ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์ เรื่อง
นุชชา ประพิณ ภาพ
ฟินแลนด์ได้รับความสนใจจากนักวิจัย นักการศึกษา และนักข่าวทั่วโลก ทั้งเพราะความเท่าเทียมทางการศึกษาที่ยืนอยู่บนปรัชญาว่าการศึกษาคือสิทธิมนุษยชน ชาวฟินแลนด์ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนถึงระดับมหาวิทยาลัย และเพราะผลสัมฤทธิ์อันโดดเด่นผ่านคะแนนสอบ PISA ทั้งๆ ที่มีคาบเรียนสั้น มีช่วงพักระหว่างวันเยอะ ไม่มีการสอบวัดมาตรฐานระดับชาติ ไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก และไม่มีภาระรับผิดชอบเชิงลงโทษสำหรับครู
ปาสิ ซอลห์เบิร์ก (Pasi Sahlberg) ศาสตราจารย์ชาวฟินแลนด์ด้านนโยบายการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย และทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ (Timothy D. Walker) ครูที่โยกย้ายถิ่นฐานจากสหรัฐฯ ไปตั้งรกรากที่ฟินแลนด์ เฉลยผ่านหนังสือ เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์ ว่ามีอีกกุญแจที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ ‘ความเชื่อใจ’ จนกล่าวได้ว่าหากปราศจากความเชื่อใจเสียแล้ว ฟินแลนด์จะเดินมาถึงจุดนี้ไม่ได้เลย
bookscape ร่วมกับกองทุนส่งเสริมความเสมอภาคทางศึกษา (กสศ.) จัดเสวนาสาธารณะ ‘เชื่อใจในตัวครู: พลิกโฉมการศึกษาไทยสู่ระบบแห่งความเชื่อใจแบบฟินแลนด์’ เพื่อเรียนรู้กลยุทธ์การสร้าง บ่มเพาะ และธำรงความเชื่อใจ แล้วหันกลับมาสำรวจปัญหาในห้องเรียนไทย พร้อมเสนอทางออกร่วมกันกับ
- ดร.อุดม วงศ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครูและสถานศึกษา กสศ.
- กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ (ครูจุ๊ย) ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า
- ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education
- กรวรรณ บุณทันเสน (ครูเก่ง) อดีตครู คศ.1 โรงเรียนบ้านดอนพลอง จังหวัดนครสวรรค์
ดำเนินรายการโดย ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ Co-Founder / Learning designer BlackBox Team Co.,Ltd.
ความเชื่อใจกับระบบการศึกษา:
บทเรียนจากฟินแลนด์
เชื่อใจในตัวครู หนังสือต้นเรื่องที่วงเสวนาหยิบยกมาพูดคุยต่อยอดกัน ได้นิยามความเชื่อใจไว้ว่า เป็นความเชื่อใจที่พ่อแม่ รัฐ และนักเรียนมีต่อครู เชื่อว่าครูจะปฏิบัติงานสอดคล้องกับความคาดหวังที่ว่าสิ่งใดดีที่สุดต่อเด็กๆ ได้เสมอ ครูซึ่งมีฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญจึงไม่เพียงปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายหรือหลักสูตรแกนกลางระดับชาติเท่านั้น แต่ครูจะพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ ด้วย
ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ เปิดวงด้วยการชวนวิทยากรแต่ละคนแลกเปลี่ยนนิยามความเชื่อใจของตนเองจากมุมมองที่แตกต่างกันไป
ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานมูลนิธิคณะก้าวหน้า กล่าวว่า แม้คำว่า trust ในภาษาอังกฤษ กับคำว่า ความเชื่อใจ ในภาษาไทย จะไม่ได้มีความหมายตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กล่าวโดยรวมได้ว่า ความเชื่อใจคือความเชื่อมั่นในศักยภาพของคน และพื้นที่ที่ทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกปลอดภัยมากพอจะล้ม ผิดพลาด กล้าจะพัฒนาตัวเองบนพื้นฐานของความไม่แน่ใจได้
ด้านครูเก่ง กรวรรณ บุณทันเสน อดีตครู คศ.1 มองว่า ความเชื่อใจคือความไว้วางใจ หากครูได้รับความไว้วางใจ ครูคงไม่ต้องมาห่วงพะวงกับงานเอกสารด้วยเหตุผลที่อ้างว่าเพราะสังคมไม่ไว้ใจ หากครูได้รับความเชื่อใจ ครูก็จะเดินหน้าเรื่องการเรียนการสอนได้เต็มที่ และในฐานะที่ครูเก่งเป็นผู้ปกครองด้วย จึงคาดหวังว่าครูจะไม่ทรยศ ไม่ฉวยโอกาสจากความอ่อนแอของลูก และมีศักยภาพพอจะทำให้ลูกดีขึ้น ความเชื่อใจในตัวครูคือเชื่อว่าครูจะส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกเรา
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education ชี้ว่าความเชื่อใจควรอยู่ในทุกความสัมพันธ์และทุกระดับ ไม่ว่าในระดับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน หรือประเทศ ความเชื่อใจคืออะไร อย่างแรกคือเชื่อว่าคนคนหนึ่งคิดดี ทำดี ตัดสินใจอย่างดีที่สุด หากคิดได้เช่นนี้แล้ว เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น เราจะมองว่าเขาไม่ได้ผิดเพราะตั้งใจจะผิด แต่ผิดเพื่อเป็นหนึ่งในก้าวย่างของเส้นทางการเรียนรู้
