ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์ เรื่อง
ตรัยภูมิ จงพิพัฒนสุข ภาพ
การศึกษาฟินแลนด์นั้นขึ้นชื่อว่าแม้มีชั่วโมงการเรียนการสอนน้อยกว่าประเทศอื่น แม้ไม่มีการสอบวัดผลหรือให้เกรดเด็ก แม้ไม่ต้องท่องหนังสือหน้าดำคร่ำเครียดหรือกวดวิชาถึงดึกดื่น เด็กก็ยังมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับบนเสมอมา เหตุนี้แนวคิด นวัตกรรม รวมถึงปรัชญาเบื้องหลังการศึกษาแบบฟินแลนด์จึงได้รับความสนใจและกลายเป็นโมเดลการศึกษาในฝัน ทั้งด้านความเท่าเทียม ประสิทธิผล จนถึงความสุขของผู้เรียน
แต่ไม่เพียงเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและความสุขของผู้เรียนเท่านั้น วิชาชีพครูในฟินแลนด์ก็เป็นยอดปรารถนาของครูทั่วโลกเช่นกัน ครูฟินแลนด์มีอัตราการลาออกต่ำ ได้ค่าตอบแทนสูง มีสถานะทางสังคมสูง มีชั่วโมงทำงานเพียง 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเป็นชั่วโมงสอนเพียง 18 ชั่วโมงในครูประถม และ 15 ชั่วโมงในครูระดับมัธยม และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ครูได้รับความเชื่อใจ
bookscape กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนเหล่าคุณครูและคนทำงานด้านการเรียนรู้กว่า 30 ชีวิต หันมาสำรวจตัวเอง ฟื้นฟูความเชื่อใจ และปลุกไฟความเป็นครูกันอีกครั้ง ใน workshop “เชื่อใจในตัวครู: ฟื้นฟูหัวใจของระบบการศึกษา” นำกิจกรรมโดย ผศ.ดร. อดิศร จันทรสุข ร่วมด้วย ผศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล และ ผศ.ดร.ลินดา เยห์
สำรวจความเชื่อใจ… ในหัวใจตัวเอง
ผศ.ดร. อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มว่า หลักการหรือวิธีการดีๆ ที่เรานำเข้ามาจากต่างประเทศมักแพ้ให้ระบบ เช่นนั้นแล้ว เราจะนำ “ความเชื่อใจ” มาสู่ระบบการศึกษาไทยได้อย่างไร คำตอบของเรื่องนี้อาจต้องกลับมาเริ่มต้นที่ครู
กิจกรรมแรกสุดคือการสำรวจความเชื่อใจในหัวใจตัวเองผ่านงานศิลปะ อาจารย์อดิศรโยนโจทย์แรกลงกลางวง “พวกเราให้ความหมายความเชื่อใจว่าอย่างไร” โดยไม่ลืมย้ำข้อความสำคัญตลอดกิจกรรม – “จงเชื่อใจในตัวเอง”
ตอนเริ่ม ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่งงงัน เคอะเขิน และหยิบจับอะไรไม่ถูก แต่เมื่ออาจารย์อดิศรย้ำว่า “งานศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก ทุกคนจะทำอะไรกับกระดาษและอุปกรณ์ตรงหน้า กระทั่งฉีกหรือพับก็ได้” ทุกคนก็เริ่มขยับตัว หยิบสีไม้ กำสีเทียน ล้วงกระปุกสีโปสเตอร์ด้วยปลายนิ้วมือ แล้วลงมือละเลงแต่งแต้มกระดาษตรงหน้าตนเพื่อให้ความหมายความเชื่อใจในแบบของตนเอง
จากนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งเป็นกลุ่มๆ เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนจากงานศิลปะว่า “แต่ละคนให้ความหมายความเชื่อใจอย่างไร” เพียงสิบนาที ฟลิปชาร์ตของแต่ละกลุ่มก็เต็มแผ่น หลากความคิดโยนกันไปมาระหว่างกลุ่มทั่วห้อง หลายมุมมองน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น
