ชลิดา หนูหล้า เขียน
“โตขึ้นจะเป็นอะไร” “ชอบวิทยาศาสตร์หรือดนตรีจ๊ะ” “จะเข้ามหาวิทยาลัยอะไร” ล้วนเป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยครั้งในวัยเยาว์ เพราะเด็กและวัยรุ่นยังมีอนาคตทอดยาวอยู่เบื้องหน้า การพบแรงจูงใจในตนเองและไล่ตามความฝันจึงจำเป็นต่อการก้าวกระโดดของพวกเขา เพื่อปั้นอนาคตของตนให้เป็นรูปร่าง
อย่างไรก็ตาม มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ตอบไม่ได้ว่าแรงขับเคลื่อนของตนอยู่ที่ใด หรือมีความฝันแต่ไม่มีแรงจูงใจจะไขว่คว้า บ้างก็ไม่เชื่อว่าตนจะโผทะยานอย่างใครๆ ได้ และบ้างก็เชื่อว่าเส้นทางสู่ความฝันนั้นแคบอย่างน่าหวาดหวั่น พลาดหนึ่งครั้งหมายถึงล้มเหลวตลอดกาล
วิลเลียม สติกซ์รัด และเน็ด จอห์นสัน สองผู้เขียน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง เชื่อว่าพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดนำทางเด็กๆ ให้พบแรงจูงใจในตนเอง ตลอดจนฝึกฝนให้พวกเขาหล่อเลี้ยงแรงจูงใจนั้นจนตลอดรอดฝั่งโดยไม่ทำร้ายตัวเองได้ โดยแบ่งเด็กกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาแรงจูงใจเป็นสี่ประเภท ได้แก่ ผู้บ่อนทำลาย ผู้กระตือรือร้น เด็กอียอร์ และเด็กแบบเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์
ลูกของคุณเป็นใคร “ผู้บ่อนทำลาย” ที่ไม่อาจจัดการเวลาและพลังงานเพื่อไล่ตามความฝันได้ หรือเป็น “ผู้กระตือรือร้น” ที่มีพลังงานล้นเหลือ กระโดดไกลเพื่อคว้าความฝันโดยทอดทิ้งการเรียนไว้เบื้องหลัง ขณะที่ลูกของคนที่คุณรู้จักอาจเป็น “เด็กอียอร์” ผู้ไม่เชื่อว่าตนมีความสามารถพิเศษอย่างใครๆ หรือ “เด็กแบบเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์” ที่หลงใหลความสมบูรณ์แบบจนเป็นภัยต่อตัวเอง
ถึงเวลา #ช่วยน้องด้วยนะคะ ช่วยเหลือเด็กที่มีแรงจูงใจสี่ประเภทด้วยกลยุทธ์ต่อไปนี้
ผู้บ่อนทำลาย
“ลูกของฉันดูไม่มีแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ต้องทำเลย ราวกับเขาจงใจทำลายตัวเองอย่างไรอย่างนั้น”
ไม่ใช่พวกเขาไม่มีความฝัน เด็กกลุ่ม “ผู้บ่อนทำลาย” อาจหวังจะเก่งกาจในห้องเรียนหรือในวงดนตรี ทว่าไม่สามารถทุ่มเทเวลาหรือควบคุมตนเองให้ไล่ตามความฝันจนประสบความสำเร็จได้ หากลูกของคุณเป็นบ่อนผู้ทำลาย วิธีช่วยเหลือที่ถูกต้องคือการชี้ให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่ดูไม่สลักสำคัญในปัจจุบันอาจสำคัญต่อเป้าหมายระยะยาวของพวกเขาอย่างไร
กรณีตัวอย่าง อาทิ หากเด็กให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมาก คุณอาจชี้ให้ลูกเห็นว่าสักวันหนึ่งทักษะนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออาชีพในอนาคตอย่างไร ลูกอาจเป็นครู นักจิตวิทยา นักเจรจา หรือนักกฎหมายที่ประสบความสำเร็จได้ แต่อย่าลืมบอกพวกเขาด้วยว่าอาชีพต่างๆ ที่อาศัยทักษะระหว่างบุคคลนี้ก็เรียกร้องวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือโท ดังนั้นหากลูกต้องการประกอบอาชีพเหล่านี้เพื่อการมีชีวิตที่เปี่ยมความหมาย ก็ต้องมุมานะกว่านี้สักหน่อยในการพัฒนาความสามารถทางวิชาการ
