เรื่อง: อภิวัฒน์ พิริยพล
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมผู้หญิงถึงต้องทำงานบ้าน? แล้วทำไมผู้ชายถึงต้องตัดต้นไม้ ทำสวน หรืองานช่างอื่นๆ? ทำไมเด็กผู้ชายถึงทำคะแนนได้ดีกว่าเด็กผู้หญิงในการสอบ SAT? ทำไมผู้หญิงถึงช่างเจรจาน้อยกว่าผู้ชาย? ทุกวันนี้เราถูกจำกัดอยู่ในกรอบของความไม่เท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
bookscape สะกิดผู้ฟังและผู้อ่านให้หันมาสนใจประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ฝังรากลึกในความคิดและปรากฏอยู่รอบตัว พร้อมหาหนทางออกแบบสังคมที่เท่าเทียมทางเพศผ่านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ในงานเสวนา ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าของแฮชแท็ก #ทวิตรัก ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ผศ.ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู Department of Economics Universidad Carlos III de Madrid อ.เคท ครั้งพิบูลย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
งานเสวนานี้อ้างอิงประเด็นความรู้จากหนังสือ ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (What Works: Gender Equality by Design) โดย Iris Bohnet ซึ่งเชื่อมโยงการใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ พร้อมชี้แนะวิธีออกแบบ ‘สนามแข่งที่เท่าเทียม’ ผ่านการเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
ความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย
ณัฐยาเริ่มต้นเล่าถึงในปัญหาในหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัว ซึ่งยังมีการแบ่งงานกันทำในบ้านตามลักษณะของเพศ เช่น การแบ่งว่างานชนิดไหนควรเป็นงานของเพศไหน หรือการเลี้ยงลูกตามเครื่องเพศเองก็เป็นจุดที่แสดงเรื่องอคติที่ชัดเจน“เชื่อว่าคงไม่ได้มองโลกแง่ร้ายเกินไป หากจะบอกว่าในระเบียบปฏิบัติของสังคมไทยยังมีเรื่องนี้อยู่อย่างเต็มเปี่ยม”
อาจารย์ชลิดาภรณ์เสริมถึงประเด็นนี้ในระดับหน่วยงาน โดยยกประเด็นจากงานวิจัยของตนเอง เรื่อง “ผลของเพศสภาพกับการใช้ความรุนแรง” ซึ่งพบว่าเพศสภาพนั้นยังคงมีผลกับความรุนแรงต่อตัวบุคคล “[งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เห็นว่า] เพศสภาพจะตามเราไปในทุกที่อย่างไร และกลายมาเป็นตัวกำหนดว่าเราจะถูกกระทำความรุนแรงในแบบไหนและอย่างไร เพราะผู้หญิงก็จะถูกประเมิน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามสภาพเพศของการเป็นหญิง เช่น แต่งกายเหมาะสมไหม เรียบร้อยไหม เพศสภาพนั้นตามหลอนเรามาก”
ส่วนในวงการการศึกษานั้น แม้ในปัจจุบันมีสัดส่วนเพศของนิสิตนักศึกษารวมทั้งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เท่าเทียมกันมากขึ้น แต่กลับพบว่าผู้หญิงที่ได้ตำแหน่งทางวิชาการยังมีจำนวนน้อยกว่าผู้ชายอยู่ สำหรับประเด็นนี้อาจารย์เนื้อแพรได้หยิบยกสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า Pipeline มาจากในหนังสือ แล้วอธิบายโดยยกตัวอย่างการเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของเด็กไทย
