Brief: Why We Post เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต

ภาพ: สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

ตั้งต้นจากเนื้อหาของหนังสือแปลสองเล่มเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่นที่อาจตีแสกหน้าความเข้าใจของผู้ใหญ่ในเมืองไทยหลายๆ คน ได้แก่ Why We Post และ It’s Complicated ต่อยอดมาสู่การแลกเปลี่ยนในเวทีสาธารณะ “Why We Post เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต”

ภายในเวลาสองชั่วโมงกว่าๆ ประเด็นสำคัญในยุคโซเชียลมีเดียได้รับการแลกเปลี่ยนกันในหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นมุมคนทำงานที่คลุกคลีและคุ้นเคยกับวัยรุ่นอย่าง ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร  สื่อผู้คร่ำหวอดด้านเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์  มุมมองจากนักมานุษยวิทยาดิจิทัล อ.พรรณราย โอสถาภิรัตน์  และตัวแทนฝ่ายกำหนดนโยบาย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. โดยมีกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้จัดรายการเช้าทันโลก FM 96.5 ดำเนินรายการ

ร่วมขบคิดและหาคำตอบผ่านประเด็นสำคัญในยุคโซเชียลมีเดีย อาทิ โซเชียลมีเดียกับวัยรุ่น ตัวตนบนโลกออนไลน์ ความเป็นส่วนตัว Fake News จนถึง Cyberbullying ไปกับมหากาพย์ความรู้ความเข้าใจพฤติกรรมออนไลน์ของเด็กและเยาวชน ที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรได้รับคำแนะนำ!

 

ลด “ช่องว่าง” ด้วยความเข้าใจ

ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยใด เลยวัยรุ่นมามากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยคงพอจำความยากลำบากในวัย “เด็กก็ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง” ได้บ้าง หากใครจำได้ คงรู้ซึ้งถึงความยากลำบากและซับซ้อนที่วัยรุ่นยุคนี้ต้องเผชิญ

ก่อนเวทีเสวนาสาธารณะจะเริ่มขึ้น วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ให้คีย์เวิร์ดสำคัญสองคำที่จะช่วยให้เราเข้าใจวัยรุ่นและพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ “empathy คือความเข้าใจคนอื่นที่อยู่ในฐานะที่ต่างกับเรา” และ “compassion คือความเห็นอกเห็นใจอย่างมีเมตตากรุณา”

“ถ้าเรามองเด็กๆ อย่างเห็นอกเห็นใจ และอย่างมีเมตตา จะเข้าใจเขามากขึ้นว่า เขาอยู่ในวัยที่ลำบาก แล้วก็อยู่ในเทรนด์ที่จะต้องใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งต้องการความมีตัวตน ความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีการสานสัมพันธ์กับคนอื่น ถ้าเข้าใจตรงนี้ ก็จะให้ความเมตตากรุณาต่อกันได้

empathy กับ compassion จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ช่องว่างระหว่างวัยแคบลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

 

เข้าใจวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต

แม้จะไม่ใช่วัยรุ่น แต่ผู้ใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้แต่คนทำงานด้านเด็กและเยาวชนก็ต้องการทำความเข้าใจ และตามวัยรุ่นทุกยุคให้ทันอยู่เสมอ กับคำถามที่ว่า วัยรุ่นใช้ชีวิตอย่างไร เขาสนใจเรื่องอะไรบ้าง และในโลกออนไลน์เขาทำอะไรกัน ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร น่าจะช่วยให้ข้อมูลได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากเขาทำงานกับวัยรุ่นตัวเป็นๆ มาตลอด

แต่ขนาดปิงที่คลุกคลีกับวัยรุ่นยังยอมรับว่า เขาเองก็ตามวัยรุ่นไม่ทัน ประสบการณ์ตามวัยรุ่นไม่ทันล่าสุดที่เกิดขึ้นคือ เขาทำซีรีส์วัยรุ่น แล้ววัยรุ่นไม่ดู

“ปีที่ผ่านมา ผมเป็นโปรดิวเซอร์ให้ซีรีส์เกี่ยวกับกีฬาชื่อ โปรเจกต์เอส เดอะซีรีส์ เราก็มองว่าแบบนี้น่าจะโดนใจวัยรุ่น ปรากฏว่าเรตติ้งไม่ดีเลย เราก็ต้องลงไปเรียนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เลยลงไปพยายามทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเราถึงล้มเหลวในการพาซีรีส์ที่เรารู้สึกว่า content แบบนี้ดีกับวัยรุ่น”

ผ่านมา 6 ปีจากซีรีส์ฮอร์โมนส์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เรียกได้ว่าผ่านมาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ปิงก็รู้สึกแล้วว่า วัยรุ่นเปลี่ยนเร็วมากและเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

“ผมว่าวัยรุ่นเปลี่ยนตลอดเวลา จากที่เจอ อันนี้วัดจากตัวเอง ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าผู้เชี่ยวชาญหรือเข้าใจวัยรุ่น เพราะทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจวัยรุ่น”

ปิงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตอนทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ซีซั่นแรกเมื่อ 6 ปีที่แล้วว่า เขารู้สึกเป็นห่วงวัยรุ่น เพราะดูจะรับมืออะไรไม่ค่อยเป็น

“มองจากมุมเราจะรู้สึกว่า เหมือนเขา handle อะไรไม่ได้เลย เมื่อก่อนเราเคยมีเครื่องมืออยู่ไม่กี่ชิ้น แต่วันนี้เขามีเครื่องมือหลายชิ้นมาก แล้วเขา handle ไม่ถูก ไม่รู้ว่าอันนี้ควรใช้ยังไง เฟซบุ๊กควรใช้ระบายอะไรบ้าง ทวิตเตอร์ควรจะใช้อะไรบ้าง อินสตาแกรมใช้อะไรบ้าง เขาดูจะงงๆ ไปหมด”

นั่นคือมุมมองตอนทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ ซึ่งปิงรู้สึกว่าเด็กๆ หลายคนใช้โซเชียลมีเดียไม่ต่างจากเครื่องมือระบายอารมณ์ หรือไม่ต่างจากการเขียนผนังห้องน้ำด่าคนอื่นสมัยที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันอันตรายกับตัวเขาเองนะ การโพสต์ลงไปในพื้นที่ที่เขาคิดว่ามันเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่จริงๆ แล้วมัน public อยู่ในที คนอื่นสามารถแคปไปประจานได้ สามารถเอานั่นเอานี่ไปต่อยอดได้”

หลังจากนั้น พอลงมาศึกษาวัยรุ่นเยอะขึ้น ก็ต้องมาดูว่าเขาดูอะไรกัน ปิงก็เริ่มเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตจริงๆ ด้วยการพูดคุยกับวัยรุ่นว่า เด็กๆ วัยนี้ดูอะไรกันบ้าง และยังดูทีวีอยู่หรือเปล่า

 

เมื่อวัยรุ่นวุ่นยูทูบ

ความจริงที่ปิงพบก็คือ วัยรุ่นดูทีวีน้อยลงจริงๆ ปกติวัยรุ่นจะใช้โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนเป็นหลัก เวลาดูละครก็ใช้วิธีดูย้อนหลังเอา ไม่จำเป็นต้องดูตอนออกอากาศสดๆ ในทีวี

“เวลาดูอะไรก็ตาม วัยรุ่นไทยจะดูจากยูทูบเป็นหลัก พอละครหรือซีรีส์เรื่องไหนไม่มีให้ดูในยูทูบ โอกาสในการเข้าถึงวัยรุ่นก็ยากขึ้น”

ถ้าถามว่า ทุกวันนี้วัยรุ่นยังดูโทรทัศน์อยู่ไหม คำตอบที่ได้คงไม่เหนือความคาดหมายนัก ปิงบอกว่าวัยรุ่นเดี๋ยวนี้ เวลาเดินเข้าบ้านมารู้สึกว่าโทรทัศน์ไม่ต่างจากโหลปลาทอง คือเป็นสิ่งที่ถูกเปิดแช่ทิ้งไว้ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะดูรายการอะไรเป็นพิเศษ

“น้อยมากที่จะมีรายการที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น ช่วงที่ The Mask Singer เปรี้ยงๆ เกิดจากการที่คนดูออนไลน์แล้วบอกต่อกัน มันเลยเด้งกลับไปที่ทีวี ว่าทุกวันพฤหัสสองทุ่ม เราจะไม่ยอมโดนสปอยล์ เราต้องไปเปิดช่องนี้เพื่อจะรอดูว่าหน้ากากคนนี้คือใคร”

กลายเป็นว่าอินเทอร์เน็ตกลับมานำโทรทัศน์ ซึ่งจริงๆ ทั้งคู่ต่างก็สะท้อนกลับไปกลับมา เมื่อปิงเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็พบว่า จริงๆ แล้วทีวียังไม่ตาย แต่ ‘content ที่ทำเพื่อทีวีอย่างเดียวตายแล้ว’ มากกว่า

“ทุกวันนี้ จักรวาลของเด็กกว้างกว่าเรามาก เด็กๆ มีโอกาสเจอ channel ได้เยอะกว่าเรามาก ทุกวันนี้เขา subscribe channel กันเป็นร้อยช่อง” ปิงเล่าต่อว่า ที่น่าทึ่งนั้นไม่ใช่แค่หลักร้อย แต่อยู่ที่หลายร้อยช่องต่อคน

