7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน: 6. ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วม

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

ภาพ: เพชรลัดดา แก้วจีน

 

เมื่อปลูกฝังบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์และส่งเสริมศักยภาพให้กับนักเรียนแล้ว คราวนี้ก็ได้เวลาคิดหาวิธีว่าจะดึงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ได้อย่างไร

การมีส่วนร่วมมีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละคน ผู้อยู่ในแวดวงวิชาการมักคิดถึงการมีส่วนร่วมด้านการรู้คิดโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี การมีส่วนร่วมที่มีประโยชน์เกิดขึ้นในหลายระดับ ตัวอย่างเช่น ทำให้นักเรียนอยู่ในภาวะทางอารมณ์ที่มีคุณภาพและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเป็นสิ่งสำคัญ

เราจะพาคุณไปรู้จักการมีส่วนร่วมในหลายระดับและกลยุทธ์ที่ใช้ได้ทันที ครูที่ใช้การมีส่วนร่วมระดับสูงซึ่งสอนด้วยปฏิสัมพันธ์ที่สร้างความมั่นใจอยู่ตลอดเวลาและการแก้ไขความผิดพลาดอย่างเข้าอกเข้าใจมักมีนักเรียนที่มีผลการเรียนดี กล่าวสั้นๆ ชุดความคิดนี้คือการต่อยอดจากกลยุทธ์สำหรับชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพนั่นเอง

ในฐานะอดีตครูและนักพัฒนาทีมงาน ผู้เขียนยอมรับการสอนแบบนอกกรอบ ล้าหลัง หรือเข้มงวดสักหน่อยได้ แต่เขาทนเห็นนักเรียนเบื่อหรือทีมงานไร้พลังไม่ได้ คุณควรรู้ว่านี่คือสัญญาณเตือนสำคัญ ถ้าเคยได้ยินคำพูดทำนองว่า “นักเรียนเอาแต่นั่งเฉยหรือหลับ จะให้ฉันทำอย่างไรล่ะในเมื่อพวกเขาพักผ่อนไม่เพียงพอมาจากบ้าน” ถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว!

การเรียนรู้ควรกระตุ้นความใคร่รู้ของนักเรียน สร้างแรงบันดาลใจ และครูควรเคียงข้างพวกเขาผ่านอารมณ์อันปรวนแปรไปสู่สิ่งที่มีความหมาย การเรียนรู้เป็นสิ่งที่นักเรียนควรรู้สึก ทำ สร้าง พูดและเขียนถึง ร่วมกับคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่นักเรียนจำเป็นต้องโต้แย้ง ทบทวน และแสดงจุดยืน นอกจากนี้ การเรียนรู้ยังต้องดึงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างคุ้มค่า หากคุณไม่ดึงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วม ความสำเร็จจะลดลง

ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วมมีหลักคิดว่า “ฉันสามารถดึงนักเรียนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีเป้าหมายทุกวัน ทุกเก้านาทีหรือเร็วกว่านั้นได้อย่างแน่นอน”

หมายเหตุ: สรุปความจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน 

 

ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วม: พิจารณาผลวิจัยโดยสังเขป

 

มีงานวิจัยพบว่า นักเรียนชั้นมัธยมใช้เวลามากกว่าหนึ่งในสี่ของวันไปกับภาวะการเรียนรู้ที่ขาดปฏิสัมพันธ์ เช่น ความเบื่อหน่าย นักเรียนชั้นมัธยมส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่าพวกเขารู้สึกเบื่อในชั้นเรียนทุกวิชา แม้กระทั่งนักเรียนชั้นประถมปลายก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ (91 เปอร์เซ็นต์) นั่งอยู่โดดเดี่ยวโดยไม่ทำกิจกรรมหรือเข้าสังคมแต่อย่างใด

การมีส่วนร่วมในห้องเรียนตลอดเวลานับเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่มีส่วนสร้างความสำเร็จของนักเรียนเสมอ แท้จริงแล้ว การขาดการมีส่วนร่วมในห้องเรียนถูกกล่าวอ้างว่าเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการออกจากโรงเรียนกลางคันทีเดียว คุณจะช่วยป้องกันเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้หรือไม่

การมีส่วนร่วมในห้องเรียนอย่างต่อเนื่องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ โดยมีส่วนสำคัญให้เกิดความสำเร็จ การมีส่วนร่วมอาจต้องอาศัยการประมวลผลด้านการรู้คิดระดับสูง แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการที่ผู้เรียนรู้จะอยู่ในภาวะทางอารมณ์เชิงบวกอยู่เสมอและมีประสบการณ์เชิงบวกในโรงเรียนเช่นกัน การเรียนรู้ส่งอิทธิพลต่อและแม้กระทั่งปั้นแต่งภาวะทางจิตใจและร่างกายที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ภาวะของเราคือประสบการณ์ทางจิตใจและร่างกายแบบนาทีต่อนาที เราประสบกับความวิตกกังวล ความหวัง ความหวาดกลัว ความคาดหวัง ความสบาย ความสนใจใคร่รู้ ฯลฯ แม้ภาวะเหล่านี้จะแปรปรวนอยู่ตลอดทั้งวัน ทว่าเราต่างมีภาวะพื้นฐานกันทั้งนั้น แต่ใช่ว่านักเรียนส่วนใหญ่จะมีภาวะพื้นฐานที่สร้างแรงจูงใจ

ยิ่งมีช่วงเวลาคุณภาพในการเรียนรู้มากเท่าไรในแต่ละวัน นักเรียนจะยิ่งมีเวลาในชั้นเรียนที่มีผลิตภาพและระดับความสำเร็จจะยิ่งสูงขึ้น แนวโน้มที่จะได้คะแนนสอบระดับสูงจะลดลงเมื่อนักเรียนสร้างความปั่นป่วนหรือไม่ก็เฉยชา และนักเรียนก็อยู่ในภาวะเหล่านั้นค่อนข้างบ่อยเสียด้วย

ประเด็นสำคัญที่ได้คือ ทำให้นักเรียนของคุณอยู่ในภาวะที่เอื้อต่องานที่คุณทำอยู่เสมอ (ความสนใจใคร่รู้ การมีส่วนร่วม การฉลอง ความคาดหวัง และพลังงาน) แล้วนั่นจะเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จ ความจริงแล้ว ขนาดผลกระทบของห้องเรียนที่มีความกระตือรือร้นนั้นสูงเทียบเท่ากับผลการเรียนที่เพิ่มขึ้นกว่าสามปี!

ในห้องเรียนคุณภาพที่มีผลการเรียนสูง คุณมักมีภาวะแห่งความหวัง ความเชื่อมั่น การทบทวน ความใฝ่รู้ ความสับสน ความคาดหวัง มิตรภาพ และการเฉลิมฉลอง ในห้องเรียนที่มีผลการเรียนต่ำ คุณมักเห็นภาวะความเฉยเมย ขาดปฏิสัมพันธ์ ความโกรธ ความหงุดหงิด และอาจรวมถึงความกลัวด้วยซ้ำ ภาพประกอบด้านล่าง แบ่งภาวะในห้องเรียนแบบง่ายๆ ออกเป็นไม่กี่แบบที่คัดสรรมาแล้ว ดังนั้นคุณจะเห็นภาวะที่ต้องการให้เกิดขึ้นในชั้นเรียนของคุณ (ที่เป็นตัวหนา) และภาวะที่ขัดแย้งกันในฝั่งตรงข้าม จงถือเป็นภารกิจของคุณที่จะปลูกฝังภาวะเชิงบวกซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมเชิงบวกและคะแนนที่ดีขึ้น

 

 

ภาวะพื้นฐานของสมองของเรามีความสำคัญยิ่งต่อการทำความเข้าใจสมองของนักเรียน การระบุภาวะพื้นฐานในสมองมนุษย์ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่ซับซ้อนที่สุดของเราเป็นความท้าทายอันยากเย็น ทว่าผลการศึกษายืนยันว่ามี เครือข่ายตั้งต้น ในสมอง กล่าวคือเป็นภาวะการกระตุ้นที่ปรากฏอยู่เมื่อสมองไม่ได้ทำหน้าที่ด้านการรู้คิดอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ

โหมดตั้งต้นพื้นฐานของการทำหน้าที่ของสมองถูกระงับไว้ระหว่างการแสดงพฤติกรรมซึ่งมีเป้าหมายบางอย่างโดยเฉพาะ จากนั้นจึงกลับไปสู่เครือข่ายตั้งต้น กล่าวสั้นๆ คือ นักเรียนของคุณมีภาวะพื้นฐานสุดโปรดของพวกเขาเองมาตั้งแต่ต้น ถ้าพวกเขามีภาวะพื้นฐานแบบต่อต้าน คุณจะต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นหลายเท่าในการส่งอิทธิพลต่อภาวะของนักเรียน มิเช่นนั้นแล้ว คุณจะถูกทิ้งให้นึกสงสัยว่า “ทำไมนักเรียนของฉันจึงเบื่อหรือโกรธขนาดนี้”

การผลักดันนักเรียนจากภาวะแย่ๆ ไปสู่ภาวะที่ดีกว่าเป็นสิ่งที่ครูผู้แข็งแกร่งทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและนั่นเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ แรกทีเดียว กระบวนการนี้อาศัยเวลาและพลังงานมากกว่าปกติ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปและเช่นเดียวกับทักษะอื่นๆ มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ นั่นจะทำให้คุณกลับมามีความสุขกับการสอนดังเดิม

 

3 กลยุทธ์เพื่อการมีส่วนร่วม

 

มีข้อมูลว่านักเรียนส่วนใหญ่ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมศึกษาขาดความสามารถจัดการภาวะการมีส่วนร่วมของตนเอง แต่ไม่ต้องกังวลไป ต่อจากนี้คุณจะได้ศึกษา 3 กลยุทธ์ที่จะทำให้พวกเขากระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ดังต่อไปนี้

 

-1-

สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อคงสภาพความพร้อมและจัดการความเครียด

 