“ให้คิดว่าเด็กผู้หญิงที่ได้เข้าไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนการเทน้ำไป 100 ส่วน ซึ่งก็จะมีปลายท่อหรือประเด็นปลายทางที่ต้องติดตามต่อ เช่น เมื่อเข้าศึกษาแล้วจะสำเร็จการศึกษาไหม หรือจะได้งานที่ดีแค่ไหน หรือสุดท้ายแล้วจะได้เป็นผู้บริหารมากแค่ไหน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นจุดที่จะได้เห็นความเหลื่อมล้ำทางเพศชัดเจนขึ้นมาก”
อาจารย์เนื้อแพรเสริมว่า นอกจากนี้ในตลาดแรงงานประเทศไทยยังอนุญาตให้มีการกำหนดเพศตอนประกาศรับสมัครงาน ซึ่งส่วนใหญ่อาชีพที่มักได้รับเงินเดือนสูงอย่างอาชีพวิศวกรก็ยังคงถูกมองว่าเป็นของผู้ชาย ส่วนงานที่ถูกมองว่ามีลักษณะนุ่มนวล อ่อนหวาน หรืองานบริการ ก็ถูกจำกัดกรอบให้เป็นของผู้หญิง นี่พูดถึงกรณีการจำกัดแค่ระหว่างชายหรือหญิงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงเพศทางเลือกอื่นๆ เองก็ยังถูกจำกัดอยู่เช่นกัน
“เพราะฉะนั้นเมื่อมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งรู้ว่า ตัวฉันอยากเป็นวิศวกร แต่กลับต้องมารู้ว่าจะไม่มีใครรับเข้าทำงาน การรับรู้เช่นนี้จะส่งผลต่อความกระตือรือร้นของเขาแค่ไหน มันจะเป็นเหมือนโดมิโนล้มย้อนกลับไปว่า เด็กถูกสอนให้ตั้งใจเรียน แต่เด็กหลายๆ คนก็รู้ว่าเมื่อตั้งใจเรียนแล้วมันไปถึงไม่เท่ากัน เพราะว่ากฎหมายไทยยังตั้งกรอบตั้งเพดานไว้ตามเพศสภาพ ซึ่งนำมาสู่คำถามว่า ‘แล้วเราจะไปถึงความเท่าเทียมกันได้อย่างไร’”
“เด็กถูกสอนให้ตั้งใจเรียน แต่เด็กหลายๆ คนก็รู้ว่าเมื่อตั้งใจเรียนแล้วมันไปถึงไม่เท่ากัน เพราะว่ากฎหมายไทยยังตั้งกรอบตั้งเพดานไว้ตามเพศสภาพ ซึ่งนำมาสู่คำถามว่า ‘แล้วเราจะไปถึงความเท่าเทียมกันได้อย่างไร’”
นอกจากนี้อาจารย์เนื้อแพรยังตั้งคำถามทิ้งท้ายถึงกรณีการท้องก่อนวัยอันควรที่เด็กผู้หญิงมักจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ต้องออกจากการศึกษาทั้งๆ ที่ปัญหานี้เกิดจากเด็กทั้งสองเพศ
‘สะกิด’ ส้มใกล้หล่น: เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการแก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมีเครื่องมือที่รู้จักกันในชื่อการสะกิด (nudge) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนโดยที่คนไม่รู้ตัว พฤติกรรมของคนจึงเปรียบเหมือนส้มที่ใกล้หล่น ขาดเพียงแต่แรงสะกิดเพียงเบาๆ ก็จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนผู้นั้นได้โดยที่เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ อาจารย์เนื้อแพรอธิบายพร้อมให้ข้อเสนอไว้ว่า “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเป็นการทำความเข้าใจคนที่เราต้องการจะแก้ไขโดยที่เขาไม่รู้ตัว ภายใต้สมมติฐานว่าคนเรานั้นคิดเร็วและกระทำโดยไม่ระมัดระวัง ซึ่งตัวนโยบายที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดีจะเข้ามาช่วยแก้ตรงนี้ได้ เพราะเราจะรู้ว่าการคิดเร็วๆ ของบุคคลนั้น เขาติดอยู่ในกรอบอะไรบ้าง เช่น กรอบที่ทำตามเดิมต่อๆ กันมาโดยไม่รู้สึกผิด (status quo bias) ตัวอย่างเช่น ความเชื่อว่าอาชีพนางพยาบาลเป็นของผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อต่อกันมา ผู้คนจึงคิดว่าการเชื่อเช่นนั้นต่อไปก็ไม่ได้ผิดอะไร”