ขณะที่ผู้ใหญ่กลัวว่าการกด subscribe แล้วช่องต่างๆ จะส่ง notification หรือการเตือนว่ามีเนื้อหาใหม่ๆ มารบกวน จึงไม่ค่อยกดติดตามอะไรมากนัก ทว่าวัยรุ่นไม่ได้คิดอย่างนั้น

“เขา treat มันเหมือนกับการ follow คนใน IG หรือเฟซบุ๊กนี่ละ สมมติว่าอยากดูงานของคนนี้อีก ก็จะกดๆ ไปก่อน พอรู้ตัวอีกทีก็กดไปแล้วสองสามร้อยช่อง แล้วกลายเป็นว่าหน้า feed subscription ในแต่ละวัน จะมี content เด้งเข้ามามหาศาล สมมติวันหนึ่งทั้ง 300 channel ที่กดเอาไว้อัพคลิปใหม่พร้อมกัน ก็เหมือนเรามีทีวี 300 ช่องที่มี 300 รายการเด้งเข้ามาพร้อมกัน”

ปกติเวลาผู้ใหญ่ดูช่องอะไร มักจะให้เวลากับมัน อย่างเช่น ดูรายการหนึ่งอาจจะดูทั้งตอน หรืออย่างน้อยๆ ก็ดูครึ่งตอน แต่เด็กวัยรุ่นให้โอกาสแต่ละคลิปสั้นมาก อยู่ที่ประมาณ 10 วินาที!

“มันมี logic นี้เกิดขึ้นจริงๆ ว่า ถ้า 10 วินาทีแรกไม่สามารถ attack เขาได้ สมมติมีพิธีกรขึ้นมา แล้วพูดเข้ารายการแบบ ‘สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉัน … จะมาเข้าสู่ …’ วัยรุ่นเจอแบบนี้เขาเปลี่ยนไปดูอย่างอื่นแล้วครับ เพราะรู้สึกว่าส่วนนี้ไม่จำเป็น”

ถ้าสังเกต channel ยูทูบดังๆ ทุกวันนี้ สิ่งที่ทำเวลาตัดต่อคลิปก็คือเอาไฮไลท์มาทำให้เกิดขึ้นภายในเวลา 15 วินาทีแรก โดยไม่ต้องปะติดปะต่อกันเลยก็ได้ เหมือนกึ่งๆ เทรลเลอร์หนัง เพื่อให้คนดูพอรู้ว่าต่อจากนี้เขาจะได้เจออะไรบ้าง หลังจากนั้นเขาก็จะรอดูว่ามันจะมาตอนไหน

 

พันล้านวิวมาจากไหน

ความเป็นวัยรุ่นและการทำ channel ยูทูบแบบวัยรุ่นบางคน ทำให้ปิงรู้ว่าที่มาของพันล้านวิวของพวกเขาคืออะไร

เขาพบคำตอบเรื่องนี้ หลังจากได้เป็นกรรมการตัดสินงานประกวดคลิปวิดีโอ ซึ่งไม่จำกัดรูปแบบการนำเสนอ ทำให้ได้เจอกับคลิปของเด็กๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดบางคนที่มีมุมมองและการนำเสนอซึ่งปิงมองว่าจริงใจดี แต่ติดจะดิบๆ ไปสักหน่อย

“เด็กต่างจังหวัด เวลาทำ content เขาจะจริงใจกว่า เขาจะไม่แคร์รูปแบบ อยู่ๆ ตัวละครกำลังคุยสิ่งนี้กันอยู่ เสร็จปุ๊บแม่หันมาเรียกให้ไปกินข้าว ก็หันไปคุยกับแม่ แล้วเด็กไม่ตัดออกด้วยนะ เด็กปล่อยสิ่งนี้ทิ้งไว้ในคลิป แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร ในขณะที่ถ้าเป็นเราคงตัดสิ่งนี้ออก”

ปิงอธิบายเรื่องนี้ว่า เด็กทุกวันนี้รับมือกับความดิบได้เยอะขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครื่องมือสื่อสารทุกอย่างที่เราเจอบนโซเชียลมีเดีย ทุกวันนี้ไม่ว่าคลิปหรืออะไรก็ตาม มันมีลักษณะเป็นความดิบหมด ปิงยกตัวอย่าง IG story หรือฟีเจอร์ story ในอินสตาแกรมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

IG story คือการถ่ายภาพไลฟ์สไตล์แบบที่ไม่ต้องสวยก็ได้ ต่างจากตัว IG เองที่ทำให้เราอยากอวดภาพสวยๆ หรือ follow คนถ่ายรูปสวยๆ แล้วมันก็ค่อยๆ บิดมาเป็น IG story คือเริ่มเป็นการถ่ายอะไรก็ได้ จะยื่นหน้าเข้าไปใกล้กล้อง อัดเข้าหน้า บางทีไปถ่ายขา ถ่ายเท้า มันไปไหนก็ได้เลยจริงๆ

“การที่วัยรุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ทำให้เขารู้สึกว่า จริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็น content เหมือนกัน แล้วเขารู้สึกว่า ไม่เห็นเป็นไรเลย แบบนี้ก็ปกติดีนี่นา

“ตอนที่ผมไปตัดสินคลิป แล้วเจอคลิปที่มีลักษณะแบบนี้ เราจะไม่กล้าบอกเลยว่าสิ่งนี้ผิด เพราะจริงๆ แล้ว channel เหล่านั้นมียอดคนดูสูงกว่าซีรีส์ที่ผมทำอีก คุณจะกล้าบอกไหมว่ามันผิด กลายเป็นว่า ไม่ใช่ว่าอะไรผิดอะไรถูกแล้ว แต่การที่ channel ของเด็กคนหนึ่งได้รับยอดวิวทั้งหมด 1,400 ล้านวิว ซึ่งเรารู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่เราไม่มีทางคิดได้”

ทำไมสิ่งเหล่านั้นจึงโดนใจคนทั่วไป ปิงสงสัยและลองไล่อ่านคอมเมนต์ใต้คลิป แล้วก็พบคำตอบ

“เขาโดนใจกันเพราะรู้สึกเหมือนได้ดูชีวิตเพื่อน คือมันไม่ไกลจากชีวิตเขาเกินไป เหมือนการได้แอบไปส่องผนังเพื่อนบ้าน ดูว่าเพื่อนบ้านทำอะไรอยู่ ผมว่าความเชื่อมโยงตรงนี้ทำให้เขารู้สึกว่า มันไม่ได้เหมือนเรากำลังตามอะไรที่ไกลมากๆ หรือเกินตัวมากๆ อยู่”

 

การเรียนรู้จากรุ่นพี่ออนไลน์ กรณีฟ้องครูอังคณาฯ

ปิงเล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปสมัยเป็นวัยรุ่น สิ่งที่มีส่วนหล่อหลอมหรือแบบอย่างของวัยรุ่นแต่ละยุคหนีไม่พ้นรุ่นพี่

“ตอนเราอยู่ ม.1 แบบอย่างในโรงเรียนของเราก็มีตั้งแต่พี่ ม.2 ถึง ม.6 ผมเริ่มเล่นกีตาร์ เพราะว่าพี่ในโรงเรียนเล่นกีตาร์ในงานโรงเรียน แล้วเรารู้สึกว่า โห เท่จัง ก็รู้สึกว่าเรามีแบบอย่างแบบนั้นอยู่”

เทียบกับพฤติกรรมบนโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ ปิงมองว่ามีลักษณะถ่ายทอดแบบเดียวกัน คือในระยะเวลา 5-6 ปีช่วงมัธยมนั้นมีผลกับเด็กมาก

กรณีเด็กๆ นักแสดงฮอร์โมนส์ จะเห็นได้เลยว่าพวกเขาใช้โซเชียลกันแบบสะเปะสะปะ คือระบายอะไรนู่นนี่เต็มไปหมด แต่ระหว่างนั้นก็เกิดการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

เพื่อให้เห็นภาพการเรียนรู้ที่ชัดขึ้น ปิงยกตัวอย่างคลิปดังที่ทุกคนน่าจะเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง

“จำได้ไหมที่มีเด็กคนหนึ่งอัดคลิปด่าเพื่อน แล้วก็พูดว่า กูจะฟ้องครูอังคณาแน่ๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน มันคือการระบายลงโซเชียลของเขา เขาก็ใช้โซเชียลมีเดียแบบนี้ ระบายอัดๆๆ ลงไป แล้วมันก็กลายเป็นไวรัลขึ้นมา

“ทีนี้ลองนึกภาพว่า ถ้านี่คือพี่ ม.6 ของโรงเรียน แล้วเจอสังคมยิงเข้ามาแบบนี้ เด็กเจเนอเรชั่นต่อไปก็ได้เรียนรู้โดยอัตโนมัติว่า การทำแบบนี้มันทำให้เราเป็นเป้าสายตานะ”

แต่การเรียนรู้ก็มีสองแบบอีกเช่นกัน คือ เด็กที่เรียนรู้แล้วทำตาม กับเรียนรู้แล้วเลือกจะหลีกเลี่ยง

