Brief: Workshop “สอนเปลี่ยนชีวิต – 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน”

เรื่อง: ชาลิสา เพชรดง

 

แม้จะควบคุมปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือครอบครัว ที่เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ยาก และไม่ง่ายนักที่จะทำให้ภาพใหญ่ทั้งสังคมดีขึ้นมาได้พร้อมกันทันที แต่คงไม่ยากเกินไปหากเราจะร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการศึกษาที่เท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคน โดยเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ นั่นก็คือ ‘ห้องเรียน’ โดยมีครูผู้นำ ‘ชุดความคิดใหม่’ เข้ามาแทนที่ชุดความคิดแบบยึดติดหรือ fixed mindset เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาและพาเด็กทุกคนไปสู่ปลายทางความสำเร็จอันหลากหลาย

ในกิจกรรมเวิร์กช็อปออนไลน์ “POOR STUDENTS, RICH TEACHING – สอนเปลี่ยนชีวิต 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน” นำโดย พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และทีมกระบวนกรส่งเสริมการเรียนรู้มืออาชีพ เปิดโอกาสให้ครูและผู้ทำงานการศึกษาจากหลากหลายพื้นที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แบ่งปันแนวทางการนำชุดแนวคิดใหม่ทั้งเจ็ดไปปฏิบัติเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาโดยเริ่มที่ระดับเล็กๆ อย่าง ‘ห้องเรียน’ และมีองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาที่พร้อมสนับสนุนในเชิงนโยบายเพื่อให้ชุดความคิดใหม่เติบโตในห้องเรียนได้ดียิ่งขึ้น

ก่อนจะไปสำรวจประสบการณ์และแนวทางการนำเจ็ดชุดความคิดมาใช้ เรามาเริ่มสำรวจปัจจัยหลักที่ขวางไม่ให้เกิดเจ็ดชุดความคิดใหม่และการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้ ซึ่งก็คือ fixed mindset

 

เข้าใจ Fixed Mindset

 

พรนับพัน วงศ์ตระกูล ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านสามขา จ.ลำปาง แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิด fixed mindset ซึ่งมาจากประสบการณ์เดิม องค์ความรู้หรือข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรม และระบบการทำงาน เธอเสนอแนวทางการแก้ไขว่าครูสามารถเริ่มที่ตัวเองก่อน โดยปรับจากขอบข่ายงานตัวเองและสิ่งที่คนใกล้ตัวสังเกตเห็น หลังจากนำชุดความคิดใหม่มาใช้เองแล้วก็รวมชุดข้อมูลความคิดใหม่เหล่านี้ไปนำเสนอให้พ่อแม่และชุมชนของเด็กได้รับองค์ความรู้และวิธีปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต

“การที่เขามี fixed mindset อาจไม่ใช่เพราะเขาอยากเป็นแบบนั้น แต่อาจเป็นเพราะเขาไม่รู้ว่า growth mindset นั้นเป็นอย่างไร”

“เราเป็นครู ถ้าหากเราฟังด้วยใจที่คิดว่าจะทำให้ดีขึ้นต่อไปได้อย่างไร และไม่ตัดสิน เมื่อเราไม่มีชุดความคิดตัดสินนั้นแล้ว ก็จะทำให้เราพัฒนาตัวเอง และนำเสนอ growth mindset สู่ผู้อื่นได้”

อีกที่มาของ fixed mindset อาจมาจากความกลัว

“จุดเริ่มต้นของความคิดนั้นมาจากเขาต้องการให้เรากลัวหรือเปล่า คนส่งต่อชุดความคิดนี้เพราะกลัว จึงส่งต่อความกลัวนี้ไปใส่เด็ก กับระบบงาน กับการส่งทอด เพื่อให้ความกลัวของเขาไม่ปรากฏ”

พฤหัสขยายความเรื่องความกลัวที่คอยปิดกั้นเราจากความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

