เด็กนักเรียนน่ะ ไม่อยากเรียนรู้จากคนที่พวกเขาไม่ชอบหรอก

เมธาวี รัชตวิจิน เขียน

 

เมื่อวงการการศึกษามีเป้าหมายใหม่ๆ ให้ครูหรือผู้ปกครองรวมถึงเด็กๆ ต้องคอยวิ่งไล่ไขว่คว้าหรือหยิบมาวัดประเมินตัวเอง ไม่แปลกที่บางครั้งผู้คนในระบบการศึกษาอาจยุ่งกับการไล่ตามเป้าหมายเหล่านั้นจนหลงลืมที่จะใส่ใจปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับนักเรียน หรือความรู้สึกแรกที่ดึงดูดให้ใครคนหนึ่งอยากสอนใครอีกคน

“เขาไม่ได้จ้างฉันให้มารักเด็กเสียหน่อย
เขาจ้างฉันมาสอนหนังสือต่างหาก
ครูสอนไป ส่วนนักเรียนก็เรียนไป ง่ายๆ แค่นั้น”

เจ้าของประโยคนี้เป็นเพื่อนร่วมงานของ ริต้า เพียร์สัน (Rita Pierson) นักการศึกษามากประสบการณ์คนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา และวันนั้นเพียร์สันตอบหล่อนไปว่า

“เธอรู้รึเปล่าว่า
เด็กนักเรียนน่ะ ไม่อยากเรียนรู้จากคนที่พวกเขาไม่ชอบหรอก
ถ้าคิดแบบนั้น ปีนี้ทั้งปีของเธอคงจะยืดยาวและเหน็ดเหนื่อยน่าดูเลย” 

ในศตวรรษ 21 ยุคสมัยแห่งวิทยาศาสตร์และการวัดประเมินนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นรองรับว่า เรื่องที่ดูไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับทักษะวิชาการอย่าง “ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน” เป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีขึ้นได้ รวมถึงช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนไม่รู้สึกว่าช่วงเปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่ “ยืดยาวและเหน็ดเหนื่อย” ได้ดังที่เพียร์สันบอกเอาไว้

บทความนี้จะแบ่งปันข้อค้นพบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน รวมถึง เคล็ดลับมัดใจนักเรียน จากหนังสือ The Growth Mindset Coach 

ฟัง TED Talk ของริต้า เพียร์สัน เรื่อง “เด็กทุกคนต้องการ ‘โค้ชผู้ปั้นแชมป์’ อยู่เคียงข้าง” (Every Kid Needs a Champion) พร้อมคำบรรยายภาษาไทยได้ในคลิปวิดีโอข้างต้น

 

งานวิจัยพบว่าความสัมพันธ์นั้นสำคัญ

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง (Liew, Chen & Hughes, 2010) ให้บรรดาครูตอบแบบสอบถามประเมินความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนชั้นเกรด 1 (เทียบเท่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1) จำนวน 761 คน รวมทั้งวัดความสามารถในการควบคุมตนเองของพวกเขา จากนั้นติดตามผลสัมฤทธิ์การเรียนของเด็กๆ ในวิชาการอ่านและคณิตศาสตร์ในปีการศึกษาถัดมา เพื่อดูว่าความสามารถในการควบคุมตนเองและความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนมีผลกระทบต่อผลการเรียนของนักเรียนหรือไม่ อย่างไร

คณะผู้วิจัยพบว่าความสามารถในการควบคุมตนเองของเด็กๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีความสัมพันธ์อันดีกับครูหรือไม่ก็ตาม ในขณะเดียวกัน สำหรับกลุ่มนักเรียนที่มีทักษะการควบคุมตนเองต่ำ มีพื้นฐานครอบครัวที่ยากจน หรือเป็นชนชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อย ความสัมพันธ์อันดีกับครูจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ดึงให้พวกเขามีผลการเรียนดีใกล้เคียงกับเพื่อนคนอื่นๆ ได้ ส่วนนักเรียนกลุ่มที่เป็นส่วนน้อยและไม่มีความสัมพันธ์อันดีกับครู จะมีผลการเรียนด้อยกว่าเพื่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด

ผลการวิจัยสรุปได้ว่าความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครูกับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนที่มีปัญหาในการเรียน ทำให้เด็กมีความมุ่งมั่นเชิงวิชาการและความเชื่อมั่นในทักษะการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการเรียนดีขึ้นในภาพรวม และความสัมพันธ์เช่นนี้จะยิ่งสำคัญและให้ผลดีเมื่อเด็กนักเรียนอยู่ในกลุ่มที่มีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคมไม่ดี