“ฉะนั้นถ้าผู้วางนโยบายสามารถเข้าใจได้ว่านโยบายด้านสังคมมีจุดบกพร่องอะไรบ้าง และจะแก้ไขได้อย่างไร โดยผ่านการไตร่ตรองมาก่อนที่จะโยนเงินลงไป นี่คือการแก้ปัญหาด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม แต่นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถทำเรื่องนี้เองได้ จึงต้องมีการปรึกษาพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือบุคคลที่เคยเจอปัญหาแบบนี้มาก่อน”
เมื่อถามต่อถึงประเด็นความไม่เท่าเทียมที่ควรแก้ไข รวมถึงการออกแบบแนวทางแก้ไขประเด็นเหล่านั้น อาจารย์เคทเสนอเรื่องสิทธิ์ในการออกเสียง ซึ่งผู้ชายมักจะมีสิทธิ์มากกว่าผู้หญิงอย่างชัดเจน จึงควรสนับสนุนให้กำหนดสัดส่วนที่เท่าเทียมมากขึ้น เพื่อให้เพศอื่นๆ ได้มีสิทธิ์มีเสียงอย่างเต็มที่ ส่วนอาจารย์ชลิดาภรณ์ชี้ประเด็นเรื่องการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ที่คนแต่ละเพศยังมีการเลือกเรียนในสายวิชาที่มีกรอบทางเพศมากำหนด และเสนอให้มุ่งความสนใจไปที่ประเด็นนี้มากกว่าการดูเพียงแค่ตัวเลขสัดส่วนของเพศในวงการการศึกษา
ณัฐยาเพิ่มเติมประเด็นเรื่องแบบเรียนในการศึกษาไทยที่มีการแสดงภาพที่ทำให้เกิดภาพจำในหน้าที่ของเพศชายและหญิงที่แตกต่างกัน รวมทั้งยกตัวอย่างที่น่าสนใจจากกรณีของเล่นเด็กชายและเด็กหญิงในต่างประเทศที่มีการออกกฏหมายให้ห้างร้านที่ขายของเล่นแบบแบ่งเพศเป็นเรื่องผิด และเล่าถึงกรณีที่คุณครูประถมชาวสวีเดนนำแคตตาล็อกของเล่นเด็กมาให้นักเรียนดูเพื่อวิเคราะห์
“ปรากฏว่าเด็กๆ เสนอให้ครูเขียนจดหมายร้องเรียนถึงบริษัทผลิตของเล่นในประเด็นการแบ่งแยกเพศของเล่น เช่น การแบ่งหมวดของเล่นเด็กผู้หญิงด้วยการใช้สีชมพู และใช้สีฟ้าในของเล่นเด็กผู้ชาย หรือการนำของเล่นจำลองอาชีพต่างๆ ไว้แยกเพศกัน”
ความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นทั่วโลก
อาจารย์เนื้อแพรกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ช่วยพาเราข้ามจากการใช้งานเพียงสมองส่วนแรก (system 1 – สมองส่วนที่คิดเร็วทำเร็วอย่างไม่ระมัดระวัง) มาใช้ส่วนที่สอง (system 2 – สมองส่วนที่คิดอย่างมีตรรกะ) มากขึ้น ให้เราได้เริ่มคิดว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกบ้าง และได้เริ่มคิดถึงปัญหาเชิงเพศสภาพ รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาในประเด็นนี้
