Brief – Workshop “ก้าวข้ามกับดักทางความคิด แล้วเลี้ยงลูกในแบบที่เป็น”

ชลิดา หนูหล้า เขียน

 

เมื่อถามอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก ว่ากับดักใดเป็นกับดักที่ใหญ่ที่สุดของพ่อแม่ผู้ต้องการให้ลูก “อยู่เองได้ โตเองเป็น” เขาตอบว่า “กับดักแห่งความรัก”

กับดักแห่งความรัก ความปรารถนาจะให้ลูกประสบความสำเร็จ มีความสุข และปราศจากความทุกข์ คือด่านสุดท้ายที่พ่อแม่มักผ่านไปไม่ได้ เป็นบ่วงสองชั้นที่เมื่อรัดพ่อแม่แล้วก็จะรัดลูกไม่ให้เติบใหญ่สมวัยได้ด้วย

พ่อแม่รู้แน่ว่าตนไม่อาจดูแลลูกได้ตลอดไป ลูกไม่อาจเป็นเด็กตลอดกาล และธรรมชาติของพัฒนาการมนุษย์ก็ยืนยันเช่นนั้น วันหนึ่งเด็กต้องเดินเอง แปรงฟันเอง หุงหาอาหารเอง ขับรถยนต์เอง มีชีวิตและครอบครัวของตัวเอง การเลี้ยงลูกให้ดูแลตัวเองเป็นจึงสำคัญกว่าการตามติดลูกทุกฝีก้าว แต่บางอย่างถึงรู้ก็ทำไม่ได้ บางความรู้สึกถึงไม่เป็นประโยชน์ก็ตัดให้ขาดได้ยาก จึงต้องมีเข็มทิศกำกับหัวใจไม่ให้ไถลออกนอกเส้นทาง

และเข็มทิศที่กิจกรรม “ก้าวข้ามกับดักทางความคิด แล้วเลี้ยงลูกในแบบที่เป็น” มอบให้พ่อแม่คือกฎสามข้อ ได้แก่

  • ลูกรู้จักตัวเองดีที่สุด

  • ลูกมีสมองนะ

  • ลูกก็อยากให้ชีวิตของลูกไปได้สวย

ท่องไว้แล้วจะปล่อยให้ลูกเลือกทางเดินในชีวิตเองได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่ทางเดินราบรื่นอย่างวันนี้จะสวมเสื้อสีอะไรจนถึงทางเดินที่ขรุขระสักหน่อยอย่างจะเข้ามหาวิทยาลัยไหนดี เมื่อเลือกเองบ่อยเข้าก็เลือกเป็น เมื่อเลือกเป็นก็จะเกิดความภูมิใจในตัวเอง เข้าใจตัวเอง และเข้าใจว่าชีวิตมีทางเลือก กล่าวคือมี “ความสามารถในการกำกับดูแลตัวเอง” (sense of control) หรือความเชื่อมั่นว่าตนเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิต ตนเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เผชิญได้ จึงมีความยืดหยุ่นเมื่อประสบปัญหา ตัดสินใจได้สมเหตุสมผลบนพื้นฐานความปรารถนาดีต่อตนเอง และก้าวข้ามอุปสรรคได้ด้วยตนเอง

 

เขย่ากรอบความคิดกันสักนิด

 

 

หนทางสู่เข็มทิศดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการทบทวนตนเองทั้งในปัจจุบันและในอดีต เพื่อสร้างความเข้าใจตนเองทั้งในวัยผู้ใหญ่และวัยเด็ก อันจะเป็นสะพานทอดไปสู่ความเข้าใจชีวิตของตน และในที่สุดก็ชีวิตของลูก ความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นฐานแข็งแรงที่พ่อแม่วาง “ใจ” ของตนลงได้ ขณะปล่อยให้ลูกพัฒนาความสามารถในการเขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเลือกการ์ดสองใบ การ์ดแต่ละใบนั้นมีคำคุณศัพท์แสดงจุดแข็งของมนุษย์อยู่ เช่น ความกล้าหาญ ความเป็นผู้นำ ความซื่อสัตย์ ความคิดสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้น ฯลฯ โดยเลือกการ์ดใบแรกจากจุดแข็งในการดูแลลูกหรืออยู่กับลูก และเลือกการ์ดใบที่สองจากจุดแข็งที่สุดในการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องทบทวนอดีตของตน ผ่านการเดินย้อนกลับไปบนเส้นทางชีวิต และตอบคำถามสามข้อต่อไปนี้

