให้เขาไปต่อรองกัน ไม่มีใครได้หมด ไม่มีใครเสียหมด และมันจะทำให้คุณได้นโยบายแบบที่ทุกคนพอจะอยู่กับมันได้ เมื่อไหร่ที่คุณไม่มีนโยบายที่คนพอจะอยู่กับมันได้ คุณจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกกันออกไปแล้วทนอยู่กับแบบที่เป็นไม่ได้ และนี่แหละคือเนื้อดินประชานิยม

 

แล้วเราควรจดจำยุคทักษิณว่าอย่างไร

ยุคแห่งความว่างเปล่า? เพราะโดนสังคมไทยที่ไม่รู้จักโตเผลอลบทิ้งไปแล้ว

ผมคิดว่า สังคมหนึ่ง mature หรือคนคนหนึ่ง mature เมื่อหันไปมองเรื่อง “โก๊ะๆ” หรือเรื่องไร้เดียงสาที่ตัวเองทำ แล้วพยักหน้ารับได้ว่า เออ เราก็เคยทำพลาดแบบนั้นมาก่อน

สังคมไทยควรโตพอจะหันกลับไปมองปรากฏการณ์ในอดีตเหล่านั้นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการหรืออะไรก็ตาม แล้วรับมันอย่างที่เป็นจริง เช่น จุดเริ่มต้นของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเมืองไทยคือคนจีนและคนญวน เราควรโตพอจะหันไปมองว่ามันเป็นอย่างนี้แหละ เราอาจจะชอบหรือไม่ชอบ เราอาจจะเห็นจุดอ่อนหรือจุดแข็ง แต่ความเป็นจริงมันเป็นแบบนั้น

เช่นเดียวกัน เราควรมองการเติบโตของสังคมไทยในทางการเมืองผ่านขั้นตอนประชาธิปไตย ผ่านขั้นตอนประชานิยมในยุคของทักษิณว่ามันเป็นกระบวนการหนึ่งในชีวิตของสังคม เราควรรู้และมองมันแบบเยือกเย็น มองมันแบบยอมรับความเป็นจริง คุณจะสรุปบทเรียนอะไรจากมันก็ได้ แต่ดีกว่าการที่สังคมไทยไปลบมันทิ้ง ถ้าคุณลบมันทิ้ง คุณจะไม่ได้เรียนอะไรจากมันเลย ถ้าลบมันทิ้ง คุณจะไม่เข้าใจตัวคุณเองด้วยซ้ำไป

 

สำหรับคนทั่วไปที่หันมาสนใจการเมือง ควรเริ่มทำความเข้าใจ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา อย่างไร

ผมคิดว่านี่เป็นเล่มที่ไม่ยากเกินไปนัก ไม่ได้แปลว่าไม่ยากเลยนะ มันก็มีใช้ภาษาวิชาการ แล้วก็ต้องใช้แนวคิดทฤษฎีบ้าง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แล้วถ้ามีความเพียรพอ มีความอดทนพอ มันเป็นบอร์ดที่เราจะเด้งไปหาความรู้ต่อไปข้างหน้า เพราะว่าผู้เขียนได้ชี้ให้รู้จักวรรณกรรมกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับประชานิยมให้เราค้นต่อไปได้

 

 

รวบยอดความคิด: ทำไมเราต้องอ่านเรื่องประชานิยม มันช่วยให้เราทำความเข้าใจการเมืองไทยและโลกมากขึ้นอย่างไร

  • ปรากฏการณ์แพร่หลายในไทยและโลกปัจจุบันและอดีตสมัยใหม่

  • สะท้อนปัญหาข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยที่เป็นจริงและเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์

  • เกิดจากข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยใต้การครอบงำกำกับของชนชั้นนำที่เป็นจริง ข้อเรียกร้องต้องการของคนชั้นล่างไม่ได้รับการตอบสนอง เกิดผู้นำประชานิยมจากปัญหาเนื้อในระบอบประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่จริงมาตอบสนอง ซึ่งบั่นทอนลักษณะเสรีนิยม-พหุนิยมของระบอบลงไป

  • คนที่ถูกทุนนิยมโลกาภิวัตน์ส่งผลกระทบสะเทือนเสียหายหรือทอดทิ้งในแต่ละประเทศซึ่งแตกต่างกันไป