Brief: Workshop “รู้จักตัวเอง รู้จักลูก เติบโตไปด้วยกัน”

เรื่อง: พิชญา โคอินทรางกูร

ของเล่นชิ้นเล็กๆ สีสันสดใสถูกวางเรียงรายบนโต๊ะเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เลือก “สัญลักษณ์แทนตัวฉันในวันนี้” บางคนเลือกหยิบตุ๊กตาเจ้าหญิง บางคนเลือกหยิบไดโนเสาร์ และบางคนยืนพิจารณาอยู่นานก่อนจะเลือกเอาตุ๊กตาปลาหมึกยักษ์แล้วกลับไปนั่งประจำที่

“เราแต่ละคนอาจจะไม่ได้เล่นของเล่นกันมานานแล้ว แต่ในวันนี้ ทุกๆ คนจะได้หยิบของเล่นออกมาอีกครั้งหนึ่ง” ครูเมกล่าว

ทำไมต้องเป็นการเล่น? คำตอบอยู่ในกิจกรรมเวิร์กช็อป “รู้จักตัวเอง รู้จักลูก เติบโตไปด้วยกัน” นำโดย ครูเม เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว นักเล่นบำบัดฝึกหัด เจ้าของเพจ “ตามใจนักจิตวิทยา” และผู้ก่อตั้ง “ห้องเรียนครอบครัว”และ ครูมาร์ค สิริสักก์ เจริญรวิภักดิ์ นักกิจกรรมบำบัด ผู้ร่วมก่อตั้ง “ห้องเรียนครอบครัว” และเจ้าของเพจ “ห้องเรียนครอบครัว”

ในกิจกรรมนี้ ครูเมและครูมาร์คจะนำหลักการจิตบำบัดเข้ามาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีต่างๆ จากหนังสือ เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน (The Book You Wish Your Parents Had Read) โดย ฟิลิปปา เพอร์รี (Phillipa Perry) นักจิตบำบัดชาวอังกฤษ ผู้มุ่งอธิบายว่าหัวใจหลักของการเลี้ยงลูกคือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ <คำว่า “พ่อแม่” ในบทความนี้มีความหมายถึง “ผู้ดูแลหลัก” ของเด็ก> กับลูก และเขียนหนังสือเล่มนี้โดยเริ่มต้นจากการพิจารณา “พ่อแม่” เป็นหลัก

สำหรับกิจกรรมเริ่มต้น ครูเมใช้ “การเล่น” มาทำความเข้าใจ “ตัวตน” ของเราอันเกิดจากสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพ่อแม่ และเชื่อมต่อไปยังสายสัมพันธ์ที่เรากำลัง “สร้าง” กับลูกของเราเอง โดยอ้างอิงทฤษฎีพันธะทางอารมณ์ (emotional bonding) ของจอห์น โบลบี้ (John Bowlby) ที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่จะส่งผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ที่ลูกจะมีกับคนอื่นในอนาคต ประกอบกับทฤษฎีของคาร์ล ยุง (Karl Jung) ที่ว่ามนุษย์จะถ่ายทอดตัวตนที่เก็บเอาไว้ผ่านการใช้จิตใต้สำนึกทำงานเชิงสัญลักษณ์ เชิงศิลปะ หรือการเล่น

“การเล่น” จะเป็นเครื่องมือในการ “รู้จักตัวเอง” และ “รู้จักลูก” ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้จะเป็นกระจกสะท้อนภาพให้แก่เพื่อนร่วมทาง และพื้นที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อที่จะ “เติบโตไปด้วยกัน”

“เพราะสิ่งที่ทำให้เด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็คือส่วนผสมระหว่างพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนใคร และตัวคุณนั่นละค่ะคือองค์ประกอบใหญ่ในสภาพแวดล้อมของเขา” (เพอร์รี, 2020, เสียดายแย่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน, หน้า 40)

“การเล่น” จะเป็นเครื่องมือในการ “รู้จักตัวเอง” และ “รู้จักลูก” ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้จะเป็นกระจกสะท้อนภาพให้แก่เพื่อนร่วมทาง และพื้นที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อที่จะ “เติบโตไปด้วยกัน”