“ความเชื่อใจขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์และประสบการณ์ที่ดีระหว่างเรากับอีกคนหนึ่ง ความไม่เชื่อใจสามารถเปลี่ยนเป็นความเชื่อใจได้ แน่นอนว่าความเชื่อใจก็อาจเปลี่ยนเป็นความไม่เชื่อใจได้เช่นกัน”
“เราจะไม่เชื่อใจเมื่อรู้ว่าอีกฝ่ายโกหกหรือมีอะไรปิดบังเรา จากความเชื่อใจก็เปลี่ยนเป็นไม่เชื่อใจ และอาจถึงขั้นฝังใจจนไม่อาจกลับไปเชื่อใจกันอีก”
“ความเชื่อใจเกิดจากความเข้าใจ เมื่อไรก็ตามที่เราสงสัยหรือมีอะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ เราจะเชื่อใจกันไม่ได้”
“ความเชื่อใจเกี่ยวข้องกับพื้นที่สบายใจ และนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ กล้าที่จะเป็นตัวเอง”
“ความเชื่อใจสะท้อนให้เห็นผ่านการให้อิสรภาพ ไม่ว่าจะการกระทำ การแสดงความคิดเห็น หรือการตัดสินใจ”
การสำรวจตัวเองผ่านคำถามง่ายๆ ของอาจารย์อดิศร อาจสรุปเป็นนิยามของความเชื่อใจได้ว่า ความเชื่อใจกับความไม่เชื่อใจนั้นเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน และความเชื่อใจต้องอาศัยความสัมพันธ์ ความซื่อสัตย์ พื้นที่สบายใจที่อีกฝ่ายจะรู้สึกปลอดภัย ได้เปิดเผยตัวตน และนำไปสู่โอกาสที่จะออกไปเชื่อมต่อกับคนอื่น
หลายข้อสอดคล้องกับที่ศาสตราจารย์ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก และทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ เสนอไว้ใน เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์ หนังสือต้นที่เรานำมาทำกิจกรรม
ซอห์ลเบิร์กและวอล์กเกอร์ กล่าวถึงองค์ประกอบของความเชื่อใจไว้ว่ามี 5 ประการ ได้แก่
- ความเมตตา (benevolence) หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะมีบุคคลอื่นใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอหรือความไม่มั่นใจของเขา และความเมตตาสร้างขึ้นได้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและอบอุ่นระหว่างสมาชิกทั้งหมดในโรงเรียน
- ความซื่อสัตย์ (honesty) หมายถึง การที่ครูจะเชื่อถือคำพูดและการกระทำของเพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร และนักเรียนได้ หากความซื่อสัตย์หายไป การทรยศ ความน่าสงสัย และความไม่ไว้ใจจะเข้ามาแทนที่
- ความเปิดกว้าง (openness) ในทางปฏิบัติ หากความเปิดกว้างเสื่อมไป ครูจะเริ่มสงสัยว่าเพื่อนร่วมงานอาจปิดบังอะไรบางอย่างและสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด และเมื่อครูรู้สึกว่าต้องแข่งขันกันเอง พวกเขาจะไม่แบ่งปันความคิดที่ดีที่สุดหรือสนับสนุนเพื่อนร่วมงาน เพราะนั่นอาจทำให้สถานะในการแข่งขันของตนสั่นคลอน
- ความน่าเชื่อถือ (reliability) หมายถึง การที่ทุกคนในโรงเรียนรู้หน้าที่และความรับผิดชอบในระดับบุคคลและระดับกลุ่มของตน โรงเรียนที่บ่มเพาะความน่าเชื่อถือให้แก่บุคลากรได้สำเร็จ คือโรงเรียนที่ลงทุนกับการพัฒนาความเชี่ยวชาญในโรงเรียนและพัฒนาวัฒนธรรมความร่วมมือ