เป้าหมายในห้องเรียนของคุณคือการรักษาภาวะทางจิตใจและร่างกายอันแข็งแกร่งของนักเรียนไว้ ถ้าคุณไม่ส่งอิทธิพลต่อภาวะต่างๆ ของพวกเขา คุณจะตกอยู่ใต้ความผันผวนปรวนแปรของภาวะแบบสุ่มหรือภาวะแย่ๆ นักเรียนมองหาสิ่งที่จะเปลี่ยนและช่วยพวกเขาจัดการภาวะต่างๆ อยู่เสมอ (ข้อความ งานเลี้ยง แอลกอฮอล์ ภาพยนตร์ คนรัก อาหาร กีฬา ฯลฯ) เพราะพวกเขาแทบไม่มีทักษะการควบคุมตนเองที่แข็งแกร่ง แม้การมีส่วนร่วมจะส่งผลกระทบต่อสารเคมีอื่นๆ ได้ (คอร์ติซอล เซโรโทนิน ฯลฯ) แต่คุณจะสังเกตเห็นในภาพด้านล่างว่ากิจกรรมง่ายๆ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ รวมทั้งระดับนอร์อะดรีนาลีนและโดพามีน

อัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้นหมายความว่ามีการไหลเวียนโลหิตและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น นอร์อะดรีนาลีนที่สูงขึ้นระดับปานกลางสามารถเพิ่มความจำระยะยาวและช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น ถ้าคุณเพิ่มระดับโดพามีน จะทำให้ความจำใช้งานดีขึ้น ความพยายามสูงขึ้น และมีความยืดหยุ่นของสมองสำหรับสร้างความเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น

 

 

แม้ครูส่วนใหญ่อยากให้เกิดการมีส่วนร่วมที่อาศัยการคิดระดับสูงมากขึ้น ทว่าความจริงคือ แม้สมองของเราจะทำงานอย่างรวดเร็ว แต่ในระยะเวลาอันสั้นนักเรียนแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากภาวะที่มีกิจกรรมเป็นศูนย์ไปสู่ภาวะพลังงานสูงเท่าที่ควร

การเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างที่คุณต้องการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อในห้องเรียนมีการจัดการภาวะต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ดังที่คุณรู้ว่า การคิดระดับสูงจะไม่เกิดขึ้นหากนักเรียนง่วงนอน เบื่อหน่าย และไม่มีปฏิสัมพันธ์ เพื่อผลักดันให้เกิดห้องเรียนแบบดังกล่าว กลยุทธ์ต่างๆ ที่เราแนะนำจะพุ่งเป้าไปที่วิธีรักษาการมีส่วนร่วมและจัดการระดับความเครียดซึ่งทำลายการมีส่วนร่วม

 

สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อคงสภาพความพร้อม

 

ความจริงคือ ไม่มีอะไรในชั้นเรียนได้ผลหากนักเรียนไม่ตื่นตัว มีสมาธิจดจ่อ และอยู่ในภาวะทางอารมณ์ที่เปิดรับ หากไม่มีภาวะเหล่านี้ คุณจะต้องสอนเนื้อหาซ้ำและนักเรียนจะเบื่อหน่าย กลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพหลายอย่างซึ่งกระตุ้นให้นักเรียนอยู่ในภาวะคึกคักผ่านไปอย่างรวดเร็วและช่วยรักษาภาวะทางจิตใจ-ร่างกายให้พร้อมจะเรียนรู้อย่างได้ผลดีที่สุด บ่อยครั้งที่นักเรียนอาจไม่ทันสังเกตกลยุทธ์หลายอย่างด้วยซ้ำ แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ภาวะคึกคักก็เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งที่ทำให้นักเรียนเอาใจจดจ่อและเปิดรับการปรากฏตัวของคุณ ตลอดจนกิจกรรมและเนื้อหาของคุณ เมื่อครูกระตุ้นภาวะคึกคักเหล่านี้ ระดับการเปิดรับจะสูงขึ้น

ใช้เครื่องมือจัดการภาวะขั้นพื้นฐานเพื่อให้นักเรียนกระตือรือร้น มีสมาธิจดจ่อ และมีปฏิสัมพันธ์กับคุณหรือเพื่อนๆ อยู่ตลอดเวลา ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักเรียนอยู่ในภาวะยืดหยุ่นเชิงพฤติกรรมเสมอ พร้อมทั้งกระตุ้นความใคร่รู้ ความสนใจ และการไหลเวียนโลหิต นอกจากนี้ยังรักษาองค์ประกอบเคมีในสมองให้อยู่ในภาวะสมดุลที่สุด โดยทำให้มีเซโรโทนิน (สำหรับความสนใจ ความยืดหยุ่นทางพฤติกรรม และความสบาย) นอร์อะดรีนาลีน (สมาธิและความจำ) โดพามีน (อารมณ์ ความพยายาม และความยืดหยุ่นของสมอง) และคอร์ติซอล (สำหรับความจำและพลังงาน) ในระดับที่เหมาะสม

นักเรียนจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีฐานะยากจนมีประสบการณ์ชีวิตในบ้านอันเลวร้าย ซึ่งก่อให้เกิดร่องรอยทางชีววิทยาของความเครียดเรื้อรังและเฉียบพลันที่เรียกกันว่าแอลโลสเตซิส (allostasis) นักเรียนเหล่านี้มักรู้สึกสิ้นหวัง ซึมเศร้า หรือหวาดระแวง

มีงานศึกษาพบว่า แม้กระทั่งการเคลื่อนไหวร่างกายเพียงอย่างเดียวก็สามารถเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและสารสื่อประสาทที่ยกระดับการรู้คิดอย่างได้ผล

กิจกรรม 7 อย่างต่อไปนี้เป็นกิจกรรมทางร่างกายสั้นๆ ที่ส่งอิทธิพลต่อจิตใจและร่างกายอย่างง่ายดายและรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้จะเป็นกิจกรรมง่ายๆ ทว่าเมื่อจัดเป็นกลุ่ม กิจกรรมเหล่านี้ค่อนข้างทรงพลัง เพราะแต่ละอย่างมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายอันเรียบง่าย เช่น ความคึกคักเพื่อรักษาภาวะตื่นตัวไว้

 

  1. พูดตามครู ให้นักเรียนพูดสิ่งที่ครูพูด ตัวอย่างเช่น “วันนี้เรามุ่งเน้นแนวคิดหลักสองข้อ เราจะมุ่งเน้นไปที่แนวคิดหลักกี่ข้อ?” (นักเรียนในชั้นตอบว่า “สองข้อ!”)
  2. หันไปพูดกับเพื่อน กลยุทธ์นี้เกิดขึ้นหลังจากนักเรียนทำอะไรสำเร็จ ตัวอย่างเช่น “หันไปพูดกับเพื่อนคนข้างๆ ว่า ‘เก่งมาก’”
  3. ตบมือ-บูม-ตบมือ ให้นักเรียนตั้งใจฟังเสียงตบมือแต่ละครั้งแล้วเข้ามามีส่วนร่วม ตัวอย่างเช่น “ทำตามครูนะ ถ้าครูตบมือหนึ่งครั้ง นักเรียนก็ตบมือหนึ่งครั้ง ทุกครั้งที่ครูตบมือสองครั้ง นักเรียนต้องพูดว่า “บูม!” ครูจะได้รู้ว่านักเรียนพร้อมจะเรียนเรื่องสำคัญแล้ว! พร้อมไหม”
  4. กิจกรรมทางร่างกาย นักเรียนมักกระตือรือร้นที่จะขยับไปรอบๆ ตัวอย่างเช่น “เร็วเข้า! มาหาคู่หูคนใหม่กัน เลื่อนเก้าอี้ของนักเรียนไปด้านข้างหนึ่งฟุตแล้วหมุนไปหาเพื่อนใหม่”
  5. ดึงความสนใจ กลยุทธ์นี้ใช้ดึงดูดนักเรียนที่เบื่อหน่ายหรือเสียสมาธิโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น “ถ้านักเรียนพร้อมจะทำอะไรใหม่ๆ ให้ตบมือสองครั้งแล้วพูดว่า ‘พร้อม!’” หรือ “ถ้านักเรียนอยากทำการทดลอง ให้กระทืบเท้าสองครั้งแล้วยืนขึ้น”
  6. กลยุทธ์ความเป็นเจ้าของ นักเรียนอยากรู้สึกว่าเป็นเจ้าของงานของตน ตัวอย่างเช่น “ถ้าได้เอกสารที่แจกแล้วให้ชูขึ้นแล้วบอกว่า ‘ได้แล้ว’ ทีนี้เขียนชื่อตัวเองลงไป ดีมาก คราวนี้ ดูกระดาษของเพื่อนคนข้างๆ และถ้าเขาหรือเธอยังไม่ได้เขียนชื่อลงไป ให้ปลุกเขาหรือเธอขึ้นมา”
  7. เรียกและตอบ กลยุทธ์ข้อนี้สร้างกิจวัตรการเรียกสมาธิกลับคืนอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น “นักเรียนพร้อม!” (นักเรียนตอบว่า “พวกเราพร้อม!”) หรือ “ตั้งสมาธิ!” (นักเรียนตอบว่า “พร้อม!”)

