“สามัญสำนึก” – เมื่อสามัญชนปฏิวัติ

เรื่อง: ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

ในวันที่ 10 มกราคม 1776 จุลสารเล่มเล็กในหัวข้อที่ไม่น่าตื่นเต้นเท่าไรนัก – สามัญสำนึก (Common Sense) – ปรากฏตัวต่อมหาชนในเมืองฟิลาเดลเฟีย ในเวลานั้นมีสิ่งพิมพ์เผยแพร่ความคิดทางการเมืองออกมาไม่น้อยในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะจุลสารและแผ่นปลิว (pamphet) สะท้อนความเคลื่อนไหวของชาวอาณานิคมอเมริกันในอเมริกาเหนือที่เติบใหญ่เคียงข้างกับการเติบโตของเมืองและเศรษฐกิจการผลิตแบบทุนของชนชั้นกระฎุมพี

สามัญสำนึก ต่างจากจุลสารทางการเมืองฉบับอื่นๆ ตรงที่นำเสนอข้อถกเถียงที่ทรงพลังยิ่ง อันนำไปสู่การตัดสินใจประกาศเอกราชจากจักรภพอังกฤษของชาวอาณานิคม ประเด็นอันเป็นหัวใจของจุลสารนั้นคือการวิพากษ์ระบอบกษัตริย์ที่สร้างระบบการปกครองจากการสืบมรดกทางครอบครัว ในขณะเดียวกันก็เสนอภาพที่เหนือกว่าของระบอบมหาชนรัฐที่มาจากประชาชน ไม่เพียงแต่ในเรื่องรูปแบบของการปกครองเท่านั้น แต่ที่สำคัญยิ่งคือจุดหมายของการปกครองและรัฐบาล ว่าต้องเป็นการปกครองเพื่อความดีงามของส่วนรวม (public good) ไม่ใช่ของอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น

อิทธิพลและความสำคัญของ สามัญสำนึก เป็นที่ประจักษ์ชัด จุลสารเล่มนี้ขายได้นับแสนเล่มในระยะเวลา 3 เดือนหลังตีพิมพ์ และห้าแสนเล่มในปีแห่งการปฏิวัติอเมริกัน ทั้งที่ประชากรในอาณานิคมยุคนั้นมีเพียง 2-3 ล้านคน

ถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1776 จุลสารดังกล่าวได้สลายความรู้สึกจงรักภักดีต่อกษัตริย์จอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษที่ยังคาราคาซังอยู่ในหมู่ชาวอาณานิคมลงไปโดยสิ้นเชิง นั่นคือการเอาอุปสรรคทางจิตวิทยาอันสุดท้ายที่ขวางกั้นการเป็นเอกราชออกไป ดังที่ทราบกันดี วันที่ 4 กรกฎาคม 1776 ขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนอเมริกันก็ประกาศเอกราช ตัดความสัมพันธ์แบบอาณานิคมและการเป็นข้าราชบริพารของกษัตริย์อังกฤษลงไป จากนั้นก็เข้าสู่การทำสงครามเอกราชกับกองทัพอังกฤษอย่างเต็มตัว กระทั่งได้รับเอกราชในปี 1783 สามัญสำนึก จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นจุลสารที่มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อการปฏิวัติอเมริกา

 

ภาพวาดสีน้ำมันโธมัส เพน ราวปี 1792 โดยศิลปินฝรั่งเศส ออกุสต์ มิลลิแยร์ (Auguste Millière) ที่มา: wikimedia.org

 

บุคคลผู้เขียนจุลสาร สามัญสำนึก คือ โธมัส เพน (Thomas Paine) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม ทอม เพน ที่น่าแปลกใจคือเขาเป็นคนอังกฤษ ไม่ใช่ชาวอาณานิคมอเมริกันมาก่อน เพนเกิดเมื่อปี 1737 ในเมืองเธ็ทฟอร์ด เขตนอร์ฟอล์ก อยู่ห่างกรุงลอนดอนขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 70 ไมล์ เมืองนี้มีชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของหัตถอุตสาหกรรมในชนบท แม้ประชากรส่วนใหญ่ในศตวรรษที่ 18 เป็นเกษตรกร หลายคนก็ทอผ้าปั่นฝ้ายในบ้านเพื่อส่งให้อุตสาหกรรมทอผ้าที่กำลังเติบใหญ่ ความคึกคักของการค้าเห็นได้จากการที่เมืองนี้มีตลาดทุกวันเสาร์และงานเทศกาลประจำปีในวันที่ 1 พฤษภาคม นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรสลักสำคัญที่นักประวัติศาสตร์ให้ความสนใจ

ยิ่งเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้หากจะมีใครสักคนทำนายว่า เด็กที่เกิดในเมืองนี้ในวันหนึ่งข้างหน้าจะเป็นบุคคลสำคัญของโลกในศตวรรษที่ 18

 

ภาพวาดสีน้ำมันกรุงลอนดอนราวปี 1757 โดยศิลปินอังกฤษ ซามูเอล สกอตต์ ที่มา: commons.wikimedia.org

 

โธมัส เพน – ภูมิหลังทางครอบครัวและการงาน

 

โธมัส เพน เกิดในครอบครัวที่ไม่ถึงกับยากไร้ไม้สอย แต่ก็ไม่ร่ำรวย พ่อเป็นช่างทำสเตย์รัดรูปและเกษตรกรขนาดเล็ก ที่สำคัญพ่อของเพนเป็นเควกเกอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคริสเตียนที่เห็นต่างจากคาทอลิก ส่วนแม่เป็นลูกสาวของอัยการท้องถิ่น และเป็นแองกลิคัน ครอบครัวจึงพอส่งเพนเข้าโรงเรียนจนจบได้

