Brief: Workshop “ออกแบบเพื่อเท่าเทียม ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม”

เรื่อง: อภิวัฒน์ พิริยพล

 

ชวนสำรวจโลกเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม พร้อมต่อยอดไปสู่ความรู้และความเข้าใจเรื่องการประยุกต์ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการออกแบบเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ในกิจกรรมเวิร์กช็อป “ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” ซึ่งอ้างอิงฐานความรู้จากหนังสือ ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (What Works: Gender Equality by Design)

นำกิจกรรมโดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมด้วย มิถิลา สุวรรณอัตถ์ และ ชนลักษณ์ ชัยศรีลักษณ์ ทีมงานซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทำความรู้จักกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

 

“มนุษย์เศรษฐศาสตร์” และ “มนุษย์ในโลกจริง”

อาจารย์ธานีเริ่มต้นด้วยการบอกเป้าหมายของกิจกรรม ซึ่งคือการร่างหัวข้องานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมร่วมกันของผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่ม โดยเป็นหัวข้อเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในมุมมองของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มีวิธีศึกษาแบบทำการทดลอง (experiment) ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และได้แนวนโยบายที่อยู่ภายใต้แนวคิดการสะกิด (Nudge)

จากนั้นจึงเริ่มต้นพาผู้เข้าร่วมเข้าสู่โลกแห่งเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งเปรียบเหมือนการแต่งงานระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์และเงิน และจิตวิทยาที่เน้นเรื่องเกี่ยวกับสมอง พฤติกรรม และสังคม โดยนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมองว่า มนุษย์ (ปัจเจกบุคคล) นั้นย่อมมีอารมณ์และความรู้สึกที่ครอบคลุมการตัดสินใจ

ในทางชีววิทยา ส่วนของสมองที่มีบทบาทในการคิดและตัดสินใจมีอยู่สองส่วนคือ สมองกลีบหน้า (frontal lobe) และระบบลิมบิค (limbic system) โดยสมองกลีบหน้ามักจะใช้งานในลักษณะการคิดที่ช้าและเป็นเหตุเป็นผล ขณะที่ระบบลิมบิคจะเกิดขึ้นเร็ว เป็นอัตโนมัติ และเกี่ยวข้องกับอารมณ์

มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเป็น “มนุษย์เศรษฐศาสตร์” (economic man) ที่ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล แต่อาจารย์ธานีกล่าวว่า “ด้วยโลกทุนนิยมที่พัฒนาไปทำให้การตัดสินใจหลายอย่างต้องทำด้วยความรวดเร็วมากขึ้น จึงทำให้มนุษย์เราห่างออกจากความเป็น ‘มนุษย์เศรษฐศาสตร์’ ขึ้นทุกที”

“มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเป็น มนุษย์เศรษฐศาสตร์” (economic man) ที่ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล แต่อาจารย์ธานีกล่าวว่า “ด้วยโลกทุนนิยมที่พัฒนาไปทำให้การตัดสินใจหลายอย่างต้องทำด้วยความรวดเร็วมากขึ้น จึงทำให้มนุษย์เราห่างออกจากความเป็น ‘มนุษย์เศรษฐศาสตร์’ ขึ้นทุกที”

 

System 1 & System 2

ในหนังสือ Thinking fast and slow (คิด, เร็วและช้า, สำนักพิมพ์ We Learn) นักเศรษฐศาสตร์ แดเนียล คาห์เนมาน (Daniel Kahneman) ผู้ที่ถือว่าเป็นคนริเริ่มแนวคิดที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เสนอว่าการคิดของเราแบ่งออกเป็นสองระบบ ระบบที่หนึ่ง (System 1) เป็นระบบของสัญชาตญาณและการหยั่งรู้ ส่วนระบบที่สอง (System 2) จะเป็นระบบที่คิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งสอดคล้องกับความรู้เรื่องสมองในเชิงชีววิทยาข้างต้น การตัดสินใจในหนึ่งวันของมนุษย์เรากว่า 95 เปอร์เซ็นต์กลั่นกรองออกมาจากระบบที่หนึ่ง และเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มาจากระบบที่สอง เนื่องจากระบบที่หนึ่งนั้นใช้พลังงานน้อยกว่าระบบที่สองมาก

