
เกษียร เตชะพีระ แปล
ปีศาจตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป อเมริกา และส่งผลสะเทือนออกไปกว้างไกลทั่วโลก มันคือปีศาจประชานิยม …
หลังประชามติ Brexit ในอังกฤษและการชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ในอเมริกาเมื่อปีที่แล้วส่งสัญญาณว่ากระแสการเมืองประชานิยม (populism) กำลังรุ่งพุ่งแรงในโลกทุนนิยมตะวันตก
คำถามอันชวนวิตกหวั่นไหวก็ตามมาเป็นพรวนว่า …
ประชานิยมคืออะไรกันแน่?
มันจะดีหรือแย่ต่อประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าโลก?
แล้วไหงขบวนการและพรรคประชานิยมถึงมักได้ผู้นำเป็นเจ้าสัวอภิมหาเศรษฐีอย่างแบร์ลุสโกนี ทรัมป์ หรือทักษิณล่ะ?
เพื่อไขปัญหาข้างต้นและอื่นๆ คาส มูด์เด (Cas Mudde) นักรัฐศาสตร์ผู้เกาะติดศึกษาประชานิยมมานานปีได้แนะนำให้ผู้สนใจลองทำความรู้จักประชานิยมผ่านหนังสือที่เขาเห็นว่าดีที่สุด 5 เล่มในเรื่องนี้
ปัจจุบัน คาส มูด์เด เป็นรองศาสตราจารย์สังกัดสำนักกิจการสาธารณะและการระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกาและบรรณาธิการร่วมของวารสาร European Journal of Political Research
เขาเป็นชาวดัตช์ เรียนจบรัฐศาสตร์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยไลเดน โดยมีศาสตราจารย์ปีเตอร์ ไมเออร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพรรคการเมืองในยุโรปและเจ้าของแนวคิดปรากฏการณ์ “ประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน” ในโลกตะวันตกผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
หนังสือเรื่อง Populist Radical Right Parties in Europe (2007) ของคาส มูด์เด ได้รางวัล Stein Rokkan Prize for Comparative Social Science Research ประจำปี 2008
และเขาร่วมกับรองศาสตราจารย์คริสโตวัล โรวีรา คัลต์วัสเซอร์ (Cristóbal Rovira Kaltwasser) แห่งสำนักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยดิเอโก ปอร์ตาเลส ประเทศชิลี ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Populism: A Very Short Introduction อันอยู่ในชุดความรู้ฉบับพกพายอดนิยมของ Oxford University Press ที่สำนักพิมพ์ bookscape อำนวยการแปลและจัดพิมพ์ในเมืองไทยออกมาในชื่อ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา
คาส มูด์เด ได้ให้สัมภาษณ์โซฟี โรเอลล์ (Sophie Roell) เกี่ยวกับหนังสือดีที่สุด 5 เล่มเรื่องประชานิยมเมื่อ 12 มกราคม 2017 ว่า
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 – 23 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงฉบับวันที่ 17 – 23 มีนาคม 2560
ดิฉันเพิ่งอ่านหนังสือเรื่อง Populism: A Very Short Introduction ของคุณจบไปและรู้สึกสนเท่ห์มากทีเดียวกับข้อสังเกตของคุณที่ว่าไม่มีใครเอ่ยอ้างตนเป็นนักประชานิยมเลยสักคน เพราะปกติแล้วมันเป็นศัพท์แสงที่มีไว้ใช้ก่นด่าประณามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันคุณก็เถียงด้วยว่าคำว่าประชานิยมมีด้านบวกอยู่
ที่สหรัฐอเมริกานี่ คำว่าประชานิยมมีนัยด้านบวกอยู่บ้าง แต่แน่ชัดเลยว่าในยุโรป ประชานิยมถูกมองแง่ลบล้วนๆ แม้ว่าความข้อนั้นจะเริ่มเปลี่ยนไปนิดหน่อยก็ตาม ด้านบวกของมันก็คือว่าประชานิยมเป็นปากเสียงแสดงความขุ่นเคืองและมักตั้งคำถามเรื่องต่างๆ ที่ควรต้องเข้าไปจัดการแก้ไข ไม่จำเป็นหรอกครับว่าคำตอบของประชานิยมต่อคำถามเหล่านั้นจะเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่เห็นได้ชัดว่าคำถามที่พวกประชานิยมตั้งเป็นคำถามและความห่วงกังวลที่ประชากรในสัดส่วนที่ใหญ่พอควรมีร่วมกัน
ใช่ค่ะ เพราะว่าอีกอย่างที่คุณชี้ให้เห็นในหนังสือของคุณก็คือพวกเราจำนวนมากพากันตีความความเป็นจริงทางการเมืองผ่านเลนส์ประชานิยม อย่างเวลาเราพูดทำนองว่า “โอ๊ย พวกนักการเมืองมันก็คอร์รัปชั่นกันทั้งนั้นแหละ” เป็นต้น แม้กระทั่งคนที่ไม่เห็นว่าตนเองเป็นพวกประชานิยมก็ยังใช้โวหารของพวกนั้นอยู่เลย
สื่อมวลชนมักใช้คำว่าประชานิยมในความหมายค่อนข้างกว้าง ในทำนองความรู้สึกนึกคิดต่อต้านระเบียบสถาบันทั่วไป เอาเข้าจริงความรู้สึกนึกคิดต่อต้านระเบียบสถาบันนั้นผู้คนมีร่วมกันกว้างขวางยิ่งทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปใต้และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุโรปเหนือด้วย มันเป็นเลนส์ส่องโลกที่มองเฉพาะ เจาะจงลงไปว่าพวกชนชั้นนำนั้นเป็นตัวการทำอะไรลับๆ ล่อๆ ไม่ชอบมาพากล หรือไม่ก็เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน และรับฟังหรือแสร้งทำทีรับฟังผู้ลงคะแนนเสียงสี่ปีหนแค่นั้น
ความคิดเห็นทำนองนี้มีร่วมกันกว้างขวางยิ่งและตีพิมพ์เผยแพร่กว้างขวางยิ่งเช่นกัน กรอบที่สื่อมวลชนมากหลายใช้มองการเมืองทุกวันนี้ก็เป็นกรอบแบบประชานิยมด้วยบางส่วน ซึ่งมองว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสากำลังถูกหักหลังโดยชนชั้นนำทุจริตฉ้อฉล
แล้วมันไม่จริงหรือคะ
มันก็ขึ้นกับว่าคุณอยู่ประเทศไหนแหละครับ มีบางประเทศที่ระเบียบสถาบันการเมืองทุจริตฉ้อฉลเกือบสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น โรมาเนียหรืออิตาลีซึ่งมีปัญหาคอร์รัปชั่นมหาศาล แต่เมื่อคุณไปเดนมาร์กหรือเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีพรรคประชานิยมที่เข้มแข็งด้วยเหมือนกัน ปัญหาคอร์รัปชั่นกลับเป็นแค่เรื่องรอง ถามว่าจริงไหมที่นักการเมืองเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนทั้งปวง? ของมันก็ชัดแจ้งแดงแจ๋ละครับว่ามีช่องว่างอยู่ แต่ช่องว่างที่ว่ามันก็มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วเหมือนกัน
ประเด็นก็คือว่าในประเทศส่วนใหญ่ พรรคประชานิยมได้คะแนนเสียงข้างน้อยเท่านั้นเพราะพวกเขาเป็นตัวแทนประชาชนส่วนน้อย แต่ประชาชนพวกนั้นดันเชื่อว่าพวกตนเป็นเสียงข้างมากเสียฉิบ
คุณก็ศึกษาประชานิยมมานานแล้ว คุณคิดว่าสื่อสังคมออนไลน์ทำให้มันเข้มแข็งขึ้นไหม? ตัวอย่างเช่น ดิฉันเพิ่งอ่านอัตชีวประวัติทางการเมืองของ นิก เคล็กก์ ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยและอดีตรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนกันยายนศกก่อนจบ เขาชี้ว่าผู้คนได้อำนาจเพิ่มขึ้นมากในชีวิตประจำวันจากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ถ้าคุณสั่งของจากซูเปอร์มาร์เก็ต พวกเขาจะมาส่งอาหารให้คุณได้ใน 24 ชั่วโมง เปรียบกันไปแล้ว การเมืองดูเหมือนจะเชื่องช้าและหลุดลอยจากกระแสปัจจุบันเอามากๆ และนั่นยิ่งทำให้ผู้คนหงุดหงิดรำคาญนักการเมืองแรงกล้าขึ้น แน่ละค่ะว่าเขากำลังพูดแบบนักการเมืองผู้รู้สึกถูกกดดันจากคำร้องทุกข์สารพัดที่มาจากทุกทิศทาง ซึ่งในฐานะนักการเมือง คุณก็ไม่มีปัญญาจะแก้ไขมันได้จริงต่อให้มีเจตนาดีที่สุดที่ดีได้แค่ไหนก็ตาม
