5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการอ่านออกเสียง

พ่อแม่หลายคนมักมีแนวโน้ม “ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก” เมื่อเป็นเรื่องการเลี้ยงลูก เราตั้งกฎเกณฑ์และความคาดหวังขึ้นมาเสียสูงลิบ เพียงเพื่อจะพบว่าเราไม่อาจทำตามนั้น หรืออันที่จริงเราก็ไม่จำเป็นต้องทำตามนั้นด้วย! ความเชื่อผิดๆ ทำให้การเลี้ยงลูกที่เป็นงานยากอยู่แล้วยิ่งยากเกินความจำเป็น

การอ่านออกเสียงก็ไม่ต่างกัน เรารู้ว่าการอ่านออกเสียงช่วยสร้างสายสัมพันธ์เปี่ยมความหมายและยั่งยืนกับลูกๆ ได้ แต่หลายครั้งเราก็ไม่ได้อ่านออกเสียงให้ลูกฟังเสียที อุปสรรคไม่ใช่เพราะเราขาดแรงจูงใจหรือแรงผลักดัน แต่เป็นเพราะแนวโน้มเจ้ากรรมของเราที่ชอบทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากนี่แหละ

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการอ่านออกเสียงมีอยู่ 5 ข้อด้วยกัน ซึ่งทำให้กิจกรรมนี้ยากกว่าที่ควรจะเป็นมาก ความเชื่อเหล่านี้ฉุดรั้งไม่ให้เราเดินไปบนเส้นทางที่จะสร้างผลลัพธ์อันทรงพลังแก่ลูกของเรา มาทำความรู้จักความเชื่อผิดๆ ทั้ง 5 ข้อนี้ และมาทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ว่าอะไรบ้างกันแน่ที่เป็นความจริงเกี่ยวกับการอ่านออกเสียงในครอบครัว

ความเชื่อข้อที่ 1: ถ้าอยากอ่านออกเสียงให้ได้ผลและเกิดความเปลี่ยนแปลง ต้องทำบ่อยๆ

ถ้าเราคิดจะรอจนมีเวลาว่าง 30 นาทีจึงจะอ่านหนังสือกับลูก เราอาจไม่ได้อ่านหนังสือให้พวกเขาฟังบ่อยนัก (หรืออาจไม่ได้อ่านเลยด้วยซ้ำ) มีเรื่องมากมายรบกวนสมาธิเราอยู่ทุกวัน จนเราไม่ได้ทำเรื่องสำคัญที่สุด เราอาจต้องซักผ้าหลายตะกร้า เตรียมอาหารมื้อเย็นให้สมาชิกในครอบครัว สอนการบ้านให้เด็กๆ เก็บบ้านรอบแล้วรอบเล่า รับโทรศัพท์หลายสาย แถมยังต้องพาลูกไปหาหมอฟันอีก

แน่นอนว่าชีวิตคุณพ่อคุณแม่นั้นยุ่งจนบางครั้งเราก็รู้สึกว่าเราไม่มีเวลาเหลือมาอ่านหนังสือกับลูกหรอก แต่แม้กระทั่งวันที่ยุ่งที่สุด เราอาจต้องงดกวาดพื้นครัว ไม่ได้พับผ้าสักหนึ่งกอง หรืออดไถเฟซบุ๊กไปสักช่วง แต่เราก็น่าจะเจียดเวลาได้สัก 10 นาทีในหนึ่งวัน ถ้าอ่านออกเสียง 10 นาทีทุกวัน เราจะได้อ่านหนังสือกับลูกๆ 60 ชั่วโมงในหนึ่งปี ตั้ง 60 ชั่วโมงเลยนะ!

แต่เมื่อใดก็ตามที่มีคนบอกให้ทำอะไร “ทุกวัน” เราเป็นอันต้องมีอาการผื่นคันใช่ไหม คำสองคำนี้ทำให้เราเต็มไปด้วยความวิตกกังวล เราจะอัดอะไรเข้าไปในวันที่แสนวุ่นวายได้อีกล่ะ เราต้องเจียดเวลามาอ่านออกเสียงทุกวันด้วยหรือนี่ ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย เราไม่จำเป็นต้องอ่านออกเสียงให้ลูกฟังทุกวันก็ได้ ถ้าอ่านหนังสือกับลูก 10 นาทีวันเว้นวัน ก็คิดเป็นประมาณสัปดาห์ละ 35 นาทีเท่านั้น พอทำได้ใช่ไหมล่ะ