การคิดของเราแบ่งออกเป็นสองระบบ ระบบที่หนึ่ง เป็นระบบของสัญชาตญาณและการหยั่งรู้ ส่วน ระบบที่สอง จะเป็นระบบที่คิดอย่างมีเหตุผล การตัดสินใจในหนึ่งวันของมนุษย์เรากว่า 95 เปอร์เซ็นต์กลั่นกรองออกมาจากระบบที่หนึ่ง และเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มาจากระบบที่สอง

อาจารย์ธานีสาธิตพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานของทั้งสองระบบ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์การไปเดินตลาดนัด เราอาจจะเจอเสื้อยืดราคาถูกที่เราถูกใจและเกิดความต้องการที่จะซื้อ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เหตุการณ์จะจบลงที่เราซื้อเสื้อตัวนั้น ทว่าเหตุผลเบื้องหลังการซื้อขายนี้ไม่ได้อยู่ที่ความคุ้มค่า แต่กลับเป็นการประหยัดพลังงานโดยที่เราไม่รู้ตัว กล่าวคือ เมื่อเราเกิดความต้องการ ระบบที่หนึ่งจะตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็ว เพราะถ้าหากเราไม่ซื้อเสื้อตัวนั้น ท้ายที่สุดความต้องการที่เกิดขึ้นก็จะติดอยู่ในหัวเราเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นเวลาที่ระบบที่สองทำงาน เพื่อวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าหรือความจำเป็นของเสื้อยืดตัวนั้น การคิดวิเคราะห์เช่นนี้ใช้พลังงานของร่างกายในปริมาณมาก การซื้อเสื้อแบบทันทีทันใดจึงนับเป็นการประหยัดพลังงานของร่างกาย

แต่พฤติกรรมเช่นนี้ก็มีขีดจำกัด อาจารย์ธานียกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ถ้าเปลี่ยนสถานการณ์จากการเดินตลาดนัดไปเป็นการเดินงานมอเตอร์โชว์ เราได้เห็นรถเฟอร์รารีซึ่งแม้เราจะอยากได้แต่ก็ไม่สามารถซื้อได้ นั่นเป็นเพราะว่าราคาของรถเฟอร์รารีนั้นไม่ได้คุ้มค่าที่จะจ่ายแค่เพื่อประหยัดพลังงานสมองนั่นเอง

อาจารย์ธานีได้อธิบายเพิ่มเติมถึงกลไกของสมองที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจแบบสองระบบ โดยเมื่อเราต้องเผชิญกับตัวเลือกเป็นจำนวนมาก ย่อมเกิดความเอนเอียงทางการรู้คิด (cognitive bias) ที่ประกอบไปด้วยสี่สถานการณ์ที่เราถูกบีบให้ละเลยการตัดสินใจอย่างรอบคอบ ได้แก่ ข้อมูลมากเกินไป (too much information) ไร้ความหมายเกินไป (not enough meaning) จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว (we need to act fast) และเราควรจำอะไรดี (what should we remember?)

ตัวอย่างที่แสดงสถานการณ์นี้ได้อย่างชัดเจนคือการสั่งอาหาร เราต้องประสบปัญหากับการเลือกอาหารที่เราจะทานในแต่ละวัน การเลือกอาหารที่ต้องคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนผ่านการทำงานของระบบที่สอง ซึ่งคำนึงถึงความคุ้มค่าทั้งในเชิงการเงินและเชิงสุขภาพนั้นย่อมเป็นการเสียทั้งเวลาและพลังงานมากเกินไป เราจึงมักจะตัดสินใจเลือกโดยใช้ระบบที่หนึ่งที่จะคิดคำนวณสามระดับอย่างรวดเร็ว

ในขั้นต้นเราจะใช้อารมณ์ (emotion) โดยพิจารณาว่าอาหารแนะนำของร้านคืออะไร ถ้าเรายังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ การพิจารณาก็จะดำเนินไปสู่การใช้ประสบการณ์ (experience) คือย้อนคิดว่าเมื่อวานเรากินอะไร ซึ่งเราอาจจะเลือกกินอย่างเดิมหรือไม่เหมือนเดิมก็ได้ การระลึกนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างตัวเปรียบเทียบเท่านั้น และหากเรายังไม่ได้คำตอบที่พึงพอใจ เราจึงเริ่มดูจากสังคมรอบข้าง (society) คือมองดูว่าโต๊ะข้างๆ กินอะไร หรือเพื่อนเรากินอะไร นอกจากระบบที่หนึ่งและระบบที่สองในตัวเราแล้ว ในบางสถานการณ์ร้านอาหารยังมีตัวเลือกแบบสุ่มให้เราเลือกซึ่งอาจถือว่าเป็นระบบที่ศูนย์ก็ได้

