4 เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนโลกใน Global Change 4

 

จากหุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci ถึง เภสัชพันธุศาสตร์

จากสารอายุวัฒนะ NAD+ ถึง Street Data

จากเศรษฐกิจ QR Code ถึง Sandbox และ Algorithm

โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ใครก็รู้ แต่เปลี่ยนแปลงอย่างไร ในลักษณะไหน เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากมิได้ตระหนักในรายละเอียด  หนังสือชุด Global Change ของ วรากรณ์ สามโกเศศ พยายามตอบคำถามนี้ โดยเลือกกระแสการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจรอบโลก แต่ไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงกันบ่อยนักในสังคมไทย ตั้งแต่องค์ความรู้ใหม่เรื่องสุขภาพ นวัตกรรมล้ำยุค ธุรกิจดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ร่วมสมัย และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มาเล่าให้อ่านกันด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุกและสบาย ไม่ใช่ข้อเขียนทางเทคนิคที่ชวนปวดหัว

หนังสือชุด Global Change เป็นบทบันทึกการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยดิจิทัล เมื่อเราพูดถึงโลกดิจิทัล ย่อมไม่ได้หมายความถึงเรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่รอบๆ เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าทันสมัย มีมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม อยู่แวดล้อมด้วยเสมอ และส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนและสังคมอย่างมหาศาล

4 เทคโนโลยีใหม่ที่วรากรณ์ สามโกเศศ นำมาเล่าใน Global Change 4 เป็นตัวอย่างอันน่าตื่นตาตื่นใจของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกด้านสุขภาพที่อาจส่งผลช่วยชีวิตผู้คนมหาศาลในอนาคต

 

4 เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนโลก

 

หุ่นยนต์ da Vinci

 

Da-Vinci-Surgical-Robot

ที่มา: robocatz.com/daVinci-surgical.htm

da Vinci เป็นระบบผ่าตัดโดยหุ่นยนต์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลกยุคปัจจุบัน ชื่อนี้มาจาก เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ผู้ศึกษากายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของโลก อีกทั้งยังเป็นคนแรกของโลกที่สเก็ตช์ภาพหุ่นยนต์เมื่อ 500 กว่าปีก่อนอีกด้วย

da Vinci สร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผ่าตัดได้คล่องตัวที่สุด โดยสามารถผ่าตัดอวัยวะที่มือแพทย์ไปถึงไม่ถนัด มองเห็นละเอียดและกว้างไกลแบบ 3 มิติ ทำให้ผู้ป่วยชอกช้ำน้อยที่สุด ผ่าตัดได้แม่นยำ และมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนน้อยลง

da Vinci ผ่าตัดได้หลากหลายอวัยวะและหลากหลายสภาวการณ์ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดก็คือการผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดต่อมลูกหมาก และซ่อมแซมลิ้นหัวใจ da Vinci จะมี 4 แขนโอบล้อมคนไข้จากข้างบน อีก 3 แขนถือเครื่องมือ เช่น มีด กรรไกร เข็ม ฯลฯ แพทย์จะนั่งอยู่ในห้องเดียวกันและเคลื่อนไหวมือเพื่อสั่งให้แขนหุ่นยนต์ทำงานโดยดูผ่านจอในเครื่อง ข้อมือของแขนนั้นเคลื่อนไหวได้รอบทิศชนิดที่มือมนุษย์ไม่อาจทำได้

 

วัสดุเสกน้ำจากอากาศ

 

mof metal organic framework

ที่มา: phys.org

วัสดุใหม่แสนอัศจรรย์ใจ สามารถเสกน้ำจากอากาศได้ ถือกำเนิดขึ้นแล้ว วัสดุนี้ถักทอกันเป็นแผ่น (mesh) เรียกว่า metal-organic framework (โครงสร้างโลหะ-อินทรีย์) มีช่องเล็กๆ อยู่พรุนไปหมด เหมาะแก่การเก็บกักโมเลกุลของน้ำ

แผ่นวัสดุนี้จะดูดซับความชื้นจากอากาศให้กลายเป็นน้ำดื่มโดยไม่ต้องใช้พลังงาน น้ำหนักเพียง 2 ปอนด์ แต่สามารถผลิตน้ำได้เกือบ 5 แกลลอน (ประมาณ 22 ลิตรครึ่ง) ต่อวัน ถึงแม้จะอยู่ในบริเวณที่แห้งแล้งยิ่งกว่าทะเลทรายก็ตาม

การผลิตน้ำโดยไม่ต้องใช้พลังงานเป็นคำตอบแสนวิเศษสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงผลิตน้ำประปา ท่อประปา ถนนสำหรับขนส่งน้ำ ฯลฯ

ในอนาคต หากวัสดุนี้ราคาถูกลง ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตน้ำประจำบ้านยามฉุกเฉินหรือแม้แต่ใช้ในชีวิตประจำวัน ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำก็สามารถเอามาใช้ปลูกผักสวนครัวนอกเหนือจากการบริโภคได้อีกด้วย และถ้าเอาไปคลุมดินเพื่อให้ความชื้นแก่ต้นไม้ ก็ไม่ต้องมีการรดน้ำอีกต่อไป

 

สารอายุวัฒนะ

 