“หลังๆ มา เราจะไม่ค่อยเห็นคลิปแบบครูอังคณาหลุดออกมาอีก หรือเวลาเห็นจะเป็นคลิปลักษณะอื่นมากกว่า แต่กลายเป็นว่า ตัวเด็กเองก็เรียนรู้เหมือนกันนะว่า การพ่นอะไรซี้ซั้วลงไปในเฟซบุ๊ก มีโอกาสที่มันจะไหลออกไปแบบนี้ได้ เด็กบางคนเลยเลือกที่จะไม่ทำ แต่เด็กบางคนก็ใช้มันหาประโยชน์ กลายเป็นว่าเขาเลือกที่จะทำคลิปแบบนี้ขึ้นมาเพราะรู้ว่าทำแล้วคนเอาไปแชร์ แล้ววันหนึ่งมันจะกลายเป็นเหมือนน้องคนนั้นก็ได้”

ส่วนตัวปิงขอไม่ตัดสินว่าการเรียนรู้แบบไหนถูกหรือผิด เขามองว่าการถ่ายทอดและเรียนรู้ซึ่งกันและกันเกิดขึ้นตลอดเวลา และการเป็นแบบอย่างก็สืบทอดถึงกันได้

 

อาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่

ปิงติดใจกับคำว่า “ฉาบฉวย” ที่ผู้ใหญ่มักหยิบยื่นมุมมองแข็งๆ นี้ให้กับการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่น และพยายามทำความเข้าใจว่า แค่ไหนถึงเรียกว่าฉาบฉวย แล้วเส้นของมันอยู่ตรงไหน

ผมว่าการให้ความรู้สึกในเชิงคุณค่าของคนแต่ละเจเนอเรชั่นไม่มีทางเหมือนกันเลย เพราะว่าเราโตมาในบริบทสภาพแวดล้อมที่ต่างกันมาก

ตัวอย่างง่ายๆ และเห็นภาพเลยคือเรื่องเพลง เพลงที่เพราะในยุคที่พ่อแม่ของปิงเป็นวัยรุ่นคือเพลงสุนทราภรณ์ เพลงเพราะสมัยปิงเป็นวัยรุ่นคือเบิร์ด-ธงไชย แบล็กเฮด ซิลลี่ฟูล หรือบอดี้สแลม

ศิลปินอย่างสุนทราภรณ์ในมุมพ่อแม่ อาจจะมองรวมๆ ทั้งเนื้อหาเพลงที่แสดงออกเรื่องความรักอย่างถวิลหาอันโรแมนติก แล้วตัวนักร้องก็มีภาพลักษณ์และการวางตัวเหมาะสม ส่วนคนเจเนอเรชั่นปิงก็มองว่าพี่เบิร์ดร้องเพลงดี ความหมายกินใจ มีลุคสบายๆ เป็นกันเอง ก็เป็นแบบอย่างให้วัยรุ่นยุคนั้น

ในขณะที่เด็กๆ มองว่า ศิลปินแบบยังโอม (YOUNGOHM) หรือยัวร์บอยทีเจ (UrboyTJ) คือศิลปินที่เท่เพราะว่าเขาแสดงออกเสรีภาพทางความคิดได้ เขาสามารถแต่งเนื้อเพลงแล้วใส่คำหยาบลงไปในเพลงได้ เขาสามารถพูดในสิ่งที่เชื่อได้ เขาด่าผู้ใหญ่ได้ วิพากษ์วิจารณ์สังคมได้ นี่คือแบบอย่างที่แตกต่างกัน

เมื่อวัยรุ่นแต่ละยุคมีแบบอย่างที่ไม่เหมือนกันเลย คำถามที่ว่า โตแล้วอยากเป็นผู้ใหญ่แบบไหนของเขาก็ไม่จำเป็นต้องเทียบเคียงกับยุคไหนๆ

“เวลาถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร วัยรุ่นเจเนอเรชั่นตอนที่ผมทำฮอร์โมนส์จะตอบว่าอยากเป็นศิลปิน อยากเป็นเซเล็บ อยากเป็นนักร้อง แต่เด็กเจเนอเรชั่นถัดมา พอถามว่าเขาอยากเป็นอะไร เขาอยากเป็นยูทูบเบอร์ ถ้าเป็นเมื่อ 5 ปีก่อน เราจะไม่เคยเจอคำตอบนี้มาก่อนเลย แล้วเขาใช้ว่า ยูทูบเบอร์ เลยด้วยนะ”

ยูทูบเบอร์ หรือผู้มีชื่อเสียงในสื่อออนไลน์โดยเฉพาะในเว็บไซต์ youtube รวมถึงการแคสต์เกมด้วย ซึ่งปิงเล่าว่านักแคสต์เกมหลายคนมียอดวิวแต่ละคลิปในหลักล้าน ทำให้เขาพยายามหาคำอธิบายว่า การเล่นเกมให้คนอื่นดูทำให้คนคนหนึ่งดังได้อย่างไร

“ผมย้อนกลับไปจินตนาการถึงตัวเองตอนเป็นเด็กๆ ว่าเราทำอะไร ก็นึกภาพว่าเคยไปคลองถม ตอนที่อยากเล่นเกม แล้วไม่มีเกม เราจะไปที่หน้าร้านเกม แล้วจะมีคนเล่นเก่งๆ ยืนเล่นให้เราดู เราก็ไปยืนดูอย่างตื่นตาตื่นใจ หรือถ้าได้ไปมาบุญครองก็จะขอพ่อแม่ขึ้นไปชั้นที่มีเกมเพื่อไปดูเขาเล่นเกม ไม่ต้องเล่นเองก็ได้ แต่ขอดูเขาเล่นหน่อย เพราะเขาเล่นเก่งมาก เราอยากรู้ว่าเกมแต่ละด่านมันผ่านกันยังไง”

คนเล่นเกมขั้นเทพตามหน้าร้านเกมแล้วมีคนดูกับการแคสต์เกมสมัยนี้จึงไม่ต่างอะไรกันเลย แล้วเมื่อบริบทสังคมส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ เช่น ยูทูบจ่ายเงินค่าโฆษณากลับมาสำหรับคนที่มียอดวิวเยอะ กลายเป็นว่าตอนนี้ยูทูบเบอร์ก็เป็นอาชีพไปแล้ว

ผู้ใหญ่หลายคนอาจรู้สึกว่า ทำไมวัยรุ่นต้องไปนั่งดูเด็กคนอื่นเล่นเกม ที่น่าสงสัยคือไม่ได้เล่นเองด้วย จะไปสนุกได้อย่างไร

“แต่เด็กๆ กลับรู้สึกว่า นี่แหละไอดอลของเขา นี่คือคนที่เขาอยากเป็น เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถเอานิยามความฉาบฉวยของเราไปให้กับเด็กได้เลย เด็กๆ เขาคิดคนละแบบกับเราไปแล้ว เขามีความฝันปลายทางคนละแบบกับเราไปแล้ว”

 

เฟซบุ๊ก vs ทวิตเตอร์: แพลตฟอร์มเช็กอายุ

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ เห็นด้วยกับที่อาจารย์วรากรณ์ และที่ปิงพูด ก็คือวัยรุ่นมีความต้องการเหมือนเดิมตลอด ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นยุคไหน เพียงแต่ว่าแพลตฟอร์มเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง

ในเล่ม It’s Complicated มีตอนหนึ่งที่ผมอ่านแล้วชอบมาก เขาบอกว่า ที่วัยรุ่นติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก เนื่องจากวัยรุ่นต้องการพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งเมื่อก่อนคือการได้ไปเดินห้าง

“สมัยเราวัยรุ่นก็ไปเดินห้าง จริงๆ แค่ได้เดินวนไปวนมา คุยกับเพื่อน ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่มันต้องการสภาวะตรงนี้ เพียงแต่ว่าพื้นที่ตรงนี้มันหายไปด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น รถติด พ่อแม่ไม่ให้ออกจากบ้าน วัยรุ่นก็ต้องไประบายออกที่ไหนสักแห่ง ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็มาระบายที่โซเชียลเท่านั้นเอง”

ชื่อหนังสือ It’s Complicated มีที่มาจากเฟซบุ๊ก คือเรื่องความรักจะมีสถานะให้เลือกว่าเป็นอย่างไร ทั้ง single, married แล้วก็จะมีประโยคนี้คือ It’s Complicated ให้เลือกด้วย ซึ่งเป็นศัพท์ที่วัยรุ่นมากในยุคนั้น (เฟซบุ๊กก่อตั้งเมื่อปี 2004) แต่พอมายุคนี้  อย่างที่หลายคนสงสัยว่าตกลงเฟซบุ๊ก out แล้วหรือยัง

สิ่งที่อิสริยะพอจะสรุปได้คือ วัยรุ่นไม่ค่อยเล่นเฟซบุ๊กแล้วด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เหตุผลหลักเลยก็เพราะว่าพ่อแม่หันมาเล่นเฟซบุ๊กกันมากขึ้น

พูดง่ายๆ ก็คือวัยรุ่นต้องการพื้นที่ที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ เขามีแนวโน้มจะหนีไปยังโซเชียลอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือยูทูบ ซึ่งคนไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กเหมือนกับเฟซบุ๊ก แต่อิสริยะมองว่าคอมเมนต์ในยูทูบนี่ก็คุยกันไม่ต่างจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพียงแต่ไม่ได้เป็นระบบโปรไฟล์หรือไทม์ไลน์เท่านั้น