อาจารย์ยกตัวอย่างถึงเนื้อหาในหนังสือ ออกแบบเพื่อเท่าเทียม เรื่องการสอบ SAT ซึ่งคาดว่าอาจถูกออกแบบมาตั้งแต่อดีตโดยกลุ่มผู้ชายกลุ่มหนึ่งในประเทศทางตะวันตก และเป็นการนั่งสอบแบบจำกัดเวลาสองชั่วโมง ซึ่งเราก็ทำตามกันมาและคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและง่าย แต่อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น “วิธีการทบทวนหนังสือ รวมถึงความชอบในการแข่งขันของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายต่างกัน ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ชอบ setting ที่มีความกดดันสูงและมีการแข่งขันสูงๆ แบบนี้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง แต่เขาไม่ชอบ แต่เพศชายชอบสภาวะแบบนี้”
“เด็กที่มีความสามารถเท่าเทียมกัน เข้าไปนั่งในห้องสอบห้องเดียวกันจึงมี performance ที่ต่างกัน เพราะ setting นั้นถูกสร้างมาเพื่อสนับสนุนเด็กเพศหนึ่งมากกว่าอีกเพศหนึ่ง”
นอกจากนี้ อาจารย์เนื้อแพรยังพูดถึงผลกระทบจากอคติทางเพศที่มีผลไปทั่วโลก โดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ว่า “หลายๆ ประเทศทั่วโลกเรียกภาวะโควิดตอนนี้ว่าเป็นภาวะ Shecession คือเป็น recession ที่กระทบผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเราน่าจะพอเดาเหตุผลกันได้
“เมื่อต้อง work from home สถานเลี้ยงดูเด็กและโรงเรียนก็ปิดทำการ ทำให้ภาระรับผิดชอบการเลี้ยงดูลูกตกไปอยู่กับผู้หญิง ดังนั้นการที่ต้องทำงานเต็มเวลาเอง รวมถึงความเสี่ยงกับการต้องออกจากงานเพราะว่าทั้งผู้หญิงไทยและทั่วโลกทำงานในอาชีพบริการเยอะ ซึ่งเป็นอาชีพเสี่ยงต่อโควิด มันก็เลยเป็นผลกระทบ ณ ตอนนี้พบว่า ภาวะ recession หรือภาวะการตกงานที่เกิดขึ้นมีผลกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญสูงสุด”
“เมื่อต้อง work from home สถานเลี้ยงดูเด็กและโรงเรียนก็ปิดทำการ ทำให้ภาระรับผิดชอบการเลี้ยงดูลูกตกไปอยู่กับผู้หญิง ดังนั้นการที่ต้องทำงานเต็มเวลาเอง รวมถึงความเสี่ยงกับการต้องออกจากงานเพราะว่าทั้งผู้หญิงไทยและทั่วโลกทำงานในอาชีพบริการเยอะ ซึ่งเป็นอาชีพเสี่ยงต่อโควิด มันก็เลยเป็นผลกระทบ ณ ตอนนี้พบว่า ภาวะการตกงานที่เกิดขึ้นมีผลกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญสูงสุด”
Happy workplace สถานที่ทำงานในฐานที่เป็นตัวอย่างของความเท่าเทียม
ณัฐยาหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจเรื่องโอกาสก้าวหน้าในที่ทำงาน โดยเฉพาะโอกาสของพนักงานหญิงที่มีลูก ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีผู้กล่าวถึงใน กิจกรรมเวิร์กช็อป “ออกแบบเพื่อเท่าเทียม” ที่จัดร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape นำกิจกรรมโดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ณัฐยากล่าวว่าทาง สสส. มองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ควรหาทางผลักดัน “ปัญหาก็คือแรงงานหญิงกับชายมีโอกาสก้าวหน้าในที่ทำงานไม่เท่ากันทั้งเรื่องตำแหน่งและการขึ้นเงินเดือน ผู้ชายมักจะมีโอกาสมากกว่าในงานระดับเดียวกัน แต่ถ้าเป็นผู้หญิงและมีลูกด้วย ก็จะเท่ากับว่ามีการลาคลอด หมายถึงต้องใช้วันลาไปกับการเลี้ยงดูบุตรมากกว่า ความก้าวหน้าเหล่านี้ก็จะน้อยลง”