- ศักยภาพ (competence) หมายถึง การที่โรงเรียนแบ่งปันความคาดหวังในวิชาชีพและความเข้าใจร่วม ซึ่งมีเพียงผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และคุณวุฒิเท่านั้นที่จะทำสิ่งนี้ได้ ความเชื่อใจในตัวครูเสื่อมลงได้หากครูขาดความรู้ ศักยภาพ และจริยธรรมทางวิชาชีพ
น่าสังเกตว่าแม้บริบทด้านสังคมวัฒนธรรมจะต่างกัน แต่ดูเหมือนความรู้สึกร่วมของมนุษย์เกี่ยวกับความเชื่อใจไม่ผิดแผกกันนัก
อาจารย์อดิศรยังกล่าวถึงการทำงานศิลปะกับความเชื่อใจไว้ด้วยว่า ข้อดีของงานศิลปะคือทำให้เราได้เห็นสภาวะภายในของเราตอนทำงาน เมื่อเรารู้สึกวางใจในกระบวนการ รู้สึกว่าเราทดลองได้ ทำอะไรกับมันก็ได้ แสดงออกอย่างที่เรารู้สึกได้ ก็จะพาตัวเองไปแตะขอบในจุดที่ไม่เคยไปมาก่อน
“หลายคนมีแผลใจหรือประสบการณ์เลวร้ายจากการเรียนศิลปะ เพราะเราถูกตัดสินว่าเธอทำงานศิลปะไม่ได้ เธอไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เธอไม่มีพรสวรรค์ เธอควรไปทำอย่างอื่น ความสร้างสรรค์นั้นจึงถูกทำลายไป การลองกลับมาทำงานศิลปะจึงพาเรากลับไปแตะขุมพลังสร้างสรรค์และทรัพยากรของเราขึ้นมาอีกครั้ง” – ผศ.ดร. อดิศร จันทรสุข
อาจารย์ยังแนะนำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลับไปสร้างพื้นที่เหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ผู้เรียน หรือคนที่เราทำงานด้วย ให้คนเหล่านั้นได้แตะขุมพลังของตัวเอง จนค่อยๆ เกิดความวางใจในกระบวนการเรียนรู้ แล้วทุกคนจะเชื่อในศักยภาพของตัวเอง ทุกคนจะรู้ว่าตัวเองมีเอกลักษณ์ ทุกคนมีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร พื้นที่แห่งความเชื่อใจทำให้เราฉายอะไรบางอย่างออกมาได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเราจะถูกตัดสิน
น่าสนใจว่าอาจารย์อดิศรพูดถึงเสียงในหัวเรา แม้จะรู้ว่างานศิลปะไม่มีถูกไม่มีผิด แต่เสียงตัดสินก็ยังมาจากหัวเราอยู่ดี “สกปรกจังเลย เละ แย่” เสียงในหัวเราทำงานเสมอเมื่อเรารู้สึกไม่ปลอดภัย
“พวกเราต่างก็โตมาหลายสิบปี เราสะสมความคุ้นชินอะไรบางอย่าง ทั้งการก่นด่าตัวเอง ความไม่เชื่อใจในตัวเอง เลยไปถึงความไม่เชื่อใจในคนอื่นในบางมิติอยู่ตลอดเวลา” – ผศ.ดร. อดิศร จันทรสุข
สำรวจสุขภาพใจ ครูไทยแบกอะไรอยู่บ้าง
ภาระงานสอน งานเอกสาร และงานจิปาถะอื่นๆ อันหนักหนานั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่มีบางอย่างที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งครูไทยต้องแบกไว้บนบ่า
คราวนี้อาจารย์อดิศรชวนเหล่าคุณครูถอยออกมาหนึ่งก้าว มองสังคมไทย แล้วช่วยกันเขียนลง post-it ว่า “อะไรคือภาพลักษณ์ที่ดีของครูที่เรามักจะได้ยินในสังคม”
เรียกว่าบรรยากาศเหมือนห้องสอบก็ตรงเสียง “ขอกระดาษเพิ่ม” ดังจากหลายคน ผู้เข้าร่วมจำนวนมากส่งถึงสามคำตอบ กระดาษแผ่นเล็กสีเหลืองแปะทั่วฟลิปชาร์ต คำตอบหลายสิบแผ่นถูกจัดกลุ่มคร่าวๆ เหลือห้าประเด็นใหญ่ๆ คือ ผู้เสียสละ/ทุ่มเท, เป็นแบบอย่างที่ดี, พ่อแม่คนที่สอง, มีเกียรติ และมีความรู้