NAD+

ที่มา: releasefact.com

นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสาร NAD+ (Nicotinamide Adenine Dinucleotide) ซึ่งใกล้เคียงกับยาอายุวัฒนะที่มนุษย์เสาะแสวงหากันมายาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นักวิจัยคนสำคัญคือ เดวิด ซินแคลร์ (David Sinclair) แห่ง Harvard Medical School

ซินแคลร์บอกว่า NAD+ เป็นหนึ่งในโมเลกุลสำคัญที่สุดที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ ถ้าขาดมันไปมนุษย์จะตายภายใน 30 วินาที  NAD+ เป็นโมเลกุลที่พบในเซลล์ที่มีชีวิต มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำกับควบคุมความแก่ของเซลล์ และดูแลให้ร่างกายทั้งหมดทำงานเป็นปกติ

เมื่อมีอายุมากขึ้น ปริมาณ NAD+ ในร่างกายมนุษย์และสัตว์จะลดลงอย่างมากเป็นลำดับ เขาพบว่าหากเพิ่มปริมาณ NAD+ ในหนูที่มีอายุมากก็จะทำให้มันเป็นหนุ่มขึ้น และมีชีวิตยืนยาวกว่าที่คาดไว้

วารสาร Science ฉบับมีนาคม 2017 ตีพิมพ์เรื่องราวของซินแคลร์และทีมงาน ซึ่งทดลองหยดสารเหลวที่เพิ่ม NAD+ ลงในน้ำให้หนูกลุ่มหนึ่งกิน ระดับ NAD+ ในหนูสูงขึ้นอย่างมากภายในสองชั่วโมง และในหนึ่งสัปดาห์ สัญญาณของความแก่ดังปรากฏในเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อของหนูแก่ กลับฟื้นคืนสภาพไปถึงจุดที่ผู้วิจัยไม่สามารถบอกข้อแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อของหนูอายุ 2 ปีกับหนูอายุ 4 เดือนได้

บัดนี้นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งได้ทดลองกับมนุษย์ โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่ม และรายงานผลในวารสาร Nature ฉบับพฤศจิกายน 2017 ว่า คนที่กินอาหารเสริมที่มี NAD+ ทุกวันจะมีระดับ NAD+ ในร่างกายสูงอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลาถึงสองเดือน

 

กาววิเศษ

 

bioglue

ที่มา: npr.org

วงการแพทย์ฝันมานานแล้วว่า หากมีกาวหรือเทปที่สามารถยึดติดหรือแปะบนเนื้อเยื่อสด ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ปอด ตับไต หรือหลอดเลือด ก็จะทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างสะดวกและมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากขึ้น

วารสาร Science เมื่อกลางปี 2017 รายงานว่า หลี่เจี้ยนอี่ว์ (Jianyu Li) วิศวกรชีวเวช (bioengineer หมายถึง นักออกแบบสร้างอวัยวะเทียม ระบบ และอุปกรณ์ เพื่อให้คงทนและมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น การประดิษฐ์ลิ้นหัวใจเทียม ลวดดัดฟัน แผ่นเชื่อมกระดูกและฟัน) สามารถเลียนแบบการสร้างเมือกของสัตว์ประเภททาก (slug) ในห้องทดลอง จนผลิตเป็นกาวสังเคราะห์ซึ่งใช้สารสกัดจากเปลือกกุ้งและสาหร่ายเป็นวัตถุดิบได้สำเร็จ

สัตว์ประเภททากสามารถขับเมือกที่เชื่อมตัวเองติดกับพื้นผิวได้เกือบทุกประเภท เมือกถูกขับออกมาเพื่อเป็นกลไกช่วยให้รอดพ้นจากการคุกคามของสัตว์อื่น เช่น นก แมลง ฯลฯ กล่าวคือ เมื่อตัวเองมันเองแปะติดกับสารพัดผิวแล้วก็ยากที่จะแกะออกได้ เมือกเป็นน้ำเหนียว ยืดหดได้ และติดหนึบเป็นพิเศษ ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะชื้นแฉะก็ตาม

หมอผ่าตัดสามารถใช้กาววิเศษนี้ช่วยอุดและเชื่อมติดกับอวัยวะอื่นๆ ที่เปียกลื่นได้เป็นอย่างดี กาวจะเชื่อมให้ผิวติดกันทั้งในแง่เคมีและกายภาพ เชื่อได้ว่าต่อไปจะมีการใช้อย่างสร้างสรรค์และกว้างขวางในทางการแพทย์ เมือกที่เคยช่วยชีวิตตัวทากเองจะทำหน้าที่อย่างเดียวกันให้มนุษย์

 

การเปลี่ยนแปลงของโลกส่งผลต่อชีวิตอย่างลึกซึ้ง การติดตามและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทำให้มองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ และลดความเสี่ยงในชีวิตของคุณเองและคนรอบตัว หนังสือชุด Global Change เป็นคู่มือช่วยให้ผู้อ่านทุกคนไม่ถูกโลกทอดทิ้ง และมองเห็นช่องทางการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของโลกและองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการทำให้คุณภาพชีวิตของคุณ ครอบครัว และสังคมดีขึ้น

อ่านต่อข้อเขียนอ่านสนุกว่าด้วยเรื่องราวและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ได้ใน Global Change 4 โดย วรากรณ์ สามโกเศศ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape

 

หน้าปก Global Change 4

รายละเอียดหนังสือ

หนังสือ: Global Change 4

ผู้เขียน: วรากรณ์ สามโกเศศ

พิมพ์ครั้งแรก: มีนาคม 2561

ราคา: 195 บาท