พรรณรายเสริมว่า สาเหตุที่วัยรุ่นยังเลิกใช้เฟซบุ๊กไม่ได้ เพราะคุณพ่อคุณแม่อยากให้พวกเขาใช้อยู่ แต่เด็กๆ ก็จะรู้ว่าเขาต้องเลือกโพสต์ภาพแบบไหน เพราะมีเพื่อนที่เป็นเพื่อนของคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย

“ก็คงไม่ได้หนีไปทวิตเตอร์เลยทันที แต่ในทวิตเตอร์ก็มีความหลากหลายอีก อย่างเช่น สิ่งที่วัยรุ่นเดี๋ยวนี้ชอบใช้ คือวัฒนธรรมบอท การมีแอคเคาน์อื่นๆ หรือแอคหลุม คือเขาอาจจะมีแอคเคาน์ที่เป็นติ่ง (เกาหลี) ด้วย แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะไปเป็นบอท ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ซับซ้อนมาก ใครบอกว่าการเล่นสื่อเหล่านี้เป็นเรื่องฉาบฉวย เราพูดได้ว่าไม่ใช่” พรรณรายกล่าว

“บอท” ในที่นี้คือการสวมบทบาทเป็นศิลปินนักร้องชื่อดังเพื่อคุยโต้ตอบกับกลุ่มแฟนคลับด้วยกัน การจะบอทเป็นใครนั้นต้องมีการหาข้อมูลและทำอย่างจริงจัง นับเป็นเรื่องต้องอาศัยทักษะไม่น้อย

 

ว่าด้วย Story ที่จะหายวับไปในหนึ่งวัน

หากใครใช้เฟซบุ๊กคงสังเกตเห็นส่วน story ที่อยู่ด้านบนสุด อิสริยะยอมรับว่าเขาเองไม่เข้าใจว่า เราจะโพสต์ภาพหรือข้อความที่ทำลายตัวเองกันไปทำไม แต่ในที่สุดเขาก็ได้คำตอบ

ฟีเจอร์ story นี้ จะว่าไปก็ดูจะคล้ายกับแอพพลิเคชั่นดังอย่าง snapchat ที่สร้างกระแสไปทั่วโลก แต่กลับดับสนิทในเมืองไทย

ในวัย 30 กว่าๆ อิสริยะใช้เฟซบุ๊กครั้งแรกปี 2006-2007 ตอนนั้นยังไม่มี iPhone แพลตฟอร์มหลักที่เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์เกิดขึ้นมาคือคอมพิวเตอร์ input ของเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์คือคีย์บอร์ด

“พอเข้าสู่ยุคมือถือ เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ก็ยังอยู่ แต่วิธีการสื่อสารจะใช้คีย์บอร์ดบนมือถือพิมพ์ ซึ่งหลายคนจะรู้สึกไม่ค่อยถนัด คือมันพิมพ์ยาก อย่างผมถ้าต้องพิมพ์อะไรยาวๆ ก็จะต้องลุกไปพิมพ์ในคอมพิวเตอร์”

ผิดกับวัยรุ่นยุคนี้ที่เกิดมาก็เจอสมาร์ทโฟนเลย ทำให้การพิมพ์ในมือถือเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนี้การสื่อสารที่ธรรมชาติที่สุดของสมาร์ทโฟนคือการใช้กล้อง ดังนั้น ถ้าใครเคยเล่นสแนปแชต story ในเฟซบุ๊ก หรือ IG story ก็ตาม สิ่งแรกที่เปิดมาเจอก็คือกล้อง

ความเข้าใจแรกสุดของเขาเลยคือ เอาไว้ส่งรูปโป๊หรือรูปที่ไม่เหมาะสม แต่เมื่อสแนปแชตดังขึ้นเรื่อยๆ อิสริยะเลยคิดว่าตัวเองต้องเข้าใจอะไรผิดไปสักอย่างแน่ๆ เลยพยายามนึกเทียบกับตัวเองว่า ตอนเด็กๆ เคยทำอะไรลักษณะนี้ไหม ก็ได้ไอเดียเปรียบเทียบน่าสนใจว่า

“สมัยเราเด็กๆ นั่งเรียนอยู่มันน่าเบื่อ ผมก็วาดรูปในเศษกระดาษ วาดเสร็จก็ขยำๆ แล้วปาให้เพื่อน เพื่อนก็รับมา เขียนต่อ แล้วก็ขยำๆ ปาให้คนอื่นต่อ ถามว่าเราเก็บกระดาษแผ่นนั้นไว้ไหม ก็ไม่ ซึ่งการสื่อสารแบบสแนปแชต หรือ story ก็ตาม มันคือการสะท้อนวิธีคิดแบบนี้ เราเอาไว้สื่ออารมณ์ หรือสื่อตัวตน โดยที่ไม่ต้องการให้มันอยู่ไปตลอด”

อธิบายด้วยภาษาวิชาการขึ้นโดยมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ใช้ว่า “reduce permanent” หรือลดความถาวรของข้อมูลลง ซึ่งทิศทางของโลกโซเชียลมีเดียมีแนวโน้มมาทางนี้ เนื่องจากว่าเราใช้โซเชียลมีเดียกันเยอะมาก และได้รับผลกระทบจากโซเชียลมากขึ้นไม่แพ้กัน

“สมัยก่อนเวลาโซเชียลเกิดใหม่ๆ ช่วงสี่ห้าปีแรก เราไม่ได้คิดอะไร แต่ว่าตอนนี้ เฟซบุ๊กเกิดปี 2004 ตอนนี้ก็ 15 ปีแล้ว คนที่ใช้เฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2004 ตอนนี้บวกไป 15 ปีก็แก่แล้วนะ ไอ้ที่ไปเมาๆ แล้วอ้วกจนโดนเพื่อนแท็กมาออกสื่อ 15 ปีนี่คุณเป็นผู้บริหารระดับกลางแล้วน่ะ แต่รูปนั้นยังคงอยู่” หรืออย่างกรณีคลิปฟ้องครูอังคณาที่ปิงเล่ามา แม้จะผ่านไป 7 ปีแล้ว แต่ถึงวันนี้น่าจะยังหาคลิปดูได้อยู่

นี่คงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเด็กๆ เดี๋ยวนี้เล่น story กัน ซึ่งในมุมผู้ใหญ่อาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเล่นอะไรแบบนี้ แต่ก็สามารถทำความเข้าใจวัยรุ่นได้

 

The Future is Private

ในประเด็นโซเชียลมีเดีย อิสริยะพูดถึงเรื่องแกนของเวลาไปแล้วว่ามีแนวโน้มไม่ถาวรมากขึ้น อีกแกนหนึ่งที่เปลี่ยนไปด้วยก็คือแกนของพื้นที่ (space)

“สิ่งที่ผมคิดว่าเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะคือ หลายคนเลือกที่จะไม่แชร์ลงโซเชียลที่เป็น public เมื่องานเฟซบุ๊กที่ผ่านมา มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก พูดเองว่า ‘the future is private’ พูดง่ายๆ ยกตัวอย่างบ้านๆ เลยคือ แทนที่จะไปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ก็โพสต์ลงไลน์กรุ๊ปกลุ่มปิด อาจจะโดนเพื่อนแคปมาได้อยู่ดี แต่อย่างน้อยมันมีกระบวนการเรื่องความปิดความเปิดอยู่”

ในมุมคนทำเว็บ จะรู้ว่ามีคนเอาบทความไปแชร์ในไลน์ แต่เข้าไปอ่านไม่ได้ว่าถูกพูดถึงว่าอย่างไร ต่างจากที่คนเอาโพสต์ไปแชร์ในเฟซบุ๊กที่ตามไปดูได้ว่า คนที่แชร์ไปคอมเมนต์ว่าอะไรบ้าง

อีกประเด็นที่อิสริยะเน้นก็คือการใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงออกถึงตัวตน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแอพจากจีนที่กำลังมาแรงในยุคนี้ชื่อว่า TikTok

“เพียงเปิดแอพ TikTok ขึ้นมา ไม่ต้องล็อกอิน ไม่ต้องทำอะไรเลย มันคือวิดีโอ พูดง่ายๆ TikTok เป็นแอพที่ให้เราถ่ายวิดีโอความยาว 15 วินาที พร้อมเพลง ตอนนี้มีคนใช้อยู่ 500 ล้านคน”

อิสริยะแนะนำว่า ถ้าใครอยากเข้าใจวัยรุ่น ให้ลองดาวน์โหลด TikTok มาใช้ตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องสมัครแอคเคาน์ก็ได้ ไปนั่งไล่ดูว่าวัยรุ่นเขาดูอะไรกัน

“ไอเดียหลักๆ ของ TikTok คือเพลง พอเปิดแอพขึ้นมา มันจะเปิดกล้องให้ก่อน ก็จะเป็นเรื่องเดียวกับสแนปแชตคือเปิดกล้อง แต่ของ TikTok จะมีเพลงด้วย แล้วเราก็ทำอะไรก็ได้ตามเพลง แล้วแต่ความครีเอทีฟ ซึ่งเด็กๆ จะมีวิธีครีเอทีฟของเขาแตกต่างกันไป”