จากนั้น เพนก็เริ่มทำงานด้วยการเป็นลูกมือฝึกหัดในโรงทำสเตย์ตามแบบพ่อ เขาทำงานช่างฝีมืออยู่ 12 ปี จากการเป็นลูกมือฝึกหัด ไปเป็นช่างรับงาน และเป็นนายช่าง โดยรวมแล้วเพนไม่มีความสุขกับอาชีพและงานที่เขาทำนัก เนื่องจากต้องใช้แรงงานมากและได้แต่พูดคุยกับผู้หญิงมากกว่าการได้สังสรรค์กับคนมีความรู้ในเมือง เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาจึงตัดสินใจไปเผชิญโชคครั้งแรกด้วยการสมัครทำงานในเรือเดินทะเล

ในปี 1767 เพนกลับมาบ้าน และไปทำงานกับช่างสเตย์มีชื่อในกรุงลอนดอน ทำได้ 2 ปีก็ย้ายไปเมืองโดเวอร์ นายจ้างใหม่ใจดีให้เงินเขา 10 ปอนด์เพื่อเปิดร้านทำสเตย์ของตนเอง ช่วงนี้เองเขาเจอแมรี แลมเบิร์ต ซึ่งทำงานเป็นคนใช้ของเจ้าของร้านขายของชำ เพนแต่งงานกับเธอ แต่ไม่ถึงปีภรรยาก็เสียชีวิต ต่อมา พ่อตาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรและภาษีในเมือง ได้ชักจูงให้เพนมาทำงานราชการเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรและภาษี เขาจึงกลับไปเรียนวิชาคณิตศาสตร์และการเขียนภาษาอังกฤษสำหรับการสอบเข้าเป็นพนักงานศุลกากร

ในปี 1762 เพนได้รับการบรรจุในตำแหน่งต่ำที่สุดของหน่วยงานศุลกากร ทำได้ 3 ปีเขาก็ถูกไล่ออก ด้วยข้อหาที่เจอกันบ่อยคือไม่ได้ตรวจดูสินค้าทั้งหมดที่ออกใบภาษีให้ จากนั้นเขาย้ายไปลอนดอน คราวนี้เขาหางานที่อยากทำมากหน่อยคืองานสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนเล็กๆ ซึ่งให้เงินเดือนน้อยมากแทบไม่พอยาไส้ ได้เพียงครึ่งหนึ่งของเงินเดือนตอนเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากร ระหว่างนี้เพนเริ่มมีกิจกรรมกับชาวบ้านชาวเมืองมากขึ้น คือไปเทศนาและพูดคุยกับคนกลุ่มเล็กๆ ในย่านที่พักของเขา แสดงว่าเขามีนิสัยชอบทำงานมวลชนและอภิปรายปัญหาของชาวบ้าน

ในปี 1768 เพนทำเรื่องยอมรับผิดและขอกลับเข้าทำงานศุลกากรอีก ในที่สุดเขาได้กลับไปทำงานศุลกากรอีกครั้งที่เมืองลูอิส ในซัสเซกซ์ เมืองการค้าห่างจากลอนดอน 50 ไมล์ เพนพักอาศัยอยู่ในบ้านของเจ้าของธุรกิจยาสูบซึ่งเป็นคนมีฐานะและเป็นพลเมืองมีชื่อ เคยได้รับเลือกเป็นตำรวจประจำเมือง หลังจากเจ้าของตาย เพนแต่งงานกับลูกสาวของเขาและทำธุรกิจยาสูบของครอบครัวต่อ นอกเหนือจากงานเก็บภาษีและศุลกากร แม้สภาพการงานและการเงินทำท่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เพนกลับเต็มไปด้วยความไม่พอใจต่อสภาพแวดล้อมทั้งหลายในตอนนั้น เขาเดินทางไปกรุงลอนดอนในช่วงปี 1772-1773 เพื่อรวบรวมพรรคพวกที่ไม่พอใจกับการทำงานศุลกากร ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องขึ้นเงินเดือน เขาถูกไล่ออกจากราชการด้วยข้อหาละทิ้งงานในหน้าที่ ในขณะเดียวกันร้านขายยาสูบของภรรยาก็ล้มละลาย ทำให้เขากับภรรยาแยกทางกัน

ในปี 1774 เพนตัดสินใจไปแสวงหาชีวิตใหม่ในอเมริกาด้วยวัย 37 ปี

 

การศึกษาทางการเมืองของโธมัส เพน

 

โธมัส เพน ศึกษาการเมืองและสร้างมโนทัศน์ทางการเมืองขึ้นมาจากการเติบโตในครอบครัวที่ปลูกฝังความคิดอิสรเสรีให้แก่เขามาแต่เล็ก และอีกด้านจากอาชีพการงานทั้งที่เป็นช่างอิสระและเป็นพนักงานรัฐ ความคิดที่มีส่วนพัวพันกับการเมืองของเพนมาจากความเป็นเควกเกอร์ของครอบครัวเป็นประการแรก

