Brief: เสวนาสาธารณะ “สร้าง-สาน-ซ่อม: เมื่อลูกเติบโต เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง”

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

การเป็นพ่อแม่ ไม่เคย ง่าย

พ่อแม่คืองานหินที่สุดงานหนึ่งของมนุษย์ เพราะไม่ใช่เพียงการประคับประคองตนเอง หากรวมถึงชีวิตเล็กๆ อีกหนึ่งชีวิต ด้วยความตระหนักรู้ว่าทุกการตัดสินใจของตน ตั้งแต่อาหารที่เลือกรับประทานถึงกิริยาอาการที่แสดง ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตเล็กๆ นั้นทั้งสิ้น นอกจากนี้ การเป็นพ่อแม่ยังหมายถึงการให้ความรัก ความผูกพันแก่อีกชีวิตหนึ่งเสมือนชีวิตตน การปล่อยมือให้กล้าที่ผลิใบได้งอกงามเป็นไม้ใหญ่ในที่สุด จึงยากเย็นไม่แพ้การฟูมฟักกล้าน้อยๆ นั้น

และเพราะการเป็นพ่อแม่ยากเย็นเช่นนี้เอง จึงเหลือกำลังที่พ่อแม่จะรู้แน่ว่าทุกการตัดสินใจของตนถูกต้อง เพราะก่อนจะเป็นพ่อแม่ของเด็กคนหนึ่ง เราต่างเป็นมนุษย์และลูกของใครสักคน ต่างมีรอยยิ้มและบาดแผลที่ได้รับตกทอดจากครอบครัว และหากเป็นไปไม่ได้ที่จะลบบาดแผลในวันวาน คำถามคือจะทำอย่างไรเพื่ออยู่กับอดีตของตน และไม่ส่งต่อมรดกนั้นให้ลูกเสียเอง

จึงเป็นที่มาของงานเสวนาออนไลน์ “สร้าง-สาน-ซ่อม: เมื่อลูกเติบโต เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง” โดยสำนักพิมพ์บุ๊คสเคป ร่วมกับ สสส. โดยอ้างอิงเนื้อหาหนังสือ เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน (The Book You Wish You Parents Had Read) ที่มุ่งทบทวนความสัมพันธ์ในครอบครัวซึ่งส่งผลต่อวิธีเลี้ยงดู ทำความเข้าใจอิทธิพลของสายสัมพันธ์ที่มีต่อการเรียนรู้และพัฒนาการทั้งทางปัญญาและอารมณ์ ตลอดจนรับมือการปะทะในวันที่ลูกเติบโต เพื่อ ‘สร้าง’ สายสัมพันธ์ที่แข็งแรง ‘สาน’ ความเข้าใจ และ ‘ซ่อม’ รอยร้าวในครอบครัวนั่นเอง

 

อุปสรรคของการ ‘สร้าง’ ความสัมพันธ์ในครอบครัว

มิรา เวฬุภาค คุณแม่ผู้ควบตำแหน่งซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Flock Learning เริ่มต้นการเสวนาด้วยคำถามชวนคิดว่า หลายครั้งขณะตัดสินใจตอบโต้ลูก เราอาจไม่ได้กำลังโต้ตอบลูกจริงๆ ทว่าตอบโต้บาดแผลในอดีตของตน เพราะอุปนิสัยและการตัดสินใจของเราล้วนมีที่มาจากการเลี้ยงดูในอดีต แล้วเราจะสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากความสัมพันธ์ในอดีตน้อยที่สุดได้อย่างไร

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ยืนยันสมมติฐานนั้น “เมื่อเราพบว่าตัวเองโมโหลูก คำตอบมักเป็นเพราะเราเหนื่อย จึงไม่มีเวลาคิดอย่างอื่นนอกจากตอบสนองโดยอัตโนมัติ หลายครั้งที่เราโมโห นอกจากความเหนื่อยล้าจากที่ทำงานและโมโหที่ลูกงอแง เรายังโมโหตัวเองในอดีตด้วย และอดีตที่ว่าก็ไม่ได้ตรงไปตรงมา แต่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน อยู่ในจิตใต้สำนึกตั้งแต่เราเป็นเด็ก”

จิตแพทย์ผู้คลุกคลีกับเด็กๆ ตลอดหลายปีขยายความว่า “เท่าที่ผมพบ เรามักโมโหสามอย่าง โมโหลูกที่ทำให้เราเดือดร้อน โมโหตัวเองว่าเมื่อ 30 ปีก่อน เราก็เคยทำให้พ่อแม่เดือดร้อนอย่างนี้ บางทีเราก็ไม่ได้โมโหบุคคลแต่โมโหประเด็น คือโมโหประเด็นคล้ายๆ กันนี้ในอดีต ความโมโหนั้นเป็นการระบายออกของจิตใต้สำนึก เก็บอะไรไว้มากก็ต้องระบายออก และออกอย่างไม่มีการกลั่นกรอง กลับบ้านเหนื่อยๆ ลูกงอแง ก็โมโหลูกก่อนเป็นปกติ

