ไอเดียสร้างพื้นที่แห่งการเติบโต

เมธาวี รัชตวิจิน เขียน

ใครๆ ก็เคยได้ยินว่า Growth Mindset หมายถึงความเชื่อที่ว่า “ทุกคนเรียนรู้ได้”“เรา ‘ยัง’ ไม่รู้ ไม่ใช่เราไม่รู้” / “ความผิดพลาดคือโอกาสที่จะเรียนรู้” และอื่นๆ อีกมากมาย แต่หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าจะหยิบยกแนวคิดเหล่านี้มาสอดแทรกในชีวิตประจำวันหรือในห้องเรียนได้อย่างไร

หนังสือ The Growth Mindset Coach มอบเครื่องมือสำคัญให้กับเราในการเปลี่ยนแนวคิดนามธรรมของ Growth Mindset ให้เป็นรูปธรรม ด้วย การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ วิธีนี้จะทำให้ Growth Mindset ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในชีวิตของเด็กๆ พร้อมบ่มเพาะพวกเขาให้เติบโตและก้าวเดินไปบนเส้นทางที่เลือกเองได้อย่างมั่นใจ

มาดูไอเดียการจัดห้องเรียน (หรือห้องในบ้านที่เด็กๆ ใช้ในการเรียนรู้) ให้เป็น “พื้นที่แห่งการเติบโต” กันเลย

การจัดวางข้าวของ

เมื่อนึกถึงห้องเรียน ภาพที่ชินตาคงเป็นโต๊ะเก้าอี้ตั้งเรียงแถว หันหน้าเข้าหากระดานดำหรือไวต์บอร์ดและโต๊ะครูที่หน้าห้อง ใช่แล้ว ห้องเรียนทั่วไปมักจะมีหน้าตาเช่นนั้น แต่ไม่ใช่สำหรับ “ห้องเรียนแบบเติบโต”

การจัดโต๊ะเป็นแถวยากต่อการเคลื่อนย้ายหรือรวมกลุ่มทำงานเป็นการปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันของเด็กๆ ทั้งยังจำกัดการเคลื่อนไหวของพวกเขา ที่สำคัญคือโต๊ะเก้าอี้ที่เหมือนกันสะท้อนให้เห็นความคาดหวังว่านักเรียนจะต้องเรียนรู้ในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด

The Growth Mindset Coach จึงเสนอให้ลองใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เคลื่อนย้ายสะดวก เช่น โต๊ะเก้าอี้มีล้อ หมอนรองนั่ง พร้อมทั้งที่รองเขียนแบบวางบนตัก หรือใช้โต๊ะที่หันหน้าเข้าหากันแทนโต๊ะที่หันไปทางหน้าห้องเพียงอย่างเดียว เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนทำงานร่วมกัน หรือรวมกลุ่มกันได้สะดวก หากจำเป็นอาจจัดพื้นที่ “โซนเงียบ” ที่อนุญาตให้สวมหูฟังสำหรับนักเรียนที่ต้องใช้สมาธิ พื้นที่ในการเรียนที่หลากหลายนี้จะโอบรับรูปแบบการเรียนและจังหวะการเรียนรู้ที่ต่างกันของนักเรียนแต่ละคน

นอกจากนี้ ในหนังสือยังเสนอว่าโต๊ะครูควรจะตั้งอยู่ในจุดที่นักเรียนเดินเข้าหาได้ง่าย แต่จะดียิ่งกว่าหากครูไม่นั่งที่โต๊ะแต่เดินไปรอบๆ ห้องระหว่างคาบเรียนเพื่อเชิญชวนให้นักเรียนถามคำถามหรือปรึกษา และแสดงให้เห็นว่าครูพร้อมดูแลอยู่ใกล้ๆ

การจัดแสดงผลงานนักเรียน

รอบห้องเรียนมักมีผลงานนักเรียนติดเรียงรายอยู่ ห้องเรียนทั่วไปมักเลือกผลงานที่ไร้ที่ติมาติดประดับห้องเรียนเพื่อเป็นตัวอย่างของ “ผลงานที่ดี” ให้กับเพื่อนคนอื่นๆ ทำให้เด็กๆ บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยดีพอ ต้องตะเกียกตะกายเพื่อไล่ตามมาตรฐานที่สูงลิ่วอยู่เสมอ

แต่ใน “ห้องเรียนแห่งการเติบโต” ที่เชื่อว่า “ความผิดพลาดคือโอกาสที่จะเรียนรู้” ย่อมไม่เป็นเช่นนั้น วิธีหนึ่งที่จะสร้างวัฒนธรรมที่มองความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ คือเปิดโอกาสให้ผลงานที่อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบแต่เปี่ยมความตั้งใจ ได้มีโอกาสได้รับเลือกไปจัดแสดงรอบๆ ห้องบ้าง