  • ช่วงเวลาใดในชีวิตที่รู้สึกว่าได้เลือกทางเดินในชีวิตด้วยตนเองอย่างแท้จริง

  • ช่วงเวลาใดในชีวิตที่รู้สึกว่าตนมีศักยภาพและความสามารถ

  • ช่วงเวลาใดในชีวิตที่รู้สึกว่าตนมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น หรือมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์อันดีนั้น

แต่เหตุใดพ่อแม่ต้องจดจำช่วงเวลานี้เหล่านี้เล่า คำตอบคือช่วงเวลาเหล่านี้คือจังหวะที่ความสามารถในการกำกับดูแลตนเองของมนุษย์ค่อยๆ แบ่งบาน ด้วย “ความรู้สึกเป็นอิสระในตน” “ความรู้สึกถึงความสามารถของตนเอง” และ “ความรู้สึกถึงสัมพันธภาพที่ดี” ซึ่งเป็นสามความรู้สึกที่ต้องได้รับการเติมเต็มเสียก่อน มนุษย์จึงจะพร้อมเติบโตและพัฒนาตนเอง ตามทฤษฎีการกำหนดอนาคตตนเองของมนุษย์ (Self-Determination Theory – SDT)

ปัญหาคือพ่อแม่หลงลืมการสะท้อนคิดเช่นนี้เมื่อพิจารณาชีวิตของลูกหรือเปล่า เห็นแต่ข้อบกพร่องและจุดอ่อนชวนกังวลของลูกโดยไม่เคยหาจุดแข็งของพวกเขาหรือไม่ และได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเส้นทางชีวิต “ด้วยตนเอง” ได้ใช้ความสามารถ “ของตนเอง” และได้สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย “ต่อตนเอง” บ้างหรือยัง

อรุณฉัตรส่งท้ายโค้งแรกของกิจกรรมด้วยการให้พ่อแม่ให้คะแนนตนเองและตอบคำถามตามความจริง ไม่ว่าจะเป็น “เราจะได้เลือกอาหารที่ต้องการเองมากน้อยเพียงใด” “เราทำการบ้านเองได้โดยไม่คอยให้พ่อแม่บอกบ่อยครั้งเพียงใด” “เราเลือกเองมากน้อยเพียงใดว่าในเวลาว่างจะทำอะไร” “เมื่ออายุ 18 ปี เราให้ความสามารถในการตัดสินใจของตัวเองเท่าไร” “วันนี้เรากังวลเกี่ยวกับลูกมากไหม” หรือ “เรามีความภาคภูมิใจในตัวลูกเท่าไรกัน”

เมื่อมองย้อนกลับไป ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของพ่อแม่ก็ไม่ได้ออกดอกผลเลวร้ายนัก การตัดสินใจในวันวานก็ใช้ได้ทีเดียว ไม่สมกับความกังวลของปู่ย่าตายายนี่นา

แล้วความกังวลของพ่อแม่ในปัจจุบันล่ะ ความกังวลที่ทำให้พ่อแม่ไม่เชื่อว่า “ลูกรู้จักตัวเองได้” “ลูกมีสมองเหมือนกัน” และ “ลูกเองก็อยากให้ชีวิตไปได้สวย” จนปิดกั้นโอกาสในการอยู่เองได้ โตเองเป็นของลูกล่ะ

จะเป็นความกังวลที่ไม่คุ้มราคาจ่ายเหมือนกันหรือเปล่า

 

ทบทวนทฤษฎีกันสักหน่อย

 

ได้เวลาเปิดหนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง พระเอกของวันนี้

โค้งที่สองเปิดฉากด้วยภาพสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอยู่เองได้ โตเองเป็นของเด็ก

 

 

วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) และเน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ระบุว่าสมองส่วนสำคัญที่สุดต่อการกำกับดูแลตัวเองของมนุษย์คือคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) หรือ “สมองส่วนนักบิน”

“คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าควบคุมระบบบริหาร มีหน้าที่วางแผน จัดระเบียบ ควบคุมความต้องการ และใช้วิจารณญาณ เมื่อจิตใจสงบ พักผ่อนเพียงพอ หรือก็คือมีสติ … แท้จริงแล้วตัวแปรหลักที่ตัดสินในว่าเรารู้สึกเครียดกับประสบการณ์ชีวิตที่พบเจอมากน้อยเพียงใดนั้นคือคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า ว่ารับรู้ความสามารถในการกำกับดูแล <สถานการณ์> มากน้อยเพียงใด”

อย่างไรก็ตาม ชีวิตมนุษย์ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ไม่มีใครมีเวลาชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียนักเมื่อภยันตรายมาถึง มนุษย์จึงต้องมีอะมิกดาลา (amygdala) หรือ “สมองส่วนนักสู้สิงโต”

“ภายใต้ความตึงเครียดรุนแรง อะมิกดาลาจะทำงาน … ทำให้เรามีพฤติกรรมตั้งรับ ตื่นตัว ดื้อรั้น และหลายครั้งก็ก้าวร้าว เรามีแนวโน้มที่จะหันไปพึ่งพาความเคยตัวหรือสัญชาตญาณ ธรรมชาติของสัตว์ในตัวเราทำให้เราพร้อมต่อสู้ หนี หรือตัวแข็งทื่อเหมือนกวางที่ไฟหน้ารถยนต์สาดแสงใส่”

“ลักษณะการตอบสนองต่อความเครียดที่ปลอดภัยคือการที่ฮอร์โมนความเครียดสูงขึ้นฉับพลันแล้วติดตามด้วยการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว … หากเครียดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ต่อมหมวกไตจะหลั่งคอร์ติซอล ซึ่งใช้เวลาเตรียมการหลั่งมากกว่า … ระดับคอร์ติซอลที่สูงเรื้อรังจะทำให้เซลล์ในฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งมีหน้าที่สร้างและจัดเก็บความทรงจำเสื่อมลงหรือตาย”

ความเครียดในโรงเรียนจึงไม่เคยเป็นผลดีต่อนักเรียนในระยะยาว จะเรียกว่ายิ่งเครียดยิ่งแย่ก็ได้

สมองอีกสองส่วนที่หนังสือกล่าวถึง “ส่วนเชียร์ลีดเดอร์” หรือส่วนที่หลั่งโดพามีน (dopamine) ฮอร์โมนที่ทำให้ตื่นตัว อิ่มเอม และมีความสุข เมื่อได้ทำสิ่งหรือรับสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง รวมถึงสมอง “ส่วนพระพุทธเจ้า” หรือเครือข่ายอัตโนมัติ (default mode network) ที่ประมวลผลความทรงจำ ก่อรูปทัศนคติ และให้กำเนิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำงานเมื่อมนุษย์พักผ่อนอย่างเต็มที่

แต่สมองส่วนที่ต้องสนใจเป็นพิเศษในวันนี้คือสองส่วนแรก เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ในครอบครัว กล่าวคือพื้นที่ที่เด็กจะลองผิดลองถูก ตัดสินใจด้วยตนเอง ขอคำปรึกษา และ “พักใจ” หลังผจญโลกกว้าง

คิดว่าลูกจะรู้สึกอย่างไรหากทำแก้วตกแตกเพราะควบคุมนิ้วมือได้ไม่ดีนักแล้วถูกตวาดว่า “ซุ่มซ่ามจริงเชียว!” จะรู้สึกอย่างไรหากทำกระเป๋าสตางค์หายครั้งแรกแล้วถูกพ่อแม่ตีตราว่า “เป็นคนสะเพร่า” จะรู้สึกอย่างไรหากความกังวลและความเครียดของพวกเขาไม่เคยได้รับการเยียวยาหรือเอาใจใส่ที่บ้าน และการแสดงออกซึ่งความรู้สึกเชิงลบเพียงนาทีอาจนำไปสู่การตีตราว่า “เกเร” “ก้าวร้าว” หรือ “หรือไม่รู้จักเอาอย่างคนอื่นเสียบ้าง”

บ้านหลังนี้ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยให้คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าทำงาน แต่เป็นทุ่งหญ้ากว้างที่มีสิงโตซุ่มซ่อนทุกหนแห่ง พร้อมกระโจนออกมากระตุ้นฮอร์โมนความเครียดทุกเมื่อ

