เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความมั่นใจ ด้วยการเป็น ‘ตัวตนไร้กังวล’ ของลูก

ชลิดา หนูหล้า เขียน

 

 

“ส่วนหนึ่งของการสร้างบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยคือการระลึกไว้เสมอว่าชีวิตเป็นของลูก ไม่ใช่ของคุณ ปัญหาของลูกจึงไม่ใช่ปัญหาของคุณ … เมื่อจิตใจของเราสงบ เราจะปล่อยให้ลูกเผชิญความไม่สบายกายไม่สบายใจเพื่อเรียนรู้ที่จะจัดการมันด้วยตัวเองได้ … เมื่อพ่อแม่แยกความสุขของตัวเองจากความสุขของลูก เมื่อยอมรับว่าแม่มีความสุขและสบายใจได้แม้ลูกวัย 12 ปีกำลังเป็นทุกข์ ก็จะง่ายต่อการเสนอความช่วยเหลือแก่ลูกในยามที่ลูกต้องการ”

เด็กคนหนึ่งจะเติบโตอย่างเข้มแข็ง มีกรอบความคิดแบบเติบโต เชื่อว่าตนรับมือปัญหาและก้าวผ่านอุปสรรคได้เสมอได้อย่างไร

คำตอบคือเด็กคนนั้นต้องมี “ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง” (sense of control) หรือความรู้สึกว่าตนเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เผชิญได้เสียก่อน

หัวใจของการบ่มเพาะลูกให้มีความสามารถในการกำกับดูแลตนเองคือการเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจและรับผิดชอบการตัดสินใจของตนเอง ลองผิดลองถูกและเรียนรู้การจัดการตนเองเพื่อรับมือความผันผวนในชีวิต ซึ่งนอกจากจะงอกงามจากความเชื่อมั่นว่าเด็กย่อมปรารถนาดีต่อตนเอง และพร้อมตัดสินใจอย่างเหมาะสมเมื่อมีข้อมูลเพียงพอแล้ว ยังสัมพันธ์กับการเป็น “ตัวตนไร้กังวล” (nonanxious presence) ของพ่อแม่ หรือการเป็นที่ปรึกษาที่เพียงอยู่ใกล้ก็เบาใจได้อีกด้วย

 

 “ตัวตนไร้กังวล” สำคัญอย่างไร

 

“เด็กๆ ไม่ต้องการพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ แต่เด็กจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากพ่อแม่ที่สามารถเป็นตัวตนไร้กังวลของพวกเขาได้” คือคำตอบที่ชัดเจนของบิล หรือวิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) และเน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) สองผู้เขียน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

การเป็นตัวตนไร้กังวลหรือเป็นบุคคลที่แผ่รังสีแห่งความสงบให้ลูกสัมผัสได้เสมอของพ่อแม่จะทำให้บ้านและครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก กล่าวคือเป็นพื้นที่ที่เด็กพร้อมเปิดเผยความรู้สึก ความคิด และความผิดพลาดของตนโดยไม่กลัวว่าจะถูกตัดสิน ตำหนิ หรือเป็นสาเหตุของความทุกข์ของผู้อื่น

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งทดลองเพื่อเปรียบเทียบการเลี้ยงดูที่เต็มไปด้วยความสงบกับการเลี้ยงดูที่เต็มไปด้วยความกังวลในหนู พวกเขาพบว่าแม่หนูที่มีระดับความเครียดต่ำจะใช้เวลาเลียตัวและทำความสะอาดขนลูกมากกว่า ลูกหนูกลุ่มนี้จึงสงบกว่าและกล้าออกสำรวจรอบๆ กรงมากกว่าลูกหนูที่ถูกเลียตัวและทำความสะอาดขนน้อยกว่า เพราะความรู้สึกที่แม่หนูถ่ายทอดให้ลูกหนูกลุ่มแรกคือความรู้สึกว่าโลกนี้ปลอดภัย ลูกๆ ท่องเที่ยวไปได้ทุกซอกมุม