“อีกคำอธิบายหนึ่งคือ ด้วยจิตใต้สำนึกนั้น เราจึงทำซ้ำเหตุการณ์ในอดีตเพื่อแก้ตัวโดยไม่รู้ตัว และก็มักพบว่าทำไม่สำเร็จ ทุกครั้งที่พ่อแม่โมโหลูกจึงมักเสียใจทุกครั้ง ว่าเราพลาดอีกแล้ว ระเบิดใส่ลูกอีกแล้ว แต่สัปดาห์ถัดไปเราก็จะทำอย่างนี้อีก เพราะเราอยากแก้ตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรียกว่า repetition compulsion หรือการทำซ้ำๆ เพื่อล้างบาป เพื่อสะเทินเหตุการณ์นั้นให้หายไป”

 

ด้วยจิตใต้สำนึกนั้น เราจึงทำซ้ำเหตุการณ์ในอดีตเพื่อแก้ตัวโดยไม่รู้ตัว และก็มักพบว่าทำไม่สำเร็จ ทุกครั้งที่พ่อแม่โมโหลูกจึงมักเสียใจทุกครั้ง ว่าเราพลาดอีกแล้ว ระเบิดใส่ลูกอีกแล้ว แต่สัปดาห์ถัดไปเราก็จะทำอย่างนี้อีก เพราะเราอยากแก้ตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรียกว่า repetition compulsion หรือการทำซ้ำๆ เพื่อล้างบาป เพื่อสะเทินเหตุการณ์นั้นให้หายไป

 

ทั้งนี้ ‘หมอโอ๋’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น และเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่ามรดกตกทอดนี้ส่งผลกระทบอย่างไรได้บ้าง ทั้งต่อเราและลูก

“สมองของเราพยายามปกป้องตัวเองเมื่อเผชิญอันตราย เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอันตรายก็จะคอยระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นซ้ำ เราเคยถูกตีเพราะร้องโวยวาย เราก็จะเรียนรู้ว่าการร้องโวยวายนั้นไม่ดีและอันตราย จึงมีสำนึกว่าเด็กที่ร้องโวยวายนั้นไม่น่ารัก และกระตุ้นเราให้ปฏิบัติอย่างที่แม่ปฏิบัติต่อเรา เราใช้ความรุนแรงด้วยสมองส่วนที่ใช้เอาชีวิตรอด เพราะเราเห็นลูกเป็นศัตรู

“บางทีเราก็ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เคยพบ เช่น หากถูกเลี้ยงอย่างไม่ใส่ใจความรู้สึก ก็อาจติดลูกมาก จนบางครั้งมากเกินไป ถ้าพ่อแม่ไม่เคยซื้ออะไรให้ เมื่อมีลูกก็อาจหาให้ลูกจนเกินความเหมาะสม หรือหากเติบโตมาโดยเชื่อว่าตัวเอ ใช้ไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่คิดว่าต้องทำให้เจ็บปวดเด็กจึงจะเรียนรู้ ความคิดนั้นก็จะอยู่ในสายเลือด คิดว่าการเลี้ยงดูต้องใช้ความรุนแรง ต้องเจ็บปวด ฯลฯ เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เราได้รับหรือไม่ได้รับให้ลูก โดยแต่ละคนตอบสนองไม่เหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามว่าจะเป็นไปได้ไหมที่พ่อแม่ทั่วไปซึ่งไม่ได้เป็นนักจิตวิทยาจะตระหนักรู้เมี่อตนทำเช่นนั้น นายแพทย์ประเสริฐบรรเทาความกังวลดังกล่าวด้วยการตอบว่า “ไม่ต้องรู้ลึกซึ้งนักก็ได้ ขอเพียงเรารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองก็เพียงพอแล้ว ถึงไม่รู้สาเหตุก็ดีมากแล้ว”

 

สมองของเราพยายามปกป้องตัวเองเมื่อเผชิญอันตราย เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอันตรายก็จะคอยระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นซ้ำ เราเคยถูกตีเพราะร้องโวยวาย เราก็จะเรียนรู้ว่าการร้องโวยวายนั้นไม่ดีและอันตราย จึงมีสำนึกว่าเด็กที่ร้องโวยวายนั้นไม่น่ารัก และกระตุ้นเราให้ปฏิบัติอย่างที่แม่ปฏิบัติต่อเรา เราใช้ความรุนแรงด้วยสมองส่วนที่ใช้เอาชีวิตรอด เพราะเราเห็นลูกเป็นศัตรู

 

แหม่มวีรพร นิติประภา คุณแม่และนักเขียนซีไรต์ หนึ่งใน ‘แม่ทั่วไป’ ในวงเสวนา เสริมจากมุมมองของตนว่า “อย่างที่หมอว่า ประเด็นนี้เลี่ยงได้ยาก เคยพูดกับเพื่อนว่าการเป็นพ่อแม่คือการแบกความรู้สึกผิดขนาดใหญ่ อะไรก็ผิดเสียหมด ไม่รวย ไม่สวย ไม่เก่ง ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี ทุกครั้งที่ลืมตัวก็จะบอกลูกทันทีว่า ลูก… แม่ขอโทษ ยายทำ ยายเป็นคนเริ่ม แม่ขอโทษ”

หลังผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมรดกที่ตนได้รับตกทอดจากพ่อแม่ในหลากหลายแง่มุมแล้ว นายแพทย์ประเสริฐจึงสรุปว่า เราจะปรับทัศนคติของตนต่อความเจ็บปวดที่พ่อแม่เป็นผู้สร้างได้อย่างไร

“เมื่อผมอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกก็คิดว่าประเด็นนี้ยากเกินไป แต่ก็มีประโยชน์ เพราะเมื่อมีความเชื่อและความเข้าใจในสมมติฐานนี้ เราจะป้องกันเหตุการณ์นั้นได้ วิธีคิดที่ง่ายที่สุดคือพยายามท่องว่า พ่อแม่ของเราใน พุทธศักราชนั้นๆ ก็มีปัญญาทำเท่านั้น ต่อให้ย้อนเวลากลับไปในอดีต ท่านก็ยังทำเช่นเดียวกัน ด้วยบริบทสังคมไทยขณะนั้น การศึกษาที่ท่านได้รับ ความยากจนของท่าน ท่านทำได้เพียงปากกัดตีนถีบ โมโหก็ด่าลูก ถ้าเราเข้าใจได้ว่า ท่านทำดีที่สุดแล้ว เราจะวางท่านได้ง่ายขึ้น อดีตที่จะทำให้เราโมโหก็จะถูกป้องกันแต่แรก

“มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่เรียนรู้จิตใจและอารมณ์ในปัจจุบัน ถ้ารู้ว่าโกรธก็วาง ถามว่าทำไมต้องรู้ตัว เพราะถ้าสอนไปโกรธไป เด็กจะไม่รู้เรื่อง รู้แค่หน้าตาเรา เสียงเราเป็นอย่างไร ยิ่งบ้านที่ประชดกันบ่อยๆ ยิ่งหนัก ถ้าจะสอนเด็ก เราต้องสอนตรงๆ เป็นประโยคบอกเล่าเสมอ ความโกรธต้องไม่มี อยากได้อะไรจากลูกก็พูดตรงๆ ”

 

แล้วควร ‘สาน’ สัมพันธ์กับลูกอย่างไร

วีรพรเสนอว่า การกำหนดบทบาทในครอบครัวนั้นสำคัญ “ต้องปรับ เราไม่ได้เห็นลูกเป็นลูก แต่เห็นเป็นเพื่อน เราคุยกับเพื่อนแล้วโมโหก็ได้แต่กัดฟันใช่ไหม เพราะเรายังมีความเคารพเพื่อนในฐานะผู้ใหญ่ ต้องปรับกรอบความคิดว่านี่เพื่อนนะ ไม่ใช่ลูก ไม่ได้เล็กกว่าเรา ด้อยกว่าเรา เราจะยั้งตัวเองได้มากขึ้น”

การปฏิบัติต่อลูกอย่างเพื่อนนั้นครอบคลุมการปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างผู้เท่าเทียมกันในทุกมิติ เพราะประเด็นหนึ่งที่ผู้ร่วมเสวนาเห็นพ้องกันคือ โลกนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการถือว่าสิ่งที่ตนรู้หรือได้เผชิญในอดีตเป็นประจักษ์พยานแห่งความเหนือกว่าย่อมไม่นำไปสู่การสานสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง

‘ป๋าเต็ด’ ยุทธนา บุญอ้อม รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส หน่วยงาน Showbiz บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เห็นด้วยกับแนวทางของวีรพร โดยอธิบายว่า “ผมมีพี่ชายและพี่สาว ได้เห็นอะไรตั้งแต่เด็กๆ ที่จะเป็นภาพจำจนโต เราเห็นแม่ดุพี่ๆ เรี่องนั้นเรื่องนี้ แล้วพี่ก็เจ็บช้ำน้ำใจ เราจำได้ว่าพี่รู้สึกอย่างไร เมื่อมีลูกจึงพยายามเห็นลูกเป็นเพื่อน พยายามเข้าใจ ลูกจะได้ไม่เจอแบบที่พี่ๆ ของเราเจอ คิดอย่างนี้ก็จะฉุกใจได้เวลาโกรธ ทุกครั้งที่ดุลูกจึงเหมือนพูดกับเพื่อนมากกว่าว่า เฮ้ย ฉันคิดว่าสิ่งนี้ไม่ดี ไม่ควรทำนะ ไม่ใช่การดุเสียทีเดียว”

เขายังเน้นความสำคัญของการปฏิบัติต่อลูกอย่างให้เกียรติว่า “คุณสมบัติที่จะทำให้เราก้าวข้ามช่องว่างระหว่างเราและลูกได้ คือความเข้าใจโลกและสภาพแวดล้อมของลูกว่าไม่เหมือนของเรา และถ้าเราให้เกียรติลูก โดยไม่ปักใจว่าเรารู้มากกว่าลูกเสียทุกเรื่อง ผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเชื่อมโยงเรากับลูกและคนยุคใหม่ เมื่อไม่คิดว่าฉันรู้ดีกว่าเธอทุกเรื่องก็จะแลกเปลี่ยนกันได้ ลูกก็จะมั่นใจ ไว้ใจ กล้าถามเมื่อพวกเขาไม่รู้ เราวางตัวอย่างไร เด็กๆ ก็จะวางตัวเหมือนกันกลับมา”