ดร.อุดม วงศ์สิงห์ จาก กสศ. ผู้ทำงานช่วยเหลือดูแลเด็กยากจนด้อยโอกาส พัฒนาคุณภาพเด็กและการศึกษา รวมทั้งทำงานเชิงนโยบาย มองว่า ความเชื่อใจเป็นคุณค่าและความรู้สึกที่ลึกพอสมควร หากมีความเชื่อใจจะนำไปสู่ความไว้วางใจ ไม่รู้สึกว่าเป็นศัตรูกัน และปลายทางคือบุคลากรในระบบการศึกษาจะมีอิสระซึ่งกันและกันในที่สุด ทั้งนี้ ความเชื่อใจไม่อาจเกิดขึ้นได้เองในเวลาอันรวดเร็ว ต้องสร้าง ต้องใช้เวลา และต้องรักษาไว้ ดังที่หนังสือว่าไว้ “ความเชื่อใจเดินเท้ามา แต่จากไปบนหลังม้า”
ความ(ไม่)เชื่อใจกับระบบการศึกษา:
เมื่อทาบ เชื่อใจในตัวครู ลงบนบริบทไทย
ในเมื่อความเชื่อใจเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จทางการศึกษาของฟินแลนด์ ใช่หรือไม่ว่าปัญหาของระบบการศึกษาไทยเองก็เกี่ยวพันแนบแน่นกับความเชื่อใจ หรือไม่เชื่อใจกัน
ครูเก่ง กรวรรณ สะท้อนว่าในโรงเรียนไทยปราศจากความเชื่อใจโดยสิ้นเชิง ถ้าผู้ปกครอง ‘มองไม่เห็น’ ผลผลิตที่ดี ส่งลูกเข้าโรงเรียนแล้วไม่เห็นว่าลูกเขาดีขึ้น เขาก็ไม่เชื่อใจครูแล้ว ผู้บริหารเองก็เช่นกัน หากเชื่อใจครูคงไม่ให้ครูทำเอกสารหลักฐานวุ่นวายมากมายอย่างที่ครูทุกคนต้องทำอยู่
“คนที่มีสิทธิ์ตัดสินครูว่าเชื่อใจได้หรือไม่ได้ควรเป็นผู้รับผลผลิตของการสอนของเรา คือผู้ปกครองและเด็ก การศึกษาของเราผิดจุดมาตั้งแต่ผู้ประเมินแล้ว เอาใครก็ไม่รู้มาประเมิน วิธีประเมินก็ผิดอีก แทนที่จะดูพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก กลับมาดูห้องประเมิน ดูเอกสารที่ให้ทำ ซึ่งเอกสารนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ทำอีกว่าจะเขียนอะไร บอกความจริงแค่ไหน” – ครูเก่งสะท้อนภาพความ(ไม่)เชื่อใจในระบบการศึกษาไทย
ด้านครูจุ๊ย กุลธิดา พาวงเสวนาย้อนกลับที่วัฒนธรรมความเชื่อใจและปรัชญาทางการศึกษาอันเป็นเหตุให้ระบบการศึกษาไทยมีความเชื่อใจต่ำ ว่ามีเหตุผลอย่างน้อยสองประการคือ หนึ่ง การศึกษาไทยไม่ได้เป็นเรื่องของทุกคน แต่ละคนแต่ละฝ่ายมองแยกส่วน ผู้ปกครองที่พาลูกมาโรงเรียนก็รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของคุณครูทั้งหมด วิธีคิดที่ว่าการศึกษาเป็นเรื่องเฉพาะของครู นักเรียน และโรงเรียน ทำให้ความเชื่อใจที่ขับเคลื่อนการศึกษามีน้อย
และสอง เป้าหมายทางการศึกษา ขณะที่ฟินแลนด์บอกว่าเป้าหมายการศึกษาคือ learning to survive – เรียนเพื่อเอาตัวรอด แต่สำหรับประเทศไทย การศึกษามีไว้เพื่อขับเคลื่อนชนชั้นทางสังคม ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเห็นการโยนความรับผิดชอบไปมา “ส่วนนี้เป็นงานของเธอ อันนี้เป็นเรื่องนโยบายเธอไปจัดการเอง” สิ่งนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือ (reliability) หรือความรับผิดรับชอบ (accountability) เกิดขึ้นไม่ได้ ระบบที่เป็นอยู่ขณะนี้ทั้งระบบจึงขับเคลื่อนด้วยการโยนผิดไปมา
“เมื่อเป้าหมายการศึกษาคือเพื่อความสำเร็จทางสังคม ประกาศนียบัตรรับรองหรือใบปริญญาก็เป็น ‘ใบผ่านด่าน’ จากที่การศึกษาควรมีเป้าหมายเพื่อเป็นการเพิ่มพูนทักษะ จึงเจือจางเหลือแค่เอาใบผ่าน เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบโรงงาน ทุกคนผ่าน QC มีตรารับรอง สแตมป์ๆๆ ทุกคนในสังคมก็รู้สึกว่าต้องมีทางเดินเดียวกัน มีขั้นตอนเหมือนกัน ต่างจากนี้ไม่ได้ ทำพลาดไม่ได้เพราะไม่มีเวลาให้พลาด ไม่มีพื้นที่เหลือให้ใครทำพลาดเลย” – ครูจุ๊ยกล่าวถึงที่มาที่ไปของปัญหาการศึกษาไทย
ครูจุ๊ยชี้ว่าปัญหาของการสร้างความเชื่อใจในระบบการศึกษาไทยคือการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ เส้นระหว่างองค์กรที่กำหนดนโยบายกับผู้ปฏิบัติงานแทบจะถูกตัดขาดออกจากกันด้วยซ้ำ นโยบายเป็นอย่างหนึ่ง ทำจริงเป็นอีกอย่าง แล้วยังมาประจวบกับโครงสร้างการทำงานที่ซับซ้อนวุ่นวายและไม่ได้ช่วยใครทำงานเลย ซึ่งก็เกิดจากความไม่เชื่อใจกันอีกนั่นเอง ดังนั้น ระบบที่เป็นอยู่ไม่เปิดโอกาสให้ใครได้พิสูจน์ความเชื่อมั่นเชื่อใจที่มีต่อใคร เมื่อทับถมนานวันเข้าก็ไม่เหลือความเชื่อใจเชื่อมั่นในระบบการศึกษาไทยเลย