มนุษย์ก็เช่นกัน “เมื่อเราไม่เครียด กังวล โกรธหรือเหนื่อยเกินไป เราจะปลอบทารกได้ดีกว่า รับมือพฤติกรรมท้าทายของเด็กเล็กได้มากกว่า รวมถึงตอบสนองต่อขีดจำกัดของวัยรุ่นได้โดยไม่พลั้งพูดหรือทำอะไรที่จะสร้างบาดแผลให้ลูก” บิลและเน็ดกล่าว

 

หัวใจของการบ่มเพาะลูกให้มีความสามารถในการกำกับดูแลตนเองคือการเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจและรับผิดชอบการตัดสินใจของตนเอง ลองผิดลองถูกและเรียนรู้การจัดการตนเองเพื่อรับมือความผันผวนในชีวิต ซึ่งนอกจากจะงอกงามจากความเชื่อมั่นว่าเด็กย่อมปรารถนาดีต่อตนเอง และพร้อมตัดสินใจอย่างเหมาะสมเมื่อมีข้อมูลเพียงพอแล้ว ยังสัมพันธ์กับการเป็น “ตัวตนไร้กังวล” (nonanxious presence) ของพ่อแม่ หรือการเป็นที่ปรึกษาที่เพียงอยู่ใกล้ก็เบาใจได้อีกด้วย

 

 

ทั้งนี้ ทั้งความเครียดและความสงบยังติดต่อจากคนสู่คนได้ บิลและเน็ดเรียกความวิตกกังวลที่กระโจนจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งเหมือนไวรัสทางอารมณ์นี้ว่า “ความเครียดทางอ้อม” (secondhand stress) ที่จะตกค้างอยู่แสนนาน “คนบางคนแค่อยู่ใกล้ก็พานให้เครียด … ใครบ้างที่ไม่เคยทำงานในออฟฟิศติดเชื้อและได้รับฤทธิ์เดชจากคนเพียงคนเดียวที่เครียดเรื้อรัง เราต่างรู้ว่าสมาชิกครอบครัวที่กำลังกังวลเพียงคนเดียวก็แพร่กระจายความกังวลไปทั่วบ้านจนทุกคนหวั่นวิตกได้”

ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทารกได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมและระดับความเครียดของแม่ นับแต่นั้นจนถึงวัยปฐมวัย หากเด็กอยู่ในบ้านอุดมความเครียด พวกเขาจะหลีกเลี่ยงผลกระทบอันเลวร้ายไม่พ้น  เพราะอะมิกดาลา (amygdala) หรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่ออันตรายจะสัมผัสได้ว่าตนอยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย และตอบสนองต่อความกังวลหรือความขุ่นข้องหมองใจของคนอื่น กระทั่งความกลัวที่ปะปนในกลิ่นเหงื่อของคนที่กำลังเครียดก็เช่นกัน!

นอกจากนี้ คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าที่สัมพันธ์กับการใช้วิจารณญาณยังมี “เซลล์ประสาทกระจกเงา” (mirror neuron) ที่เลียนแบบสิ่งใดก็ตามที่เด็กเห็น เมื่อผู้ใหญ่เครียด เด็กจึงร้องไห้และงอแงมากกว่าปกติ และหากคุณคิดว่าจะซ่อนความเครียดจากลูกได้ละก็ คุณคิดผิดแล้ว นักจิตวิทยาพอล เอกเมน (Paul Ekman) ที่อุทิศชีวิตให้การระบุและรวบรวมสีหน้านับพันรูปแบบกล่าวว่า มนุษย์มีระบบการแสดงออกที่ส่งความรู้สึกของตนให้อีกฝ่ายไม่ว่าเขาหรือเธอจะต้องการให้ใครรับรู้หรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าใครก็ต้องเคยถูกถามเกี่ยวกับสีหน้าที่แสดงออกอย่างไม่รู้ตัวใช่ไหมเล่า

 

ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทารกได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมและระดับความเครียดของแม่ นับแต่นั้นจนถึงวัยปฐมวัย หากเด็กอยู่ในบ้านอุดมความเครียด พวกเขาจะหลีกเลี่ยงผลกระทบอันเลวร้ายไม่พ้น  เพราะอะมิกดาลา (amygdala) หรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่ออันตรายจะสัมผัสได้ว่าตนอยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย และตอบสนองต่อความกังวลหรือความขุ่นข้องหมองใจของคนอื่น กระทั่งความกลัวที่ปะปนในกลิ่นเหงื่อของคนที่กำลังเครียดก็เช่นกัน!