“ความเชื่อหนึ่งของเราคือ มิตรภาพนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ดี ถ้าข้างใดข้างหนึ่งสูงกว่า ดีกว่า ฉลาดกว่า แก่กว่า หรือหาเงินให้อีกข้างใช้แล้วนำมาเป็นเงื่อนไข มิตรภาพก็ไม่เกิด” นักเขียนซีไรต์เสริม “ถ้าคุณคิดว่าต้องรู้ทุกเรื่องก็เป็นความไม่มั่นคง (insecurity) ของคุณเอง เมื่อมีลูกก็อยากให้ตัวเองดีกว่าใครในโลก ลูกจะได้รักคุณ แต่ลูกรักคุณอยู่แล้ว ไม่ว่าคุณโง่อย่างไรลูกก็รักคุณ”

 

กระนั้น นอกจากการสานสัมพันธ์อันดีแล้ว พ่อแม่ยังมีหน้าที่อุ้มชูลูกให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ มีศักยภาพสมวัยเช่นกัน คำถามต่อไปคือ เราจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้ โดยยังคงไว้ซึ่งความเท่าเทียมระหว่างตนเองและลูก เมื่อหลายครั้งการส่งเสริมพัฒนาการของลูกต้องอาศัยการกวดขัน พ่อแม่จะทำอย่างไรไม่ให้การเคี่ยวกรำที่เต็มไปด้วยความหวังดีนั้นทำลายความสัมพันธ์ที่เพียรสร้าง

นายแพทย์ประเสริฐเสนอว่าแท้จริงนั้น ศักยภาพที่เขาต้องการให้พ่อแม่ส่งเสริมคือ Executive Function (EF) หรือทักษะการคิดและจัดการตนเองซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการเลี้ยงดูลูกข้างต้น

“แทนที่จะต้องเป็นเด็กดี มีศีลธรรม ซื่อสัตย์ และเรียนเก่ง เลี้ยงให้พวกเขามี EF จะดีกว่า คือมีความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย และควบคุมตัวเองไปถึงเป้าหมายนั้น โดยมีสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือต้องกำหนดเป้าหมายให้เหมาะสมกับตัวเอง เด็กที่อ่านหนังสือมากกว่า เล่นมากกว่าในช่วงปฐมวัย ทำงานมากกว่า สมองส่วนหน้าก็จะพัฒนาเต็มที่กว่า และกำหนดเป้าหมายได้ดีกว่าจริงๆ เด็กที่ใช้นิ้วทั้งสิบนิ้วเล่นในเจ็ดปีแรกของชีวิตจะเข้าใจสมรรถนะ (competency) ของตัวเองมากกว่าด้วย และถ้าเรียนในระบบการศึกษาที่เปิดกว้าง ก็จะค้นพบความหลงใหล (passion) ของตนได้เร็วกว่า จนกำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับสมรรถนะและความหลงใหลของตัวเองได้ในที่สุด

“แม้ลูกจะกำหนดเป้าหมายได้ไม่เหมาะสม EF ก็ครอบคลุมการยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงเป้าหมายจนกว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้จริงด้วย ขั้นตอนที่สองคือการฝึกฝนการควบคุมตนเองที่เป็นประเด็นแห่งยุคสมัย เมื่อผมเป็นเด็กยังไม่มีอะไรให้ควบคุมมาก แต่ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงโลก ทางเลือกต่างๆ ในชีวิตก็ประเดประดังใส่ลูกตั้งแต่เล็ก เด็กสมัยนี้ต้องควบคุมตัวเองให้ได้เพื่อไปถึงอนาคตแบบที่พวกเขาต้องการ ถ้าถามว่าเลี้ยงดูลูกเพื่ออะไร คำตอบที่สั้นและดีที่สุด ณ เวลานี้ คือการเลี้ยงให้ลูกมี EF ที่ดี”

 

แทนที่จะต้องเป็นเด็กดี มีศีลธรรม ซื่อสัตย์ และเรียนเก่ง เลี้ยงให้พวกเขามี EF จะดีกว่า คือมีความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย และควบคุมตัวเองไปถึงเป้าหมายนั้น โดยมีสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือต้องกำหนดเป้าหมายให้เหมาะสมกับตัวเอง เด็กที่อ่านหนังสือมากกว่า เล่นมากกว่าในช่วงปฐมวัย ทำงานมากกว่า สมองส่วนหน้าก็จะพัฒนาเต็มที่กว่า และกำหนดเป้าหมายได้ดีกว่าจริงๆ เด็กที่ใช้นิ้วทั้งสิบนิ้วเล่นในเจ็ดปีแรกของชีวิตจะเข้าใจสมรรถนะ (competency) ของตัวเองมากกว่าด้วย และถ้าเรียนในระบบการศึกษาที่เปิดกว้าง ก็จะค้นพบความหลงใหล (passion) ของตนได้เร็วกว่า จนกำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับสมรรถนะและความหลงใหลของตัวเองได้ในที่สุด

 

