7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน: 7. ชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

ภาพ: เพชรลัดดา แก้วจีน

 

ในหกตอนที่ผ่านมา คุณคงได้เห็นตัวอย่างจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต มาพอสมควรที่โรงเรียนที่มีความยากจนสูงสามารถประสบความสำเร็จได้จริง ผู้เขียนกล่าวถึงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าสมองเปลี่ยนแปลงได้ และมีกลยุทธ์มากมายที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และผลักดันนักเรียนทุกคนสู่เป้าหมายสูงสุด นั่นก็คือการสำเร็จการศึกษาและวางแผนชีวิตต่อไปในอนาคต

ทุกวันที่คุณไปทำงาน ให้เตือนตัวเองว่า “นักเรียนต้องการเวลาทุกนาทีที่ฉันจะทุ่มเทให้ได้ทุกๆ วัน” แน่นอน นี่เป็นงานหนัก และคุณต้องยอมรับความจริงข้อนี้แต่แรก หากไม่มีเป้าหมาย ปริมาณเสียงรบกวนข้างนอกนั่นอาจทำให้คุณและนักเรียนรู้สึกว่ากำลังทำอะไรไม่เข้าท่าและทิ้งให้คุณพูดกับตัวเองว่า “นักเรียนพวกนี้อาจมีชีวิตลำบากก็จริง แต่พวกเขาเฉื่อยชาหรือขาดเรียนบ่อยเหลือเกิน ฉันว่าพวกเขาไม่ได้อยากเรียนจบด้วยซ้ำ” เลิกฟังความคิดเชิงลบ แล้วคิดถึงเพียงความฝันของคุณกับนักเรียนเรื่องการสำเร็จการศึกษาและความสำเร็จในอนาคต ดูภาพประกอบทางด้านล่าง

 

 

ชุดความคิดการสำเร็จการศึกษาอาศัยการกำหนดเป้าหมายอันกล้าหาญและแน่วแน่เพื่อช่วยให้นักเรียนทุกคนมีความพร้อมที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยและประกอบอาชีพ

เมื่อรับเอาชุดความคิดนี้มาใช้ คุณก็พร้อมจะทำงานซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จเช่นเดียวกับในโรงเรียนที่มีผลการเรียนสูงอื่นๆ จำนวนมากมาย นี่คือชุดความคิดที่กล่าวว่า “ที่โรงเรียนของเรา ครูทุกคนทุ่มเทอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จ ความจริงแล้ว ฉันกล้าพูดได้เลยว่า ‘เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาล้มเหลวเป็นอันขาด’”

หมายเหตุ: สรุปความจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน 

 

ชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา: พิจารณาผลวิจัยโดยสังเขป

 

โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จทำทุกอย่างที่จำเป็นต้องทำ โรงเรียนที่มีความยากจนสูงนับร้อยๆ หรืออาจนับพันๆ แห่งประสบความสำเร็จทุกปี (จากที่มีอยู่นับหมื่นๆ แห่ง) นักวิจัยคนหนึ่งประเมินว่า มีโรงเรียนที่มีความยากจนสูงซึ่งมีผลการเรียนสูง 3,592 แห่งในปี 2000 แต่คนอื่นๆ ยืนยันว่าตัวเลขต่ำกว่านั้นมาก หลายอย่างเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยล้าสมัย นักวิจัยมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับมาตรฐานที่ใช้วัดโรงเรียนต่างๆ หรือประการสุดท้าย โรงเรียนที่มีผลการเรียนสูงอาจสูญเสียสถานะอันเป็นยอดปรารถนาเมื่อผู้นำคณะใหม่มาถึงพร้อมชุดทักษะที่ด้อยกว่า ความคาดหวังที่ต่ำกว่า หรือขาดปรัชญาการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยพันธกิจ

สิ่งสำคัญที่คุณต้องรู้คือ มีโรงเรียน (หลายแห่ง ไม่ใช่แค่แห่งเดียว) ที่มีความยากจนสูง มีนักเรียนผิวสีจำนวนมาก และ มีผลการเรียนสูง

โรงเรียนที่มีผลการเรียนสูงทำอะไรแตกต่างออกไป เพราะเหตุนี้พวกเขาจึงประสบความสำเร็จ ความแตกต่างนั้นไม่เกี่ยวกับนักเรียนที่ชำรุด หากเกี่ยวกับจิตวิญญาณที่ชำรุดในหมู่ทีมงานมากกว่า ทีมงานของโรงเรียนที่มีผลการเรียนสูงไม่แก้ตัวและไม่พูดถึงโรงเรียนที่ล้มเหลวด้วย พวกเขาพับแขนเสื้อขึ้นแล้วลงมือทำงานต่อ

คุณควรรู้ว่ามีโรงเรียนที่ทำอะไรบ้าๆ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนจบ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความตั้งใจสูงมากจริงๆ รางวัล Dispelling the Myth ของ Education Trust (edtrust.org/dispelling_the_myth) ยกย่องโรงเรียนรายได้ต่ำที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในบรรดาโรงเรียนมัธยมศึกษา ต่อไปนี้คือตัวอย่างสั้นๆ สองโรงเรียน ในแซนดีเอโก นักเรียน 95 เปอร์เซ็นต์ที่โรงเรียนพรีอุสส์มีฐานะยากจน แต่กลับติดอันดับโรงเรียนที่ดีที่สุด 100 แห่งแรกของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีนักเรียนเรียนจบ 97 เปอร์เซ็นต์ ในชิคาโก ลองพิจารณาเออร์บันเพร็ปอะแคเดมีส์ซึ่งนักเรียนที่จบชั้นมัธยมปลายทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ได้เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยดู

โรงเรียนที่มีผลการเรียนสูงทำอะไรบ้างเล่า ภาพประกอบด้านล่าง รวบรวมองค์ประกอบพื้นฐานหลักๆ ห้าประการและแนวปฏิบัติหลักห้าประการโดยอาศัยบทวิเคราะห์นโยบายจากศูนย์การศึกษาสาธารณะ (Center for Public Education) เป็นพื้นฐาน

 

 

ครูในห้องเรียนทำอะไรเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ต่อไปนี้คือตัวอย่างกลยุทธ์ไม่กี่ประการซึ่งโรงเรียนที่มีผลการเรียนสูงใช้กัน

 

  • นักเรียนระดับสูงกว่าเป็นพี่เลี้ยงให้นักเรียนระดับต่ำกว่า (ตัวอย่างเช่น นักเรียน ม.5 และ ม.6 เป็นพี่เลี้ยงให้นักเรียน ม.3 และ ม.4 และนักเรียน ป.4 และ ป.5 เล่าเรื่องมหาวิทยาลัยและงานที่มีให้เลือกให้นักเรียน ป.1 และ ป.2 ฟัง)
  • การจับมือเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเพื่อจัดหาครูสอนพิเศษโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนช่วงทำการบ้านหลังเลิกเรียนเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง
  • หลักสูตรศิลปะและพลศึกษาที่มีประสิทธิภาพซึ่งช่วยพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต การมีวินัยในตนเอง และความสามัคคี
  • โครงการจากโรงเรียนสู่การทำงานที่ช่วยให้นักเรียนเล็งเห็นความเกี่ยวโยงของเวลาที่ใช้ไปในโรงเรียนมัธยมปลาย (ตัวอย่างเช่น การทำงานในโรงอาหารในฐานะส่วนหนึ่งของหลักสูตรศิลปะการทำอาหาร การเรียนรู้การซ่อมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อน รวมทั้งแผ่นยิปซัมบุผนังและสีทาผนัง หรือการเรียนรู้ทักษะทางธุรกิจด้วยการบริหารร้านค้าสำหรับนักเรียน)
  • โครงการหลังเลิกเรียนที่ช่วยให้นักเรียนสานสัมพันธ์ทางสังคมและธุรกิจในชุมชนโดยอาศัยช่วงถามและตอบเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงกับนักธุรกิจในท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และที่ปรึกษา
  • คณะกรรมการทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อช่วยนักเรียนรับมือกับกระบวนการเตรียมงานในรายวิชาระดับมัธยมปลายและการสมัครรับทุนการศึกษา