 

เด็กๆ จึงเห็นสิ่งที่พ่อแม่รู้สึกแม้พ่อแม่ไม่ต้องการ และลอกเลียนความรู้สึกนั้น ทั้งนี้ เด็กยังมักตีความสิ่งที่เห็นได้ไม่ดี ดังนั้น ขณะที่แม่ซึ่งร่วมโต๊ะรับประทานอาหารเย็นกับพ่อที่หงุดหงิดอาจบอกตัวเองว่า “เขาโมโห แต่ไม่ใช่เพราะฉันหรอก รอให้ใจเย็นแล้วถามแล้วกัน” ลูกมีแนวโน้มจะคิดว่า “พ่อโมโห เพราะเราแน่นอนละ พ่อโกรธเรา”

ยิ่งกว่านั้น ความกังวลและความเครียดของพ่อแม่ยังนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ก่อประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในบ้าน การแสดงความเคลือบแคลงต่อการตัดสินใจของลูก การแสดงความกังวลอย่างเกินพอดีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเด็ก ซึ่งยิ่งทำลายความมั่นใจและความเคารพในตนเองของเด็ก ทำให้พวกเขาไม่พร้อมเผชิญโลกกว้าง ไม่อาจเรียนรู้จากความผิดพลาด หรือเลวร้ายกว่านั้น คือตีตัวออกหากคนในครอบครัวเพื่อถนอมจิตใจของตนเองเสียเลย

 

แล้วจะเป็นตัวตนไร้กังวลของลูกได้อย่างไร

 

บิลและเน็ดเชื่อว่า “ลูกๆ เลียนแบบความสงบของเราได้เช่นเดียวกับที่เลียนแบบความเครียด คุณคงรู้จักคนที่สงบเงียบ คนที่แผ่รัศมีแห่งความเป็นสุขและคงไว้ซึ่งความสามารถในการกำกับสถานการณ์ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโกลาหล พวกเขาเป็นคนที่คุณอยากเรียกหาเมื่อมีเหตุด่วน หรืออยากอยู่ข้างๆ เมื่อกังวลใจ”

ที่น่ายินดีคือคุณเองก็เป็นคนคนนั้นของลูกได้ ทำให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นสถานพักฟื้นที่เด็กๆ ต้องการหลังเผชิญสังคมอุดมปัญหานอกบ้านได้ เพียงท่องว่าปัญหาของลูกเป็นปัญหาของลูกเสมอ ไม่ใช่ปัญหาของคุณ

ลำพังถ้อยคำนี้อาจฟังเหมือนใจร้าย แต่การระลึกว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาของลูกและลูกต้องจัดการมันเองเพื่อเติบโตอย่างเข้มแข็งจะทำให้จิตใจของพ่อแม่สงบ ไม่รีบเร่งแก้ไขปัญหาให้ลูก ไม่กระโจนเข้าตอบสนองทั้งที่การตอบสนองนั้นอาจกลายเป็นความทุกข์ใหม่ของทุกคน แม่ที่ด่าทอเพื่อนของลูกทันทีที่เด็กสองคนทะเลาะกัน หรือพ่อที่ติเตียนลูกรุนแรงเมื่อลูกซุกซนจนพลัดตกจากบันไดจะสูญเสียตำแหน่งที่ปรึกษา และกลายเป็นแม่ทัพหรือผู้คุมของลูก ซึ่งย่อมไม่ใช่ตำแหน่งที่อยู่ข้างกายแล้วอุ่นใจนัก

 

 

ดังนั้น การจัดการความเครียดของตนให้ได้จึงสำคัญต่อการจัดการปัญหาของลูก ผู้ใหญ่เองก็ต้องการความสามารถในการกำกับดูแลตนเองเท่ากับที่เด็กต้องการ และบางครั้งการพยายามเป็นที่พึ่งของลูกมากเกินไปก็อาจย้อนกลับมาทำร้ายครอบครัว

 