ข่าวดีก็คือ หากอ่านออกเสียง 10 นาทีวันเว้นวันตลอดทั้งปี ก็เท่ากับได้อ่านออกเสียง 30 ชั่วโมงต่อปี อ่านได้มากโขเลยนะนั่น เราอาจอ่านหนังสือชุดนาร์เนียจบทั้งชุด หรืออ่านหนังสือภาพได้มากกว่า 200 เล่มเลยล่ะ เราอาจไปถึงสนามฟุตบอลก่อนเวลาฝึกซ้อมสัก 10 นาทีแล้วอ่านออกเสียงในรถขณะรอเวลา หรืออาจนั่งที่โต๊ะอาหารนานกว่าเดิมสัก 10 นาทีเพื่ออ่านหนังสือสักหน่อย ส่งลูกเข้านอนช้ากว่าเดิมสักนิด หรือปลุกให้ลูกตื่นไปโรงเรียนเร็วขึ้นสักหน่อย

คราวหน้าถ้าคิดว่าตัวเองมีเวลาไม่พอสำหรับการอ่านออกเสียงกับลูก เลิกคิดอย่างนั้นแล้วบอกข้อเท็จจริงนี้กับตัวเอง เราหาเวลา 10 นาทีได้ และเราใช้เวลาแค่ 10 นาทีเท่านั้น วันเว้นวันก็ยังได้

ถ้าอยากอ่านออกเสียงให้ได้ผลและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เราไม่จำเป็นต้องอ่านเยอะ แค่อ่านทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอยาวนานเพียงพอ ระยะเวลาการอ่านก็จะสั่งสมเพิ่มพูนเอง

ความเชื่อข้อที่ 2: ถ้าไม่ได้อ่านเองก็ไม่นับว่าเป็นการอ่านออกเสียง

เรามักเชื่อกันว่าหนังสือเสียงไม่นับเป็นการอ่านที่แท้จริง เราจะบรรลุมนตราของการอ่านออกเสียงก็ต่อเมื่อเราได้อ่านหรือฟังเรื่องราวร่วมกัน ประสบการณ์ร่วมคือสิ่งที่สร้างผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ แต่ไม่จริงเลย! ไม่ว่าเสียงที่อ่านจะเป็นเสียงของเรา เสียงของคู่สมรส หรือเสียงของนักเล่าเรื่องมืออาชีพจากหนังสือเสียง เด็กๆ ก็ยังได้ประโยชน์จากการฟังรูปแบบภาษาขั้นสูงที่ถูกต้องจากหนังสือ และยังได้รับแรงบันดาลใจที่จะเป็นเหมือนฮีโร่ในเรื่องอีกด้วย ที่ดีกว่านั้นก็คือ ลูกๆ จะได้รับประโยชน์จากการอ่านออกเสียงบ่อยยิ่งขึ้นเมื่อเราไม่ต้องอ่านออกเสียงด้วยตัวเอง ลองคิดดูว่าเราจะได้อ่านหนังสือร่วมกับลูกเพิ่มขึ้นอีกกี่เล่มด้วยวิธีนี้! เราอาจเปิดหนังสือเสียงในรถ ระหว่างมื้ออาหาร หรือขณะที่ทั้งครอบครัวช่วยกันพับผ้าซักแล้วกองโตก็ยังได้

หนังสือเสียงนับเป็นการอ่านออกเสียงด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าการที่เสียงของพ่อหรือแม่หลั่งไหลเข้าสู่หูและความทรงจำของเด็กนั้นเป็นเรื่องน่าจดจำและอบอุ่นหัวใจ ถ้าอ่านออกเสียงเองได้ก็อ่านเลย! แต่ถ้านับรวมหนังสือเสียงด้วย เราก็จะมีช่วงเวลาการอ่านออกเสียงเพิ่มมากขึ้น มีประโยชน์หลายอย่างจากการที่ครอบครัวฟังหนังสือเสียงร่วมกันหรือเด็กฟังตามลำพัง เช่น เด็กที่เริ่มอ่านหนังสือช้าจะ “อ่าน” หนังสือได้เพิ่มขึ้นอีกหลายต่อหลายเล่มด้วยการฟังหนังสือเสียง

ประโยชน์อีกข้อหนึ่งของการใช้หนังสือเสียงคือการเปิดโอกาสให้นักเล่าเรื่องฝีมือดีดึงเราเข้าไปในเรื่อง เช่น หนังสือของมาร์ก ทเวน อาจอ่านยากถ้าเราไม่คุ้นเคยกับการออกเสียงสำเนียงท้องถิ่น เช่นเดียวกับงานของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ ที่จะยิ่งเลิศเลอเมื่ออ่านโดยชาวสหราชอาณาจักรตัวจริง