 

โรงเรียนที่มีความยากจนสูงซึ่งมีผลการเรียนสูงพิจารณาทางเลือกทุกทาง พวกเขาอภิปราย พินิจดูข้อมูล รับฟังเสียงนักเรียนผ่านการสำรวจความคิดเห็น และกระตือรือร้นที่จะอุดช่องว่างซึ่งตัดโอกาสสำเร็จการศึกษาของนักเรียน รายการข้างต้นคือแนวคิดอันยอดเยี่ยมที่สามารถแปลงโฉมโรงเรียนของคุณได้

 

2 กลยุทธ์มุ่งสู่การสำเร็จการศึกษา

 

นี่คือกลยุทธ์เปี่ยมประสิทธิภาพที่จะช่วยเตรียมความพร้อมนักเรียนของคุณเพื่อเรียนให้จบ ไม่ว่าพวกเขาจะเรียนอยู่ระดับใดก็ตาม

เมื่อคุณมีชุดความคิดเช่นนี้ ทุกอย่างจะเป็นใจให้คุณ เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะคุณมีความตั้งใจชัดเจนและมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย เมื่อคุณมีทักษะ ผลลัพธ์นั้นเป็นจริงได้แน่

ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลย

 

-1-

สนับสนุนทางออกที่แหวกแนว

 

ถ้าคุณรู้จักหลักสูตรที่ทำให้นักเรียนอยากมาโรงเรียน ลดปัญหาระเบียบวินัยของนักเรียน เสริมสร้างความสามารถด้านการรู้คิด ลดจำนวนนักเรียนที่ลาออกกลางคัน และเพิ่มอัตราการสำเร็จการศึกษา คุณจะสนับสนุนหรือไม่ แน่นอนว่าคุณคงไม่พลาด!

นักวิจัยศึกษาหลักสูตรที่ทำสิ่งเหล่านี้มาหลายทศวรรษแล้ว แต่เรากลับต้องขอร้อง วิงวอน ต่อสู้ และเรียกร้องให้มีการนำมาใช้ ทั่วสหรัฐอเมริกา มีโรงเรียนที่รวมหลักสูตรศิลปะและพลศึกษาไว้ด้วยน้อยลงทุกที ผู้ปกครองเจ็ดในสิบคนกล่าวว่าโรงเรียนของลูกไม่มีวิชาพลศึกษาแต่อย่างใด หลักสูตรใหม่อื่นๆ ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนน้อยกว่าว่ามีส่วนช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จดูจะทำให้ศิลปะและพลศึกษาไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชนไปได้อย่างไร

จากนี้เราชวนศึกษาวิธีทรงประสิทธิภาพสองวิธีที่จะทำให้นักเรียนอยากมาโรงเรียน และช่วยให้พวกเขาเรียนจบโดยมีความพร้อมที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยหรือประกอบอาชีพ ได้แก่ (1) ศิลปะ (2) กิจกรรมทางกาย ก่อนที่คุณจะพูดว่า “รู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว ฉันได้ยินเรื่องนี้มาเป็นล้านครั้งแล้ว” มาพิจารณากันว่า ทำไม ทางเลือกที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลดีเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนของคุณเรียนจบชั้นมัธยมปลายด้วยความพร้อมที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยหรือประกอบอาชีพ แท้จริงแล้ว การให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางกายและศิลปะอาจจัดเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นอันดับต้นๆ ทีเดียว

 

เหตุใดจึงต้องสนับสนุนการเรียนศิลปะ

 

ก่อนอื่น มาศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับศิลปะกัน งานศึกษาสำคัญชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่ผ่านการฝึกฝนด้านดนตรีมา 36 สัปดาห์มีระดับไอคิวสูงขึ้นอย่างคาดการณ์ได้ การฝึกฝนด้านดนตรีช่วยให้ความจำดีขึ้น ยกระดับความสำเร็จทางวิชาการ และเพิ่มพัฒนาการทางสังคม ที่สำคัญที่สุดคงเป็นการรวบรวมข้อมูลระยะยาวของสี่ฐานข้อมูลจากการศึกษานักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำนับพันคนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบความแตกต่างเชิงบวกที่ชัดเจน นักเรียนเหล่านี้มีอัตราการสำเร็จการศึกษาสูงกว่า มีปัญหาเรื่องระเบียบวินัยน้อยกว่า และมีผลการเรียนดีกว่า

มีการเปรียบเทียบนักเรียนรายได้ต่ำที่มีเวลาเรียนศิลปะมากที่สุดเป็นอันดับห้ากับนักเรียนในควินไทล์ล่างสุด ผลลัพธ์ที่ได้นั้นชัดเจน กล่าวคือ นักเรียนในกลุ่มควินไทล์สูงสุดมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะเรียนจบชั้นมัธยมปลาย ได้อนุปริญญาหรือปริญญาตรี และได้เกรดเอเป็นส่วนใหญ่ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย พวกเขามีแนวโน้มสูงกว่าที่จะได้คะแนนดีกว่าในวิชาการเขียน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในชั้นมัธยมปลาย ตลอดจนมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะเข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตร พวกเขามีแนวโน้มสูงกว่าที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ เข้าร่วมสภานักเรียน และเป็นอาสาสมัครในชุมชนของตน

นี่คือหลักฐานอันน่าทึ่งของคุณค่าของการเรียนศิลปะต่อนักเรียนฐานะยากจน งานศึกษาชิ้นนี้สรุปว่า นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำซึ่งมีประสบการณ์ด้านศิลปะอย่างเข้มข้นประสบความสำเร็จพอๆ กับประชากรทั่วไป

ในสองส่วนต่อไป คุณจะได้เรียนรู้ว่าศิลปะสร้างสิ่งที่เรียกว่าระบบปฏิบัติการเชิงวิชาการขึ้นได้อย่างไร และทำอย่างไรจึงจะใช้ศิลปะในห้องเรียนได้มากขึ้น

 

ศิลปะสร้างระบบปฏิบัติการเชิงวิชาการได้อย่างไร

ในที่นี้ เราให้คำจำกัดความศิลปะเป็นสี่สาขาใหญ่ๆ ได้แก่ ดุริยางคศิลป์ (การเล่นเครื่องดนตรี) ศิลปะการแสดง (ละครเวที คณะนักร้องประสานเสียง การเต้น การเต้นแท็ป และการแสดงตลก) จลนศิลป์ (หัตถกรรม การเย็บปักถักร้อย และประติมากรรม) และทัศนศิลป์ (การวาดลายเส้น การระบายสี และศิลปะดิจิทัล) มีปัจจัยความสำเร็จที่เรียกว่า ระบบปฏิบัติการเชิงวิชาการ ของเรา ดูภาพประกอบด้านล่าง ปัจจัยเหล่านี้คือระบบต่างๆ ในสมองซึ่งพัฒนามาอย่างเที่ยงตรงและยั่งยืนจากการเรียนศิลปะระยะยาว นักเรียนมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะประสบความสำเร็จเมื่อพวกเขามีความเป็นเลิศในทักษะเหล่านี้