ที่คุณพูดมาก็เป็นความจริง แต่ปัญหาอยู่ตรงนักการเมืองส่วนใหญ่เสแสร้งว่าตัวแก้ไขได้อย่างน้อยก็ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนี่ซีครับ เวลาคุณสัญญาจะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คุณย่อมจะต้องถูกลงโทษ และนิก เคล็กก์ ก็เป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างดีของการนั้น เขาขึ้นมาครองอำนาจด้วยระเบียบวาระที่แน่นอนหนึ่งและพอได้อำนาจแล้วก็ไม่สามารถทำตามนั้นได้
ส่วนเรื่องสื่อสังคมออนไลน์ ผมไม่คิดว่ามันเปลี่ยนแปลงการเมืองไปในเชิงคุณภาพขั้นมูลฐาน เพียงแต่ว่ามันไปเสริมสร้างกระบวนการที่ดำเนินอยู่แล้วเท่านั้นเอง กล่าวหยาบๆ ได้ว่า สื่อมวลชนแบบเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปถูกควบคุมอย่างแน่นหนาโดยบรรดาพรรคการเมืองที่ตั้งมั่นจนกระทั่งถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 แต่สภาพที่ว่านั้นก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากกระบวนการทำให้สื่อมวลชนเป็นการค้า หน้าที่ของสื่อในการเป็นยามเฝ้าประตูให้ระเบียบสถาบันการเมืองได้ถูกบั่นทอนให้อ่อนแอลงไปก่อนแล้ว และสื่อสังคมออนไลน์ยิ่งมาซ้ำเติมให้มันอ่อนปวกเปียกลงอีก
ถ้าหากคุณทำให้คนติดตามอ่านข้อความของคุณได้มากในทวิตเตอร์ สื่อมวลชนแบบเดิมก็จะเขียนถึงมันเองแหละ แต่ถ้าหากสื่อแบบเดิมไม่เขียนถึงมัน ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากนัก อำนาจของสื่อสังคมออนไลน์อยู่ตรงกำหนดระเบียบวาระ แต่มันก็ยังตกเป็นธุระของสื่อหลักที่จะนำพาระเบียบวาระนั้นไปให้มวลประชาชน
ประเด็นน่าสนใจที่คุณกล่าวไว้ในหนังสือของคุณอีกประเด็นคือเรื่องประชานิยมไม่จำเป็นต้องมีผู้นำประชานิยมก็ได้ เพราะความรู้สึกนึกคิดแบบนั้นมันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าดูตัวอย่างในสหราชอาณาจักร ความรู้สึกนึกคิดแบบต่อต้านคนอพยพจำนวนมากมันถูกโหมกระพือโดยหนังสือพิมพ์อย่างเดลีเมล์ ดังนั้น เอาเข้าจริงมันจำเป็นแค่ไหนที่ประชานิยมต้องมีใครสักคนมาโหมกระพือและส่งเสริมทัศนคติเหล่านี้ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ
ขอพูดให้ชัดเลยนะครับว่าไม่ใช่พวกประชานิยมทั้งหมดจะเกลียดกลัวต่างชาติ และก็ไม่ใช่ว่าพวกเกลียดกลัวต่างชาติทั้งหมดจะเป็นนักประชานิยม บรรดาผู้นำทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นผู้นำการเมืองหรือสื่อมวลชนสำคัญตรงที่พวกเขาทรงอิทธิพลต่อผู้คนบางกลุ่มที่ไม่เคยมีความคิดเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก่อน แล้วก็เลยไปได้ความคิดเห็นนั้นมาจากพวกผู้นำนั่นแหละ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือพวกผู้นำมีแนวโน้มที่จะไปส่งเสริมความคิดเห็นและอคติที่ดำรงอยู่มาก่อนแล้วให้แรงกล้าขึ้น
ฉะนั้น ถ้าเผื่อคุณรู้สึกอยู่แล้วว่าคนมุสลิมเป็นปัญหา แล้วคุณไปอ่านเจอเรื่องอาชญากรรมของคนมุสลิมในหนังสือพิมพ์ตลอดเวลา มันก็ไปเสริมความสำคัญของความรู้สึกนั้นให้สูงเด่นขึ้น มันก็อีหรอบเดียวกับกรณีถ้าคุณเกิดรู้สึกอยู่แล้วว่าพวกนักการเมืองมันไม่ได้รับฟังคุณจริงจังอะไร แล้วคุณก็อ่านเจอในหนังสือพิมพ์ทุกเมื่อเชื่อวันว่าพวกนักการเมืองทุจริตฉ้อฉลและไม่เห็นหัวผู้ลงคะแนนเสียง ฯลฯ มันก็ย่อมไปส่งเสริมทรรศนะของคุณ แต่กล่าวโดยทั่วไป สื่อมวลชนเป็นตัวแทนทรรศนะที่ดำรงอยู่แล้วแหละครับ เป็นทั้งผลลัพธ์พอๆ กับที่เป็นต้นเหตุของทรรศนะที่ว่านั้น ถ้าหากสื่อมวลชนเป็นประชานิยมแต่ไม่มีใครมีท่าทีประชานิยมเลยสักคน ก็จะไม่มีใครอ่านสื่อนั้นหรอก
ก็คือมันจะไม่ไปแทงใจดำใคร
ใช่ครับ และในที่สุดสื่อเป็นเรื่องของเงิน ถ้าไม่มีใครอ่านหนังสือพิมพ์ ก็ไม่รู้จะทำไปหาอะไร

ลองมาดูประเด็นปัญหาเหล่านี้กันในบริบทของหนังสือดีที่สุดเรื่องประชานิยมเล่มต่างๆ ที่คุณเลือกนะคะ เล่มแรกในบัญชีรายชื่อของคุณเป็นงานค่อนข้างสั้นเรื่องปรัชญาการเมืองโดยมาร์กาเร็ต คาโนแวน ชื่อ The People (ปี 2005) เธอเริ่มต้นด้วยคำศัพท์ว่า populous Romanus (ประชาชนแห่งกรุงโรม) ในสมัยโรมโบราณและเดินเรื่องจากจุดนั้นไป
ลองบอกดิฉันหน่อยได้ไหมคะว่าคุณชอบหนังสือเล่มนี้ตรงไหนและทำไมมันถึงได้สำคัญ
การศึกษาเรื่องประชานิยมมีปรมาจารย์อยู่สองคน คนหนึ่งคือเออร์เนสโต ลาคลาว นักปรัชญาชาวอาร์เจนตินาผู้มีความสำคัญในธรรมเนียมคิดทางปรัชญาเชิงวิพากษ์อันเฉพาะเจาะจงกระแสหนึ่ง
อีกคนคือมาร์กาเร็ต คาโนแวน ผู้เขียนงานศึกษาคลาสสิกชื่อ Populism ไว้แล้วในปี 1981 มาร์กาเร็ต คาโนแวน นับเป็นนักวิชาการผู้วางรากฐานให้การศึกษาประชานิยมเลยทีเดียว
สำหรับหนังสือเรื่อง The People เล่มนี้ สิ่งที่เธอทำซึ่งน่าสนใจยิ่งก็คือเธอมองดูความสำคัญและความสลับซับซ้อนของแนวคิด “ประชาชน” ความสำคัญของแนวคิดประชาชนที่ว่านี้แหละเป็นตัวเชื่อมโยงประชานิยมเข้ากับประชาธิปไตย ทั้งในวาทกรรมประชาธิปไตยและวาทกรรมประชานิยมนั้น อำนาจของประชาชนเป็นเรื่องใจกลาง สิ่งที่เธอแสดงให้เห็นก็คือว่า “ประชาชน” เป็นแนวคิดที่ซับซ้อนและลื่นไหลยิ่ง ทว่ากล่าวโดยรวมแล้วสิ่งที่พวกนักประชานิยมทำก็คือทำให้แนวคิดประชาชนที่เป็นเหมือนตำนานปรัมปรานั้นกลายเป็นรูปธรรมอย่างยิ่งแล้วจากนั้นก็อ้างเอามาเป็นของตัว นั่นแหละคือจุดแข็งของพวกเขา
อีกอย่างเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ที่ผมชอบด้วยเหมือนกันก็คือมันแสดงให้เห็นชัดว่าประชาธิปไตยกับประชานิยมสัมพันธ์กันแนบชิดเพียงใด
โดยทั่วไปแล้ว ประชานิยมถูกมองเหมือนเป็นพยาธิสภาพ และขึ้นชื่อว่าพยาธิสภาพแล้วมันย่อมไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยสิ้นเชิงกับอะไรก็ตามแต่ที่มันเป็นพยาธิสภาพของสิ่งนั้น
แต่หนังสือเล่มนี้กลับแสดงให้เห็นว่าขณะที่ประชาธิปไตยกับประชานิยมเป็นการตีความคำว่าประชาชนที่แตกต่างกันนั้น โดยแก่นแท้แล้วทั้งคู่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของประชาชน
อะไรคือความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยกับประชานิยมล่ะคะ