 

คุณสามารถปรับกิจกรรมเหล่านี้ให้เข้ากับพัฒนาการตามวัย และเมื่อเวลาผ่านไป นักเรียนสามารถทำหน้าที่นำกิจกรรมเหล่านี้เอง การผนวกกิจกรรมง่ายๆ ไว้ทุกๆ 10-15 นาที (หรือน้อยกว่านี้) จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมอยู่เสมอ หากปราศจากกลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วม นักเรียนอาจรู้สึกเฉื่อยชา และยิ่งภาวะดังกล่าวกินเวลานานขึ้นจะยิ่งดึงพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมได้ยากขึ้น อย่างไรก็ดี หากนักเรียนกำลังประสบกับความเครียดระดับสูงหรือต่ำ คุณอาจใช้กลยุทธ์ข้อใดก็ได้ในส่วนต่อไปแทน

 

สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อจัดการความเครียด

 

เราเคยคิดว่ายีนกับสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่แยกต่างหากจากกัน การศึกษาสาขาเอพิเจเนติกส์ (epigenetics) สอนให้รู้ว่า แท้จริงแล้ว สภาพแวดล้อมสามารถส่งอิทธิพล (ระงับหรือกระตุ้น) ต่อยีนของเราและส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเยาวชน ความคิด ถ้อยคำ และการกระทำของเรา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอและชัดเจนในยีน กระบวนการนี้เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงทางเอพิเจเนติกส์ ซึ่งหมายความว่าประสบการณ์ชีวิตส่งอิทธิพลให้ยีนของเราระงับหรือไม่ก็กระตุ้นการวางโปรแกรมของมัน

ความเครียดที่เป็นประโยชน์คือเหตุการณ์ที่เพิ่มระดับความเครียดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น การจราจรที่คับคั่งขึ้น คิวร้านกาแฟที่ยาวขึ้น หรือการออกกำลังกายในยิม ความเครียดลักษณะนี้มักกินเวลาตั้งแต่สองนาทีถึงสองชั่วโมง

ในอีกแง่หนึ่ง ตัวอย่างปัจจัยกระตุ้นทางเอพิเจเนติกส์ที่ยับยั้งหรือกระตุ้นการแสดงออกของยีน คือความเครียดเรื้อรังหรือเฉียบพลัน

ความเครียดเรื้อรังกับเฉียบพลันแตกต่างกันมาก ความเครียดเฉียบพลันนั้นรุนแรง กินเวลาสั้นๆ และมีลักษณะเด่นคือ เป็นผลจากเหตุการณ์สะเทือนใจ ความรุนแรง หรือความสูญเสียอันเลวร้าย ทว่าความเครียดเรื้อรังกินเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน เมื่อคุณตื่นขึ้นตอนเช้า ความเครียดเรื้อรังอาจยึดครองร่างกายของคุณ โดยแทบไม่ปล่อยให้มีช่วงเว้นระยะระหว่างคืนก่อนหน้ากับเช้าวันรุ่งขึ้น คุณพบว่าตัวเองวิตกกังวล เคร่งเครียด หงุดหงิดง่าย หรือแม้กระทั่งโกรธอยู่ ตลอด เวลา นอกจากนี้ (ในบางคน) ความเครียดเรื้อรังยังอาจแสดงถึงความสิ้นหวังจากการเรียนรู้ที่นักเรียนถอดใจไปเสียเฉยๆ ดังที่สมองบอกว่า “ถ้าไม่เล่นเกม คุณจะไม่มีวันแพ้”

สาระสำคัญที่ได้คือ ทุกคนต่างมีลักษณะของความเครียดได้ จะเป็นประโยชน์กว่าเสมอหากจับตามองมันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มันคงอยู่ระยะสั้นๆ และเป็นประโยชน์ ไม่เป็นไปอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรังซึ่งต่างก็เป็นโทษ ปริมาณความเครียดที่ส่งผลดีที่สุดต่อการเรียนรู้คือหนึ่งในสามนับจากบนสุด (ตรงกลาง) ของเส้นโค้งในภาพประกอบด้านล่าง ความเครียดที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไปจะให้ผลตรงข้าม

 

 

เราต่างสร้างและรับมือกับความเครียดในสมองของเราโดยอาศัยตัวคัดกรองความเครียดสองประการ ได้แก่ (1) ความเกี่ยวโยง (2) ความรู้สึกว่าควบคุมได้ ข่าวดีคือคุณมีอิทธิพลต่อตัวคัดกรองทั้งสองของสมอง แน่นอนว่าคุณต้องรู้จักคนจำนวนหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ในชีวิตส่วนใหญ่มีความเกี่ยวโยงกับพวกเขา น้อยกว่า และเพราะเหตุนี้พวกเขาจึงเครียดน้อยกว่า คุณอาจคิดว่าพวกเขาใจดำ แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน บางคนเลือกจะไม่ทำให้ทุกตัวกระตุ้นในชีวิตเป็นปัจจัยก่อความเครียด ถ้าสมองคุณบอกว่าเหตุการณ์ (คนหรือสถานการณ์) นี้เกี่ยวโยงกับคุณ ตัวคัดกรองลำดับต่อไปที่สมองคุณจะกำหนดการตอบสนองความเครียดของคุณคือคำถามที่ว่า “ฉันทำอะไรกับมันได้ไหม”

ถ้าคุณควบคุมตัวกระตุ้นที่มีความเกี่ยวโยงสูงไม่ได้ อาจ ทำให้เครียดมาก ดังนั้น ตัวคัดกรองทั้งสองจึงเป็นเครื่องมือที่คุณใช้ได้ตลอดชีวิต เลือกส่งอิทธิพลต่อความเกี่ยวโยงของสิ่งต่างๆ หรือไม่ก็ส่งอิทธิพลต่ออำนาจควบคุมที่คุณมีในอันที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์

คุณควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณไม่ได้ และชุดความคิดของคุณมีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างมาก ว่าคุณจะตอบสนองความเครียดอย่างไร และจะสร้างความเครียดขึ้นมาหรือไม่

คุณจะจัดการให้นักเรียนอยู่ในเขตอันละเอียดอ่อนของระดับความเครียดที่ส่งผลดีที่สุดนี้เสมอได้อย่างไร เคล็ดลับคือดึงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วย นักเรียนจะปรับระดับความเครียดของพวกเขาให้อยู่ในจุดที่เกิดผลิตภาพสูงสุด การช่วยนักเรียนจัดการความเครียดของพวกเขา ต้องทำให้นักเรียนเห็นความเกี่ยวโยงของเรื่องนั้นๆ ในระดับสูงอยู่เสมอ และทำให้พวกเขารู้สึกว่าควบคุมกระบวนการนี้ได้

เมื่อนักเรียนขาดผลิตภาพ คุณอาจเชื่อมพวกเขาเข้ากับความเกี่ยวโยงของหัวข้อนั้นๆ อีกครั้งหรือช่วยเพิ่มหรือลดความเครียดของพวกเขา ใช้เครื่องมือลดความเครียดเมื่อนักเรียนดูวิตกกังวล เคร่งเครียด หรือควบคุมไม่ได้มากเกินไป เพิ่มความเครียดเมื่อระดับพลังงานต่ำ

ต่อไปนี้คือกิจกรรมระดับชั้นอนุบาลถึง ม.6 ง่ายๆ สามอย่างที่ช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงและควบคุมความเครียดด้วยสิ่งที่ใกล้ชิดพวกเขาที่สุด นั่นคือร่างกายของพวกเขา ขั้นแรก ทำกิจกรรมเหล่านี้กับนักเรียนในชั้นแล้วบรรยายว่าได้ผลอย่างไรและเพราะเหตุใด จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ปล่อยให้นักเรียนเป็นผู้นำกลุ่มหรือทั้งชั้นจัดการได้เอง นี่คือเครื่องมือลดความเครียดที่คุณใช้ได้ทุกวันทั้งเพื่อนักเรียนและตัวคุณเอง

 

  1. ทำท่ายืด หด และปล่อยเป็นชุดๆ ให้นักเรียนยืนขึ้นแล้วเคลื่อนไหวร่างกายเป็นชุดซึ่งทำให้ได้ยืดแขนขา (เขย่งปลายเท้าแล้วพัก เหยียดขาแต่ละข้างไปข้างหน้าแล้วปล่อย จากนั้นก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหลังหนึ่งก้าวแล้วพัก) หรือไม่ก็ดันฝ่ามือเข้าหากันให้แน่นแล้วปล่อย กิจกรรมเหล่านี้ช่วยเพิ่มความอยู่ดีมีสุขและลดความเครียดได้
  2. การเคลื่อนไหวอย่างลื่นไหล ให้นักเรียนยืนย่อเข่าเล็กน้อยแล้วค่อยๆ วาดแขนเป็นวงกว้างช้าๆ พร้อมกับหมุนมือเป็นวงหรือวาดเป็นภาพต่างๆ (คล้ายกับมวยไทชิหรือการเต้นฮูลา) เมื่อทำอย่างมีเป้าหมายจะช่วยให้ความเครียดลดลง มีสมาธิ และเกิดความคิดสร้างสรรค์
  3. การกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้นักเรียนยืนขึ้นแล้วหายใจเข้าออกเป็นชุดๆ โดยค่อยๆ หายใจลึกขึ้นเรื่อยๆ ขั้นแรก ให้พวกเขาหายใจทางจมูกแล้วกลั้นหายใจพร้อมกับนับถึงสอง ก่อนจะหายใจออก งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าวิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนชั้นมัธยม (โดยเฉพาะมัธยมต้น) และชั้นประถม

 

หรือไม่เช่นนั้น คุณจะเพิ่มความเครียดที่เป็นประโยชน์แก่นักเรียนของคุณได้อย่างไร ความเครียดแบบนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าควบคุมได้และตื่นเต้นในเวลาเดียวกัน

ต่อไปนี้คือกลยุทธ์สร้างความเครียดที่เป็นประโยชน์ที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางร่างกาย (เดิน กระทืบ แสดงความรู้สึก เต้น หรือแสดงบทบาท) ดนตรี (เล่นหรือฟังดนตรี) การร่วมมือ (หรือการแข่งขัน) เส้นตาย (ความเร่งด่วน) หรือผู้นำ (นักเรียน ครู หรือดนตรีประกอบ)

มีหลักฐานหนักแน่นว่ากิจกรรมทางร่างกายส่งเสริมการเรียนรู้ พฤติกรรม และการรู้คิด กิจกรรมทางร่างกายช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการมีสมาธิจดจ่อ การทำหน้าที่ด้านบริหารจัดการ ความสำเร็จทางวิชาการ และพฤติกรรม

กิจกรรมหกอย่างที่กล่าวไว้ในส่วนต่อไปจัดได้สะดวกและให้ผลลัพธ์ดีเยี่ยมในด้านการรู้คิดและการจัดการพฤติกรรม กิจกรรมเหล่านี้หลายอย่างอาศัยเกมที่คุ้นเคยกันสมัยเด็กๆ พบว่าเป็นปัจจัยเชิงบวกที่มีส่วนให้นักเรียนประสบความสำเร็จ (ก่อนเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน 3-4 เดือน)

 