ไม่ใช่พวกเขาไม่มีความฝัน เด็กกลุ่ม “ผู้บ่อนทำลาย” อาจหวังจะเก่งกาจในห้องเรียนหรือในวงดนตรี ทว่าไม่สามารถทุ่มเทเวลาหรือควบคุมตนเองให้ไล่ตามความฝันจนประสบความสำเร็จได้ หากลูกของคุณเป็นบ่อนผู้ทำลาย วิธีช่วยเหลือที่ถูกต้องคือการชี้ให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่ดูไม่สลักสำคัญในปัจจุบันอาจสำคัญต่อเป้าหมายระยะยาวของพวกเขาอย่างไร
การชี้ให้พวกเขาเห็นข้อแตกต่างระหว่างความรู้สึกอยากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (feel like) กับความต้องการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์ (want) ก็ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้ หนึ่งในผู้เขียนอย่างวิลเลียมเล่าว่า เมื่อลูกสาวของเขายังแบเบาะ เขาไม่เคย “รู้สึกอยาก” ลุกจากเตียงกลางดึกเพื่อปลอบลูกที่ร้องไห้โยเยสักครั้ง แต่เขาทำในที่สุดเพราะห่วงใยลูกและภรรยาที่กำลังพักผ่อน เมื่อเด็กแยกแยะสองการตัดสินใจนี้จากกันได้แล้ว พวกเขาก็จะเข้าใจได้ดีขึ้นว่าเพราะเหตุใดจึงต้องทำบางสิ่งที่สำคัญต่อตนเองและอนาคต และจะบังคับตัวเองให้ทำได้ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การกระตุ้นให้เด็กจินตนาการถึงวันที่ตนประสบความสำเร็จ หรือการเขียนเป้าหมายเหล่านั้นในกระดาษก่อนแปะในตำแหน่งที่เห็นบ่อยก็หล่อเลี้ยงแรงจูงใจของเด็กกลุ่มนี้ได้ดี โดยเฉพาะหากลายมือบนกระดาษแผ่นนั้นเป็นลายมือของพวกเขาเอง ทั้งนี้ พ่อแม่ยังสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ได้ด้วยการเสนอความช่วยเหลือเพื่อจัดการเวลา โดยที่คุณและลูกต้องตกลงร่วมกันว่าพวกเขาต้องการใช้เวลาอย่างไรให้ไล่ตามความฝันได้ตลอดจนมีสุขภาวะที่ดี พ่อแม่เสนอจะให้รางวัลสำหรับความพยายามของลูกด้วยได้ แต่ต้องเป็นรางวัลที่ลูกร่วมกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจน ว่าตนได้รับรางวัลนั้นเมื่อบรรลุสิ่งใด และเพราะเหตุใด
อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยเป็นเด็กที่มีภาวะพร่องโดพามีน การเชื่อมโยงตนเองกับความฝันหรือจินตนาการความสำเร็จจึงมักไม่เพียงพอจะกระตุ้นความสนใจของพวกเขาได้ การพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินโรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล หรือความบกพร่องทางการเรียนรู้อื่นๆ ก่อนเสาะแนวทางผลักดันเด็กกลุ่มนี้เป็นอีกทางเลือกที่ดีในกรณีที่พวกเขาบ่อนทำลายตัวเองอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยเป็นเด็กที่มีภาวะพร่องโดพามีน การเชื่อมโยงตนเองกับความฝันหรือจินตนาการความสำเร็จจึงมักไม่เพียงพอจะกระตุ้นความสนใจของพวกเขาได้ การพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินโรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล หรือความบกพร่องทางการเรียนรู้อื่นๆ ก่อนเสาะแนวทางผลักดันเด็กกลุ่มนี้เป็นอีกทางเลือกที่ดีในกรณีที่พวกเขาบ่อนทำลายตัวเองอย่างรุนแรง