วัยรุ่นต้องการพื้นที่แสดงออก อิสริยะบอกว่าเป็นกรณีเดียวกับที่ปิงเล่าว่า สมัยเรียนมัธยมแล้วเห็นพี่ ม.6 ดีดกีตาร์แล้วคนดูทั้งโรงเรียน หรือเพื่อนห้องข้างๆ แม้หน้าตาจะธรรมดาๆ แต่พอเต้นใน TikTok แล้วคนดู 10 ล้าน

“สุดท้ายมันกลับไปยังประเด็นในหนังสือว่า วัยรุ่นต้องการพื้นที่ ต้องการคนยอมรับ อันนี้เป็นวิธีแสดงออกอย่างหนึ่งของเขาตามยุคสมัย”

เมื่อกรรณิการ์ถามว่า future is private แล้ว future is privacy ด้วยไหม อิสริยะบอกว่ายังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่

“บริษัทโซเชียลส่วนใหญ่เป็นบริษัทอเมริกัน ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในมุมของการกำกับดูแลคือหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะฝั่งอเมริกันและฝั่งยุโรป เริ่มรู้ตัวแล้วว่า ให้พวกคุณไปกำกับดูแลกันเองไม่ได้ หน่วยงานภาครัฐต่างๆ จึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหว

“อย่างที่เราเห็นว่า ซักเกอร์เบิร์กก็ต้องไปให้การกับสภา นี่เป็นท่าทีที่เห็นได้ชัดว่า ภาครัฐรู้สึกว่าปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ ก็พยายามล้อมกรอบมาเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทพวกนี้ก็รู้ตัวแล้วพยายามสะท้อนว่า บริษัทก็ใส่ใจ ซึ่งจะทำได้จริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ถูกกดดันแล้วว่า คุณจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว”

 

โลกเปลี่ยนโซเชียลมีเดียอย่างไร

เวลาพูดถึงหัวข้อเรื่องโซเชียลมีเดียหรือสื่อใหม่ คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงมานุษยวิทยาเป็นสาขาท้ายๆ ที่จะทำประโยชน์ให้กับการศึกษาเรื่องสื่อได้ แต่อย่างที่ทราบกันว่าหนังสือทั้งสองเล่มเขียนโดยนักมานุษยวิทยา ซึ่งผสมผสานการเก็บข้อมูลและการนำเสนอได้ชวนติดตาม

“ทุกวันนี้ก็มีนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปทำงานกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับด้านไอที อย่างดานาห์ บอยด์ (ผู้เขียน It’s Complicted) ก็ทำงานให้ไมโครซอฟท์ และอีกคนทำงานให้อินเทล ในแง่นี้ คิดว่าประโยชน์หรือลักษณะเฉพาะอะไรของมานุษยวิทยาที่มีบทบาททำให้มานุษวิทยาสามารถ contribute กับเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการใช้สื่อใหม่ได้”

พรรณราย โอสถาภิรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยเติมมุมมองและพูดถึงวิธีการศึกษาแบบมานุษยวิทยาที่เน้นการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม และการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ ที่ช่วยเปิดให้คนอ่านได้เห็นด้านที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็ซับซ้อน ในปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรามองว่าเป็นเรื่องฉาบฉวยและผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ประเด็นหนึ่งที่เล่ม Why We Post ชี้ให้เห็นชัดเจนก็คือ การให้ความสำคัญกับการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ อย่างโครงการนี้ศึกษาเปรียบเทียบใน 9 ประเทศ มีทั้งเขตเมือง เขตชนบท ทำให้เราได้เห็นด้านที่แตกต่างหลากหลาย ในปรากฏการณ์ที่เราพูดถึงสิ่งเดียวกัน อย่างเช่น เฟซบุ๊ก ในแต่ละประเทศใช้ไม่เหมือนกันอย่างไร ก็คิดว่าจะเป็นสองด้านหลักที่มานุษยวิทยาสนใจหรือทำงาน ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้

ก่อนที่แดเนียล มิลเลอร์ (ผู้เขียนเล่ม Why We Post) จะหันมาสนใจมานุษวิทยาดิจิทัล เขาเป็นนักมานุษยวิทยาในแนววัตถุวัฒนธรรมศึกษามาก่อน มิลเลอร์เป็นคนแรกๆ ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต และเป็นคนเสนอว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นโลกออนไลน์แล้วเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ จริงๆ นั้นยังมีด้านที่จับต้องได้

ยกตัวอย่างเช่น เวลาใช้อินเทอร์เน็ต เราจะรู้สึกได้ว่าว่าไวไฟที่ใช้วันนี้แรงหรืออ่อน คือเป็นความรู้สึกที่เราจับต้องได้ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างไปอยู่ออนไลน์หมด อันนี้ก็เป็นด้านแรก แล้วก็ทำให้เขาหันมาสนใจศึกษาโลกที่เป็นโลกดิจิทัลหรือโลกออนไลน์แบบที่ไม่แยกขาดจากโลกกายภาพ

แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือวิธีคิดเรื่องเกี่ยวกับวัตถุสภาวะจะเป็นฐานสำคัญที่ทำให้การพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยนี้ จะเห็นว่าคำหลักที่เขาใช้ หนึ่งในนั้นคือ สภาวะความเป็นสังคมที่ปรับระดับได้ (scalable sociality) เลือกใช้คำว่า sociality ไม่ใช่ society มีนัยทางวิชาการอย่างไร

“หมายความว่า แทนที่จะมองว่าเทคโนโลยีจะมาเปลี่ยนโลกอย่างไร การมองสังคมแบบที่มองเป็นสภาวะความเป็นสังคม sociality คือเราเชื่อว่า เรามองจากประสบการณ์ของคนก่อนแล้วทำความเข้าใจว่า ประสบการณ์ของคนที่หลากหลายเหล่านี้เชื่อมโยงกัน หรือการที่เขาต้องการแสดงตัวตนหรืออะไรทั้งหลาย ประกอบกันขึ้น ทำให้เราเห็นภาพความเป็นสังคมอย่างไร

เป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือว่า โลกเปลี่ยนโซเชียลมีเดียอย่างไร (How the World Changed Social Media)

“ถ้าตั้งต้นจากจุดนี้ อาจจะทำให้เราอ่านเล่มนี้ได้สนุกขึ้น คือรู้จุดยืนว่าทำไมผู้เขียนต้องพูดซ้ำๆ บ่อยๆ ว่า ไม่ใช่เทคโนโลยีมาเปลี่ยนทุกอย่าง แต่เราก็กำลังจะเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน”

 

โซเชียลมีเดียคืออะไร

พรรณรายชวนเทียบหนังสือทั้งสองเล่ม และบอกว่าแม้เล่ม It’s Complicated ตีพิมพ์ก่อนประมาณสองปี ในช่วงต้นมีหัวข้อหนึ่งที่ใช้ชื่อเดียวกันเลยก็คือ โซเชียลมีเดียคืออะไร

ในเล่มของบอยด์ ตอนที่เสนอก็ถือว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ คือเขาพูดถึง affordance หรือคุณสมบัติของเทคโนโลยีที่มี 4 ด้านหลัก คือ มีความยืนยง มีการปรากฏให้เห็นได้ มีความสามารถกระจายไปกว้างๆ และสามารถสืบค้นได้ อันนี้เขามองจากจุดยืนที่สนใจวิเคราะห์จากแพลตฟอร์ม ก็คือมองว่าแพลตฟอร์มมันเปลี่ยน ในงานของบอยด์จะพูดว่า แพลตฟอร์มที่มันเปลี่ยน เด็กวัยรุ่นเลยมีการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมเปลี่ยนไปอย่างไรตามแพลตฟอร์ม แล้วคำที่เขาใช้เรียกในตอนนั้น ส่วนใหญ่จะเรียกว่า social networking site หรือเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคม ถ้าดูในเล่มมิลเลอร์จะไม่ได้พูดอย่างนี้แล้ว จะเรียกว่าโซเชียลมีเดีย

ในเล่ม Why We Post ทำให้มิลเลอร์พัฒนามาเป็นข้อเสนอที่ว่าด้วยสารพัดสื่อ (polymedia) คือสิ่งสำคัญไม่ใช่ตัวแพลตฟอร์ม เพราะแพลตฟอร์มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คนเคยใช้อันไหน ก็อาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ได้ตามความนิยม แต่สิ่งสำคัญคือ คนจัดการความสัมพันธ์ผ่านการใช้เนื้อหาในแพลตฟอร์มเหล่านี้อย่างไรมากกว่า

ตรงนี้ก็เลยทำให้เวลาที่จะนิยามว่าโซเชียลมีเดียคืออะไรในเล่ม Why We Postจะพูดแบบกว้าง แล้วก็เสนอไอเดียท้าทายให้เราคิดว่า ลองย้อนกลับมาดู ถามตัวเราเอง ในทุกๆ วันที่เราสื่อสาร จริงๆ แล้วเราใช้เฉพาะเฟซบุ๊กหรือเปล่า หรือเราใช้เฉพาะสื่อเครือข่ายทางสังคมที่เรารู้สึกว่ามันเป็นของใหม่หรือเปล่า

สภาวะที่เรียกว่าเป็นสารพัดสื่อมีนัยสำคัญอย่างไรต่อการศึกษา พรรณรายอธิบายว่า ในชีวิตประจำวันของเราไม่ได้เลือกใช้สื่อใดสื่อหนึ่งอยู่แล้ว แต่มีการเลือกใช้ให้เหมาะกับการสื่อสารและกลุ่มที่ต้องการสื่อสารด้วย