ความเครียดของมนุษย์มีสามระดับ ได้แก่ ความเครียดที่เชิงบวก (positive stress) ความเครียดที่ทนไหว (tolerable stress) และความเครียดเป็นพิษ (toxic stress)

ความเครียดระดับแรกคือความรู้สึกตื่นตัวที่หลายคนเคยรู้สึกก่อนเข้าห้องสอบหรือแข่งขันกีฬา เป็นความเครียดประเภทที่นำไปสู่ความสำเร็จ โดยมาจากความท้าทายที่ผู้รับยินยอมพร้อมใจ ขณะที่ความเครียดที่สองคือความเครียดที่รุนแรงขึ้น แต่ได้รับความช่วยเหลือทันท่วงที หรือความเครียดที่เกิดขึ้นพร้อมการประคับประคองของผู้ที่ไว้วางใจ อาทิ การอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่กำลังจะหย่าร้างและทะเลาะกันประจำ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ไม่โถมความรู้สึกเชิงลบนั้นใส่ลูก และแสดงออกชัดเจนว่าแม้ชีวิตคู่ของทั้งสองจะสิ้นสุดลง แต่ความเป็นพ่อแม่ไม่ได้สิ้นสุดด้วย เด็กจึงค่อยๆ เรียนรู้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่อันตราย การตอบสนองต่อความเครียดของร่างกายจึงค่อยๆ ลดลง จนสงบในที่สุด

ความเครียดเป็นพิษคือความเครียดที่คงอยู่เรื้อรัง ไม่จางหาย ไม่มีทีท่าว่าจะหาย หรือคาดการณ์ไม่ได้ เช่น การถูกข่มเหงรังแกที่โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอโดยเด็กที่เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ มาก จึงไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ การอยู่ในชุมชนแออัดอุดมด้วยอาชญากรรมโดยไม่มีวี่แววว่าจะย้ายออกไปได้ ฯลฯ ความเครียดชนิดนี้ทำให้มนุษย์รู้สึกอับจนหนทาง ฮอร์โมนความเครียดที่คงอยู่ยาวนานทำลายศักยภาพสมองและความสามารถในการใช้เหตุผล ในที่สุดก็ระงับความสามารถในการกำกับดูแลตนเองด้วย

เด็กที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว หากไม่ “สู้” ด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว ก็ “หนี” ด้วยการอ่อนข้อให้อย่างสุดโต่ง จำยอมเสมอแม้ไม่ต้องการ เพราะไม่เชื่อว่าตนเปลี่ยนแปลงอะไรได้

หลายคนอาจบอกว่าการคงสติไม่สร้างพื้นที่ “อันตราย” ในบ้านนั้นพูดง่ายกว่าทำ ซึ่งเป็นความจริง แต่ก็มีคาถาสั้นๆ ที่พ่อแม่ท่องให้ขึ้นใจเพื่อเตือนตนเองก่อน “ขาดสติ” ได้เช่นกัน คือ “เวลาที่ใช้กับลูก ต้องเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด”

 

 

ไม่ชวนทะเลาะ พูดคุยด้วยความเมตตา ความเข้าใจว่าความผิดพลาดนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และความเชื่อมั่นว่าทุกคนต้องการโอกาส เช่นเดียวกับที่พ่อแม่ย่อมต้องการโอกาส รับฟังโดยไม่ด่วนตีตรา ไม่คิดว่าปัญหาของใครใหญ่เล็กกว่าของใคร ใช้เวลากับลูก ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว โดยคำนึงเสมอว่าเมื่อหันกลับมาในวัยผู้ใหญ่ ลูกจะจดจำความสุขได้เป็นส่วนใหญ่

เท่านี้ก็เพียงพอ

 

จากทฤษฎีสู่วิถีปฏิบัติ

 

ได้เวลาทำแบบฝึกหัดกันแล้ว!

