Creating Innovators: สอนคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักคิด

เรื่อง: โทนี วากเนอร์

 

หลายเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงคำถามและความเข้าใจใหม่ๆ เป็นเหตุให้ผมต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

The Global Achievement Gap หนังสือเล่มที่แล้วของผมซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2008 อธิบายถึงทักษะใหม่ๆ ที่นักเรียนต้องใช้เพื่อประกอบอาชีพ เรียนมหาวิทยาลัย และเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 และพูดถึงช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างทักษะเหล่านี้กับสิ่งที่สอนและสอบกันในโรงเรียน จากที่หนังสือได้รับคำชมจากผู้อ่านหลากหลายกลุ่มอย่างล้นหลาม รวมถึงตัวผมได้รับเชิญจากทั่วทุกมุมโลกให้ไปบรรยาย แสดงว่าในหนังสือเล่มนั้นผมคงพูดถูกอยู่หลายอย่าง แต่ตอนนี้ผมเห็นว่าทักษะใหม่ๆ ที่เคยอธิบายไว้ ซึ่งผมเรียกว่าทักษะเพื่อการอยู่รอดเจ็ดประการนั้น แม้จะจำเป็น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา โลกได้เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เศรษฐกิจโลกตะวันตกกำลังง่อนแง่น ในสหรัฐอเมริกา อัตราการว่างงานและการทำงานต่ำระดับเมื่อรวมกันแล้วสูงกว่าร้อยละ 15 และในยุโรปบางประเทศสถานการณ์ก็เลวร้ายกว่านี้มาก นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากกล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาคือต้องทำให้ผู้บริโภคเริ่มใช้จ่ายอีกครั้งเพื่อสร้างงานใหม่ๆ แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่กู้ยืมเงินได้ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว และเนื่องจากหลายคนกลัวตกงาน จึงออมเงินในอัตราสูงกว่าเมื่อสองสามปีก่อนมาก

ยังไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริโภค รวมถึงอัตราการว่างงานต่ำซึ่งเป็นผลพลอยได้จะกลับมาอีกเมื่อไร หรือกระทั่งว่าจะมีวันกลับมาหรือไม่ ขณะเดียวกัน ทั้งนักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายก็ยังคงถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่า จะใช้มาตรการลดหนี้หรือสร้างตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้นดี ซึ่งในระยะสั้นล้วนแต่จะสร้างหนี้ให้รัฐบาลทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้นำส่วนใหญ่เห็นตรงกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ สุขภาพระยะยาวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบนั้นต้องอาศัยการสร้างนวัตกรรมให้มากกว่าเดิมอีกมาก ความคิด สินค้า และบริการใหม่ๆ หรือที่ต่อยอดจากของเดิมจะทำให้เกิดความมั่งคั่งและงานใหม่ๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะผู้นำธุรกิจนั้นกล่าวกันว่า เรายังต้องการคนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างนวัตกรรมในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมอีกมาก

หลายคนออกความเห็นว่า สิ่งที่เรียกกันว่าสะเต็มศึกษา (STEM education หรือการศึกษาแบบบูรณาการความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) จะสำคัญต่ออนาคตของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกลุ่มสนับสนุนรีพับลิกัน เดโมแครต หรือกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คนรุ่นใหม่ของสหรัฐอเมริกาทุกคนต้องเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายแบบ “พร้อมสำหรับมหาวิทยาลัย” และเรียนระดับอุดมศึกษาต่ออีกสองถึงสี่ปี โดยเฉพาะในสาขาสะเต็มศึกษา เพื่อให้พร้อมยิ่งขึ้นที่จะทำงานที่จ่ายค่าแรงสูงและต้องการทักษะสูง

โธมัส ฟรีดแมน และไมเคิล แมนเดิลบาม ยังนำประเด็นนี้ไปหารือต่อใน That Used to Be Us หนังสือเล่มล่าสุดของทั้งคู่ด้วย โดยกล่าวว่า มีแต่งานของนวัตกรและผู้ประกอบการเท่านั้นที่จะต้านทานการจัดจ้างบุคคลภายนอกหรือระบบอัตโนมัติในยุคเศรษฐกิจแห่งความรู้ระดับโลกได้