รู้จักตนเอง

หลังจากที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลือก “สัญลักษณ์แทนตัวฉันในวันนี้” เรียบร้อยแล้ว ครูเมให้ทุกคนเลือก “สัญลักษณ์ที่ฉันอยากจะเป็น” ขึ้นมาอีกหนึ่งชิ้น ก่อนจะให้พิจารณาตุ๊กตาทั้งสองพร้อมๆ กัน

“ถ้าตัวตนทั้งสองของเรายิ่งซ้อนทับกันสนิท เราก็จะยิ่งรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตของตัวเองในตอนนี้ และพร้อมที่จะมุ่งไปยังเป้าหมายต่อไป แต่ถ้าส่วนซ้อนทับของตัวตนทั้งสองมันห่างกันเหลือเกิน เราจะรู้สึกขัดแย้ง” ครูเมอธิบาย

หลังจากทำความรู้จัก “ตัวตน” ของตัวเองแล้ว ลำดับถัดไปคือการพิจารณาตัวเราที่สวมบทบาทของ “พ่อแม่”

เราและลูกสามารถพูด “ขอบคุณ” เมื่ออีกฝ่ายทำอะไรให้ และพูด “ขอโทษ” กับอีกฝ่ายเมื่อเราทำผิด ใช่หรือไม่

เรามักไม่ปฏิเสธลูก เพราะเราไม่สามารถทนเห็นเขาร้องไห้ ใช่หรือไม่

ลูกมักกลัวการทำผิดพลาด และมักปฏิเสธการลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ใช่หรือไม่

ลูกชอบเล่นคนเดียวมากกว่าเล่นกับเรา ใช่หรือไม่

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของคำถามจำนวน 20 ข้อ ซึ่งอ้างอิงจากแนวคิด “พ่อแม่สี่แบบ” ของไดอาน่า บอมไรนด์ (Diana Baumrind) เพื่อพิจารณาว่าเรามีแนวโน้มจะเป็นผู้ปกครองแบบใด

“ถ้าเราเป็นเป็นพ่อแม่ที่เอาใจใส่ลูก (authoritative parenting style) ลูกก็จะเชื่อฟังเรา และในขณะเดียวกันลูกก็กล้าที่จะบอกความจริงกับเรา” ครูเมอธิบาย ก่อนจะเสริมว่า ในบางครั้งเราก็อาจจะเผลอเป็นพ่อแม่ที่ตามใจลูก (permissive parenting style) หรือเป็นพ่อแม่ที่ควบคุมและอยู่เหนือลูก (authoritarian parenting style) หรือเป็นพ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลยลูก (uninvolved parenting style) ได้บ้างเช่นกัน และเนื่องจากวิธีการเลี้ยงดูย่อมส่งผลต่อคุณภาพในการเติบโตของลูก ครูเมจึงย้ำถึงความสำคัญของการหมั่นทบทวนตนเองและหาวิธีแก้ไข

“ถ้าเราเคยพลาดไปบ้าง” ครูเมกล่าว “เราอาจจะต้องลองกลับไปทบทวนและหาหนทางปรับวิธีการเลี้ยงดูลูกของตัวเอง”

รู้จักลูก

“การรู้จักลูกควรจะรู้จักทุกวัน ควรทำความรู้จักกันวันละนิดวันละหน่อย” ครูเมเปิดประเด็น “และวันนี้เรารู้มั้ยว่าลูกเราเติบโตไปมากแค่ไหนแล้ว”

ลูกชอบกินอะไร

ลูกชอบทำอะไร

เพลงโปรด นิทานเล่มโปรด หนังหรือการ์ตูนเรื่องโปรดของลูกคืออะไร

เพื่อนสนิทหรือเพื่อนในแก๊งค์ของลูกชื่ออะไรบ้าง

ลูกไม่ชอบหรือกลัวอะไร

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามพื้นฐานในการตรวจสอบว่า ตัวเราในฐานะพ่อแม่นั้นได้สังเกตลูก สังเกตวิถีชีวิตและพัฒนาการของเขาในทุกๆ วันหรือไม่ “เด็กๆ เติบโตเร็วมาก” ครูเมย้ำ “เราสามารถเห็นพัฒนาการของเขาผ่านการสังเกตวิธีการเล่น วิธีการกิน” ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เด็กๆ จะเริ่มเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเอง เช่น สามารถหยิบอาหารเข้าปากเองได้ในช่วงแปดถึงเก้าเดือน เมื่ออายุประมาณสามปี เด็กๆ จะเริ่มรู้จักการเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน และเมื่ออายุครบหกปี เด็กจะสามารถช่วยเหลือตัวเอง ไปโรงเรียน และปรับตัวจากการแยกจากได้อย่างสมบูรณ์