ผมคิดว่ามีความแตกต่างที่เป็นกุญแจสำคัญอยู่สองเรื่อง ประการแรกก็คือสำหรับพวกประชานิยมนั้น ประชาชนกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ขณะที่ในความเข้าใจส่วนใหญ่ของประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นพหูพจน์ กล่าวคือ พวกเขามีผลประโยชน์ต่างกัน มีแรงจูงใจต่างกัน ประการที่สองก็คือว่าสำหรับประชานิยมแล้ว ประชาชนย่อมบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว คือคำว่าประชาชนถือเป็นแนวคิดเชิงศีลธรรมด้วย ขณะที่ในบริบทประชาธิปไตยนั้น ประชาชนหาได้มีศีลธรรมเฉพาะเจาะจงอันใดอันหนึ่งไม่
ทั้งความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันและศีลธรรมนี่แหละที่จำแนกประชานิยมให้ผิดแผกแตกต่างออกมา
เธออภิปรายด้วยใช่ไหมคะว่าทำไม “ประชาชน” โดยทั่วไปจึงนับรวมแต่ประชาชนในประเทศของคุณเองเท่านั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นคะ
เธอสืบสาวราวเรื่องวาทกรรมต่างๆ นานาทุกชนิดในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับประชาชน และชี้ให้เห็นว่าพวกนักการเมืองได้พยายามรณรงค์เคลื่อนไหวประชากรด้วยแนวคิด “ประชาชน” อย่างไร กล่าวโดยรวมแล้ว ข้อถกเถียงของเธอก็คือว่าขณะที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับประชาชนในระดับโลกอยู่ชนิดหนึ่งว่ามันหมายถึงมวลมนุษยชาติ ทว่าในทางปฏิบัติ แนวคิดเรื่องประชาชนจะสามารถถูกนำไปรณรงค์เคลื่อนไหวได้สำเร็จอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อมันถูกตีวงจำกัดไว้อย่างค่อนข้างชัดเจนภายในเขตภูมิศาสตร์หนึ่งๆ ที่แน่นอนเท่านั้น เขตภูมิศาสตร์ดังกล่าวเคยได้แก่นครรัฐทั้งหลายในอดีต และทุกวันนี้ มันได้แก่รัฐหรือรัฐชาติทั้งหลายนั่นแหละ
หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างสลับซับซ้อน จริงๆ แล้วมันเป็นคำอภิปรายเชิงปรัชญาและสำหรับตัวผมเองซึ่งผมมั่นใจว่าสำหรับผู้อ่านส่วนใหญ่ด้วยนั้น หนังสือเล่มนี้คงจะเป็นเล่มที่เข้าใจได้ยากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลายเกี่ยวกับประชานิยมที่ผมเลือก แต่สำหรับใครก็ตามแต่ที่ต้องการเข้าใจประชานิยมให้ดีขึ้น มันนับเป็นเล่มที่จำเป็นยิ่งเพราะมันมองข้ามพ้นไปจากประชานิยมทุกวันนี้และจัดวางประชานิยมไว้ในมุมมองทางประวัติศาสตร์
และมันก็เป็นประเด็นที่ซับซ้อนยิ่งใช่ไหมคะ
ใช่ครับ

มาคุยกันเรื่องหนังสือเล่มถัดไปในบัญชีรายชื่อของคุณดีไหมคะ อันได้แก่ The Populist Persuasion: An American History (ปี 1998) ของไมเคิล เคซิน
หนังสือเล่มนี้เป็นงานคลาสสิกที่ศึกษาประชานิยมของสหรัฐฯ มันตีพิมพ์ออกมาก่อนที่ประชานิยมจะกลับมาเป็นที่สนใจกันมากอีกครั้งนานพอควร จริงๆ แล้วมันเป็นประวัติศาสตร์ของประชานิยมในอเมริกาย้อนรอยกลับไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าพรรคของประชาชน (People’s Party)
แล้วมันเสนอข้อถกเถียงว่ายังไงบ้างคะในแง่ที่เกี่ยวกับประชานิยมในอเมริกา
อย่างหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ถกเถียงซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันพึงระลึกถึงไว้ในทุกวันนี้ก็คือประชานิยมมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในสหรัฐฯ และเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองกระแสหลักในขอบเขตที่แน่นอน ไม่ว่ามันจะถูกแสดงออกโดยตัวแสดงทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจงหรือไม่ก็ตาม แต่เอาเข้าจริงประชานิยมนั้นสอดคล้องอย่างยิ่งกับความเข้าใจเรื่องการเมืองในแบบอเมริกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำนานฐานรากว่าด้วย “พวกเราประชาชนทั้งหลาย” (“We the People”) และความระแวงสงสัยอันหยั่งลึกยืนนานยิ่งในสังคมอเมริกันที่มีต่อเมืองหลวงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ซึ่งนั่นคงต้องทำให้การปกครองจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทำได้ยากยิ่งใช่ไหมคะ ถ้าหากทุกคนระแวงสงสัยรัฐบาลกลางของตนอยู่ร่ำไปขนาดนี้
ใช่ครับ มันยากจริงๆ แต่ในอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่คุณประสบพบเห็นได้ในสหรัฐฯ ก็คือมักมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างค่านิยมที่เป็นรูปธรรมกับค่านิยมทั่วไป และความข้อนั้นก็ประยุกต์ใช้ได้กับเรื่องการเมืองด้วย ตัวอย่างเช่น เป็นธรรมเนียมเลยว่าสภาคองเกรสมักได้รับเสียงสนับสนุนต่ำยิ่ง ผมคิดว่ามีคนที่คิดว่าสภาคองเกรสทำงานได้ดีแค่สัก 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นแหละ แต่กระนั้นก็เป็นธรรมเนียมด้วยเหมือนกันว่าประชาชนเสียงข้างมากมหาศาลกลับเชื่อว่าผู้แทนของตัวทำงานได้ดี ดังนั้น ขณะที่การปกครองให้ได้ดีในวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเรื่องยาก ทว่ามันก็มีความแตกต่างบ้างนิดหน่อยระหว่างวอชิงตัน ดี.ซี. ในแง่นามธรรมกับนักการเมืองเฉพาะเจาะจงเป็นคนคนที่นั่น
อีกเรื่องที่หนังสือแสดงให้เห็นชัดก็คือในประเทศที่มีวัฒนธรรมประชานิยมในความหมายหนึ่งนั้น มันไม่ง่ายเสมอไปที่จะลากเส้นแบ่งอย่างชัดเจนว่าใครเป็นนักประชานิยมและใครไม่ใช่นักประชานิยมแต่แค่ใช้โวหารประชานิยมบ้างเท่านั้น ผมคิดว่าในหนังสือเล่มนี้เคซินเหมารวมใครต่อใครเป็นประชานิยมไว้กว้างเกินไป เขาเขียนเกี่ยวกับขบวนการหัวก้าวหน้าต่างๆ ไว้หลายบทในหนังสือซึ่งสำหรับผมเองแล้วจะไม่ถือว่าเป็นพวกประชานิยมแม้ว่าขบวนการเหล่านี้จะพูดในนามประชาชนก็ตาม
ทำไมคุณถึงไม่เรียกพวกนั้นว่าประชานิยมล่ะคะ
มันก็ย้อนกลับไปเรื่องการตีความคำว่า “ประชาชน” อีกนั่นแหละครับ ผมไม่คิดว่าพวกเขาเหล่านั้นตีความประชาชนแบบกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน และผมก็ไม่คิดว่าพวกเขาตีความมันไปในเชิงศีลธรรมด้วย กลุ่มเหล่านี้หลายกลุ่มพูดแทนบางชนชั้น ซึ่งก็คือชนชั้นกรรมกร และวาทกรรมของพวกเขาส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ หาใช่เรื่องศีลธรรมหรือค่านิยมไม่
นั่นหมายความว่าคุณใช้การอ้างอิงความคิดเรื่องประชาชนผู้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วที่ตั้งแถวประจัญกับชนชั้นนำที่ทุจริตฉ้อฉลมาเป็นตัวนิยามประชานิยมใช่ไหมคะ
ถูกเผงเลยครับ
คุณคิดว่าทุกวันนี้เราจะเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ของประชานิยมในอเมริกาได้บ้างคะขณะที่เราเดินหน้าต่อไป? ดิฉันทราบมาว่าหนังสือ Populism: A Very Short Introduction ของคุณก็แตะประเด็นเรื่องที่ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับประชานิยมจะช่วยให้เราจัดการปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไรไว้ด้วย