“เรามีความกลัวหลายอย่าง กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวผิด กลัวไม่ได้มาตรฐาน กลัวจะไม่ได้รับรางวัล กลัวหลายอย่าง ในโลกของการเป็นครูและโลกของการศึกษา เราถูกกดไว้ด้วยความกลัวเยอะมาก แต่ถ้าเราเห็นความเป็นไปได้บางอย่างที่จะค่อยๆ เพิ่มความกล้า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นว่าหลายๆ อย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้”

 

 

1. ชุดความคิดสานสัมพันธ์

 

อุฬาชา เหล่าชัย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แบ่งปันวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับนักเรียนโดยการฟังและสังเกตให้มาก ครูควรทำให้นักเรียนรู้สึกว่าครูเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาคุยด้วยได้ รับฟังเขา พูดเรื่องที่นักเรียนสนใจ ใช้สื่อที่เป็นความสนใจในวัยนั้น ให้นักเรียนรู้สึกว่าครูเข้าใจเขา จะทำให้การสร้างความสัมพันธ์ง่ายขึ้น ถ้าครูไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนมากพอ ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยมากพอที่นักเรียนจะพูดคุยด้วย ครูก็ไม่สามารถรู้ถึงสาเหตุพฤติกรรมของนักเรียนได้

“ทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะพูดได้ รับฟังเขา พูดภาษาเดียวกันกับเขา ใช้วิธีการพูดถึงสิ่งที่เขาสนใจหรือใช้การพูดคุยตัวต่อตัว ถ้าหากเราไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กมากพอ  ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่เขารู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะพูดกับเรา เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า พฤติกรรมของเด็กมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงแสดงพฤติกรรมแบบนี้ ”

 

2. ชุดความคิดแห่งความสำเร็จ

 

น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวิธีการพานักเรียนไปถึงเป้าหมายที่นักเรียนต้องการ อย่างแรกคือการวางเป้าหมายร่วมกัน ต่อมาเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องวิเคราะห์ว่าเด็กแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือหรือแรงสนับสนุนอะไรบ้าง เช่น เด็กบางคนต้องการความช่วยเหลือด้านวิชาการ บางคนอาจต้องการแรงสนับสนุนในรูปแบบของกำลังใจ บรรยากาศเชิงบวก หรือกลุ่มสนับสนุน ครูควรเสริมเด็กในสิ่งที่เขาต้องการ ครูจะรู้ถึงสิ่งที่เด็กต้องการได้จากการที่ครูสังเกต เมื่อทราบว่านักเรียนต้องการอะไรก็ให้การสนับสนุนเขาในจังหวะที่เหมาะสม และเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างครูกับเด็ก นอกจากครู ผู้ปกครองยังเป็นอีกแรงสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยเด็กบรรลุเป้าหมายได้

ภาตะวัน โตปินใจ ครูโครงการทีชฟอร์ไทยแลนด์รุ่นที่ 5 ปัจจุบันสอนที่โรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์ แบ่งปันประสบการณ์ที่เคยสนับสนุนชุดความคิดสู่ความสำเร็จให้กับนักเรียน โดยพยายามบอกนักเรียนว่า “ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ ไม่ว่าทุกคนจะยกมือหรือไม่ยกมือ ในทุกๆ คาบอยากเห็นทุกคนลองเอาชนะใจตัวเองให้ได้ พยายามเพิ่มความพยายามทั้งของตัวครู ว่าครูก็อยากเห็นความสำเร็จและนักเรียนก็พยายามทำให้ครูเห็น จะทำให้ครูกับนักเรียนไปด้วยกันได้”

 

กิจกรรมเวิร์กช็อปออนไลน์ “Poor Students, Rich Teaching” นำโดย พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ กลุ่มมะขามป้อม

3. ชุดความคิดเชิงบวก

 

คงวุฒิ นิรันตสุข ศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มูลนิธิปัญญาวุฑฒิ แบ่งปันความคิดเห็นว่า ชุดความคิดเชิงบวกไม่ใช่เน้นไปที่การใช้คำพูดที่ดีหรือคำพูดที่เพราะ แต่หมายถึงการพูดข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาและจริงใจในเวลาที่เหมาะสม