การระลึกว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาของลูกและลูกต้องจัดการมันเองเพื่อเติบโตอย่างเข้มแข็งจะทำให้จิตใจของพ่อแม่สงบ ไม่รีบเร่งแก้ไขปัญหาให้ลูก ไม่กระโจนเข้าตอบสนองทั้งที่การตอบสนองนั้นอาจกลายเป็นความทุกข์ใหม่ของทุกคน แม่ที่ด่าทอเพื่อนของลูกทันทีที่เด็กสองคนทะเลาะกัน หรือพ่อที่ติเตียนลูกรุนแรงเมื่อลูกซุกซนจนพลัดตกจากบันไดจะสูญเสียตำแหน่งที่ปรึกษา และกลายเป็นแม่ทัพหรือผู้คุมของลูก ซึ่งย่อมไม่ใช่ตำแหน่งที่อยู่ข้างกายแล้วอุ่นใจนัก

 

บิลและเน็ดเสนอสี่แนวทางเป็นตัวตนไร้กังวลของลูก ดังนี้

 

จำไว้ว่า “ความสุขจากการอยู่กับลูกต้องมาก่อน”

 

ช้าก่อน บิลและเน็ดไม่ได้กำลังบอกว่าพ่อแม่ควรกล่อมตัวเองให้เชื่อว่าการเลี้ยงดูลูกนั้นง่าย ทั้งที่แท้จริงแล้วยากแสนสาหัส เพราะอย่างไรเสียก็ไม่มีใครแสร้งไม่กังวลได้ สองผู้เขียนขอเพียงให้พ่อแม่จินตนาการสีหน้ายินดีของตัวเองเมื่อเห็นลูกน้อยหลังออกจากบ้านไปทำงานตลอดวัน แล้วนึกถึงประสบการณ์ของเด็กคนนั้น ว่าการมีใครสักคนมองคุณด้วยสีหน้าราวกับคุณเป็นสิ่งมหัศจรรย์นั้นวิเศษเพียงใด

ลูกต้องการสัมผัสความสุขที่ได้เห็นสีหน้านั้น ความรู้สึกนั้นมีพลังมหาศาลและสำคัญต่อการเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ตลอดจนสุขภาวะของลูก หากพ่อแม่เริ่มกำหนดให้ความสุขขณะอยู่กับลูกเป็นภารกิจสำคัญแล้ว ก็ควรหมั่นสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของตนเองและที่มาเพื่อจัดการมัน หากโกรธลูกก็ควรพูดจากันและแก้ไขปัญหานั้นเสีย หากพะวงถึงงานก็ควรผ่อนคลายและหากลเม็ดลดความวิตกกังวล หากไม่มีความสุขกับชีวิตคู่ก็ควรร่วมการบำบัดคู่สมรส หากลูกมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาก็ควรร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และหากไม่มีความสุขอยู่กับลูกเพราะ “อยู่กับลูกมากเกินไป” พ่อแม่ก็ควรเข้าสังคมมากขึ้น เพื่อให้ช่วงเวลาที่ได้ใช้ร่วมกับลูกนั้นเป็นช่วงเวลาที่ทรงคุณค่า ปราศจากความเครียดที่สุด

 

 

ให้พ่อแม่จินตนาการสีหน้ายินดีของตัวเองเมื่อเห็นลูกน้อยหลังออกจากบ้านไปทำงานตลอดวัน แล้วนึกถึงประสบการณ์ของเด็กคนนั้น ว่าการมีใครสักคนมองคุณด้วยสีหน้าราวกับคุณเป็นสิ่งมหัศจรรย์นั้นวิเศษเพียงใด ลูกต้องการสัมผัสความสุขที่ได้เห็นสีหน้านั้น ความรู้สึกนั้นมีพลังมหาศาลและสำคัญต่อการเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ตลอดจนสุขภาวะของลูก

 

จงอย่ากลัวอนาคต

 

ยากเหลือเกินที่พ่อแม่จะไม่กังวลเกี่ยวกับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามหาวิทยาลัย อาชีพในอนาคตของลูก คู่ครอง และโรคภัยไข้เจ็บ พ่อแม่กลัวเสมอว่าลูกจะ “ติดกับ” จมอยู่กับปัญหาและหาทางออกไม่ได้ตลอดไป