“วันก่อนเขาอาจจะชอบไถรถของเล่น แต่วันนี้เขาเริ่มเล่นบทบาทสมมติ วันก่อนเขาอาจจะหยิบอาหารเข้าปาก วันนี้เขาเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้ส้อมแล้ว และความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือพัฒนาการ” ครูเมยกตัวอย่าง ก่อนเสริมต่อว่า “เราได้ใส่ใจเขาไหมว่าเขาชอบอะไรและไม่ชอบอะไร เราได้ระมัดระวังที่จะไม่ทำสิ่งที่ลูกไม่ชอบหรือเปล่า และเรารู้จักเพื่อนๆ ของลูกบ้างไหม”

“ถ้าเรายังตอบไม่ได้ เราอาจจะลองกลับไปพูดคุยกับลูก ลองกลับไปสังเกตเขา ค่อยๆ เรียนรู้ว่าเขาโตไปมากแค่ไหน” ครูเมสรุปปิดท้าย “แค่ข้ามวันข้ามคืน เด็กๆ ก็เปลี่ยนไปเยอะมาก”

“เราได้ใส่ใจเขาไหมว่าเขาชอบอะไรและไม่ชอบอะไร เราได้ระมัดระวังที่จะไม่ทำสิ่งที่ลูกไม่ชอบหรือเปล่า”

 

เข้าใจสายสัมพันธ์ อดีต-ปัจจุบัน

ฟิลิปปา เพอร์รี เปรียบสายสัมพันธ์เป็นเสมือนดินที่ค้ำจุนคนคนหนึ่งให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง

“ถ้าเปรียบคนเราเป็นต้นไม้ ความสัมพันธ์ก็เหมือนกับดิน ความสัมพันธ์จะคอยสนับสนุน อุ้มชู เอื้อให้เติบโต หรือไม่ก็ขัดขวาง เด็กที่ไม่มีความสัมพันธ์ให้พึ่งพิงจะสูญเสียความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย คุณคงอยากให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกเป็นต้นกำเนิดความเข้มแข็งของเขารวมทั้งลูกเขาด้วยเมื่อเวลานั้นมาถึง” (เพอร์รี, 2020, หน้า 16).

การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กอายุตั้งแต่หกสัปดาห์ขึ้นไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะเริ่มจดจำได้ว่าใครเป็นคนที่คอยตอบสนองเวลาที่เขาร้อง ใครเป็นคนเลี้ยงดูหลัก ใครเป็นคนเลี้ยงดูรอง เมื่อเด็กอายุได้เจ็ดเดือน เขาจะเริ่มแยกแยะและจดจำได้แล้วว่าคนคนนี้คือแม่ของเขา คนคนนี้คือพ่อของเขา

สายสัมพันธ์อันแข็งแรงที่เกิดขึ้นจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกปลอดภัยทางใจ (secure attachment) คือเด็กจะรู้สึกมั่นคง เป็นตัวของตัวเอง และกล้าที่จะออกไปเรียนรู้โลก ด้วยตระหนักว่าพ่อและแม่จะอยู่ตรงนี้สำหรับเขา และถ้าเขาเจอปัญหา เขาสามารถกลับมาพึ่งพิงได้เสมอ

“สิ่งนี้เรียกว่า วงจรแห่งความปลอดภัย (Circle of Security) คือ เรา [พ่อแม่] จะโอบอุ้มเขา ปลอบประโลมเขา ให้กำลังใจเขา และส่งเขาออกไปเรียนรู้โลกใหม่อีกครั้ง” ครูเมสรุป

ทว่าหากเด็กไม่เกิดความปลอดภัยทางใจ ไม่มีคนคอยตอบสนองเวลาที่เขาร้องหรือเวลาที่เขาต้องการ เด็กคนนั้นจะค่อยๆ เกิดความเคลือบแคลงใจว่าตัวฉันมีความสำคัญต่อโลกใบนี้หรือเปล่า ส่งผลให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างเปราะบาง ทั้งในลักษณะที่กลัวการสร้างความสัมพันธ์ (fearful) และในลักษณะที่แสดงออกแข็งกร้าวแต่ข้างในอ่อนแอ (dismissing)