แทนที่จะนักเรียนจะถูกรายล้อมด้วยงานที่สวยที่สุด บนผนังห้องควรมีผลงานนักเรียนที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายาม ไม่ว่าจะเป็นรอยลบ ข้อผิดพลาดที่เห็นได้ชัด และอื่นๆ จัดแสดงอยู่ด้วย เพื่อเน้นย้ำคำขวัญของห้องเรียนว่า “ความผิดพลาดคือโอกาสที่จะเรียนรู้” อีกทั้งทันทีที่ผลงานถูกเลือกไปจัดแสดง เด็กๆ ที่อาจไม่เคยทำผลงานได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของห้อง ก็จะรู้สึกว่าตัวตนของพวกเขาได้รับการยอมรับและถูก “มองเห็น” ไปด้วย ทำให้พวกเขาอาจเปิดรับคำสอนจากครูมากขึ้นและมีแรงใจที่จะพยายามพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นอีกด้วย

กฎประจำห้อง

หลายคนเติบโตมาพร้อมกับสารพัดข้อห้าม หน้าห้องเรียนเต็มไปด้วยกระดาษเขียนกฎเกณฑ์ เช่น ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามพูดแทรกครู ห้ามกินขนมในห้องเรียน ห้ามใส่รองเท้าขึ้นอาคาร ฯลฯ ทว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้สะท้อนถึงแต่ภาพของความล้มเหลว กดนักเรียนไว้ด้วยอำนาจ และผลิตซ้ำนักเรียนที่ต้องคอยถามว่า “ต้องเขียนชื่อในกระดาษคำตอบไหม” หรือ “ใช้ปากกาเขียนคำตอบได้หรือเปล่า” เพราะไม่มั่นใจในตัวเองจนต้องมองหาการยอมรับหรือคำอนุญาตจากคนอื่นอยู่เสมอ

ใน “ห้องเรียนแห่งการเติบโต” แทนที่จะติดป้ายแสดงข้อห้ามต่างๆ เราเลือกจะติดป้ายแสดงแนวปฏิบัติเชิงบวก ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางที่นักเรียนเสนอขึ้นเองระหว่างการตกลงกันภายในห้อง หรือเป็นแนวปฏิบัติที่ครูอยากส่งเสริมก็ได้ เป็นต้นว่าให้นักเรียนเคารพในความแตกต่างของเพื่อนๆ ช่วยเหลือกันเสมอ หรือหากมีประเด็นเกี่ยวกับการเรียนที่รู้สึกสงสัยก็ให้ใช้แนวทาง “ถามสามคนก่อนถามครู” ที่บอกให้เด็กๆ ลองเรียนรู้จากเพื่อนอย่างน้อยสามคนก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจจึงค่อยถามครูเป็นตัวเลือกสุดท้าย

หากข้อห้ามต่างๆ เปรียบเหมือนกรอบหรือกรงกั้น แนวปฏิบัติเชิงบวกเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นเข็มทิศที่ชี้ทางแต่ไม่บังคับ นอกจากแนวทางปฏิบัติเชิงบวกเหล่านี้จะไม่ส่งผลในการลดทอนอำนาจในการตัดสินใจของเด็กๆ แล้ว เข็มทิศเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยสร้างแรงจูงใจในทางบวกให้นักเรียนได้อีกด้วย

ห้องเรียนที่มีบรรยากาศการเรียนสอดคล้องกับชุดความคิดแบบเติบโต จะเป็นพื้นที่ซึ่งให้คุณค่ากับความพยายาม และให้ความสำคัญสูงสุดกับการทดลองสิ่งใหม่และการจัดการปัญหา ครูควรสื่อสารให้นักเรียนเข้าใจว่าห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการลองผิดลองถูก ห้องเรียนนี้จะเชิดชูความท้าทายรวมไปถึงความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และจะไม่มีวันให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์แบบมากกว่าความพยายาม …

 

และ ณ “พื้นที่แห่งการเติบโต” นี้เอง ที่เมล็ดพันธุ์ของ Growth Mindset จะหยั่งรากและงอกงามในตัวของเด็กๆ ทุกคน

ศึกษาแนวทางการสร้างชุดความคิดแบบเติบโตอย่างละเอียดได้ใน

The Growth Mindset Coach
คู่มือออกแบบการเรียนรู้ เพื่อสร้าง Growth Mindset

(The Growth Mindset Coach: A Teacher’s Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve)

Annie Brock, Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก

344 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่