ในขณะที่ข้อถกเถียงเหล่านี้กำลังเป็นที่สนใจ คนก็เริ่มกังวลกันมากขึ้นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัย รวมถึงเรื่องว่านักศึกษาได้เรียนรู้จากชั้นเรียนมากน้อยแค่ไหน เมื่อปี 2010 ยอดหนี้กู้ยืมเพื่อเรียนมหาวิทยาลัยพุ่งแซงหนี้บัตรเครดิตเป็นครั้งแรก คิดเป็นเงินประมาณหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อต้นปี 2011 งานวิจัยชิ้นใหม่เผยให้เห็นว่า หลังจากเรียนมหาวิทยาลัยสองปี นักศึกษาเกือบครึ่งไม่ได้เชี่ยวชาญขึ้นกว่าเมื่อเริ่มเรียนเลย และนักศึกษาจำนวนหนึ่งในสามไม่ได้อะไรเลยหลังจากเรียนครบสี่ปี สถิติบ่งชี้ว่า คนเรียนจบปริญญาตรีมีรายได้เยอะกว่าคนเรียนจบมัธยมปลายมาก แต่นั่นเป็นเพราะพวกเขาเก่งกว่าจริงๆ หรือเพราะมีปริญญาช่วยเบิกทางท่ามกลางเรซูเมที่กองเป็นภูเขาเลากา

จากความคิดเห็นเกือบเอกฉันท์ว่า นวัตกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจทุกวันนี้อย่างยิ่งยวด ผมตัดสินใจจะหาคำตอบว่า เราจะสอนคนรุ่นใหม่ให้เป็นนวัตกรได้อย่างไร ขีดความสามารถที่สำคัญต่อนวัตกรรมที่สุดคืออะไร รวมถึงว่าวิธีไหนใช้สอนพวกเขาได้ดีที่สุด และประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือ สิ่งที่เป็นองค์ประกอบแท้จริงของสะเต็มศึกษาซึ่งมีความสำคัญ

สำหรับผม คำถามที่ว่า ครูจะพัฒนาทักษะที่สำคัญที่สุดต่ออนาคตของประเทศให้นักเรียนได้อย่างไร กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนยิ่งขึ้นเมื่อผมได้ติดตามการอภิปรายเรื่องการปฏิรูปการศึกษาทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา ผมอนาถใจจริงๆ กับแนวคิดที่ยึดถือกันอย่างกว้างขวางที่ว่า ดัชนีวัดประสิทธิภาพที่ดีที่สุดของครูคือผลสอบปรนัยแบบมาตรฐานของนักเรียน ผมไม่เห็นด้วยกับการรับประกันการจ้างงานครู และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งในเรื่องความรับผิดชอบที่จะพัฒนาการเรียนของนักเรียน

อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนจำนวนมากไม่รู้หรอกว่า ต้องใช้การเรียนการสอนแบบไหนเพื่อผลิตนักเรียนที่สามารถคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ไม่ใช่แค่สอบได้คะแนนดี พวกเขาก็ไม่รู้ด้วยว่า วิธีสอนแบบไหนจะกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กสมัยนี้ได้ดีที่สุด และแบบทดสอบที่ผู้กำหนดนโยบายยังใช้เป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางการศึกษาอยู่นั้นก็ไม่ได้วัดทักษะใดๆ ที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันเลย เราต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับการสอนที่มีคุณภาพกว่านี้ รวมถึงแหล่งรวบรวมหลักฐานความสำเร็จที่ดีกว่านี้ เพื่อเป็นข้อมูลในการอภิปรายด้านการศึกษา

ตั้งแต่ The Global Achievement Gap ตีพิมพ์ออกมา ผมได้รับอีเมลอย่างท่วมท้นจากผู้ปกครองที่กังวลใจ ผู้ปกครองเหล่านี้ทราบดีว่าโรงเรียนของลูกไม่ได้สอนทักษะจำเป็น และอยากทราบว่าพวกตนจะทำอะไรได้บ้าง ผมมีประสบการณ์ตรงในฐานะพ่อของลูกที่น่ารักสามคนซึ่งตอนนี้โตจนมีลูกของตัวเองกันไปหมดแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอจะแนะนำผู้ปกครองท่านอื่น ผมเองก็เริ่มสงสัยแล้วละว่า ผู้ปกครองต้อง ทำ อย่างไรเพื่อปลูกฝังทักษะและคุณลักษณะที่สำคัญให้ลูกๆ