 

 

พูดง่ายๆ ก็คือ มีหลักฐานอันน่าเชื่อถืออย่างที่สุดที่ยืนยันการเจริญเติบโตของนักเรียนสองกลุ่มนั้น ทว่ากระบวนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมศิลปะทั่วไป (ดนตรี การเต้น ทัศนศิลป์ ฯลฯ) เป็นเครื่องมือสร้างพัฒนาการทางสมองอย่างชัดเจน

จากประสบการณ์ของผู้เขียน ศิลปะส่งอิทธิพลต่อปัจจัยห้าประการต่อไปนี้เมื่อนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม 3-5 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลาครั้งละ 30-90 นาทีเป็นอย่างน้อย

 

  1. ความพยายาม แรงจูงใจและความยับยั้งชั่งใจ
  2. ทักษะการประมวลผล จากการได้ยิน การมองเห็น และการสัมผัส
  3. ทักษะความตั้งใจ สนใจ มีสมาธิ และเลิกสนใจตามต้องการ
  4. ขีดความสามารถด้านความจำ ความจำระยะสั้นและความจำใช้งาน
  5. ทักษะการจัดลำดับ รู้ลำดับของกระบวนการ

 

นอกเหนือจากปัจจัยห้าประการนี้แล้ว ศิลปะยังส่งเสริมชุดความคิดการสำเร็จการศึกษาอีกด้วย โรงเรียนที่มีหลักสูตรดนตรีมีอัตราการเข้าเรียนสูงกว่าโรงเรียนที่ไม่มีหลักสูตรลักษณะนี้อย่างยิ่ง (93.3 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 84.9 เปอร์เซ็นต์) และมีอัตราการสำเร็จการศึกษาสูงกว่าโรงเรียนที่ไม่มีหลักสูตรดนตรีอย่างมาก (90.2 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 72.9 เปอร์เซ็นต์) ยิ่งกว่านั้น โรงเรียนที่จัดว่าหลักสูตรของตน “ดีเลิศหรือดีมาก” ยังมีอัตราการสำเร็จการศึกษาสูงกว่านั้นด้วยซ้ำ (90.9 เปอร์เซ็นต์)

คุณสามารถผนวกศิลปะไว้ในห้องเรียนได้หลายวิธี ใช้ศิลปะด้วยตัวคุณเอง และจะให้ดี ควรใช้ครูศิลปะที่มีคุณวุฒิ ถ้าพอจะเป็นไปได้ กลยุทธ์ที่ดีที่สุดของคุณคือให้ครูศิลปะที่มีวุฒิบัตรสอนนักเรียนของคุณเป็นเวลา 15-30 นาทีสามวันต่อสัปดาห์ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา เมื่อมีครูสอนศิลปะไม่เพียงพอ ครูก็สามารถใช้ศิลปะในวิถีทางของตนเอง (ภาพวาดลายเส้น ท่าทาง การเต้น และกิจกรรมกระตุ้น)

ศิลปะสำคัญอย่างไร ในงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาซึ่งศึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษา 25,000 คนเป็นเวลาสี่ปี นักวิจัยพบความเกี่ยวพันที่สำคัญระหว่างการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ศิลปะอย่างสูงกับความสำเร็จทางวิชาการทั่วไป ทว่าในการติดตามผลกับนักเรียนคนเดิมในวัย 25 ปี ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าตื่นตะลึง มีนักเรียนรายได้ต่ำเรียนอยู่ ในมหาวิทยาลัย มากขึ้นและ ได้เกรดดีขึ้น และมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะ ได้ปริญญาระดับสูงกว่าปริญญาตรี และ มีงานทำ ในอนาคต นอกจากนี้ พวกเขายังมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะออกเสียงเลือกตั้งและมีส่วนร่วมในงานอาสาสมัครอีกด้วย เห็นได้ชัดว่า ศิลปะส่งอิทธิพลต่อชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา

 

จะใช้วิชาศิลปะในห้องเรียนได้อย่างไร

ส่วนนี้ เราจะมุ่งเน้นเรื่องดุริยางคศิลป์และการละครโดยเฉพาะ สำหรับดุริยางคศิลป์นั้น ถ้าคุณเปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้และเล่นเครื่องดนตรี ชุดทักษะของพวกเขาจะดีขึ้น การเรียนการสอนดนตรีช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะอ่าน การฝึกเล่นเครื่องดนตรีเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าสามปีช่วยยกระดับการแยกเสียงที่ได้ยิน ทักษะการเคลื่อนที่ที่ดี คลังคำ และการใช้เหตุผลแบบอวัจนภาษา นักเรียนดนตรีมีความจำทางภาษาดีกว่านักเรียนที่ไม่ได้เรียนดนตรีหลายเท่า และยิ่งฝึกฝนดนตรีนานเท่าไร ความจำทางภาษาก็ยิ่งดีตามไปด้วย

บางทีหนทางที่เร็วที่สุดที่นักเรียนจะได้ฝึกเล่นดนตรี (โดยไม่มีครูสอนดนตรี) อาจเป็นการเรียนรู้บนไอแพด ลองพิจารณาการใช้แอปพลิเคชั่นอย่างไทนีเปียโน โนตา มิวสิคัลทัช โปรคีย์ส และทเวลฟ์โทน ทั้งหมดนี้จะทำให้นักเรียนติดอกติดใจการเป็นนักดนตรีขึ้นมาทีเดียว! มีวิดีโอบนยูทูบมากมายที่สอนการเล่นดนตรีเบื้องต้น แม้จะสู้ครูสอนดนตรีที่มีคุณวุฒิไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เรียนดนตรีเลย

การเล่นเครื่องดนตรีต้องอาศัยการทำงานที่ใช้ความพยายามแตกต่างกันหลายอย่างในเวลาเดียวกัน การประสานงานกันของกิจกรรมทางจิตที่เกิดขึ้นตามมาไม่เพียงกระตุ้นการเจริญเติบโตเชิงโครงสร้างภายในสมอง แต่ยังทำให้นักดนตรีมีข้อได้เปรียบด้านการรับรู้ซึ่งส่งผลต่อความสามารถด้านภาษาและความสัมพันธ์เชิงพื้นที่อีกด้วย ข้อได้เปรียบดังกล่าวส่งผลให้นักดนตรีได้คะแนนสูงกว่านักเรียนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ไม่ได้เรียนดนตรีในการทดสอบไอคิว ความจำทางภาษา ทักษะการอ่าน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เรขาคณิต และระบบตัวเลขเสมอ

ที่น่าประหลาดใจคือ การเรียนดนตรีมีประโยชน์ทางสังคมและอารมณ์ด้วย เพราะนักดนตรีเยาวชนสังเกตความแตกต่างอันละเอียดอ่อนในคำพูดได้ดีกว่า มีความเคารพตัวเองสูงกว่า และมีแนวโน้มมากกว่าที่จะแสดงอุปนิสัยซึ่งให้ผลิตภาพ เช่น ความร่วมมือ แรงจูงใจ ความรับผิดชอบ และความคิดริเริ่ม ประโยชน์หลายประการเหล่านี้ซึ่งงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งดูจะไม่ขึ้นกับข้อได้เปรียบทางพันธุกรรมหรือทางเศรษฐกิจสังคม และน่าทึ่งเป็นพิเศษในนักเรียนที่เริ่มต้นแต่เนิ่นๆ ฝึกฝนเป็นนิจ และรักษาทักษะนี้ไว้ได้เมื่อเวลาผ่านไป