เมื่อเข้าใจแล้วว่าสมองทำงานอย่างไร ก็ถึงเวลาเรียนรู้วิธีปั้นสมองในพื้นที่ปลอดภัยให้เป็นสมองที่อยู่เองได้ และโตเองเป็น

อรุณฉัตรกำหนดโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมห้าข้อ เพื่อนำไปปรับใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือลูกต่อไป

  • ลองกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยใช้หลักการ WOOP คือมีความปรารถนา (Wish) ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ (Outcome) อุปสรรคที่อาจต้องเผชิญ (Obstacles) และแผนที่รัดกุม (Plan)

  • จินตนาการว่าจะอธิบายองค์ความรู้เกี่ยวกับสมองที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ให้ลูกฟังอย่างไร จะจูงใจลูกให้เห็นความสำคัญขององค์ความรู้นี้อย่างไร และลูกจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการรู้เท่าทันการทำงานของสมอง

เคล็ดไม่ลับ: ไม่ว่าจะจูงใจให้ลูกทำอะไร ใช้ “ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยฉัน” ไว้เป็นดี (I Message) “แม่อยากให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับสมอง แม่คิดว่ามันจะเป็นประโยชน์” ดีกว่า “ทำไมลูกไม่ลองเรียนรู้เกี่ยวกับสมอง มันจะเป็นประโยชน์แท้ๆ” หรือ “ทำไมลูกไม่ลองเรียนรู้เกี่ยวกับสมอง ใครๆ ก็ว่าดีทั้งนั้น” แน่ ทำนองเดียวกัน การพูดว่า “แม่อยากให้ลูกหัดทำอาหาร วันหนึ่งเมื่อต้องอยู่ไกลบ้านจะได้ดูแลตัวเองได้” ดีกว่า “ลูกสาวบ้านไหนก็ทำอาหารได้ทั้งนั้น ทำไมบ้านนี้ทำไม่ได้” เช่นกัน

  • หาแผนสำรองให้เป็น จินตนาการว่ามีภารกิจหนึ่งที่ตนต้องทำให้สำเร็จ เป็นภารกิจที่มีความท้าทายพอสมควร แล้วคิดว่าจะทำอย่างไรหากแผนแรกไม่ประสบความสำเร็จ การมีแผนสำรองลดความเครียดได้ ทำให้สมองรู้ว่ามีทางเลือกเสมอแม้จะล้มเหลว การเป็นที่ปรึกษาในการหาแผนสำรองของลูกจะพัฒนาความยืดหยุ่นและความสามารถในการกำกับดูแลตนเองของลูกได้

  • เรียนรู้วิธีพูดกับตนเองด้วยความรัก กล่าวคือพูดอย่างมีสติ มีเหตุผล พูดโดยคำนึงว่าตนเป็นมนุษย์ที่มีข้อบกพร่องและเรียนรู้ได้ ตลอดจนพูดด้วยความเมตตา เมื่อพูดกับตัวเองด้วยความรักได้ก็จะพูดกับลูกด้วยความรักได้ดีขึ้น และเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกปฏิบัติตาม

  • นึกถึงปัญหาที่เคยเผชิญสักสามปัญหา แล้วกำหนดกรอบความคิดให้ปัญหานั้นใหม่ อาทิ ลูกไม่ชอบวิชาสำคัญอย่างคณิตศาสตร์เอาเสียเลย แทนที่จะคิดว่าลูกดื้อรั้นหรือน้อยเนื้อต่ำใจที่ลูกไม่เหมือนคนอื่น คิดว่าดีแล้วที่รู้จักตัวเองตั้งแต่ยังเล็กดีกว่า

เคล็ดไม่ลับ: อย่ารีบร้อนตัดสิน การที่ลูกไม่เข้าคณะใดคณะหนึ่งในวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไร้อนาคต ลูกโกหกหนึ่งครั้ง ไม่ได้แปลว่าเป็นเด็กเหลวไหลไร้ทางกอบกู้ที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด ทุกปัญหามีทางออก เพียงปรับมุมมองเท่านั้น

 

เมื่อใกล้สิ้นสุดกิจกรรม อรุณฉัตรพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลับมาที่กฎสามข้ออีกครั้ง ทุกคนเข้าใจแล้วว่าจะทำให้ตัวเองและลูกเชื่อมั่นว่าเด็กๆ รู้จักตัวเอง เด็กๆ ก็มีสมอง และเด็กๆ ก็ปรารถนาดีต่อตนเองได้อย่างไร

สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำมีเพียงปล่อยให้พวกเขาเลือก ให้พวกเขาตัดสินใจในพื้นที่ปลอดภัยอย่างจุใจ เลือกจนกว่าจะรู้ว่าต้องเลือกอย่างไร และจะรับผิดชอบผลที่ติดตามมาอย่างไร