“การที่เขาจะเกิดแรงสนับสนุนเชิงบวกทางความคิด ครูต้องเปิดโอกาสให้เขาก่อน เขาต้องได้ทำบางอย่างก่อน และครูใช้จังหวะนั้นพูดความจริงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่จริง การคิดเชิงบวกไม่ใช่การพูดดี พูดเพราะอย่างเดียว แต่หมายถึงการพูดความจริงภายใต้ความจริงที่คนคนนั้นเจอ”

คงวุฒิเสริมเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนจะนำชุดความคิดเชิงบวกไปใช้ในห้องเรียนอีกด้วยว่าครูจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือความคิดเชิงลบ เพื่อให้สามารถกำจัดความคิดเชิงลบออกไป และเปิดทางให้ความคิดเชิงบวกเกิดขึ้นได้

“การที่เราจะเริ่มต้นไปสอนเด็ก หรือจะเริ่มต้นไปสร้างทัศนคติเชิงบวกให้เด็กได้ เราจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือเรื่องลบที่เกิดขึ้นกับตัวเราก่อน พอเราเห็นตัวเองชัดเมื่อไร เมื่อนั้นเราจะเริ่มขจัดสิ่งลบๆ ออกไป  และมันจะกลายเป็นเชิงบวกเอง”

เป็นความจริงที่ว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกปัจจัยและทุกพื้นที่ที่สร้างความคิดเชิงลบได้ แต่คงวุฒิชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนสามารถเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถสร้างความคิดเชิงบวกให้เด็กๆ ได้

จะทำอย่างไรให้ความคิดเชิงบวกหล่อหลอมชีวิตคนคนหนึ่งได้ แน่นอนว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนที่บ้านได้ เพราะไม่สามารถควบคุมปัจจัยหลายอย่างในสังคมได้ แต่ในพื้นที่โรงเรียนที่เราสามารถสร้างพื้นที่ชุดความคิดเชิงบวกที่ดี จะค่อยๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

แน่นอนว่าการเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก บางครั้งสาเหตุที่ไม่มีใครเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเพราะกลัวความผิดพลาดและคิดว่าไม่สามารถพัฒนาต่อจากความล้มเหลวไปได้ แต่คงวุฒิกลับเห็นต่าง

 “ในพื้นที่การศึกษา เราต้องเชื่อก่อนว่าเราผิดพลาดได้ไม่จำกัดครั้ง ขณะเดียวกันเราก็จะได้เรียนรู้ไม่จำกัดครั้งเช่นกัน”

อับดุลยามีน หะยีขาเดร์ โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี แลกเปลี่ยนในประเด็นที่ว่าเด็กแต่ละคนอาจมีภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ในระดับที่ต่างกัน แต่ครูสามารถช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนมีภูมิคุ้มกันและเกิดความคิดเชิงบวกได้

“ครูมีบทบาทสำคัญมากที่จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดี จากการที่เราให้กำลังใจเขาและนำคำพูดเหล่านั้นสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับเขา เพื่อให้เขามีกำลังใจใช้ชีวิตต่อ”

 

4. ชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์

 

วรรณพร เพชรประดับ สำนักข่าวเด็กและเยาวชน จ.พะเยา แบ่งปันวิธีเสริมสร้างบรรยากาศเพื่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพของนักเรียน สิ่งสำคัญคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและปราศจากการตัดสิน

“สิ่งที่สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ของห้องเรียนคือ พลังบวก การไม่ตัดสิน การให้พื้นที่มีส่วนร่วม การให้ความถนัดนักเรียนเล่าเรื่องที่ตัวเองสนใจทำให้เกิดความภาคภูมิใจ การสนใจเรื่องเดียวกัน และเป็นเรื่องที่มีคุณค่าระหว่างนักเรียนกับครู”