แล้ว “อะไรคือภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของครูที่เรามักจะได้ยินในสังคม” คราวนี้กระดาษแผ่นเล็กสีส้มแปะทั่วฟลิปชาร์ตเช่นกัน บางคำตอบเฉพาะเจาะจงถึงระดับ “ครูใส่ bikini”“ครูผิดเพศสภาพ” หรือกระทั่ง “ครูเปลี่ยนแฟนบ่อย” ทั้งนี้ คำตอบถูกจัดหมวดเหลือ 5 ประเด็นหลักๆ คือ การใช้อำนาจ, พฤติกรรม, การแต่งกาย, ประสิทธิภาพการสอน และวิธีคิด
เมื่ออาจารย์อดิศรชวนเหล่าคุณครูพูดคุยลึกลงไป มีมายาคติอะไรซ่อนอยู่บ้างภายใต้ภาพลักษณ์ของครูที่สังคมมอง ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งยกมือแล้วพูดขึ้นว่า “เหมือนครูเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ไม่ใช่มนุษย์” แล้วจากนั้นผู้เข้าร่วมต่างก็แลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างแหลมคม
“สังคมฝากความหวังไว้กับโรงเรียน ผู้ปกครองไม่มีเวลาจะสอนลูกก็โยนลูกให้ครู งั้นช่วยเป็นตัวอย่างเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกด้วยนะ”
“ความเป็นอุดมคติ”
“ไม่ว่าเด็กจะมีพื้นเพภูมิหลังอย่างไร เมื่อมาโรงเรียนแล้วต้องดีขึ้น ต้องเก่ง ผู้ปกครองหวังว่าครูจะเปลี่ยนลูกเขาได้”
“เด็กๆ เป็นผ้าขาว ครูมีหน้าที่แต่งแต้มสีที่สวยงามลงไป ถ้าครูเป็นแบบอย่างที่ดี เด็กก็จะเอาแบบอย่างที่ดี”
“เพราะครูมีหน้าที่สร้าง ‘อนาคตของชาติ’ ครูจึงต้องหล่อหลอมขัดเกลาเด็กๆ ทุกด้านเพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี”
“โรงเรียนมีหน้าที่ยกระดับฐานะคุณภาพชีวิตของคน”
“สะท้อนบรรทัดฐานของสังคม ว่าต้องควบคุมครูให้เป็นแบบนี้ แล้วให้ครูไปควบคุมเด็กให้โตมาเป็นแบบนี้อีก เป็นวิธีทำให้พลเมืองว่านอนสอนง่าย ไม่ถามเยอะ”
“คำว่าครูคือแม่พิมพ์ของชาติและครูต้องเสียสละ ทำทุกอย่างโดยที่ไม่เหน็ดเหนื่อย มันเห็นได้ว่าสังคมคาดหวังกับอาชีพนี้มากกว่าอาชีพอื่น คุณต้องเสียสละมากๆ นะ คุณควรทำงานเกินเวลานะ ทั้งๆ ที่ครูคือคนธรรมดาคนหนึ่งที่เหนื่อยเป็น”
“ครูถูกคาดหวัง ครูมีภาระสำคัญต้องแบกบนบ่า แต่ทั้งที่มีความสำคัญขนาดนี้ สังคมก็ไม่ได้มองเห็น ครูเป็นน็อตตัวหนึ่งที่สำคัญมาก แต่สังคมไม่ได้ใส่ใจว่าน็อตตัวนี้จะมีสนิทหรือไม่มีสนิท ไม่เคยดูแล ไม่เคยขัดมัน ไม่เคยใส่ใจ ไม่ให้เกียรติ เงินเดือน สวัสดิการ”
“ครูคือตัวกลางของจุดเปลี่ยนและจุดไม่เปลี่ยน มีความคาดหวังจากอดีตที่มีครูอยู่ตรงกลางในฐานะปัจจุบัน ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอนาคต”
“ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ครูต้องเป็นแม่พิมพ์ที่ดี ครูต้องสร้างพลเมืองที่ดี นี่เป็นเรื่องดีแน่ๆ แหละ แต่สิ่งที่นำมาซึ่งความขัดแย้งคือคำว่า ‘ดี’ มันมีแบบเดียว”
ผศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล หรืออาจารย์แต้ว สรุปจากความเห็นที่โยนกันไปมาว่า เมื่อสังคมมองเด็กเป็นผ้าขาว และครูมีบทบาทในการเปลี่ยนสีให้เขาเป็นแบบที่สังคมต้องการ จึงมาคาดหวังกับครู ครูเป็นกลไกที่ต้องรับผิดชอบอนาคตของชาติและอนาคตของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งอนาคตของเด็กก็ดันเป็นอนาคตที่มีไม่กี่แบบ จบไปทำงานได้ ยกระดับฐานะของตัวเอง พอเราคาดหวังครูสูงมาก แต่ไม่มีระบบสนับสนุน เมื่อลองถอยออกไปสักก้าว