ดูจะเป็นช่วงเวลาชวนอกสั่นขวัญแขวน แต่อย่างน้อย กิจกรรมนี้ก็มอบไม้ตายสุดท้ายให้พ่อแม่ใช้ ขณะประคับประคองลูกให้ฝึกฝนการตัดสินใจและดูแลตัวเอง จนโผบินได้อย่างใจต้องการ

ท่องไว้ว่า…

 

เมื่อใดที่ลูกต้องตัดสินใจ…

 

ต้อง ไม่ตัดสินใจแทนในประเด็นที่ลูกตัดสินใจเองได้

วิลเลียมและเน็ดรับรองด้วยผลการวิจัยว่า

เด็กๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นนั้นไม่ได้มีวิจารณญาณยิ่งหย่อนกว่าผู้ใหญ่

สิ่งที่พวกเขาขาดคือประสบการณ์และองค์ความรู้ต่างหาก

กำหนด ขอบเขตที่พ่อแม่รับได้

หนึ่งในตัวอย่างที่ใช้ได้

คือไม่ว่าการตัดสินใจของลูกจะเป็นอย่างไร

ต้องไม่เป็นการทำร้ายตัวเอง

ไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น และไม่เป็นการทำลายสาธารณสมบัติ

ยก พื้นที่นอกขอบเขตนั้นให้ลูก

และ

ให้ ข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ

 

ข้อมูลที่ว่านี้คือผลดีและผลเสียของแต่ละทางเลือก

การรับรู้ผลดีและผลเสียเหล่านั้น

ก่อนตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งด้วยตนเอง

จะทำให้มนุษย์อดทนต่อข้อจำกัดของทางเลือกนั้นๆ ได้ดีกว่า

หาหนทางรับมือล่วงหน้าได้ดีกว่า และยืดหยุ่นมากกว่า

ท่องไว้ว่าลูก “ไม่ใช่ส่วนขยายไร้วิญญาณ” ของพ่อแม่

อย่างน้อยที่สุด การบังคับให้ลูกทำงานบ้าน

ก็แทบไม่มีทางเป็นผลดีในระยะยาว

มากกว่าการให้ลูกเลือกงานบ้านที่ต้องการรับผิดชอบ

พร้อมเรียนรู้เหตุผลที่ต้องทำงานบ้านนั้นๆ เลย

 

กับดักแห่งความรักอาจเป็นกับดักใหญ่เกินกว่าพ่อแม่คนใดจะข้ามไปได้ง่ายๆ แต่อย่างน้อย ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสมอง ธรรมชาติของมนุษย์ และการมีสติเสมอ ย่อมทำให้บ่วงสองชั้นของกับดักนี้รัดพ่อแม่ได้ไม่แน่นหนานัก เมื่อรัดพ่อแม่ได้ไม่แน่นหนา ก็รัดลูกได้ไม่แน่นหนา และเมื่อไม่ถูกความรักรัดแน่นหนาเกินไป เด็กทุกคนก็พร้อมจะตั้งไข่ ก้าวเตาะแตะและหกล้ม จากนั้นก็ลุกขึ้นอีกครั้ง หกล้มอีกครั้ง หากบ่วงแห่งความรักกลับมารัดพวกเขาอีกหน เด็กก็จะไม่มีวันเดินได้เต็มที่ แต่หากมันยังสงบ วันหนึ่ง เด็กคนนั้นก็จะไปได้ทุกหนแห่งด้วยขาของตัวเอง

ไม่มีใครดูแลเด็กๆ ได้ตลอดไป ความสามารถในการกำกับดูแลตนเองจึงอาจเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่พ่อแม่มอบให้พวกเขาได้ ดังประโยคหนึ่งของพอล ทัฟ (Paul Tough) ผู้เขียน ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน หนึ่งในหนังสือว่าด้วยการเรียนรู้และการเลี้ยงดูที่ดีที่สุด ที่ว่า “บางครั้ง สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดที่เราทำได้ในฐานะพ่อแม่ คือการดูแลลูกให้น้อยลง”

 

อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

William Stixrud และ Ned Johnson เขียน

ศิริกมล ตาน้อย แปล

416 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่