ไซมอนสั่ง

เกมนี้ฝึกการควบคุมตนเองได้ ขั้นแรก ทำตามรูปแบบของผู้เล่นหน้าใหม่ทั่วไปเพื่อแสดงให้นักเรียนเห็นว่าต้องทำตัวอย่างไร จากนั้นจึงนำคำสั่งของไซมอนมาประกอบกัน บอกนักเรียนให้ “ทำตามคำสั่งข้อแรกในสองข้อเท่านั้น” จากนั้นจึงออกคำสั่งสองข้อติดต่อกันอย่างรวดเร็ว เช่น “ไซมอนสั่งให้ ‘ตบมือ’ ไซมอนสั่งให้ ‘กระทืบเท้า’”

เกมนี้เหมาะสำหรับเด็กเล็กคือระดับอนุบาลถึง ป.3 อย่างไร้ที่ติ และเมื่อปรับเปลี่ยนก็อาจยากมากสำหรับนักเรียนชั้นมัธยม เพียงแค่เปลี่ยนความเร็วของกิจกรรมหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนกติกาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น บอกนักเรียนว่า “นักเรียนจะได้รับคำสั่งสามข้อจากไซมอน ทำตามข้อตรงกลางในสามข้อนี้เท่านั้น”

 

ขยับตามเพลง

เลือกเพลง 5-7 เพลง ดูให้แน่ใจว่าแต่ละเพลงมีจังหวะ รูปแบบ และประเภทแตกต่างกันอย่างมาก ตัวอย่างเช่น “Tequila” (เดอะแชมป์ส), “Push It” (ซอลต์เอ็นเพเพอ), เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Rocky II, “Happy” (ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์) และ “Java” (อัล เฮิร์ต) ให้นักเรียนยืนขึ้นแล้วฟังคำสั่ง หน้าที่ของนักเรียนคือขยับตามจังหวะเพลง เปิดแต่ละเพลงราว 15-20 วินาทีแล้วจึงเปลี่ยนเป็นเพลงต่อไป ในเพลงสุดท้าย ให้นักเรียนมุ่งหน้ากลับไปยังที่นั่งของตน จัดทำรายชื่อเพลงของคุณเองได้เลย เมื่อคุณเลือกเพลงที่เหมาะสมกับวัย กิจกรรมนี้จะได้ผลกับทุกระดับชั้น

 

แตะหัวถึงเท้า และแตะหัว เท้า เข่า ไหล่

กิจกรรมอันคุ้นเคยซึ่งครูสั่งให้นักเรียนแตะหัว เท้า เข่า หรือไหล่แล้วไล่กลับนี้มีประโยชน์เมื่อเริ่มสอนอ่านเขียนและคณิตศาสตร์ กิจกรรมแตะหัวถึงเท้า (สำหรับนักเรียนชั้นประถม) และกิจกรรมแตะหัว เท้า เข่า ไหล่ (สำหรับนักเรียนชั้นมัธยม) ทำให้นักเรียนต้องผนวกสมาธิ ความจำใช้งาน และการควบคุมตนเองเข้าด้วยกัน

ในงานศึกษาวิจัยนักเรียน 814 คนในสี่ประเทศ (สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน) กิจกรรมเหล่านี้ชี้วัดการควบคุมพฤติกรรมและบ่งชี้ความสำเร็จทางวิชาการในการทดสอบก่อนและหลังเรียนคำศัพท์และคณิตศาสตร์ได้แต่แรก นั่นแสดงว่ากิจกรรมนี้ต้องอาศัย พัฒนา และใช้ทักษะที่ให้ผลตอบแทนเชิงวิชาการ

 

เสียงกลอง

ใช้เสียงกลองกระตุ้นให้นักเรียนทำอะไรแตกต่างออกไปขณะนั่ง (เช่น ตบมือหรือกระทืบเท้า) หรือเดินอยู่ ตัวอย่างเช่น ให้นักเรียนเดินเร็วเมื่อเสียงกลองเป็นจังหวะเร็ว เดินช้าเมื่อเสียงกลองเป็นจังหวะช้า และหยุดนิ่งเมื่อเสียงกลองหยุดลง คุณอาจให้นักเรียนตอบสนองต่อสัญญาณที่ตรงข้ามกัน เช่น เดินช้าเมื่อเสียงกลองเป็นจังหวะเร็วหรือกระทืบเท้าเมื่อเสียงกลองเป็นจังหวะช้า

 

วาทยกรประจำวงออร์เคสตรา

ในกิจกรรมง่ายๆ นี้ ให้นักเรียนทุกคนใช้เครื่องดนตรี (ของจริงหรือในจินตนาการ) ของเขาหรือเธอเอง ผู้นำใช้ไม้กลองหรือดินสอต่างไม้วาทยกร เมื่อวาทยกรโบกไม้ นักเรียนจะเล่นดนตรีตามจังหวะช้าเร็วของไม้วาทยกร จากนั้น ครูอาจให้ทำสลับกัน โดยให้นักเรียนเล่นจังหวะช้าเมื่อโบกไม้เป็นจังหวะเร็ว กำหนดสัญญาณที่คาดหมายขั้นพื้นฐาน แล้วสลับและเร่งความเร็วขึ้น ขั้นแรก ครูควรแสดงให้ดูเป็นตัวอย่างว่าจะใช้ไม้วาทยกรนำวงออร์เคสตราได้อย่างไรโดยเปิดเพลงดังกระหึ่มไปทั้งห้อง เมื่อครูทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว นักเรียนจะเข้าใจว่าต้องทำอย่างไร

 

แตะแล้วไป

กิจกรรมนี้ ครูจะเปิดเพลงแล้วให้นักเรียนทำตามคำสั่งง่ายๆ ตัวอย่างเช่น เขาหรือเธออาจให้นักเรียนเดินเป็นวงรอบโต๊ะสองตัว แตะผนังสามด้าน แตะของสองอย่างที่ทำด้วยไม้ หรือแตะพนักเก้าอี้ 11 ตัว ให้นักเรียนกลับเข้าที่เมื่อเพลงหยุดลง นอกจากนี้ ครูยังอาจกำหนดเวลาให้นักเรียนทำตามคำสั่ง เช่น 60 วินาที กิจกรรมลักษณะนี้สามารถเพิ่มระดับโดพามีน (สำหรับความจำใช้งาน ความยืดหยุ่น และความพยายาม) และนอร์อะดรีนาลีน (ช่วยเรื่องสมาธิและความจำระยะยาว) ของนักเรียนซึ่งช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการมีสมาธิจดจ่อ

 

-2-

สร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนเพื่อการยอมรับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

ความเข้าใจหลักอย่างหนึ่งคือ ถ้าสมองไม่เชื่อในประสบการณ์นั้นๆ สมองจะไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าสมองไม่เปลี่ยนแปลง คุณก็เสียเวลาเปล่า

การสร้างความเกี่ยวโยงทางพฤติกรรมอาจเป็นทักษะที่ทรงพลังที่สุดที่คุณจะฝึกฝนจนเชี่ยวชาญได้ เมื่อมีทักษะนี้ นักเรียนจะจดจำสิ่งที่คุณสอน ทว่าที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ให้ถือเป็นคาถาประจำใจในการสอนว่า สมองของนักเรียนขับเคลื่อนด้วย เหตุผล และยิ่ง เหตุผล นั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ การเรียนรู้ก็ยิ่งยั่งยืน

ถ้าคุณเบื่อที่ต้องสอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อสร้างการยอมรับของนักเรียนและรักษาการเรียนรู้ให้ยั่งยืน ประสิทธิภาพของกิจกรรมหรือหน่วยเนื้อหามักขึ้นอยู่กับว่าคุณเตรียมความพร้อมของผู้เรียนรู้ ก่อน เริ่มสอนดีแค่ไหน จำไว้ว่า ความเกี่ยวโยงสำคัญที่สุดสำหรับสมองของนักเรียน อย่างไรก็ดี เครื่องมือในบทนี้คือปัจจัยสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ การยอมรับนับเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับกิจกรรมเรียนรู้ใดๆ ก็ตาม หากปราศจากการยอมรับ แม้กระทั่งกิจกรรมดีๆ จะจบลงด้วยความล้มเหลว การยอมรับทำให้แน่ใจได้อย่างแท้จริงว่างานชิ้นต่อไปของคุณจะได้ผลและบทเรียนจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะนักเรียนจะตั้งใจฟังอย่างละเอียดและจัดเก็บสิ่งที่ได้เรียนรู้ไว้ในสมอง

ในบทนี้ เราเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้แบบจำใจกับการเรียนรู้เพราะอยากเรียน (การยอมรับ) จากนั้นคุณจะได้เรียนรู้ว่าจะแบ่งระดับการสร้างแรงจูงใจให้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งกว่านั้นได้อย่างไร

 

เปลี่ยนจากเรียนรู้แบบจำใจไปเป็นเรียนรู้เพราะอยากเรียน

 

การเรียนรู้ในห้องเรียนมีสองแบบ ได้แก่ (1) การเรียนรู้แบบจำใจ (2) การเรียนรู้เพราะอยากเรียน ในสหรัฐอเมริกามีนักเรียนเข้าโรงเรียนมากกว่า 50 ล้านคน และในจำนวนนี้มีอยู่มากมายที่เรียนรู้แบบจำใจ

การเรียนรู้แบบจำใจทำให้คุณต้องสอนซ้ำๆ ในห้องเรียน ทำไมน่ะหรือ คำตอบคือการเรียนรู้เพราะอยากเรียนซึ่งมีแรงจูงใจนั้นมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะตราตรึงหรือเป็นที่จดจำ หากสมองไม่มองว่าแบบฝึกหัดนั้นมีความเกี่ยวโยงเชิงพฤติกรรม มันมักไม่จัดเก็บหรือจดจำแบบฝึกหัดที่ได้เรียนรู้

การเรียนรู้แบบจำใจหมายความว่านักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม แต่แทบนึกไม่ออกว่าเคยเรียนรู้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น จะมีนักเรียนที่ต้องการให้สอนซ้ำมากขึ้น ถ้าคุณพบว่าคุณกำลังสอนเนื้อหาซ้ำโดยใช้เวลานานขึ้นเพียงวันละ 10 นาทีเป็นเวลาสี่วันต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าคุณกำลังผลาญเวลาไปสัปดาห์ละ 40 นาที หรือเท่ากับหนึ่งปี เวลาอันล้ำค่าในห้องเรียน 24 ชั่วโมงเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