ดร.นรรธพร เสริมประเด็นสอดคล้องกับครูจุ๊ยว่า ความเชื่อใจในระบบการศึกษายังมีน้อย และหากจะมีบ้างก็เกิดจากความพยายามของตัวบุคคล ของครูคนนั้นๆ หรือผู้อำนวยการคนนั้นๆ ไม่ได้เกิดจากระบบที่เอื้อให้สร้างความเชื่อใจ ทั้งนี้ ความเชื่อใจเกิดขึ้นได้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ระบบการศึกษาไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับ “soft skills” เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสร้างความสัมพันธ์ ทักษะการสื่อสาร หรือทักษะทางสังคมและอารมณ์ ต้องอย่าลืมว่าที่สุดแล้วความเชื่อใจจะเกิดเมื่อเรามีความเห็นอกเห็นใจกัน เห็นว่าเราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน ทุกคนผิดพลาดได้เหมือนกัน
“การทำงานด้วยกันต้องมีช่องว่างสำหรับความผิดพลาด และความเชื่อใจจะสร้างขึ้นจากพื้นที่ปลอดภัยตรงนี้เอง”
นอกจากนี้ ดร.นรรธพร ยังย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพว่า จะช่วยให้ทุกคนในชุมชนเห็นเป้าหมายเดียวกัน แล้วชุมชนก็จะช่วยให้คนที่ร่วมทางเดินเดียวกันทำสำเร็จ ทว่าสิ่งที่การศึกษาไทยเป็นอยู่ขณะนี้คือไม่เห็นเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นในทุกอย่างที่เราทำ ผู้กำหนดนโยบายไม่สื่อสาร ผู้ปฏิบัติงานไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำ เมื่อทำไปด้วยความไม่เข้าใจจึงทำงานด้วยระบบสั่งการจากบนลงล่างอยู่เสมอ และถึงที่สุด เมื่อสั่งการไม่ได้ ก็แก้ไขด้วยการคิดวิธีขึ้นมาซ้อนเพื่อแก้ปัญหา กลายเป็นว่าเกิดการจัดการระดับย่อยจุกจิกเต็มไปหมด เมื่อทำกันแบบนี้ไปนานวันเข้าก็กลายเป็นวัฒนธรรม
“ในองค์กรเรา เราเริ่มจากเลิกตอกบัตร เลิกคอยนั่งดูว่าครูคนไหนมาเข้าแถวกับเด็ก ใครไม่มา เพราะการทำแบบนี้เป็นการทำโทษคนที่เขาทำดีคิดดีอยู่แล้ว ทำโทษคนที่น่าไว้วางใจอยู่แล้ว ในโรงเรียน คนที่น่าจะมีปัญหาหรือคนที่เราไม่ไว้วางใจ เรามีแนวโน้มจะไปออกกฎที่กระทบกับคนอื่น ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง” – ดร.นรรธพร แลกเปลี่ยนประสบการณ์จาก starfish education
คำถามน่าคิดที่ตามมาคือ แท้จริงแล้ว เราไม่เพียงได้รับมรดกตกทอดวัฒนธรรมแห่งความไม่เชื่อใจ แต่เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมความไม่เชื่อใจด้วยหรือเปล่า
ด้าน ดร.อุดม วงศ์สิงห์ ตีความองค์ประกอบห้าประการของความเชื่อใจให้สอดคล้องกับบริบทไทยและเข้าใจได้ง่ายว่า เรื่องความเมตตาคือความสัมพันธ์ การให้อภัยซึ่งกันและกัน ความซื่อสัตย์คือโกงหรือไม่ มีความคิดที่จะทำร้ายเราหรือเปล่า ความเปิดกว้างคือการเปิดใจและให้โอกาสกันทั้งในระดับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เพื่อนครูด้วยกัน หรือระหว่างผู้บริหารกับครู ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าต้องเปิดใจในหลายมุมมองเพื่อให้เข้าถึงกันและกัน โดยคิดว่าในบริบทไทยต้องเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ ส่วนความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องของการสั่งสมของแต่ละองค์กร และสุดท้าย ศักยภาพ ทั้งองค์ความรู้หรือความเชื่อมั่น ถ้าเราเห็นศักยภาพของเขาเราก็จะอยากร่วมงานด้วย เป็นผู้ปกครองก็อยากฝากลูกหลานไปเรียนโรงเรียนนั้นๆ
“ยกตัวอย่างรูปธรรม พ่อแม่ชาวไทยเลือกโรงเรียนจากอะไร หนึ่ง เขาจัดการเรียนการสอนแบบไหน ลูกเราเรียนโปรแกรมอะไร สอง สถานที่ตั้ง สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร บ้านเราไม่เหมือนฟินแลนด์ซึ่งมีอัตราเกิดอาชญากรรมต่ำ มิจฉาชีพน้อย ลูกไปโรงเรียนคนเดียวก็ไม่ต้องกลัว สาม ครูเป็นอย่างไร ครูบางส่วนมีความพยายามรวมตัวกันเพื่อสร้างสิ่งดีๆ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับผู้ปกครอง และสุดท้าย สังคมในโรงเรียนนั้นๆ เป็นอย่างไร กว่าจะตัดสินใจว่าจะให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนไหนเรามีเรื่องต้องพิจารณามากมาย ซึ่งข้องเกี่ยวกับความเชื่อใจหมดเลย และเห็นได้เลยว่าความเชื่อใจไม่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาสั้นๆ นี่คือจุดเริ่มต้นของบทพิสูจน์ว่าเราเชื่อใจโรงเรียนมากแค่ไหน และจุดนี้เองที่เป็นวงรอบของการพัฒนาความเชื่อใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ” – ดร.อุดมให้ภาพว่าความเชื่อใจเกี่ยวข้องกับทุกคนและทุกกระบวนการ