 

 

 

เข้าสู่โลกแห่งความไม่เท่าเทียม

อาจารย์ธานีได้หยิบยกตัวอย่างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ขึ้นมาให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นภาพของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากขึ้น ก่อนจะยกตัวอย่างผลงานวิจัยเชิงทดลองที่ชี้ให้เห็นถึงอคติโดยไม่รู้ตัว (unconscious bias) เช่น งานวิจัยเชิงทดลองโดย Marianne Bertrand และ Sendhil Mullainathan ซึ่งพบว่ามีอคติเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน ผู้วิจัยทำการทดลองโดยสร้างประวัติผู้สมัครงาน (resume) ที่มีข้อมูลเหมือนกันทุกประการ แตกต่างเพียงแค่ชื่อของผู้สมัคร โดยใช้เป็นชื่อที่เป็นของคนผิวสีและผิวขาว และส่งไปให้บริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ ผลการทดลองพบว่าประวัติที่มีชื่อของคนผิวขาวนั้นถูกเรียกสัมภาษณ์สูงกว่าคนผิวสี งานวิจัยชิ้นนี้ทำการเปรียบเทียบทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่ไม่ได้เปรียบเทียบระหว่างเพศ

ต่อมาอาจารย์ธานีหยิบยกงานวิจัยอีกชิ้นที่มุ่งประเด็นไปที่ความไม่เท่าเทียมทางเพศมากขึ้น งานชิ้นนี้จัดทำโดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล เริ่มจากตั้งสมมติฐานว่าคณะสายวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มที่จะรับนักศึกษาชายเข้ามาเป็นทีมวิจัยมากกว่านักศึกษาเพศหญิง ซึ่งผลการศึกษาก็เป็นไปตามสมมติฐาน โดยผู้รับสมัครมักมองว่านักศึกษาชายมีความสามารถและน่ารับเข้ามาเป็นลูกทีมมากกว่านักศึกษาเพศหญิง นอกจากนี้เงินเดือนที่นักศึกษาชายจะได้รับยังสูงกว่านักศึกษาหญิงถึงราว 4,000 เหรียญต่อปี ซึ่งงานชิ้นนี้ยังพบว่าอคติทางเพศนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในคณะที่เพศชายเป็นใหญ่ แต่ยังเกิดขึ้นในคณะที่เพศหญิงเป็นใหญ่ด้วยเช่นกัน

หลังจากยกตัวอย่างงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศและอคติแบบไม่รู้ตัวในสถานการณ์ต่างๆ อาจารย์ธานีได้วกกลับมาพูดถึงทฤษฎีที่จะมีผลต่อการตัดสินใจและคาดว่าจะมีประโยชน์สำหรับการแก้ปัญหาเหล่านั้น ทฤษฎีแรกคือการเตรียมการรับรู้ (priming) โดยยกตัวอย่างงานวิจัยจากประเทศเยอรมนีที่พบว่าการที่ผู้หญิงชาวมุสลิมแนบภาพตัวเองใส่ฮิญาบ (ผ้าคลุมหัว) ลงในใบสมัครนั้น ส่งผลต่อโอกาสจ้างงานและอัตราเงินเดือนแตกต่างกับการแนบรูปภาพที่ไม่ใส่ฮิญาบ เนื่องจากการที่ผู้ว่าจ้างได้รับภาพของชาวมุสลิมที่แตกต่างกันก่อให้เกิดการเตรียมการรับรู้และส่งผลไปยังการตัดสินใจ

อีกหนึ่งทฤษฎีคือการฝังสภาวะจิต (anchoring) โดยยกตัวอย่างงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาที่ผู้วิจัยทำการทดลองโดยสอบถามนักศึกษาในห้องว่าจะฟังเขาอ่านอาขยานหรือไม่ คนที่ฟังจะได้รับเงิน 2 เหรียญ ก่อนที่ต่อมาเขาจะถามอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้การฟังจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ผลที่ได้พบว่านักศึกษาที่จะฟังนั้นลดลงจาก 59 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียงแค่ 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะการฝังสภาวะจิตที่ทำไปก่อนหน้านั้นทำให้นักศึกษาคิดว่าพวกเขาควรจะได้รับเงินจากการฟังนี้