ก่อนอื่นเลยนะครับ มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะมองให้เห็นว่ากรณีประธานาธิบดีทรัมป์นั้นเป็นปรากฏการณ์แบบอเมริกัน มันก็จริงครับว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่กับการที่ประชานิยมรุ่งเรืองขึ้นในยุโรป แต่ทรัมป์นั้นเป็นปรากฏการณ์แบบอเมริกันที่ตั้งอยู่ในธรรมเนียมอันยาวนานของประชานิยมอมริกัน ดังนั้น ถ้าเราพยายามอธิบายความสำเร็จของเขาละก็ เราไม่ควรดูแค่ช่วงสองสามปีหลังที่ผ่านมาหรือแค่การรุ่งเรืองขึ้นของทีวีหรือสื่อสังคมออนไลน์หรือการเคลื่อนย้ายไปทางขวาของพรรครีพับลิกันเท่านั้น ปัจจัยเหล่านั้นทั้งหมดอาจแสดงบทบาทอยู่บ้าง แต่ขณะเดียวกันทรัมป์ก็เป็นรายล่าสุดในขบวนแถวอันยาวเหยียดของบรรดานักการเมืองประชานิยมด้วย เขาประสบความสำเร็จที่สุดเพราะเขาเล่นการเมืองในระดับชาติ ทว่า ประชานิยมนั้นได้แสดงบทบาทในการเมืองอเมริกันมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้วเป็นอย่างช้า ผมคิดว่านั่นเป็นประเด็นสำคัญยิ่งเพราะการจะทำความเข้าใจว่าทำไมสิ่งหนึ่งถึงเกิดขึ้นนั้น คุณต้องเข้าใจด้วยว่าเมื่อไหร่กันที่มันเคยเกิดขึ้นมาก่อน
อเมริกามีกระแสประชานิยมปีกขวามาแต่ไหนแต่ไรหรือเปล่าคะ? คุณเอ่ยไว้ในหนังสือของคุณว่ามีบางคนถึงแก่ตั้งคำถามว่าประชานิยมดำรงอยู่จริงหรือเพราะดูเหมือนว่ามันจะครอบคลุมสิ่งที่ผิดแผกแตกต่างกันร้อยแปดพันเก้า ไม่ว่าฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา พวกเกลียดกลัวต่างชาติในยุโรป หรือแม้แต่นโยบายเศรษฐกิจที่ขาดความรับผิดชอบในลาตินอเมริกา
ทว่าลักษณะอย่างหนึ่งของประชานิยมในอเมริกา เช่นในกรณี Tea Party และทรัมป์ในปัจจุบันก็คือมันเอียงขวาอย่างน่าแปลกใจเลยทีเดียว มันเป็นแบบฉบับมาอย่างนี้ในประวัติศาสตร์กระนั้นหรือคะ
ไม่หรอกครับและเอาเข้าจริงเคซินก็เน้นย้ำรากเหง้าความเป็นมาที่ก้าวหน้าของประชานิยมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตีความของเขานั้น พรรคของประชาชนซึ่งเป็นพวกประชานิยมต้นแบบตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นพลังก้าวหน้าเป็นด้านหลัก เขายังนับรวมพลังฝ่ายก้าวหน้าอีกมากมายหลายกลุ่มเข้าไว้ในงานศึกษาเรื่องประชานิยมของเขาด้วย ก็อย่างที่ผมบอกไว้ก่อนหน้านี้แหละครับ ผมคิดว่าโดยมูลฐานแล้ว กลุ่มดังกล่าวหลายกลุ่มเอาเข้าจริงไม่ใช่พวกประชานิยม ทว่า สำหรับเคซินเช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์หัวก้าวหน้าอีกไม่กี่คน (ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ) ในสหรัฐฯ นั้น ประชานิยมมีนัยเชิงบวกและเชื่อมโยงกับพลังฝ่ายก้าวหน้า
แต่เขาเองก็เน้นย้ำการเคลื่อนย้ายไปทางขวาของประชานิยมซึ่งเริ่มขึ้นในคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดกับขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ลัทธิแมคคาร์ธี และสมาคมจอห์น เบิร์ช คุณจะมองพวก Tea Party กับทรัมป์ในกระแสธรรมเนียมประชานิยมฝ่ายขวาซึ่งมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ก็ได้ครับ
ดิฉันรู้สึกว่ามันน่าแปลกใจที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเนื่องจากกระแสประชานิยมในเมื่อเขาเป็นนักธุรกิจผู้ร่ำรวยมหาศาลและเป็นส่วนหนึ่งของพวกชนชั้นนำทุจริตฉ้อฉลโดยสมบูรณ์แบบ มันเป็นไปได้ยังไงคะที่เขาชนะน่ะ
นี่เป็นจังหวะเหมาะที่จะหันไปพูดถึงหนังสือโดยพอล แท็กการ์ต ทีเดียวครับ

โอเคค่ะ มาพูดถึงหนังสือ Populism (ปี 2000) ของพอล แท็กการ์ต กัน
หนังสือของแท็กการ์ตส่วนใหญ่แล้วเป็นภาพรวมทางประวัติศาสตร์ของประชานิยมทั่วโลก แต่มันเต็มไปด้วยความหยั่งรู้สิ่งละอันพันละน้อยที่วิเศษยิ่ง อันหนึ่งที่ผมชอบที่สุดได้แก่ตอนที่เขาเขียนว่าประชานิยมเป็นการเมืองสำหรับประชาสามัญชนโดยผู้นำที่ไม่ธรรมดาสามัญ สิ่งที่เขาแสดงให้เห็นซึ่งเป็นสิ่งที่เราอภิปรายถึงในหนังสือ Populism: A Very Short Introduction ของเราเช่นกันก็คือพรรคประชานิยมจำนวนมากอยู่ใต้การนำของผู้คนที่บรรยายไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนเอาเลย
อย่างซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ก็เป็นคนร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในอิตาลี รอสส์ เพโรต์ เป็นคนร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในสหรัฐฯ ส่วนทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นคนร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย ในเนเธอร์แลนด์ พิม ฟอร์ทาวน์ (Pim Fortuyn) เป็นชายรักร่วมเพศผู้ใช้ชีวิตอย่างมีสีสันฉูดฉาดเฉิดฉายแต่ดันกลายเป็นผู้นำของบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งเกลียดชังพวกรักร่วมเพศที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ
และเหตุผลของการณ์ทั้งนี้ก็คือประชานิยมมันไม่เกี่ยวกับว่าคุณเป็นใคร มันไม่เกี่ยวกับชนชั้น แต่มันเกี่ยวกับศีลธรรม ฉะนั้น ความคิดในเรื่องนี้ก็คือว่าทรัมป์นั้นถึงแม้เขาจะมาจากนิวยอร์กซึ่งเป็นนิวาสสถานของพวกชนชั้นนำหัวเสรีนิยมทางชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา แต่เอาเข้าจริงในแง่ค่านิยมและศีลธรรมของเขาแล้ว เขาเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน
ศีลธรรมที่ว่าหมายถึงการต่อต้านระเบียบสถาบัน ต่อต้านกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ใช่ไหมคะ
ใช่ครับ
แล้วเรื่องสามัญสำนึกล่ะคะ สามัญสำนึกถูกเอ่ยถึงบ่อยเหมือนกันใช่ไหมคะ
ถูกเผงเลยครับ คนอื่นก็ใช้คำว่าสามัญสำนึกด้วยเหมือนกัน แต่มันเป็นใจกลางของวาทกรรมประชานิยมเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งนั้นสามัญสำนึกเป็นการวิพากษ์อุดมการณ์กับการแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย โดยมูลฐานแล้วมันเป็นศัพท์ไม่การเมืองเพราะมันเถียงโดยรวมว่ามีคำตอบหนึ่งซึ่งดีสำหรับทุกคนและนั่นคือสามัญสำนึกไง มันยังเชื่อมโยงกับท่าทีต่อต้านภูมิปัญญาด้วยซึ่งแรงกล้ามากในสหรัฐฯ แต่ก็แรงกล้าในหมู่ประชานิยมโดยทั่วไปด้วยเหมือนกัน กล่าวคือ เมื่อคุณมีสามัญสำนึกแล้ว คุณก็ไม่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ ไม่ต้องการนักวิชาการ เราไม่ต้องมามัวเสียเวลาขบคิดว่ากำแพงกั้นชายแดนอเมริกากับเม็กซิโกมันดีหรือเปล่า นั่นแหละครับสามัญสำนึก