ผู้กระตือรือร้น
“ลูกของฉันมีแรงจูงใจ แต่ไม่ใช่กับการเรียน”
เด็กกลุ่มนี้มีความฝันและมีพลังงานล้นเหลือ ไล่กวดความฝันได้เป็นวันๆ ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ทว่าพวกเขามีแรงจูงใจในการเรียนต่ำ เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กกลุ่มที่ชวนกังวลนักสำหรับสองผู้เขียน พวกเขาคิดว่าเพียงพ่อแม่ขัดเกลาแรงจูงใจนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อเด็กอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าที่เป็นอยู่ได้ “ผู้กระตือรือร้น” ก็จะประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย
มีผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคนอยู่ในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นแมตต์ เกรนนิง (Matt Groening) ผู้รังสรรค์การ์ตูนซิมป์สันซึ่งแทบไม่สนใจการเรียนแต่คลั่งไคล้การวาดเขียน หรือจิลเลียน ลินน์ (Gillian Lynne) นักออกแบบท่าเต้นชื่อดังผู้นั่งไม่ติดที่ในห้องเรียน รวมถึงวิลเลียม สติกซ์รัด หนึ่งในสองผู้เขียนที่ชื่นชอบการเล่นดนตรีและขับร้อง เขาอาจไม่ใช่นักร้องมีชื่อในปัจจุบัน แต่งานอดิเรกในห้องซ้อมดนตรียังเป็นกิจกรรมผ่อนคลายที่รักษาสุขภาวะของเขาได้หลังจากทำงานติดต่อกันยาวนานในคลินิกประสาทจิตวิทยา
มีผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคนอยู่ในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นแมตต์ เกรนนิง (Matt Groening) ผู้รังสรรค์การ์ตูนซิมป์สันซึ่งแทบไม่สนใจการเรียนแต่คลั่งไคล้การวาดเขียน หรือจิลเลียน ลินน์ (Gillian Lynne) นักออกแบบท่าเต้นชื่อดังผู้นั่งไม่ติดที่ในห้องเรียน รวมถึงวิลเลียม สติกซ์รัด หนึ่งในสองผู้เขียนที่ชื่นชอบการเล่นดนตรีและขับร้อง เขาอาจไม่ใช่นักร้องมีชื่อในปัจจุบัน แต่งานอดิเรกในห้องซ้อมดนตรียังเป็นกิจกรรมผ่อนคลายที่รักษาสุขภาวะของเขาได้หลังจากทำงานติดต่อกันยาวนานในคลินิกประสาทจิตวิทยา
กรณีของ “เซบาสเตียน” เด็กที่ผู้เขียนเคยให้ความช่วยเหลือก็น่าสนใจ เซบาสเตียนมีผลการเรียนย่ำแย่ แต่มุมานะทำงานในหน่วยกู้ภัยมาก เขาทำงานช่วยเหลือผู้คนทุกคนวันพฤหัสบดีและเสาร์ ตั้งแต่ค่ำถึงเช้า กระนั้นกลับละเลยการเรียนและเชื่อว่าอนาคตของตนคงไม่สดใสนัก ผู้เขียนจึงกระตุ้นให้เขาคิดถึงการเป็นนักกู้ภัยมืออาชีพ และร่วมมือกับเซบาสเตียนเพื่อเสาะหาหนทางไปถึงฝั่งฝัน เด็กชายตัดสินใจลดเวลาทำงานในหน่วยกู้ภัยลง ตั้งใจเล่าเรียนยิ่งขึ้น และเข้าวิทยาลัยชุมชนที่ไม่กวดขันเกรดเฉลี่ยสะสมนัก จากนั้นจึงสะสมหน่วยกิตจากวิทยาลัยชุมชนเพื่อศึกษาต่อในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์อัคคีภัยที่วอชิงตัน ดี.ซี.