และหากหลายคนยังสงสัยว่า ทักษะที่ว่านี้ควรถูกหว่านดำเมื่อไรจึงจะเติบโตได้เต็มที่ นายแพทย์ประเสริฐก็มีคำตอบเช่นกัน “เราสร้าง EF ให้ลูกได้ดีที่สุดก่อนอายุ 15 ปี เพราะเป็นเวลาที่สมองส่วนที่ทำงานภายใต้ฮอร์โมนและอารมณ์เป็นหลักจะพัฒนาเต็มที่ เด็กก่อนวัยนั้นจะหุนหันพลันแล่นเป็นปกติ เพราะ EF ยังไม่สมบูรณ์”

นอกจากนี้ เพราะตระหนักว่าพ่อแม่คงได้รับหลากหลายคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกจนสับสน เขาจึงเสริมด้วยรอยยิ้มว่า “พ่อแม่ติดกับดักการเปรียบเทียบกันมาก บ้านนั้นบวกเลขได้ถึงสามหลักแล้ว บ้านนี้ยังเล่นทรายอยู่เลย เราก็จะเริ่มกังวลว่าทำอะไรผิดพลาดหรือเปล่า แต่ด้วยสัญชาตญาณของพ่อแม่ ผมเชื่อว่าทุกคนต้องการให้ลูกปลอดภัย และเด็กจะปลอดภัยได้ก็ต้องดูแลตัวเองได้ จะดูแลตัวเองได้ก็เมื่อได้เล่นเพียงพอเท่านั้น โดยเฉพาะการเล่นในเจ็ดปีแรกที่พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่และเล็ก EF การวิเคราะห์ การเผชิญอุปสรรค การเอาตัวรอด ป้องกันอันตราย ทั้งจากการเล่นและจากเพื่อนๆ เพราะฉะนั้นให้ลูกเล่นก่อน ถ้าห่วงมากก็ไปเล่นด้วย แต่ก็มีปัญหา คือบ้านเมืองนี้ไม่มีเวลาให้ใครเล่น สถานที่จะเล่นก็ไม่มี ต้องพาดพิงรัฐ ไม่ใช่รัฐบาลนะครับ รัฐ … หมายถึงทุกรัฐบาลที่ผ่านมา”

 

‘ซ่อม’ รอยร้าว ประสานรอยแตกอย่างไรก่อนสายเกินไป

ดังที่กล่าวแล้วว่าการเป็นพ่อแม่นั้นยาก ไม่เพียงข้อจำกัดของมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น แต่ข้อจำกัดที่รัดรึงพ่อแม่อีกทอดหนึ่งคือข้อจำกัดของสังคมที่อาศัย ผู้ร่วมเสวนาก็เห็นดังนั้น เมื่อมิรากล่าวถึงประเด็นชวนคิดว่า ‘สังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเห็นคุณค่าของตัวเอง’ นักเขียนซีไรต์จึงขยายความได้ทันที

“เปรียบเทียบกันไปมา ไม่รู้ว่าบ้านไหนกำลังดูลูกบ้านไหนแน่ เป็นวัฒนธรรมแปลกๆ ของเรานะ” วีรพรกล่าว “นี่ยังไม่อันตรายเท่ากับโฆษณาด้วยซ้ำ แม่สวย พ่อหล่อเหลา อาศัยในบ้านสวยงาม คุณดูละครหลังข่าว เห็นโฆษณาสักสามชิ้นก็ใจเสียแล้ว เพราะคุณจะไม่เคยดีพอ เราจึงเป็นประชากรที่ขาดความมั่นใจแต่ต้น และยกมรดกก้อนนี้ให้กันไปมาด้วย”

ป๋าเต็ดร่วมแบ่งปันประสบการณ์โดยเล่าว่า ขณะที่เขาเป็นผู้จัดรายการวิทยุนั้น มีวัยรุ่นโทรศัพท์มาระบายความในใจมากมาย โดยส่วนมากไม่รู้ว่าตนควรเป็นอะไรในอนาคต จะขัดแย้งกับความคาดหวังของสังคมหรือไม่ “จาก 100 คน วัยรุ่น 90 คนตอบว่าไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร ถามว่าพี่ … หนูจะรู้ได้ยังไงว่าเราควรทำอะไรหรือเราเป็นใคร โชคดีที่ผมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับข้อมูลมาก ลุงมีโรงหนัง พ่อชอบซื้อหนังสือจึงเห็นทางเลือกหลากหลาย”

ด้วยเหตุนั้น เขาจึงตระหนักว่าการมีทางเลือกหลากหลายมีประโยชน์เพียงใด ป๋าเต็ดจึงตัดสินใจ “ให้ลูกเติบโตในห้องสมุด มีชั้นหนังสือ มีเครื่องเล่นเกม ชั้นวางดีวีดี ลูกก็จะมีตัวเลือกเยอะอย่างที่ผมมีและเลือกเองได้ แล้วก็ไม่ได้เลือกเหมือนผมด้วย ซึ่งผมดีใจนะ ผมคิดว่าประเด็นสำคัญคือการให้ข้อมูลลูกเยอะๆ ว่ามีอะไรบ้างในโลกนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลที่เราได้รับมาหรือที่เรารู้อย่างเดียว เพราะเรารู้ไม่เยอะพอ รู้ไม่หมดหรอก”