 

 

เริ่มออกแบบการทดลอง

อาจารย์ธานีได้กำหนดโจทย์ให้ผู้เข้าร่วม โดยให้แต่ละกลุ่มลองสร้างสมการที่จะใช้วิจัยเพื่อหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในสถานการณ์ต่างๆ โดยคณะผู้บรรยายได้ช่วยอธิบายเรื่องตัวแปรที่ใช้ในการสร้างสมการ ในการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์นั้นจะมีการกำหนดตัวแปร Y ซึ่งเป็นตัวแปรที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา และมีตัวแปร x เป็นตัวแปรที่จะส่งผลต่อความเป็นไปได้ของตัวแปร Y

กิจกรรมในช่วงบ่ายเริ่มต้นด้วยการนำเสนอประเด็นและสมการที่ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มได้คิดมา ดังนี้

กลุ่ม 1 เสนอประเด็น “ปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติของคุณแม่วัยใสในการสมัครงาน” โดยมีตัวแปรในการวัดผลคือการได้รับการติดต่อไปสัมภาษณ์ และตัวแปรชี้วัดคือเพศ อายุ และการมีลูก

กลุ่ม 2 เสนอประเด็น “เพศมีผลต่อการขึ้นเป็นผู้บริหารหรือไม่” ตัวแปรที่ส่งผลคือตำแหน่งผู้บริหาร และตัวแปรชี้วัดคือ เพศ อายุงาน ระดับการศึกษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรมองค์กร

กลุ่ม 3 เสนอประเด็น “เพศมีผลต่อการเลือกผู้นำเสนอในงานกลุ่ม” ตัวแปรที่ส่งผลคือ เพศของสมาชิกกลุ่มที่ได้รับเลือกให้นำเสนองาน และตัวแปรชี้วัดคือ สัดส่วนเพศ ประเภทงานที่ได้รับมอบหมาย อายุคนในกลุ่ม และผลการเรียน

กลุ่ม 4 เสนอประเด็น “ความก้าวหน้าในที่ทำงานของเพศหญิงและชายภายหลังการลางานเพื่อเลี้ยงลูก” ตัวแปรที่ส่งผลคือโอกาสก้าวหน้า และตัวแปรชี้วัดคือเพศและอายุงาน

กลุ่ม 5 เสนอประเด็น “เพศมีผลต่อการประเมินผลงาน” ตัวแปรที่ส่งผลคือคะแนนประเมิน และตัวแปรชี้วัดคือเพศของผู้ประเมิน เพศของผู้ถูกประเมิน และรูปร่างหน้าตาของผู้ถูกประเมิน

หลังจากการนำเสนอของแต่ละกลุ่ม อาจารย์ธานีและคณะได้ช่วยเสนอแนะแนวทางปรับเปลี่ยนการทดลอง และอธิบายถึงวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้ภาพร่างงานวิจัยชิ้นนี้ชัดเจนขึ้นและสามารถทำได้จริง เช่น กลุ่มที่ 4 คิดตัวแปรชี้วัดโอกาสก้าวหน้าไว้ถึงสามตัวแปร ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันของเงินเดือนของพ่อหรือแม่ที่ลางานไปเลี้ยงลูกทั้งก่อนและหลังการลา การเพิ่มหรือลดของตำแหน่ง และเปอร์เซ็นต์การขึ้นของเงินเดือนหรือโบนัส ซึ่งอาจารย์ธานีเสนอว่าให้กลุ่มที่ 5 เลือกใช้ตัวเลือกแรก เพราะเป็นตัวแปรที่เก็บข้อมูลได้ง่ายและชี้วัดได้ชัดเจนที่สุด

 

 

แนะนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

การสะกิด (Nudge)

ในช่วงถัดมา อาจารย์พีระได้แนะนำให้รู้จัก การสะกิด (nudge) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ หากอธิบายจากนิยามในทางเศรษฐศาสตร์ การสะกิดนั้น “เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยไม่ต้องบังคับ” การจะเปลี่ยนให้ผู้คนกระทำหรือตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลขึ้นนั้นคือการเปลี่ยนจากการพิจารณาโดยระบบที่สองมาเป็นระบบที่หนึ่ง ซึ่งทำได้ยากและยังเปลืองพลังงานอีกด้วย การสะกิดจึงเป็นเครื่องมือที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์โดยที่ไม่ต้องบังคับแล้ว มนุษย์ยังสามารถกระทำการต่างๆ ผ่านการพิจารณาของระบบที่หนึ่งได้เหมือนเดิมด้วย