สองผู้เขียนแนะนำให้พาลูกไปตรวจประเมินโรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลก่อนหากลูกผลักไสความรับผิดชอบในการเรียนอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม หากไม่พบความผิดปกติ พวกเขาแนะนำให้พ่อแม่ให้เกียรติความฝันและความต้องการของลูกอย่างเต็มที่ ตลอดจนจริงจังกับความคิดเห็นของเด็กๆ พ่อแม่ต้องเชื่อว่าลูกๆ ย่อมประสบความสำเร็จได้บนเส้นทางที่พวกเขาเลือก และแสดงออกให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่พร้อมอยู่เคียงข้าง ด้วยการหาข้อมูลเกี่ยวกับโลกของลูก สำรวจความฝันของเด็กๆ ให้ปรุโปร่ง พร้อมหารือกับเด็กอย่างจริงจังว่าจะติดปีกให้ความฝันนี้ได้อย่างไร เพื่อให้มันเป็นประโยชน์ต่อลูกมากที่สุด คือให้พวกเขามีชีวิตที่ทั้งก้าวหน้าและเติมเต็ม
เด็กอียอร์
“ลูกของฉันไม่มีแรงจูงใจจะทำอะไรเลย เหมือนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร”
เด็กอียอร์อาจชวนให้ประหลาดใจและกังวลไม่น้อย เพราะสภาวะ “หมดไฟ” ดูไม่สอดคล้องกับกำลังวังชาและความกระตือรือร้นของคนหนุ่มสาว หากสภาวะหมดไฟของลูกเกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือคงอยู่ยาวนานเกิน 2-3 สัปดาห์ สองผู้เขียนแนะนำให้ตรวจประเมินโรคซึมเศร้าหรือคัดกรองการใช้สารเสพติดเสียก่อน อย่างไรก็ตาม หากไม่พบความผิดปกติใดๆ พ่อแม่ต้องยอมรับว่าพบกับ “เด็กอียอร์” ผู้ขาดความมั่นใจในตัวเองอย่างรุนแรงเสียแล้ว
เด็กอียอร์มักมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง (self-awareness) ต่ำ เพราะขาดความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และมักปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้ช้า จึงไม่ได้ทดลองทำกิจกรรม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือสัมผัสชีวิตหลากหลายนัก ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่เคยถามตัวเองว่าตนต้องการอะไร ไม่เชื่อมั่นในความสามารถในการกำกับสถานการณ์ของตนเอง และมักจะขาดความภาคภูมิใจ เพราะคิดว่าพรสวรรค์ของตนนั้นเป็นความสามารถที่พบได้ดาษดื่น พ่อแม่ต้องใจเย็นและฟูมฟักสายสัมพันธ์อันดีในครอบครัวเพื่อให้เด็กอียอร์รู้สึกปลอดภัย พร้อมแบ่งปันความในใจและขอความช่วยเหลือมากขึ้น
ทั้งนี้ พ่อแม่ควรส่งเสริมความมั่นใจของเด็กอียอร์อย่างยั่งยืนด้วยการถามลูกๆ ว่าพวกเขาต้องการมีความมั่นใจมากขึ้นหรือไม่ จากนั้นจึงเสนอว่าจะพาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยเหลือพวกเขาได้ ที่สำคัญคืออย่ารีบร้อน เพราะการสื่อสารกับเด็กอียอร์ว่าพ่อแม่เชื่อมั่นในตัวเด็ก และคิดว่าลูกจะประสบความสำเร็จได้บนเส้นทางของตัวเอง เป็นหัวใจสำคัญในการฟูมฟักเด็กอียอร์ที่ไม่พึงพอใจในตนเองให้มีความเชื่อมั่นและมีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ยิ่งขึ้น