เพื่อสนับสนุนการละคร เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงบทบาทตามหัวข้อดู นักเรียนอาจทำได้ในวิชาวิทยาศาสตร์ (แสดงให้ดูว่าการทดลองจะได้ผลอย่างไร แสดงปฏิกิริยาของสารเคมี หรือแสดงผลกระทบทางนิเวศวิทยา) ทำได้ในวิชาคณิตศาสตร์ (แสดงสูตรสำคัญ แสดงให้ดูว่าแต่ละส่วนของสมการถอดมาเป็นอย่างไร หรือแสดงวิธีที่ช่วยให้จำสูตรได้ง่าย) หรือในศิลปะการใช้ภาษา (เล่าเรื่องราว อธิบายบทวิจารณ์ หรือแสดงความเกี่ยวโยงกับชีวิตนักเรียน) การแสดงและเรียนรู้ทักษะการละครจะสร้างทักษะที่ถ่ายโอนได้กลุ่มใหญ่ขึ้นมา การเคลื่อนไหวซึ่งมักเป็นส่วนหนึ่งของการละครส่งผลกระทบต่อการรู้คิดได้หลายทาง จากภาพประกอบด้านล่าง คุณจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างทักษะการเคลื่อนไหวกับทักษะเชิงวิชาการ

 

 

ขอยกตัวอย่างครูผู้สนับสนุนศิลปะเพื่อหาคำตอบว่าศิลปะสำคัญเพียงไรกันสักนิด

ครูระดับประถมศึกษาตอนปลายคนหนึ่งในเซาธ์ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สอนอยู่ที่โรงเรียนประถมศึกษาที่มีความยากจนสูง ย่านนี้ขึ้นชื่อเรื่องอาชญากรรมและประชาชนที่ไม่พูดภาษาอังกฤษมากกว่าอะไรทั้งนั้น นักเรียนของเขามากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์มีฐานะยากจนและส่วนใหญ่เรียนรู้ด้วยภาษาที่สอง ถ้าคุณติดตามนักเรียนจากทั้งโรงเรียนประถมที่เขาสอนอยู่จะพบว่ามีเพียง 32 เปอร์เซ็นต์ที่เรียนจบชั้นมัธยมปลาย แต่ถ้าคุณติดตามนักเรียนจากชั้นเรียน ป.5 ของเขาเท่านั้นจะพบว่าทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์เรียนจบและเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย กลไกหลักที่ขับเคลื่อนความสำเร็จของนักเรียนของเขาคือวิชาศิลปะนั่นเอง

นักเรียนของเขาเต้น เรียนรู้การเล่นดนตรี และแสดงละครเวทีของเชกสเปียร์เรื่อง ตามใจท่าน (As You Like It) ครั้งต่อไปที่คุณคิดว่าคุณสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ให้เข้ายูทูบและพิมพ์คำว่า “The Hobart Shakespeareans” แล้วดูนักเรียนของเขาแสดง วิชาศิลปะคือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และเปลี่ยนแปลงสมองในเชิงบวก

 

เหตุใดจึงต้องสนับสนุนกิจกรรมทางกาย

 

มาทบทวนคุณค่าของกิจกรรมทางกายกัน ในงานศึกษาวิจัยระยะยาวชิ้นหนึ่งซึ่งศึกษานักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในนิวยอร์กซิตีมากกว่า 83,000 คนที่ลงทะเบียนเรียนระหว่างปี 2006-2007 และ 2011-2012 มีความสัมพันธ์ระดับสูงระหว่างพลานามัยจากปีก่อนหน้ากับอันดับทางวิชาการที่เลื่อนขึ้นมากกว่าเดิม (ค่าเฉลี่ยสูงกว่าตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ 20 เมื่อเทียบกับนักเรียนคนอื่นๆ ที่ขาดพลานามัย) การทดสอบที่ใช้ในงานวิจัยนี้คือเปอร์เซ็นไทล์ที่ประกอบขึ้นจากคะแนนสอบวัดระดับความรู้ทางคณิตศาสตร์และศิลปะการใช้ภาษาอังกฤษตามมาตรฐานประจำปีระดับรัฐ

งานศึกษาอีกชิ้นพบว่า การเรียนรู้คำศัพท์เร็วขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์หลังจากการออกกำลังกายอย่างเข้มข้น ในแคลิฟอร์เนีย การใช้ข้อมูลจากนักเรียนเกือบหนึ่งล้านคนทำให้นักวิจัยพบว่า วิชาพลศึกษามีส่วนเกี่ยวข้องกับคะแนนการอ่านและคณิตศาสตร์ที่สูงขึ้นเช่นกัน ดูภาพประกอบด้านล่าง

 

 

สำหรับนักเรียนจำนวนมาก คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ยากเย็นแสนเข็ญ ทว่ากิจกรรมทางกายกระตุ้นการหลั่งโดพามีนซึ่งช่วยยกระดับความพยายาม การมองโลกแง่ดี และความจำใช้งาน (ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ดีขึ้นได้) นอกจากนี้ กิจกรรมทางกายยังเพิ่มการผลิตนอร์อะดรีนาลีน ซึ่งทำให้สมาธิและความจำระยะยาวดีขึ้นอีกด้วย ขณะที่ในเมืองเนเพอร์วิลล์ รัฐอิลลินอยส์ นักวิจัยพบว่า กิจกรรมทางกายส่งเสริมการเติบโตเชิงบวกของคะแนนพีชคณิต

กิจกรรมทางกายเสริมสร้างทักษะทางคณิตศาสตร์

 

โรงเรียนจำนวนมากมีปัญหาเรื่องระเบียบวินัยในห้องเรียนทั้งโรงเรียน แต่การทดสอบหลายครั้งแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางกายลดปัญหาเรื่องระเบียบวินัยในห้องเรียนได้ ดูอิทธิพลของโปรแกรมเสริมสร้างพลานามัยประจำวันในภาพประกอบด้านล่าง

 

กิจกรรมทางกายลดปัญหาระเบียบวินัย

 

งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นความมั่นใจในตนเองที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากกิจกรรมทางกาย นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาวิจัยอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายส่งเสริมทักษะการทำหน้าที่ด้านบริหารจัดการของนักเรียน รวมถึงความตั้งใจเรียน ส่วนสำคัญของกิจกรรมทางกายคือ การยึดครอง ที่เรียกว่า การยึดครอง เพราะแทบไม่มีสิ่งใดในชีวิตที่เราควบคุมได้อย่างแท้จริงเพื่อลดความเครียดและประสบความสำเร็จ

ในสองส่วนถัดไป เราจะมาดูกันว่ากิจกรรมทางกายกระตุ้นการสร้างเซลล์สมองใหม่ๆ ขึ้นได้อย่างไร และคุณจะใช้กิจกรรมทางกายในห้องเรียนเพื่อยกระดับการเรียนรู้ได้อย่างไร

 

กิจกรรมทางกายกระตุ้นการสร้างเซลล์สมองใหม่ๆ ได้อย่างไร

สมองมนุษย์สามารถผลิตเซลล์สมองใหม่ๆ ขึ้นได้ ทว่าความเครียดเรื้อรังและโภชนาการที่ไม่ดีลดการผลิตเซลล์ใหม่ลง ซึ่งเพิ่มโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้า งานศึกษาพบว่านักเรียนฐานะยากจนหนึ่งในสามมีความเครียดเรื้อรังและตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ดี มีหลักฐานมากขึ้นทุกทีที่ยืนยันว่า การออกกำลังที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่คือกลยุทธ์ป้องกันและรักษาภาวะซึมเศร้าที่ได้ผล

ในงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง คุณแม่ยังสาวที่เป็นคนไร้บ้านซึ่งมีประวัติภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลเข้าร่วมโปรแกรมเต้นเสริมสร้างสติเป็นเวลา 30 นาทีสัปดาห์ละสองครั้งนานแปดสัปดาห์ การฝึกเต้นนี้ไม่เพียงเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจและปอด แต่ยังลดอาการของภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลลงด้วย เมื่อแม่มีสุขภาพจิตและกายดีขึ้น ก็ย่อมดูแลตัวเองและลูกๆ ได้ดีขึ้น นั่นเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อทั้งครูและครอบครัวของนักเรียน

เซลล์สมองใหม่ๆ มีส่วนช่วยให้มีอารมณ์ ความจำ การจัดการน้ำหนัก และการรู้คิดที่ดีขึ้น เราสามารถยกระดับกระบวนการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ด้วยกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การศึกษาวิจัยในมนุษย์พิสูจน์แล้วว่าเกิดผลกระทบเช่นนี้กับนักวิ่งจริง

ท้ายที่สุด งานศึกษาวิจัยระยะยาวชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพลานามัยกับการรู้คิด งานศึกษานี้พบว่า ความแข็งแรงทางร่างกายโดยรวมเป็นตัวบ่งชี้น่าเชื่อถือของความสำเร็จทางวิชาการ และการขาดพลานามัยเริ่มต้นตั้งแต่ชั้น ป.4 ทีเดียว งานวิจัยอีกชิ้นซึ่งศึกษาเด็กมากกว่า 1,700 คนพบว่า นักเรียน ป.6 และ ม.3 ที่มีพลานามัยดีกว่าได้คะแนนทดสอบวิชาคณิตศาสตร์และสังคมศึกษาสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับนักเรียนที่ร่างกายแข็งแรงน้อยกว่า

 

จะใช้กิจกรรมทางกายในห้องเรียนได้อย่างไร

ส่งเสริมให้มีการพักทำกิจกรรมทางกาย 20-30 นาทีเต็มในระดับชั้นอนุบาลถึง ป.5 ในทุกวิถีทางที่คุณทำได้ อย่าลงโทษนักเรียนด้วยการกักตัวไว้ในห้องเรียนระหว่างช่วงพักเป็นอันขาดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม มีทางเลือกนับสิบๆ อย่างเลย นอกจากนี้ คุณยังอาจดึงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้นอยู่ตลอดเวลาเพื่อลดปัญหาเชิงพฤติกรรมและสอนให้นักเรียนมีพฤติกรรมอย่างที่คุณต้องการ แทนที่จะเอาแต่ลงโทษที่แสดงพฤติกรรมแย่ๆ

ตัวอย่างเช่น คุณให้นักเรียนมีเวลาพักที่ต่อเนื่องและทำกิจกรรมกระตุ้นเพื่อเผาผลาญพลังงานหรือไม่ ถ้าไม่ ให้ผนวกกิจกรรมที่ต้องลุกจากที่ทุกๆ 10-20 นาทีไว้ระหว่างการสอนของคุณ พานักเรียนออกไปนอกห้อง แล้วปล่อยให้พวกเขาวิ่งเล่นไปรอบๆ พื้นที่สำหรับออกกำลังกายหรือเดินเล่น ครูระดับชั้นอนุบาลถึง ป.5 คนหนึ่งพานักเรียนออกไปที่สนามแล้วเดินเพิ่มพลังครบหนึ่งรอบกับนักเรียนในชั้น ไม่นานครูคนอื่นก็เข้ามาร่วมวง จากนั้นความตื่นเต้นเรื่องการเดินเพิ่มพลังวันละ 10 นาที และคุณค่าของกิจกรรมทางกายก็เริ่มขยายตัวไปทั้งโรงเรียน จงช่วยให้สมองพร้อมจะใช้เหตุผลด้วยการทำให้มันมีสุขภาพแข็งแรงและอยู่ในสภาวะทางกายภาพที่ดีที่สุดเสมอ

วิธีอันยอดเยี่ยมที่จะส่งเสริมกิจกรรมทางกายในห้องเรียนของคุณคือการแบ่งทีมทำกิจกรรมกระตุ้นที่ทำให้ต้องขยับร่างกาย แต่งตั้งครูฝึกส่วนตัวขึ้นมาเพื่อคอยดูให้แต่ละทีม (ทีมละสี่คนสำหรับชั้นอนุบาลถึง ป.5 และทีมละห้าคนสำหรับ ป.6-ม.6) มีส่วนร่วมในกิจกรรม ส่งสัญญาณให้ครูฝึกส่วนตัวทุกๆ 15-20 นาทีเพื่อนำทีมขยับร่างกาย และสลับสับเปลี่ยนครูฝึกทุกๆ สองสัปดาห์ ลองใช้กิจกรรมต่อไปนี้กับชั้นเรียนของคุณดูได้เลย

 

  • ชวนนักเรียนวิ่งอยู่กับที่หนึ่งนาที เมื่อคุณเริ่ม นักเรียนจะตื่นเต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าชวนให้แข่งกันสนุกๆ หรือทำพร้อมกัน นักเรียนที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษ เบื่อหน่าย หรือแค่อยากปลดปล่อยพลังงานเล็กน้อยจะพบว่านี่เป็นสิ่งล้ำค่าทีเดียว
  • ผนวกการเคลื่อนไหวเข้ากับวิชาที่เรียน ดูกิจกรรมต่างๆ ที่เว็บไซต์ actionbasedlearning.3dcartstores.com
  • ทำกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งกลุ่มซึ่งนำทุกคนมารวมตัวกัน ตัวอย่างเช่น เปิดโอกาสให้นักเรียนคนหนึ่งสอนจังหวะการเต้นให้นักเรียนในชั้น
  • เปิดโอกาสให้นักเรียนที่เป็นอาสาสมัครทำหน้าที่เป็นผู้นำ ทุกคนทำตามเมื่อเขาหรือเธอเดิน เดินจ้ำ หรือเต้นไปรอบๆ ห้องเป็นเวลา 45 วินาที
  • เล่นกีฬาในจินตนาการ นักเรียนทุกคนในทีมยืนขึ้นแล้วแต่ละคนก็เลือกกีฬาที่โปรดปราน ให้นักเรียนคนหนึ่งทำท่าเล่นกีฬาชนิดนั้นขณะที่คนอื่นๆ ในทีมเลียนแบบเป็นเวลา 30 วินาที ผลัดให้สมาชิกคนต่อไปในทีมเป็นผู้นำแล้วให้ทุกคนทำตามบ้าง กิจกรรมนี้สนุกมากและดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

 

ในระดับมัธยม นักเรียนยังจำเป็นต้องเคลื่อนไหวร่างกาย นั่นหมายความว่าพลศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทว่ากิจกรรมในห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ขยับตัวก็สำคัญไม่แพ้กัน

 

-2-

เตรียมพร้อมสำหรับมหาวิทยาลัยและการประกอบอาชีพ

 

มักจะมีนักเรียนบางคนที่มีปัญหาหรือสอบตกในแทบทุกวิชากระทั่งพวกเขาเริ่มทำอะไรด้วยมือ เข้าร่วมกิจกรรมทางกาย หรือออกไปนอกห้องแล้วเรียนรู้ นักเรียนบางคนมีชีวิตอยู่เพื่อกิจกรรมเหล่านี้อย่างแท้จริง กิจกรรมที่ว่านี้อาจรวมถึงการฝึกอาชีพ การเรียนรู้นอกห้องเรียน การทำงานตามโครงงาน ทัศนศึกษา การฝึกงาน และการเรียนรู้งานบริการ

