Brief – เสวนาสาธารณะ “เด็กที่เจ็บปวดคือผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วย”

อภิรดา มีเดช เรื่อง

 

สุภาษิต “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและสะท้อนแนวทางการเลี้ยงลูกของคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งอาจล้าสมัยไปแล้วในยุคนี้ บางครั้งเราอาจลืมนึกไปว่ามันแฝงความรุนแรงเอาไว้

พ่อแม่ผู้ปกครองอาจให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องทำโทษบุตรหลานเพียงเพื่อให้หลาบจำจะได้ไม่ทำผิดซ้ำ แต่หากการตีหรือความรุนแรงนั้นเป็นการทำโทษเด็กเล็กและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจส่งผลต่อเด็กมากกว่าที่คิด

นอกเหนือไปจากความรุนแรงทางกายภาพ ยังมีความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ซึ่งหากปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำๆ ในบ้านหรือครอบครัวที่ควรได้ชื่อว่าเป็นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กด้วยแล้ว จะยิ่งกระทบและส่งผลสะเทือนได้หนักหนากว่าความรุนแรงใดๆ ภายนอกบ้าน

ชวนสำรวจอิทธิพลของแผลใจวัยเยาว์ ความเครียดเป็นพิษ และร่วมกันหาหนทางเยียวยาและป้องกันหัวใจเด็กๆ ให้เติบโตอย่างแข็งแรง ในเสวนาสาธารณะ “เด็กที่เจ็บปวดคือผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วย” ต่อยอดจากหนังสือ ลบบาดแผลลึกสุดใจ: วิทยาศาสตร์เบื้องหลังภาวะเครียดเป็นพิษและแนวทางเยียวยาแผลใจวัยเยาว์

ร่วมสนทนาโดย รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก หัวหน้าหน่วยคุ้มครองเด็ก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้ก่อตั้ง SHero Thailand และ ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ผู้ก่อตั้ง Mental Me ชวนสนทนาโดย ทราย เจริญปุระ จัดโดยสำนักพิมพ์บุ๊คสเคป ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก 101

หลายคนอาจยังไม่คุ้นกับคำอย่าง “ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก” (adverse childhood experience – ACE) คำคำนี้ปรากฏในบทความวิจัยตั้งแต่ปี 1998 และนาดีน เบิร์ก แฮร์ริส ผู้เขียน ลบบาดแผลลึกสุดใจ ได้ศึกษาและพัฒนาเรื่องนี้ต่อในปี 2008 จวบจนปัจจุบันซึ่งกลายเป็นแบบประเมินสุขภาพที่กุมารแพทย์ในสหรัฐอเมริกาใช้ควบคู่กับการตรวจร่างกายผู้ป่วยเด็กตามปกติ

นาดีนอ้างอิงงานวิจัยหลายชิ้นของทีมวิจัยเธอเองและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เพื่อยืนยันว่า ความเสียหายจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กเป็นผลกระทบทางกายที่ตรวจวัดได้จริง รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ อธิบายว่าอย่างแรกที่มีความเปลี่ยนแปลงคือฮอร์โมน โดยฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดสองตัวหลักคือ คอร์ติซอล และอะดรีนาลิน

สมองจะหลั่งฮอร์โมนสองตัวนี้เวลาที่เราเกิดความเครียด กลัว หรือวิตกกังวล จากนั้นจะไปกระตุ้นส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น นี่คือกลไกของร่างกายเพื่อให้เราหนีรอดและปกป้องตัวเองให้พ้นอันตราย

“ประเด็นก็คือ ในชั่วชีวิตเราจะเกิดเหตุเหล่านี้สักกี่ครั้ง แต่พอเป็นในวัยเด็ก แล้วเหตุการณ์นั้นเป็นเหตุที่เกิดในบ้านตัวเองแล้วเกิดขึ้นบ่อย จึงเกิดผลลัพธ์ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านชีวภาพ” พญ.วนิดาอธิบาย

 

รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์

 

ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กยังส่งผลต่อสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนอะมิกดาลา ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมความกลัว

“ในท้ายที่สุด สมองส่วนนี้ของเด็กจะใหญ่กว่าปกติ คือเมื่อเด็กผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้ว สมองส่วนนี้ทำงานมากกว่าปกติ จึงใหญ่กว่าปกติ คราวนี้เรื่องที่คนอื่นรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เด็กก็จะแปลผิดได้ นึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องระแวดระวังหรือเป็นเรื่องที่ต้องสู้

“เพราะฉะนั้น เวลาที่เด็กกลุ่มนี้เจอเหตุการณ์ที่คนอื่นรู้สึกว่าไม่มีอะไร เด็กพวกนี้อาจจะปะทะกลับ เพราะเขาแปลสิ่งเหล่านี้เพี้ยนไปจากสิ่งที่คนทั่วไปแปล เนื่องจากถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา” พญ.วนิดากล่าว ขณะที่ในทางตรงกันข้าม สมองส่วนไฮโปธาลามัสกลับมีขนาดเล็กลง ซึ่งมีผลกับความทรงจำ

“เรื่องระดับฮอร์โมนนั้นอาจตรวจวัดได้ไม่ชัดเจน แต่เราวัดขนาดของเนื้อสมองได้โดยวิธีเอ็มอาร์ไอ เพราะฉะนั้น มีการยืนยันโดยการเอ็มอาร์ไอเลยว่าสมองส่วนไฮโปธาลามัสมีขนาดเล็กลง ขณะที่อะมิกดาลามีขนาดใหญ่ขึ้น”

นี่คือคำอธิบายว่า ถ้าเด็กได้รับการเลี้ยงดูมาด้วยความรุนแรง ก็อาจมีแนวโน้มไปในทางนั้น เช่น การใช้อำนาจ หรือการกระทำที่เป็นพิษต่อคนรอบตัวได้

อีกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกี่ยวกับระบบการตอบสนองต่อการอักเสบในร่างกาย ตรงนี้อาจทำให้เกิดโรคบางโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันของร่างกายได้

 

หลากมิติของ “ความรุนแรง”

“ทุกครั้งที่จัดอบรม แล้วเราสะท้อนเรื่องความรุนแรงต่อเด็ก จะถูกถามกลับว่า เรามีลูกแล้วหรือยัง หรือไม่ก็ถามว่า แล้วถ้าเด็กดื้อ จะไม่ให้ตีได้อย่างไร” บุษยาภา ศรีสมพงษ์ แลกเปลี่ยนคำถามที่เธอพบอยู่บ่อยครั้ง

เธอมองว่ามีวิธีเชิงบวกอีกมากมายที่จะสื่อสารกับเด็กๆ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง เหตุผลที่คนถามเช่นนี้เนื่องจากยังไม่เกิดความตระหนักรู้หรือพยายามจะเข้าใจจริงๆ แล้วด่วนตัดสินด้วยการทำโทษเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวไปแล้ว

อีกประเด็นน่าสนใจคือคนส่วนใหญ่มักคิดว่า “ความรุนแรง” คือการลงไม้ลงมือหรือทำร้ายกันจนเกิดบาดแผล แต่ความรุนแรงยังมีอีกหลายรูปแบบที่มองไม่เห็น ทว่าส่งผลลึกซึ้งต่อพัฒนาการเด็ก อย่างเช่น การเมินเฉย หรือการทอดทิ้ง

บุษยาภาตั้งข้อสังเกตว่า สังคมยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประเภทของความรุนแรงจำกัดและขาดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้

เมื่อสังคมยังไม่เข้าใจเรื่องความรุนแรงประเภทต่างๆ ก็จะยื่นมือช่วยเหลือในกรณีที่เกิดความรุนแรงไปแล้ว อย่างเช่นเด็กถูกละเลยจนเสียชีวิต แต่ในชีวิตประจำวัน เรื่องเหล่านี้กลับไม่ได้รับความสำคัญ” บุษยาภากล่าว

 

บุษยาภา ศรีสมพงษ์

 

นอกจากนี้ เธอมองว่าความยากของการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่มองไม่เห็นคือการที่มันสร้างบาดแผลที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา ทว่าอานุภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าบาดแผลทางกายภาพเลย

“ข้อท้าทายคือการที่ผู้เสียหายโดยเฉพาะตัวเด็กเองจะยกมือขึ้นมาขอความช่วยเหลือ ซึ่งทำให้บาดแผลที่มองไม่เห็นเหล่านั้นถูกปล่อยทิ้งไว้ แล้วอาจทำให้ต้องใช้เวลาตลอดชีวิตในการรักษา” บุษยาภากล่าว

ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา เสริมว่าเราจะได้ยินสโลแกน ‘ประเทศนี้ไม่ตีเด็ก’ บ้างแล้วในช่วงนี้ แต่ว่าพ่อแม่หลายคนยังไม่รู้ว่าการเมินเฉย หรือการใช้คำพูดบางอย่างก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็กเช่นกัน

“เคยมีเด็กเป็นซึมเศร้ามาปรึกษา พ่อแม่บอกว่าไม่เคยใช้ความรุนแรง ไม่เคยตีลูกเลย แต่สิ่งที่ทำคือเลือกที่จะไม่พูด ไม่ฟังลูก ทำเหมือนลูกไม่มีตัวตน นี่ก็เป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่ง” ปราชญาเล่า

“เคยมีเด็กเป็นซึมเศร้ามาปรึกษา พ่อแม่บอกว่าไม่เคยใช้ความรุนแรง ไม่เคยตีลูกเลย แต่สิ่งที่ทำคือเลือกที่จะไม่พูด ไม่ฟังลูก ทำเหมือนลูกไม่มีตัวตน นี่ก็เป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่ง”

เชษฐา มั่นคง กล่าวว่าสถานการณ์ความรุนแรงหนักหน่วงยิ่งขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัดซึ่งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กเข้าไปทำงานด้วย

“ช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 สองปีที่ผ่านมาเห็นชัดเจนมาก จากที่พ่อแม่ลูกต้องกักตัวร่วมกันในห้องสี่เหลี่ยม แล้วพอเสพสิ่งมึนเมาก็มักทะเลาะกัน เด็กก็ซึมซับความรุนแรง เพราะมองเห็นตลอดว่าพ่อแม่ทะเลาะกัน บางครั้งก็มาลงเอยที่เด็กด้วย ความเครียดตรงนี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กค่อนข้างมาก”

เชษฐายังช่วยเติมเรื่องระดับชั้นของความรุนแรง โดยอ้างอิงจากงานของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่แบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ชั้น คือ

  1. ชั้นบุคคล กระทบทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์
  2. ชั้นโครงสร้าง ใช้โครงสร้างทางอำนาจ เช่น ใช้คำสั่งกับเด็ก
  3. ชั้นวัฒนธรรม (ฝังรากลึก) อย่างเช่นสุภาษิตรักวัวให้ผูกฯ หรือบังคับควบคุมโดยอ้างความรักและความปรารถนาดี

อีกประเด็นน่าสนใจคือการเยียวยาผู้ได้รับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กจากเหตุที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ นั่นคือภัยพิบัติธรรมชาติ

“ตอนที่เกิดสึนามิปี 2547 ส่วนใหญ่คนไปเก็บข้อมูลที่พังงา แต่ผมไปทำที่มหาสารคามกับบุรีรัมย์ เพราะว่าคนที่นั่นไปทำงานแล้วเสียชีวิตยกครอบครัว บางกรณีเสียชีวิตทั้งหมู่บ้าน” เชษฐาเล่า

นับเป็นความรุนแรงอีกรูปแบบที่เชษฐามองว่าเด็กที่ยังอยู่ต้องสูญเสียพ่อแม่และทั้งครอบครัวไป เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมฝังลึกในจิตใจพวกเขา ซึ่งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กพยายามหาทางออกและเยียวยาเด็กกลุ่มนี้เช่นกัน

 

เชษฐา มั่นคง

 

ทลายมายาคติ “ครอบครัว” เน้นช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ

คำกล่าวที่ว่า “ทนอยู่เพื่อลูก” ไม่เพียงทำร้ายตัวพ่อแม่หรือผู้ดูแลเอง แต่ยังทำร้ายจิตใจลูกแสนสาหัสไม่แพ้กัน

บุษยาภากล่าวว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเองยังไม่เข้าใจ และพยายามจะประกอบร่างครอบครัวที่แตกร้าวให้กลับมาอยู่ร่วมกันเหมือนเดิม ซึ่งจะเกิดปัญหาวนอยู่ไม่จบสิ้น

“แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กซึ่งมีหน้าที่ต้องดูเรื่องนี้ยังไม่เข้าใจเลยว่าเด็กได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างไร” บุษยาภาเล่าถึงกรณีที่เกิดความรุนแรงในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ แล้วตัวเด็กไม่ได้ถูกกระทำความรุนแรงโดยตรง

“ในขณะที่สังคมรอบข้างกดดันว่า ถ้าเลิกกันเดี๋ยวเด็กมีปัญหา แต่ลืมมองว่า ครอบครัวที่คุณพยายามจะประกอบเข้าไป มันมีไฟอยู่เต็มไปหมด แล้วเด็กกำลังจะตายอยู่ในนั้น” บุษยาภาชี้ให้เห็นว่านี่เป็นปัญหาสังคม มิใช่ปัจเจก เป็นความเข้าใจผิดที่ฝังรากลึกมานานว่าครอบครัวที่อบอุ่นควรอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันพ่อแม่ลูก

“ในขณะที่สังคมรอบข้างกดดันว่า ถ้าเลิกกันเดี๋ยวเด็กมีปัญหา แต่ลืมมองว่า ครอบครัวที่คุณพยายามจะประกอบเข้าไป มันมีไฟอยู่เต็มไปหมด แล้วเด็กกำลังจะตายอยู่ในนั้น”

เธอเล่าว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจะลบ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 แทน นั่นคือวัฒนธรรมครอบครัวเป็นศูนย์กลางสูงมาก

พญ.วนิดาเสริมเรื่องความสุขของคนเลี้ยงลูกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากคนเลี้ยงไม่มีความสุขแล้ว ก็ยากจะส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับลูกได้ นอกจากนี้ เธอยังกล่าวถึงสุภาษิต “เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้” ว่าเป็นอีกค่านิยมฝังหัวที่ควรร่วมกันทำลาย ครอบครัวอุปถัมภ์และการรับเด็กจากครอบครัวอื่นมาดูแลก็สามารถรักใคร่ปรองดองและเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็กได้ไม่แพ้ครอบครัวสายเลือดเดียวกัน

นั่นเพราะหลังจากเราช่วยหยุดเหตุการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ วิธีการเยียวยาที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือการย้ายเด็กไปในสถานที่ปลอดภัย ซึ่งเธอเรียกว่า “สร้างการเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่นปลอดภัย” โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่แท้ๆ ของเด็ก

 

เราหยุดวงจรความรุนแรงได้

ปราชญาแบ่งปันประสบการณ์ว่ากลุ่มวัยรุ่นที่เข้ารับคำปรึกษากับ Mental Me ที่เธอก่อตั้งนั้นแบ่งตามการรับมือกับความรุนแรงออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. ส่งต่อความรุนแรงให้คนรอบข้าง เช่น เพื่อน จากนั้นเจ้าตัวอาจถูกลงโทษถึงขั้นไล่ออกจากสถานศึกษา
  2. เก็บกดไว้กับตัวเอง ต่อมาจะเกิดปัญหาทั้งสุขภาพกายและจิต
  3. พบจิตแพทย์ และหาทางออกมาจากครอบครัว

ปราชญาเล่าว่าผู้ที่มาปรึกษาเริ่มมีสัดส่วนของกลุ่มสุดท้ายมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือเมื่อรู้ว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตจากความรุนแรง ก็ตัดสินใจพบจิตแพทย์ แล้วหาทางออกมาอยู่คนเดียว ในวันที่อายุพ้นจากความเป็นผู้เยาว์และพอหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว

 

ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา

 

“แม้ว่าครูหรือคนรอบข้างอาจมองว่า เด็กคนนี้อกตัญญู พ่อแม่เลี้ยงมา ถูกตีแค่นี้ทำไมเลือกออกมาจากบ้าน แต่คนวิพากษ์วิจารณ์แทบไม่รู้อะไรเลยว่า การเผชิญกับความรุนแรงนั้นเจ็บปวดขนาดไหน” ปราชญากล่าว

“ทำไมไม่คิดว่าการพาลูกไปพบจิตแพทย์เป็นการป้องกันและหาสาเหตุ แต่ชอบคิดว่าลูกป่วยทางจิตเลยไม่กล้าไปหาหมอ ทัศนคติแบบนี้ต้องเลิกคิดกันได้แล้ว” เชษฐาเสริม

อย่างไรก็ตาม บุษยาภาเสริมว่า ไม่ควรให้ความชอบธรรมกับการกระทำความรุนแรงของผู้กระทำหรือ abuser (แม้เคยเป็นผู้ถูกกระทำตามข้อ 1) เนื่องจากความรุนแรงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ไม่ว่าใครเป็นคนกระทำก็ตาม

ขณะที่คนทั่วไปอย่างเราๆ หากพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกับเด็กที่อยู่ใกล้ตัว สิ่งที่ทำได้ทันทีคือ ติดต่อสายด่วน 1300 (ศูนย์ช่วยเหลือสังคม) หรือ 1387 (มูลนิธิสายเด็ก childlinethailand.org) หากเป็นเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อ 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)

“ทำไมไม่คิดว่าการพาลูกไปพบจิตแพทย์เป็นการป้องกันและหาสาเหตุ แต่ชอบคิดว่าลูกป่วยทางจิตเลยไม่กล้าไปหาหมอ ทัศนคติแบบนี้ต้องเลิกคิดกันได้แล้ว”

“คนที่กระทำความรุนแรงกับเด็กมีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก อยู่แล้ว แต่ประเด็นคือสังคมไทยยังไปไม่ถึงตรงนั้น ไม่เหมือนในอังกฤษ ถ้าใครนิ่งเฉยเมื่อเห็นเด็กถูกกระทำจะถูกลงโทษด้วย” เชษฐากล่าวด้วยความเป็นห่วง อย่างที่เขาเล่าในช่วงต้นว่าความรุนแรงในครอบครัวหนักขึ้นจนน่าใจหาย ทว่าหลายครั้งผู้ที่พบเห็นความรุนแรงกลับเลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่หรือให้ความช่วยเหลือเพราะกลัวว่าตนจะต้องเกี่ยวข้องกับการเป็นพยานหรือวุ่นวายเรื่องอื่นๆ ตามมา

“ถ้าพ่อแม่เป็นผู้กระทำ ส่วนหนึ่งจะใช้มาตรการทางสังคมในชุมชนนั้นๆ มากดดัน อีกส่วนอาจให้ผู้นำชุมชนมาชวนคุย แลกเปลี่ยน แต่ต้องใช้เวลา ต้องมีสหวิชาชีพเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง หลังจากที่ได้แยกเด็กออกไปอยู่ในครอบครัวทดแทนหรือในสถานที่ที่เป็นหน่วยงานของรัฐแล้ว” เชษฐากล่าว และย้ำประเด็นสำคัญที่ว่า “เมื่อเห็นเด็กถูกทำร้ายหรือใช้ความรุนแรง ทุกคนต้องไม่นิ่งเฉย และเข้าไปช่วยเหลือทันที”

“เมื่อเห็นเด็กถูกทำร้ายหรือใช้ความรุนแรง ทุกคนต้องไม่นิ่งเฉย และเข้าไปช่วยเหลือทันที”

“ตอนนี้การบำบัดเน้นไปที่คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าสุขภาพกาย แต่หนังสือเล่มนี้ดูเหมือนจะบอกเราว่า ช่วยดูแลคนที่มีปัญหาสุขภาพกายด้วยได้ไหม เผื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตของเขาด้วย” พญ.วนิดากล่าวถึงข้อดีของหนังสือ ลบบาดแผลลึกสุดใจ จากมุมมองของเธอ พร้อมทิ้งท้ายว่า

“อยากขอเปลี่ยนสุภาษิตจากเดิม ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ เป็น ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด’ ” เพราะเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกรักก็ควรแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา น่าจะดีต่อลูกๆ ที่สุดแล้วไม่ใช่หรือ

 

ดูคลิปเสวนาฉบับเต็มได้ ที่นี่

อ่านรายละเอียดหนังสือประกอบการเสวนาได้ที่

ลบบาดแผลลึกสุดใจ: วิทยาศาสตร์เบื้องหลังภาวะเครียดเป็นพิษ และแนวทางเยียวยาแผลใจวัยเยาว์
The Deepest Well: Healing the Long-Term Effects of Childhood Adversity
Nadine Burke Harris, M.D. เขียน
ลลิตา ผลผลา แปล