Brief: Workshop “ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน”

เรื่อง: อภิรดา มีเดช
ภาพ: อินทุพิมพ์ เลิศวิริยะไพบูลย์

 

กิจกรรมเวิร์กช็อป “ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน” โดย ก๋วย พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และ ฝน ภัทรภร เกิดจังหวัด ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน คือโอกาสดีที่ครู นักการศึกษา และคนทำงานด้านการศึกษา จะได้ทำความเข้าใจแนวคิดใหม่จากหนังสือเล่มสำคัญ ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน ที่เปลี่ยนจาก “การสอน” มาเป็นการสร้าง “สภาพแวดล้อม” รอบตัวเด็ก โดยสภาพแวดล้อมในที่นี้คือ “ผู้ใหญ่” ที่รายล้อมเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่ที่บ้าน โรงเรียน ไปจนถึงสังคม

หากต้องการรู้จักการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความสำเร็จของเด็กๆ ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงอยากสัมผัสบรรยากาศกิจกรรมสนุกๆ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นการเรียนรู้สำหรับเด็กทุกคน นี่คือสรุปความกิจกรรมที่คุณไม่ควรพลาด

 

-1-

ปั้นตัวเอง

 

หลังจากผู้เข้าร่วมแนะนำตัว และจับคู่พูดคุยว่าเพราะอะไรถึงมาทำอาชีพหรือเรียนด้านนี้ และชีวิตช่วงนี้เปรียบได้กับฤดูอะไร ฝนก็ชวนทำกิจกรรม “ปั้นตัวเอง” ด้วยการให้เลือกสีดินน้ำมันที่ชอบ แล้วนำมาปั้นเป็น “ตัวฉัน” ที่อยากให้เพื่อนได้รู้จัก โดยจะมีหน้าตาหรือรูปทรงอย่างไรก็ตามแต่จินตนาการของผู้ปั้น

จากนั้นให้จับคู่กับเพื่อน แล้วเล่าว่าดินน้ำมันที่ปั้นแล้วนั้น แทนตัวเราอย่างไร มีความหมายอะไรซ่อนอยู่ ผลัดกันเล่าและรับฟัง ส่วนที่ท้าทายคือหลังจากนั้นฝนให้แลกดินน้ำมันกับเพื่อน แล้วพยายามหาทางเล่าความเป็นตัวเราผ่านชิ้นงานที่เราไม่ได้ปั้นออกมา

เมื่อการจับคู่จบลง ฝนชวนทุกคนร่วมถอดการเรียนรู้จากการปั้นดินน้ำมันและแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าทั้งสองรอบ อย่างหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมได้รับในรอบที่สองก็คือ แม้จะไม่ได้เป็นคนปั้นดินน้ำมันและเลือกเอง แต่ก็อยู่กับมันได้จนจบ ฝนชวนคิดต่อว่า กิจกรรมนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับงานที่พวกเขากำลังทำ หรือนักเรียนในห้องของพวกเขา

“เชื่อว่าครูหลายคนก็พยายามปั้น แต่หลายครั้งเราก็ปั้นในมุมของเราเอง แต่เราลืมว่า คนที่เป็นดินน้ำมันหรือลูกศิษย์ที่จะถูกปั้น เขามีความพร้อมมากขนาดไหน หรือบางทีเขาต้องการในสิ่งที่เราอยากปั้นหรือเปล่า บางทีเราก็ต้องช้าลง แล้วคุยกันมากขึ้น ทำให้การปั้น ซึ่งไม่ใช่เราปั้น แต่ผมเชื่อว่าต้องร่วมกันปั้น ก็จะทำให้ทั้งเขาและเรา และโจทย์ของโรงเรียน ของการศึกษาคมมากขึ้น” หนึ่งในเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วม

เนื่องจากหมอและครูเป็นอาชีพที่ไม่สามารถเลือกคนไข้หรือนักเรียนได้ คีย์เวิร์ดที่ฝนสรุปจากผู้เข้าร่วมที่แลกเปลี่ยนก็คือ เคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย

ก๋วยเสริมว่า ข้อสังเกตของกิจกรรมนี้คือเปิดโอกาสให้ได้ปั้นครู จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้คือ การสอนคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เด็ก ซึ่งเป็นการให้อำนาจกับความเป็นครูในการปั้นเด็กมากเกินไปหรือเปล่า