พวกเควกเกอร์เป็นกลุ่มคริสเตียนฝ่ายเห็นต่าง (dissenter) จากคาทอลิก ก่อตั้งในอังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 เมื่อเกิดการปฏิรูปศาสนาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์ คาทอลิกในอังกฤษกลายเป็นแองกลิคัน จากนั้นมีการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย เควกเกอร์อยู่ในฝ่ายโปรเตสแตนต์แต่ก็มีศรัทธาและวัตรปฏิบัติของตนเองที่ไม่เหมือนนิกายอื่นๆ หลักการใหญ่คือการเคารพความเป็นอิสระและแสงสว่างในตัวเองของแต่ละคนในการเข้าถึงพระเจ้า เมื่อนำความเชื่อทางศาสนาดังกล่าวไปตรวจสอบสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมและการปกครองของรัฐบาลอังกฤษขณะนั้น สิ่งแรกที่เพนไม่อาจรับได้คือการดำรงอยู่ของความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม

อิทธิพลประการต่อมาของลัทธิเควกเกอร์ได้แก่ความต้องการปฏิรูปสังคม พวกเควกเกอร์เป็นคนมีการศึกษา มีความรู้ และเทคโนโลยี จึงสามารถประกอบกิจการและจัดการปัญหาต่างๆ ได้ แต่พวกเขาขาดโอกาสและอำนาจในการปกครอง สิ่งที่พวกเขาเสนอและหาทางกระตุ้นให้คนอื่นทำตามคือการเสนอโครงการปฏิรูปต่างๆ ออกมา ในยุคนั้นวาระการปฏิรูปที่สำคัญ ได้แก่ การต่อต้านและทำลายระบบทาสผิวดำ ส่วนในระดับท้องถิ่นคือการยกเลิกระบบการดวลปืน อีกเรื่องคือการยอมรับให้พวกที่คิดเห็นต่างจากสำนักกระแสหลักสามารถเข้ารับตำแหน่งการงานในระบบราชการได้ และสุดท้ายคือความคิดให้แยกศาสนาออกจากรัฐและการเมือง

แนวคิดอีกด้านที่มีผลต่อความคิดทางการเมืองแบบราดิคัลของเพนอย่างไม่น่าเชื่อ คืออิทธิพลของวิทยาศาสตร์แบบนิวตันซึ่งสอนว่าจักรวาลนี้มีระเบียบและความสมานฉันท์ (harmony and order) ที่ชี้นำโดยกฎธรรมชาติ เพนคิดว่าเขาสามารถจินตนาการถึงสังคมและการเมืองที่มีระเบียบและความสมานฉันท์แบบหนึ่งขึ้นมาได้เหมือนกัน กล่าวคือ สถาบันทางการเมืองทั้งหมดย่อมนำมาตัดสินด้วยเหตุผลได้ เมื่อมองจากจุดที่เป็นวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยม เขาพบว่าระบบการปกครองของอังกฤษที่วางอยู่บนกฎที่ทำสืบกันมา (precedent) ย่อมขัดและเป็นปฏิปักษ์ต่อสปิริตของการค้นคว้าความจริง รวมถึงการวิพากษ์และการปรับปรุงให้ดีขึ้น

ความขัดแย้งในระดับพื้นฐานดังกล่าวกลายมาเป็นฐานให้แก่การถกเถียงและการแพร่หลายของความคิดทางการเมืองแบบราดิคัล โดยเฉพาะในระยะกลางศตวรรษที่ 18 เมื่อชนชั้นปกครองอังกฤษทวีการมองว่าความคิดเชิงเหตุผลนิยมเหล่านี้กำลังเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสถาบันทางจารีตประเพณี ด้วยกรอบคิดและสภาพทางการเมืองของอังกฤษดังกล่าวนี้เอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ผู้ต่อมากลายเป็นมิตรและเพื่อนร่วมอุดมการณ์การเมืองในอเมริกา คือเบนจามิน รัช (Benjamin Rush) แห่งเมืองฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์นั้นล้วนแต่ชอบเสรีภาพกันทั้งนั้น”

ความสนใจในเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เพนศึกษาและทดลองเครื่องมือวิทยาศาสตร์เท่าที่เขาสามารถทำได้ จากการติดตามศึกษาวิทยาศาสตร์นี้เอง ทำให้เขาได้เข้าไปรู้จักนักวิทยาศาสตร์มีชื่อหลายคน เช่น จอห์น เบวิส (John Bevis) และที่สำคัญคือ จอร์จ ลูอิส สกอตต์ (George Lewis Scott) ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์มีชื่อเสียง และเป็นผู้แนะนำให้เพนรู้จักกับเบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin)

เพนใช้ชีวิต 37 ปีในอังกฤษ เติบใหญ่ผ่านการทำงานอาชีพหลากหลายในช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความคับข้องใจ ความกดดัน และความขัดแย้ง ความรู้สึกเหล่านั้นแผ่กระจายไปในความคิดและความเข้าใจของเขา ก่อนตัดสินใจลงเรือไปอเมริกา เขาสรุปว่าอนาคตของการแก้ไขปฏิรูปในอังกฤษนั้นเบาบางและไร้น้ำหนัก ไม่มีหนทางของการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจใดๆ จะเกิดและดำเนินไปได้ท่ามกลางโครงสร้างอำนาจและการปกครองที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลแบบนี้

ทางออกสุดท้ายสำหรับเขาคือการไปสร้างชีวิตใหม่และผลักดันอุดมการณ์ทางการเมืองที่เขาศรัทธาและเชื่อถือในโลกใหม่