กล่าวโดยทั่วไปคือ ให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาที่อายุน้อยกว่าอยู่ใกล้โรงเรียนเข้าไว้ ความแปลกใหม่ของประสบการณ์ภายนอกมีแนวโน้มสร้างความตื่นใจให้นักเรียนชั้นประถมศึกษามากกว่า ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่พวกเขาพบเจอที่บ้านก่อนหน้านั้น พวกเขาจะจำการไปทัศนศึกษาได้ แต่มีแนวโน้มจะเรียนรู้จากกิจกรรมนั้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับถ้าคุณแค่ใช้กิจกรรมวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนแบบง่ายๆ ภายในรั้วโรงเรียน

ทว่ามีอะไรอีกที่คุณทำได้เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนจบโดยมีความพร้อมจะประกอบอาชีพหรือเรียนต่อในมหาวิทยาลัย กุญแจสำคัญในที่นี้คือการคิดจากมุมมองของนักเรียนของคุณ อะไรเล่าจะผลักดันพวกเขาให้ก้าวหน้าในชีวิต อะไรที่คุณทำได้ทันที คุณจะเอื้อให้เกิดกระบวนการนั้นอย่างดีที่สุดได้อย่างไร ใช้รายการต่อไปนี้เป็นแนวทางตอบคำถามเหล่านี้ดู

 

  • ความพร้อมสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัย พวกเขามีทักษะการใช้ชีวิตที่จะรับมือกับชีวิตในมหาวิทยาลัยหรือไม่ พวกเขามีทักษะการเรียนที่ดีสำหรับแต่ละวิชาหรือไม่ พวกเขามีพี่เลี้ยงให้ติดต่อขอความช่วยเหลือหรือไม่ ถ้านักเรียนคนหนึ่งไม่ได้รับทุนการศึกษา ให้ทำดังต่อไปนี้ ย้ำเตือนนักเรียนของคุณว่าโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมีอยู่จริง University of the People (uopeople.edu) เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะและไม่คิดค่าเล่าเรียน
  • ความพร้อมสำหรับการประกอบอาชีพ นักเรียนที่เรียนจบทุกคนมีประวัติย่อสำหรับสมัครงานหรือไม่ นักเรียนที่เรียนจบทุกคนมีทักษะการสัมภาษณ์ซึ่งผ่านการฝึกซ้อมและการให้คำวิจารณ์อย่างต่อเนื่องหรือไม่ นักเรียนที่เรียนจบแต่ละคนมีตำแหน่งงานที่ยืนยันว่ารับเข้าทำงานแล้วหรืออย่างน้อยห้าตำแหน่งงานให้ติดตามผลหรือไม่ เขาหรือเธอมีพี่เลี้ยงให้ติดต่อขอความช่วยเหลือหรือไม่

 

ต่อไปเราจะศึกษากลยุทธ์บางอย่างซึ่งโรงเรียนที่มีผลการเรียนสูงใช้แล้วประสบความสำเร็จ ตามมาด้วยการพิจารณาพลังของหลักสูตรอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษา

 

กลยุทธ์เตรียมความพร้อมสำหรับเรียนมหาวิทยาลัยและประกอบอาชีพ

 

มาสำรวจกลยุทธ์บางส่วนจากโรงเรียนผลการเรียนสูงซึ่งช่วยให้นักเรียนมีความพร้อมสำหรับเรียนในมหาวิทยาลัยและประกอบอาชีพกัน กลยุทธ์เหล่านี้มาจากโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงซึ่งค้นพบว่าจะสร้างปาฏิหาริย์ได้อย่างไร

 

  • เพิ่มประสบการณ์ ช่วยให้นักเรียนทุกคนได้สัมผัสกับมหาวิทยาลัยและตำแหน่งงาน ตัวอย่างเช่น สำหรับโรงเรียนประถมศึกษา ให้นักเรียน ป.5 ทั้งหมดจับคู่กัน แล้วให้พวกเขาเลือกมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในระยะขับรถถึงและศึกษาอย่างละเอียด (ค่าใช้จ่าย ทุนการศึกษา สาขาที่เชี่ยวชาญ สถานที่ตั้ง ลักษณะทางประชากรศาสตร์ ฯลฯ) จากนั้นให้พวกเขาจัดทำโปสเตอร์เพื่อถ่ายทอดให้นักเรียน ป.2 ฟังเป็นเวลา 15 นาที ให้นักเรียน ป.4 ทั้งหมดทำอย่างเดียวกัน กล่าวคือ จับคู่กับเพื่อนที่นั่งข้างๆ ในชั้นพูดคุยเกี่ยวกับอาชีพที่เป็นไปได้ (ช่างเชื่อม นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ช่างไฟฟ้า พนักงานบริการบนเครื่องบิน ช่างก่อสร้าง ฯลฯ) ที่ต้องการวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายเท่านั้น
  • เชื่อมโยงพฤติกรรมกับผลลัพธ์เข้าด้วยกัน ช่วยนักเรียนเชื่อมโยงพฤติกรรมในปัจจุบันเข้ากับผลลัพธ์อย่างมีเป้าหมาย “ไม่เสียแรงจริงๆ ที่นักเรียนทุ่มเทเวลาให้กับการบ้านมากเป็นพิเศษ ความพยายามนี้จะช่วยให้นักเรียนได้เข้ามหาวิทยาลัยที่อยากเรียน”
  • เชื่อมโยงเนื้อหา ใช้สาขาของเนื้อหาในห้องเรียนพูดคุยเรื่องอาชีพ ตัวอย่างเช่น สำหรับชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ สื่อศิลปะ ภาษา หรือคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้พูดถึงตำแหน่งงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในวิชาเหล่านี้ (นักชีววิทยา นักออกแบบกราฟิก นักแปล และวิศวกร) พูดถึงอาชีพที่ผูกโยงเข้ากับชั้นเรียนที่คุณสอนอยู่เสมอ
  • ใช้ถ้อยคำที่ให้ความหวัง ใช้วลีที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เมื่อ” ไม่ใช่วลีที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ถ้า” แทนที่จะพูดว่า “ถ้านักเรียนเรียนจบ” ให้พูดว่า “เมื่อนักเรียนเรียนจบ” แทนที่จะพูดว่า “ถ้านักเรียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย” ให้พูดว่า “เมื่อนักเรียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย”
  • เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับระบบ จัดการให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งเริ่มจากชั้น ม.3 มีคณะกรรมการทุนการศึกษาของตนโดยเฉพาะ คณะกรรมการนี้อาจประกอบด้วยที่ปรึกษา ครู หรือทีมงานประจำสำนักงาน 3-4 คน บทบาทของคณะกรรมการดังกล่าวคือประเมินความสนใจของนักเรียนคนนั้น หาโรงเรียนที่เก่งด้านนั้นๆ หาข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนดในการเข้าเรียน (เช่น เกรดและวิชาที่เรียน) หาเส้นทางรับทุนการศึกษา และช่วยเขาหรือเธอวางแผนเพื่อเรียนวิชาเหล่านั้น สอบให้ได้เกรดที่กำหนด และได้รับทุนการศึกษา
  • จัดโปรแกรมเสริม โรงเรียนมัธยมของคุณทุ่มเทให้กับความสำเร็จของนักเรียนอย่างจริงจังหรือไม่ ลองพิจารณากลยุทธ์สำหรับชั้นมัธยมต่อไปนี้