 

ผมคิดว่าประเด็นสำคัญคือการให้ข้อมูลลูกเยอะๆ ว่ามีอะไรบ้างในโลกนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลที่เราได้รับมาหรือที่เรารู้อย่างเดียว เพราะเรารู้ไม่เยอะพอ รู้ไม่หมดหรอก

 

อย่างไรก็ตาม การให้ลูกตัดสินใจด้วยตนเองนั้นพูดง่ายแต่ทำยาก เพราะภารกิจที่ยากที่สุดภารกิจหนึ่งของพ่อแม่คือการยอมรับแนวทางของลูกที่แตกต่างจากของตน หากทางเลือกของลูกไม่ใช่อะไรที่ยอมรับได้ง่ายเช่นเพลงที่เลือกฟังหรือภาพยนตร์ที่เลือกชมเล่า หากรอยร้าวในครอบครัวเปราะบางกว่านั้น หากเป็นอาชีพในอนาคตที่จะส่งผลต่อชีวิตของพวกเขาในระยะยาว หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ครอบครัวไทยไม่คุ้นเคยจะทำอย่างไร

หมอโอ๋ตอบคำถามนั้นอย่างเข้าอกเข้าใจว่า “เป็นปกติที่จะมีสิ่งที่เราไม่เข้าใจในโลกที่ลูกจะเข้าไปเผชิญ ลูกอาจต้องการประกอบอาชีพที่เราไม่เชื่อว่าดีงาม หน้าที่ของพ่อแม่จึงเป็นการทำความเข้าใจประเด็นที่ลึกกว่าที่เราเห็น ไม่ใช่แค่ลูกอยากเป็นอะไร แต่รวมถึงความต้องการที่ซ่อนอยู่ เริ่มต้นด้วยการรับฟังโดยไม่ตัดสิน และเข้าไปทำความรู้จักพื้นที่นั้นของลูกด้วย เพราะแม้ลูกๆ จะเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ พวกเขาก็ต้องการคนอยู่ข้างๆ หรืออย่างน้อยหันหลังกลับมาก็ยังมองเห็น”

“ถ้าเรารู้สึกว่าทางเลือกนั้นอันตราย ไม่ปลอดภัย ก็สื่อสารอย่างซื่อตรง” หมอโอ๋เสริม “แม่เป็นห่วง แม่กังวลนะ แม่อยากให้ลูกปลอดภัย แล้วก็หาจุดที่พบกันได้สองฝ่าย อาทิ ลูกจะไปร่วมชุมนุม ก็บอกว่าแม่เข้าใจหนู แต่จริงๆ แม่กังวลมาก กลัวหนูจะเป็นอันตราย จะมีทางไหนไหมทำให้ความห่วงของแม่เบาบางลง เมื่อพูดอย่างนี้ เราจะหาทางเลือกที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับสิ่งที่ต้องการได้”

มิราพาผู้ชมกลับไปสู่ประเด็นที่อาจเป็นอันตรายน้อยกว่า ทว่าส่งผลกระทบในระยะยาวเช่นกัน คือการกำหนดเป้าหมายในชีวิตซึ่งเป็นปลายทางของ EF ที่นายแพทย์ประเสริฐกล่าวถึงข้างต้น

“มันอาจไม่เป็นอันตรายเท่ากับม็อบ แต่ก็น่าเป็นห่วง จะมีอะไรกินไหม อยู่ประเทศนี้การไม่มีเงินเป็นเรื่องใหญ่ แต่ต้องรับฟัง ฟังจนลูกรู้ว่าเราฟัง” เขาแนะนำ “เมื่อไรที่ลูกรู้ว่าเราฟังลูกจนรู้เรื่อง พ่อแม่และลูกก็จะมีชีวิตเดียวกัน ลูกไปร่วมชุมนุมก็เหมือนเราไปด้วย ลูกตาย พ่อแม่ก็ตายด้วย ดังนั้นลูกจะเอาตัวรอดด้วยการคิดอย่างยืดหยุ่นว่าเวลาเผชิญอันตรายจะทำอย่างไร

“นอกจากลูกจะพาเราไปด้วยทุกที่ อีกหนึ่งข้อดีคือลูกอาจถอนญัตตินั้น แล้วร่วมกันหาทางเลือก เพราะเด็กๆ จะได้สติเมื่อมีผู้ฟัง พ่อแม่แนะนำพวกเขาได้ อาจไม่เห็นด้วย แต่มีสิทธิ์พูด ไม่ใช่ไม่มี เพียงแต่ต้องฟังก่อน เมื่อผ่านการฟังแล้ว พลังของคำพูดจะสูง เข้าหูและเข้าหัวพวกเขา แต่อย่าคาดหวัง จงเตรียมใจว่าลูกจะละเมิดข้อห้ามของเรา นำไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือบ้านต้องเป็นหลุมหลบภัยของลูกเสมอ วิ่งหนีจากอะไรมาก็กลับมาที่บ้านได้”

 