อีกอย่างที่แท็กการ์ตริเริ่มนำเสนอไว้ในหนังสือของเขาซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้แก่ แนวคิดดินแดนใจกลาง (heartland) ดินแดนใจกลาง ได้แก่ อเมริกาตอนกลาง (Middle America ภาษาพูด หมายถึงพื้นที่ชนบทและชานเมืองในอเมริกาอันถือเป็นที่ตั้งวัฒนธรรมอเมริกันแก่นแท้) หรืออย่าง …
อย่างอังกฤษตอนกลาง (Middle England) งั้นใช่ไหมคะ แต่จริงๆ แล้วอะไรคือดินแดนใจกลางกันแน่
ดินแดนใจกลางหมายถึงประชาชนส่วนย่อยผู้เป็นประชาชนที่แท้จริง เวลาพวกประชานิยมอย่างทรัมป์พูดถึงประชาชน พวกเขาไม่ได้นับรวมทุกคนนะครับ แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มีนิยามอันใดเอาเลย ดังนั้น แนวโน้มก็คือพวกเขาจะอ้างอิงไปถึงอเมริกาที่แท้จริงและนั่นก็คือดินแดนใจกลางไงครับ ดินแดนใจกลางคือภูมิลำเนาของประชาชนตัวจริง ผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ พวกเขาเคารพยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า (อย่างในสหรัฐฯ นี่) ทำงานหาเงินเลี้ยงชีวิต ไม่ดัดจริตเสแสร้ง มีสามัญสำนึก รู้ผิดชอบชั่วดี และบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาว ดินแดนใจกลางก็คือประชาชนส่วนย่อยส่วนหนึ่ง แต่กล่าวในทางศีลธรรมแล้ว พวกเขาก็เป็นคำนิยามของประชาชนทั้งปวงด้วย
ฉะนั้น ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในดินแดนใจกลางก็ย่อมไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประชาชนโดยชอบ
แล้วใครสักคนที่มีผิวสีหรือเป็นผู้อพยพหรือรักร่วมเพศ คนพวกนี้ถูกกีดกันออกไปโดยอัตโนมัติหรือเปล่าคะ หรือว่าพวกเขาอาจเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนใจกลางด้วยก็ได้
ในแง่เทคนิคแล้ว ประชานิยมไม่จำต้องเกลียดกลัวต่างชาติ แม้ว่าตัวแทนที่ประสบความสำเร็จของประชานิยมส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าคุณดูพรรคฝ่ายซ้ายในยุโรปตอนนี้อย่างโพเดโมสในสเปน หรือซีริซ่าในกรีซ พวกเขาต้อนรับนับรวมคนอพยพเอามากๆ เลย ขบวนการยึดครองวอลล์สตรีตก็มีวาทกรรมประชานิยมที่แรงกล้ามาก ซึ่งมีลักษณะต้อนรับนับรวมกลุ่มชาติพันธุ์และเชื้อชาติต่างๆ อย่างน้อยก็ในทางโวหาร แม้ว่าตัวขบวนการเองจะกอปรไปด้วยคนผิวขาวมากมายเหลือเชื่อก็ตาม
ดินแดนใจกลางนี่มันมีอยู่จริงไหมคะ
ดินแดนใจกลางเป็นแบบตายตัว (stereotype) อย่างหนึ่งครับ แบบตายตัวทั้งหลายซึ่งมหาชนนิยมมักมีแกนกลางที่เป็นความจริงอยู่ด้วยเสมอ แต่มันถูกทำให้หยาบง่าย ดังนั้น มันก็จริงอยู่ครับว่ามีประชาชนที่เป็นเหมือนอย่างที่ดินแดนใจกลางบรรยายไว้เป๊ะเลยทีเดียว แต่ผู้คนมากหลายที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เอ่ยอ้างกันว่าเป็นดินแดนใจกลางก็หาได้สอดคล้องต้องตรงกับแบบตายตัวนั้นไม่ ในทำนองเดียวกัน ผู้คนเยอะแยะที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งต่างๆ ของสหรัฐฯ กลับสอดรับกับแบบตายตัวของดินแดนใจกลางที่ว่าอย่างเหมาะเหม็งยิ่งกว่าแบบตายตัวของบริเวณชายฝั่งด้วยซ้ำไป
งั้นชนชั้นนำพวกนี้เนี่ย อืม … เรากำลังพูดถึงพวกนักวิชาการใช่ไหมคะ ถ้าอย่างในกรณีของทรัมป์และแบร์ลุสโกนีที่เป็นผู้นำประชานิยมน่ะ พวกเขายอมให้อภิมหาเศรษฐีเป็นกันได้ แต่แค่ไม่ยอมให้อภิมหาปราชญ์เป็นงั้นใช่ไหมคะ ถ้ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน มันแค่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าคุณเป็นพวกหนอนตำราหรือเปล่าอย่างนั้นหรือคะ
เรื่องนั้นมันขึ้นกับว่าเป็นประเทศไหนและบทบาทของปัญญาชนที่นั่นเป็นอย่างไรมากเลยครับ สหรัฐฯ นั้นกล่าวโดยทั่วไปมีท่าทีต่อต้านปัญญาชนอย่างแรงกล้ามาแต่ไหนแต่ไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พวกฝ่ายขวา ปัญญาชนอเมริกันเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำเสมอมา
ในอังกฤษ ไม่ค่อยเป็นแบบนั้นมากเท่าไหร่ สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำไมส่วนที่เป็นประชานิยมในขบวนการเบร็กซิตหันไปต่อต้านพวกผู้เชี่ยวชาญก็เป็นเพราะว่าผู้เชี่ยวชาญพากันไปแสดงตัวอยู่ในค่าย “อยู่ (อียู) ต่อ” กันเกือบหมด ดังนั้น พวกเขาก็เลยกลายเป็นเข้าร่วมวงการต่อสู้ทางการเมืองไป
สิ่งที่คุณจะพบเห็นได้เกี่ยวกับพวกประชานิยมก็คือบ่อยครั้งพวกเขาจะแสดงความเคารพนอบน้อมมากเวลาเขียนถึงศาสตราจารย์สักคน พวกเขาจะระบุเสมอว่าเขาหรือเธอคนนั้นเป็นศาสตราจารย์เมื่อคนเหล่านั้นพูดอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาออกมา
เวลาศาสตราจารย์คนหนึ่งพูดว่าระบบการเมืองมันเน่าเฟะ พวกเขาจะเน้นย้ำข้อที่ว่าคนที่พูดสิ่งนั้นเป็นศาสตราจารย์ผู้มีชื่อ แต่เวลาศาสตราจารย์สักคนพูดว่ามันแย่นะถ้าจะออกจากอียูไป ทีนี้ละก็เขาหรือเธอจะกลับกลายเป็น “ที่เรียกกันว่าผู้เชี่ยวชาญ” ไป มันเป็นเรื่องฉวยใช้ตามโอกาสกันอย่างมากทั้งนั้นแหละครับ
ดังนั้น อย่างในอังกฤษซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ 90 เปอร์เซ็นต์ คัดค้านเบร็กซิตเพราะเห็นได้ชัดว่ามันแย่สำหรับเศรษฐกิจไม่ว่าจะมองแบบไหนก็ตาม พวกเขาทั้งหมดก็ต้องถูกก่นด่าประณามอย่างนั้นซีนะคะ
เรื่องนี้เป็นของค่อนข้างใหม่และส่วนหนึ่งมันก็เกี่ยวกับว่าพวกผู้เชี่ยวชาญทั้งนำเสนอตัวเองอย่างไรและถูกนำเสนอออกมาอย่างไรด้วย นักเศรษฐศาสตร์รวมทั้งนักรัฐศาสตร์พวกนี้จำนวนเยอะแยะมากมายออกมาแสดงท่าทีในแบบการเมืองและแถลงว่าเบร็กซิตมันแย่ ไม่เพียงแต่สำหรับเศรษฐกิจ หากแต่แย่สำหรับประเทศอังกฤษด้วย ทีนี้กลุ่ม “อยู่ (อียู) ต่อ” มากมายหลายกลุ่มก็จะเปิดตัวพวกเขาออกมาเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตน แล้วมันก็เลยทำให้พวกเขาเข้าไปพัวพันกับการเมือง
คุณมีอะไรอื่นที่อยากพูดเกี่ยวกับหนังสือของแท็กการ์ตอีกไหมคะ ดิฉันลองเปิดอ่านดูและพบว่าเขามองดูประชานิยมรอบโลกตรงแก่นเรื่อง 6 ประการด้วยกัน ประการหนึ่งก็คือว่ามันเป็นปฏิกิริยาอันทรงพลังต่อสำนึกที่ว่ากำลังตกอยู่ในวิกฤตสุดโต่ง
ปัญหาเกี่ยวกับหนังสือของแท็กการ์ตอยู่ตรงเขาไม่เคยนิยามประชานิยมออกมาชัดเจนจริงๆ เลย นี่อาจเป็นเหตุข้อหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ทรงอิทธิพลเท่าที่ควร เขาพูดถึงลักษณะสำคัญ 6 ประการ แต่เขาไม่ได้พูดออกมาจริงๆ เลยว่าประชานิยมมีลักษณะครบถ้วนทั้ง 6 อย่างหรือไม่ หรือว่ามันออกมายังไงกันแน่ ดังนั้น มันก็เป็นหนังสือที่ให้ภาพรวมของกลุ่มต่างๆ ซึ่งถูกเรียกขานบรรยายว่าประชานิยมได้ดียิ่ง ทว่าท้ายที่สุดแล้ว คุณก็ยังไม่มั่นใจเต็มที่อยู่ดีว่าแก่นแกนของประชานิยมคืออะไร