เด็กอียอร์มักมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง (self-awareness) ต่ำ เพราะขาดความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และมักปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้ช้า จึงไม่ได้ทดลองทำกิจกรรม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือสัมผัสชีวิตหลากหลายนัก ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่เคยถามตัวเองว่าตนต้องการอะไร ไม่เชื่อมั่นในความสามารถในการกำกับสถานการณ์ของตนเอง และมักจะขาดความภาคภูมิใจ เพราะคิดว่าพรสวรรค์ของตนนั้นเป็นความสามารถที่พบได้ดาษดื่น พ่อแม่ต้องใจเย็นและฟูมฟักสายสัมพันธ์อันดีในครอบครัวเพื่อให้เด็กอียอร์รู้สึกปลอดภัย พร้อมแบ่งปันความในใจและขอความช่วยเหลือมากขึ้น
นอกจากนี้ แม้การพาเด็กอียอร์ไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเสาะหาแรงจูงใจอาจยากสักหน่อย แต่พ่อแม่บอกลูกได้ว่าเป็นหน้าที่ของตนในการนำทางลูกสำรวจโลกใบนี้ และคุณไม่ต้องการเซ้าซี้ลูกให้ทำอะไรใหม่ๆ โดยที่ลูกไม่ต้องการ จากนั้นจึงถามลูกว่าพ่อแม่ควรทำอย่างไรต่อไป การต่อรองอย่างเข้าอกเข้าใจเพื่อหา “จุดกึ่งกลาง” ระหว่างพ่อแม่และเด็ก จะทำให้เด็กอียอร์เปิดใจให้การอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยมากขึ้น เท่ากับที่เปิดใจรับกิจกรรมที่ตนไม่คุ้นเคย เมื่อพวกเขาเห็นว่าการทดลองทำกิจกรรมนั้นมีที่มาจากความห่วงใยของพ่อแม่ ซึ่งเชื่อมั่นในตัวพวกเขาและเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กอียอร์เสมอมา
เด็กแบบเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์
“ลูกของฉันเครียดเพราะความคิดของตัวเอง ในมุมมองของลูก ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยเยลไม่ได้ก็จบเห่”
เฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ จากวรรณกรรมเยาวชนอมตะชุดแฮร์รี พอตเตอร์
คุณคงรู้จักเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ เพื่อนของแฮร์รี พอตเตอร์ ที่มักถูกค่อนแคะว่าเป็น “ยายรู้มาก” เธอเป็นหนอนหนังสือ เป็นเด็กหญิงในอุดมคติของครูเจ้าระเบียบ เขียนเรียงความด้วยลายมือชดช้อยความยาวเกินกว่าที่ผู้สอนต้องการเสมอ ทั้งยังกลัวการได้คะแนนน้อย (แต่ยังนับว่ามากกว่าใครเพื่อน) จับใจ
เด็กแบบเฮอร์ไมโอนีมีแรงขับเคลื่อนที่แรงกล้าและไม่ดีต่อตัวเองในการเติมเต็มความคาดหวังของผู้อื่น แรงจูงใจของพวกเขามีที่มาจากความกลัว เด็กกลุ่มนี้จะกังวลหากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงๆ ที่ตนเองหรือผู้อื่นกำหนดให้ ไม่ว่าจะเป็นการมีผลการเรียนดี การเล่นดนตรีได้โดดเด่น หรือการได้เกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ หากความเครียดนี้มีที่มาจากพ่อแม่ เพียงคุณหยุดกดดันลูกก็เพียงพอ แต่หากคุณเฝ้าบอกเฮอร์ไมโอนีน้อยว่า “ไม่เป็นไรแม้จะมีผลการเรียนไม่ดี” แต่ลูกยังคร่ำเครียด พ่อแม่ต้องปลูกฝังให้ลูกเชื่อว่าหนทางสู่ความสำเร็จไม่ได้มีเพียงสายเดียว และความผิดพลาดหนึ่งครั้งไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวชั่วชีวิต