ผลของการ ‘ไม่อาจกลับบ้าน’ เพราะบ้านไม่ใช่หลุมหลบภัยนั้นอาจใหญ่กว่าที่หลายคนคิด “เด็กต้องมีคนคอยฟัง เหมือนเป็นเบาะของลูก เมื่อไม่มีก็เหมือนเด็กกำลังไต่เชือกที่มีเส้นเดียว เด็กก็โหวงเหวง รู้สึกเหมือนไม่มีตัวตน ไม่มีคุณค่า ไม่เป็นที่รัก ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตต่างๆ ” เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้านอธิบาย

“เมื่อโลกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เด็กก็จะใช้สัญชาตญาณตอบสนอง คือสู้ หนี หรือจำยอม สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้นั้นไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะใช้แค่ส่วนเอาตัวรอด นอกจากนี้ การเติบโตแบบไม่มีใครอยู่ด้านหลังให้อบอุ่นใจนั้น เด็กจะเหมือนถูกผลักให้เดินหน้าไปเรื่อยๆ จึงมีความคาดหวังต่อตนเองสูง มีเด็กแบบนี้เยอะจนน่าตกใจ คือมีเมตตากับตัวเองน้อย รับความผิดพลาดไม่ได้ และการไม่เมตตาตัวเองในปัจจุบันก็เหนื่อย เพราะพวกเขาจะถูกเปรียบเทียบได้ง่าย”

 

เด็กต้องมีคนคอยฟัง เหมือนเป็นเบาะของลูก เมื่อไม่มีก็เหมือนเด็กกำลังไต่เชือกที่มีเส้นเดียว เด็กก็โหวงเหวง รู้สึกเหมือนไม่มีตัวตน ไม่มีคุณค่า ไม่เป็นที่รัก ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตต่างๆ

 

เชื่อว่าคำถามต่อไปเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย นั่นคือ หากเราไม่ได้เป็นหลุมหลบภัยของลูกแล้ว จะมีสัญญาณใดบอกให้รู้อย่างทันท่วงทีบ้าง

“สังเกตได้ง่ายๆ คือเราแทบไม่ได้อยู่ในโลกของลูก เมื่อมีปัญหาหนักๆ เรากลับไม่ใช่คนแรกที่รับรู้ เรารู้เป็นคนท้ายๆ หรือรู้จากคนอื่นด้วยซ้ำ บทสนทนาที่สั้นลงเป็นสัญญาณของการมีบางสิ่งกั้นเราจากลูก เหมือนพวกเขาไม่ยอมให้เราเข้าไปในโลกนั้น เพราะอยู่กับพ่อแม่แล้วไม่ปลอดภัย” หมอโอ๋แจกแจง “พ่อแม่บางคนวุ่นวายกับลูกจนลูกต้องตั้งการ์ด เพราะเดี๋ยวเข้ามาก็วุ่นวายสั่งสอน

“ปัญหาเหล่านี้มีที่มานะคะ โดยพ่อแม่ที่ไม่ฟังเป็นที่มาหลัก พ่อแม่อาจเถียงว่าก็ฟังตลอด แต่คุณอาจฟังไม่เป็นและไม่รู้ตัวว่าไม่ได้ฟัง เพราะการฟังมีหลายระดับ เด็กต้องการผู้ฟังที่เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของพวกเขา หลายครั้งเราใช้แค่หัวฟัง เมื่อลูกบอกว่าถูกเพื่อนแกล้ง คุณถามกลับว่าเพราะแกล้งเพื่อนก่อนหรือเปล่า อย่างนี้คือใช้หัวฟัง ฟังแล้วตัดสินลูกแล้วจึงตอบสนอง เด็กก็จะรู้สึกว่าคุณไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยและถอยออกไป”

ทั้งนี้ ยังมีอีกกรณีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง “เด็กหลายคนมีความประพฤติดีมากที่บ้านจนพ่อแม่ไม่รู้ว่าพวกเขามีปัญหา หลายครั้งเกิดจากการอยู่กับพ่อแม่ที่มีความคาดหวังสูง พ่อแม่ไม่ให้พื้นที่ลูกเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ผิดพลาด รู้สึกแย่ รู้สึกไม่ดี เกลียดตัวเอง หรือกระทั่งเกลียดพ่อแม่ในบางครั้งเลย เมื่อไม่มีพื้นที่นี้ เราก็แสดงแต่ด้านดีให้กันและกันเห็น พื้นที่นี้ไม่ปลอดภัยสำหรับการเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีด้านมืดและด้านสว่าง”

 

เด็กหลายคนมีความประพฤติดีมากที่บ้านจนพ่อแม่ไม่รู้ว่าพวกเขามีปัญหา หลายครั้งเกิดจากการอยู่กับพ่อแม่ที่มีความคาดหวังสูง พ่อแม่ไม่ให้พื้นที่ลูกเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ผิดพลาด รู้สึกแย่ รู้สึกไม่ดี เกลียดตัวเอง หรือกระทั่งเกลียดพ่อแม่ในบางครั้งเลย เมื่อไม่มีพื้นที่นี้ เราก็แสดงแต่ด้านดีให้กันและกันเห็น พื้นที่นี้ไม่ปลอดภัยสำหรับการเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีด้านมืดและด้านสว่าง