นอกจากนี้ วรรณพรยังกล่าวถึงตัวอย่างกิจกรรมในห้องเรียนที่น่าสนใจ คือการพูดหน้าห้อง ในหัวข้อ “เรื่องเล่าสุดโหด” มีนักเรียนคนหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์ที่เขากลายเป็นคุณพ่อในวัยเรียน ทำให้ชีวิตพลิกผัน ต้องทำงานและดูแลลูก และทิ้งท้ายว่าสาเหตุที่เขากลับมาเรียนเพราะอยากเป็นตัวอย่างให้ลูก การแลกเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีการตัดสินว่าถูกหรือผิด และมีพื้นที่ปลอดภัยระหว่างครูและนักเรียนให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น

สำหรับหลายห้องเรียนที่มีข้อจำกัดด้านเวลา เมธาวี ศิริวงศ์ โรงเรียนอนุบาลตำบลนิคมพัฒนา จ.ระยอง ได้เสนอแนวทางแก้ไขด้วยการกำหนดธีมหรือคำสำคัญหนึ่งคำเพื่อเป็นเป้าหมายหลักสำหรับคาบเรียนของวันนั้น

“เพื่อสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศบริบูรณ์ของห้องเรียนแม้มีข้อจำกัดเวลาและเนื้อหา สามารถทำได้โดยกำหนดคำที่เราอยากสร้างความรู้สึกในบรรยากาศแต่ละคาบ เช่น ในคาบแรก ‘อยากรู้จัก’ เราก็ต้องเชื่อมโยงกับนักเรียน”

 

5. ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน

 

หลังจากแลกเปลี่ยนภายในกลุ่มย่อย ปทิดา โมราศิลป์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ได้แบ่งปัน 3 ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพนักเรียน ดังนี้

  • ลักษณะคำถามปลายเปิดที่ช่วยเสริมศักยภาพผู้เรียนที่เปิดโอกาสให้โต้เถียงพูดคุยกัน หาเหตุผลมาสนับสนุนกัน และเป็นโจทย์ที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม เพื่อที่จะสร้างความท้าทายให้นักเรียนไปค้นหาความรู้ใหม่
  • บทบาทของผู้สอน ครูเองก็ต้องมีบทบาท ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของเด็กๆ เปิดกว้างให้เด็กมีคำตอบหลากหลาย เพื่อให้มีวิธีการใหม่ๆ ในห้องเรียน
  • เข้าใจความหลากหลายของผู้เรียน ไม่ว่าห้องเรียนเล็กหรือใหญ่ เด็กมีศักยภาพการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน บางคนถนัดเรียนจากภาพ บางคนถนัดฟัง บางคนถนัดการอ่าน บางคนถนัดการลงมือปฏิบัติจึงจะจำได้ กิจกรรมของห้องเรียนต้องหลากหลาย เพื่อดึงศักยภาพที่ต่างกันของเด็กออกมา

 

ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมเรื่องการตั้งคำถามที่ดี จะช่วยให้นักเรียนกระหายและอยากเรียนรู้ด้วยตนเองต่อไป

“คำถามที่ดีต้องหล่อเลี้ยงความอยากรู้ของเด็กเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้เด็กอยากหาความรู้เอง วันหนึ่งเขาอาจเริ่มตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบของตัวเองได้ นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต”

 

 

6. ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วม

 

วัชรี เกษพิชัยณรงค์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มที่การแลกเปลี่ยนเรื่องข้อจำกัดที่ทำให้ไม่เกิดส่วนร่วมในห้องเรียน โดยมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกตัวนักเรียน

  • ปัญหาที่ตัวเด็ก เช่น สุขภาพทั้งกายและใจ
  • นักเรียนมีความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรม หรือชุดความคิดพื้นฐาน เช่น เด็กบนดอยพูดภาษากลางไม่ชัด ทำให้อาย ไม่กล้าแลกเปลี่ยนความเห็นในห้องเรียน
  • เด็กไม่เข้าใจจุดประสงค์ของสิ่งที่ครูให้ทำ

นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างการมีส่วนร่วมในห้องเรียนที่หลากหลาย