เขาเอาความคิดเรื่องวิกฤตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประชานิยมค่อนข้างถูกนำไปเชื่อมโยงกับวิกฤตอยู่เสมอ แท็กการ์ตยังเอาประชานิยมไปเชื่อมโยงกับอาการปะทุขึ้นเป็นครั้งคราวด้วย เขาเถียงว่าเอาเข้าจริงประชานิยมปรากฏขึ้นในช่วงวิกฤตเท่านั้นและเหมือนดังที่วิกฤตเป็นเรื่องระยะสั้น ประชานิยมจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเช่นกัน มันปรากฏขึ้นมาในยามวิกฤตแล้วก็หายสูญไปทันทีที่วิกฤตจบลง นี่เป็นความคิดที่ทรงพลังมากซึ่งเป็นพื้นฐานของหนังสือดีที่สุดเกี่ยวกับประชานิยมเล่มที่สี่ของเราซึ่งเขียนโดยจอห์น จูดิส

นี่คือหนังสือ The Populist Explosion: How the Great Recession Transformed American and European Politics (ระเบิดประชานิยม: เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่เปลี่ยนการเมืองอเมริกันและยุโรปไปอย่างไร, ปี 2016) โดยจอห์น บี. จูดิส เขาถกเถียงใช่ไหมคะว่าประชานิยมเป็นการตอบสนองต่อความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
ใช่ครับ และพูดให้เฉพาะเจาะจงก็คือตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (ปี 2007 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2010) ทั้งนี้เพราะถึงแม้หนังสือของจูดิสจะปูพื้นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ให้บ้าง แต่เอาเข้าจริงมันเกี่ยวกับช่วงสองปีหลังอย่างมากทีเดียว ข้อถกเถียงใจกลางของเขาก็คือสิ่งที่เขาเรียกว่าการระเบิดของประชานิยมนั้นเป็นผลลัพธ์โดยตรงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่และฉะนั้นก็เป็นผลลัพธ์โดยตรงของวิกฤตนั่นเอง
จุดแข็งของหนังสืออยู่ตรงมันเขียนขึ้นโดยนักหนังสือพิมพ์และดังนั้นมันจึงอ่านเข้าใจง่ายมาก ทว่าเพราะเหตุนั้นเองมันจึงมองปัญหาอย่างทื่อๆ ง่ายๆ กว่าเล่มอื่นมากด้วย นั่นทำให้ผู้อ่านมากหลายติดใจมันยิ่งกว่าเพราะมันเล่าเรื่องได้กระจ่างชัดยิ่ง
แต่เรื่องเล่าดังกล่าวที่ว่าประชานิยมเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจเป็นหลัก หรือกระทั่งว่าอาจเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจล้วนๆ นั้น มันไม่เป็นความจริงในเชิงประจักษ์
อ้าว มันไม่จริงหรอกเหรอคะ
ไม่จริงครับ มีพรรคประชานิยมประสบความสำเร็จสูงยิ่งหลายพรรคมาตั้งแต่ก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจนานแล้ว อย่างพรรคแนวร่วมแห่งชาติในฝรั่งเศสหรือพรรคเสรีภาพในออสเตรียซึ่งได้เสียงสนับสนุนเป็นสัดส่วนร้อยละสูงจริงๆ มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 โน่นแล้ว
เป็นธรรมเนียมมาแต่เดิมว่ากระแสประชานิยมฝ่ายขวาจะได้เสียงสนับสนุนดีเป็นพิเศษในบรรดาประเทศมั่งคั่งอู้ฟู่ที่สุดในยุโรป อย่างเช่น เดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์
ปัญหาอยู่ตรงมีแนวคิดไม่กี่อย่างหรอกครับที่คลุมเครือมากขนาด “วิกฤต” นี้ เมื่อคุณมองดูภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ จะว่าไปแล้วคุณก็อาจนิยามมันในทางประจักษ์ได้ว่าเป็นวิกฤต เห็นชัดว่ายุโรปก็ยังอยู่ในวิกฤตที่ว่านั้น
แต่ถ้าดูบนฐานของชีวิตประจำวัน ขณะที่คนในกรีซส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในขั้นมูลฐาน คนส่วนใหญ่ในเยอรมนีกลับไม่เป็นเช่นนั้น ถึงกระนั้นก็ตาม คนในเยอรมนีหรือเนเธอร์แลนด์ก็พลอยรู้สึกไปด้วยว่าพวกเขาอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น วิกฤตจึงเป็นสภาวะความรู้สึกนึกคิดอย่างหนึ่งด้วย
ถ้าเป็นวิกฤตการเมืองด้วยแล้ว เรื่องก็ยิ่งแล้วกันไปใหญ่ อาทิ ผู้ลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์จำนวนมากรู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังเลวร้าย เรากำลังเดินไปผิดทาง และเราตกอยู่ในวิกฤต ดังจะสังเกตเห็นได้จากผลการหยั่งเสียงต่างๆ ถึงแม้ว่ากล่าวในทางประจักษ์แล้ว สหรัฐฯ หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะคนเราไม่ได้กระทำการทางการเมืองบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เป็นจริง แต่บนพื้นฐานของสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นความจริงต่างหาก
ในความหมายนี้ วิกฤตจึงเป็นเรื่องสำคัญ เวลาผู้คนคิดว่ามีวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือการเมือง พวกเขาก็จะกระทำการตามที่คิดเช่นนั้น
ถ้าอย่างนั้นในบางประเทศเช่นเนเธอร์แลนด์ คนเขารู้สึกว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ในวิกฤตไหมคะ นั่นใช่เหตุผลที่ทำให้เกียร์ต วิลเดอร์ เป็นที่นิยมมากที่นั่นหรือเปล่า
เขาไม่ได้รู้สึกกันแบบนั้นในเชิงเศรษฐกิจนะครับ แต่ก็มีคนจำนวนมากในเนเธอร์แลนด์ที่รู้สึกว่าอารยธรรมกำลังตกอยู่ในวิกฤตเพราะเรากำลังถูกคุกคามโดยกระแสอิสลามระดับโลกและการผนึกรวมยุโรปเป็นเอกภาพ พวกเขารู้สึกว่ามันเป็นวิกฤตเพราะสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนไปในทางเลวร้ายลงในขั้นมูลฐานและมันเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน นั่นคือสิ่งที่วิกฤตก่อให้เกิดขึ้นและก็คือสิ่งที่พวกฝ่ายขวาจำนวนมากรวมทั้งทรัมป์และคนอื่นๆ ด้วยคอยผลักดันอยู่ตลอดเวลา ความคิดทำนองว่านี่เป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายแล้วนะและถ้าคลินตันชนะละก็ มันก็จบเห่กันเท่านั้นเอง นั่นแหละครับคือความคิดเรื่องวิกฤต คือถ้าไม่ลงมือบัดเดี๋ยวนี้ก็จะไม่มีโอกาสอีกแล้วตลอดไป
ถ้ามันเป็นภาวะจิตที่ยัดเยียดให้ตัวเองชนิดหนึ่ง คุณจะทำให้ผู้คนสลัดหลุดจากมันได้ยังไง
ผมไม่คิดว่ามันจะช่วยอะไรได้ถ้าเราเอาแต่คอยตอบรับกับสถานการณ์ ในวาทกรรมของเรา เราเพียรพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนเหล่านี้เชื่อเสมอ ซึ่งเป็นพวกที่พูดว่าเราอยู่ในวิกฤตบ้างล่ะ คนมุสลิมกำลังจะฆ่าเราบ้างล่ะ หรือไม่ก็ว่าชนชั้นนำทางชายฝั่งตะวันออกสมคบคิดกันก่อการใหญ่บ้างล่ะ โดยการนำเสนอข้อมูลตัวเลขหรือข้อถกเถียงด้วยเหตุผลของเรา เราบอกพวกเขาว่า “เรื่องมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นสักหน่อย”
ผมกลับคิดว่าทางเดียวที่จะสลัดหลุดจากสถานการณ์แบบนี้ได้ ก่อนอื่นเลยก็คือตระหนักเสียว่าในประเทศส่วนใหญ่ ประชาชนส่วนข้างมากอันไพศาลไม่เชื่อว่าเราตกอยู่ในวิกฤต แล้วจากนั้นเราค่อยเสนอแนวนโยบายเชิงบวกที่มีประสิทธิผลเข้าไปแทน