งานวิจัยอีกหลายชิ้นชี้ไปในทางเดียวกันว่าอาจเป็นความสัมพันธ์และความหวังดีที่ครูมอบให้นี่เอง ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางวิชาการในห้องเรียนลงได้

ในความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่ดี นักเรียนจะรู้สึกกับครูเช่นนี้

• นักเรียนตระหนักว่าครูเชื่อมั่นในตัวพวกเขา ว่าจะไปถึงเป้าหมายได้
• นักเรียนเคารพและชื่นชมครูในฐานะบุคคลหนึ่ง
• นักเรียนต้องการและรับฟังข้อเสนอแนะจากครู
• นักเรียนเข้าใจผลการเรียนสำคัญน้อยกว่าพัฒนาการ
• นักเรียนไว้ใจและรู้สึกปลอดภัยกับครูของพวกเขา

ความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้เด็กตั้งใจฟังสิ่งที่ครูสอน ร่วมกิจกรรม จดจำเนื้อหา และเติบโตขึ้นในทุกวัน
ส่วนจะทำได้อย่างไรนั้น มาเรียนรู้ “เคล็ดลับมัดใจนักเรียน” กัน

 

เคล็ดลับมัดใจนักเรียน

หากการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักเรียนช่วยให้นักเรียนพัฒนาขึ้นได้มากถีงเพียงนี้ เราจะเริ่มทำให้เด็กๆ ชอบเราได้อย่างไรบ้าง มาลองดูไอเดียกิจกรรมที่นำไปใช้จริงได้ทันทีจากหนังสือ The Growth Mindset Coach กัน

นักเรียนจะพร้อมสานสัมพันธ์กับครูในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับรู้ตัวตนของครูในแง่มุมอื่นที่ไม่ใช่ในบทบาทของ ‘ครู’ ในทำนองเดียวกัน หากครูต้องการจะทำให้นักเรียนสนใจเรียนมากขึ้น ครูก็ต้องรู้ก่อนว่าปกติพวกเขาสนใจอะไรเมื่ออยู่นอกห้องเรียน

การ “สนทนาสองนาที” หรือการคุยกับนักเรียนในเรื่องทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนสักคนละสองนาที (เช่น อาหารโปรดคืออะไร ชอบดูการ์ตูนหรือซีรีส์เรื่องอะไร ชอบทำอะไรช่วงสุดสัปดาห์ ฯลฯ) จึงเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ครูและนักเรียนรู้จักกันมากขึ้น จนนำไปสู่ความรู้สึกสนิทสนม เชื่อใจ และเคารพกัน อันจะนำมาสู่พลังในการเรียนรู้และพัฒนา

อีกทั้งครูยังสามารถหยิบเอาสิ่งที่นักเรียนสนใจมาเป็นแรงจูงใจให้นักเรียนสนใจในประเด็นที่เรียนรู้มากขึ้นได้ด้วย เป็นต้นว่า ถ้ารู้ว่านักเรียนในห้องหลายคนกำลังชื่นชอบวงไอดอลเกาหลี ครูอาจตั้งโจทย์ให้นักเรียนออกมานำเสนอเรื่องของศิลปินที่ชอบในคาบภาษาอังกฤษ แทนการนำเสนอเรื่องที่พวกเขาไม่สนใจ หรือลองชวนพวกเขาคำนวณรายได้จากยอดขายอัลบั้มในบทเรียนเรื่องการคูณ แทนโจทย์เรื่องการซื้อขายผลไม้แสนน่าเบื่อ

กิจกรรมทำความรู้จัก

นักเรียนจะสนุกกับการเรียนมากขึ้นหากร่วมเรียนรู้ไปกับเพื่อนๆ ห้องเรียนที่แน่นแฟ้นมากขึ้นจะทำให้เด็กๆ มีส่วนร่วมกับการเรียน และทำกิจกรรมกลุ่มได้ง่ายขึ้น ครูเองก็จะได้รู้จักนักเรียนมากขึ้นด้วย

แบ่งเวลาช่วงต้นปีการศึกษาให้กับ “กิจกรรมทำความรู้จัก” ที่ช่วยให้ทุกคนในห้องทำความรู้จักกัน ไม่ว่าจะในรูปแบบของกิจกรรมพิเศษ เช่น ใช้เวลาเรื่องโฮมรูมผลัดกันเล่าเรื่อง ทำกิจกรรมสันทนาการ หรือเล่นเกมที่ต้องเล่นเป็นทีมด้วยกัน หรือแทรกกิจกรรมทำความรู้จักเข้าไปในคาบเรียน เช่น ให้นักเรียนออกมาสอนเพื่อนๆ เกี่ยวกับเรื่องที่ตนสนใจ (ฟุตบอล วงดนตรี การเย็บผ้า ชนิดของแมว ฯลฯ) เป็นภาษาอังกฤษ (หรือไทย หรือจีน) ในคาบเรียนภาษา เป็นต้น