“สิ่งสำคัญคือเด็กต้องมีโอกาสปั้นชีวิตของตัวเขาเองด้วย จะเห็นได้ว่าเด็กก็เป็นเหมือนดินน้ำมันหลากสี หลากรูปทรง การได้สำนึกถึงความเป็นตัวของตัวเองสำคัญมากๆ การเปิดโอกาสให้เขาได้ลองสำรวจสภาวะที่มีความแตกต่างกัน อาจจะแข็ง อาจจะอ่อน อาจจะร้อน อาจจะเย็น บางครั้งเขาก็มีอารมณ์แตกต่างหลากหลายในฐานะมนุษย์ เพราะฉะนั้น เราต้องถามตัวเองในฐานะพ่อแม่ ครู หรือคนที่ล้อมรอบตัวเขาว่า เราสนใจในความเป็นเขาจริงๆ และมากพอหรือเปล่า” ก๋วยมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นน่าสนใจที่เชื่อมโยงกับหนังสือ ปั้นให้รุ่ง

“เราไม่ได้เห็นเด็กเป็นผ้าขาวหรือดินน้ำมัน ที่จะเข้าไปปั้นให้เขาเป็นอะไรก็ได้ตามใจเรา แต่ตัวเขาเองต้องสำนึกได้ว่าเขาคือใคร แล้วเขาอยากจะเติบโต อยากมีอัตลักษณ์ อยากมีตัวตนเป็นอะไร ก็เป็นโอกาสที่เขาจะได้เลือกด้วยตัวเขาเองด้วย” ก๋วยกล่าว

 

-2-

ฟังด้วยหัวใจ

 

ฝนชวนทุกคนกลับมาล้อมวงกันอีกครั้งเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนในกิจกรรมรอบใหม่ โดยเธอตั้งต้นด้วยการเล่าประสบการณ์ “เฟล” ของตัวเองที่เกิดขึ้นระหว่างการทำกิจกรรมเมื่อสี่ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งที่นั่งรถเข็นถูกกันออกจากกิจกรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยหลังจบกิจกรรมแม้จะเกิดการเรียนรู้อย่างดีเยี่ยม แต่ฝนกลับไม่สบายใจมากและได้สะท้อนปัญหาให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ทราบรวมถึงผู้เข้าร่วมที่นั่งรถเข็นก็ได้แสดงความเห็น ซึ่งทำให้ฝนเห็นแนวทางการแก้ปัญหาและความเป็นไปได้แบบอื่นๆ นอกจากที่เธอตัดสินใจลงไปในช่วงกิจกรรม

หัวใจหลักของกิจกรรม “ฟังด้วยหัวใจ” สกัดมาจากเนื้อหาของหนังสือ ปั้นให้รุ่ง ซึ่งเธออธิบายว่า

“ฟังด้วยหัวใจ ก็คือเอาใจไปฟังเขา ฟังทั้งเนื้อทั้งตัว อย่าเปิดแค่หู อย่าฟังแค่หัว แต่ว่าใช้ใจฟังเขาจริงๆ”

ก่อนจับคู่ทำกิจกรรม ฝนให้ทุกคนวาดภาพในกระดาษ แล้วเตรียมเล่าให้เพื่อนฟังถึงประสบการณ์เฟลที่เกิดขึ้น โดยแต่ละคนมีเวลาเล่าสามนาที ฝนมีข้อแนะนำให้ระวังอาการเผลอที่อาจขัดขวางการใช้ใจฟังสี่ข้อ ได้แก่ หนึ่ง แทรกถาม สอง ตัดสิน สาม แย่งซีน และสี่ สั่งสอนหรือแนะนำ แน่นอนว่าเวลาเพียงสามนาทีคงไม่อาจรู้ว่าผู้เล่าผ่านอะไรมาบ้าง

จากนั้นให้คนฟังสะท้อนกลับว่ารับรู้ความรู้สึกอะไรได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องย้อนเรื่องราว เพียงสะท้อนอย่างตรงไปตรงมา และไม่ตัดสินหรือสั่งสอน อาจถามกลับได้ว่า รู้สึกแบบนี้อยู่ใช่ไหม

เมื่อพูดคุยกันแล้ว ฝนชวนให้จับกลุ่มย่อยอีกครั้งแล้วสะท้อนว่ากระบวนการนี้ทำให้เห็นและได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งสะท้อนว่า เธอรู้สึกว่าต้องมีสติอย่างมากเวลาฟังเพื่อนเล่า เพราะฟังแล้วมีประสบการณ์ร่วมและอยากแบ่งปันเรื่องของตัวเองเช่นกัน แต่นึกถึงอาการเผลอที่ฝนเตือนไว้จึงหยุดไว้ได้ ขณะที่อีกคนแบ่งปันในฐานะผู้เล่าว่า เมื่อได้เล่าก็รับรู้ได้ถึงความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ของอีกฝ่ายที่รับฟังและไม่ตัดสิน อีกทั้งรู้สึกถึงการเชื่อมต่อและเชื่อมโยงกันจนแทบไม่ได้ยินเสียงคนภายนอกเลย

 

-3-

เลี้ยงให้ “ไม่ร่วง”

 

สภาพที่ทำให้เด็ก “ร่วง” หรือปัจจัยต่างๆ ที่สกัดกั้นการเรียนรู้ของเด็กในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ห้องเรียน และสังคม เชื่อมโยงให้เห็นภาพใหญ่

ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนถึงเรื่องการกลัวความผิดพลาดในระดับห้องเรียน ทำให้เด็กไม่กล้าทำอะไร รวมถึงไม่กล้ากำหนดเป้าหมายของตัวเอง ขณะที่อีกคนพูดถึงครอบครัวในฐานะพื้นที่ตั้งต้นของการทำความเข้าใจโลก

“ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของการชวนให้เด็กๆ รู้จักตีความโลก ตั้งแต่เรื่องอารมณ์ การตอบสนอง แลกเปลี่ยนความคิด การบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด สิ่งเหล่านี้มันถูกฟูมฟักในครอบครัวส่วนหนึ่ง ทีนี้พอเด็กมีพื้นฐานครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน ต่อให้ไปเจอสิ่งเดียวกันในโรงเรียน เช่น ทุกคนจงเป็นระเบียบเรียบร้อย การตีความหรือการบังคับตัวเองให้ตอบสนองต่อสิ่งนั้นของเด็กแต่ละคนก็ไม่มีทางเหมือนกันได้ แล้วถ้าโรงเรียนไม่มีพื้นที่ที่ชวนให้เด็กตีความ เขาก็จะไม่มีโอกาสวิเคราะห์ หรือตีความใหม่ว่าแต่ละคำนั้นหมายความว่าอย่างไร การสื่อสารหรือการแสดงออกของเขาจะนำไปสู่อะไรบ้าง หรือการตอบสนองแบบใหม่ที่ควรจะเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทั้งอุปสรรคของทั้งโรงเรียนและครอบครัวด้วย”

ผู้เข้าร่วมอีกคนแลกเปลี่ยนเรื่องกรอบของเด็กแต่ละกลุ่มที่ถูกกำหนดมาจากพ่อแม่ ทำให้เด็กไม่มีโอกาสสร้างกรอบของตัวเอง ไม่มีพื้นที่แสดงออกหรือบอกความต้องการของเขา ทำให้เด็กที่จบ ม.3-4 มีลักษณะคล้ายๆ กันคือ ไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเองเท่าไร นึกไม่ออกว่าต้องการอะไรหรืออยากทำอะไร

ก๋วยเสริมว่าจุดนี้สำคัญมาก คล้ายๆ กับว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เขาไม่เคยได้มีโอกาสฟังเสียงภายในของตัวเองเลย เพราะว่าเขาให้คุณค่ากับเสียงภายนอกเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงความคาดหวังของพ่อแม่ เสียงความคาดหวังของสังคม ว่าควรเป็นแบบนี้เท่านั้น แล้วก็กระโจนไปที่เสียงภายนอกเหล่านี้ เพื่อจะตอบสนองในแง่ที่ว่า เรามีความสามารถมากพอ หรือมีคุณค่าสำหรับพ่อแม่ ดังนั้นก็ไม่ได้แปลว่าเด็กที่ร่ำรวยจะไม่ได้เจ็บปวดจากความคาดหวังแบบนี้

แล้วพบว่าหลายครั้ง เราเดินตามคุณค่าที่สังคมกำหนดให้เยอะมาก จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่เด็กทนไม่ไหวแล้ว อาจจะมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งเกิดขึ้นไม่น้อย เช่น บางคนต้องไปเรียนหมอ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ชอบเลย แต่ถูกคาดหวังมา ก็มีเด็กที่แสดงถึงความเปราะบางหรือไม่มีความสุขเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ฝนแลกเปลี่ยนในฐานะแม่ ต้องยอมรับว่าพ่อแม่ตกเป็นจำเลยสังคมค่อนข้างมาก และเมื่อพูดถึง “ครอบครัว” ก็มีคำว่าเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

“เข้าใจความดิ้นรนของชนชั้นล่างไหมว่า เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร ฉะนั้นเวลาที่จะถามลูกว่า วันนี้เรียนเป็นอย่างไรบ้างจ๊ะลูก มันแทบไม่มีเวลาเลย เพราะชีวิตมันต้องเดินต่อ การที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด มันทำให้วันนี้ต้องหาเงินมาให้ลูกไปโรงเรียน หาเงินไปซื้อเครื่องแบบให้ลูก มีหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเลี่ยงไม่ได้”

ในขณะที่ฝนมีโอกาสทำกิจกรรมอบรมร่วมกับพ่อแม่ชนชั้นกลาง ยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำที่สูงมากๆ เพราะเขามีโอกาสเข้าถึงสิ่งที่จะทำให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีศักยภาพ มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

ผู้เข้าร่วมอีกคนแลกเปลี่ยนว่า จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้เด็กในต่างจังหวัดไม่เห็นตัวอย่างและเชื่อมโยงไม่ได้ว่าการศึกษาจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร เธอมองว่าต้องหาทางนำเสนอตัวอย่างโดยไม่สั่งสอนและพยายามเปิดมุมมองให้เด็กๆ เห็นความเป็นไปได้ว่าการเรียนรู้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตได้จริง

ผู้เข้าร่วมอีกคนยกตัวอย่างวิธีการเติมประสบการณ์ให้เด็กๆ ในบ้านกาญจนาภิเษก

“ป้ามล (ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก) พยายามให้เด็กๆ มองเห็นห่วงโซ่เหล่านี้ ไม่ว่าห่วงโซ่พฤติกรรม ห่วงโซ่เหตุการณ์ ห่วงโซ่ความเสียหาย หรือห่วงโซ่ของสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้น และทำให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอน แต่ละขั้นแต่ละตอนว่าจากจุดนี้จะนำไปสู่จุดต่อๆ ไปได้อย่างไร วิเคราะห์จากหนังบ้าง จากข่าวบ้าง จากเรื่องราวต่างๆ ในสังคมบ้าง ซึ่งผมว่ามีส่วนเยอะเหมือนกัน สังคมในหลายๆ ประเทศใช้วิธีสร้างซีรีส์ อยากให้คนเป็นสตาร์ทอัพ ก็มีซีรีส์ Start-Up อยากให้คนไปบำบัด ก็มีซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay เหล่านี้เป็นการสื่อสารของสังคมว่าฉันอยากขับเคลื่อนสังคมไปทางไหน แต่ทุกวันนี้ละครไทยยังมี บ้านทรายทอง อยู่ คือเป็นการสื่อสารที่ไม่ได้มีเหตุผลในการสื่อสาร มีแค่อารมณ์ที่อยากจะให้เกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่สังคมสร้างได้ แต่ยังไม่ได้ทำ”

เด็กอีกกลุ่มที่ถูกกีดกันออกจากการศึกษาชัดเจนคือเด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยผู้เข้าร่วมร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลว่ารัฐกลับเป็นอุปสรรคทางการศึกษาและลิดรอนสิทธิ์เสียเอง

“ด้วยสังคมที่ตีตราคนที่ท้องในวัยเรียน แล้วจริงๆ รัฐมีหน้าที่เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศก็คือ ต้องส่งเสริมและจัดการการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน และห้ามไม่ให้ผู้ใดทำให้เด็กหยุดเรียน หรือพักการเรียน แต่ในความเป็นจริง เด็กเหล่านั้นถูกสังคมบีบให้ออกจากการศึกษา แล้วรัฐก็ไม่ทำหน้าที่ แล้วคนก็ไม่รู้ว่ารัฐมีหน้าที่นี้”

เส้นทางการศึกษาในสังคมไทยดูจะเปิดไว้สำหรับเด็กที่ดีตามมาตรฐานเท่านั้น ยิ่งเส้นทางแคบหรือกำหนดมาตรฐานไว้สูงเท่าไร การจะโอบรับความหลากหลายก็ยิ่งเป็นไปได้น้อยลงเท่านั้น

จากที่ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมา ก๋วยสรุปว่า ไม่ได้อยากให้มองว่าเป็นปัญหาไปทั้งหมด และจริงๆ แล้วเราต้องมองเชิงโครงสร้างด้วย ไม่ใช่เฉพาะเอาตัวเองรอด ถีบให้ตัวเองรวยขึ้นไป มีโอกาสให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนดีๆ เท่านั้น

“แล้วเราถูกทำให้จินตนาการไม่ออกว่า เราจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร เพราะเราถูกทำให้เชื่อว่า มันเป็นอย่างนี้แหละ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้เป็นอย่างนี้แหละ”

ก๋วยมองว่า ถ้าไม่เชื่อมโยงเชิงโครงสร้าง ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะไม่ถูกแก้ การเริ่มที่ตัวเรานั้นสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือสองเรื่องนี้ต้องทำคู่กัน

 

-4-

ปั้นให้รุ่ง

 

การสร้างคนสอนเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนมากจะมุ่งเน้นที่วิธีการสอน ว่าสอนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงควรไปไกลกว่านั้น

“สิ่งสำคัญที่หนังสือ ปั้นให้รุ่ง นำเสนอไม่ใช่วิธีสอน แต่เป็นเรื่องวิธีคิด แน่นอนว่าการสอนก็เป็นปัจจัยความสำเร็จอย่างหนึ่ง แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจและสามารถปรับเปลี่ยนอนาคตของเด็กคนหนึ่งไปได้เลย”

เนื้อหาในหนังสือเล่าถึงบริบทของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากสถิติพบว่า เด็กนักเรียนร้อยละ 51 หรือกว่าครึ่งในโรงเรียนรัฐ มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ก๋วยจึงอยากเชื่อมโยงให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นบริบทของสังคมไทย ซึ่งเด็กๆ ต้องเผชิญความยากลำบากตั้งแต่ช่วงปฐมวัยที่ถือว่าเป็นวัยทองแห่งพัฒนาการเด็ก

หนังสือเล่มนี้ชี้ว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเด็กยากจนให้มีศักยภาพเทียบเท่าคนอื่นๆ ก็คือ ทักษะด้านพฤติกรรม (noncognitive skills / soft skills / life skills) ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อในบริบทดั้งเดิมของเรามาก เพราะในระบบการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับทักษะทางความรู้และความคิด (cognitive skills)

“ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับเรื่องทางวิชาการมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในระบบ หรือแม้แต่ในชนบท เวลาไปทำกิจกรรม พ่อแม่จะมาถามว่า ทำไมไม่สอนลูกๆ พวกเขา จะมานั่งทำกิจกรรมโครงงานอะไรอยู่ เขาจะมีภาพว่า การเรียนคือการจดจำ หรือท่องหนังสือ”

โดยทักษะด้านพฤติกรรมจะนำมาซึ่งอุปนิสัยที่เป็นจุดแข็ง (character strengths) ที่ทำให้เด็กมีความอดทนอดกลั้น ควบคุมตัวเองได้ รู้สึกผิดชอบชั่วดี และมองโลกในแง่ดี

“สิ่งเหล่านี้หลายคนจะตีความว่าเป็นเรื่อง ‘คุณธรรมความดี’ ผมรู้สึกว่าในสังคมไทยจะถูกครอบด้วยคำคำนี้ แต่ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าสากลที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศาสนา เป็นคุณค่าสากลที่มนุษย์โดยทั่วไปในสังคมควรจะต้องมีสิ่งนี้” ก๋วยตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องเหล่านี้มีพื้นที่ให้สอดแทรกเข้าไปในแปดกลุ่มสาระวิชาน้อยมาก

จุดที่หนังสือเน้นก็คือการสำรวจ “สภาพแวดล้อม” หรือผู้คนที่แวดล้อมตัวเด็ก ได้แก่ บ้านและโรงเรียน โดยจุดเริ่มต้นของเด็กปฐมวัย (0-3 ขวบ) คือครอบครัว ความสัมพันธ์ในบ้านหรือครอบครัวจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ขาดว่า เด็กคนหนึ่งจะเติบโตและต่อยอดเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ต่อไปอย่างไร

มีอีกสามเรื่องที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นความสำเร็จของเด็กๆ ได้แก่ ความเครียด ความสะเทือนใจ และการถูกเพิกเฉย ในหนังสือแนะนำหนทางที่จะช่วยเด็กที่อาจตกอยู่ในความรุนแรงหรืออุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ได้ด้วยการเยี่ยมบ้าน ซึ่งอาจเผยให้เห็นถึงสาเหตุอันเป็นที่มาของพฤติกรรมก้าวร้าวหรือการไม่ตั้งใจเรียนของเด็ก

โรงเรียนก็เป็นสภาพแวดล้อมสำคัญมากๆ เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่เติบโตในโรงเรียน ซึ่งเราจะเห็นการ bully กัน เกิดความรุนแรง มีการใช้อำนาจในห้องเรียน ตลอดจนการเรียนรู้โลก ถูกหล่อหลอมผ่านหลักสูตร ผ่านวิธีการที่ครูใช้กับนักเรียน โรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญมากต่อการเจริญเติบโต มุมมองต่อโลก และอุปนิสัยของเด็กๆ

 

มินิเวิร์กช็อป “ปั้นให้รุ่ง” แนวทางส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กทุกคน

 

หลังจากได้เรียนรู้แนวคิดน่าสนใจจากเล่ม ปั้นให้รุ่ง กันไปแล้ว ก็ได้เวลาชวนผู้เข้าร่วมมาเสริมแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ฝนเริ่มต้นด้วยการให้ทุกคนจับกลุ่มกันอีกครั้ง แต่เพิ่มความท้าทายด้วยการให้เข้าไปหาคนที่ยังไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน

มีอุปกรณ์ให้เลือกกลุ่มละสามชิ้น โดยไม่บอกว่าจะเอาไปทำอะไร แล้วให้ภายในกลุ่มคุยกันว่าของแต่ละชิ้นสามารถทำอะไรได้บ้าง จากนั้นให้เลือกแค่อย่างเดียวแล้วหยิบมาคุยกันว่า นอกจากการใช้งานปกติแล้ว ยังสามารถปรับใช้งานแบบอื่นได้อีกไหม ตัวอย่างเช่น ร่มใช้กางกันแดดกันฝน แต่ถ้าข้างบ้านปลูกมะม่วงก็สามารถกางแล้วเอามารองเวลาสอยมะม่วง หรือเอาไว้ตักน้ำได้

จากนั้นฝนเฉลยว่าอุปกรณ์ที่ทุกกลุ่มเลือกจะต้องนำไปประกอบในกลไกที่ทำให้ลูกโป่งแตก (จะเป็นแบบลูกโป่งวิ่งเข้าหาเข็ม หรือเข็มวิ่งหาลูกโป่ง ฯลฯ) โดยมีระยะห่างตั้งต้นระหว่างเข็มกับลูกโป่งอยู่ที่ 1.50 เมตร อุปกรณ์ภาคบังคับเพิ่มเติม ได้แก่ ลูกโป่ง เข็ม ดินน้ำมัน ตะเกียบ เชือก ไม้แขวนเสื้อ ยางรัดของ และกระดาษกาว ส่วนเก้าอี้เป็นอุปกรณ์เสริม ทุกกลุ่มจะเลือกใช้หรือไม่ก็ได้ โดยฝนให้เวลาทุกกลุ่มมีเวลาคิดและทดลอง พร้อมนำเสนอภายใน 15 นาที

ความน่าสนใจของกิจกรรมนี้นอกจากได้เห็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การกล้าคิดกล้าทดลอง ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคแล้ว บรรยากาศยังเต็มไปด้วยความสนุกสนานและเอาจริงเอาจัง ขณะเดียวกันแม้จะมีบางกลุ่มที่ทดลองแล้วไม่สำเร็จในครั้งแรก แต่ภายในกลุ่มก็ยังร่วมมือร่วมใจและได้โอกาสปรับปรุงกลไกแล้วนำเสนอใหม่จนสำเร็จในท้ายสุด

สิ่งสำคัญของกิจกรรมคงไม่ใช่การคิดค้นกลไกเจาะลูกโป่งจนแตกได้สำเร็จ แต่น่าจะเป็นการที่ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากประสบการณ์จริงในระยะสั้น อีกทั้งมีโอกาสรู้จักคนที่มีแนวคิดและให้ความสำคัญกับการศึกษาคล้ายๆ กับพวกเขาเพิ่มขึ้นอีกหลายคน ช่วยสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้เครือข่ายคนทำงานด้านการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไปในอนาคต

 

ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน

Paul Tough เขียน

พชร สูงเด่น แปล

192 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่