การสะกิด เป็นเครื่องมือที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ หากอธิบายจากนิยามในทางเศรษฐศาสตร์ การสะกิดนั้น “เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยไม่ต้องบังคับ”

อาจารย์พีระยกตัวอย่างการสะกิดที่ใช้ได้ผลในงานวิจัย เช่น ความโน้มเอียงหาค่าเริ่มต้น (default option หรือ status quo bias) โดยยกตัวอย่างงานวิจัยที่มีการใช้ความโน้มเอียงนี้ในการสะกิดผู้คนให้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่จะมีประโยชน์ต่อตัวเองและต่อคนอื่นมากขึ้น อาจารย์พีระยกตัวอย่างงานวิจัยการตั้งค่าเริ่มต้นที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนได้ โดยศึกษาจากการสวมหมวกกันน็อกของผู้ใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผลการสังเกตพบว่า ผู้โดยสารทั้งหมดที่ขึ้นรถในกรอบเวลาที่กำหนดนั้นไม่มีใครใส่หมวกกันน็อกเลย ผู้ทดลองจึงใช้วิธีการตั้งค่าเริ่มต้น โดยไหว้วานให้ผู้ขับรถยื่นหมวกให้กับผู้โดยสารที่มาขึ้นรถ ซึ่งผู้โดยสารมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธหรือรับหมวกไปแต่ไม่ใส่ก็ได้ ผลลัพธ์ที่ได้พบว่า จำนวนผู้โดยสารที่ใส่หมวกกันน็อกเพิ่มขึ้นจากศูนย์ไปเป็นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จเชิงประจักษ์สำหรับเครื่องมือการตั้งค่าเริ่มต้น

เครื่องมือต่อมาในการสะกิดที่อาจารย์พีระได้แนะนำให้ผู้เข้าร่วมรู้จักคือ การใช้บรรทัดฐานสังคม (use of social norm) โดยยกตัวอย่างการทดลองที่ปรับเปลี่ยนใบเรียกเก็บค่าไฟของหมู่บ้านหนึ่งให้ระบุค่าไฟเฉลี่ยของหมู่บ้านนั้นไว้ด้วย เพื่อสะกิดให้ผู้ใช้ไฟในแต่ละครัวเรือนได้เปรียบเทียบระหว่างค่าไฟของบ้านตนเองกับค่าเฉลี่ยของทั้งหมู่บ้าน ซึ่งในระยะเวลา 10 เดือนที่ทำการวิจัยพบว่า การใช้งานไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีการดัดแปลงใบเรียกเก็บค่าไฟ

อาจารย์พีระยังได้ยกตัวอย่างวิธีนำการสะกิดเข้ามาใช้กับประเด็นที่กลุ่ม 3 นำเสนอ ซึ่งคือ “เพศมีผลต่อการเลือกผู้นำเสนอในงานกลุ่ม” โดยเริ่มต้นจากการบังคับ (enforce) ซึ่งอาจจะเป็นการจัดกลุ่มให้ ต่อมาคือการสร้างแรงจูงใจ (incentive) เช่น เพิ่มคะแนนให้กับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และสุดท้ายใช้การสะกิด (nudge) โดยอาจจะแจ้งให้ทราบว่ากลุ่มที่มีความหลากหลายมักจะทำผลงานได้มีคุณภาพมากกว่า ซึ่งเป็นการใช้การสะกิดแบบการเตรียมการรับรู้

อาจารย์พีระทิ้งทายการบรรยายไว้ว่า “การสะกิดเป็นแนวทางที่ดี ด้วยใจความสำคัญของมัน อันประกอบด้วยการมีเสรีภาพในการเลือก (freedom of choice) ซึ่งเป็นการปรับพฤติกรรมคนโดยที่คนโดนปรับเองไม่ได้รู้สึกอึดอัด เพราะไม่ได้มีการบังคับ อย่างที่สองคือความโปร่งใส (transparency) และอย่างสุดท้ายคือประสิทธิผล (effectiveness) ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาจากงานวิจัยพอสมควรแล้ว”