ณัฐยาเสริมว่าในกิจกรรม ผู้เข้าร่วมได้ช่วยกันคิดการแก้ปัญหาออกมาและได้ข้อสรุปว่าควรออกนโยบายหรือระเบียบของบริษัท โดยในการพิจารณาผลงานของพนักงาน จำเป็นที่จะต้องมีผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงและมีลูกด้วยมาร่วมพิจารณาทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจมุมมองของพนักงานหญิงมากขึ้น และเพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ทำงาน และยังเสริมด้วยว่า กฎหมายแรงงานไทยที่กำหนดให้มีวันลาคลอดเพียงแค่ 90 วันนั้นน้อยไปอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งความก้าวหน้าของผู้ปกครองเองและพัฒนาการของตัวเด็กด้วย
“หากศึกษาด้านการเลี้ยงดูเด็กอย่างจริงจังจะพบว่า ในสามปีแรกเด็กควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ส่งผลต่อพัฒนาการที่ดี การลาคลอดเพียง 90 วันจึงไม่เพียงพออย่างแน่นอน และควรมีสถานที่อำนวยความสะดวก หรือศูนย์เด็กเล็กใกล้ที่ทำงานเพื่อเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้กับพนักงานด้วย”
นอกจากนี้ ณัฐยายังเล่าถึงสถานประกอบการในเครือข่ายของ สสส. หรือ Happy workplace ที่เธอพบว่าหลายๆ แห่งพยายามออกแบบที่ทำงานเพื่อเอื้ออำนวยต่อพนักงานมากกว่าระดับที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น การจัดรถรับส่งนักเรียน จัดหาครูพี่เลี้ยงให้ในที่ทำงาน หรือมีสนามกีฬาให้ออกกำลังกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการออกแบบเพื่อลดผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมระหว่างพนักงานเพศหญิงและเพศชาย
ณัฐยาได้ทิ้งท้ายเรื่องการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมไว้ว่า “ควรต้องดึงทุกเพศมาเข้าร่วมในกระบวนการ ตั้งแต่เรื่องของการทำข้อมูล การทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหา เรื่องของการคิดค้นวิธีการออกแบบ และเมื่อออกแบบเสร็จแล้วก็ต้องมีการทดลองหรือการประเมิน แล้วค่อยๆ ปรับปรุงไป ซึ่งถ้าทำได้ครบก็เชื่อว่าตัวเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะนำมาใช้แก้ปัญหาเรื่องเรื่องอคติทางเพศได้ และหากทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ก็น่าจะช่วยให้ปัญหาลดน้อยลงได้”
“ควรต้องดึงทุกเพศมาเข้าร่วมในกระบวนการ ตั้งแต่เรื่องของการทำข้อมูล การทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหา การคิดค้นวิธีการออกแบบ และเมื่อออกแบบเสร็จแล้วก็ต้องมีการทดลองหรือการประเมิน แล้วค่อยๆ ปรับปรุงไป ซึ่งถ้าทำได้ครบก็เชื่อว่าตัวเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะนำมาใช้แก้ปัญหาเรื่องเรื่องอคติทางเพศได้ และหากทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ก็น่าจะช่วยให้ปัญหาลดน้อยลงได้”
ออกแบบเพื่อเท่าเทียมในสังคมไทย