โชคดีที่เพนได้เงินก้อนหนึ่งหลังจากหย่าร้างกับภรรยาและขายทิ้งกิจการยาสูบ สำหรับเป็นค่าโดยสารเรือไปอเมริกาในห้องโดยสารชั้นหนึ่ง แทนที่จะนั่งไปอย่างทรมานและลำบากลำบนเหมือนอย่างพวกชาวบ้านและนักโทษ ตัวเขาไม่ต้องมีสภาพเป็น “ลูกจ้างมีสัญญา” (indentured servant) ซึ่งต้องทำใบสัญญากู้เงินค่าโดยสาร แล้วชดใช้ด้วยการทำงานใช้แรงให้นายจ้างในอเมริกา จนกว่าจ่ายค่าโดยสารหมดถึงจะได้เสรีภาพในการทำงานของตนเองต่อไป

เพนก้าวขึ้นฝั่งในอเมริกาพร้อมกับจดหมายแนะนำตัวที่เขียนโดยเบนจามิน แฟรงคลิน เขาเดินเข้าไปในนครที่กำลังคุกรุ่นด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่ดุเดือด พร้อมกับอารมณ์รุ่มร้อนถึงความไม่เป็นธรรมและความไม่เป็นเหตุเป็นผลของระบอบกษัตริย์อังกฤษ เขาจึงแทบไม่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงที่กำลังก่อตัวขึ้นในฟิลาเดลเฟีย หากแต่เขาใช้ประสบการณ์ทั้งหมดและความรู้จากอังกฤษไปต่อยอดในขบวนการปฏิวัติอเมริกาได้ทันที

 

ภาพท่าเรือของฟิลาเดลเฟียช่วงปี 1770-1780 ซึ่งโธมัส เพน มาขึ้นฝั่งยังนครแห่งนี้ ศิลปินเยอรมัน บัลทาซาร์ ฟรีดริช ไลเซลท์ (Balthasar Friedrich Leizelt) ได้วาดภาพออกมาไม่ต่างจากเมืองท่าของฝั่งยุโรป ที่มา: commons.wikimedia.org

 

สามัญสำนึก กับการเมืองในฟิลาเดลเฟีย

 

ถ้าโธมัส เพน ไม่เดินทางไปตั้งรกรากทำงานในนครฟิลาเดลเฟีย แต่ไปขึ้นฝั่งที่บอสตัน หรือเวอร์จิเนีย หรือแม้ในนิวยอร์กก็ตาม ชีวิตและผลสะเทือนทางการเมืองจากการเขียนของเขาอาจไม่หนักหน่วงและรุนแรงเท่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะในช่วงเวลาที่เพนไปถึงและเริ่มใช้ชีวิตใหม่ในนครฟิลาเดลเฟียนั้น มหานครนี้กำลังพัฒนาขึ้นไปเป็น “นครหลวงของโลกใหม่” ในปี 1774 ประชากรในนครนี้มีอยู่ราว 30,000 คน เป็นผู้คนที่หลากหลายทั้งเชื้อชาติ สีผิว และศาสนา ตั้งแต่เควกเกอร์ แองกลิคัน คาทอลิก ลูเธอรันเยอรมัน เพรสไบทีเรียนสกอต-ไอริช รวมถึงทาสนิโกร และลูกจ้างมีสัญญาจากยุโรป ตั้งแต่ปี 1764 เป็นต้นมา มีเรือเดินทะเลขนสินค้าและผู้คนเข้าเทียบท่าปีละไม่ต่ำกว่า 215 ลำ ฟิลาเดลเฟียเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในบรรดาอาณานิคมด้วยกัน และทำการผลิตมากที่สุด

การเติบใหญ่ของเมืองแยกไม่ออกจากการขยายตัวและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วของการค้าและอุตสาหกรรม รวมทั้งเกษตรกรรมที่มาจากเมืองเล็กๆ ลึกเข้าไปในภาคพื้นทวีป การค้าดำเนินไปทั้งในอาณานิคม และที่สำคัญคือการค้าสามเส้า ด้วยการส่งออกข้าวสาลี แป้ง ขนมปังและเนื้อ ไปยังเมืองอาณานิคมอื่นๆ และยุโรปตอนใต้ ที่สำคัญคือไปยังเวสต์อินดีส จากนั้นซื้อเหล้ารัม น้ำตาล และกากน้ำตาลจากไร่ขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานทาสในแคริบเบียนของอังกฤษ แล้วนำกำไรนั้นไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าอุตสาหกรรมจากเมืองแม่ในยุโรป

โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางการผลิตดังกล่าวในนครฟิลาเดลเฟียสร้างชนชั้นสำคัญขึ้นมาสองพวก พวกแรกคือชนชั้นพ่อค้าที่เป็นกระฎุมพี พวกนี้มีราวร้อยละ 10 ของประชากร แต่ครอบครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งกว่าร้อยละ 40 ในเมืองไว้ มีฐานะความเป็นอยู่หรูหรา สร้างคฤหาสน์ริมแม่น้ำใหญ่โตเรียงรายไป มีข้าทาสรับใช้ นั่งรถม้าประดับประดาอย่างงดงาม อีกพวกหนึ่งคือชนชั้นช่างฝีมือ ซึ่งหากรวมบรรดาช่างฝึกหัดและลูกมือต่างๆ เข้าด้วย ก็มีราวครึ่งหนึ่งของประชากรในเมือง นับว่าเป็นคนส่วนข้างมากในเมือง

ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจการค้าอุตสาหกรรมเช่นนี้ ทำให้ฟิลาเดลเฟียมีบรรยากาศของผู้ใช้แรงงานที่ให้ความสำคัญกับการทำงานและความชำนาญของคนงาน อันเป็นสปิริตของหัตถกรและผู้ผลิตน้อย ที่สำคัญคือการยึดถือและฝักใฝ่ในความเป็นอิสรเสรีของตนเอง บรรยากาศทางสังคมดังกล่าวบวกกับการมีชุมชนชาวเควกเกอร์และลูเธอรันซึ่งต่อต้านการมีและใช้แรงงานทาส ทำให้ทาสไม่ได้รับการส่งเสริมเด่นชัดมากในเมือง ฟิลาเดลเฟียจึงเป็นรัฐแรกที่ออกกฎหมายเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 1780 จากนั้นทาสจะลดจำนวนลง ทำให้แรงงานเสรีมีความหมายสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจในนครนี้อย่างมาก

บรรดานายช่างในเมืองเหล่านี้ แม้มีจำนวนมากแต่เฉพาะส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการจัดตั้งรวมกลุ่มกันเป็นองค์กร การจับกลุ่มมีลักษณะเป็นชุมชนซึ่งดำเนินไปตามสภาพและเป็นไปเองตามอาชีพและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ด้วยการมีความชำนาญและฝีมืออันเป็นความสามารถเฉพาะตัว ทำให้นายช่างสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตของเขาได้ แต่พวกเขาก็ไม่อาจเป็นอิสระได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องอาศัยเงินทุนในการลงทุนและขยายกิจการจากพ่อค้าและนายธนาคาร

ลักษณะเด่นประการหนึ่งของนายช่างในเมืองคือความใฝ่รู้และแสวงหาความรู้ใหม่ๆ พวกนี้สนใจและติดตามอ่านเรื่องทางวิทยาศาสตร์มาก ไม่แปลกใจที่คนอย่างเบนจามิน แฟรงคลิน เป็นขวัญใจของบรรดานายช่างและผู้ประกอบการน้อยทั้งหลายในฟิลาเดลเฟีย นิตยสารดัง Poor Richard’s Almanac ของแฟรงคลินจึงเป็นหนังสือขายดี เพราะตอบโจทย์ของบรรดาคนทำงานที่มีความยากจนเป็นสรณะ

ก่อนที่เพนจะเดินทางมาถึง นครฟิลาเดลเฟียประสบภาวะเศรษฐกิจผันผวน ประชากรในเมืองเพิ่มมากขึ้นจากการนำเข้าและการอพยพมาจากเมืองอื่นๆ ทำให้เกิดสภาพของคนยากจนปรากฏชัดขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจเริ่มก่อตัวแรงขึ้นหลังจากเมืองแม่คืออังกฤษต้องการรายได้มากขึ้นจากอาณานิคม นำไปสู่กรณีวิกฤตแสตมป์ในปี 1765-1766 ตามมาด้วยกฎหมายภาษีทาวเซนด์ในปี 1770 สร้างความฝืดเคืองและความไม่พอใจในหมู่ชาวอาณานิคมอเมริกัน นำไปสู่การก่อตัวขึ้นของกลุ่มประท้วงอังกฤษ เกิดการประท้วงไม่นำเข้าสินค้าจากอังกฤษ การชุมนุมคัดค้านกฎหมายอังกฤษและข้าหลวงอังกฤษในอาณานิคม

ม็อบกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของยุคสมัยนั้น นำไปสู่การปลุกระดมความคิดทางการเมืองในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะพวกนายช่างและช่างฝีมือ พวกเขาเข้าร่วมในคณะกรรมการติดต่อสื่อสารระหว่างชาวอาณานิคมต่างๆ จนถึงเดือนกันยายน 1774 ชาวอาณานิคมได้จัดตั้งคณะกรรมการภาคพื้นทวีปขึ้น (Continental Congress) อันเป็นองค์กรนำในการต่อสู้ต่อรองเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ

ถึงตอนนี้ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยมีสำนึกทางการเมืองแล้ว ที่เด่นชัดคือความรู้สึกของความเป็นอเมริกัน ไม่ใช่ชาวฟิลาเดลเฟียหรือเวอร์จิเนียแบบก่อนอีกต่อไป นี่คือความคิดแบบชาตินิยมนั่นเอง อีกประการหนึ่งคือ เริ่มเกิดแนวโน้มของความคิดเรื่องเอกราชความเป็นอิสระของอาณานิคม

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เอง โธมัส เพน ได้ปรากฏตัวขึ้นในฟิลาเดลเฟีย พร้อมกับประสบการณ์ทางการเมืองจากอังกฤษ

 

ภาพวาดสีน้ำมันโธมัส เพน ราวปี 1806 โดยศิลปินอเมริกัน จอห์น เวสลีย์ จาร์วิส ที่มา: commons.wikimedia.org

 

แนวความคิดทางการเมืองและอิทธิพลของ สามัญสำนึก

 

ในจุลสารที่กลายเป็นระเบิดทางการเมืองนั้น โธมัส เพน ประกาศว่าเขาจะอภิปรายใน 3 ประเด็นใหญ่อย่างเป็นอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายและกลุ่มการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับเพน ประเด็นทั้งสามเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในสถานการณ์ทางการเมืองอเมริกา ซึ่งเขามองว่ามีผลโดยตรงต่อมวลมนุษยชาติขณะนั้น

ประเด็นแรกคือต้นกำเนิดและจุดประสงค์ของรัฐบาล ประการที่สองว่าด้วยรัฐธรรมนูญอังกฤษ ที่สำคัญยิ่งคือระบอบกษัตริย์ รวมถึงระบบรัฐบาลว่ามีความชอบธรรมอย่างไร และประการสุดท้ายคืออเมริกาจะไปทางไหนดี