ความเชื่อข้อที่ 3: หนังสือเนื้อหาเบาๆ ไม่นับเป็นการอ่านหนังสือ

จุดพลิกผันสู่การเป็นนักอ่านตัวยงของคนเราเกิดขึ้นเมื่อเราอ่านหนังสือสักเล่มแล้วรู้สึกอยากอ่านอีก หิวกระหาย โหยหาอยากอ่านหนังสือแบบไม่รู้อิ่ม อยากรู้ความคิดและเรื่องราวภายในเล่มแบบไม่รู้เบื่อ จุดพลิกผันนี้มักเกิดขึ้นตอนที่อ่านอะไรเบาๆ เพลิดเพลิน และสนุกสนาน ไม่ใช่ตอนคร่ำเคร่งอ่านหนังสือที่อ่านหรือทำความเข้าใจได้ยาก

ความรักแรกเริ่มกับหนังสือ ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเมื่อเราก้าวจากเด็กที่ไม่ชอบอ่านมากนักกลายเป็นคนที่อ่านอย่างตะกรุมตะกราม มักเกิดขึ้นกับหนังสือเบาสมอง แต่บางครั้งเรากลับให้คุณค่าแก่หนังสือคลาสสิกและวรรณกรรมอันรุ่มรวยจนกีดกันหนังสืออื่นๆ ที่อ่านง่ายกว่า

ถ้าเรานิ่วหน้าเมื่อลูกเสพหนังสือชุด หรือเอนเอียงไปชอบหนังสือที่เนื้อหาเบาและออกจะไร้สาระซึ่งมีเกลื่อนกลาดตามห้องสมุดและร้านหนังสือใกล้บ้าน เราก็กำลังพลาดสิ่งสำคัญไปเสียแล้ว หนังสือเบาๆ มีบทบาทพิเศษต่อการเติบโตและพัฒนาการของนักอ่านวัยเยาว์

หนังสืออ่านง่าย เบาๆ ทำให้เด็กๆ กลายเป็นนักอ่าน การอ่านหนังสือง่ายๆ กองโตยังทำให้ทักษะการอ่านของพวกเขาดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไปตลอดชีวิต หนังสือเหล่านี้ไม่ทำอันตรายใดๆ และกลับช่วยให้เด็กๆ กลายเป็นนักอ่านที่แท้จริง ซึ่งสร้างความแตกต่างได้มากเหลือเกินในชีวิตการอ่านของเด็กคนหนึ่ง

เวลาที่เราอ่านหนังสือกับลูกคือเวลาที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าหนังสือที่อ่านจะอยู่ในรายชื่อหนังสือแนะนำหรือได้มาตรฐานวรรณกรรมใดหรือไม่ก็ตาม

บางครั้งเราก็ลืมความจริงที่สำคัญมากข้อหนึ่ง นั่นคือเด็กสำคัญกว่าหนังสือ หนังสือเองก็สำคัญ แต่ในฐานะที่มันเป็นเครื่องหล่อหลอมและเป็นกระจกส่องตัวเรา เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องจำกัดให้ลูกอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ หนังสือเบาๆ ก็นับ หนังสืออ่านยากก็นับ หนังสือที่กำลังขายดีก็นับ หนังสือคลาสสิกก็นับ หนังสือทุกประเภทล้วนมีบทบาทในชีวิตการอ่านอันกว้างใหญ่ของเด็กๆ

ความเชื่อข้อที่ 4: เด็กควรนั่งนิ่งๆ ขณะที่เราอ่านหนังสือให้ฟัง

ใครที่มีลูกชอบหยุกหยิกอยู่ไม่สุขรู้ดีว่าการคาดหวังให้ลูกนั่งนิ่งขณะที่เราอ่านออกเสียงนั้นเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ แต่ต่อให้ลูกๆ เอาแต่เล่น ดูเหมือนไม่สนใจฟังเรา อันที่จริงพวกเขาอาจกำลังฟังอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ก็ได้

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเด็กหลายคนมีสมาธิในการฟังดีขึ้นเมื่อได้ทำกิจกรรมด้วยมือ สำหรับเด็กหลายคน เราควรส่งเสริมให้พวกเขาได้ขยับไปมาขณะที่สมองทำงานจดจ่อ ไม่ควรห้ามปราม หาอะไรให้พวกเขาได้ใช้มือหยิบจับ แล้วสมองของพวกเขาจะปลอดโปร่งพร้อมใช้สมาธิและเรียนรู้