– จัดครูสอนพิเศษจากมหาวิทยาลัยใกล้ๆ มาสอนหลังเลิกเรียนทุกวันเป็นเวลา 45 นาที (โดยไม่เกิดค่าใช้จ่ายกับโรงเรียน) เพื่อให้แน่ใจได้ว่านักเรียนทุกคนทำการบ้านที่ได้รับมอบหมายถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์

– จัดโปรแกรมให้คำปรึกษาอย่างมีประสิทธิภาพแก่นักเรียนใหม่ทุกคน

– อำนวยความสะดวกด้านการแปลภาษาให้ครอบครัวนักเรียน

– ระดมเงินเพื่อให้แน่ใจได้ว่านักเรียนมีค่าเดินทางที่จำเป็น

– ให้นักเรียนทุกคนเข้าเรียนในชั้นเรียนที่มีการเรียนการสอนเข้มข้น [ผ่านโปรแกรมขององค์กร Advancement Via Individual Determination (AVID) avid.org]

– กำหนดให้นักเรียนทุกคนตั้งแต่ชั้น ม.1 ขึ้นไปเข้าร่วมงานนิทรรศการที่จัดขึ้นทั่วโรงเรียนและงานแสดงผลงานวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนจัดขึ้น

– จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับมหาวิทยาลัยให้พ่อแม่เพื่อดึงพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนลูกๆ ที่เป็นนักเรียนในการมุ่งสู่มหาวิทยาลัย

 

หนึ่งในโรงเรียนที่ใช้กลยุทธ์เหล่านี้คือพรีอุสส์ยูซีเอสดี (Preuss School UCSD https://bit.ly/2pIETW7) เป็นโรงเรียนรัฐบาลที่ประกอบด้วยนักเรียนยากจน 100 เปอร์เซ็นต์ซึ่งมีนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โรงเรียนนี้ยกระดับความคาดหวังและเป้าหมายของนักเรียนให้สูงขึ้น จากนั้นจึงสนับสนุนเพื่อช่วยให้นักเรียนทำเป้าหมายของพวกเขาให้เป็นจริง

 

กลยุทธ์ส่งเสริมอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษา

 

นอกจากกลยุทธ์พุ่งเป้าไปที่การเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยแล้ว สิ่งสำคัญเช่นกันคือหาทางส่งเสริมอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษาในโรงเรียนของคุณ ควรจัดหาพี่เลี้ยงให้นักเรียนเพราะเรารู้ว่างานวิจัยสนับสนุนขั้นตอนปฏิบัติการนี้ มีงานนับพันๆ ตำแหน่งรอคอยคนงานผู้มีทักษะอยู่ แต่เราไม่ได้เตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับตำแหน่งงานเหล่านี้ ต่อไปนี้คือตำแหน่งงานที่เราควรฝึกชุดทักษะให้นักเรียน

 

  • งานเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และพัฒนาซอฟต์แวร์
  • บริการด้านอุตสาหกรรม (ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง และช่างประปา)
  • เทคโนโลยีบันทึกเสียงและวิดีโอ งานสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศ และการประมวลผลข้อมูลอิเล็กทรอนิก (การดำเนินงานระบบต่างๆ)
  • วิทยาศาสตร์ด้านอาหารและโภชนาการ ศิลปะการทำอาหาร
  • การพัฒนาธุรกิจและการตลาด
  • การพัฒนาเกษตรกรรม
  • การผลิต วิทยาศาสตร์ และธุรกิจสินค้าที่ได้จากสัตว์
  • ธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว
  • พืชศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และนิเวศวิทยา
  • การดัดสันดาน การบังคับใช้กฎหมาย และความมั่นคง

 

โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนในสาขาเหล่านี้ด้วยการส่งเสริมหลักสูตรอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษาในโรงเรียน ไม่ใช่เพียงทางเลือกหลังสำเร็จการศึกษาเท่านั้น รอน ฟิตซ์เจอรัลด์ เข้าใจปัญหานี้ เมื่อปี 1971 เขาบุกเบิกหนึ่งในหลักสูตรอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาขึ้นมา โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายไมนุตแมน (Minuteman High School minuteman.org) ในเล็กซิงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ แห่งนี้เต็มไปด้วยนักเรียนจำนวนมากที่โอนย้ายมาจากทั่วทั้งเขตซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาเรื่องระเบียบวินัย (เด็กที่มี “พฤติกรรมเกเร”) และต้องการอะไรที่แตกต่างออกไป

เมื่อเข้ามาในโรงเรียน นักเรียนก็ตระหนักว่าคำร้องทุกข์ที่สำคัญที่สุดสามข้อของพวกเขาเกี่ยวกับโรงเรียนนั้นกลับตาลปัตร ข้อแรก ครูทุกคนเอาใจใส่พวกเขาและอนาคตของพวกเขาอย่างมาก ข้อสอง แม้นักเรียนทุกคนจะต้องเข้าเรียนวิชาต่างๆ แต่เขาหรือเธอก็มีอะไรให้ทำด้วย (นักเรียนง่วนอยู่กับกิจกรรมทางกายอย่างเต็มที่ทุกวัน) ข้อสาม ชั้นเรียนวิชาต่างๆ มีความเกี่ยวโยงอย่างสูง นั่นหมายความว่าพวกเขาได้รับการเตรียมพร้อมสำหรับการประกอบอาชีพ 100 เปอร์เซ็นต์ กล่าวสั้นๆ คือ โรงเรียนนี้ตอบสนองความต้องการที่สำคัญที่สุดของนักเรียน ได้แก่ เอาใจใส่ฉัน ดึงฉันเข้าไปมีส่วนร่วม และทำให้มันเกี่ยวโยงกับฉัน

นักเรียนเหล่านี้กลับกลายมามีผลิตภาพและเรียนจบเป็นจำนวนมาก (88 เปอร์เซ็นต์) เพราะหลักสูตรส่วนใหญ่ของโรงเรียนเสริมสร้างทักษะการทำงานซึ่งทำให้เกิดความเกี่ยวโยงขึ้นทันที โรงเรียนนี้พัฒนาทักษะการทำงานขึ้นในหลายสาขา ตัวอย่างเช่น โรงอาหารมีหลักสูตรศิลปะการทำอาหารสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมบริการ ภารโรงจัดหางานในรั้วโรงเรียนให้ในฐานะส่วนหนึ่งของการฝึกงานซ่อมเครื่องทำความร้อน ระบบไฟฟ้า ภาพเขียน เครื่องปรับอากาศ และแผ่นยิปซัมบุผนัง ร้านค้าสำหรับนักเรียนเป็นทางเลือกสถานที่ทำงานให้กับนักเรียนที่สนใจทักษะการประกอบการ

“ตอนที่ผมเดินไปในรั้วโรงเรียนแห่งนี้เมื่อปี 2002 ผมมองเห็นพลังงาน ความตั้งใจแน่วแน่ และเป้าหมายผ่านภาษากายของนักเรียน พวกเขา อยาก มาโรงเรียน แม้จะถูกมองว่าเป็นนักเรียนเจ้าปัญหา แต่ทุกคนกลับดูดีมากในสายตาผม”

นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา แมสซาชูเซตส์มีเครือข่ายโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายด้านอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษาที่มีความเข้มงวดทางวิชาการ 26 แห่งรองรับนักเรียน 27,000 คน นักเรียนเรียนวิชาต่างๆ ในสายสามัญ แต่ใช้เวลาครึ่งหนึ่งฝึกงานในสาขาที่เลือก ซึ่งรวมถึงการซ่อมคอมพิวเตอร์ การวางเครือข่ายโทรคมนาคม วิชาช่างไม้ การศึกษาปฐมวัย ระบบท่อประปา ระบบทำความร้อน ตู้เย็น และการเสริมความงาม