“ไม่ใช่ว่ามี TikTok มาแล้วเด็กจะเลิกใช้เฟซบุ๊กไปเลย แต่ว่าเขาเลือกที่จะใช้แพลตฟอร์มอะไรเพื่อจัดการความสัมพันธ์แต่ละแบบ จากคำถามที่ว่า วัยรุ่นจะเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นเลยหรือเปล่า ก็อาจจะไม่ใช่

“อย่างที่อาจารย์วรากรณ์พูด คือสื่อไม่ใช่ของใหม่ที่เพิ่งมีตอนนี้ ในสองเล่มนี้พูดเหมือนกัน ตั้งแต่ตอนที่เราคิดเรื่องว่าถ้ามีการเขียนแล้วจะทำให้เราสูญเสียความทรงจำหรือเปล่า ซึ่งเป็นข้อถกเถียงสมัยกรีก ก็ต้องนับว่าการเขียนเป็นสื่อเช่นกัน”

ในแง่นี้การสื่อสารจึงมี range ของการใช้เครื่องมือต่างๆ ได้มากมาย ฉะนั้น ในปัจจุบันก็ไม่ใช่ภาวะที่จะแตกหักจากเดิม แต่เป็นโลกที่เรา ไม่ว่าวัยไหน เลือกได้ว่าจะใช้อะไรสื่อสารกัน

สภาวะความเป็นสังคมที่ปรับระดับได้ (scalable sociality) แม้แต่ภายในแพลตฟอร์มเดียวกันก็สามารถเลือกใช้ไม่เหมือนกันได้ด้วย คือมีทั้งสองอย่าง ในบรรดาสื่อต่างๆ ก็อาจเลือกอันใดอันหนึ่งเพื่อให้เหมาะกับความสัมพันธ์แบบใดแบบหนึ่ง หรือในแพลตฟอร์มเดียวกันก็อาจจะเลือกใช้ไม่เหมือนกันด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราปฏิสัมพันธ์กับใคร

 

เงิน: สิ่งเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว

หลายคนอาจไม่นับ QR payment หรือแอพจ่ายเงินว่าเป็นส่วนหนึ่งของโซเชียลมีเดีย แต่บางครั้งเส้นแบ่งในยุคนี้ก็ช่างรางเลือน

พรรณรายยกตัวอย่างเรื่องขำๆ ให้ฟังว่า ปกติไม่ค่อยทักคุณแม่ไปทางโซเชียล แต่มาวันหนึ่งอาจจะทักคุณแม่ไปว่า “คิดถึงจัง” แล้วคุณแม่ก็ตอบกลับมาเป็นหน้าแคปเจอร์ที่บอกว่า ส่งเงินให้แล้วนะ

ตัวอย่างในเล่ม Why We Post ที่ศึกษาในเมืองจีนก็พูดถึงเรื่องนี้ว่า อินเทอร์เน็ตหรือสื่อเครือข่ายทางสังคมทั้งหลายที่เราชอบคิดว่าทำให้ครอบครัวห่างเหินกัน ปรากฏว่ากลับเป็นส่วนที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก

“อันนี้เป็นเรื่องที่คิดไม่ได้ในกรอบวิธีคิดแบบสังคมตะวันตกที่มองว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดระยะห่างหรือแตกแยก แต่ในสังคมจีน การให้เงินเป็นส่วนหนึ่งของการ support ที่เป็นรูปธรรม แสดงถึงความรักและความเป็นพ่อแม่ที่ห่วงใยลูก”

เรื่องนี้คือคำอธิบายว่า ทำไมแอมะซอนถึงครองตลาดจีนไม่สำเร็จ เพราะว่าไม่เข้าใจเรื่องนี้ คิดว่าการค้าขายเป็นเรื่องที่ต้องมีระยะห่างหรือเป็นทางการ

ในหนังสือยกตัวอย่างฟังก์ชั่นอั่งเปาของวีแชต เป็นเรื่องที่อาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในสังคมตะวันออก ทำเรื่องเงินให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความห่วงใยกัน ซึ่งเกิดไม่ได้เลยในบริบทสังคมตะวันตก พรรณรายมองว่าคุณูปการของงานวิจัยในเชิงเปรียบเทียบจะชี้ให้เห็นอะไรแบบนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

วาทกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี

ส่วนใหญ่เรามักพูดว่าเทคโนโลยีมาสร้างความต้องการอะไรใหม่ๆ แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นของที่มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้วหรือเปล่า รวมถึงความต้องการที่จะจัดการความสัมพันธ์ หรือเชื่อมโยงกับคนอื่น เช่น เราก็อยากดูคนเล่นเกมเก่งๆ อยู่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ยูทูบทำให้เราไปดูผ่านสื่อออนไลน์ แทนที่จะไปคลองถมหรือมาบุญครอง

ข้อเสนอในหนังสือทั้งสองเล่มคือความพยายามท้าทายวิธีคิดในแง่ลบที่มองว่าเด็กจะถูกล่อลวงให้ไปอยู่ในโลกออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

“ข้อวิจารณ์ที่คนมักจะพูดเป็นการทั่วไปก็คือ การชอบถ่ายเซลฟี่ พวกคอลัมน์หนังสือพิมพ์ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย ในต่างประเทศด้วย ก็ยังเขียนว่า เราอยู่ในยุคที่เด็กๆ หลงตัวเอง

“ในงานวิจัยนี้บอกว่า จริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องที่เราชอบเห็นตัวเองมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่ในตำนานกรีก จะมาบอกว่าเพิ่งมีคงไม่ใช่เรื่อง เพียงแต่ว่า affordance หรือคุณสมบัติการใช้งานที่มันเปลี่ยนไป ในทางจิตวิทยามีการพูดเรื่องความตระหนักในตัวตน ซึ่งเราตระหนักผ่านการเห็นตัวเองในสื่ออื่น เหมือนเรามองเห็นตัวเองในกระจก ฉะนั้น การเซลฟี่ก็คือรูปแบบหนึ่งที่เราบรรลุความต้องการอยากจะเห็นตัวเราผ่านสื่อ”

พรรณรายยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางพื้นที่ แทนที่จะถ่ายหน้าตัวเอง กลับไปถ่ายเท้า ซึ่งสื่อความหมายอีกแบบ

“ในชิลี การถ่ายรูปเท้าแสดงความรู้สึกผ่อนคลาย อยู่ในบ้าน ดูบอล แล้วก็ไม่ต้องเห็นหน้า แต่ให้เห็นเท้า หรืออิตาลีทางตอนใต้ จะต้องมีทะเลสวยงามเป็นแบกกราวด์ของเท้า ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเป็นตัวเองที่มีความสุข ถามว่านี่คือหลงตัวเองหรือเปล่า และเป็นของที่เพิ่งมีมาใหม่เพราะว่ามีเฟซบุ๊กหรือเปล่า ถ้าตอบตามทฤษฎีการบรรลุผล (theory of attainment) ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่”

การมีกล้อง มันเหมือนมี scale ที่ทำให้เราเห็นตัวเองได้ตลอดเวลา เป็นที่มาของการพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า การออน(ไลน์)ตลอดเวลา

“เวลาสอนนักศึกษาเราจะยกตัวอย่างซีรีส์ที่คุณปิงทำ เหมือนกับว่าเปิดกล้องทิ้งไว้ แล้วก็ไปไหน ไปทำอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นความรู้สึกแบบที่วัยรุ่นรู้สึกว่ามีการเชื่อมโยงประสบการณ์หรือใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแบบเหมือนเป็นชายขอบ ไม่ได้แปลว่าไม่ได้คุ้นกันนะ แต่คุ้นกันจนกระทั่งเราไม่ต้องคุยกันตลอดเวลา ขอให้เราเห็นกัน ซึ่งก็ดูโรแมนติกมากเลย”

อย่างในฟิลิปปินส์ ที่ผู้หญิงนิยมไปทำงานเป็น care worker ในยุโรป มีงานวิจัยที่มิลเลอร์ทำก่อนหน้านี้ ชี้ให้เห็นว่า เป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ทำให้แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์รู้สึกว่าสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวไว้ได้

“ไม่ใช่แค่เปิดกล้องไว้ตลอดเวลา บางทีแค่เปิดสไกป์ แล้วตั้งให้มี notification ตอนที่ออนขึ้นมา แล้วมีเสียง ตึ๊ง! คือไม่ต้องคุยกัน เพราะเวลามันต่างกัน เช่น เช้าที่ฟิลิปปินส์เป็นเวลาที่แม่บ้านกำลังจะเข้านอน ซึ่งคนทำงานเป็น care worker หรือพยาบาลจะเหนื่อย ไม่มีแรงตื่นขึ้นมาคุยกับสามีหรือลูกหรอก แต่ขอให้ได้ยินเสียงตึ๊ง ก็โอเค สบายใจแล้ว” พรรณรายเล่า

 

เข้าใจวัยรุ่นในมุมผู้กำหนดนโยบาย

ต้องยอมรับว่าผู้มีอำนาจหลายคนในเมืองไทยส่วนใหญ่มองการใช้โซเชียลมีเดียของเยาวชนในแง่ลบ อย่างเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความเป็นห่วงปัญหาเด็กไทยติดโทรศัพท์มือถือ