อย่างไรก็ตาม บิลและเน็ดเตือนว่าเมื่อไรก็ตามที่ความกลัวเยี่ยมหน้ามา ให้พ่อแม่มองออกไปในระยะยาว เพราะชีวิตไม่ใช่การแข่งขันกรีฑา และโลกนี้ก็มีดอกไม้บานช้าอยู่นับไม่ถ้วน พวกเขาที่ทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนนานหลายทศวรรษได้พบเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาแต่ประสบความสำเร็จในที่สุดหลายคน อย่างไรเสีย ตัวตนของลูกเมื่อมีอายุ 12  ปีก็ไม่ใช่ตัวตนถาวร หากพ่อแม่เฝ้ากังวลว่าลูกจะต้องกลายเป็นเด็กส่วนน้อยที่มีปัญหาเรื้อรัง พ่อแม่มีแต่จะทำให้เรื่องราวบานปลาย

 

เมื่อไรก็ตามที่ความกลัวเยี่ยมหน้ามา ให้พ่อแม่มองออกไปในระยะยาว เพราะชีวิตไม่ใช่การแข่งขันกรีฑา และโลกนี้ก็มีดอกไม้บานช้าอยู่นับไม่ถ้วน

 

บิลและเน็ดยกตัวอย่างนิทานจีนที่ปลุกปลอบใจให้ไม่หวั่นหวาดต่ออนาคตได้ดีเรื่องหนึ่ง ความว่า

 

“มีนิทานสอนใจของจีนเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของชาวนาผู้เฉลียวฉลาด ชาวนาผู้นี้ยากจนมาก เขามีลูกชายคนเดียว และมีม้าเพียงตัวเดียวสำหรับไถนา วันหนึ่งม้าหนีไป เพื่อนบ้านของเขามาหาแล้วพูดว่า ‘น่าสงสารเสียจริง! เจ้าจนอยู่แล้ว ม้ายังมาหายอีก’ ชาวนาตอบว่า ‘อาจจะใช่ หรืออาจจะไม่ ยากจะบอก’

สัปดาห์ถัดมาชาวนากับลูกชายออกไปลากคันไถอย่างทุลักทุเล งานในไร่นาน่าเบื่อเหลือแสน ใช้เวลานานและยากเข็ญ ทว่าราวหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ม้าตัวเดิมกลับมาพร้อมม้าป่าอีกสองตัว ดูเหมือนมันเจอฝูงม้าเข้า และม้าสองตัวนี้ก็ตามมันกลับมา เพื่อนบ้านพูดว่า ‘โชคดีอะไรเช่นนี้! ตอนนี้ก็มีม้าไว้ไถนาถึงสามตัวแล้ว!’ ชาวนาตอบว่า ‘อาจจะใช่ หรืออาจจะไม่ ยากจะบอก’

ต่อมาลูกชายของชาวนาพยายามฝึกม้าป่าให้เชื่อง จึงถูกเหวี่ยงลงจากหลังม้าจนขาหักบิดเบี้ยวน่ากลัว ‘น่าสงสารเสียจริง!’ เพื่อนบ้านกล่าวกับเขาระหว่างที่ลูกชายพักรักษาตัว ‘อาจจะใช่ หรืออาจจะไม่’ ชาวนาตอบ

หลังจากนั้นไม่นาน ระหว่างที่ลูกชายยังนอนซม มีราชโองการจากจักรพรรดิว่าจะบุกโจมตีดินแดนมองโกล ทุกครอบครัวต้องส่งลูกชายไปรบ ลูกชายชาวนาเดินไม่ได้ จึงไปรบไม่ได้ และจึงรอดชีวิต ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้ชัดเจน และเราควรจำให้ขึ้นใจในการเลี้ยงลูก ว่าชีวิตนั้นยาวนานนัก คุณไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้”

 

 

จัดการความเครียดของตัวเองอย่างเคร่งครัด

 