มาลองดูกรณีสหรัฐฯ กันก็ได้นะครับเพราะมันเป็นตัวอย่างที่เห็นกันจะแจ้งที่สุด คนที่โหวตให้ทรัมป์ส่วนใหญ่พอควรส่วนหนึ่งเลือกโหวตให้พรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนเสมอมา มันไม่จำต้องหมายความว่าพวกเขาสนับสนุนนักประชานิยม จะว่าไปพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากโหวตให้นักประชานิยม แต่อันที่จริงพวกเขาก็คงโหวตให้เท็ด ครูซ หรือมาร์โก รูบิโอ ไปแล้วถ้าหากคนใดคนหนึ่งในสองคนนั้นได้เป็นตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ขณะที่แน่ล่ะว่าประชานิยมมีความสำคัญ เราไม่ควรทำราวกับว่ามันผูกขาดเกมทั้งหมดอยู่เจ้าเดียว
เอาเข้าจริงทรัมป์ไม่ได้ชนะคะแนนเสียงประชาชนข้างมากนะครับ คนที่โหวตให้กับแนวนโยบายเชิงบวกโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมนิยมและเกี่ยวกับการเมืองในขอบเขตที่แน่นอนนั้นมีจำนวนมากกว่าคนที่โหวตให้กับแนวนโยบายประชานิยมของทรัมป์ตั้งเกือบ 3 ล้านคน
มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ถูกกีดกันออกไปจากเสียงข้างมากดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชนชั้นคนงานผิวขาว ส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้คุณสามารถช่วงชิงกลับมาได้โดยเดินแนวทางการเมืองเรื่องการกระจายรายได้ที่ดีกว่านี้ แต่ส่วนอื่นๆ ที่เหลือคุณไม่มีทางจะช่วงชิงกลับมาได้หรอกครับเพราะพวกเขาเกลียดกลัวอิสลามหรือนิยมเชื้อชาติ ทางเดียวที่จะช่วงชิงพวกเขากลับมาได้ก็คือกลายเป็นพวกเกลียดกลัวอิสลามหรือนิยมเชื้อชาติบ้าง
ซึ่งนั่นน่ะไม่ใช่บทบาทที่พึงจะเป็นของพรรคเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย
มีความเหลื่อมล้ำเพิ่มพูนขึ้นทั่วโลกเนื่องจากโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในเศรษฐกิจ ตามธรรมเนียมที่เป็นมาแล้ว รัฐบาลทั้งหลายจัดการกับความปั่นป่วนวุ่นวายของตลาดแรงงานทำนองนี้ได้แย่มาก ไม่จริงหรือคะว่าส่วนหนึ่งประชานิยมเป็นการตอบสนองต่อความยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างที่จูดิสเถียงน่ะ สหรัฐฯ อาจไม่ได้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วก็จริง แต่ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นหมายความว่ามีคนกลุ่มต่างๆ ที่อาจหางานดีๆ ทำไม่ได้ไปสองสามชั่วอายุคน นั่นน่ะมีส่วนส่งผลด้วยไม่ใช่หรือคะ
มันมีส่วนส่งผลอยู่ด้วยจริงครับ แต่ในกรณีส่วนใหญ่ที่สุดนั้นเรากำลังพูดถึงประชานิยมฝ่ายขวาประเภทขุดรากถอนโคน ส่วนประชานิยมฝ่ายซ้ายค่อนข้างเป็นรอง ความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจย่อมจะถูกแปลออกมาในทางสังคมวัฒนธรรม สำหรับสังคมวัฒนธรรมอเมริกันนั้น มันถูกแปลออกมาในทางเชื้อชาติ การแปลความในเชิงเชื้อชาตินี่แหละคือแก่นสารสำคัญเพราะถ้ามันเป็นแค่เรื่องความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจแล้ว การที่คุณจะโหวตให้เบอร์นี แซนเดอร์ส ฝ่ายซ้ายหรือโดนัลด์ ทรัมป์ ฝ่ายขวาก็คงเป็นเรื่องสุ่มๆ เอาเท่านั้น ทั้งคู่ต่างเอาธุระกับการย้ายตำแหน่งงานไปต่างประเทศ, กับโลกาภิวัตน์ ฯลฯ ทว่า กลับมีผู้ลงคะแนนเสียงน้อยรายมากที่ยอมย้ายค่ายจากแซนเดอร์สไปหาทรัมป์ ทั้งนี้ก็เพราะวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจที่ถูกแปลให้เป็นเรื่องเชื้อชาตินี่แหละ
ถ้าคุณตัดเหตุปัจจัยเรื่องความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจทิ้งไป ก็จะมีคนในสัดส่วนใหญ่พอควรที่ไม่โหวตให้พรรคเหล่านี้อีกแล้ว แต่คนอื่นๆ ก็ยังคงจะโหวตให้พรรคเหล่านี้อยู่ มีคนมากมายที่โหวตให้เกียร์ต วิลเดอร์ ในเนเธอร์แลนด์ หรือโหวตให้มารีน เลอเปน หรือโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งที่ตัวเองฐานะมั่งคั่ง เพราะถึงไงคนเหล่านี้ก็ยังหวาดกลัวคนมุสลิมอยู่
งั้นสำหรับหนังสือเล่มนี้ มันยังอยู่ในบัญชีรายชื่อหนังสือแนะนำให้อ่านเกี่ยวกับประชานิยมของคุณ แต่ทว่าคุณก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อสรุปของมัน อย่างนั้นใช่ไหมคะ
มันเป็นบทนำไปสู่เรื่องประชานิยมที่ง่ายที่สุดครับ มันทำเช่นนั้นผ่านเลนส์ส่องโลกที่ปรับแต่งให้ทื่อๆ ง่ายๆ ไปหน่อย แต่กระนั้นมันก็ยังเสนอสนองข้อมูลดีๆ ให้เยอะครับ
มันดูทั้งอเมริกาและสำรวจประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วยใช่ไหมคะ
ใช่ครับ แถมดูทั้งประชานิยมฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาอีกต่างหาก มันพูดถึงทั้งเนเธอร์แลนด์กับฝรั่งเศส รวมทั้งสเปนกับกรีซด้วย นั่นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเพราะสเปนกับกรีซเป็นสองกรณีของประชานิยมฝ่ายซ้ายที่ประสบความสำเร็จ ผมคิดว่าสองกรณีนั้นอธิบายด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับกรณีพรรคแนวร่วมแห่งชาติของฝรั่งเศสและกลุ่มประชานิยมขวาจัดอื่นๆ

เรามาเดินหน้าต่อไปยังหนังสือเล่มสุดท้ายในบัญชีรายชื่อหนังสือดีที่สุดเกี่ยวกับประชานิยมของคุณนะคะ ได้แก่เรื่อง What Is Populism? (ปี 2016) โดยแยน-แวร์เนอร์ มึลเลอร์ เขาเชื่อว่าโดยมูลฐานแล้วประชานิยมมีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตย ใช่ไหมคะ
หนังสือเล่มนี้เหมือนผสมผสานเล่ม The Populist Explosion ของจอห์น จูดิส กับ The People ของมาร์กาเร็ต คาโนแวน เข้าด้วยกันในความหมายที่ว่ามันเป็นงานปรัชญาการเมืองแต่อ่านเข้าใจง่ายกว่าเล่มของคาโนแวนมากครับ
มันอภิปรายความตึงเครียดระหว่างประชานิยมกับประชาธิปไตยได้อย่างดีเยี่ยมและเน้นบทบาทของประชานิยมที่หยิบยกบรรดาปัญหาซึ่งดำรงอยู่ภายในระบอบประชาธิปไตยมาย้ำให้เห็นเด่นชัด
มึลเลอร์มีท่าทีเชิงลบต่อประชานิยมเป็นอย่างยิ่งซึ่งเขามองว่าแทบจะมีแต่ฝ่ายขวาล้วนๆ เขาไม่คิดว่าพรรคโพเดโมสในสเปนหรือพรรคซีริซาในกรีซหรือขบวนการยึดครองวอลล์สตรีตเป็นพวกประชานิยม
เขายังเห็นต่างจากคนอื่นแทบทุกคนก็ว่าได้ตรงที่เขาไม่คิดว่าพรรคของประชาชนในสหรัฐฯ สมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นพื้นฐานของงานศึกษาเรื่อง The Populist Persuasion ของไมเคิล เคซิน นั้นเป็นประชานิยม
ทำไมเขาถึงคิดว่าประชานิยมมีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตยล่ะคะ