 

แล้วหากความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นแล้วเล่า พ่อแม่และสังคมจะช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งอย่างไรได้บ้าง นายแพทย์ประเสริฐอธิบายว่า “วิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้เด็กๆ รู้คุณค่าของตนคือการพาพวกเขาไปเป็นอาสาสมัครสักครั้ง เมื่อพวกเขาลองทำงานนี้ ร่วมกับกระบวนการสะท้อนคิดเกี่ยวกับตัวเอง (self-reflection) ที่ดี เราจะพบว่าเด็กมองตัวเองเปลี่ยนไปในวันเดียว เมื่อเห็นคุณค่าของตัวเอง พวกเขาก็สร้างตัวตนได้ ปัญหาคือบ้านเมืองนี้มีงานอย่างนี้น้อย หาไม่ได้ง่ายๆ หากไม่มีผู้นำทาง และพ่อแม่ในบ้านเมืองนี้ก็ไม่มีเวลาด้วย จะลางานก็ไม่ใช่วัฒนธรรม”

ป๋าเต็ดเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ และกล่าวถึงการมีพื้นที่สำหรับเด็กๆ ในต่างประเทศว่า “เมื่อพ่อแม่เป็นหลุมหลบภัยไม่ได้ ต่อไปคงเป็นเพื่อน เพราะเป็นกลุ่มคนที่พวกเขาใช้เวลาด้วยมากที่สุดรองจากพ่อแม่ หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำในบางเวลา นอกจากนั้นคงต้องเป็นหน้าที่ของสังคม ต้องจัดสรรพื้นที่ปลอดภัยให้ใช้เป็นหลุมหลบภัย เวลาผมไปเมืองใหญ่ๆ ในโลกนี้ มักมีจัตุรัสที่ใช้ได้ทุกอย่างตั้งแต่จัดคอนเสิร์ต นิทรรศการศิลปะ ชุมนุมทางการเมือง แข่งขันกีฬา และก็สนับสนุนกันอย่างน่าชื่นชม”

 

เมื่อการเสวนาจวนสิ้นสุด นายแพทย์ประเสริฐจึงส่งท้ายด้วยการรวบยอดความคิด และเน้นความสำคัญของการปล่อยวาง ถอยห่างจากการเติบโตของลูก และให้เกียรติพวกเขาอย่างมนุษย์ที่เท่าเทียมกับพ่อแม่ว่า

“เราต้องทบทวนตัวเองก่อน เมื่อลูกเกิด สมมติเราอายุ 30 ปี เรามีความเหนือกว่า (authority) ถึง 30 ต่อ 1 เมื่อลูกอายุ 30 ปี ความเหนือกว่าที่ว่านั้นเหลือเพียง 2 ต่อ 1 เพราะ 30 ปีของลูกสร้างประโยชน์ (productive) ได้มากกว่าอย่างที่เราสู้ไม่ได้ เราต้องรู้ว่าความเหนือกว่าของเราลดลงเร็วมาก โอกาสที่เราจะสั่งสอนลูก พูดคำไหนคำนั้น หมดไปตั้งแต่ก่อนสิบปีแรก เราจึงต้องลดมันลงให้ได้เพื่อเป็นเพื่อนกับพวกเขาจริงๆ ”

โดยความอดทนและปล่อยวางดังกล่าวเป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะ “เมื่อไรที่เรานั่ง วางมือ วางงาน แล้วฟัง เป็นโอกาสเดียวที่เราจะชนะใจลูกได้ ถ้าตระหนักว่าอำนาจของเราลดลงแล้ว เราก็จะฟัง เมื่อฟังเรียบร้อยก็มีสิทธิ์แนะนำ แต่ไม่มีปัญญาห้าม มีหน้าที่บอกว่าถ้าบาดเจ็บกลับมา แม่จะทำให้แผลให้ เราทำได้เท่านี้

“สำหรับเด็กที่หมดหวังกับบ้านอย่างสิ้นเชิงแล้ว การเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นนั้นช่วยได้จริง เพราะเป็นวงจรที่ส่งเสริมตัวตนของพวกเขา ยิ่งเห็นคุณค่าของตน ยิ่งนำตัวเองไปช่วยผู้อื่น ยิ่งช่วยผู้อื่น ตัวตนก็ยิ่งชัดเจน แต่ละกิจกรรมก็มีน้ำหนักไม่เท่ากัน ไปเลี้ยงอาหารผู้คนในมูลนิธิหนึ่งก็ระดับหนึ่ง แก้รัฐธรรมนูญก็ระดับหนึ่ง อินเทอร์เน็ตทำให้วัยรุ่นเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การทำเพื่อผู้อื่นของเด็กๆ ไม่หยุดที่การช่วยเหลือคนชราแล้ว แต่ไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญ นี่คือวิธีที่วัยรุ่นสมัยนี้ใช้เยียวยาตัวเองซึ่งเป็นธรรมชาติ เราเพียงมีหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่ต่อไป เท่านี้เอง”

 

 

เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน
เขียน: Philippa Perry
แปล: ดลพร รุจิรวงศ์

อ่านรายละเอียดหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่