การสื่อสาร พื้นที่ปลอดภัย และความโปร่งใส
คือวัตถุดิบในการสร้างความเชื่อใจ
บุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะช่วยกันพลิกระบบการศึกษาที่ใช้สายตาตรวจสอบจับผิด ให้เป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อใจได้อย่างไร ประเด็นนี้ วิทยากรแต่ละคนต่างคิดว่ามีทางออกและไม่ยากเกินความสามารถของทุกคน
ทะลุกรอบระบบราชการ เปลี่ยน “รวมศูนย์อำนาจ” เป็น “รวมศูนย์ข้อมูล”
ครูจุ๊ย กุลธิดา กล่าวถึงบริบททางประวัติศาสตร์ซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับการก้าวต่อไป โดยจะเห็นว่าคุณปาสิ ซอห์ลเบิร์ก หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ พูดถึงการศึกษาโดยไม่ลืมพูดถึงบริบททางประวัติศาสตร์ของฟินแลนด์ แล้วในไทยล่ะ ที่มาของความไม่เชื่อใจกันมาจากไหน
“ฟินแลนด์ผ่านยุคสงครามและยุคเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง เมื่อหันมองซ้ายมองขวา ไม่มีอุตสาหกรรมหรือทรัพยากรมากมาย สิ่งเดียวที่มาคือมนุษย์ 5.5 ล้านคน จึงจำเป็นต้องพึ่งพา trust หรือความเชื่อมั่นในตัวมนุษย์มากๆ ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่หนาวเหน็บขนาดนี้ มีคนน้อยขนาดนี้ ทรัพยากรน้อยขนาดนี้ จำเป็นที่คนต้องเชื่อว่าอีกคนมีประสิทธิภาพจึงจะทำงานด้วยกันได้”
จุดพลิกผันเล็กๆ เกิดขึ้นตรงนี้เอง ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1990 เมื่อเหล่าคุณครูเริ่มส่งเสียงว่าไม่มีใครฟังเสียงหรือความต้องการของเราเลย จึงเกิดการฉุกคิด แล้วการปฏิรูปก็เกิดขึ้นจากจุดนั้น เห็นได้ชัดว่าการพูดคุยและรับฟังเกิดขึ้นเป็นปกติในสังคมฟินแลนด์
ครูจุ๊ยพาย้อนกลับมามองไทย การศึกษาสมัยใหม่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการวางรากฐานรัฐชาติไทยแบบใหม่ ซึ่งเป็นระบบราชการที่ส่งตัวแทนจากส่วนกลางไปตามที่ต่างๆ อันจะเห็นว่าไม่ได้มีความเชื่อใจกันแต่แรก เมื่อส่วนกลางส่งคนไป ไม่ได้ส่งไปด้วยความรู้สึกที่ว่าเราเชื่อมั่นในศักยภาพของทุกคน แต่ส่งไปเพื่อควบคุมและตรวจสอบ แม้กระทั่งการตั้งกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ก็เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อส่งผ่านอุดมการณ์ที่ตรงกันและเพื่อควบคุมทรัพยากร มากกว่าจะเป็นไปเพื่อสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนหรือพัฒนาความเชื่อมั่นเชื่อใจ เหล่านี้ทำให้เกิดระบบราชการที่ฝังรากลึกถึงทุกวันนี้
ดังนั้น การจะสร้างความเชื่อมั่นเชื่อใจจำเป็นทะลุกรอบระบบราชการให้ได้ เพราะถึงแม้อยู่ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือภาคปัจเจก เราได้รับผลกระทบจากระบบนี้ไม่มากก็น้อย และถึงแม้จะทำโฮมสคูลให้ลูก แต่ในที่สุดก็ต้องมาปฏิสัมพันธ์กับระบบราชการที่ไม่ได้มีความเชื่อใจในผู้คน ไม่ว่าจะโรงเรียน ผู้ปฏิบัติงาน หรือนักเรียนอยู่ดี
ครูจุ๊ยเสริมประเด็นอีกว่า ทุกคนตระหนักว่าความเชื่อใจไม่ได้สร้างขึ้นง่ายๆ แต่ต้องผ่านการพิสูจน์ การพิสูจน์นี้ก็ได้มาจากความโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งจะเพิ่มการเปิดเผยและการตรวจสอบเชิงระบบอย่างมีส่วนร่วม สิ่งที่ฟินแลนด์รวมศูนย์ไว้จึงไม่ใช่อำนาจ แต่คือคลังข้อมูลและทรัพยากรความรู้ เพราะเขาตระหนักว่า data สำคัญมาก จึงนำทรัพยากรข้อมูลมาวางไว้ตรงกลางให้ทุกคนเข้าถึงได้เพื่อทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันทั้งสังคม ซึ่งจากตรงนี้จะเห็นได้ว่าคำสำคัญที่มาพร้อมความเชื่อใจคือความโปร่งใส (transparency)
“ฟินแลนด์มีระบบกลางชื่อ wilma เป็นแหล่งรวมสถิติต่างๆ ที่ประชาชนคนทั่วไปเข้าถึงได้และเห็นภาพว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาของเขา เด็กๆ กำลังเรียนอะไรอยู่ กำลังดำเนินนโยบายอะไรอยู่ ทุกคนเห็นกระบวนการเดียวกันหมดผ่านระบบนี้ เช่นนี้แล้ว เมื่อเกิดอะไรไม่ชอบมาพากลก็จะสื่อสารบนฐานข้อมูลอันเป็นที่ประจักษ์ต่อทุกคน” – ครูจุ๊ยยกตัวอย่าง
หากเราลองจินตนาการตามครูจุ๊ยจะพบว่า เอกสารมากมายก่ายกองที่ครูไทยทำ จะถูกรวบรวมเข้าไปอยู่ในระบบ ถูกจัดระเบียบ ถูกประมวล โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดเผย ตรวจสอบ พูดคุย และใช้เป็นฐานในการออกแบบนโยบายต่างๆ คุณครูผู้ปฏิบัติงานก็ไม่ต้องเคว้งคว้างและได้แต่ตั้งคำถามว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่ ฉันทำไปทำไม และยังเป็นการสื่อสารไปถึงสังคมว่าการศึกษาไทยกำลังทำอะไรกันอยู่ จะเห็นได้ไม่ยากว่าความเชื่อใจค่อยๆ ถูกบ่มเพาะจากจุดนี้เอง