“เด็กกลุ่ม fearful จะกลัวความสัมพันธ์ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการ เขาอยากได้รับความรักแต่ก็กลัวว่าสุดท้ายฉันจะโดนทอดทิ้งไหม และเพราะกลัวว่าจะถูกปฏิเสธ เด็กกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่ปฏิเสธคนอื่นก่อนเสมอ ในขณะที่เด็กกลุ่ม dismissing จะแสดงออกว่าไม่เป็นไร ฉันเก่ง ฉันอยู่ได้ แต่ลึกๆ ลงไปข้างในเขาก็ต้องการใครสักคน สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนกำแพงที่เขาก่อขึ้นเพื่อที่จะเติบโตและเอาตัวรอด ด้วยการสร้างเกราะกำบังให้กับตัวเอง”

และในทางกลับกัน เด็กกลุ่มที่ถูกประคบประหงมเลี้ยงดูอย่างระมัดระวังจะเติบโตขึ้นอย่างไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง (preoccupied)

“เด็กๆ กลุ่มนี้จะรู้ว่าพ่อแม่รักเขามาก แต่ด้วยความที่พ่อแม่ทำทุกอย่างให้เขา เขาจะสงสัยว่าจริงๆ แล้วฉันมีความสามารถพอที่จะทำได้ไหม เขาจึงรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อต้องทำอะไรด้วยตัวเอง จะไม่กล้าหรือจะเรียกร้องมากกว่าปกติ”

“เราจะโอบอุ้มเขา ปลอบประโลมเขา ให้กำลังใจเขา และส่งเขาออกไปเรียนรู้โลกใหม่อีกครั้ง”

และหากเราพิจารณาย้อนกลับไปในวัยเด็กของชีวิต ตัวเราเองก็ถูกหล่อหลอมด้วยความสัมพันธ์จากการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ของเราเช่นกัน

“ทำไมต้องเข้าใจสายสัมพันธ์ในอดีต” ครูเมตั้งคำถาม “หลายๆ ครั้งที่เราไม่รู้ตัวว่า สายสัมพันธ์ของเราในอดีตส่งผลต่อการสร้างสายสัมพันธ์กับคนที่เรารักในปัจจุบัน และเช่นเดียวกัน สายสัมพันธ์ที่เรามีกับลูกในวัยแรกเกิด จะกลายเป็นสายสัมพันธ์ที่ส่งผลกับเขาไปตลอดชีวิต”

“วันนี้เราจะ ปั้น สายสัมพันธ์” ครูเมกล่าว “สายสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่วันนี้เราจะปั้นมันออกมา”

ครูเมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลือกดินน้ำมันสองสี สีหนึ่งแทนตัวเรา และอีกสีแทนอีกฝ่าย ก่อนจะมอบโจทย์ในการ “ปั้นสายสัมพันธ์”

สายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับผู้เลี้ยงดูหลักในอดีต

สายสัมพันธ์ที่ “อยาก” ให้เกิดขึ้นระหว่างเรากับผู้เลี้ยงดูหลักในอดีต

สายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับลูกในปัจจุบัน

และสายสัมพันธ์ที่ “อยาก” ให้เกิดขึ้นระหว่างเรากับลูกในปัจจุบัน

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างลงมือ “ปั้น” สายสัมพันธ์เหล่านั้นออกมาด้วยดินน้ำมันสีสันสดใส สื่อผ่านตุ๊กตารูปคนกอดกันบ้าง รูปทรงเรขาคณิตเกาะเกี่ยวกันบ้าง ในระหว่างนั้นครูเมก็ชี้ชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่าสายสัมพันธ์ของตัวเราในอดีตกับสายสัมพันธ์ของเรากับลูกในปัจจุบันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และสายสัมพันธ์ในแบบที่เราอยากให้เกิดขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง

“การปั้นคือการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นนามธรรมไปสู่สิ่งที่เป็นรูปธรรม และเราได้จำลองสายสัมพันธ์ที่เราอยากให้เกิดขึ้นเอาไว้ตรงหน้านี้แล้ว” ครูเมชวนสะท้อนความคิด “สายสัมพันธ์ในอดีตไม่ได้ส่งผลกับทุกเรื่องในชีวิต แต่จะบอกว่าไม่ส่งผลเลยก็ไม่ใช่ บางอย่างที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ในวันนี้ เราเองก็เคยได้รับมันมาก่อนเช่นกัน หัวใจสำคัญคือ ถ้าเราเคยได้รับสิ่งที่ดี เราก็ส่งต่อไปให้กับลูก ในทางกลับกัน ถ้าเราเคยได้รับบางสิ่งที่ไม่โอเค เราก็ต้องพยายามไม่ส่งมันต่อ และสิ่งไหนที่เราอยากให้เกิด เราก็ต้องพยายามสร้างมันขึ้นมา”

“การปั้นคือการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นนามธรรมไปสู่สิ่งที่เป็นรูปธรรม และเราได้จำลองสายสัมพันธ์ที่เราอยากให้เกิดขึ้นเอาไว้ตรงหน้านี้แล้ว”

สื่อสารด้วยใจถึงใจ

การสื่อสารเป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์มั่นคงยั่งยืน

“การสื่อสารไม่ใช่แค่การพูด การฟัง แต่มันหมายถึงเราสองคนเข้าใจกันและกัน” ครูเมอธิบาย ก่อนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมผลัดกันเล่าถึงอุปสรรคที่ตนกำลังเผชิญให้คู่ของตนฟัง โดยกำหนดกติกาเอาไว้คร่าวๆ ว่า ฝ่ายที่รับฟังจะต้องฟังอย่างตั้งใจ ไม่พูดขัดจังหวะจนกว่าอีกฝ่ายจะเล่าจบ แล้วจึงค่อยให้กำลังใจในแบบของตัวเอง

การฟังที่ดีคือการรับฟังอีกฝ่ายเพื่อให้ได้เนื้อหาสำคัญ เราควรฟังให้ได้ยินทั้งเสียงพูดและความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ เราควรฟังด้วยหัวใจที่เป็นกลาง ไม่คิดแทน และไม่ตัดสิน

“ฟังโดยที่ไม่ต้องแก้ปัญหาให้แทน การฟังไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นการเยียวยา คีย์เวิร์ดของการฟังคือ การฟัง” ครูเมกล่าว ก่อนจะแจกการ์ดเล็กๆ สี่ใบ หรือ “การ์ดเสียงสี่ระดับ” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำกลับไปเล่นกับลูกที่บ้าน ก่อนจะอธิบายต่อไปถึงบทบาทของผู้พูดบ้าง ว่าการพูดที่ดีคือการพูดในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร

“เราต้องพูดผ่านตัวเรา ไม่พูดผ่านคนอื่น เช่น แม่ [เรา] อยากให้ลูกทำแบบนี้นะ ไม่ใช่พูดว่า พ่อน่าจะอยากให้ลูกทำแบบนี้นะ” ครูเมยกตัวอย่าง “เราต้องพูดถึงปัจจุบัน ไม่ยกอดีตกลับมาปน เราต้องพูดด้วยเหตุผล ไม่ใช่พูดด้วยอารมณ์ และเราต้องพูดด้วยความปรารถนาดี ไม่ใช่พูดเพื่อเอาชนะ”

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างแลกเปลี่ยนเรื่องราวและความคิดเห็นกับคู่ของตน ต่างผลัดกันเล่า ผลัดกันรับฟัง และผลัดกันให้คำแนะนำ ต่างฝ่ายต่างตั้งใจสื่อสารทั้งผ่านคำพูด สายตา และภาษากายต่างๆ เพื่อแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าตนให้ความสำคัญกับบทสนทนาตรงหน้า

“เมื่อบทสนทนานั้นเกิดขึ้นด้วยความจริงใจ เกิดขึ้นจากความรู้สึกดีๆ ที่จะให้และเปิดรับ บทสนทนานั้นจึงจะมีความหมาย” ครูเมกล่าว ก่อนจะชี้ว่าบทสนทนาลักษณะนี้ควรนำไปใช้บ่อยๆ กับคนที่เรารัก

“ลองนึกถึงบทสนทนาครั้งล่าสุดของเรากับลูกหรือคนที่เรารักดู มันเป็นเช่นนี้ไหม มันเหมือนแบบนี้หรือเปล่า ครูเมอยากให้ทุกๆ คนจดจำความรู้สึกที่คุยกับคนตรงหน้าในวันนี้ อยากให้นำความรู้สึกนี้ไปใช้ในบทสนทนากับลูกของเรา หรือกับคนที่เรารัก”