ครูที่เปิดบทเรียนด้วยปัญหาให้แก้ไข ภาพต่อปริศนา เกม หรือมุกตลกมักกำลังเพิ่มหรือหวังจะให้เกิด ความคึกคักของนักเรียน “ทำให้สมองนักเรียนเดินเครื่องเต็มที่” คือคาถาประจำใจ นั่นเป็นความคิดที่ไม่เลว เพียงแต่ยังไม่ใช่การยอมรับที่มีคุณภาพ ความคึกคักหมายความว่านักเรียนตื่นอยู่ ตื่นตัว และอยู่ในภาวะเผาผลาญที่ดีสำหรับการเรียนรู้อะไรบางอย่าง ทว่านั่นไม่เหมือนกับภาวะทางชีววิทยาของการยอมรับที่มีความเกี่ยวโยง อันเป็นภาวะโหยหาและโหยหิวที่ต้องเติมเต็ม

ถ้าคุณไม่สามารถสร้างการยอมรับในหมู่นักเรียนทุกครั้งที่นำเสนอเนื้อหาใหม่ๆ กิจกรรม หรืออะไรก็ตามที่คุณอยากให้สมองของพวกเขาจัดเก็บไว้ ย่อมเสี่ยงที่นักเรียนจะลืม สมองมนุษย์ขับเคลื่อนด้วยความเกี่ยวโยงเชิงพฤติกรรม ราวกับสมองกล่าวว่า “ทำไมฉันต้องสนใจเรื่องนี้ด้วยล่ะ เพราะถ้าฉันควรสนใจจริงๆ ฉันน่าจะจำได้สิ!”

เพื่อช่วยให้คุณสร้างการยอมรับในห้องเรียนได้ คุณต้องสามารถแยกสามขั้นตอนสำหรับเตรียมนักเรียนให้พร้อมจะเรียนรู้ นั่นคือ (1) การเตรียมความพร้อม (2) การยอมรับ (3) ความเกี่ยวโยง

 

เรียนรู้การเตรียมความพร้อม การยอมรับ และความเกี่ยวโยง

 

เป็นเรื่องง่ายที่จะสับสนจนจำขั้นตอนทั้งสามในการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนรู้สลับกัน เชื่อเถอะครับว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับครูแทบทุกคน ความสำเร็จของเครื่องมือทั้งสามนี้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับนักเรียน บรรยากาศในห้องเรียน ความหวังที่จะประสบความสำเร็จของนักเรียน และความสัมพันธ์ของคุณกับความหวังเหล่านั้น ให้มองว่ากลยุทธ์สามอย่างนี้คือระดับของการจูงใจเพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างเต็มที่และครอบคลุมผ่านความเกี่ยวโยงอันลึกซึ้งและดึงดูดใจ

 

การเตรียมความพร้อม

ระดับแรกคือการเตรียมความพร้อมเพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ เป็นระดับที่บอกว่า “ตื่นได้แล้ว! มันน่า สนุก นะ!” การจัดเตรียมอาจเป็นการปลุกเร้า (กิจกรรมกระตุ้น) คำถามที่ทำให้นักเรียนสนใจใคร่รู้ (เช่น “นักเรียนอยากลองทำการทดลองเจ๋งๆ ไหม”) หรือความตื่นเต้นเร้าใจจากความกระตือรือร้นของครู (เช่น “ว้าว! ครูตื่นเต้นที่จะสอนเรื่องนี้จัง ขอให้ทุกคนยืนขึ้น!”) ลองพิจารณาคำพูดต่อไปนี้ดู

 

  • “โอ้! ครูนึกอะไรเจ๋งๆ ออกแล้ว ใช้เวลาอึดใจเดียวเท่านั้น ขั้นแรก ขอให้นักเรียนยืนขึ้น” (แรงดึงดูดคือความสนใจใคร่รู้)
  • “ครูจะเล่าอะไรให้ฟัง แล้วพวกเธอจะต้องทึ่ง! (แรงดึงดูดคือความคาดหวัง)

 

นอกจากนั้น คุณอาจต้องใช้สิ่งของ เครื่องแต่งกาย หรือความเร่งด่วนสุดขีดเพื่อกระตุ้นนักเรียนให้กระตือรือร้น

ถ้านักเรียนยังไม่รู้สึก “คึกคัก” (ถ้าพวกเขาง่วงนอน เบื่อหน่าย ไม่มีปฏิสัมพันธ์ ฯลฯ) สองระดับถัดไปอาจไม่ได้ผลอย่างสิ้นเชิง เพราะเหตุนี้ กลยุทธ์วางรากฐานเบื้องต้นเหล่านี้จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตรงประเด็น และกินเวลาส่วนใหญ่ไป ทันทีที่กิจกรรมกระตุ้นยุติลงยังเป็นช่วงเวลาอันยอดเยี่ยมที่จะสอนความรู้ใหม่อีกด้วย เนื่องจากการไหลเวียนโลหิตมีระดับสูงขึ้นเช่นเดียวกับสารเคมีเพื่อการเรียนรู้ในสมอง (โดพามีน นอร์เอพิเนฟริน และคอร์ติซอลจำนวนหนึ่ง)

 

การยอมรับ

การสร้างการยอมรับหมายถึงการใช้แรงดึงดูดเพื่อช่วยให้นักเรียนรู้เป้าหมายของสิ่งที่คุณกำลังให้พวกเขาทำหรือเรียนรู้ในชั้นเรียน การสร้างการยอมรับอาจดูใหม่ (หรือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) สำหรับคุณ แต่มันตอบสนองความต้องการสำคัญของนักเรียน มันตอบคำถามที่ว่า “ทำไม เราต้องทำแบบนี้ด้วย” เมื่อคุณสร้างการยอมรับอันแข็งแกร่งขึ้นภายหลังกิจกรรมกระตุ้นทันที ก็แทบ รับประกัน ได้ว่านักเรียนของคุณจะขยับตัว สนอกสนใจ และพร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไป

ต่อไปนี้คือตัวอย่าง “เหตุผล” สั้นๆ ที่แทรกเข้าไปในการสอนของคุณได้

 

  • “ก่อนอื่น หายใจเข้าลึกๆ เอาละ ถ้านักเรียนพร้อมจะเรียนรู้อะไรที่น่าทึ่งซึ่งจะช่วยให้ได้เกรดดีๆ แล้วละก็ ให้กระทืบเท้าสองครั้ง” (แรงดึงดูดคือความรู้ใหม่)
  • “นี่คือปัญหาง่ายๆ ที่ไม่มีนักเรียนเก่าของครูแก้ได้ในเวลาต่ำกว่าสามนาทีสักคน ให้นักเรียนจับคู่กับเพื่อนคนข้างๆ แล้วช่วยกันคิด ดูสิว่าจะมีใครทำได้เป็นคนแรกหรือเปล่า พร้อมไหม เริ่มได้!” (แรงดึงดูดคือการให้นักเรียนร่วมกันแก้ปัญหาอันท้าทายที่นักเรียนรุ่นก่อนๆ ทำไม่ได้อย่างรวดเร็ว)
  • “นี่คือแนวคิดที่จะช่วยให้นักเรียนได้เกรดที่คู่ควร” (แรงดึงดูดคือการจูงใจให้นักเรียนอยากได้เกรดสูงขึ้น)
  • “ครูมีวิธีที่อาจช่วยให้นักเรียนลดเวลาที่ต้องก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือลงได้ น่าจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น สนใจไหม” (แรงดึงดูดคือโอกาสที่จะมีเวลาสนุกกับเพื่อนๆ เพิ่มขึ้น)
  • “ถ้าเราลองใช้วิธีที่จะช่วยให้สมองของนักเรียนจำอะไรๆ ได้มากขึ้นเวลาสอบ โดยใช้เวลาเรียนน้อยลงล่ะ นักเรียนเต็มใจจะพยายามดูไหม” (แรงดึงดูดคือการทำข้อสอบได้ง่ายขึ้นโดยใช้เวลาเรียนน้อยลง)

 

หลักการคือให้นักเรียนได้เรียนรู้แนวคิดดีๆ ทีละน้อยกระทั่งพวกเขาอยากเรียนรู้บทเรียนที่เหลือทั้งหมด

 

ความเกี่ยวโยง

ระดับที่สามซึ่งเป็นระดับสุดท้ายคือการสร้างความเกี่ยวโยงที่ทั้งดึงดูดใจและลึกซึ้ง สังเกตดูขั้นตอนที่เรากล่าวมาจนถึงตอนนี้สิครับ (1) ปลุกสมองและร่างกายให้ตื่นด้วยการปลุกเร้าเพื่อเตรียมความพร้อม (2) จากนั้นจึงกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ ความคาดหวัง หรือความท้าทายเพื่อเริ่มต้นกระบวนการโน้มน้าวให้นักเรียนเริ่มเปิดรับบทเรียนนั้น ครูส่วนใหญ่จะใช้การเตรียมความพร้อม (เพื่อความคึกคัก) หรือไม่ก็การยอมรับ แต่ไม่ได้ใช้อย่างมีเป้าหมาย พวกเขามักค้นพบระดับที่สามนี้โดยบังเอิญ

ความเกี่ยวโยงอาจใช้เวลาระยะหนึ่งจึงเข้าที่เข้าทางและมีความหมายขึ้นมา อย่างไรก็ดี ความเกี่ยวโยงคงอยู่นานกว่า เพราะเมื่อนักเรียนยอมรับและเชื่อแล้ว มันจะมีพลังที่ยั่งยืนกว่าการเตรียมความพร้อมหรือแรงดึงดูด เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะความเกี่ยวโยงอันลึกซึ้งใช้ประโยชน์จากค่านิยมของเรา ทว่าเช่นเดียวกับหลายอย่าง มันเป็นสิ่งที่คุณต้องกระตุ้นขึ้นใหม่เมื่อเวลาผ่านไป โดยใช้รูปลักษณ์ แง่มุม และคำบรรยายที่แตกต่างออกไป