ก้าวข้ามมรดกทางวัฒนธรรม และเปิดไพ่ให้ความเชื่อใจก่อน
สำหรับ Starfish Education ดร.นรรธพร เล่าว่ามีการพูดคุยกันอย่างจริงจังมากว่าคุณค่าที่องค์กรหรือโรงเรียนยึดถือคืออะไร ในที่สุดก็ตกผลึกได้ว่ามี 5 ประการคือ ความเชื่อใจ (trust) ความกล้าหาญ (courage) การเรียนรู้ของทุกคน (learning) ความเห็นอกเห็นใจกัน (empathy) และโอกาส (opportunity)
เมื่อเน้นที่ ‘ความเชื่อใจ’ ดร.นรรธพร แลกเปลี่ยนว่า starfish เชื่อใจในครูและบุคลากรทุกคน โดยความเชื่อใจที่ว่าหมายถึงทั้งเชื่อใจว่าทุกคนมีความตั้งใจที่ดี และเชื่อใจว่า ทุกคน ตัดสินใจโดยเอาเด็กเป็นตัวตั้ง ฉะนั้น แม้บางคนในองค์กรจะตัดสินใจต่างออกไป แต่เรารู้ว่าที่มาที่ไปคือเขาก็เอาเด็กเป็นตัวตั้งเพียงแต่มองต่างมุมกัน เท่านี้ก็คุยกันได้ ตรงนี้คือจุดที่เราค่อยๆ มอบความไว้วางใจ ให้พื้นที่ปลอดภัน และให้โอกาสผิดพลาดได้ รวมถึงตนเองในฐานะผู้บริหารด้วย มีเพียงเรื่องเดียวที่พูดคุยต่อรองไม่ได้เด็ดขาดคือการละเมิดเด็ก
“เมื่อเราให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ครูก็ต้องเป็นศูนย์กลางในการทำงานเหมือนกัน ต้องรู้ว่าครูต้องการอะไร เหตุที่เราปฏิบัติกับคนแต่ละคนต่างกัน เพราะเงื่อนไขและจังหวะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายและความต้องการต่างกัน เราก็ต้องมีวิธีบริหารให้ความต่างนี้ไปด้วยกันได้ในภาพใหญ่ ให้เรือทั้งลำลอยไปถึงจุดหมายได้ เริ่มจากเอาระบบเช็กลิสต์ออก ลงไปดูหน้างานจริง แล้วค่อยเติมจากตรงนั้น มันจะได้ความสัมพันธ์ ได้ใจ ได้รับความไว้วางใจกันมากขึ้น กฎระเบียบมีไว้เป็นกรอบใหญ่ แต่ทำงานจริงต้องยืดหยุ่นให้ความเป็นมนุษย์ของครูด้วย” – ดร.นรรธพร แบ่งปันประสบการณ์
ดร.นรรธพร ยังชี้ประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเชื่อใจว่า ประเทศไทยเรามีมรดกทางวัฒนธรรมหลายอย่าง อาจดูเหมือนมีปัญหาเต็มไปหมด แต่หากหาจุดใหญ่ร่วมกันได้ เราก็จะเดินไปด้วยกันบนความเชื่อใจว่าคนที่ร่วมทางเดินเดียวกับเราต่างก็คิดดีกันทั้งนั้น ไม่มีใครเข้ามาทำการศึกษาเพราะอยากรวย อยากได้ประโยชน์ส่วนตัว ทุกคนต่างก็อยากเห็นประเทศชาติดีขึ้น
วิธีการง่ายที่สุดและทำได้เลยคือ เริ่มจากตัวเราเองที่ ‘เปิดไพ่’ เริ่มให้ความเชื่อใจและความไว้วางใจคนอื่นก่อน แต่ไม่ใช่ความเชื่อใจแบบหูหนวกตาบอด ต้องประเมินสถานการณ์ พร้อมกันนั้นก็ต้องยอมรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เราสื่อสารและทำงานด้วยกัน
ต้นธารความเชื่อใจ สรรหาครูที่มีใจรักการสอน
ในฐานะอดีตครูระดับปฏิบัติการ ครูเก่ง กรวรรณ คิดว่าสิ่งสำคัญที่ช่วยบ่มเพาะความเชื่อใจในตัวครูได้คือ ต้นธารการผลิตครูหรือระบบบรรจุครูที่ต้องคัดเอาคนที่รักในอาชีพครูจริงๆ เสียก่อน จากนั้นการสร้างความเชื่อใจจะตามมาได้ไม่ยากเลย หากครูรักในอาชีพของตน ครูจะเมตตา ซื่อสัตย์ และเปิดกว้าง ต่อให้ต้องเจอเด็กที่พิเศษ ครูก็จะพัฒนาศักยภาพตนเองจนสอนเด็กให้ได้ บรรยากาศความเชื่อใจระหว่างเพื่อนร่วมงานซึ่งรายล้อมไปด้วยคนที่รักในอาชีพของตัวเองก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะทุกคนมีจุดมุ่งหมายตรงกัน เมื่อเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ก็จะพยายามทำความเข้าใจกัน ไม่โทษกันหรือจับผิดกัน หากเราคิดเหมือนกันว่าเด็กจะต้องดีขึ้น การเรียนจะต้องสัมฤทธิผล เราจะร่วมมือร่วมใจและไม่ระแวงกัน
นอกจากนี้ ครูเก่งมองว่าผู้ปกครองเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาด้วย ผู้ปกครองถือว่าเป็นครูคนแรกของเด็ก ครูคนแรกกับครูคนที่สองก็ควรจะมีเป้าหมายการศึกษาและทำงานร่วมกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น
เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและการประเมินนั้น ครูเก่งแนะนำว่าควรกำหนดเป้าหมายการศึกษาตามพัฒนาการและเงื่อนไขของเด็กแต่ละคนด้วย เนื้อหาแต่ละระดับชั้นเหมาะสมกับช่วยวันนั้นๆ หรือไม่ รวมทั้งการรับฟังเสียงของครูหน้างานจริงๆ ในกรณีที่เกิดปัญหาอะไรขึ้น ต้องฟังคนหน้างานจึงจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด มิเช่นนั้นก็แก้กันผิดที่ผิดทาง ไม่ตรงจุด และจะกลายเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมาเสียอีก
“ท่านกำหนดคุณภาพผลผลิตอลังการงานสร้างมาก แต่สำหรับเด็กบางคนโดยเฉพาะเด็กพิเศษในพื้นที่พิเศษ แค่เอาตัวให้รอดก็ยากแล้ว แต่ท่านก็กำหนดเป้าหมายเหมือนจะพาเด็กไปแข่งดาวอังคาร มันไม่ใช่ การกำหนดคุณภาพของเด็กต้องดูความเหมาะสมด้วย ไม่ใช่นึกอยากจะสั่งอะไรก็สั่ง ส่วนการประเมินครู ครูไม่ปฏิเสธการประเมินอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้ตรงจุด คนที่มาประเมินก็ควรเป็นคนที่รู้เห็นพัฒนาการของเด็กด้ว เช่น หากผู้ปกครองได้มาเห็นพัฒนาการของลูกหลานว่าวันนี้เขาก้าวไปได้หนึ่งก้าว สองก้าว หรือสามก้าว พัฒนาจากเมื่อวานนี้มากแค่ไหน ความเชื่อใจมันก็เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยที่เบื้องบนไม่ต้องไปเสียเงินจ้างสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จ้างผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายแหล่มาประเมินให้เปลืองงบประมาณเลย” – ครูเก่งสะท้อนประสบการณ์
ประเด็นการสรรหาบุคลากรที่มีใจรักในอาชีพครู สอดคล้องกับ ดร.อุดม วงศ์สิงห์ ซึ่งกล่าวว่า กสศ.เองก็ฉุกคิดได้ว่ามีภาพฝันที่อยากเห็นครูที่รักในอาชีพเช่นกัน โดยขณะนี้มีการดำเนินนโยบายสองส่วนคือ
หนึ่ง พัฒนาคุณภาพโรงเรียนและคุณครูที่อยู่ในระบบ โดยเริ่มจากทำความเข้าใจว่าครูต้องเจออะไรบ้าง ตั้งแต่ระบบการประเมินครู หรือการประเมินเด็กที่ต้องสอบมิดเทอม ปลายเทอม สอบประจำปี หรือสอบวัดผลส่วนกลาง หากครูคนหนึ่งๆ ต้องเจอสถานการณ์แบบนี้คนเดียว ย่อมไม่ไหวแน่ ครูในโรงเรียนจึงจำเป็นต้องจับมือกัน บางครั้งต้องรวมตัวกันไปต่อรองกับผู้บริหารเสียอีก กสศ.ทำตัวเป็นผู้สนับสนุนอำนวยความสะดวก จัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเสนอต่อโรงเรียน คำถามแรกคือ “สนใจจะทำไหม” โดยจะไม่ใช้ระบบบังคับหรือสั่งการโดยเด็ดขาด แต่ใช้วิธีเชิญชวนหรือเลือกโรงเรียน กสศ.ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและให้ความเชื่อมั่นว่า หากเข้าร่วมกระบวนนี้แล้วเด็กจะได้อะไร โรงเรียนจะเป็นอย่างไร โดยตัวช่วยที่เราเพิ่มเข้าไปอาจจะเป็นเรื่องข้อมูล เช็กขาดลามาสาย อันจะทำให้ครูทำงานง่ายขึ้น
สอง สร้างครูรุ่นใหม่ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู ไม่เพียงครูที่รอบรรจุแต่หมายถึงครูในอนาคตด้วย จึงเกิดเป็นโครงการครูรักษ์ถิ่น เสาะหาเด็กที่มีใจรักอยากเป็นครูจริงๆ แล้วนำมาเข้าหลักสูตรครูสี่ปี ว่าที่ครูซึ่งเข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องรู้ว่าจะได้ไปทำอยู่ในพื้นที่ไหน เพราะเขาต้องสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน เขาต้องไปสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน วางรากฐานตั้งแต่ต้นทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บรรจุครูปีละ 20,000 คน ขณะที่ กสศ.ผลิตครูแบบนี้ปีละ 300 คน ห้าปีเท่ากับ 1,500 คน ความท้าทายต่อไปคือ ในเชิงระบบที่บรรจุครูปีละเป็นหมื่นคนนี้ จะทำอย่างไรให้ได้ครูแบบที่เราทำได้
นวัตกรรมอาจไม่ใช่สิ่งใหม่
เมื่อพูดถึงนวัตกรรมเชิงนโยบายหรือโครงสร้างที่จะช่วยบ่มเพาะความเชื่อใจในระบบการศึกษา ดูเหมือนวิทยากรทุกคนเห็นตรงกันว่านวัตกรรมอาจไม่ใช่สิ่งใหม่ สะท้อนผ่านคำตอบของ ดร.นรรธพร ว่า “นวัตกรรมที่ช่วยได้อาจไม่ใช่นวัตกรรมสวยหรูอะไรที่เราคิดไม่ออกมาตั้งแต่ต้น แต่น่าจะเป็นคุณภาพของนวัตกรรมที่มีอยู่มากกว่า”
ดร.นรรธพร ชวนขบคิดว่า ถ้าเราเป็นครู เรามองเด็กด้วยสายตาตรวจสอบจับผิดหรือเปล่า หรือเรามองหาโอกาสในการพัฒนาเด็ก ถ้าเราเชื่อว่าเด็กนักเรียนตื่นเช้ามาโรงเรียนทุกวันเพราะอยากจะมาเรียน ก็จะเกิดนวัตกรรมในหน่วยที่เล็กที่สุด นั่นคือ รูปแบบของบทสนทนาหรือพื้นที่พูดคุยกับเด็กให้เขาปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งนี่เกี่ยวข้องกับชุดความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ด้วย – “ฉันไม่ได้รู้ทุกอย่าง ทุกคนไม่ได้รู้ทุกอย่าง และฉันพร้อมเรียนรู้ ทุกคนพร้อมเรียนรู้” หากคิดแบบนี้ก็จะไม่ตั้งตัวเป็นผู้มีอำนาจที่จะคอยชี้นิ้วสั่งคนอื่น ซึ่งตัวมุมมองนี้ใช้ได้ตั้งแต่ระดับห้องเรียนจนถึงระบบการศึกษาทั้งระบบ ไปจนถึงการบริหารประเทศทั้งหมด