เมื่อถามว่าวิธีการแบบสะกิดจะตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาหรือไม่ อาจารย์เนื้อแพรย้ำว่าคงไม่มีวิธีการที่ง่าย หนังสือ ออกแบบเพื่อเท่าเทียม เพียงแต่เปิดประเด็นให้ผู้อ่านเริ่มคิด เริ่มตระหนักรู้ว่าตนเองมีอคติ ดังนั้นหากผู้อ่านเป็น Policy maker หรือเป็นนายจ้างของสถานประกอบการ หรือเป็นกลุ่มผู้บริหาร ก็จะสังเกตได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในองค์กรของตนเองรวมทั้งในประเทศของตนเอง และจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างไร และหากผู้อ่านอยู่ในระดับผู้น้อยและพบว่าตนเองตกอยู่ในกรอบที่บริษัทหรือประเทศกำหนดอย่างไร ก็จะเริ่มเห็นว่าตนเองมีโอกาสในการเรียกร้องได้
“อีกประเด็นใหญ่ๆ คือ หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวอ้างอิงถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lean in ซึ่งเขียนโดย Sheryl Sandberg CFO ของ Facebook หนังสือเล่มนั้นบอกไว้ว่า ในการแก้ปัญหาเพศสภาพ โดยเฉพาะที่เราพูดว่า female inequality หรือ gender equality จะต้องเป็นการคุยทั้งในวงของผู้หญิงเอง และต้องมี willing participation ของเพศอีก 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศด้วย นั่นคือเวทีที่ผู้ชายจะต้องมีส่วนร่วม มาช่วยกันปรับพฤติกรรม ช่วยกันปรับความคิด
“เพราะหากเราบอกว่านายจ้างส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ผู้บริหารประเทศยังเป็นผู้ชายอยู่และหากเขาไม่รับรู้ว่าเขายังมีอคติ หรือการที่เขาเลือกบุคคลที่เข้ามาปฏิบัติในระบบราชการ ในระบบการเมือง ที่ส่วนใหญ่เลือกไปแล้ว บอกว่าเป็นการเลือกจากความสามารถแต่ผลกลับสะท้อนว่าเป็นผู้ชาย 80 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นอคติที่เขาควรจะรับรู้ด้วยนั่นเอง”
อาจารย์ชลิดาภรณ์กล่าวว่า “ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เป็นเพียงแค่ความไม่สะดวก มันสามารถกระทบเรื่อง well-being หรือสุขภาวะของผู้คน รวมไปถึงการจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ของผู้คน” เพราะว่าเพศสภาพอาจทำให้ผู้คนไม่มีโอกาสแม้กระทั่งการเกิด เนื่องจากบางสังคมให้คุณค่าเพศสภาพชายมากกว่าเพศหญิง และมีกระบวนการที่เรียกว่า gender selection ทารกเพศหญิงอาจถูกกำจัดได้ตั้งแต่อยู่ในมดลูกของผู้เป็นแม่ด้วยซ้ำ
“คนในสังคมไทยหลายกลุ่ม ณ เวลานี้ โต้เถียงกันว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมและทำให้เข้าใจไปได้ว่าความเสมอภาคเท่าเทียมคือคนทุกคนนั้นเหมือนกันหรือเท่ากันเป๊ะ แต่ไม่ใช่เช่นนั้น ไม่มีทางที่มนุษย์จะเหมือนกันเป๊ะ แต่จะทำอย่างไรให้ความแตกต่าง โดยเฉพาะความแตกต่างที่เกิดจากการสมมติในการจัดประเภทคนที่ในหนังสือได้พูดถึง เช่น การจัดคนเป็นเพศสภาพ หรือจัดคนตามสีผิว ไม่ให้ความแตกต่างเหล่านี้นำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบ หรือการกดขี่เอารัดเอาเปรียบที่ฝังรากอยู่ในแบบแผนความสัมพันธ์”
“คนในสังคมไทยหลายกลุ่ม ณ เวลานี้ โต้เถียงกันว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมและทำให้เข้าใจไปได้ว่าความเสมอภาคเท่าเทียมคือคนทุกคนนั้นเหมือนกันหรือเท่ากันเป๊ะ แต่ไม่ใช่เช่นนั้น ไม่มีทางที่มนุษย์จะ เหมือนกันเป๊ะ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ความแตกต่างเหล่านี้นำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบ หรือการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบที่ฝังรากอยู่ในแบบแผนความสัมพันธ์”