“ซึ่งพบได้ตั้งแต่นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงวัยรุ่น โดยกว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มเป้าหมายที่มีการสำรวจ หยิบโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งแรกหลังตื่นนอน และยังใช้โทรศัพท์เป็นกิจกรรมสุดท้ายก่อนเข้านอน ส่งผลให้เกิดอาการสมาธิสั้น การใช้สมองในส่วนความทรงจำลดลง และอารมณ์มีแนวโน้มรุนแรงฉุนเฉียวง่ายขึ้น”

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ คืออีกหนึ่งตัวแทนผู้ใหญ่ที่พยายามทำความเข้าใจวัยรุ่นผ่านหนังสือสองเล่มนี้

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างช่วงการเลือกตั้งรอบนี้ เราเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ แล้วสิ่งที่นักการเมืองพยายามจะพูด พยายามจะบอกว่าอะไรที่เด็กไม่ควรจะยุ่งหรือไม่ควรทำบ้าง เพราะชัดเจนว่า เด็กที่ยุ่งเกี่ยวกับโลกโซเชียลมีเดียเขามีชุดวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ชุดความจริงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไปก่อกวนความมั่นคงของระบบเดิม”

เมื่อการเปลี่ยนแปลงจะทำลายชุดคุณค่าเดิม ดังนั้น คนที่ยึดติดกับชุดคุณค่าเดิมหรือคนที่ได้รับประโยชน์จากชุดคุณค่าเดิม ก็ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา

ถ้าถามว่ารัฐมองอย่างไร หน่วยงานกำกับดูแลมองอย่างไร ต้องถามก่อนว่า รัฐหรือหน่วยงานกำกับดูแลยึดชุดคุณค่าอะไรอยู่ แน่นอนถ้ายึดชุดคุณค่าเดิม ก็ไม่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ายึดชุดคุณค่าอีกอย่าง เราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง

ประวิทย์ชี้ว่าในหนังสือพยายามจะเตือนสติว่า สิ่งที่เราคิดอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

“เราพูดถึงเรื่องอันตรายของคนแปลกหน้า แน่นอนมันมี ไม่ใช่ไม่มีในโลกไซเบอร์ แต่มันไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ขนาดที่จะทำให้เกิดภัยอันตรายมากมาย เราพูดถึงโลกเสมือน เราพูดถึง cyberbullying พูดถึง hate speech แต่ทั้งหลายทั้งปวง มันงอกงามมาจากโลกจริงทั้งนั้น

“ถามว่าในทางการเมืองไทย ก่อนจะมาถึงยุคนี้ที่ first (time) voter หรือ new voter ทำให้เกิดความตื่นตระหนก ถามว่า hate speech เกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นที่เวทีชุมนุม แล้วไปผ่านทีวีดาวเทียมของแต่ละเสื้อสี มันไม่ได้เกิดขึ้นที่โซเชียลมีเดีย เพียงแต่โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นมา แล้วกระโดดเอา hate speech ไปวิ่งผ่านโซเชียลมีเดีย”

เช่นเดียวกัน ประเด็นเรื่อง cyberbullying ก็ต้องถามย้อนไปว่าการ bullying มีที่ไหนบ้าง ประวิทย์ได้คำตอบว่ามีในสังคม มีที่โรงเรียน เพียงแต่ว่าพอมีโลกไซเบอร์ขึ้นมา เรื่องเหล่านี้ก็เข้าไปอยู่ในนั้นด้วย

“ฉะนั้น ในกระบวนการจัดการ คุณก็ต้องจัดการโลกจริงด้วย การมุ่งไปจัดการโลกเสมือนโดยไม่จัดการโลกจริงก็เหมือนคุณเป็นพวกปากว่าตาขยิบ”

สิ่งที่ประวิทย์ย้ำก็คือไม่มีใครฝืนการเปลี่ยนแปลงได้ และคนรุ่นใหม่คือผู้รับผลของสิ่งที่ฝั่งผู้กำหนดนโยบายเตรียมวางไว้ให้ในวันนี้

“ถ้ารัฐยังยึดแนวคิดซึ่งไม่สอดรับกับสภาพความเป็นจริงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ยังไงการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิด เพียงแต่จะเกิดอย่างสงบสุขหรือไม่เท่านั้น และสำหรับคนรุ่นใหม่ เขาก็รอวันที่โลกจะเปลี่ยนไป การจะหมุนโลกย้อนกลับคงเป็นไปไม่ได้

ผมมองว่า ผู้มีอำนาจควรเปิดกว้าง ศึกษา แล้วหาอนาคตร่วมกัน เราพูดถึงอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งคนที่จะอยู่เผชิญหน้า ไม่ว่าจะรับสุขหรือทุกข์ของ 20 ปีข้างหน้าก็คือคนรุ่นนี้

 

โซเชียลมีเดียกับการเมือง

โดยรวม นักวิชาการจะมีข้อวิจารณ์หนังสือ Why We Post ว่างานมีแนวโน้มจะมองทุกอย่างในแง่บวก เช่น การกระชับความสัมพันธ์ แต่ในเรื่องการเมือง พรรณรายเล่าว่ากลับเป็นตรงกันข้าม คือไม่ค่อยให้ความหวังคนอ่านสักเท่าไร

“ขอยกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในแง่รัฐ แต่ก็น่ากังวล คือในประเทศจีน รัฐใช้สื่อเครือข่ายทางสังคมเพื่อผลักดันเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความภูมิใจในชาติ

“ทุกวันนี้ เวลาพูดว่าคนใช้ QQ เยอะ เราตื่นเต้นมาก เพราะจีนมีโซเชียลมีเดียเฉพาะของเขาเอง แต่ในงานนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ ก็มีการประนีประนอมกับรัฐพอสมควร และการที่สื่อเครือข่ายทางสังคมที่เข้าถึงคนจำนวนมากในประเทศ แต่จะไม่นำเสนอประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐโดยตรง” พรรณรายมองว่ามีแนวโน้มที่ทำให้คนได้รับข่าวสารที่รัฐต้องการสื่อเป็นหลัก

สำหรับแนวโน้มของการโพสต์ประเด็นเรื่องการเมือง พรรณรายพบว่าคนมักไม่ค่อยโพสต์ในเชิงวิพากษ์มากนัก แต่จะแสดงด้านที่มีอารมณ์ขันมากกว่า ซึ่งสุดท้ายยากที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่กว่านั้น

“เราอาจจะเห็นเหมือนกันว่า content การเมืองอะไรที่ดูขำๆ จะได้รับความนิยมหรือมีความแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นมากกว่า ในแง่หนึ่งเราอาจมองในแง่ดี คือมีความตื่นตัว แต่ความตื่นตัวนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ยังเป็นเรื่องที่มีเครื่องหมายคำถามอยู่”

ประวิทย์เสริมว่า หนังสือ Why We Post ก็บอกเหมือนกันว่าจริงๆ แล้ว คนเราจะแสดงออกโดยเฉพาะเรื่องการเมืองในเชิงอนุรักษนิยม เพื่อไม่ให้เป็นภัย ไม่ให้เกิดผลกระทบกับตัวเองหรือครอบครัว หรือคนรู้จัก

ดังนั้นคนเราเลือกแสดงออกในสิ่งที่สังคมอยากเห็น มากกว่าจะเลือกแสดงออกถึงตัวตน

เรื่องเพศสภาพก็เช่นเดียวกัน คือไม่ได้แปลว่าต้องเปิดเผยทั้งหมด

“ถ้าครอบครัวอยากเห็นเราเป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้ชาย เราไม่อยากทำให้เกิดผลกระทบในครอบครัว เราก็แสดงออกตามนั้น ดังนั้น โดยรวม ผมเข้าใจว่ารัฐที่ยอมปล่อยอะไรบางอย่าง มันมีดีกรีของเสรีภาพอยู่ระดับหนึ่ง”

เมื่อถามอิสริยะว่าวัยรุ่นคิดเห็นอย่างไรกับกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ (พ.ร.บ.ไซเบอร์ บังคับใช้เมื่อ 27 พฤษภาคม 2562) เขาตอบทันทีว่า

“ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้แคร์เลยครับ ไม่ได้แคร์แบบ at all เลย คือไม่สนใจเลยว่าจะมี พ.ร.บ. ไซเบอร์ หรือ พ.ร.บ. อะไรที่จะมาเอาผิดเขาหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าเขาอัดอั้น เขาอยากแสดงออก”

อิสริยะมองว่าคงมีผลลบในระยะยาว เช่น ในอนาคตถ้ามีใครมาเอาผิด ก็คงมีเคสโดนกันเรื่อยๆ บ้าง แต่อารมณ์ของคนรุ่นใหม่ตอนนี้คือเขารู้สึกอัดอั้น รู้สึกไม่มีที่ระบาย ต้องแสดงออกด้วยวิธีการอะไรสักอย่าง

ขณะที่ประวิทย์มองว่าวัยรุ่นก็พยายามหาเทคนิคใหม่ๆ มารับมือกฎหมายเหล่านี้ เช่น การใช้รหัสบางอย่างแทนประเด็นหรือตัวบุคคลที่รู้กันในกลุ่ม ซึ่งการเอาผิดทำได้ไม่ง่ายเลย และถ้าต้องเอ่ยอะไรตรงๆ ก็จะใช้ในกลุ่มปิดที่มีความเป็นส่วนตัวและไว้ใจได้เท่านั้น