อีกประเด็นที่ ดร.นรรธพร ชี้ให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ซึ่งทุกคนพูดคุยแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ หลายคนพยายามสร้างพื้นที่เช่นนี้อยู่ แต่บางพื้นที่อ้างว่าเป็นเวทีพูดคุยกลับไม่ได้รับฟังใคร เพียงเชิญคนเพื่อให้ได้ชื่อว่ารับฟังแล้ว มีส่วนร่วมแล้วเท่านั้น นี่คือการใช้ระบบที่ดีอยู่แล้วในทางที่ผิด
นอกจากพื้นที่ปลอดภัยที่อนุญาตให้คนในชุมชนการศึกษาได้ล้มลุกคลุกคลาน ครูจุ๊ย กุลธิดา ชี้ว่าระบบสนับสนุนซึ่งกันและกันสำคัญไม่แพ้กัน แม้พื้นที่ปลอดภัยจะให้คนล้มได้และเริ่มใหม่หรือพัฒนาต่อได้ แต่เคว้งคว้างมากๆ และไปต่อไม่ถูก อย่างในฟินแลนด์มีระบบวานฮาตาติ (Vanha Täti – แปลว่าคุณป้า, อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ เชื่อใจในตัวครู) อันเป็นระบบเมนเทอร์ทั้งในระบบโรงเรียนและในระบบผลิตครู ที่คล้ายระบบนิเทศก์ในประเทศไทย วานฮาตาติคือ ‘ครูป้า’ ซึ่งเป็นครูผู้ใหญ่ใจดีจะนำประสบการณ์ของตัวเองมาเล่า อธิบาย และถามเป็นไอเดียกลับไปยังนักศึกษาครู ให้ว่าที่ครูได้สะท้อนคิดว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน และคุยกันแบบลงรายละเอียดมากๆ ถึงระดับว่าขนาดตัวอักษรที่นักเรียนเขียนบนกระดานเป็นอย่างไร เล็กใหญ่ไปหรือไม่ ทั้งนี้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในศักยภาพของกันและกัน
“ครูป้าบอกว่า ฉันสอนหนังสือมานานแล้ว ฉันเรียนรู้จากวิธีต่างๆ มามากมายแล้ว แต่นี่ก็เป็นโอกาสอันดีที่ฉันจะได้เรียนรู้จากคุณครูรุ่นใหม่ ส่วนครูรุ่นใหม่บอกว่า ฉันต้องการที่พักใจเหลือเกิน อยู่หน้าชั้นเรียนฉันกลัวไปหมดเลย ไม่รู้จะจัดการชั้นเรียนอย่างไร ระบบที่ดำเนินเช่นนี้เรื่อยไปจะพิสูจน์ความเชื่อใจซึ่งกันและกัน แม้ในโมงยามแห่งความอ่อนแอหรือเปราะบางที่สุดของเรา เราก็รู้ว่าเรามีคนที่จะช่วยโอบอุ้มเรา นี่คือคำว่า ‘เมตตา’ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของความเชื่อใจที่หนังสือกล่าวถึง” – ครูจุ๊ยให้ตัวอย่างระบบสนับสนุนครู
ครูจุ๊ยยังเล่าถึงการจัดสัมมนา (symposium) ที่ให้ครูในสาขาวิชาเดียวกันมาเจอกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันนั้นสำคัญมากทั้งในแง่ความภาคภูมิใจในวิชาชีพ เพื่อที่ในอนาคตจะมีแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองจนเป็นมืออาชีพมากขึ้น หรือในแง่การพัฒนาร่วมกันเป็นองค์รวมของวิชาชีพครู และอีกสิ่งที่เราจะลืมไม่ได้คือ สิ่งนี้สื่อสารกับสังคมด้วย มันสื่อสารกับสังคมว่าครูกำลังทำอะไรกันอยู่ ครูกำลังทำวิจัยการศึกษา ครูมีคุณภาพ ครูมีศักยภาพ ซึ่งจะยกระดับความเชื่อใจของทั้งสังคมไปพร้อมๆ กับที่มันเป็นเครื่องมือที่เอาไว้ทำงานเพื่อพัฒนาคุณครูจริงๆ ในประเทศไทยเองอาจมีบ้างแต่ยังค่อนข้างกระจุกตัว และเมื่อเกิดขึ้นก็ไม่ใช่ในลักษณะของ symposium ที่คุณครูได้เล่าว่าฉันทำอะไร ฉันภาคภูมิใจที่ได้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เป็นการลากครูออกนอกห้องเรียนไปอบรบ แล้วก็ผ่านไป
อย่างไรก็ตาม ครูจุ๊ยเห็นว่าอุปสรรคหนึ่งของครูไทยคือมีเวลาจำกัดเหลือเกิน ถ้าหากภาระงานของครูยังมหาศาลอยู่อย่างนี้ การที่เขาจะมีเวลาไปพัฒนาตัวเองหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูก็น้อยลงไปและทำได้ยาก
ครูจุ๊ยปิดท้ายว่า ครูเป็นอาชีพที่ไม่สามารถหยุดนิ่งแล้วทำซ้ำๆ ตลอดไปได้ ครูจำเป็นต้องช่วยนักเรียนฝึกฝนทักษะชีวิตที่เขาต้องนำไปใช้ในอนาคตด้วย ไม่ใช่แค่ในปัจจุบันอย่างเดียว ดังนั้นครูต้องเติบโตอยู่เสมอ และเมื่อวงการศึกษาเริ่มนำเสนอสู่สังคมว่าครูกำลังเติบโตและพัฒนาตัวเอง สังคมเริ่มมองเห็นมากขึ้น ความเชื่อใจก็ค่อยๆ ถูกบ่มเพาะขึ้น ดังนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกแบบกระบวนการสื่อสารของทั้งสังคมในระดับนโยบายว่า หนึ่ง ทำอะไรกันอยู่ สอง มีเรื่องราวของคนที่เขาพยายามแก้ปัญหาอะไรบางอย่างอยู่ โดยแตกออกมาจากคอนเซปต์ของความเป็นมืออาชีพ แล้วความเชื่อมั่นในตัวครูก็จะสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการออกแบบกระบวนการคัดเลือกครูที่เข้มข้นขึ้น คุณสมบัติสูงขึ้น และสังคมก็ยิ่งเชื่อมั่นมากขึ้นตามมา