“เราต้องพูดถึงปัจจุบัน ไม่ยกอดีตกลับมาปน เราต้องพูดด้วยเหตุผล ไม่ใช่พูดด้วยอารมณ์ และเราต้องพูดด้วยความปรารถนาดี ไม่ใช่พูดเพื่อเอาชนะ”

พื้นที่ส่วนตัว

ไหมพรมหลากสีสันวางล้อมกรอบเป็นเขตแดนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคน ตรงมุมห้องบ้าง ตรงกลางห้องบ้าง วงขนาดใหญ่บ้าง วงขนาดเล็กบ้าง หรือบางคนก็ใช้ไหมพรมเชื่อมเก้าอี้หลายๆ ตัวไว้ด้วยกัน สร้าง “อาณาเขตส่วนตัว” หรือพื้นที่สบายใจของแต่ละคนขึ้นมา

“บางท่านครีเอตพื้นที่ได้สร้างสรรค์ทีเดียวค่ะ” ครูเมกล่าว ขณะที่แต่ละคนค่อยๆ สร้างอาณาจักรไหมพรมของตน “ทีนี้ให้ลองนำพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองไปปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ในห้องนี้”

ทุกคนค่อยๆ ขยับตัว มีการพยักหน้าขออนุญาตกันอย่างขัดๆ เขินๆ บ้าง ถามกันตรงๆ บ้างก่อนจะเอาวงไหมพรมมาแตะกัน หรือนำไหมพรมมาร้อยเข้าด้วยกันเป็นวงที่ใหญ่ขึ้น

“ลองสังเกตดูว่าเพื่อนในวงโอเคไหม แล้วเราโอเคจริงหรือเปล่า” ครูเมว่า ก่อนชี้ให้เห็นว่าระดับพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อแต่ละคนไม่รู้ว่าขอบเขตพื้นที่ส่วนตัวของอีกคนอยู่ตรงไหน เราจึงอาจจะละเมิดพื้นที่ส่วนตัวกันโดยไม่ตั้งใจ

“การเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น เราควรขออนุญาตก่อนเสมอ ให้แม่เข้าไปคุยด้วยได้ไหม ลูกโอเคไหมที่แม่จะอยู่ตรงนี้” ครูเมยกตัวอย่าง “ดังนั้นเราจึงไม่ควรคิดแทนคนอื่นว่ามันน่าจะโอเคหรือน่าจะไม่เป็นอะไร ให้ใช้วิธีถาม ขออนุญาต และสื่อสารกัน เราจะเข้าใจกันมากขึ้น และสายสัมพันธ์ที่ดีก็จะตามมา”

รักษาสายสัมพันธ์

สายสัมพันธ์นั้นสร้างได้ ทว่าการรักษาสายสัมพันธ์นั้นยากยิ่งกว่า

เพราะเราเป็นมนุษย์ เราจึงมีอารมณ์ เราจึงมีความรู้สึกกับการกระทำของอีกฝ่าย และเพราะเราเป็นเพียงมนุษย์ เราจึงไม่สมบูรณ์แบบ เราต่างผิดพลาดได้เสมอ ไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่ หรือในฐานะลูก

“เราผิดพลาดได้เสมอ”

ทว่าสายสัมพันธ์นั้นสร้างได้ และสายสัมพันธ์ก็ซ่อมแซมได้ และนั่นคือสิ่งที่ฟิลิปปา เพอร์รี ย้ำเอาไว้ในบทสุดท้ายของหนังสือ

“ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะซ่อมแซมรอยร้าวในความสัมพันธ์ แต่คงจะดีไม่น้อยถ้าทำในระหว่างที่คุณทั้งคู่ยังมีชีวิตอยู่” (เพอรรี, 2020, หน้า 258).

“เราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ แต่เราต้องเป็นคนที่รู้จักให้อภัยตัวเอง ให้อภัยลูก แล้วสายสัมพันธ์นี้ก็จะคงอยู่” ครูเมกล่าวปิดท้ายกิจกรรม “และในอนาคต ลูกก็จะเป็นคนส่งต่อสายสัมพันธ์นี้ให้กับคนที่เขารักต่อไป”

 

เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน
เขียน: Philippa Perry
แปล: ดลพร รุจิรวงศ์

อ่านรายละเอียดหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่