  • ครูบอกจุดประสงค์ว่า วันนี้อยากได้อะไร เป็นการตรวจสอบความต้องการของครูและนักเรียนว่าตรงกันไหม
  • ใช้กิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การสวมบทบาท เกม ที่ท้าทายพอและเหมาะสมกับช่วงวัย และทำให้เห็นว่าสามารถหยิบมาใช้ได้
  • ตั้งคำถามที่เปิดเข้าสู่การเรียน ใกล้ความสนใจนักเรียน มีความท้าทาย มีชั้นเชิงในการถาม
  • อย่ากลัวการเสียเวลาในการสำรวจบรรยากาศความรู้สึกของเด็กในห้อง เพื่อให้สามารถปรับการสอนได้สอดคล้องกับบรรยากาศนั้นๆ
  • มีแผนสำรองสำหรับกิจกรรมในชั้นเรียน เพราะบางกิจกรรมลองทำมาหลายครั้งแล้วดี แต่ครั้งนี้อาจไม่ได้ผลก็ได้
  • ยิ่งครูรู้จักเด็กมากว่าเขามีพื้นเพหรือความต้องการอะไร ครูจะยิ่งสามารถออกแบบกิจกรรมเขามีส่วนร่วมได้ดีมากขึ้น

 

7. ชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา

 

น้ำค้างแบ่งปันจากการแลกเปลี่ยนความเห็นว่า หลายคนมองว่าคนที่ผ่านกระบวนการที่ครูได้ฝึก ควรรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้หรือไปเรียนต่ออะไรได้ การพานักเรียนไปสู่การสำเร็จการศึกษานั้นอาจใช้ศิลปะ กีฬา ดนตรีเข้ามาร่วมช่วย เช่น ใช้ศิลปะฝึกสมาธิ สร้างสรรค์ การฝึกปีนต้นไม้ เพื่อฝึกการจัดการความเพียรพยายาม (grit management) กิจกรรมแหวกแนวเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างสมรรถนะให้นักเรียนไปต่อหลายๆ เรื่องโดยไม่รู้ตัว

คงวุฒิเสริมเรื่องทักษะที่นักเรียนจะได้จากกิจกรรมปีนต้นไม้ ว่าการที่เราเคยฝึกปีนต้นไม้ เพื่อประเมินว่าเราจะเอาตัวรอดไหม เป็นทักษะการประเมินความเสี่ยงต่อชีวิตและทักษะการประเมินสถานการณ์ในขณะนั้น เมื่อวันหนึ่งเจอสถานการณ์เหล่านั้นปะทะขึ้นมา ประสบการณ์จะถูกดึงมาใช้โดยที่ไม่ต้องตั้งใจจำ

“การศึกษาเพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิตจริงๆ เป็นการทำให้เขารู้ตัวภายใต้สถานการณ์ ครูออกแบบกระบวนการไว้ พอถึงวันหนึ่งที่เขาเจอเหตุการณ์คล้านกัน เขาจะนึกออกว่า ครูเคยให้เขาต้องเจอแบบนี้ ทั้งที่ตอนนั้นเขายังไม่รู้หรอกว่าจะเอาไปใช้อย่างไร”

 

ร่วมสะท้อนคิด พลิกห้องเรียน เพื่อเด็กทุกคน

 

“ได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไปมากๆ ได้เติมพลังงานใหม่ๆ และดีใจที่เห็นคุณครูไม่ยอมแพ้เลย”

ภาตะวัน โตปินใจ แลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เขามองว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนทั้งเรื่องการทำงานในห้องเรียน ได้เห็นการทำงานที่ทำคล้ายคลึงกัน และแนวทางในการหาทางออกที่เกิดขึ้นในบริบทแต่ละโรงเรียน

สิ่งที่นำไปปรับใช้คือ ได้พัฒนาความคิดในการพัฒนาห้องเรียนต่างๆ นำไปใช้ในการปรับมุมมองของตนเองที่ต้องทำงานกับนักเรียน และจะนำไปผลักดันในการทำงานของตนเอง เข้าใจตนเองมากขึ้น และมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผ่านการลงมือในการสอนด้วยความเชื่อที่มีต่อตนเอง