จากการสำรวจในปลายทศวรรษ 1990 ในสหรัฐอเมริกา เด็กและวัยรุ่นจำนวนมากระบุว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการเหนือสิ่งอื่นใด ยิ่งกว่าการใช้เวลากับพ่อแม่ คือการที่พ่อแม่มีความสุขมากขึ้นและเครียดน้อยลง เพราะเด็กสัมผัสถึงความเครียดและความทุกข์ของผู้ใหญ่ได้ แม้ว่าพ่อแม่จะไม่ได้ตะคอก ดุด่า หรือปล่อยปละละเลยพวกเขาก็ตาม

ดังนั้น จงผ่อนความเร็วของชีวิตลง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ หรือเรียนรู้วิธีปฏิบัติสมาธิซึ่งบรรเทาความเครียดและความกังวลที่ถาโถมในชีวิตประจำวันได้

 

ผูกมิตรกับสิ่งที่ตนกลัวที่สุด

 

หากคุณเป็นคนช่างกังวล บิลและเน็ดแนะนำให้ผูกมิตรกับความกังวลของตัวเองเสียเลย พวกเขาเชื่อว่าการจินตนาการสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดและให้ปล่อยให้สถานการณ์นั้นดำเนินไปจนสิ้นสุดจะทำให้สงบใจได้บ้าง การถามตัวเองว่า “ฉันจะทำอย่างไรต่อไปหากสิ่งนี้เกิดขึ้น” จะทำให้คุณระลึกได้ว่าคุณจะยังรักและสนับสนุนลูกเสมอ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์เลวร้ายใดเกิดขึ้นก็ตาม การคิดเช่นนี้ทำให้พ่อแม่ปล่อยวางได้ และล้มเลิกความพยายามควบคุมสถานการณ์ที่เหนือการควบคุมในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองย้ำว่าการยอมรับไม่ใช่ความยินยอมหรือการเห็นผิดเป็นชอบ หรือกระทั่งยอมรับการถูกทำร้ายจิตใจ แต่หมายถึงการยอมรับความจริงอย่างที่เป็นโดยไม่เพียรต่อต้านหรือปฏิเสธ เพราะการยอมรับความจริงเป็นทางเลือกเดียวในการยับยั้งความคิดที่เป็นภัย อย่างการทึกทักว่า “ฉันรู้ดีว่าโลก/ลูกชาย/ลูกสาวของฉันควรเป็นอย่างไร (และที่เป็นอยู่นี้ไม่ถูกต้อง)”

การยอมรับของพ่อแม่เป็นการแสดงออกซึ่งการให้เกียรติลูก นอกจากนี้ การ “เลือก” จะยอมรับบางสิ่งยังเพิ่มความรู้สึกว่าตนควบคุมสถานการณ์ได้ของพ่อแม่ด้วย แทนที่จะเฝ้าถามว่าทำไมลูกชายของฉันจึงเป็นโรคสมาธิสั้น หรือทำไมลูกสาวของฉันจึงได้คะแนนไม่ดีเหมือนใครๆ การถามว่าหากลูกจะไม่มีวันหายขาด หากลูกจะไม่มีวันมีผลการเรียนดี แล้วจะทำอย่างไร แล้วจะยังรักลูกหรือไม่ จะยังอยู่เคียงข้างลูกหรือไม่ จะสนับสนุนลูกอย่างไรต่อไป เป็นคำถามที่ทรงพลังกว่ามาก

 

การยอมรับไม่ใช่ความยินยอมหรือการเห็นผิดเป็นชอบ หรือกระทั่งยอมรับการถูกทำร้ายจิตใจ แต่หมายถึงการยอมรับความจริงอย่างที่เป็นโดยไม่เพียรต่อต้านหรือปฏิเสธ เพราะการยอมรับความจริงเป็นทางเลือกเดียวในการยับยั้งความคิดที่เป็นภัย อย่างการทึกทักว่า “ฉันรู้ดีว่าโลก/ลูกชาย/ลูกสาวของฉันควรเป็นอย่างไร (และที่เป็นอยู่นี้ไม่ถูกต้อง)”

 

เพราะในที่สุด เด็กๆ อาจเป็นคนอย่างที่พวกเขาควรจะเป็นแล้วก็ได้ในขณะนี้ ไม่มีใครเห็นอนาคต และแม้ทุกคนจะต้องการอนาคตที่ดีที่สุดให้ลูก แต่บางครั้งหากไม่ตีโพยตีพายเกินไป พ่อแม่จะพบว่ายังไม่มีหลักฐานในปัจจุบันใดยืนยันว่าลูกจะออกนอกลู่นอกทางไปตลอดกาล

 

อ่านบทความนี้แล้วทำอะไรดี!