อาจารย์แนะว่า หากอ่านหนังสือเล่มนี้จะพบว่า การจัดการกับความเหลื่อมล้ำและไม่ปล่อยให้ความแตกต่างมาเป็นฐานที่จะรังแกผู้คนได้นั้น เริ่มได้จากตัวเราเอง ไม่ต้องรอรัฐบาลมาแก้ไข ลองใช้การออกแบบเพื่อจัดการกับอคติของเราเอง ไม่ให้อคตินั้นส่งผลกับการเห็นตัวเองของเราหรือส่งผลต่อการเห็นคนอื่นและไปทำร้ายคนอื่น ซึ่งเรื่องเล็กๆ เหล่านี้จะสามารถนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำได้ในที่สุด
อาจารย์เนื้อแพรกล่าวทิ้งท้ายว่า ในการถกเถียงเรื่อง gender equality สุดท้ายแล้วเราไม่ได้ต้องการจะให้ทุกคนมีทางเลือกเดียวกัน แต่สนับสนุนให้ทุกคนที่มีความแตกต่างกันสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ตามความชอบและความถนัดของตนเอง
อีกประเด็นคือ ต้องการให้พวกเขาได้พบเจอความชอบและความถนัดเหล่านั้นโดยที่ไม่อยู่ในอคติของตัวเขาเองหรือครอบครัวของเขาเอง รวมทั้งในประเด็นของหลักจิตวิทยา เรื่องของสมองสองส่วน หากเราก้าวข้ามไปใช้สมองส่วนที่สองได้ก็อาจจะเป็นประโยชน์กับเรามากขึ้น แต่จุดนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำอีกประการได้เช่นกัน คนที่ประสบปัญหาความยากจนอาจจะไม่มีโอกาสและเวลาได้หยุดคิดตรงนี้ หากมีนโยบายที่ช่วยให้คนเหล่านี้มีโอกาสได้คิด ก็จะช่วยให้พวกเขาไม่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลังในสังคมไทยได้
ทิ้งท้ายด้วยความประทับใจต่อหนังสือ
เมื่อถามถึงความประทับใจเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ อาจารย์เนื้อแพรกล่าวว่า “คนไทยที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้มองตัวอย่างต่างๆ ในหนังสือ แล้วหันกลับมามองว่าในประเทศไทยมีปัญหาเหล่านี้ไหม และจะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่”
ขณะที่อาจารย์เคทเสริมว่า หนังสือเล่มนี้ฉายภาพที่เกิดขึ้นในระดับชีวิตประจำวัน อย่างเรื่องความคิดหรือการมองคนด้วยกรอบเพศ โดยอธิบายว่าในชีวิตประจำวัน เมื่อคุณก้าวขาออกจากบ้าน กรอบคิดเรื่องเพศมีผลต่อมุมมองของผู้คนเสมอ ฉะนั้นการอธิบายของหนังสือเล่มนี้จึงดีมาก เพราะช่วยให้ผู้คนได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของความไม่เท่าเทียมและช่วยเปลี่ยนมุมมอง “เมื่อเราได้ลองใส่มุมมองของกรอบคิดเรื่องเพศเข้าไปในการใช้ชีวิตประจำวัน เราจะได้เห็นอะไรอีกมากมายอย่างกว้างขวาง เพราะเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศนั้นสอดแทรกอยู่ทุกอณูอย่างแท้จริง”
“เมื่อเราได้ลองใส่มุมมองของกรอบคิดเรื่องเพศเข้าไปในการใช้ชีวิตประจำวัน เราจะได้เห็นอะไรอีกมากมายอย่างกว้างขวาง เพราะเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศนั้นสอดแทรกอยู่ทุกอณูอย่างแท้จริง”
ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
Iris Bohnet เขียน
ฐณฐ จินดานนท์ แปล
424 หน้า