ด้านครูเก่ง กรวรรณ ชี้ประเด็นเรื่องการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาระหว่างผู้ปกครองกับครูว่า น่าจะช่วยทำให้เกิดเป้าหมายร่วมกันได้ อย่างตนที่สอนระดับอนุบาล ก็เปิดใจคุยกับผู้ปกครองว่าเด็กอายุ 5 ขวบควรมีพัฒนาการด้านต่างๆ ในระดับใด ครูควรมีหน้าที่สื่อสารว่าพัฒนาการในเกณฑ์ปกติคืออะไร ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ หรือสมาธิ เมื่อผู้ปกครองรู้ว่าลูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ อ่อน หรือก้าวหน้าไปแล้ว การจัดการศึกษาก็จะดีขึ้น หากเด็กสมาธิอ่อน เราจะร่วมมือกันช่วยเด็กอย่างไรได้บ้าง ในลักษณะไหน และช่วยกันติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ประโยชน์ย่อมตกที่ตัวเด็ก
เมื่อพ้นวัยอนุบาล ครูเก่งคิดว่าการพูดคุยกันระหว่างครูถึงเด็กเป็นรายบุคคลว่าเด็กคนไหนพร่องเรื่องใด ควรเติมอะไร ความสัมพันธ์ของครูก็จะดีขึ้นด้วย ถ้าครูป.1 กับ ป.2 ไม่คุยกันเลยจะรู้ได้อย่างไร ถ้าครูประจำชั้นแต่ละชั้นสื่อสารกันไปเรื่อยๆ ในแต่ละระดับชั้นที่เด็กก้าวขึ้นไปก็จะเห็นเป้าหมายร่วมกันชัดขึ้น เด็กก็จะพัฒนาอย่างมีคุณภาพมากขึ้น และความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างครูก็จะเกิดขึ้นด้วย
ภาพฝัน วันที่เราเชื่อใจกัน
ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ทิ้งท้ายถึงภาพฝันว่า หากเรามีความไว้เนื้อเชื่อใจ จะเกิด ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ตามมา สำคัญที่สุดคือทำให้มนุษย์ทุกคนมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ และนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แน่นอน มันหมายความว่า ภาพใหญ่องค์รวมของประเทศก็จะดำเนินไปแบบพัฒนาด้วย นี่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญมากในการพัฒนามนุษย์และสังคมไปพร้อมๆ กัน
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร มองว่าหากมีความเชื่อใจจะประหยัดทรัพยากรในหลายๆ ด้าน หากเราไว้วางใจใครแล้ว เราก็ไม่ต้องไปทำงานแทนเขา หลายครั้งที่ผู้บริหารไปทำงานแทนลูกน้องเพราะไม่ไว้ใจ กลายเป็นไม่มีใครทำหน้าที่ของตัวเอง พยายามจะไปทำหน้าที่ของคนอื่น ฉะนั้น เราจะไม่มีเวลาทำอะไรเลย มัวแต่ทำงานจุกจิกยิบย่อยคิดหาเครื่องมือวิธีการในการจับผิด เป็นภาระทั้งทางเงินทอง เวลา และอารมณ์ ถึงที่สุดคือเมื่อสุขภาวะทางอารมณ์ไม่ดี คนเราก็หมดไฟ ไม่เหลือพลังในการสร้างสรรค์อะไรเลย
ครูเก่ง กรวรรณ บุญทันเสน กล่าวว่า หากสร้างความเชื่อใจได้ การพัฒนาจะเดินหน้าตรงตามจุดมุ่งหมายได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาสะดุดกับการประเมินที่ผิดจุดผิดวิธี ความสัมพันธ์ระหว่างครูไม้ 1, 2 และ 3 ระหว่างครูกับผู้ปกครอง ระหว่างครูกับเด็กก็จะดีงาม เพราะเรามีความเข้าใจร่วมกันและมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน
ดร.อุดม วงศ์สิงห์ กล่างปิดท้ายถึงตอนจบของหนังสือ เชื่อใจในตัวครู ที่ให้ครูทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนมุมมองและตัวอย่างของความเชื่อใจ ในไทยเองก็ควรมีเช่นกัน จึงอยากไปเยี่ยมเยียนครูทุกจังหวัด เหมือนที่ผู้เขียนได้ไปทุกรัฐในอเมริกา เราจะได้เจอครูที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำงานร่วมกับชุมชน และได้มาแลกเปลี่ยนกันในวงสนทนาเช่นนี้อีก
วงเสวนาสามชั่วโมงนี้ทิ้งประเด็นให้ขบคิดต่อเนื่องได้หลายข้อ เราอาจเห็นอุปสรรคของการสร้างความเชื่อใจ ตั้งแต่วัฒนธรรมความไม่เชื่อใจที่ตกค้าง มรดกระบบราชการที่แฝงฝังอยู่ในระบบการศึกษา และสายตาตรวจสอบจับผิดแต่ไม่รับผิดรับชอบ ทว่าขณะเดียวกัน เราก็เห็นโอกาสมากมายในการบ่มเพาะความเชื่อใจ ทั้งการปรับโฟกัสการประเมินให้ถูกที่ถูกทาง เพิ่มการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบเพื่อให้ทุกคนในชุมชนเห็นเป้าหมายปลายทางเดียวกัน เพิ่มความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลอย่างถ้วนหน้า ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ ‘การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน’ แล้วการมีส่วนร่วมและความเชื่อใจกันจะตามมาได้ไม่ยาก
อ่าน เชื่อใจในตัวครู (ฉบับย่อ) ได้ที่นี่
สั่งซื้อหนังสือ เชื่อใจในตัวครู ได้ที่นี่