“ภาพลักษณ์และความคาดหวังนั้นเกี่ยวข้องกับความเชื่อใจและการควมคุม เพราะเมื่อคาดหวังสูง ภาพลักษณ์ก็ยิ่งสูง พอทำไม่ได้อย่างที่คาดหวังจึงกลายเป็นกระแสตีกลับ จนต้องมีระบบบางอย่างมาควบคุมให้ครูทำตามที่คาดหวัง ซึ่งความคาดหวังบางอย่างเป็นเรื่องพฤติกรรมที่เป็นเรื่องส่วนตัว” – ผศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล
ผศ.ดร.ลินดา เยห์ หรืออาจารย์หลิน กล่าวถึงหนังสือ เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์ ว่าเน้นย้ำเรื่องการปล่อยให้โรงเรียน ผู้บริหาร และครูได้ทำงานของตัวเอง ทำหน้าที่ของตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ได้คือความเชื่อใจ ในกรณีของไทยที่หลายคนสะท้อนตรงกันคือ ระบบของเรามีการควมคุมเป็นทอดๆ และสิ่งนี่เองที่คอยตัดวงจรความเชื่อใจ
“มันเป็นการสร้างระบบเพื่อตรวจสอบและควบคุมครู จนเกิดความไม่ไว้วางใจในระบบ แล้วครูก็ไปตรวจสอบและควบคุมนักเรียน หลายคนก็ใช้อำนาจ ลงโทษ ทำร้ายร่างกายและจิตใจ จนระบบการศึกษาของเราแทบไม่มีความเชื่อใจกันกลายเป็นวัฒนธรรมที่อยู่ในระบบเรา” – ผศ.ดร.ลินดา เยห์
ทั้งภาพลักษณ์ที่ดีและไม่ดีที่สังคมไทยมองครู สะท้อนความคาดหวังนานาประการที่ครูแบกไว้บนบ่า ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน การเป็นผู้เสียสละ การเป็นพ่อแม่คนที่สอง การเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ และการเป็นแบบอย่าง “ที่ดี” กระทั่งในเรื่องส่วนตัวอย่างการแต่งกายนอกเวลางานหรือเพศสภาวะของครู ล้วนสะท้อนถึงมายาคติของสังคม
ในแง่ดีคือ ภาพลักษณ์ข้างต้นที่กล่าวมาสะท้อนชัดว่าสังคมไทยให้เกียรติครูและมองว่าครูคือ “แม่พิมพ์” ของชาติที่ต้องหล่อหลอมเด็กร้อยแปดพันเก้าให้ออกมาเป็นพลเมืองที่ดี ทั้งด้านวิชาการและศีลธรรมอันดี ทว่าพร้อมกันนั้นกลับมีระบบบังคับบัญชาและควบคุมตรวจสอบอย่างละเอียด จนครูทุกคน ณ ที่แห่งนี้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเชื่อใจหรือไว้วางใจเลย
หลักการสู่ความเชื่อใจ เริ่มได้ที่รอบตัวเรา
ระบบการศึกษาแบบฟินแลนด์ที่ขึ้นชื่อว่าดี มีประสิทธิภาพ เท่าเทียม และมีอิสรภาพนั้น ทุกฝ่ายเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ ไล่ตั้งแต่รัฐ กระทรวง นักการเมือง ข้าราชการ ครู ต่างก็เห็นและชื่นชมระบบการศึกษาแบบฟินแลนด์
หรือที่อาจารย์อดิศรใช้คำว่า “เราชื่นชมแต่ไม่อาจเชื่อมโยงมาใช้ เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ปัญหาเต็มไปหมด”
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระบบคือ ผู้บริหารไม่ไว้ใจครู ผู้บริหารไปรับนโยบายมาจากภาครัฐ แล้วก็เอามา “ขอร้อง” ให้เราทำ สิ่งที่เปลี่ยนไปจากอดีตคือตอนนี้เรากล้าตั้งคำถามมากขึ้นกับสิ่งที่เราคิดว่าไม่เหมาะกับเด็ก และเมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มตั้งคำถาม เราจะเริ่มกลับไปทบทวน เราจะสำรวจตัวเองว่าคิดกับมันอย่างไร เราเชื่อมันไหม