การแนะนำให้เด็กแบบเฮอร์ไมโอนีรู้จักเส้นทางชีวิตที่หลากหลายของคนที่ประสบความสำเร็จนั้นได้ผลไม่น้อย ถามลูกว่าพวกเขาต้องการรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมที่จะทำให้กลัวหรือกังวลน้อยลงหรือไม่ หากเฮอร์ไมโอนีตกลง ให้บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนไม่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จและความสุขในระยะยาวนัก พร้อมแสดงหลักฐาน อาทิ งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่พบว่าประเภทของมหาวิทยาลัยที่นักเรียนศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัยรัฐบาลหรือเอกชน มีการแข่งขันสูงหรือต่ำ เป็นต้น) แทบไม่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในสถานที่ทำงานหรือสุขภาวะของเด็ก ปัจจัยที่จะกำหนดสุขภาวะของบุคคลกลับเป็นประสบการณ์ภายในมหาวิทยาลัย กล่าวคือการได้พบอาจารย์ที่ใส่ใจ และพร้อมสนับสนุนเด็ก การได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในสถานการณ์จริง ตลอดจนโอกาสทำกิจกรรมนอกหลักสูตรอย่างน้อยหนึ่งภาคการศึกษา
เด็กแบบเฮอร์ไมโอนีมีแรงขับเคลื่อนที่แรงกล้าและไม่ดีต่อตัวเองในการเติมเต็มความคาดหวังของผู้อื่น แรงจูงใจของพวกเขามีที่มาจากความกลัว เด็กกลุ่มนี้จะกังวลหากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงๆ ที่ตนเองหรือผู้อื่นกำหนดให้ ไม่ว่าจะเป็นการมีผลการเรียนดี การเล่นดนตรีได้โดดเด่น หรือการได้เกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ
อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ “ชีวิตในมหาวิทยาลัยสำคัญต่อชีวิตหลังสำเร็จการศึกษา” (Life in College Matters for Life After College)
นอกจากนั้น พ่อแม่อาจเล่าทฤษฎีปลาใหญ่ในสระเล็ก (big-fish-little-pond theory) ให้เด็กแบบเฮอร์ไมโอนีฟังได้ ทฤษฎีดังกล่าวเสนอว่ามนุษย์จะมีทัศนคติที่เป็นบวกต่อตนเองหากพวกเขาทำได้ดีในหมู่เพื่อน การทำได้โดดเด่นในสถานศึกษาที่ไม่โด่งดัง ในระยะยาวจึงดีกว่าการสูญเสียความมั่นใจและสับสนในสถานศึกษาที่มีการแข่งขันสูง และความมั่นใจที่ได้รับจากการอยู่ในพื้นที่ที่มีการแข่งขันน้อยก็จะส่งเสริมความเชื่อมั่นในตัวเองที่เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืน แม้ในอนาคตจะต้องพบผู้ที่มีความสามารถมากกว่า หรือต้องเผชิญอุปสรรคใหญ่หลวงก็ตาม
วิลเลียมและเน็ด สองผู้เขียนของหนังสือเล่มนี้เชื่อว่าเด็กทุกกลุ่มประสบความสำเร็จได้อย่างไร้เงื่อนไข ผ่านการบ่มเพาะทักษะสำคัญคือความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง (sense of control) อันหมายถึงศักยภาพ ตลอดจนความเชื่อมั่นว่าตนจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เผชิญได้ ซึ่งย่อมงอกงามจากโอกาสรับมือและแก้ไขปัญหาของเด็กที่พ่อแม่เป็นผู้มอบให้ ด้วยการแสดงออกซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจลูก ให้พื้นที่สั่งสมประสบการณ์ก้าวผ่านอุปสรรค และอยู่เคียงข้าง ให้คำปรึกษาเพื่อการตัดสินใจที่ดีที่สุดของเด็กเมื่อเผชิญความท้าทาย โดยไม่เข้าไปแทรกแซงหรือบงการ
อ่านบทความสรุปเนื้อหาของหนังสือ ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง’ ได้ที่นี่
อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง
William Stixrud และ Ned Johnson เขียน
ศิริกมล ตาน้อย แปล
416 หน้า
อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่