“การสะกิดเป็นแนวทางที่ดี ด้วยใจความสำคัญของมัน อันประกอบด้วยการมีเสรีภาพในการเลือก (freedom of choice) ซึ่งเป็นการปรับพฤติกรรมคนโดยที่คนโดนปรับเองไม่ได้รู้สึกอึดอัด เพราะไม่ได้มีการบังคับ อย่างที่สองคือความโปร่งใส (transparency) และอย่างสุดท้ายคือประสิทธิผล (effectiveness) ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาจากงานวิจัยพอสมควรแล้ว”

อาจารย์พีระเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม การสะกิดนั้นก็ยังมีข้อน่าเป็นห่วง เพราะการสะกิดเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวด้วยว่าจะสามารถปรับพฤติกรรมต่อไปในระยะยาวได้หรือไม่ และอีกข้อหนึ่งคือต้องระวังเรื่องจริยธรรมด้วย เพราะการสะกิดที่ไม่ดีอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ดีได้”

 

 

กรอบความคิด EAST

อาจารย์พีระได้ให้แนวทางการออกแบบการสะกิดแก่ผู้เข้าร่วมด้วยเทคนิคที่เรียกว่า กรอบความคิด EAST (EAST framework) ซึ่งประกอบไปด้วย ตัว E มาจาก EASY หมายความว่าการสะกิดต้องเป็นเรื่องง่าย เพื่อให้มีแนวโน้มที่คนจะปรับพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น ตัว A มาจาก ATTRACTIVE คือความน่าสนใจ สิ่งที่น่าสนใจจะดึงดูดคนให้คล้อยตามได้ง่ายขึ้น ตัว S มาจาก SOCIAL เนื่องจากมนุษย์เรามีสังคม ดังนั้นการกระทำของคนในสังคมย่อมมีผลกระทบกับเรา ฉะนั้นการสะกิดที่มีผลกระทบต่อสังคมย่อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสุดท้ายคือ T มาจาก TIME เพราะว่าเวลาเป็นตัวแปรสำคัญในการสะกิด การสะกิดที่หวังผลในระยะยาวจึงอาจจะไม่สำเร็จ แต่หากเป็นการสะกิดที่ต้องการผลแบบทันทีทันใดจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

อาจารย์ธานีเสริมว่า “การสะกิดต้องออกแบบมาจากแนวคิดของริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) ที่ว่า ‘มนุษย์นั้นขี้เกียจเกินกว่าจะคิด’ (human is too lazy to think) จึงต้องมองหาภาวะที่จะช่วยกระตุ้นให้มนุษย์เลือกในยามที่มนุษย์ขี้เกียจจะคิด กรอบความคิด EAST จึงสำคัญ”

“การสะกิดต้องออกแบบมาจากแนวคิดของริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) ที่ว่า ‘มนุษย์นั้นขี้เกียจเกินกว่าจะคิด’ (human is too lazy to think) จึงต้องมองหาภาวะที่จะช่วยกระตุ้นให้มนุษย์เลือกในยามที่มนุษย์ขี้เกียจจะคิด กรอบความคิด EAST จึงสำคัญ”

จากนั้นทีมผู้บรรยายได้ปล่อยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้ากลุ่มกันเพื่อปรึกษาการออกแบบการสะกิดภายใต้กรอบความคิด EAST ก่อนที่จะให้นำเสนอวิธีการสะกิดของกลุ่มตัวเองบนสมมติฐานต่างๆ เช่น ความเชื่อว่าผู้หญิงที่มีบุตรนั้นมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยกว่าผู้ชาย พร้อมเสนอการสะกิดภายใต้กรอบแนวคิด EAST ว่า อาจปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนความคิดแบบนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมเช่นเดียวกัน หรือการต่อยอดแนวคิดของกลุ่ม 3 ที่ว่า “เพศมีผลต่อการเลือกผู้นำเสนอในงานกลุ่ม” มาเป็นสมมติฐานว่า ผู้หญิงทำงานมากกว่า แต่กลับได้คะแนนเท่ากัน ซึ่งทางกลุ่มนี้ได้ออกแบบการสะกิดโดยการใช้การแข่งขันภายในกลุ่ม โดยมีสมมติฐานว่าผู้ชายนั้นชอบการแข่งขัน จึงอาจเป็นแรงจูงใจให้ผู้ชายทำงานมากขึ้น โดยวิธีการสะกิดของกลุ่มนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับกรอบแนวคิด EAST ที นอกจากนี้ผู้บรรยายก็ได้คอยให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าใจการออกแบบการสะกิดชัดเจนยิ่งขึ้น