จำความรู้สึกผิดหวังเมื่อถูกปฏิเสธและความยินดีเมื่อครูรับฟังความเห็นได้ไหม บางครั้งแค่การอนุญาตให้เด็กๆ ทำตามใจในเรื่องเล็กๆ ก็ทำให้พวกเขาภูมิใจที่ได้มีส่วนกำหนดทิศทางการเรียนของตัวเองแล้ว

เราขอชวนให้ครูลองควรตอบตกลงคำของ่ายๆ ของนักเรียน เช่น ขอใช้ปากกาสีเขียวทำแบบฝึกหัด ขอเขียนการ์ตูนสรุปเนื้อหาแทนเขียนรายงาน ให้พวกเขารู้สึกว่ามีสิทธิมีเสียง และมีส่วนร่วมในการเรียน เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียน

หาสิ่งที่เหมือนกัน

งานวิจัยพบว่าเมื่อนักวิจัยให้อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาทำแบบทดสอบเกี่ยวกับความสนใจในเรื่องต่างๆ จากนั้นรายงานผลเฉพาะสิ่งที่อาจารย์กับนักศึกษาชอบเหมือนกัน นักศึกษารู้สึกว่าตนมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอาจารย์มากขึ้น และยังส่งผลให้ทำคะแนนสอบได้ดีขึ้นอีกด้วย

หลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานอดิเรกหรือความชอบนอกห้องเรียนของนักเรียนแล้ว ให้ลองหาสิ่งที่คุณกับนักเรียนชอบเหมือนกันหรือสิ่งที่นักเรียนชอบและคุณเองก็สนใจ จากนั้นชวนพวกเขาคุยเรื่องนั้นๆ ให้บ่อยขึ้น เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าคุณไม่ใช่แค่ “คุณครูวิชา xxx” แต่เป็น “แฟนคลับวง yyy” “อดีตนักเรียนสอบตก” หรือ “นักแบดมินตัน” เหมือนกับพวกเขาด้วย!

บางโรงเรียนติดป้ายให้ถอดรองเท้าก่อนขึ้นอาคารเรียน แต่ครูกลับใส่รองเท้าเดินกันขวักไขว่ บางโรงเรียนทำโทษเด็กๆ ที่มาโรงเรียนสาย แค่ครูกลับไม่เคยเข้าคาบสอนตรงเวลา อย่าลืมตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ตั้งให้นักเรียนเสมอ ว่ามันสมเหตุสมผลและเคารพตัวตนของพวกเขาหรือไม่ มิเช่นนั้น ครั้งหน้าที่ครูบ่นเรื่องความตรงต่อเวลา นักเรียนอาจถามคุณกลับได้ว่า “แล้วทำไมครูถึงมาสายได้ล่ะครับ”

ดูให้แน่ใจว่าชั้นเรียนมี “กฎเกณฑ์ที่เท่าเทียม” ปฏิบัติต่อนักเรียนแบบเดียวกับที่ครูต้องการได้รับการปฏิบัติ เช่น ถ้าห้ามนักเรียนใส่รองเท้าในอาคารเรียน ครูเองก็ห้ามใส่ด้วยเช่นกัน หรือถ้าห้ามไม่ให้นักเรียนมาสาย ครูก็ต้องรักษาเวลาด้วยเช่นกัน เคารพนักเรียนในฐานะบุคคลคนหนึ่ง และนักเรียนก็จะเคารพครูเช่นกัน

 

“งานนี้ยากไหม? แน่นอน พนันกันได้เลย
แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นไปไม่ได้
เราสามารถทำสิ่งนี้ได้
เราเป็นนักการศึกษา เราเกิดมาเพื่อสร้างความแตกต่าง”

ー ริต้า เพียร์สัน, TED Talk “Every Kid Needs a Champion”

 

ศึกษาแนวทางการสร้างชุดความคิดแบบเติบโตอย่างละเอียดได้ใน

The Growth Mindset Coach คู่มือออกแบบการเรียนรู้ เพื่อสร้าง Growth Mindset

The Growth Mindset Coach: A Teacher’s Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve

Annie Brock, Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก

344 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่