สำหรับเด็กวัยห้าขวบ ค่านิยมเหล่านี้อาจรวมถึงความมั่นคงและความสนุกสนาน แต่เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ปรากฏแรงขับเคลื่อนขึ้นในชีวิตของเรา ส่วนใหญ่เป็นแรงขับเคลื่อนที่เป็นสากล จะต่างกันก็เพียงมันรุนแรงและมองเห็นได้ชัดเจนแค่ไหนเท่านั้นเอง สำหรับนักเรียนวัย 15 ปี ค่านิยมอาจรวมถึงการยอมรับจากเพื่อนรุ่นเดียวกันและความเป็นตัวของตัวเอง

มีรายการแรงขับเคลื่อนสองรายการที่ทำให้ตอบสนองนักเรียนได้ดีขึ้นและอาจช่วยคุณได้เช่นกัน แรงขับเคลื่อนเชิงพฤติกรรมห้าอย่างแรกเป็นแรงขับเคลื่อนภายในและเกี่ยวข้องกับตัวเอง ดังต่อไปนี้

 

  1. สร้างความมั่นคง (มีความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ สังคม และส่วนบุคคล)
  2. ให้อิสระและได้ดูแลตัวเอง (สามารถเลือก ควบคุม และทำอะไรบางอย่างเอง)
  3. ส่งเสริมอัตลักษณ์ (เชื่อและทำตามตัวตนที่แท้จริง)
  4. สร้างความรู้สึกเชี่ยวชาญ (ทำอะไรสักอย่างเก่งมาก)
  5. ให้ความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น (เชื่อมโยงกับความเชื่อส่วนบุคคล ทางวัฒนธรรม หรือทางจิตวิญญาณ)

 

แรงขับเคลื่อนห้าอย่างในกลุ่มที่สองเป็นแรงขับเคลื่อนภายนอกและต้องมีคนอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ด้วย ได้แก่แรงขับเคลื่อนทางสังคมต่อไปนี้

 

  1. สถานะทางสังคม (รู้สึกเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นคนพิเศษภายในกลุ่ม)
  2. สายสัมพันธ์ (เป็นสมาชิกหรือมีสายสัมพันธ์กับบุคคลหรือกลุ่มที่เลือก)
  3. ความมีคุณค่า (สำคัญกับ มีค่าต่อ และเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น)
  4. ภารกิจ (เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง)
  5. การเป็นที่ยอมรับ (ทำสิ่งที่ถูกต้องหรือพิสูจน์ความดีหรือศักยภาพของตนผ่านความเชื่อที่ยึดมั่นหรือการกระทำ สิ่งที่เลือก หรือกลยุทธ์ที่ใช้)

 

เมื่อคุณเห็นนักเรียนแสดงพฤติกรรมแย่ๆ คุณจะเห็นแรงขับเคลื่อนที่กำลังทำงาน นักเรียนวัย 16 ปีคนหนึ่งอาจกำลังแสวงหาความเป็นตัวของตัวเองหรือแม้กระทั่งสถานะทางสังคม อีกคนอาจแสวงหาอำนาจควบคุมหรือสร้างอัตลักษณ์ของนักเรียนที่มีปัญหาเชิงพฤติกรรม นักเรียนวัยแปดขวบอาจกังวลกับความปลอดภัยในละแวกบ้านของเขาหรือเธอหรือความเข้าใจจากผู้ปกครองมากที่สุด สาระที่ได้จากเรื่องนี้เรียบง่าย กล่าวคือ ขณะที่หลายๆ อย่างอาจผลักดันให้เราตัดสินใจทันที ทว่าในระยะยาว เราจะเต็มใจทำเพราะสิ่งที่เกี่ยวโยงกับเราอย่างลึกซึ้งมากกว่า

 

ใช้แรงดึงดูด

 

ดังที่คุณได้เห็นแล้ว มีขั้นตอนสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดการยอมรับอย่างเต็มที่ โดยแต่ละขั้นตอนต่างมีแนวทางอันหลากหลายที่คุณสามารถนำไปใช้ ทั้งหมดล้วนทำให้เกิดความคึกคักในระดับหนึ่งเป็นอย่างน้อย และทำให้นักเรียนมีพลังงานและแรงส่งที่จะเรียนรู้ ทว่าขั้นตอนที่ยั่งยืนคือขั้นตอนสุดท้ายอย่างการสร้าง ความเกี่ยวโยงอันลึกซึ้งที่ดึงดูดใจ (นี่เป็นยอดปรารถนาสำหรับการยอมรับทีเดียว) มาสำรวจดูกลยุทธ์ที่คุณสามารถใช้เพื่อให้ระดับต่างๆ ของกระบวนการนี้เกิดขึ้นกันเถอะ

คุณอาจแบ่งแรงดึงดูดในห้องเรียนออกเป็นส่วนๆ เช่น การเคลื่อนไหว (สิ่งที่นักเรียนสามารถทำ ปา เล่น คว้า และแสดงออก) สิ่งของ (สิ่งที่คุณสามารถนำมาให้ดูหรือส่งต่อกันไป) การเดินทางท่องเที่ยว (พานักเรียนของคุณไปนอกห้องเรียนหรือไปทัศนศึกษาระยะสั้นๆ) ดนตรี (สร้างบรรยากาศ สร้างสรรค์เสียงประกอบพิเศษ ขับเน้นแนวคิด และใช้เนื้อเพลงให้เป็นประโยชน์) หรือทัศนศิลป์ (สร้างสรรค์โปสเตอร์หรือเปลี่ยนการจัดแสง) นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้การละคร (รับบทตัวละคร แสดงความคิดหรือเหตุการณ์) งานอดิเรก (ให้นักเรียนสักคนหรือคุณเองเล่าเรื่องงานอดิเรกแล้วผูกโยงเข้ากับเนื้อหา) หรือความเป็นตัวของตัวเอง (ปล่อยให้นักเรียนเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนเข้ากับชีวิตของพวกเขาด้วยตัวเอง) คุณอาจใช้เหตุการณ์ปัจจุบัน (สอดแทรกข่าวหรือวัฒนธรรมกระแสนิยม) ถุงหรือกล่องปริศนา (ทำถุงหรือกล่องพิเศษขึ้นมาโดยใส่ของที่เกี่ยวโยงกับเนื้อหาไว้ภายใน) การออกแบบภายใน (เปลี่ยนแปลงห้องโดยเปลี่ยนรูปแบบการจัด นำเก้าอี้ออกไป หรือจัดงานเลี้ยงภายใต้ธีมเดียวกัน) และเครื่องแต่งกาย (พันผ้าพันคอ สวมหมวก หรือแต่งกายครบชุดเพื่อถ่ายทอดลักษณะตัวละคร) ตารางทางด้านล่างเป็นเคล็ดลับสำหรับดึงดูดใจนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

 

 

ใช้คำถาม

 

คำถามที่ดีสามารถกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ ความเกี่ยวโยง และการใคร่ครวญ คำถามอันยอดเยี่ยมสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในชั้นเรียนหรือแม้กระทั่งชีวิตนักเรียนได้เลย ทว่านั่นไม่ใช่งานง่าย ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม การตั้งคำถามด้วยความรู้สึกปลอดภัย และเป้าหมายอันชัดเจนที่จะสร้างความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมกับรักษาความสัมพันธ์ไว้

ขั้นแรก ติดคำถามต่อไปนี้ไว้บนบอร์ด หน้าจอ หรือฟลิปชาร์ต จากนั้นจึงเริ่มเรียกชื่อทุกคน ถ้าคุณอยากปรับกระบวนการเล็กน้อย ให้วางตะกร้าหรืออ่างไว้หน้าห้อง ใส่ฉลากที่เขียนชื่อนักเรียนไว้ แล้วเรียกใครสักคนมาจับฉลาก (หากจับได้ชื่อตัวเองให้จับใหม่) ถ้านักเรียนคนหนึ่งถูกเรียกและไม่รู้คำตอบ ให้เขาหรือเธอพูดว่า “ฉันไม่รู้ แต่อยากรู้ ขอเวลาหนึ่งนาทีแล้วค่อยเรียกฉันอีกที” จากนั้นจึงกลับมาที่นักเรียนคนเดิมในหนึ่งนาทีให้หลังเมื่อเขาหรือเธอพร้อม ต่อไปนี้คือชุดคำถามอันทรงประสิทธิภาพที่คุณเลือกใช้ได้

 