“คนทำงานด้านการศึกษาควรหมั่นตรวจสอบความคิดความเชื่อ ตอนเรียนจบใหม่ๆ อุดมการณ์สูงมาก แต่พอมาทำงาน โดยเฉพาะเป็นครู ระบบไม่ได้เอื้อให้เราเติบโต ระบบในที่นี้คือโครงสร้างในโรงเรียน โครงสร้างในระบบประเมินผล วัฒนธรรมการทำงาน เราทำงานไปได้สี่ห้าปี ชีวิตก็เจอทางแพร่ง ทางเลือกแรกคือหมดไฟ อีกทางเลือกคือลาออก” – ผศ.ดร. อดิศร จันทรสุข
อาจารย์อดิศรชี้ว่า ปรากฏการณ์ครูรุ่นใหม่เข้าไปทำงานแล้วลาออกภายในห้าปีมีสูงมาก ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงในทางเศรษฐศาสตร์เพราะเราสูญเสียการผลิตครูจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์การส่งเข้าไปทำงานในระบบในระยะเวลายาวนานได้ สิ่งนี้สะท้อนความป่วยไข้ของระบบการศึกษา
ทำไมครูฟินแลนด์มีความสุข ทำไมนักเรียนไม่ต้องเคร่งเครียดกับการแข่งขัน ทำไมเด็กบางคนออกมาเดิน “เพ่นพ่าน” นอกห้องเรียนได้ ทำไมเด็กประถมสามารถเดินจากบ้านมาโรงเรียน คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่ทิม วอล์กเกอร์ หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเชื่อใจในตัวครูถามตัวเองเมื่อมาถึงฟินแลนด์ คำถามเหล่านี้ทาบทับลงได้กับสิ่งที่ครูไทยน่าจะสงสัยเหมือนกัน จนถึงคำถามสำคัญที่สุด คือเขาทำได้อย่างไร ถ้าคำตอบคือความเชื่อใจ พวกเขาสร้างความเชื่อใจได้อย่างไร
ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก กับทิม วอล์กเกอร์ รวบรวมข้อเสนอ “หลัก 7 ประการสู่ความเชื่อใจ” จากการไปเยือนโรงเรียนทั่วฟินแลนด์ไว้ (อ่านรายละเอียดหลัก 7 ประการที่นี่) ดังนี้
- สอนครูให้คิด
- บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป
- อิสระภายในกรอบ
- สร้างผู้เรียนที่รู้จักรับผิดชอบ
- เล่นเป็นทีม (ตารางสอนยืดหยุ่น ห้องพักครู และวิธิคิดแบบอิงกลุ่ม)
- แบ่งปันความเป็นผู้นำ
- เชื่อใจกระบวนการ
เมื่ออาจารย์อดิศรชวนย้อนมองห้องเรียนไทย ว่าพวกเราเคยมีประสบการณ์หรือตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับหลัก 7 ประการข้างต้นบ้างหรือไม่อย่างไร ผู้เข้าร่วมต่างก็เคยพานพบการทำงานที่สร้างความเชื่อใจอย่างน้อยหนึ่งประการ นี่สะท้อนว่าการสร้างความเชื่อใจนั้นเป็นไปได้
ในฐานะครูคนหนึ่ง นักการศึกษาคนหนึ่ง หรือผู้เรียนคนหนึ่ง เราต่างก็มีส่วนเสริมสร้างความเชื่อใจในระบบได้ และกิจกรรม workshop ในวันนี้ จะช่วยปลุกไฟ ฟื้นฟู และส่งต่อความเชื่อใจไปสู่ระบบการศึกษาไทย ดังที่ผู้เข้าร่วมสะท้อนความรู้สึกผ่านวลีสั้นๆ ว่า “เริ่มเลย!” “ความหวัง” และ “เชื่อใจในตัวเอง”
อ่านรายละเอียดและสั่งซื้อหนังสือ เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์ ได้ที่นี่
Pasi Sahlberg และ Timothy D. Walker เขียน
ทศพล ศรีพุ่ม แปล
นุชชา ประพิณ ออกแบบปก