“ถ้าเป็นคำตรงไปตรงมา สื่อในกรุ๊ปของเขาก็พอแล้ว” ประวิทย์กล่าว

 

ทวิตเตอร์ พื้นที่เปิดของวัยรุ่น

ปิงเล่าถึงความสนุกสนานในโลกทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมันเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้พูดลอยๆ และน่าจะยังเป็นพื้นที่ที่ผู้ใช้ยังไม่ถูกจับตาหรือได้รับผลกระทบแบบเฟซบุ๊ก

“ทวิตเตอร์มีลักษณะจำเพาะที่เอื้อให้เกิดโอกาสที่เราจะพูดลอยๆ ได้ คือเด็กๆ จะรู้สึกว่าทวิตเตอร์ยืนยันตัวตนน้อยมาก ไม่ได้ต้องระบุความเป็นตัวเองลงไปเท่าในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม”

เรามีสิทธิ์เจอชื่อโปรไฟล์ประหลาดๆ และยาวๆ มากกว่าในเฟซบุ๊ก เช่น ชั้นจะวีทคนนี้จนกว่าตัวชั้นจะหมดชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน ความคิดที่อยู่บนนั้นเป็นความคิดของวัยรุ่นคนนั้นจริงๆ

“การพูดลอยๆ นี้ ข้อดีของมันคือ พอมีคนพูดลอยๆ ขึ้นมาคนหนึ่ง ฟังก์ชั่นในการแชร์ของทวิตเตอร์มันง่ายมาก ไม่เหมือนเฟซบุ๊กที่เวลาเรากดแชร์ปุ๊บ จะมีให้เราเขียน description ในแบบของเราว่าเราเห็นอย่างไร ทวิตเตอร์จะมี retweet คือกดปุ๊บมันไปเลย มันแชร์เลยทันทีโดยที่มันก็แชร์บน identity คนอื่นด้วยนะ ฉะนั้น ก็มีลักษณะของการที่มีคนพูดลอยๆ ขึ้นมา ว่าฉันคิดแบบนี้ๆๆ คนนี้เป็นอย่างนี้ๆๆ แล้วการกดรีทวีตเหมือนเป็นการบอกว่า ‘อื้ม’ เราก็คิดแบบนี้เหมือนกัน”

“พอเห็นแล้วเรา อื้ม คนนี้ใช่ พรรคนี้อย่างนี้นะ อื้ม ก็ อื้มๆๆ เต็มไปหมดเลย แต่เราไม่ได้พูดนะ เขาพูด เราแค่อื้ม แล้วก็กดๆๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ซึ่งลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นในเด็กรุ่นใหม่ง่ายมาก เขาไม่แคร์เลยว่า วันหนึ่งสมมติว่า พ.ร.บ. ไซเบอร์จะมาเอาผิดกับเขา ส่วนหนึ่งเพราะมันยังไม่เคยเกิดขึ้นแบบรุนแรงมากๆ พอมันยังไม่เคยเกิดขึ้น เขาก็จินตนาการไม่ออก”

ปิงมองว่าในความคิดเห็นของเด็กๆ เขารู้สึกว่า เขาทำได้ นี่คือพื้นที่ที่เขาทำได้

“แล้วพอการยืนยันตัวตนน้อย อย่างที่พูดเรื่องแอคหลุมขึ้นมา เดี๋ยวนี้เด็กๆ มีแอคหลุมกันหมดแล้ว คือมีแอคเคาน์ที่เอาไว้ให้ผู้ปกครอง เฟซบุ๊กหลุม ทวิตเตอร์หลุม ไอจีหลุมก็มี มันมีหลุมของทุกอย่าง หลุมก็คือตัวตนที่เขาตั้งขึ้นมาใหม่โดยที่ไม่ต้องยืนยันว่าเขาเป็นใครเลย ที่เหล่านี้คือที่ที่เขาจะสามารถแสดงออกอะไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องคำนึงว่าพ่อแม่จะรู้ แล้วเขาก็เขาคิดไม่เหมือนพ่อแม่หรอก”

เพื่อให้เห็นภาพ ปิงยกตัวอย่างเวลานั่งคุยเรื่องการเมืองกับที่บ้าน เราจะเห็นว่าชุดความคิดของคนแต่ละเจเนอเรชั่นต่างกันจริงๆ

“เวลาเราคุยกันบนโต๊ะ ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่เรามีก็ไม่เหมือนกัน perception ทางการเมืองว่าเราโตมากับการเมืองยุคสมัยไหนก็ต่างกัน ผู้ใหญ่จะรู้สึกว่า เราโตไม่ทันยุคที่คนนี้มันโกงนี่ๆๆ เราไม่รู้หรอกว่าตอนนั้นเป็นยังไง เด็กก็จะรู้สึกว่า เราข้ามเรื่องนั้นมานานมากแล้วนะ เรากำลังจะพูดถึงเรื่องที่จะแก้ไขเรื่องนี่ๆๆๆ กัน ทำไมพ่อแม่ไม่ฟังบ้าง”

“พอประสบการณ์ทางการเมืองเราไม่เหมือนกัน การคุยกันบนโต๊ะกินข้าวที่บ้านคือความฉิบหาย ไม่ว่าจะเป็นเรากับพ่อเรา หรือเรากับลูกเรา มันจะไม่ตรงกันเลย แล้วยากมากที่จะจูนกัน คนที่จูนกันได้คือคนที่ฟังกันเท่านั้นเลย ซึ่งโอกาสแบบนี้จะเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการ shut down ว่า เราคิดอย่างนี้ๆๆ แล้วคุณประสบการณ์ไม่เท่าเรา คุณรู้ไม่เท่าเรา ไป judge เขาว่าเขารู้ไม่เท่าเรา ก็จบ นั่นคือเราจะไม่มีวันรู้ความรู้ใหม่ได้เลย”

เพราะฉะนั้น พื้นที่ทวิตเตอร์ก็คือพื้นที่ที่เด็กๆ จะไปเจอคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกับเขาได้ง่ายขึ้นมาก

“เออ คนนี้คิดเหมือนเรา ก็ไปฟอลโลว์เขา พอฟอลโลว์ไปเรื่อยๆ ก็เหมือนยิ่งสะสม มันเหมือนเราเลือกดูช่องที่ชอบเอาไว้ เราก็จะมีบุคลิกลักษณะของเราที่เป็นไปทางช่องนั้นโดยอัตโนมัติ”

ยิ่งเจอคนที่คิดแบบเดียวกันก็ทำให้รู้สึกว่า ความคิดแบบนี้ถูก เพราะสุดท้ายแล้วด้วยความเป็นสัตว์สังคมทำให้เราไม่อยากอยู่คนเดียว หรือไม่มีพวก โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่ฟอลโลว์นั้นเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง อายุมากหรืออายุน้อย แต่ว่ามีทัศนคติตรงกัน

“คือเขา judge กันที่ทัศนคติ เด็กๆ ทุกวันนี้เป็นอย่างนี้เลยนะ เราอาจจะคิดว่าเขารู้ไม่เยอะ แต่จริงๆ แล้วเขารู้เยอะประมาณหนึ่ง เขาเลือกที่จะฟัง เขาเลือกที่จะเชื่อ เพราะส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของการกลายพันธุ์ของความจริงนิดนึงว่า ทุกวันนี้ความจริงมันกลายพันธุ์อยู่”

คนรุ่นปิงหรืออายุ 30 ขึ้นไปจะรู้สึกว่าความจริงหาได้ที่ข่าว เราจะเชื่อว่าทีวีจริง เชื่อว่านักข่าว ผู้ประกาศข่าวพูดน่ะจริง อะไรที่ออกหนังสือพิมพ์จริง

“เด็กๆ ทุกวันนี้พอเห็นความน่าจะเป็นที่หลากหลายขึ้น เด็กจะพอมองออกว่า อันนี้ข่าวเลือกข้าง ช่องนี้ของฝั่งนี้ ช่องนี้ของฝั่งนั้น แล้วความจริงไปอยู่ที่ไหนล่ะ เด็กๆ ก็ยิ่งเคว้งคว้าง แล้วยิ่งต้องเลือกมากขึ้นโดยอัตโนมัติ สัญชาตญาณเขาต้องยิ่งหาข้อมูลมากขึ้นว่า แล้วควรจะเชื่อใครดี ระหว่างผู้ใหญ่ที่พูดแบบนี้กับผู้ใหญ่ที่พูดอีกแบบหนึ่ง”

แน่นอนว่าต้องแล้วแต่เด็กแต่ละคนด้วยว่า คนไหนหาข้อมูลเยอะก็จะได้ชุดความจริงที่ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น กับเด็กบางคนที่อาจจะเน้นอะไรที่เป็นกระแสอย่างเดียว ก็จะได้อะไรที่ผิวเผินหน่อยเป็นธรรมดา

“ผมไม่ได้บอกว่าเด็กทุกวันนี้ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่เราต้องเข้าใจว่า เด็กๆ ก็หาทางรอดของตัวเองเหมือนกัน แล้วเขาไม่ได้จะต้องโตมาเป็นแบบเรา เขาจะโตมาเป็นแบบไหน เราไม่มีวันรู้แล้ว เพราะทุกวันนี้มันโตได้หลายแบบมากๆ”