ในประเด็นเรื่องกำเนิดของรัฐบาลนั้น เขาเริ่มด้วยการเปรียบเทียบระหว่าง “รัฐบาล” กับ “สังคม” อันเป็นวิธีวิทยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในงานเขียนของสำนักปรัชญาสิทธิตามธรรมชาติและสัญญาสังคมจากโธมัส ฮอบส์ ถึงจอห์น ล็อก ข้อความที่เพนเขียนกลายมาเป็นวรรคทองไปในเวลาต่อมา เมื่อเขาสรุปการเกิดและมีอยู่ของรัฐบาลว่า

 

สังคมเกิดจากความต้องการของเรา ส่วนรัฐบาลเกิดจากความชั่วร้ายของเรา สังคมส่งเสริมความสุขของเราในด้านบวกด้วยการเกี่ยวร้อยประสานสิ่งที่เรารัก ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่ในด้านลบคือคอยระงับยับยั้งความชั่วของเรา สังคมเกื้อหนุนการมีปฏิสัมพันธ์ ส่วนรัฐบาลสร้างการกีดกันแบ่งแยก สังคมคือผู้อุปถัมภ์ รัฐบาลคือผู้ลงโทษ

 

เหตุที่ข้อเขียนใน สามัญสำนึก มีพลังอันรุนแรงก็เนื่องจากว่า ราษฎรอเมริกันสมัยการปฏิวัติโดยทั่วไปนอกจากผู้มีการศึกษาจำนวนน้อยแล้ว น้อยคนคงเคยอ่านหรือผ่านตาข้อเขียนของนักปรัชญาอังกฤษสำนักทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาติมาก่อน ดังนั้นเมื่อได้ยินได้ฟังคำอธิบายอันแสนจะธรรมดา แต่เต็มไปด้วยตรรกะและเหตุผลในการเกิดและดำรงอยู่ของสิ่งที่เรียกว่าสังคมและรัฐบาล ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า คนเราเกิดมาเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ ต่อเมื่อรวมตัวกันเป็นสังคมแล้ว ถึงเกิดมีการปกครองและมีการใช้อำนาจในการปกครอง โดยที่พวกคนยากไร้จำนวนมากนั้นเองที่เป็นคนยกอำนาจนั้นให้แก่ผู้ปกครองเช่นกษัตริย์ จึงเสมือนเป็นการปลดปล่อยความคิดของสามัญชนในอาณานิคมอเมริกา

ความคิดทางการเมืองและสังคมของเพนประการแรกจึงได้แก่ ความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนทั้งหลายในสังคม

ประเด็นที่สองของ สามัญสำนึก ที่มีผลต่อการปฏิวัติความคิดและปลุกระดมความคิดชาตินิยมอเมริกาขึ้นมาก็คือ การวิพากษ์และชำแหละความเป็นมาและการก่อรูป จนถึงการดำรงอยู่ในฐานะของผู้มีอำนาจปกครองอย่างชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

นี่เป็นครั้งแรกที่มีคนออกมาอภิปรายและโต้แย้งฐานะและการดำรงอยู่ในฐานะของผู้ปกครองสูงสุดเหนือประชาชนในอาณาจักรอังกฤษทั้งมวลว่าไม่เป็นความจริง เพนใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ กล่าวคือ เขานำเสนอข้อเท็จจริงของการเป็นกษัตริย์ก่อนว่ามีอะไรบ้าง ข้อแรกคืออะไรที่กษัตริย์มีและทำ ต่อจากนั้นก็อภิปรายลงไปถึงรายละเอียดของข้อเท็จจริงเหล่านั้น แล้วจึงนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า สถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นมีอะไรและทำอะไร และสิ่งที่มีและทำนั้นถูกต้องตามเหตุและผลของสรรพสิ่งนั้นหรือไม่ เพนกล่าวว่า

 

ในองค์ประกอบของสถาบันกษัตริย์มีบางอย่างน่าขันสิ้นดี แรกสุดมันแยกคนผู้หนึ่งออกจากหนทางแห่งการรับข้อมูลข่าวสาร กระนั้นกลับให้อำนาจเขากระทำการในกรณีต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีวิจารณญาณสูงสุด สภาวะแห่งการเป็นกษัตริย์ปิดกั้นเขาจากโลก กระนั้นกิจธุระแห่งการเป็นกษัตริย์กลับเรียกร้องให้เขารู้จักโลกอย่างถ้วนถี่ ดังนั้น องค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันเองและทำลายกันเองอย่างขัดต่อธรรมชาติจึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าลักษณะโดยรวมของสถาบันมีแต่ความไร้สาระและไร้ประโยชน์

 

จากนั้นเพนดำเนินการวิพากษ์และวิเคราะห์สถาบันกษัตริย์ต่อไปว่า ที่ประหลาดยิ่ง …

 

นั่นคือการแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็น กษัตริย์ กับ ราษฎร  ผู้ชายกับผู้หญิงเป็นการแบ่งแยกของธรรมชาติ ดีกับเลวเป็นการแบ่งแยกของสวรรค์ แต่เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งอุบัติมาบนโลกพร้อมกับความสูงส่งเหนือมนุษย์คนอื่นและแตกต่างออกไปราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ ประเด็นนี้ควรค่าแก่การพิจารณ์ รวมทั้งตั้งคำถามว่ามันเป็นหนทางแห่งความสุขหรือความทุกข์ของมนุษยชาติกันแน่

 