น่าทึ่งที่โรงเรียนเหล่านี้มีอัตราการสำเร็จการศึกษาและการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของรัฐและเกือบ 96 เปอร์เซ็นต์ผ่านการทดสอบการสำเร็จการศึกษาอันเข้มงวดของรัฐซึ่งมีเดิมพันสูง โรงเรียนของฟิตซ์เจอรัลด์คือต้นแบบดั้งเดิมสำหรับเรื่องราวความสำเร็จที่มีตำแหน่งงานเป็นแรงขับเคลื่อนนี้ หลังจากฟิตซ์เจอรัลด์เกษียณเป็นเวลานาน โรงเรียนอื่นๆ ในรัฐกำลังค้นพบสิ่งที่เขาทำได้ดี แมสซาชูเซสต์กำลังเพิ่มหลักสูตรของไมนุตแมนไปทั่วรัฐ

ต่อไปนี้คือทางเลือกสามทางสำหรับหลักสูตรลักษณะเดียวกับของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายไมนุตแมนที่คุณอาจนำไปใช้กับโรงเรียนของคุณ

 

  1. ติดต่อหน่วยงานด้านการศึกษาในเขตพื้นที่ของคุณเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทรัพยากรที่มีอยู่สำหรับผสมผสานอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษาไว้ในโรงเรียนของคุณ
  2. เริ่มต้นช้าๆ และนำโปรแกรมมาใช้ปีละหนึ่งโปรแกรม
  3. จัดโปรแกรมย่อยๆ ที่ใช้เวลาน้อยกว่า ต่อไปนี้คือคำแนะนำสำหรับการจัดโปรแกรมย่อยๆ ที่ได้ผลที่โรงเรียนของคุณ

– นักเรียนศึกษาค้นคว้าแล้วจำลองเหตุการณ์เพื่อรับมือกับการอพยพหนีไฟ การข่มเหงรังแก การจับตัวประกัน หรืออุทกภัย

– นักเรียนผูกไมตรีกับธุรกิจในท้องถิ่นเพื่อฝึกงาน

– นักเรียนจัดทัศนศึกษาภายในโรงเรียนเพื่อเยี่ยมชมทีมงาน พืชพรรณ หรือองค์ประกอบการออกแบบ

– นักเรียนจัดทัวร์เยี่ยมชมธุรกิจในท้องถิ่นในช่วงผ่อนคลาย เช่น สัปดาห์ที่ไม่มีการสอบหรือช่วงวันหยุด

– นักเรียนจับมือเป็นพันธมิตรกับองค์กรลูกเสือหรือเนตรนารี โฟร์-เอชคลับ (4-H club) หรือสถานที่ตั้งแคมป์ในท้องถิ่น

– นักเรียนร่วมงานกับพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการทางวัฒนธรรม และแกลเลอรีงานศิลปะในท้องถิ่นเพื่อจัดทัศนศึกษา

 

แม้ผู้เขียนจะได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่กลับไม่รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยมีไว้สำหรับทุกคน ทุกครั้งที่คุณผลักดันนักเรียนมากเกินไปไม่ว่าในทิศทางใด คุณย่อมพบกับการต่อต้าน ต่อไปนี้คือทางเลือกสำหรับนักเรียนที่คิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับมหาวิทยาลัย แนะนำให้พวกเขารู้จักแหล่งข้อมูลต่อไปนี้ดู

 

  • หนังสือเรื่อง Better Than College: How to Build a Successful Life Without a Four-Year Degree โดยเบลก โบลส์ (Blake Boles)
  • หนังสือเรื่อง 40 Alternatives to College โดยเจมส์ อัลทัชเชอร์ (James Altucher)
  • การพูดบนเวที TED และ TEDx หมวดการศึกษา นับเป็นการแนะนำอาชีพอย่างยอดเยี่ยม

 

ยิ่งนักเรียนเห็นทางเลือกมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะพบสิ่งที่เหมาะกับตนเองจริงๆ มากเท่านั้น

 

เพราะคุณมีทางเลือกเสมอ เลือกชุดความคิดของตัวคุณเองได้เลย

“ชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา”

ชุดความคิดการสำเร็จการศึกษาย้ำเตือนคุณเสมอว่า “สิ่งที่ฉันทำอยู่ ขณะนี้ กำลังผลักดันนักเรียนคนนี้ให้เรียนจบ และมีความพร้อมที่จะทำงานหรือเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือไม่”

ทุกครั้งที่คุณหงุดหงิด โกรธ หรืออยากถอนตัว ขอให้พักสักนิด เราต่างต้องเผชิญช่วงเวลาแบบนี้กันมาแล้วทั้งนั้น ย้ำเตือนตัวเองว่าคุณคือความหวังที่ดีที่สุดที่นักเรียนคุณมีในอันที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต หากไม่มีคุณ นักเรียนจำนวนมากจะไม่ประสบความสำเร็จ นักเรียนของคุณต้องการคุณคนที่ทำงานอย่างเต็มขีดความสามารถ คุณไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แค่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ทุกๆ วัน นั่นแหละคือชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา

ไม่มีใครบอกคุณว่านี่เป็นเรื่องง่ายเลย คุณมีอาชีพที่ยากเย็นแสนเข็ญ สิ่งเดียวที่คุณร้องขอจากตัวเองได้คือซื่อสัตย์กับตัวคุณเองและนักเรียนของคุณ ณ จุดใดก็ตามในการทำงานของคุณ ถ้าคุณไม่มุ่งมั่นทุ่มเทและลังเล นักเรียนจะรู้สึกได้ ถ้าคุณแค่กำลังรอวันเกษียณ คุณจะส่งอิทธิพลเชิงลบให้นักเรียนกี่คนก่อนที่คุณจะหยุดสอน นักเรียนของคุณต้องการครูที่ทุ่มเทอย่างสุดตัว

คุณมีทางเลือก เสมอ และทางเลือกเหล่านั้นก็มาจากชุดความคิดของคุณ คุณสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนงาน ที่อยู่ เพื่อนฝูง และทัศนคติ เพื่อให้คุณรักงานของคุณได้ แต่ความสองจิตสองใจใดๆ ก็ตามจะทำร้ายนักเรียนของคุณ นี่คือเรื่องใหม่สำหรับคนส่วนใหญ่ เป็นนิสัยการวางแผนอย่างมีเป้าหมายเป็นประจำทุกวัน เราเชื่อมั่นว่าคุณทำได้แน่นอน และใช่เลย เป็นความจริงที่ถ้าคุณทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว มันง่ายนิดเดียว

ครั้งหนึ่งครูคนหนึ่งจากโรงเรียนความยากจนสูงซึ่งมีผลการเรียนสูงส่งอีเมลมาขอบคุณที่ผู้เขียนพูดถึงโรงเรียนของเธอในหนังสือเรื่อง Teaching With Poverty in Mind ในโรงเรียนของเธอ นักเรียนทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์มีฐานะยากจน แต่มีนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยได้กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ทุกปี เหตุใดโรงเรียนของเธอจึงประสบความสำเร็จกันเล่า

“โรงเรียนของเราจะไม่ปล่อยให้นักเรียนล้มเหลวเป็นอันขาด” เธอกล่าว

 

อ่านซีรีส์ ‘7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน’ ย้อนหลังได้ที่นี่

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่