 

มีกิจกรรมมากมายที่เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ หรือเดี๋ยวนี้! เพื่อเป็นตัวตนไร้กังวลของลูก

  • ใช้เวลาส่วนตัวกับลูกโดยไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และให้ผลัดกันหากมีลูกหลายคน เพื่อให้อัตราส่วนเป็นหนึ่งต่อหนึ่ง จะทำให้คุณมีความสุขกับลูกมากขึ้น และทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของคุณ
  • หากคุณวิตกกังวลมาก ให้รักษาโรควิตกกังวลอย่างจริงจัง โดยอาจใช้การบำบัดพฤติกรรมความคิดเพื่อเรียนรู้การชี้เป้าและโต้กลับความคิดบิดเบี้ยวที่ก่อให้เกิดความกังวล
  • หลีกเลี่ยงการตัดสินใจแทนลูกบนพื้นฐานของความกลัว หากคุณเผลอคิดว่า “ฉันกลัวว่าถ้าไม่ทำเดี๋ยวนี้ จากนี้จะ …” หยุดคิดก่อน ทำสิ่งที่คุณคิดว่าควรทำ ไม่ใช่เพราะคุณกลัวว่าจะมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นหากไม่ทำ

 

การยอมรับของพ่อแม่เป็นการแสดงออกซึ่งการให้เกียรติลูก นอกจากนี้ การ “เลือก” จะยอมรับบางสิ่งยังเพิ่มความรู้สึกว่าตนควบคุมสถานการณ์ได้ของพ่อแม่ด้วย แทนที่จะเฝ้าถามว่าทำไมลูกชายของฉันจึงเป็นโรคสมาธิสั้น หรือทำไมลูกสาวของฉันจึงได้คะแนนไม่ดีเหมือนใครๆ การถามว่าหากลูกจะไม่มีวันหายขาด หากลูกจะไม่มีวันมีผลการเรียนดี แล้วจะยังอยู่เคียงข้างลูกหรือไม่ จะสนับสนุนลูกอย่างไรต่อไป เป็นคำถามที่ทรงพลังกว่ามาก

 

  • ถ้าลูกมีปัญหา จัดตารางเวลาให้มีช่วงสั้นๆ ในแต่ละวันเพื่อขบคิดถึงปัญหาของลูก เพื่อให้สมองของคุณรู้ว่าการไม่กังวลตลอดวันนั้นปลอดภัย
  • หากคุณกังวลเกี่ยวกับลูกวัยรุ่นและได้พูดคุยกับลูกแล้ว เขียนจดหมายสั้นๆ สรุปประเด็นที่คุณห่วงใยพร้อมเสนอความช่วยเหลือที่ลูกต้องการ จากนั้นสัญญาว่าจะไม่พูดถึงมันเป็นเวลาหนึ่งเดือน หากผิดสัญญาให้ขอโทษและปฏิบัติตามสัญญาอีกครั้ง
  • นำกระดาษมาหนึ่งแผ่น เขียนเส้นแนวตั้งแบ่งครึ่งกลางแผ่น เขียนข้อความอย่าง “เจเรมีจะบกพร่องด้านการเรียนรู้ก็ได้” “ซาราห์จะยังไม่มีเพื่อนก็ไม่เป็นไร” ในคอลัมน์ด้านซ้าย จากนั้นเขียนความคิดที่ผุดขึ้นโต้ตอบ (มักเป็นการโต้แย้ง) ในคอลัมน์ด้านขวา แล้วตั้งคำถามกับความคิดที่ผุดขึ้นเหล่านั้นว่าการมองโลกในแง่ลบเช่นนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่
  • เป็นตัวอย่างของการยอมรับตัวเอง และบอกลูกว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่

 

อ่านแนวทางเป็นตัวตนที่ไร้กังวลของลูกเพิ่มเติมได้ใน

อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

William Stixrud และ Ned Johnson เขียน

ศิริกมล ตาน้อย แปล

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่