คำถามเชิงวิพากษ์ในประเด็นการแบ่งแยกนี้ยากจะตั้งคำถามได้ หากความเชื่อศรัทธาทางศาสนาที่รองรับคำอธิบายถึงกำเนิดและการดำรงอยู่ของกษัตริย์แบบอำนาจศักดิ์สิทธิ์ไม่ถูกบั่นทอนและลดน้ำหนักความน่าเชื่อถือลงไป ในยุโรปสมัยนั้นเห็นได้ชัดว่าความคิดและการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือความคิดประจักษ์นิยมได้ก้าวขึ้นมาแทนที่ความเชื่อศรัทธาแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือจริงได้แล้ว การใช้เหตุผลและตรรกะบนฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์จึงทำให้การวิพากษ์สถาบันกษัตริย์อังกฤษสามารถดำเนินไปได้

อีกประเด็นที่เพนใช้ในการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์คือสิทธิในการสืบทอดบัลลังก์ว่าไม่ยุติธรรมและไม่เป็นธรรมชาติ เขากล่าวว่า

 

มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์คนไหนพึงมีสิทธิแต่กำเนิดในอันที่จะยกยอตระกูลของตนให้มีอภิสิทธิ์ถาวรเหนือคนทั้งปวงตลอดไป และถึงแม้ตัวเขาเองอาจสมควรได้รับการยกย่องนับถือพอประมาณจากผู้คนร่วมรุ่น แต่ลูกหลานของเขาอาจหล่นไกลต้นเกินกว่าจะควรค่าให้ยกย่องนับถือสืบต่อไป ข้อพิสูจน์ตามธรรมชาติที่หนักแน่นที่สุดประการหนึ่งต่อความเขลาของสิทธิการสืบทอดสายเลือดในหมู่กษัตริย์ก็คือ ธรรมชาติไม่เห็นชอบด้วย มิฉะนั้นแล้ว ธรรมชาติคงไม่แกล้งให้มันดูน่าหัวร่อร่ำไปด้วยการประทาน ลาคลุมหนังสิงโต แก่มนุษยชาติ

 

ความคิดทางการเมืองประการที่สองของเพนคือการปฏิเสธระบอบกษัตริย์และอภิสิทธิ์จากการสืบสายเลือด (อย่าลืมว่าความรู้แบบวิทยาศาสตร์ของนิวตันกำลังแพร่หลายในยุโรปและอเมริกาขณะนั้น) นั่นคือการปฏิเสธระบบการปกครองโดยการสืบทอดสายเลือดวงศ์ตระกูล

สองประเด็นแรกคงหนักแน่นและปลุกระดมความคิดชาวอาณานิคมอเมริกันอย่างไม่เคยประสบมาก่อน เมื่อมาถึงประเด็นที่สามคือ แล้วอเมริกาจะไปทางไหนกัน คำตอบซึ่ง สามัญสำนึก ได้ตอบและชี้แนะหนทางในจุลสารแล้วได้แก่ การเลือกหนทางการเป็นเอกราชและเป็นอิสระจากอำนาจและการปกครองที่อยุติธรรมและไม่เป็นธรรมชาติของระบอบกษัตริย์อังกฤษ ตรงนี้เองที่เพนใช้ความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ในชีวิตของช่างฝีมืออันเป็นกลุ่มชาวเมืองหรือกระฎุมพีที่เติบใหญ่ขึ้นมาในสภาวะแวดล้อมของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการเมืองระบบฟิวดัล

เพนมองเห็นความขัดแย้งที่กำลังก่อตัวและความจำเป็นที่ต้องมีพลังการเมืองใหม่เข้ามาผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพให้เกิดขึ้น หาไม่ระบบการเมืองก็จะลากยาวไปอย่างไร้อนาคต ความขัดแย้งระหว่างอาณานิคมอเมริกากับรัฐบาลอังกฤษจึงเป็นเวทีประลองกำลังทางอุดมการณ์ที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุดภายใต้ระบบจักรวรรดิอังกฤษขณะนั้น ปมเงื่อนแห่งความลังเลไม่กล้าตัดสินใจในการแตกหักกับจักรวรรดิอังกฤษและระบอบกษัตริย์นั้น มาจากการที่ชาวอเมริกันไม่น้อยยังไม่เข้าใจและศรัทธาเชื่อมั่นในระบอบมหาชนรัฐ ซึ่งยังเป็นอุดมการณ์การเมืองใหม่อยู่ โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีการศึกษาและพ่อค้าฐานะดี คนเหล่านี้ไม่น้อยยังไม่เห็นด้วยเสียทั้งหมดกับตรรกะและการปฏิเสธสถาบันกษัตริย์โดยสิ้นเชิง ที่สำคัญคือยังไม่อาจย้ายจุดยืนจากระบอบกษัตริย์ไปสู่ระบอบมหาชนรัฐได้อย่างง่ายๆ

ความคิดแบบมหาชนรัฐได้เกิดขึ้นแล้วในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย ราษฎรทั่วไปแทบไม่รู้จักความคิดดังกล่าวเลย มีแต่ปัญญาชนและผู้มีการศึกษาเท่านั้นที่จะได้อ่านงานเขียนของนักคิดทางการเมืองเหล่านี้ น่าสนใจว่าสังคมอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ได้สร้างนักคิดและปัญญาชนแนววิพากษ์การเมืองและรัฐขึ้นมาอย่างที่ไม่เกิดในสังคมและอาณาจักรอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า Commonwealthmen อันเป็นที่มาของลัทธิมหาชนรัฐนิยม นักคิดดังในยุคนั้น ได้แก่ เจมส์ แฮร์ริงตัน (James Harrington) เฮนรี เซนต์จอห์น วิสเคาต์ โบลิงโบรก (Henry St. John Viscount Bolingbroke) ยี่ห้อของพวกเขาคือ Country party, Radical Whigs