ออกแบบเพื่อเท่าเทียม

ภายหลังการนำเสนอ กิจกรรมก็ดำเนินมาสู่ช่วงท้าย โดยอาจารย์ธานีรับหน้าที่กล่าวสรุปกิจกรรมซึ่งต่อยอดมาจากหนังสือ ออกแบบเพื่อเท่าเทียม ซึ่งเน้นประเด็นไปที่การแบ่งแยกทางเพศ (gender discrimination) ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยอาจารย์ธานีกล่าวว่า “ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในสังคมไทย ที่มีการแบ่งแยกทั้งเรื่อง สีผิว อ้วนหรือผอม ชายหรือหญิง เกิดภาคไหน เรียนสูงหรือต่ำ โดยสังคมชนชั้นนั้นมีพื้นฐานเป็นสังคมแห่งการแบ่งแยกอยู่แล้ว และการเหยียดเป็นเหมือนกลไกหนึ่งในการค้ำยันระหว่างชนชั้น ซึ่งส่วนมากเราไม่รู้ตัวเพราะว่ามันผลิตซ้ำอยู่ตลอด จนมักจะถูกมองข้ามไป”

อาจารย์ธานีกล่าวเสริมว่า “โจทย์ยากในสังคมไทยคือ คนที่ทำงานด้านการแบ่งแยกทางเพศหรือความไม่เท่าเทียมทางเพศมักพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของอคติแบบไม่รู้ตัว (unconscious bias) ได้ยาก และประสบปัญหาในการโน้มน้าวให้สังคมรับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งนี้ ซึ่งคนในสังคมเองก็ไม่ได้ผิดที่ไม่รับรู้เช่นกัน จึงทำให้เพศทางเลือกในกลุ่ม LGBTQ ต้องถูกมองหรือจดจำในภาพของการเป็นตัวตลกในสังคม”

“โจทย์ยากในสังคมไทยคือ คนที่ทำงานด้านการแบ่งแยกทางเพศหรือความไม่เท่าเทียมทางเพศมักพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของอคติแบบไม่รู้ตัว (unconscious bias) ได้ยาก และประสบปัญหาในการโน้มน้าวให้สังคมรับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งนี้ ซึ่งคนในสังคมเองก็ไม่ได้ผิดที่ไม่รับรู้เช่นกัน จึงทำให้เพศทางเลือกในกลุ่ม LGBTQ ต้องถูกมองหรือจดจำในภาพของการเป็นตัวตลกในสังคม”

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของกิจกรรมเวิร์กช็อปนี้ ซึ่งมีเป้าหมายสองข้อ ข้อแรกคือ ให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นการทดลองหลากหลายแบบ พร้อมทั้งเข้าใจวิธีคิดหลักของการทดลองที่ประกอบด้วยประเด็นปัญหา และมีการกำหนดตัวแปรที่ผู้เข้าร่วมได้ลองกำหนดออกมาในมุมมองของตนเอง ซึ่งตัวแปรเหล่านั้นก็สามารถทำให้เห็นภาพต่อยอดในประเด็นเหล่านั้นได้ อีกทั้งยังสามารถนำการทดลองนี้ไปใช้จริงเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นความตั้งใจใหญ่ของกิจกรรม

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมยังได้เห็นถึงการมีอยู่ของอคติแบบไม่รู้ตัว ผ่านการศึกษาการทำงานของระบบคิดสองระบบ ซึ่งในการตัดสินใจมักขึ้นกับระบบที่หนึ่งซึ่งเน้นอารมณ์เป็นหลัก จึงก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ลำเอียงเมื่อมีเรื่องเพศหรือการแบ่งแยกอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การที่ผู้หญิงกับผู้ชายได้รับเงินเดือนไม่เท่ากันหรือมีความก้าวหน้าในด้านการงานไม่เท่ากันทั้งที่ผลงานหรือประสิทธิภาพเหมือนกัน ซึ่งเป็นเพราะมนุษย์มีภาพจำต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความแบ่งแยกโดยที่ไม่รู้ตัวนั่นเอง

สำหรับเป้าหมายที่สองของกิจกรรมคือ ให้ผู้เข้าร่วมมองเห็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความแบ่งแยกที่เกิดขึ้นผ่านการสะกิด โดยอาศัยกรอบแนวคิด EAST และนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในหน้าที่การงานต่อไป

 

ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
Iris Bohnet เขียน
ฐณฐ จินดานนท์ แปล
424 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่