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสร่วมงานกับบริษัทที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมอย่างยิ่ง เช่น แอปเปิล ซิสโก้ ซีสเต็มส์ และสกอลาสติก รวมถึงผู้นำระดับสูงในกองทัพบกของสหรัฐอเมริกา ผมสนใจว่าผู้นำเหล่านี้มองโลกและรับมือความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้นอย่างไร

ผมเริ่มสนใจว่านายจ้างที่ดีที่สุดทำอย่างไรเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นนวัตกร เมื่อไม่นานมานี้ ผมยังได้พบผู้นำในแวดวงการศึกษาหลายท่าน และได้ไปชมโรงเรียนหลายแห่งในประเทศฟินแลนด์ซึ่งถือว่ามีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก และยังได้รับยกย่องว่าช่วยสร้างเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผมอยากค้นหาดูว่าเราจะเรียนรู้อะไรจากความสำเร็จของฟินแลนด์ได้บ้าง

สุดท้าย เด็กรุ่นที่เรียกกันว่ารุ่นอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่โตขึ้นมาเป็น “ชาวดิจิทัล” อย่างที่มาร์ก เพรนสกี ขนานนามยังทำให้ผมข้องใจมาตลอด ผมได้สัมภาษณ์เด็กอายุ 20 กว่าๆ หลายคนตอนเขียนหนังสือเล่มที่แล้ว แต่รู้สึกว่าเข้าใจเด็กรุ่นนี้แค่ผิวๆ เท่านั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเด็นเรื่องการขาดจรรยาบรรณในการทำงานของเด็กรุ่นนี้ก็เริ่มร้อนแรง ผมเลยอยากเข้าใจให้ดีขึ้นว่า มีวิธีไหนอีกที่อาจจะสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาได้ และการสอนรวมถึงความเป็นผู้นำรูปแบบใดที่พวกเขาจะตอบสนองดีที่สุด

ความคิดที่จะทำหนังสือเล่มใหม่เริ่มปรากฏขึ้นจากอิทธิพลและคำถามอันหลากหลายเหล่านี้นี่เองครับ เริ่มแรก ผมตัดสินใจลองเป็นนักเรียนด้านนวัตกรรม ซึ่งผมแทบไม่มีความรู้เลยจนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้ ผมพยายามทำความเข้าใจว่า อะไรคือทักษะของนวัตกรที่ประสบความสำเร็จ และทำไมทักษะเหล่านั้นจึงสำคัญต่ออนาคตของเรา

ผมสัมภาษณ์หนุ่มสาววัย 20 กว่าๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงนวัตกรรมเป็นอย่างยิ่ง และศึกษา “ระบบนิเวศ” ของพวกเขา ทั้งอิทธิพลจากผู้ปกครอง ครู และที่ปรึกษาที่พวกเขาบอกว่าสำคัญต่อพัฒนาการของตนมากที่สุด ผมอยากดูว่าจะถอดรูปแบบการเลี้ยงลูกที่เอื้อให้เกิดการบ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่ได้หรือไม่

แล้วครูหลายท่านที่นวัตกรเหล่านี้พูดถึงว่าสำคัญต่อพัฒนาการของตนที่สุดล่ะ วิธีการที่แต่ละท่านใช้มีจุดร่วมกันหรือไม่ รวมถึงว่ามีมหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรระดับปริญญาโทที่สอนทักษะด้านนวัตกรรมได้ดีเยี่ยมไหม ถ้ามี มหาวิทยาลัยและหลักสูตรเหล่านั้นแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร

ผมยังต้องการจะเรียนรู้ด้วยว่า ที่ปรึกษาและนายจ้างของเหล่านวัตกรรุ่นใหม่นี้จะพูดเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการส่งเสริมความสามารถเหล่านี้อย่างไร

ผมได้สัมภาษณ์นวัตกรรุ่นใหม่หลายคนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน นักดนตรี ซึ่งล้วนเป็นดาวรุ่ง และคนอื่นๆ ที่ก่อตั้งบริษัทหรือทำงานให้บริษัทที่มีนวัตกรรมสูงสุดของโลก รวมถึงนวัตกรสังคม และผู้ประกอบการที่มองหาวิธีที่ดีกว่าเดิมเพื่อแก้ปัญหาสังคม