นักคิดเหล่านี้วิพากษ์ถึงจุดอ่อนของระบอบกษัตริย์อังกฤษว่าคือคอร์รัปชั่น กษัตริย์และขุนนางใช้อำนาจในทางมิชอบ แต่งตั้งพวกของตนเองเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนฯ ระบบคุณธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะระบบอุปถัมภ์หนาแน่น ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จึงไม่อาจมีได้ เพราะผู้มีอำนาจส่วนน้อยครอบงำหมดแล้ว

ในอเมริกาคนจำนวนมากยังเชื่อถือและศรัทธาในความสมบูรณ์ของรัฐธรรมนูญอังกฤษว่าเป็นโครงสร้างทางการเมืองที่เหมาะสมดีกว่าใครในโลก ที่เป็นเช่นนี้เพราะพัฒนาการของความคิดทางการเมืองในอาณานิคมอเมริกาไม่เหมือนในอังกฤษเองที่ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองในลัทธิมหาชนรัฐนิยมมีความเข้มข้นและขับเคี่ยวกับฝ่ายอนุรักษนิยมมานาน เริ่มจากกระแสการโจมตีสถาบันกษัตริย์จากพวกครอมเวล เช่น จอห์น ฮอลล์ (John Hall) ในกลางศตวรรษที่ 17 ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของจอห์น วิลก์ (John Wilkes) ระหว่างปี 1768-1770 ที่ออกมาปลุกระดมการวิพากษ์และต่อต้านระบอบกษัตริย์อังกฤษอย่างแรง วิลก์สเองมีราษฎรสนับสนุนจำนวนหนึ่ง เห็นได้จากการที่เขาสามารถชนะการเลือกตั้งเข้าสภาล่างได้ แต่ถูกรัฐบาลสกัดกั้นไม่ให้เขาเข้าไปในนั่งในสภาสามัญได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มต่อต้านสันตะปาปาและคาทอลิกอีก

กล่าวได้ว่า บรรยากาศทางการเมืองของคนอังกฤษโดยเฉพาะในลอนดอนนั้น ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกษัตริย์อนุรักษนิยมได้ก่อรูปและแพร่กระจายไปไม่น้อยทั้งทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ การมุ่งโจมตีสถาบันกษัตริย์อย่างเฉพาะเจาะจงกระทั่งนำไปสู่การเกิดขบวนการต่อต้านกษัตริย์นั้น ปะทุขึ้นในปี 1790 ที่สำคัญเป็นผลสะเทือนมาจากการปฏิวัติอเมริกาและปฏิวัติฝรั่งเศสรวมถึงจากจุลสาร สามัญสำนึก ของโธมัส เพนด้วย

นักประวัติศาสตร์อเมริกันเห็นพ้องต้องกันว่า สามัญสำนึก ของโธมัส เพน เป็นพลังที่ทำให้สายใยเส้นสุดท้ายระหว่างอาณานิคมกับเมืองแม่อังกฤษขาดสะบั้นลง

เพนเขียนใน สามัญสำนึก ด้วยสำนวนเรียบง่าย แต่มีพลัง ข้อคิดและข้อเสนอของเขาที่สำคัญคือการวิพากษ์และลบล้างความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ที่วางอยู่บนการสืบสายโลหิตว่าเป็นระบบการปกครองที่ไม่เป็นธรรมชาติและไม่มีความจริงรองรับ

ความแรงของข้อเขียนนี้อยู่ที่ความต้องการยกฐานะและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนชั้นต่ำที่เป็นสามัญชนและทาสทั้งหลายขึ้นมา เมื่อคนชั้นล่างต้องการจะลุกขึ้นมาก็พบว่าพวกเขาไม่อาจทำได้เพราะมีอุปสรรคใหญ่กีดขวางปิดทับความเป็นคนของพวกเขาเอาไว้ นั่นคืออำนาจอภิสิทธิ์ของระบอบกษัตริย์ ประเด็นนี้เองที่เอาชนะใจของบรรดาแกนนำการปฏิวัติอเมริกาไว้ได้อย่างสุดจิตสุดใจ กระทั่งจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) บิดาแห่งการปฏิวัติ ถึงกับกล่าวว่า หลังจากอ่าน สามัญสำนึก แล้ว เขาก็มิอาจยกแก้วกล่าวคำอวยพรให้แก่กษัตริย์จอร์จที่ 3 ได้อีกต่อไป นอกจากนั้น ใน คำประกาศเอกราช ที่โธมัส เจฟเฟอร์สัน ร่างก็มีการอ้างถึงความเจ็บช้ำของชาวอาณานิคมจากการปกครองภายใต้กษัตริย์อังกฤษหลายประการ รวมทั้งการทำให้พวกเขาตกเป็นทาสด้วย

กล่าวได้อย่างเต็มปากว่า สามัญสำนึก เป็นหนังสือเล่มเล็กที่เปลี่ยนแปลงโลกใบใหญ่ได้.

 

 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในส่วน ‘บทนำ’ จากเล่ม Common Sense: สามัญสำนึก

 

 

Common Sense: สามัญสำนึก
Thomas Paine เขียน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บทนำ
ปราบดา หยุ่น บทตาม
กิตติพล สรัคคานนท์ ออกแบบ
176 หน้า
215 บาท

อ่านตัวอย่างและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

สั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่