  • คำถามเพื่อตรวจสอบความรู้เดิม เมื่อนักเรียนเริ่มบทเรียนใหม่หรือล้าหลังเพื่อนๆ มาแต่แรก ใช้คำถามตรวจสอบความรู้เดิมเพื่อช่วยให้พวกเขาค้นพบพื้นฐานด้านการรู้คิด ดูว่าพวกเขามีความรู้เดิมอย่างไรบ้างด้วยการเรียนรู้ชื่อที่พวกเขาใช้เรียกสิ่งต่างๆ ตลอดจนข้อเท็จจริง ข้อมูลที่ไม่ปะติดปะต่อกัน และข้อสันนิษฐานที่พวกเขามี ตัวอย่างเช่น คุณอาจถามว่า “เธอรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองในช่วงทศวรรษ 1960”
  • คำถามสำคัญ คำถามเหล่านี้ยกระดับคุณภาพและความลึกของการเรียนรู้ด้วยการเปิดรับและใช้ความสนใจที่เกี่ยวข้องกัน คำถามสำคัญมีอยู่สองประเภท ได้แก่ (1) คำถามกว้างๆ (ประเด็นออกนอกบทเรียนไปถึงแนวคิดใหญ่กว่าที่ถ่ายโอนได้ เช่น “เอกลักษณ์ของผู้นำคืออะไร” (2) คำถามเกี่ยวกับเนื้อหาโดยเฉพาะ (ตอบได้จากเนื้อหาของบทเรียน เช่น “หลังจากอ่านเรื่อง Catch-22 นักเรียนคิดว่าจะรับมืออย่างไรถ้าต้องอยู่ในโลกของสงครามก่อนหน้านี้ซึ่งเหมือนกับอีกโลกหนึ่ง นั่นคือโลกของยอสซาเรียน และเพราะอะไร”)
  • คำถามสรุปเนื้อหา นักเรียนเข้าใจเนื้อหาและพูดถึงเนื้อหานั้นๆ “บทเรียนนี้เกี่ยวกับอะไร ความเข้าใจหลักคืออะไร ประเด็นสำคัญสองหรือสามข้อในที่นี้คืออะไร บทความนี้ควรมีชื่อว่าอะไร นักเรียนจะบรรยายบทเรียนนี้ในหนึ่งหรือสองประโยคว่าอย่างไร”
  • คำถามอันซับซ้อน ก่อนตั้งคำถามต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาระดับพื้นฐาน นักเรียนควรเข้าใจประเด็นที่พูดคุยกันอย่างชัดเจนและสรุปเนื้อหานั้นได้ คำถามอันซับซ้อนจะให้รายละเอียดลักษณะหรือสมบัติอันเป็นเอกลักษณ์ของบทเรียน (“อะไรทำให้การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกคาดเดาไม่ได้อย่างยิ่ง”) และความขัดแย้งที่เป็นไปได้ (“ทำไมกลุ่มอ็อกคิวพายวอลล์สตรีตจึงประท้วง พวกเขามีจุดยืนอย่างไร และมีข้อโต้แย้งอย่างไรบ้าง”)
  • คำถามเพื่อรวบรวมหลักฐาน ในที่นี้ ให้นักเรียนใช้เหตุผลและการแสดงทัศนะสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตนเกี่ยวกับคำกล่าว ทัศนะ หรือจุดยืนใดๆ ก็ตาม ตัวอย่างเช่น “บอกครูสิว่าทำไมนักเรียนจึงรู้สึกว่าจุดยืนของนักเรียนถูกต้อง อะไรทำให้มันแตกต่างจากของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามจะพูดว่าอะไรและเพราะอะไร นักเรียนจะหักล้างพวกเขาอย่างไร มีข้อเท็จจริงอะไรสนับสนุนจุดยืนของนักเรียนที่คนอื่นไม่มี”

 

สำหรับนักเรียนที่มีส่วนร่วมจริงๆ ให้คาดหวังมากกว่านั้น ถามนักเรียนว่า “นักเรียนรู้ได้อย่างไรว่านั่นเป็นความจริง (หรือเท็จ)” เมื่อนักเรียนตอบสนองต่อคำตอบใดๆ ก็ตาม ให้กล่าวว่า “ขอบคุณ ครูชื่นชมที่เธอเข้ามาร่วมวงและสนุกที่ได้ฟังความคิดเห็นของเธอ ทีนี้ช่วยบอกครูอีกนิด” ทำให้บทสนทนามีชีวิตชีวาอยู่เสมอด้วยการตั้งคำถามเพิ่ม “นักเรียนรู้ได้อย่างไรว่านั่นเป็นความจริง”

จำไว้ว่าให้ทำตามกระบวนการนี้ด้วยความรัก เคารพความกังวลของนักเรียนว่าเพื่อนๆ คิดกับพวกเขาอย่างไร อย่าทำให้นักเรียนขายหน้าในชั้นเรียนเป็นอันขาด หลักการในที่นี้เรียบง่าย กล่าวคือ ค้นพบ ตรวจสอบ และผลักดันอย่างให้เกียรติโดยเห็นคุณค่าสิ่งที่นักเรียนทุกคนรู้และการที่พวกเขาแต่ละคนจะเติบโตต่อไป

 

-3-

สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างชุมชน

 

เราต่างมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร มีความต้องการ แรงจูงใจ และเขตปลอดภัยที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับนักเรียนของคุณ นักเรียนบางคนสบายใจเมื่อมีปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ขณะที่คนอื่นๆ รู้สึกสบายใจกว่าเมื่อได้อยู่อย่างสันโดษหรือขณะถูกปล่อยให้อยู่กับอุปกรณ์ของพวกเขาตามลำพัง ทว่าความจริงคือ ไม่ว่าพวกเขามีแนวโน้มจะเป็นคนเปิดเผยหรือเก็บตัว นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีกว่าเมื่อมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (เช่น เวลาสอนผู้อื่น) เมื่อเทียบกับถ้าพวกเขาต้องจดจ่ออยู่กับการเตรียมตัวสอบครั้งต่อไปเพียงอย่างเดียว

เราทุกคนต่างจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและแน่นอนว่าห้องเรียนของคุณก็เป็นชุมชนหนึ่ง เป้าหมายของส่วนนี้คือการสร้างชุมชนในห้องเรียนซึ่งประกอบไปด้วยผู้เรียนรู้ที่มีส่วนร่วม การสร้างความเป็นชุมชนช่วยเสริมสร้างการมองโลกในแง่ดีเชิงวิชาการและลดพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาที่พบบ่อย การให้นักเรียนสอนซึ่งกันและกัน และการเฉลิมฉลองชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ ของนักเรียนทั้งชั้น

 

การแก้ปัญหาที่พบบ่อย

 

อะไรคือปัญหาจำเจในห้องเรียน ตัวอย่างนั้นรวมถึงการเข้าเรียนตรงเวลา การให้นักเรียนเงียบเสียง และการเลิกเรียนตรงเวลา เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้โดยอัตโนมัติ ให้นำกิจกรรมแบบพิเศษสำหรับสร้างชุมชนมาใช้ นั่นคือพิธีกรรม พิธีกรรมแตกต่างจากกิจกรรมในห้องเรียนอื่นๆ อย่างไรเล่า

กิจวัตรของชั้นเรียนหรือพิธีกรรมคือกิจกรรมสั้นๆ ที่วางแผนไว้ล่วงหน้าซึ่งช่วยแก้ปัญหาจำเจด้วยพลังงานเชิงบวก กิจกรรมเหล่านี้สร้างมิตรภาพและส่งเสริมวัฒนธรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วม มีหลักเกณฑ์ห้าประการเท่านั้นที่ทำให้พิธีกรรมในชั้นเรียนได้ผล นั่นคือพิธีกรรมเหล่านี้ต้อง (1) แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า (2) ครอบคลุมและดึงนักเรียนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม (3) เรียบง่ายและปฏิบัติได้ง่าย (4) คาดเดาได้ (5) จบลงด้วยภาวะทางอารมณ์เชิงบวก

ครูส่วนใหญ่มีกระบวนการที่อาจเป็นไปตามหลักเกณฑ์เหล่านี้บางประการ แต่พิธีกรรมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกประการ มันเรียบง่ายเสียจนดูราวกับว่าคุณเพียงกดปุ่มเปิดเพื่อแก้ปัญหาเท่านั้นเมื่อคุณเริ่มต้นพิธีกรรมขึ้นมา

 

 

ครูออกแบบพิธีกรรมขึ้นเพื่อดึงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมทางสังคมมากขึ้นและสร้างชุมชนขึ้นมา คุณอาจสงสัยว่าทำอย่างไร มันคือสิ่งที่ทุกคนในชั้นทำร่วมกัน (แม้ว่าจะทำเป็นทีมก็ตาม) เพื่อแก้ปัญหาที่พบบ่อย คุณอาจริเริ่มพิธีกรรมอย่างหนึ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงเปิดเทอมสัปดาห์แรกแล้วใช้ไปตลอดปีการศึกษาหรือตลอดปี

ต่อไปนี้คือตัวอย่างกิจวัตรในห้องเรียนอันล้ำค่าที่ช่วยให้นักเรียนทั้งชั้นแก้ปัญหาร่วมกัน

 

  • ต้อนรับกลับ เริ่มชั้นเรียนในตอนเช้า หลังจากช่วงพัก หรือหลังจากทำแบบฝึกหัดด้วยการต้อนรับกลับ ตัวอย่างเช่น “ถ้านักเรียนเข้าประจำที่ตรงเวลาให้ยกมือขึ้นแล้วบอกว่า ‘พร้อม!’ ทีนี้ หันไปทางเพื่อนที่นั่งข้างๆ แล้วบอกว่า “ยินดีต้อนรับ!”
  • ฉลองการเลิกชั้นเรียน เลิกชั้นเรียนด้วยการฉลอง ให้นักเรียนยืนเล่าประเด็นสำคัญจากบทเรียนในชั้นให้เพื่อนร่วมทีมอีกคนฟัง จากนั้นให้พวกเขากางแขนทั้งสองข้างจนสุดแขนแล้วตบมือเสียงดังพร้อมกับพูดว่า “เยี่ยม!”
  • ดึงความสนใจ ใช้นกหวีดและกล่าวว่า “นักเรียน เวลาครูจะสอนเรื่อง สำคัญมากๆ ครูอยากรู้ว่านักเรียนพร้อมหรือเปล่า เวลาครูเป่านกหวีด ให้ทุกคนบอกว่า ‘ทุกคนพร้อม!’ นะ เอาละ มาลองดูกัน”

 

สังเกตดูว่า พิธีกรรมเหล่านี้ตรงตามหลักเกณฑ์ห้าประการจากภาพทางด้านบน ภายใน 3-5 สัปดาห์ คุณจะสังเกตเห็นว่านักเรียนของคุณอาจคุ้นเคยกับกิจกรรมอย่างหนึ่ง เพลงเพลงหนึ่ง หรือพิธีกรรมอย่างหนึ่ง และคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนมัน ข้อดีของพิธีกรรมเหล่านี้คือ ทุกคนปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงกันถูกเวลาทุกๆ ครั้ง นักเรียนทุกคนเข้าสู่ภาวะเดียวกัน พร้อมกับกล่าวคำเดียวกัน นี่คือเครื่องมือสร้างเอกภาพและพิธีกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งล้ำค่าในห้องเรียนของคุณ อย่ามองข้ามเพราะมันดูเรียบง่ายเกินไปหรืออาจไม่เหมาะสำหรับนักเรียนชั้นโตกว่า ผู้เขียนยืนยันว่าใช้พิธีกรรมเหล่านี้กับนักเรียนชั้นอนุบาล-ม.6 มาแล้วและได้ผลดีทั้งสิ้น

 

การให้นักเรียนสอนซึ่งกันและกัน

 