หลังจากนั้น ผมไปสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ครู และที่ปรึกษาของพวกเขา ไปสังเกตการณ์ชั้นเรียนต่างๆ และสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งรวมถึงหลักสูตรปริญญาโทที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติด้านการผลิตนวัตกร สุดท้าย ผมสัมภาษณ์ผู้นำธุรกิจและผู้นำทางทหารที่ต้องรับมือความท้าทายในการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมทั้งหมดแล้วผมสัมภาษณ์คนกว่า 150 ชีวิตสำหรับหนังสือเล่มนี้

งานนี้ถือเป็นงานที่เพลิดเพลินมากครับ แต่ก็ท้าทายด้วยขอบเขตและความซับซ้อน ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงตัดสินใจว่า ในเล่มนี้จะคัดเลือกเฉพาะนวัตกรรุ่นใหม่อายุ 21-32 ปีที่อยู่ในสองกลุ่มเท่านั้น คือ คนทำงานเชิงนวัตกรรมในสาขาที่เรียกกันว่าสะเต็มศึกษา และคนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการสังคม กลุ่มแรกสำคัญต่ออนาคตด้านเศรษฐกิจของเรา ส่วนกลุ่มหลังสำคัญต่อสังคมและคุณภาพชีวิต

ผมยังเลือกรวมนวัตกรและผู้ประกอบการไว้ในหมวดหมู่เดียวกัน ผมตระหนักดีว่านวัตกรทุกคนไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับที่ผู้ประกอบการทุกคนไม่ได้เป็นนวัตกร แต่ผมค้นพบว่า คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์มุ่งหวังจะเป็นทั้งสองอย่าง และนวัตกรกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่เหล่านี้ ไม่ว่าจะสนใจสาขาใดก็ล้วนมีรากฐานบางอย่างเหมือนกัน

ถ้าให้เล่าว่าผมเจอทุกคนที่สัมภาษณ์ได้อย่างไร คงเขียนหนังสือได้อีกเล่ม การหาข้อมูลเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างเหมือนการตามลิงก์ในอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ ผู้วิจัยหลายคนที่เป็นลูกศิษย์ของผมแนะนำชื่อคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาเคยพบหรืออ่านเจอ ในขณะที่นักลงทุนอิสระและนักธุรกิจเงินร่วมลงทุนช่วยแนะนำให้ผมรู้จักคนอื่นๆ ที่เหลือ บางคนก็เป็นฝ่ายเจอผมเอง เช่น พลเอกมาร์ติน เดมป์ซีย์ เรียกได้ว่าคนหนึ่งพาผมไปเจอคนหนึ่ง และคนนั้นก็พาไปเจออีกคน ผมจะไม่กล่าวอ้างว่าใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบ “วิทยาศาสตร์” อย่างไรก็ตาม จากสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ตลอดสามปีที่ผ่านมา ผมมั่นใจมากว่านวัตกรที่ผมบันทึกข้อมูลไว้อย่างละเอียดถือเป็นกลุ่มตัวอย่างที่สะท้อนภาพรวมได้

ผมเป็นหนี้บุญคุณนวัตกรทุกคน ทั้งที่เขียนถึงในหนังสือเล่มนี้ และที่ไม่ได้เขียนถึงเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องหน้ากระดาษ รวมถึงผู้ปกครอง ครู และที่ปรึกษาของพวกเขาด้วย ทุกท่านเสียสละเวลาหลายต่อหลายชั่วโมงให้สัมภาษณ์และตอบอีเมลติดตามผลหลายฉบับ ทั้งยังอนุญาตให้ผมทราบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตและประวัติครอบครัวด้วย

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ปกครอง ครู (ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย) ที่ปรึกษา นายจ้าง หรือผู้กำหนดนโยบาย ผมคิดว่าคุณจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายจากเรื่องราวของนวัตกรรุ่นใหม่เหล่านี้ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ช่วยพัฒนาความสามารถของพวกเขา

ผมทราบดีว่าผมได้รับแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่องจากคนที่ผมสัมภาษณ์เพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ จึงขอเชิญชวนให้คุณอ่าน เรียนรู้ จากนั้นก็ไตร่ตรอง แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนและเพื่อนร่วมงานกันต่อ

ถ้าจะสร้างอนาคตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้ลูกหลาน ยังมีสิ่งที่เราทำได้และต้องทำร่วมกันอีกมากเลยครับ

 

 

หมายเหตุ: คัดจาก “บทนำ” หนังสือ Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก