อ่าน ‘ปั้นให้รุ่ง’ เติมเต็มโอกาสแห่งความสำเร็จเพื่อเด็กทุกคน

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

 

การเติบโตมากับความยากลำบากคือสิ่งบั่นทอนพัฒนาการเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน ผลงานใหม่จาก พอล ทัฟ ผู้เขียนหนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง (How Children Succeed)

จุดมุ่งหมายของหนังสือ ปั้นให้รุ่ง คือการตั้งคำถามว่า เราจะช่วยให้นักเรียนที่มีภูมิหลังยากลำบากประสบความสำเร็จในโรงเรียนได้อย่างไร เมื่อพูดถึงนักเรียนกลุ่มนี้ เรากำลังพูดถึงนักเรียนกว่าครึ่งที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบ และเมื่อหาทางช่วยพวกเขา ก็เท่ากับเราช่วยเติมเต็มอนาคต บ่มเพาะทักษะแห่งความสำเร็จของเด็กให้เบ่งบาน และสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคนไปพร้อมกัน

ผู้ที่พยายามเอาชนะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาล้วนต้องพบเจอกับอุปสรรคอย่างมาก บ้างเรื่องการเงิน บ้างเรื่องการเมือง บ้างก็ความเป็นราชการ แต่อุปสรรคแรกๆ ผู้เขียนกลับมองว่าเป็นเรื่องของแนวคิด

“เรายังไม่เข้าใจกลไกเบื้องหลังว่าความลำบากวัยเด็กส่งผลอย่างไร การเติบโตมากับความยากจนจะนำไปสู่ปัญหามากมายได้อย่างไร หรืออะไรคือสิ่งที่การเติบโตท่ามกลางความมั่งคั่งให้กับเด็กได้ ขณะที่การโตมากับความยากจนไม่สามารถให้ได้”

ปั้นให้รุ่ง เล่มนี้ นอกจากทบทวนงานวิจัยที่เขียนถึงใน เลี้ยงให้รุ่ง ยังขยายขอบเขตสู่การนำเสนอการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ชิ้นใหม่ ต้นแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ และวิธีการใหม่ๆ ในการช่วยเหลือเด็กทั้งในและนอกโรงเรียน วางแนวทางปฏิบัติและงานวิจัยในสาขานี้ให้กับนักปฏิบัติ ตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย อีกทั้งเป็นความพยายามตอบคำถามที่ว่า เมื่อมีข้อมูลอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว เราควรทำอย่างไรต่อไป

 

นำเสนอกลยุทธ์ที่ต่างออกไป

 

โครงการต้นแบบที่ให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ที่มีพื้นฐานครอบครัวยากลำบากอาจประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่งานขยายผลหรือแม้แต่ทำซ้ำในต่างพื้นที่แล้วจะคาดหวังความสำเร็จระดับเดียวกันอาจเป็นไปได้ยาก

ผู้เขียนยังสังเกตเห็นข้อจำกัดของการแบ่งช่วงอายุเด็กเพื่อจัดการหรือให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ นั่นคือทำให้คนทำงานไม่เห็นประเด็นหรือวงจรร่วมที่เกิดขึ้นในชีวิตเด็กแต่ละช่วงวัย

“ผมขอเสนอกลยุทธ์ที่ต่างออกไป นั่นคือการพิจารณาถึงเส้นทางการพัฒนาของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในสภาวะยากลำบากราวกับเป็นหนังสือหนึ่งเล่มที่เรื่องราวแต่ละบทนั้นต่อเนื่องกัน ไม่ขาดตอนเลยตั้งแต่เกิดจวบจนจบมัธยมปลาย”

 

ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จของเด็ก

 

ผู้ที่ศึกษาเรื่องพัฒนาการเด็กยืนยันว่าเครื่องมือสำคัญยิ่งในการพัฒนาเด็กที่มีฐานะยากจนคือ “ทักษะด้านพฤติกรรม” (noncognitive skills) หรือทักษะทางอารมณ์และสังคม (soft skills) บางทีเรียกว่า “อุปนิสัยที่เป็นจุดแข็ง” (character strengths) เช่น ความอดทนอดกลั้น การควบคุมตนเอง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และการมองโลกในแง่ดี

ส่วนหนึ่งของหลักฐานสนับสนุนมาจากความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์และกุมารเวชศาสตร์ ซึ่งงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้เผยให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและไม่มั่นคงสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในสมองและร่างกายของทารกและเด็ก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลเสียต่อการพัฒนาศักยภาพทางจิตใจที่ช่วยให้เด็กควบคุมจิตใจและความรู้สึกของตนเองได้ และความเสื่อมทางพัฒนาการนี้ทำให้พวกเขาประมวลข้อมูล และจัดการอารมณ์ได้ยากขึ้นไปอีก ซึ่งจะส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการเรียน

งานวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์นี้สอดคล้องกับการศึกษาด้านจิตวิทยาระยะยาวที่แสดงให้เห็นว่าเด็กที่มีทักษะด้านพฤติกรรมนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีพัฒนาการที่ดีกว่าเมื่อเติบโตไป

 

สำรวจบทบาทผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก

 

คำสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ “สภาพแวดล้อม” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอาคารสถานที่ แต่หมายถึงผู้คนที่รายล้อมและเกี่ยวข้องกับตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองในช่วงปฐมวัย และครูอาจารย์ซึ่งเริ่มมีบทบาทเมื่อพวกเขาเข้าโรงเรียน มีการทดลองยืนยันว่าผู้ใหญ่รอบตัวเด็กมีผลกระทบและส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมเด็กๆ มากกว่าที่คิด

หากต้องการให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษา ผู้ปกครองไม่ควรฝากความหวังไว้ที่ครู บทบาทแรกสุดเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน ในเมืองไทย ผู้ปกครองมักฝากฝังให้ครูช่วยดูแลการศึกษาของเด็กๆ นี่คืออีกมายาคติที่เราควรทำความเข้าใจและร่วมกันสลายให้หมดไปจากสังคมไทย

 

-1-

บ้าน

 

สภาพแวดล้อมแรกที่เด็กได้เริ่มพัฒนาศักยภาพทางอารมณ์ จิตใจ และการรู้คิด ทั้งยังเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญที่สุดต่อเด็กอีกด้วยก็คือบ้าน หรือถ้าให้เจาะจงไปกว่านั้นคือครอบครัว

ปฏิสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก ที่เรียกว่าปฏิสัมพันธ์แบบส่งและสนองกลับ (serve and return interactions) คือการให้ความสนใจและตอบสนองต่อเสียงร้องของเด็กด้วยสีหน้า คำพูด และท่าทางต่างๆ นั้นช่วยกระตุ้นพัฒนาการอย่างมาก ทำให้เซลล์ประสาทที่เชื่อมกับส่วนต่างๆ ที่ควบคุมความรู้สึก ความรับรู้ ภาษา และความจำ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวมีค่ามากกว่าประสบการณ์อื่นใดที่ทารกได้เจอ

ช่วงทศวรรษ 1950 นักวิจัยในอังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา พบว่าทารกที่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากผู้ปกครองในช่วง 12 เดือนแรก จะสร้างสายสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้ปกครองที่เรียกว่าความผูกพันแบบปลอดภัย ขณะที่ผู้ปกครองที่มีความเครียดสูงเพราะความยากจนหรือเหตุผลอื่นๆ ในชีวิต เป็นไปได้น้อยกว่าที่จะสนใจและมีปฏิสัมพันธ์แบบส่งและสนองกลับกับทารกซึ่งจะส่งเสริมความผูกพันแบบปลอดภัยให้เกิดขึ้น

อีกบทบาทสำคัญที่ผู้ปกครองควรทำคือเป็นผู้ควบคุมความเครียดจากภายนอกให้กับเด็กๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการรับมือความเครียดของพวกเขาในระยะยาว มีงานวิจัยพบว่าเมื่อผู้ปกครองมีพฤติกรรมดุร้าย หรือคาดเดาไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเด็กกำลังอารมณ์ไม่ดี เด็กจะสูญเสียความสามารถในการจัดการอารมณ์รุนแรงและตอบสนองต่อสถานการณ์ตึงเครียดได้ไม่ดีนักในระยะยาว

 

ส่งเสริมความผูกพันอันมั่นคง

การทดลองในย่านยากจนที่ประเทศจาเมกาตลอดสองปี (แต่ยังติดตามผลต่อเนื่องนานสามทศวรรษ) กับครอบครัว 4 กลุ่มที่ดูแลทารกและเด็กเล็ก 129 คน พบว่า การช่วยเหลือที่สร้างความแตกต่างในชีวิตเด็กนั้นไม่ใช่โภชนาการเสริม แต่เป็นการสนับสนุนให้ผู้ปกครองเล่นกับเด็กๆ

จริงอยู่ที่พฤติกรรมบางอย่างช่วยส่งเสริมความผูกพัน เช่น การเล่นกันต่อหน้า น้ำเสียงที่อ่อนโยน ปฏิสัมพันธ์แบบส่งและสนองกลับ การยิ้ม การสัมผัสอย่างอบอุ่น แต่สำหรับผู้ปกครองหลายคน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในสภาวะความเป็นอยู่ที่ลำบากหรือตัวเขาเองก็ไม่ได้รับความผูกพันจากพ่อแม่ในตอนเด็ก อุปสรรคหลักสำหรับผู้ปกครองกลุ่มนี้คือพวกเขาไม่รู้ว่ามีพฤติกรรมแบบไหนบ้างที่ควรทำ หรือบางทีพวกเขาก็ไม่มีอารมณ์เท่าไร ไหนจะนอนน้อย และอาจมีอาการซึมเศร้า จนไม่รู้สึกอยากจะมานั่งส่งและรอสนองกลับกับทารกที่ร้องงอแงอยู่ข้างหน้าที่ยังไม่ได้เปลี่ยนผ้าอ้อมและไม่ยอมนอนเป็นเวลา

กลุ่มผู้ปกครองที่มีความเครียดนี้ต้องการมากกว่าข้อมูล ในแง่นี้ โครงการช่วยเหลือด้วยการไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อสร้างความผูกพันนั้นให้ผู้ปกครองมากกว่าเคล็ดลับการเลี้ยงลูก แต่ให้การสนับสนุนด้านจิตใจและอารมณ์ด้วย ความเข้าอกเข้าใจและแรงสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ช่วยให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของพวกเขากับทารกดีขึ้น ทั้งยังมั่นใจมากขึ้นในฐานะผู้ปกครอง

 

ต้นตออุปสรรคที่ขวางกั้นความสำเร็จของเด็ก

 

สาวหาต้นตออุปสรรคแห่งความสำเร็จของเด็กๆ ทั้งในด้านการเรียนและชีวิต

 

ความเครียด

นักวิจัยสรุปว่า ความเครียดนั้นเป็นกลไกแรกของสภาพแวดล้อมของเด็กที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมบางอย่างเมื่อได้รับในระยะยาวจะไปผลิตความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็ก ความเครียดเหล่านั้นส่งผลกระทบและบั่นทอนพัฒนาการทั้งในเชิงสรีรวิทยาและจิตวิทยา

อาการเครียดเรื้อรังในวัยเด็ก หรือความเครียดอันเป็นพิษ (toxic stress) ทำให้เด็กยากจะจัดการกับความผิดหวังและสิ่งเร้าต่างๆ ได้ ความผิดพลาดเล็กน้อยอาจรู้สึกเหมือนความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ การกระทบกระทั่งเล็กๆ น้อยๆ อาจกลายเป็นการเผชิญหน้ากันอย่างเดือดดาล และส่งผลต่อสภาพอารมณ์ในระยะยาว

การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย ไม่มั่นคง และต้องเผชิญกับความเครียดเรื้อรังที่ถูกกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม จะชะงักพัฒนาการของทักษะต่างๆ ซึ่งควบคุมโดยสมองกลีบหน้าผาก ที่รู้จักกันว่าเป็นสมองส่วนบริหารจัดการ (Executive Functions – EF) ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ระดับสูงซึ่งเทียบได้กับทีมควบคุมจราจรทางอากาศที่คอยดูแลการทำงานของสมอง

สมองส่วนนี้ครอบคลุมถึงความจำใช้งาน การควบคุมตนเอง และการคิดวิเคราะห์ยืดหยุ่น ซึ่งช่วยส่งเสริมความสามารถทางพฤติกรรมต่างๆ เช่น ความไม่ย่อท้อ หรือความอดทนอดกลั้น พฤติกรรมเหล่านี้ช่วยเด็กๆ ได้มากเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยและต้องประมวลข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญทุกวันที่โรงเรียน เมื่อสมองส่วนบริหารจัดการไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็จะยากยิ่งสำหรับเด็กๆ

 

ความสะเทือนใจ

“ในขณะที่เด็กสามารถได้รับผลกระทบจากความเครียดนอกบ้าน เช่น ความรุนแรงในชุมชน หรือถูกกลั่นแกล้งโดยคนแปลกหน้า ภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดที่ส่งผลต่อระบบการตอบสนองความเครียดของเด็กส่วนใหญ่นั้นกลับเกิดขึ้นภายในบ้านของพวกเขาเอง”

การศึกษาชิ้นสำคัญที่สำรวจผลกระทบระยะยาวของความเครียดและบาดแผลในวัยเด็กมีชื่อว่า ประสบการณ์ทุกข์ยากในวัยเด็ก (Adverse Childhood Experiences) ในช่วงทศวรรษ 1990 โดยโรเบิร์ต แอนดา (Robert Anda) อายุรแพทย์ที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค และวินเซนต์ เฟลิตติ (Vincent Felitti) ผู้ก่อตั้งภาควิชายาเพื่อการป้องกันที่ไคเซอร์เพอร์มาเนนเต สถาบันสุขภาพในแคลิฟอร์เนีย แอนดาและเฟลิตติได้สำรวจคนไข้ที่สถาบันไคเซอร์กว่า 17,000 คนในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนขาววัยกลางคน การศึกษาดี ถึงประสบการณ์สะเทือนใจที่พวกเขาเคยพบเจอในวัยเด็ก

ความสะเทือนใจ (trauma) ทั้งสิบประเภทที่แอนดาและเฟลิตติสอบถามกับผู้สำรวจนั้นเกิดขึ้นในบ้านและครอบครัว โดย 3 ใน 10 เกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง 2 ประเภทเกี่ยวกับการเพิกเฉย และ 5 ประเภทที่เหลือเกี่ยวข้องกับการเติบโตในครอบครัวที่ “ผิดปกติอย่างรุนแรง” ทั้งการพบเห็นความรุนแรงในบ้าน มีพ่อแม่ที่หย่ากัน มีสมาชิกครอบครัวถูกจำคุก มีปัญหาทางจิต หรือมีปัญหาใช้สารเสพติด

เมื่อค้นประวัติการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคน พวกเขาพบความสัมพันธ์อย่างน่าสนใจระหว่างจำนวนประเภทความสะเทือนใจที่ผู้ป่วยรายนั้นเคยเผชิญในวัยเด็ก และความเป็นไปได้ที่เขาหรือเธอจะต้องเผชิญกับความเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อโตขึ้น ผู้ป่วยที่เคยผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงสี่ประเภทหรือมากกว่านั้น หรือที่เรียกว่าเอซ (adverse childhood experiences – ACE) มีความเสี่ยงมากขึ้นเป็นสองเท่าที่จะป่วยเป็นมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคตับ และเสี่ยงมากขึ้นเป็นสี่เท่าที่จะป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

สิ่งที่การศึกษาเอซติดตามจริงๆ นั้นมากกว่า ประสบการณ์ ทุกข์ยากที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วจบไป หากคืออิทธิพลของ สภาพแวดล้อม ที่ทุกข์ยาก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงไม่ใช่แค่ต่อพัฒนาการร่างกาย หากรวมถึงพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ แอนดาและเฟลิตติพบว่า ยิ่งคะแนนเอซสูงมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งสัมพันธ์กับความเครียด ความวิตกกังวล การฆ่าตัวตาย และพฤติกรรมทำร้ายร่างกายมากขึ้นเท่านั้น

 

การเพิกเฉย

“หนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อพัฒนาการเด็กก็คือ การเพิกเฉย

เมื่อเด็กถูกเพิกเฉย โดยเฉพาะในวัยทารก ระบบประสาทก็ทำความเข้าใจว่านั่นเป็นภัยร้ายต่อการอยู่รอดของพวกเขาแล้ว นักวิจัยพบว่าการเพิกเฉยนั้นส่งผลร้ายต่อเด็กมากกว่าการใช้ความรุนแรงทางกายด้วยซ้ำ

นักประสาทวิทยาศาสตร์พบว่า การไม่ใส่ใจเรื้อรังซึ่งพ่อแม่ไม่มีปฏิสัมพันธ์แบบส่งและสนองกลับ ไม่ได้อยู่ด้วยกันต่อหน้า เพิกเฉยต่อเสียงร้อง ความพยายามจะพูดคุยด้วย หรือปล่อยให้พวกเขาอยู่กับหน้าจอนานหลายชั่วโมงในแต่ละครั้ง จะสั่งสมกลายเป็นการเพิกเฉยขั้นรุนแรงซึ่งไปหยุดชะงักพัฒนาการทางสมองของเด็ก นำไปสู่การเสื่อมคุณภาพของระบบตอบสนองต่อความเครียด ในท้ายที่สุดนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมด้านอารมณ์และทักษะสังคมทั้งในวัยเด็กและในภายภาคหน้า

เด็กที่เผชิญกับการไม่ใส่ใจเรื้อรังนั้นมีท่าทีที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเด็กคนอื่นน้อยกว่า พัฒนาการทางความคิดและพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า รวมทั้งมีปัญหาด้านบริหารจัดการและการควบคุมความสนใจ ผู้ปกครองและครูมักมองว่าพวกเขาเป็นเด็กสมาธิสั้น ไม่ตั้งใจ และมีปัญหาในการจดจ่อกับสิ่งที่เรียน

ถ้าเราอยากพัฒนาชีวิตของเด็กด้อยโอกาสตั้งแต่วันนี้ มีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าคานงัดที่ดีที่สุดคือปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม กล่าวคือ พฤติกรรมและทัศนคติของผู้ใหญ่ที่เด็กต้องเจอทุกๆ วัน

 

-2-

ความช่วยเหลือจากองค์กรและมูลนิธิต่างๆ

 

มีหลักฐานอีกมากที่บอกว่าช่วงปฐมวัย (หรือวัยก่อนหกปี และโดยเฉพาะช่วงก่อนสามปี) คือช่วงเวลาที่เป็นได้ทั้งโอกาสหรืออาจเป็นภัยต่อพัฒนาการเด็กได้ สมองของเด็กช่วงปฐมวัยนี้ถูกบิดแปลงได้ง่าย ทั้งยังไวต่อสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อมภายนอกมากที่สุด โครงสร้างระบบประสาทที่ส่งผลต่อศักยภาพในอนาคตกำลังก่อตัว ไม่ใช่แค่ความสามารถทางความคิด หรือความสามารถในการแปลสัญลักษณ์ คำนวณ เปรียบเทียบ ประมวลผลเท่านั้น แต่รวมถึงพฤติกรรมทางอารมณ์ จิตใจ และชุดความคิดที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับชีวิตได้ทั้งในและนอกโรงเรียน ผลของสภาพแวดล้อมนี้จะถูกกระตุ้นมากในช่วงปีแรก หากเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ก็จะดีกับพัฒนาการในอนาคตของเขา และหากเขาต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่ ก็จะส่งผลเสียต่ออนาคตได้เลย

 

ตัวอย่าง การเยี่ยมบ้าน

นอกจากทีมให้คำปรึกษากับผู้ปกครองเด็กแล้ว ยังมีกรณีให้คำปรึกษาสำหรับครอบครัวอุปถัมภ์ซึ่งเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด โดยหน่วยงานคุ้มครองเด็กจะส่งนักให้คำปรึกษามืออาชีพมาแนะนำพ่อแม่อุปถัมภ์ผู้ดูแลเด็ก ช่วยกระตุ้นความสัมพันธ์และความผูกพัน รวมถึงเชื่อมต่อระหว่างพ่อแม่กับผู้อุปถัมภ์ให้มากขึ้น

 

ตัวอย่าง กลุ่มบำบัดวัยรุ่นชาย

โครงการให้คำปรึกษาที่ชื่อว่า “Becoming A Man” หรือเรียกสั้นๆ ว่าแบม (BAM) ที่ปฏิบัติการใน 49 โรงเรียนของชิคาโกในพื้นที่ยากจนเป็นส่วนใหญ่ แบมใช้การอภิปรายกลุ่มย่อยไม่เกิน 10 คนนำทีมโดยนักบำบัด และแบบฝึกหัดบทบาทสมมติช่วยจัดการความโกรธ รวมถึงศักยภาพในการควบคุมตนเองของนักเรียนวัยรุ่นชายที่เข้าร่วมโครงการ เพราะถูกมองว่าเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ข้องเกี่ยวกับอาชญากรรม หรือเสี่ยงทั้งสองอย่าง

โครงการแบมช่วยลดการเข้าไปพัวพันกับอาชญากรรมรุนแรงในกลุ่มผู้เข้าร่วมถึง 44 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มผลการเรียน อัตราการเข้าเรียน และอัตราการเรียนจบที่คาดการณ์ได้ ดูเหมือนว่าแบมจะได้ผลดีด้วยการไปกระตุ้นระบบการทำงานที่สำคัญของจิตใจที่เสื่อมถอยจากวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความเครียด เช่น การควบคุมอารมณ์ หรือความสามารถในการจัดการอารมณ์รุนแรงของตัวเอง

 

-3-

โรงเรียน

 

แม้ว่าวันแรกที่โรงเรียนอนุบาลเป็นหมุดหมายสำคัญว่าเด็กๆ ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาของราชการแล้ว และเป็นวันแรกที่ “ปฐมวัย” สิ้นสุดลง แต่ความเป็นจริงแล้ว พัฒนาการเด็กไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเป็นพิเศษ เขายังเป็นเด็กคนเดิม ซึ่งต้องฟันฝ่าแรงกระตุ้นทางสังคม สภาพแวดล้อม และจิตใจที่จะนำทางพัฒนาการไปจนถึงห้าขวบ จนกว่าจะโตขึ้นนั่นแหละพวกเขาจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป โดยสมองส่วนบริหารจัดการเริ่มหยั่งลึกขึ้นและกลายเป็นผลรวมอันซับซ้อนของนิสัย ชุดความคิด และอุปนิสัยเชิงบวก กระบวนการเติบโตนั้นเกิดขึ้นตลอดช่วงวัยเด็ก บางครั้งก็เป็นไปอย่างช้าๆ แต่หลายครั้งก็พลิกผันอย่างฉับพลัน ตามกาลเวลาที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตารางสอนในโรงเรียนเลย

ถึงอย่างนั้น สำหรับเด็กบางคน วันแรกของโรงเรียนอนุบาลนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของเขา จากนั้นเป็นต้นมา เด็กส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่ในความดูแลของครูมากกว่าผู้ปกครอง การเปลี่ยนแปลงนี้มีนัยสำคัญสองอย่างคือ

หนึ่ง ในแง่ปฏิบัติ หากถ้าต้องการแทรกแซงสภาพแวดล้อมของเด็กด้อยโอกาสให้ได้ผล หลังจากอายุห้าปีเป็นต้นไป เราควรสนใจในพื้นที่ของโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน

และสอง ในแง่พัฒนาการ เด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมลำบากเต็มไปด้วยความเครียดก็จะมีพื้นที่ใหม่ที่ความเครียดของพวกเขาอาจเริ่มส่งผลและทวีคูณขึ้น

สำหรับเด็กที่ไม่ได้โตมาท่ามกลางความลำบาก กระบวนการพัฒนาทักษะช่วงวัยทารกจากผู้ปกครองและผู้ดูแลในการตอบสนองกับพวกเขาอย่างสงบและมั่นคง จะช่วยสร้างโครงข่ายประสาทสมองอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้เกิดสมาธิและทักษะการตั้งอกตั้งใจที่ดี

ขณะที่ความเครียดส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทที่กำลังพัฒนาเพื่อคอยระวังป้องกันภัยอันตรายในชีวิต ความอบอุ่นและการตอบสนองกลับส่งข้อความในทางตรงกันข้าม มันส่งสัญญาณว่าพวกเขาจะปลอดภัย ชีวิตจะไปได้ดี ลดเกราะป้องกันลง ผู้คนรอบตัวจะดูแลคุณเอง จงตื่นเต้นกับโลกใบนี้ มันเต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์ สัญญาณเหล่านี้กระตุ้นการปรับตัวในสมองของเด็กที่ช่วยให้พวกเขาใจเย็น พิจารณาปัญหาและตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ มีสมาธิกับสิ่งที่ทำได้เป็นเวลานาน และยินดีที่จะอดทนอดกลั้นแลกความสบายระยะสั้นเพื่อประโยชน์ระยะยาว

ความสามารถเหล่านี้ส่งผลดีอย่างยิ่งต่อความสำเร็จทางการเรียนของเด็กทั้งในช่วงอนุบาลและหลังจากนั้น ถ้าเรา ไม่มี ศักยภาพทางจิตใจที่ได้รับการส่งเสริมตั้งแต่เด็กอย่างมั่นคงและได้รับการตอบสนอง จุดเปลี่ยนไปสู่อนุบาลจะหนักหนากว่านี้มาก

 

เสริมแรงกระตุ้น เติมเต็มความสำเร็จ

จาก “ทฤษฎีความมุ่งมั่น” โดยเอดเวิร์ด ดีซี (Edward Deci) และริชาร์ด ไรอัน (Richard Ryan) ศาสตราจารย์จากภาควิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ เชื่อว่าการกระทำของคนถูกควบคุมโดยแรงกระตุ้นเพื่อเติมเต็มความต้องการพื้นฐานในการมีชีวิต ซึ่งตอบสนองโดยตรงต่อรางวัลและบทลงโทษ

แต่ส่วนใหญ่แล้วเราไม่ได้ถูกกระตุ้นจากผลลัพธ์เชิงรูปธรรมจากการกระทำ แต่เพราะความเบิกบานและความหมายจากการทำสิ่งนั้นต่างหาก หรือที่เรียกว่าเป็น “แรงกระตุ้นจากภายใน”

ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ 3 ประการ ได้แก่

  1. ความต้องการมีศักยภาพ
  2. ความต้องการเป็นตัวของตัวเอง
  3. ความต้องการความสัมพันธ์ที่มีความหมาย

พวกเขายืนยันว่าแรงกระตุ้นภายในจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่าความต้องการเหล่านี้ได้รับการเติมเต็ม นอกจากนี้ ในงานเขียนเรื่องการศึกษา พวกเขาเสนอหลักการที่เชื่อว่ามนุษย์นั้นเป็นนักเรียนรู้โดยธรรมชาติ และเด็กก็เกิดมาพร้อมความคิดสร้างสรรค์และอยากรู้อยากเห็น ขณะเดียวกันก็รู้ดีว่าหลายๆ งานที่ครูขอให้เด็กทำในแต่ละวันนั้นไม่สนุกเอาเสียเลย อย่างเช่นยากมากที่นักเรียนจะรู้สึกได้รับการกระตุ้นจากภายในเมื่อต้องท่องสูตรคูณ

นี่คือช่วงเวลาที่แรงกระตุ้น ภายนอก เริ่มสำคัญ เมื่อพวกเขาต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้อยากทำตั้งแต่แรก แต่ทำเพื่อผลลัพธ์ที่ต่างออกไป ดีซีและไรอันบอกว่า เมื่อนักเรียนได้รับการสนับสนุนเพื่อจะหล่อหลอมให้แรงกระตุ้นภายนอกกลายเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา แรงกระตุ้นพวกนั้นก็จะทรงพลังได้ นี่เป็นจุดที่นักจิตวิทยาหวนกลับไปสู่ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์สามประการ พวกเขาเสนอว่า เมื่อครูสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความรู้สึกเหล่านี้ได้ นักเรียนจะกระตือรือร้นยิ่งกว่าเดิม

แล้วครูจะสร้างสภาพแวดล้อมอย่างนั้นได้อย่างไร ดีซีและไรอันอธิบายว่า นักเรียนจะรู้สึกเป็นตัวของตัวเองได้ต่อเมื่อครู “เปิดทางเลือกให้มากที่สุดและสร้างการมีส่วนร่วมที่เปี่ยมด้วยเจตนา” พร้อมกับลดการบังคับและควบคุมลง นักเรียนจะรู้สึกว่าพวกเขามีความสามารถต่อเมื่อครูให้โจทย์ที่สามารถทำสำเร็จได้จริงๆ แต่ก็ไม่ง่ายเกินไป เป็นความท้าทายที่เกินระดับความสามารถปัจจุบันของพวกเขาเล็กน้อย และพวกเขาจะรู้สึกถึงความสัมพันธ์ต่อเมื่อรับรู้ว่าครูนั้นชอบ เห็นคุณค่า และเคารพพวกเขา

ถ้าครูต้องการนักเรียนที่กระตือรือร้น พวกเขาต้องปรับสภาพห้องเรียนและความสัมพันธ์กับนักเรียนไปในทางที่จะเสริมความรู้สึกทั้งสามนี้ ดีซีและไรอันสรุปไว้ว่า

“บริบทของห้องเรียนที่นักเรียนจัดการตัวเองได้ รู้สึกมีความสามารถ และรู้สึกถึงความสัมพันธ์นั้น ไม่เพียงกระตุ้นแรงจูงใจจากภายในเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมโดยสมัครใจในกิจกรรมวิชาการที่น่าสนใจน้อยกว่านี้ด้วย”

ผู้เขียนยังย้ำว่าแรงกระตุ้นเช่นนี้มีความสำคัญมากกับกลุ่มนักเรียนฐานะยากจน

 

เราจะสอนความเพียรพยายามได้อย่างไร

ความเพียรพยายามคืออะไร เราจะวัดมันในฐานะทักษะที่นักเรียนมีได้อย่างไร และเราจะสอนความเพียรพยายามให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

“นักเรียน ทุกคน สามารถแสดงความอดทนอดกลั้นให้เห็นได้ ถ้าบริบทโรงเรียนและห้องเรียนช่วยพัฒนาชุดความคิดเชิงบวก และกลยุทธ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ”

คามิลล์ ฟาร์ริงตัน (Camille Farrington) จากสมาพันธ์วิจัยโรงเรียนชิคาโก หัวหน้าทีมวิจัย ผู้นำเสนอรายงาน “สอนวัยรุ่นให้เป็นผู้เรียน” (“Teaching Adolescents to Become Learners”)

ปัจจัยหลักเบื้องหลังความบากบั่นพากเพียรในการเรียนคือ ชุดความคิดเรื่องการศึกษา ของนักเรียน ทัศนคติ และมุมมองที่เด็กและวัยรุ่นแต่ละคนมีต่อตนเอง ฟาร์ริงตันสกัดงานวิจัยจำนวนมากที่เกี่ยวกับชุดความคิดของนักเรียนจนได้ 4 ประโยคที่ส่งผลต่อความอดทนเพียรพยายามของนักเรียนในห้องเรียน

  1. ฉันรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนการศึกษานี้
  2. ความสามารถและศักยภาพของฉันจะเติบโตพร้อมกับความพยายาม
  3. ฉันสามารถทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้
  4. การทำสิ่งนี้มีคุณค่ากับฉัน

ความซับซ้อนก็คือนักเรียนที่โตมากับความลำบากนั้นถูกพร่ำสอนให้ไม่เชื่อในสี่ข้อนี้เวลานั่งเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประสาทชีววิทยาได้รับผลกระทบจากความทุกข์ยากตั้งแต่เด็ก หนึ่งในสัญญาณอันเป็นผลจากการเผชิญความเครียดที่เป็นพิษคือกลไกสู้หรือหนีที่ตื่นตัว ซึ่งกลายเป็นขุมทรัพย์สำคัญในบ้านหรือชุมชนที่มีความรุนแรง แต่ไม่ช่วยอะไรในวิชาเรียน สัญชาตญาณสู้หรือหนีเช่นนี้ไม่ช่วยปลอบใจให้นักเรียนเชื่อว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ แต่กลับส่งสัญญาณเตือนในทางตรงกันข้ามว่า “เธอไม่เหมาะกับที่นี่ นี่คือดินแดนของศัตรู ทุกคนในโรงเรียนพยายามไล่ล่าเธออยู่”

ยิ่งไปกว่านั้นคือความจริงที่ว่าเด็กที่โตมากับความลำบากนั้น โดยทั่วไปแล้วเมื่อเข้าสู่มัธยมหรือมัธยมปลาย พวกเขามักเรียนตามเพื่อนไม่ทัน และมักมีประวัติต้องเข้าพบผู้บริหารโรงเรียน ถูกพักการเรียน หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง ซึ่งไม่ว่าใช้วิธีไหนก็ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนหรือจะประสบความสำเร็จได้เลย

 

ทางลัดสู่ความสำเร็จด้านการศึกษา

อันที่จริงแล้ว ผู้เขียนแนะว่าเราสามารถย่อหัวข้อของฟาร์ริงตันกับดีซีและไรอันให้เหลือเพียงสองเรื่องที่สำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียนที่สุด เรื่องแรกเกี่ยวข้องกับ ความเป็นส่วนหนึ่ง หรือการรับรู้ของนักเรียนว่าผู้คนในโรงเรียน หรือในห้องเรียนนั้นต้องการให้เขา อยู่ตรงนั้น ว่าเขาเธอได้รับการต้อนรับ และเห็นคุณค่าว่าเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ เป็นความรู้สึกที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่เขาต้องเจอทุกวันในโรงเรียน

เรื่องที่สองเกี่ยวกับ การทำงาน ชุดความคิด หรือจิตใจของนักเรียนนั้นได้รับผลกระทบอย่างมากจากงานที่พวกเขาต้องทำแต่ละวันที่โรงเรียน มันท้าทายหรือเปล่า? มีความหมายไหม? มันทำให้พวกเขาผลักตัวเองไปอีกนิดไหม? เมื่อการบ้านนั้นนำมาซึ่งความท้าทายที่พวกเขาสามารถทำให้สำเร็จได้ พวกเขาก็จะได้รับประสบการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้นโดยการได้รับการยืนยันเชิงบวกเท่านั้น ความรู้สึกว่าพวกเขาสามารถทำได้ และจัดการตัวเองได้ ตามที่ดีซีและไรอันบอกไว้ ทำให้พวกเขารู้ว่า งานนี้ไม่ง่ายเลย แต่เขาก็ทำสำเร็จแล้ว

2 ปัจจัยเปี่ยมประสิทธิภาพซึ่งนักการศึกษาควรเลือกใช้เมื่อพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่จะสร้างชุดความคิดเชิงบวกให้กับนักเรียน ได้แก่

  1. ความสัมพันธ์ คุณดูแลนักเรียนอย่างไร คุณพูดกับพวกเขา ให้รางวัล และส่งเสริมวินัยอย่างไร
  2. การเรียนการสอน คุณสอนอะไร สอนอย่างไร และประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยวิธีใด

 

รูปแบบการเรียนการสอนที่ได้ผล

ต้นแบบการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว (Expeditionary Learning – EL) ได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้วจากความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยบัณฑิตศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Graduate School of Education) และองค์กรไม่แสวงผลกำไรชื่อการศึกษานอกกรอบ สหรัฐฯ (Outward Bound USA) เน้นเรื่องการสร้างความมั่นใจและความรู้ผ่านความท้าทายร่วมกัน

ห้องเรียนและโรงเรียนในเครือข่าย EL Education กว่า 150 แห่งออกแบบมาให้เกิดการมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์มากกว่าโรงเรียนรัฐอเมริกันโดยทั่วไป มันจึงเต็มไปด้วยการพูดคุยและกิจกรรมกลุ่มทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ มีครูคอยช่วยนำบทสนทนา แต่พวกเขาใช้เวลาสอนน้อยครูโรงเรียนรัฐส่วนมาก นักเรียนอีแอลนั้นสามารถทำโครงงานระยะยาวที่เข้มข้นและอาศัยความพยายามสูงได้สำเร็จเป็นจำนวนมาก บ่อยครั้งที่พวกเขาร่วมกันทำโครงงานเหล่านี้เป็นกลุ่ม และโครงงานก็มักจะสรุปด้วยการนำเสนอหน้าชั้นเรียน โรงเรียน หรือในชุมชน นอกจากนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีโอกาส พวกเขาจะต้องรับผิดชอบในการประเมินตัวเอง และผู้ปกครองกับสมาชิกในครอบครัวจะมาที่โรงเรียนปีละสองครั้งเพื่อร่วมงานสัมมนาที่มีนักเรียนเป็นคนนำ โดยมีนักเรียนตั้งแต่รุ่นเล็กที่สุดคือ ป.5 มาเล่าให้ฟังว่าพวกเขาทำอะไรสำเร็จไปบ้างแล้ว และติดขัดตรงไหนบ้างในภาคเรียนที่ผ่านมา

“วิธีการเรียนของเด็กนั้นเกิดจากการกระตุ้นและสนับสนุนให้ลองเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง การเล่าถึงงานที่พวกเขาทำให้ผู้ปกครองฟัง การแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกันในกลุ่ม การแสดงความเห็นในห้องเรียน และการนำเสนอผลงาน เมื่อพวกเขาต้องมีส่วนร่วมแบบนั้น พวกเขาจะตื่นตระหนก ต้องการการสนับสนุน พวกเขาจะร้องไห้ แต่ในที่สุด พวกเขาจะได้พัฒนาความมั่นใจ และโอกาสแบบนั้นเองที่สร้างอุปนิสัยขึ้นมา” รอน เบอร์เกอร์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการของเครือข่าย EL Education กล่าว

เทคนิคการสอนที่แพร่หลายในโรงเรียนเครือข่ายอีแอลคือวิธีการที่ข้องเกี่ยวกับกระแสการศึกษาที่กำลังเติบโตทุกวันนี้ ที่เรียกกันว่า “การเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง” (deeper learning) หรือการเรียนรู้ที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง

เมื่อโรงเรียนพยายามจัดการกับผลกระทบของความเครียดในวัยเด็กที่อาจมีต่อนักเรียนด้อยโอกาส เครื่องมือแรกและมักเป็นเครื่องมือเดียวที่นึกถึงคือเรื่องความสัมพันธ์ จริงอยู่ที่นักเรียนต้องการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และความผูกพันว่าพวกเขาอยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์ใกล้ชิดแน่นแฟ้นในโรงเรียน แต่ข้อค้นพบสำคัญจากเครือข่ายอีแอลก็คือลำพังความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งนั้นไม่พอ การทำให้นักเรียนได้รับการกระตุ้นและตื่นเต้นกับการเรียน พวกเขาต้องมองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นงานสำคัญ ท้าทาย และมีความหมาย

การได้เจอและเอาชนะความท้าทายทางการเรียนนั้นสำคัญต่อการพัฒนาชุดความคิดเชิงบวกด้านการเรียนที่คามิลล์ ฟาร์ริงตัน ได้อธิบายไว้ว่า นั่นคือต้องรู้สึกว่า ฉันทำสิ่งนี้ได้ และ ความสามารถกับศักยภาพของฉันจะโตขึ้นได้ด้วยความพยายามนี้ นี่คือสิ่งที่ฟาร์ริงตันมองว่าช่วยสร้างชุดความคิดเชิงบวกให้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

 

ความท้าทายในห้องเรียน: เรียนคณิตศาสตร์ในญี่ปุ่น VS สหรัฐฯ

หนังสือ ช่องว่างของการสอน (The Teaching Gap) เล่าถึงข้อค้นพบน่าสนใจว่าญี่ปุ่นมีบทเรียนที่ใช้สอนวิชาคณิตศาสตร์ต่างจากสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด

ในญี่ปุ่น ครูจะแนะนำวิธีการคำนวณคณิตศาสตร์แบบใหม่ ยกตัวอย่างโจทย์ ⅗ + ½ ครูจะนำเสนอปัญหาที่นักเรียนไม่เคยเจอมาก่อน แล้วสอนให้พวกเขาลองหาทางแก้ด้วยตัวเอง นักเรียนจะดูโจทย์นั้นอยู่สักพัก เกาหัว บางครั้งก็โอดครวญ ทว่าในที่สุดก็จะหาคำตอบมาจนได้ โดยตอนแรกมักเป็นคำตอบที่ผิด

หลังจากนั้นการพูดคุยอย่างต่อเนื่องก็ตามมา ทั้งในกลุ่มเล็กและทั้งห้องเรียน โดยที่นักเรียนจะเทียบวิธีแก้โจทย์ของพวกเขา ถกเถียง โน้มน้าวให้เชื่อถึงวิธีการที่ต่างกันไป ครูจะคอยนำการพูดคุยที่สุดท้ายจะนำไปสู่ความเข้าใจคณิตศาสตร์เรื่องใหม่ ในกรณีนี้คือหลักการหาตัวหารร่วมน้อยที่สุด สุดท้ายครูไม่ได้เป็นผู้เฉลยวิธีการที่ถูกต้อง แต่คนเฉลยคือนักเรียนคนใดคนหนึ่ง กระบวนการทั้งหมดบางทีก็ชวนหัวหมุนเอามากๆ และหลายครั้งก็พานักเรียนสับสน แต่จริงๆ แล้วนั่นกลับเป็นหนึ่งในจุดประสงค์ เมื่อชั่วโมงนั้นจบลง ความสงสัยและความสับสนกลับนำไปสู่ความพึงพอใจถึงความเข้าใจใหม่อย่างลึกซึ้ง ซึ่งค่อยๆ ก่อร่างสร้างจากพื้นฐานผ่านกระบวนการพูดคุยระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง

ขณะที่ในห้องเรียนอเมริกัน บทเรียนว่าด้วยการบวกเศษส่วนด้วยตัวหารที่ต่างกันมักเริ่มจากการที่ครูเขียนสูตรที่พิสูจน์แล้วบนเครื่องฉายโปรเจกเตอร์ หลังจากนั้นครูจะแก้โจทย์ตัวอย่างให้ดูอีกสองสามข้อ นักเรียนก็จะจด จำ ดู ฟัง และลอกโจทย์ตัวอย่างลงสมุด แล้วครูก็จะให้แบบฝึกหัดที่คล้ายกับโจทย์ตัวอย่างที่ครูเพิ่งสาธิตไป นักเรียนจะจดจำขั้นตอนพวกนี้ผ่านการ “ฝึกด้วยโจทย์หลายๆ ข้อที่ยากกว่าข้อที่แล้วขึ้นมาหน่อย”

กลยุทธ์การสอนหลักแบบอเมริกันอาจช่วยให้นักเรียนไม่ต้องอึดอัดจากความสับสน กระทั่งความท้าทายอย่างที่นักเรียนญี่ปุ่นต้องเผชิญ แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธโอกาสสร้างอุปนิสัยที่รอน เบอร์เกอร์ ได้อธิบายไป ซึ่งตรงข้ามกับหลักการสร้างแรงกระตุ้นและมีส่วนร่วมในการเรียนตามหลักจิตวิทยาอย่างชัดเจน

 

ข้อควรระวังในการปรับใช้ “การเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง”

“การเรียนรู้อย่างลึกซึ้งนั้นโดยประวัติแล้วเป็นเรื่องของผู้มีอันจะกิน คนที่สามารถส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนเอกชนที่ดีที่สุด และอยู่ในย่านที่มีโรงเรียนที่ดีที่สุดได้” จาล เมห์ตา (Jal Mehta) ศาสตราจารย์วิทยาลัยบัณฑิตศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

บางทีข้อเสียที่แท้จริงของกระแสการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในปัจจุบันคือการที่เรามักจะเห็นแนวคิดนี้ถูกนำไปปรับใช้ในโรงเรียนย่านที่มีฐานะดีมากกว่าเห็นมันถูกใช้ในโรงเรียนยากจน จาล เมห์ตา ตั้งข้อสังเกตว่านอกจากประเด็นด้านเชื้อชาติแล้ว ผู้ที่ต้องการนำแนวคิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งไปปรับใช้พึงระวังว่าจะไปกีดกันการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีภูมิหลังยากลำบาก

ในหนังสือ ปฏิรูปโรงเรียน (Transforming Schools) ของบ็อบ เลนซ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายวาดวิสัยทัศน์โรงเรียน ที่พิมพ์ในปี 2015 ได้กล่าวถึงความกังวลเรื่องชนชั้นที่ผู้คนมีต่อแนวทางการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง “เราเจอข้อกังขาเมื่ออธิบายว่าเราทำอะไร” เขาเล่า

“มีคนบอกว่า การเรียนรู้ผ่านโครงงานนั้นเป็นความโก้หรูสำหรับผู้มีทรัพยากร และชนชั้นกลางระดับบนที่มีความพร้อม แต่สำหรับเด็กที่อยู่อีกด้านของความเหลื่อมล้ำทางความสำเร็จนั้นไม่มีเวลามานั่งทำโครงงานหรอก ในเมื่อพวกเขามีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อจะตามทักษะพื้นฐานให้ทัน”

เลนซ์ไม่เห็นด้วยและยืนยันว่า “เรายังไม่เคยเจอนักเรียนสักคนที่ไม่พร้อม หรือเก่งเกินไปสำหรับการศึกษาผ่านโครงงานที่เราส่งเสริมอยู่นี้”

มีหลักฐานเชิงประจักษ์เพิ่มขึ้นมากที่บอกว่าเลนซ์พูดถูก การเรียนรู้อย่างลึกซึ้งนั้นหากทำได้ดีจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักเรียนยากจน โรงเรียนในเครือข่ายอีแอลได้แสดงให้เห็นว่าสามารถเพิ่มความสำเร็จทางการเรียนให้กับเด็กนักเรียนฐานะยากจนได้จริง ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเครือข่ายวาดวิสัยทัศน์ฯ ก็มีอัตราเรียนต่อมหาวิทยาลัยสูงมากเช่นกัน และในการศึกษาปี 2014 สถาบันอเมริกันเพื่อการวิจัย ได้ศึกษาผลการเรียนของนักเรียนในแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก พบว่าการเรียนในโรงเรียนที่มีการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งนั้น โดยเฉลี่ยแล้วสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อความรู้และผลการสอบมาตรฐานของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญ สามในห้าของนักเรียนในการศึกษานี้มาจากครอบครัวฐานะยากจน และคะแนนของพวกเขาก็เพิ่มขึ้นมาพอๆ กับคะแนนของนักเรียนที่ฐานะเหนือเกณฑ์ความยากจน

 

พลิกวิธีคิด จาก “สอน” สู่ “สร้างสภาพแวดล้อม”

 

“ผมพยายามระบุอย่างเจาะจงไว้ในหนังสือถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านงบประมาณและนโยบายที่คิดว่าจะช่วยเด็กได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่นอกจากคำแนะนำเหล่านี้ ความปรารถนาที่ใหญ่กว่านั้นของผมก็คือหนังสือเล่มนี้จะช่วยมอบหลักการขับเคลื่อนการพูดคุยและอภิปรายถึงนโยบายสาธารณะที่เราจำเป็นต้องเริ่มกันตั้งแต่ตอนนี้”

ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน คือหนังสือที่เหมาะสำหรับพ่อแม่ ครู นักการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงผู้ที่ฝันอยากเติมเต็ม “อนาคตแห่งความสำเร็จ” ให้กับเด็กทุกคน

ผู้เขียนยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนจากการ “สอน” มาเป็นการ “สร้างสภาพแวดล้อม” จะเอื้อให้ทักษะแห่งความสำเร็จของเด็กได้เบ่งบาน โดยเริ่มวางรากฐานจาก “บ้าน” ต่อยอดสู่ “โรงเรียน” และ “สังคม” เพื่อสร้างโอกาสแห่งความสำเร็จที่เท่าเทียม

การช่วยเหลือเด็กที่โตมากับความทุกข์ยากให้สามารถข้ามผ่านสถานการณ์ลำบากเป็นงานที่หนักและยาก อาจทำให้คนทำงานท้อแท้ หมดกำลังใจ หรือเดือดดาลใจในหลายครั้ง แต่สิ่งที่งานวิจัยได้แสดงให้เห็นก็คือมันสร้างความแตกต่างใหญ่หลวงได้เช่นกัน ไม่ใช่แค่ต่อชีวิตของเด็กและครอบครัว แต่รวมถึงชุมชนและประเทศโดยรวม

ทางออกที่ผู้เขียนนำเสนอมีด้วยกันสามข้อคือ ปรับเปลี่ยนนโยบาย ปรับเปลี่ยนการปฏิบัติ และปรับเปลี่ยนวิธีคิดง่ายๆ ด้วย ความคิดที่ว่าพวกเราทำได้ดีกว่านี้ ซึ่งข้อสุดท้ายคือก้าวแรกซึ่งเชื้อเชิญทุกคนที่อ่านจบแล้วให้เริ่มต้นได้ทันที