ดร.ไมเคิล กูเรียน (Michael Gurian) เป็นนักจิตวิทยาครอบครัวผู้มีชื่อเสียง ผู้ก่อตั้งสถาบันกูเรียน และนักเขียนหนังสือติดอันดับขายดีของ New York Times ที่มีผลงานมาแล้ว 28 เล่มเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก เขากล่าวว่าสำหรับเด็กบางคน ข้อมูลจะเข้าสู่สมองได้ลึกยิ่งขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย เด็กเหล่านี้มีสมาธิในการฟัง ดีขึ้นเมื่อได้ลุกขึ้นและขยับตัว เพราะสมองของพวกเขาถูกสร้างมาอย่างนั้น ดังนั้นเมื่อพวกเขาเริ่มขยับตัวหยุกหยิกก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ความจริงแล้วเป็นเรื่องดีสำหรับเด็กหลายคนด้วยซ้ำ! การที่พวกเขาต้องการขยับตัวแสดงว่าพวกเขาประมวลข้อมูลขั้นสูงขณะฟังเราอ่าน

เราอาจประหลาดใจที่ลูกฟังได้ดีขึ้นมาก มีสมาธิระหว่างช่วงเวลาอ่านออกเสียงนานขึ้น และเราซึ่งเป็นคนอ่านก็มีประสบการณ์แสนสุขเมื่ออนุญาตให้ลูกเคลื่อนไหวไปมาในช่วงเวลาอ่านออกเสียง ลูกไม่จำเป็นต้องนั่งนิ่งเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากช่วงเวลาอ่านออกเสียง ความจริงแล้วพวกเขาอาจได้ประโยชน์มากขึ้นเมื่อเราปล่อยให้พวกเขาขยับตัวหรือวาดภาพขณะฟังเราอ่าน

ความเชื่อข้อที่ 5: ถ้าดูไม่เหมือนที่ฉันจินตนาการไว้ก็แสดงว่าฉันคงทำอะไรผิดเป็นแน่

หลายครอบครัวที่อ่านออกเสียงสม่ำเสมอพบว่าการอ่านออกเสียงที่บ้านพวกเขาไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนในจินตนาการหรือภาพในนิตยสารเลย ลูกแย่งหมอนอิงกัน ลูกคนหนึ่งฟ้องว่าน้องส่งเสียงดัง ลูกวัยหัดเดินวิ่งไปโยนรถแข่งลงโถส้วมโดยที่เราไม่ทันสังเกตว่าเขาหายไปด้วยซ้ำ อีกคนลุกขึ้นทุกสองนาทีเพื่อเหลาดินสอสี ส่วนอีกคนก็เดินออกไปตอนถึงฉากไคลแมกซ์ในหนังสือพอดี มีเรื่องแทรกไม่หยุดหย่อน และมีเสียงต่อล้อต่อเถียงกันตลอดเวลา

เมื่อเวลาอ่านออกเสียงไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง เราก็เริ่มสงสัยว่าจะได้ประโยชน์ดีๆ จากกิจกรรมนี้บ้างหรือไม่ แต่ที่จริงแล้วการอ่านออกเสียงยังคงได้ผล แม้ว่าจะเสียงดัง เลอะเทอะ และโกลาหลกว่าที่เราต้องการ มันก็ยังได้ผล แม้ว่าลูกๆ จะบ่น ฟ้อง และดูเหมือนไม่ได้ตั้งใจฟัง มันก็ยังได้ผล

เมื่อเราอ่านออกเสียงให้ลูกๆ ฟัง แม้สถานการณ์จริงจะต่างจากภาพที่เราคิดไว้ในตอนต้น แต่เรากำลังพยายามทำให้ฝันเป็นจริง จงรักษาศรัทธาเอาไว้ เมื่อภาพอุดมคติผุดเข้ามาในหัวของเรา เมื่อเราขบคิดถึงภาพอินสตาแกรมของคุณแม่ที่ลูกๆ ทุกคนตั้งใจนั่งฟังเธออ่านหนังสือคลาสสิกนานหลายชั่วโมง ขอให้หยุดคิดเสีย ลบภาพอุดมคติเหล่านั้น เพราะเมื่อเราอ่านออกเสียง แม้จะดูไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราทุ่มเทเต็มที่แล้ว และเราจะไม่มีวันเสียใจ แม้อีก 20 ปีข้างหน้า เราก็จะไม่มีทางพูดว่า “ให้ตายสิ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ฉันจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังน้อยลงสักหน่อย”

แม้จะดูไม่เหมือนภาพสวยหรูในนิตยสารเลยสักนิด ความพยายามของเราก็ยังคุ้มค่า และอาจจะคุ้มค่าเพราะมันไม่ได้ดูเหมือนภาพสวยหรูในนิตยสารนั่นแหละ แต่มันเหมือนการใช้ชีวิต การแสดงความรัก และการทุ่มเทเต็มที่มากกว่า เพราะการอ่านออกเสียงก็คือสิ่งเหล่านี้นั่นเอง

ครอบครัวอ่านออกเสียง
เขียน: Sarah Mackenzie
แปล: สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่