นี่เป็นอีกปัจจัยเสริมอันแข็งแกร่งที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและความสำเร็จของนักเรียน เมื่อดำเนินการอย่างดี มันคือเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้อันทรงประสิทธิภาพอย่างยิ่งในบรรดากลยุทธ์ในห้องเรียนที่ดีที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก

การให้นักเรียนสอนซึ่งกันและกันอาศัยการสอนกลยุทธ์เสริมสร้างความเข้าใจโดยเฉพาะให้นักเรียน นักเรียนจะได้เรียนรู้กลยุทธ์สี่ประการ ได้แก่ (1) การตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อหา (2) การสรุปสิ่งที่อ่าน (3) การคาดเดาสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป และ (4) การพยายามอธิบายคำและวลีที่พวกเขาไม่เข้าใจ เมื่อให้นักเรียนสอนซึ่งกันและกัน ขณะที่คุณค่อยๆ ปลดความรับผิดชอบไปทีละน้อย นักเรียนเองก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ

ขั้นแรกลองให้นักเรียนอ่านเนื้อหาหนึ่งย่อหน้า จากนั้นอาจสาธิตกระบวนการใช้กลยุทธ์เหล่านี้กับเนื้อหาที่เลือกให้ดูเป็นแบบอย่างอย่างชัดเจน แล้วให้นักเรียนฝึกใช้กลยุทธ์เหล่านั้นกับเนื้อหาส่วนถัดไป ขณะที่คุณคอยสนับสนุนงานของนักเรียนแต่ละคนด้วยการฝึกสอน บอกใบ้ และให้คำอธิบาย คุณค่อยๆ ปลดความรับผิดชอบออกไปเพื่อให้นักเรียนคนนั้นสอนเนื้อหาดังกล่าวให้เพื่อนๆ ของเขาหรือเธอได้ ขนาดผลกระทบของการให้นักเรียนสอนซึ่งกันและกันนั้นค่อนข้างสูง จึงเป็นวิธีการแทรกแซงของครูที่จัดอยู่ในอันดับต้นๆ นั่นหมายถึงผลการเรียนที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งปีครึ่งทีเดียว

แม้นักเรียนจะเห็นครูสอน แต่พวกเขาไม่เข้าใจกระบวนการสอนที่มีคุณภาพ เพื่อให้การสอนซึ่งกันและกันเกิดประโยชน์ คุณจำเป็นต้องทำให้ดูเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างความเข้าใจ ลองพิจารณาการใช้กลยุทธ์หลักๆ ต่อไปนี้หลังจากสอนเนื้อหาให้นักเรียน ขั้นแรก ให้นักเรียนจับคู่ คู่ของพวกเขาอาจเป็นบัดดี้เพื่อนเรียนกันมานานหรือแค่ชั่วคราวก็ได้ การแสดงบทบาทเป็นกิจกรรมทางสังคมที่เรียบง่ายทว่ามีคุณภาพซึ่งมีประโยชน์ด้านการรู้คิด เมื่อจับคู่ได้แล้ว ให้สร้างการยอมรับดังที่เรากล่าวกันมาแล้วในบทก่อนหน้านี้ จากนั้นพวกเขาจะพร้อมสำหรับหนึ่งในหน้าที่ต่อไปนี้

 

  • อธิบายเนื้อหา เมื่อเนื้อหายาก มีระดับสูงกว่า หรือเขียนคลุมเครือ นี่คือขั้นตอนสำคัญยิ่งที่ต้องใช้ ตั้งคำถาม เช่น “ให้นักเรียนอธิบายเนื้อหาส่วนนั้นโดยใช้คำของนักเรียนเอง ข้อความนั้นทำให้นักเรียนเกิดข้อสงสัยอะไรบ้าง นักเรียนจะอธิบายเรื่องนั้นให้นักเรียนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหัวข้อนี้เลยอย่างไร”
  • สอนโดยทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ให้นักเรียนสอนให้เพื่อนทำอะไรบางอย่าง สอนวิธีทำแบบฝึกหัดต่อไป หรือสอนวิธีทำงาน การปรากฏ หรือการพัฒนาของอะไรบางอย่าง
  • เลือกข้าง กำหนดหัวข้อให้นักเรียนที่จับคู่กัน แล้วให้แต่ละคนเลือกข้าง พวกเขามีเวลาหนึ่งนาทีสำหรับคิดหรือเขียนประเด็นที่จะพูดสองสามประเด็น จากนั้นจึงให้เหตุผลสนับสนุนข้างของตน (ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับหัวข้อ) พวกเขาสามารถสลับข้างหรือหักล้างทัศนะของคู่ได้
  • แสดงบทบาท ให้นักเรียนแสดงบทบาท (ผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ ผู้นำ นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ หรือนักเคลื่อนไหว) แล้วเติมบุคลิกของบุคคลผู้นั้นเข้าไปเล็กน้อย พร้อมทั้งแถลงนโยบาย (บทสรุปเนื้อหา) นักเรียนอีกคนรับบทเป็นผู้มีข้อสงสัย (หรือผู้สื่อข่าว) และตั้งคำถามไม่เกินสามข้อ
  • ออกข้อสอบ ให้นักเรียนสองคนที่จับคู่กันช่วยกันตั้งคำถามคู่ละสามข้อเป็นเวลาเก้านาที เมื่อหมดเวลาให้ตัดคำถามที่ง่ายที่สุดออกจากแต่ละรายการ จึงเหลือคำถามสองข้อ จากนั้นให้พวกเขายืนขึ้นแล้วเดินหานักเรียนอีกคู่หนึ่ง ก่อนจะผลัดกันถาม โดยอาจกำหนดให้มีบุคคลที่สามทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน

 

เมื่อคุณชวนนักเรียนลุกขึ้นมาขยับร่างกาย จะเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและการหลั่งสารเคมีสำคัญอย่างโดพามีนและนอร์อะดรีนาลีน เพราะเหตุนี้ กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนลุกขึ้น เดิน พบปะคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งออกไปนอกห้องจึงเป็นความคิดที่เข้าท่าหากดำเนินการอย่างดี นี่คือกิจกรรมที่ทำให้สารเคมีในสมองอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการเรียนรู้มากขึ้น

 

การฉลองชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ ของนักเรียนทั้งชั้น

 

นอกจากการกำหนดเป้าหมายแล้ว ชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน กำหนดเป้าหมายของชั้นเรียนและหมุดหมายสำคัญ (การเข้าเรียน สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของการส่งรายงาน หรือการมีส่วนร่วม) จากนั้นเมื่อนักเรียนในชั้นใกล้บรรลุเป้าหมาย ให้กระตุ้นความสนใจและความมุ่งมั่น นี่คือโอกาสที่จะสอนคุณค่าของการจดจำเป้าหมายใหญ่ไว้ในใจ ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับปัจจุบัน เป้าหมายย่อยๆ ช่วยรักษาขวัญกำลังใจให้แข็งแกร่งอยู่เสมอ

พลังของจังหวะเวลาและจุดมุ่งหมายของการฉลองนั้นเกิดจากการจัดการภาวะของนักเรียนด้วยการสร้างความมั่นใจ การฉลอง และการให้รางวัลทางอารมณ์ การฉลองทำได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น กำหนดให้การฉลองเป็นกิจกรรมของทีม นักเรียนในทีมจะวางแผนการฉลองที่กินเวลา 15 วินาทีแล้วทำหน้าที่เป็นผู้นำเพื่อนทั้งชั้นในการฉลองนี้ หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ คุณอาจสร้างสรรค์พิธีกรรมเฉลิมฉลองของชั้นเรียนโดยอาศัยการเต้นอย่างสนุกสนานหรือการตบมือเป็นจังหวะพร้อมกับยืนยันว่า “เราทำได้!” แง่มุมทางสังคมของกลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วมนี้คือกุญแจสำคัญ

 

เพราะคุณมีทางเลือกเสมอ เลือกชุดความคิดของตัวคุณเองได้เลย

“ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วม”

 

ครูจำนวนมากที่ประสบปัญหาอาจคิดว่าการมีส่วนร่วมเท่ากับการสูญเสียอำนาจควบคุมชั้นเรียนหรือเป็นงานที่มากเกินไปเท่านั้นเอง การมีส่วนร่วมจำเป็นต้องเป็นโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตที่ไหลไปทั่วทั้งชั้นเรียนทุกวันและทั้งวัน ครูที่มีผลงานดีเยี่ยมผนวกการมีส่วนร่วมไว้ในการสอนอย่างแนบสนิทจนแยกจากกันไม่ได้ เป้าหมายคือการมีส่วนร่วมอย่างไม่หยุดยั้ง นั่นหมายความว่าคุณต้องการดึงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมทุกๆ ไม่เกินเก้านาที ในความเป็นจริงอาจมีงานที่มอบหมายให้นักเรียนอ่าน เขียน หรือครุ่นคิดซึ่งกินเวลานานกว่าเก้านาที อย่างไรก็ดี ในกรณีอื่นๆ ให้วางแผนสร้างการมีส่วนร่วมหลายๆ ครั้ง โดยห่างกันครั้งละเก้านาที

ดังที่เราได้เห็นแล้วว่า ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วมเป็นวิธีคิดเกี่ยวกับงานของคุณโดยเฉพาะ ชุดความคิดดังกล่าวพูดถึงสามประเด็น ประเด็นแรก ชุดความคิดนี้บอกว่าการสร้างการมีส่วนร่วมนั้นคุ้มค่า เห็นได้จากงานวิจัยอันน่าเชื่อถือ สอง ชุดความคิดนี้บอกว่านี่คือสิ่งที่ทำได้โดยอาศัยกลยุทธ์ในหนังสือเล่มนี้ และสาม คุณสามารถผนวกการมีส่วนร่วมไว้ในการสอนของคุณได้อย่างดีจนแยกไม่ออก

กล่าวสั้นๆ ก็คือ ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วมมีหลักคิดว่า เมื่อคุณทุ่มเทให้กับการดึงนักเรียนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมทุกๆ วัน การเรียนรู้ย่อมมีค่า น่าสนใจ และทำได้จริง นั่นเท่ากับว่าชุดความคิดนี้ได้รับการปลูกฝังอย่างยั่งยืนแล้ว

 

อ่านซีรีส์ ‘7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน’ ย้อนหลังได้ที่นี่

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่