สำหรับแยน-แวร์เนอร์ ระบอบประชาธิปไตยย่อมต้องเป็นเสรีประชาธิปไตยโดยนิยาม เขาถกเถียงว่าการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม สื่อเสรี และฝ่ายตุลาการอิสระเป็นลักษณะมูลฐานด้านต่างๆ ของระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เขาเถียงว่าประชานิยมต่อต้านพื้นที่อิสระดังกล่าวเหล่านั้นภายในระบบการเมือง
ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นด้วยกับคำอภิปรายของเขาเรื่องความตึงเครียดระหว่างประชานิยมกับประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าผมจะตีความทั้งประชานิยมและประชาธิปไตยแตกต่างจากเขาไปบ้างเล็กน้อยก็ตาม ผมคิดว่าความตึง เครียดที่เขาหยิบยกขึ้นมาย้ำให้เห็นเด่นชัดนั้นอยู่ตรงใจกลางการท้าทายที่ประชานิยมกระทำต่อสิ่งที่ผมเรียกว่าระบอบเสรีประชาธิปไตย ส่วนเขาเรียกว่าประชาธิปไตยโดยทั่วไปเอามากๆ ทีเดียว
ถ้างั้นสิ่งที่ตกอยู่ใต้ภัยคุกคามเมื่อเผชิญกับขบวนการประชานิยมเหล่านี้บางขบวนก็ได้แก่พหุภาพ (plurality ความหลายหลากมากมาย) ซีคะ
เขาเถียงว่าประชาธิปไตยนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานพหุนิยม หรือนัยหนึ่งความคิดที่ว่ามีกลุ่มแตกต่างหลากหลายกันอยู่ในสังคมซึ่งทั้งหมดล้วนแต่มีข้ออ้างอันชอบธรรมที่จะได้อำนาจ ผมและคนอื่นอีกบางคนคงจะเถียงว่าที่เขาว่านั้นเป็นลักษณะเฉพาะเจาะจงของระบอบเสรีประชาธิปไตยต่างหาก แต่ที่แยน-แวร์เนอร์กับผมเห็นตรงกันก็คือประชานิยมมีลักษณะเอกนิยม (monism) โดยมูลฐาน
ฉะนั้น โดยมูลฐานแล้ว ประชานิยมจึงต่อต้านพหุนิยม (pluralism) และถือว่าตัวกระทำการอื่นๆ เป็นกลุ่มผลประโยชน์พิเศษเฉพาะที่ไม่ชอบธรรม พวกนั้นล้วนแต่เป็นผู้ทรยศ ล้วนแต่ทุจริตฉ้อฉล
ดังนั้น เวลานักประชานิยมคนหนึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งอะไรสักอย่าง เขาก็จะบอกว่าพวกนักการเมืองที่ลงแข่งกับเขาต่างหากที่เป็นชนชั้นนำชั่วร้ายทุจริตฉ้อฉล และแล้วเมื่อนักประชานิยมขึ้นครองอำนาจ เขาหรือเธอก็จะปฏิเสธไม่ยอมรับรองว่าฝ่ายค้านใดๆ ชอบธรรมอีกเหมือนกัน
ตรงเผงเลยครับ อีกเรื่องที่แยน-แวร์เนอร์ทำได้ดีเยี่ยมคือแสดงให้เห็นว่ามันไม่จริงในเชิงประจักษ์หรอกไอ้ความคิดที่หลายต่อหลายคนมีซึ่งช่วยปลอบประโลมให้สบายใจยิ่งที่ว่าพวกประชานิยมนั้นปกครองไม่เป็น ความคิดดังกล่าวนี้ถือว่าโดยแก่นแท้แล้วประชานิยมเป็นจุดยืนต่อต้านระเบียบสถาบัน ฉะนั้น ทันทีที่นักประชานิยมกลายเป็นระเบียบสถาบันเสียเอง พวกเขาย่อมพังทลายแน่นอน
แต่เอาเข้าจริงเราเองก็รู้ว่ามีหลายกรณีที่พวกประชานิยมครองอำนาจแล้วประสบความสำเร็จ พวกเขาสร้างชนชั้นนำใหม่ขึ้นมา คุณเห็นกรณีแบบนั้นกับวิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี เขากล่าวว่า “ผมเป็นปากเสียงที่ชอบธรรมของประชาชน” และบอกต่อไปว่าแต่ที่ฮังการีนี่ยังมีชนชั้นนำในเงามืดอยู่บางกลุ่ม ตัวอย่างเช่นอดีตสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยผู้กำลังแอบสมรู้ร่วมคิดกับสหภาพยุโรปมาบ่อนทำลายประชาชน (หมายถึงตัวนายกฯ ออร์บานเอง)
ทำไมแยน-แวร์เนอร์ มึลเลอร์ ถึงมีท่าทีเชิงลบกับประชานิยมขนาดนั้นล่ะคะ เป็นเพราะประวัติศาสตร์เยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และสิ่งที่ประชานิยมอาจนำไปถึงได้ใช่ไหมคะ
ผมคิดว่ามันเกี่ยวกับความเข้าใจประชาธิปไตยของเขามากกว่าครับ เนื่องจากสำหรับเขาแล้วประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวกับเสรีประชาธิปไตย ประชานิยมจึงเจาะเข้าไปถึงแกนกลางของมันเลยทีเดียว อีกอย่างก็คือกลุ่มบางกลุ่มซึ่งพวกเสรีนิยมและหัวก้าวหน้าหลายคนมองว่าอย่างน้อยก็มีเจตนาดีแม้ว่าการกระทำอาจไม่จำเป็นต้องดีไปด้วยอาทิเช่นโพเดโมสและซีริซานั้น แยน-แวร์เนอร์กลับไม่เห็นว่าพวกนี้เป็นประชานิยม
ดังนั้น เอาเข้าจริงแขาแทบไม่มีกลุ่มใดที่ได้ทำสิ่งที่ค่อนไปทางบวกซึ่งเป็นพวกประชานิยมเลย
คุณเอ่ยถึงฌอง-ฌากส์ รูสโซ ไว้ในหนังสือ Populism: A Very Short Introduction ของคุณ เราจำต้องเข้าใจแนวคิดของเขาเรื่องเจตจำนงทั่วไป (the general will) เพื่อที่จะเข้าใจประชานิยมได้ถูกต้องไหมคะ
กล่าวในแง่ทรรศนะมูลฐานต่อสังคมแล้ว พวกประชานิยมมองเห็นชนชั้นนำผู้ทุจริตฉ้อฉลประจันหน้ากับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทว่าการเมืองแบบที่พวกเขาต้องการนั้นตั้งอยู่บนเจตจำนงทั่วไปของประชาชน เหตุที่นี่เป็นเรื่องสำคัญก็เพราะพวกประชานิยมเชื่อว่าโดยมูลฐานแล้ว “ประชาชน” มีค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้น คุณจึงสามารถมีการเมืองที่ดีสำหรับทุกคนได้ นั่นคือจุดขายของพวกเขา แน่ล่ะว่าการเสนอเช่นนั้นมันมีเสน่ห์ดึงดูดใจกว่าพวกนักการเมืองที่พูดจาประสาซื่อว่า “มาตรการเฉพาะอันนี้อำนวยประโยชน์ให้แก่กลุ่มนี้หรืออย่างน้อยก็อำนวยประโยชน์ให้กลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่น”
ลองคิดถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมดูซีครับ สมมติว่าเราทั้งหมดเชื่อเรื่องภาวะโลกร้อน ฉะนั้น เราทั้งหมดจึงได้ประโยชน์จากการเมืองที่ทวนกระแสภาวะโลกร้อนเพราะมิฉะนั้นเราก็คงตายกันเรียบ แต่ทว่าผลลัพธ์ของนโยบายสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นจะยังความเดือดร้อนให้บางคนมากกว่าคนอื่น อย่างเช่นว่าทำให้พลังงานแพงขึ้น กล่าวในเชิงสัมพัทธ์แล้ว คนจนจะได้รับผลกระทบหนักกว่าพวกเศรษฐีพันล้านทั้งหลาย เพราะโลกเรามันก็เป็นไปของมันแบบนั้นแหละ มันเป็นเรื่องซับซ้อนและไม่มีนโยบายใดจะส่งผลดีแก่ทุกคนเท่ากันได้ จะมีคนบางคนที่ไม่ได้ประโยชน์เลยหรือได้น้อยกว่าคนอื่นอักโขเสมอ ถึงแม้พวกเขาจะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม
นั่นคือข้อถกเถียงเรื่องเจตจำนงทั่วไปของรูสโซใช่ไหมคะ
ใช่ครับ ถึงแม้ว่าเอาเข้าจริงมันจะสลับซับซ้อนกว่าแง่มุมที่ผมหยิบยกขึ้นมาเน้นให้เห็นเด่นชัดในที่นี้มาก รูสโซเถียงว่าประชาชนหาใช่เป็นเพียงปัจเจกบุคคลมากหลายที่มารวมๆ กันเท่านั้นไม่ อันที่จริงพวกเขายังเป็นผู้กระทำการที่เป็นเอกภาพชนิดหนึ่งด้วย และดังนั้น พวกเขาจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
แล้วใครเป็นพวกนักปรัชญาการเมืองหลักที่เห็นต่างจากอันนั้นล่ะคะ
มีหลายคนครับ แม้แต่ตัวรูสโซเองก็คงไม่เห็นด้วยกับข้อความข้างต้นบางส่วน ทว่านักคิดเสรีนิยมและอนุรักษนิยมส่วนใหญ่รวมทั้งจอห์น รอลส์ และเอ็ดมันด์ เบิร์ก คงเถียงว่าประชาชนนั้นไม่เป็นเนื้อเดียวกันและมีผลประโยชน์แตกต่างกันรวมทั้งค่านิยมแตกต่างกันด้วย