ชุดความคิดที่ภาตะวันจะนำไปใช้ในห้องเรียนคือชุดความคิดสานสัมพันธ์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เขากำลังจะปรับการสอน และหาแนวทางทำความเข้าใจกับนักเรียนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจดจำชื่อของนักเรียน เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น ตลอดจนผลักดันให้พวกเขาจบการศึกษา พัฒนาตนเอง รวมถึงต่อยอดให้กับสังคมต่อไป

“แนวทางสำคัญในการพัฒนาห้องเรียนและการทำงานของผมคือ การมีมุมมองใหม่ๆ ในการทำงานของเราเสมอ อีกทั้งเชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ มองว่าครูมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันศักยภาพของความเป็นมนุษย์ รูปแบบการสอนที่สำคัญอยู่ที่เราจะมองการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และทุกอุปสรรคที่เกิดขึ้นเราจะเอาชนะได้โดยเริ่มต้นที่ความคิดของเรา” ภาตะวันกล่าว

สุกัญญา ไชยนุ โรงเรียนบ้านวังม่วง จ.เลย กล่าวว่าจะนำสิ่งได้เรียนรู้จากเวิร์กช็อปครั้งนี้ไปปรับใช้ในห้องเรียนตั้งแต่ที่มีการเปิดภาคเรียนใหม่ เธอเห็นว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือ “สอนเปลี่ยนชีวิต” สำคัญมากต่อการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน

“การทำความรู้จักกันและกันโดยอาศัยชุดความคิดสานสัมพันธ์ ทำให้ครูและนักเรียนใกล้ชิดกันมากขึ้น ช่วยให้นักเรียนเปิดใจ ไว้วางใจ กล้าพูด กล้าแสดงออก โดยกิจกรรมที่ดิฉันทำทุกเช้าก่อนเข้าเรียน คือ พูดคุยกับนักเรียนในเรื่องทั่วไปๆ เรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน ถามไถ่ความเป็นไปในชีวิตพวกเขา และปล่อยให้พูดออกมากโดยไม่ตัดสิน หรือขัดจังหวะ

“และตอนก่อนเลิกเรียน ดิฉันจะพยายามถามนักเรียนให้ได้ทุกคน ว่า วันนี้หนูสนุกไหม หนูชอบอะไรที่สุด พรุ่งอยากทำอะไรเป็นพิเศษ พรุ่งนี้หนูจะมาเจอครูไหม คุณครูอยากให้หนูมาเจอครูที่โรงเรียนนะ และดิฉันใช้วิธีขอคำมั่นสัญญาจากนักเรียนโดยการแปะมือ high five พรุ่งนี้เราจะมาเจอกันที่โรงเรียน”

ชุดความคิดสานสัมพันธ์นับเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาปรับใช้กับการเรียนการสอน ซึ่งสุกัญญาเห็นว่า การนำเอาชุดความคิดทั้ง 7 มาปรับใช้กับการเรียนการสอน อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สอนควรได้ลองใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน

“ทั้งนี้ นอกจากภารกิจปกติซึ่งดิฉันจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่แล้ว ก็ตั้งใจจะปรับตัวเองให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน เพราะเชื่อว่า ความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้นักเรียนกระหายการเรียนรู้ และอยากมาโรงเรียนทุกวัน” สุกัญญากล่าว

ในฐานะกระบวนกรเพื่อการเรียนรู้ คงวุฒิ นิรันตสุข กล่าวว่าจะนำสิ่งที่ได้จากเวิร์กช็อปไปเป็นหลักคิดในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้กับครูที่ทำงานในเครือข่าย ผ่านการถอดรหัสกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดสองวัน ทั้งในห้องใหญ่และห้องย่อย

โดยเฉพาะลำดับการเรียนรู้ และคำถามหรือเครื่องมือชวนคิดที่ใช้แสวงหามุมมองจากผู้เข้าร่วมเรียนรู้ สู่การสานพลังร่วมกัน ตลอดจนกรณีศึกษาต่างๆ ที่มีประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจ และเพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทในการสร้างชุดความคิดแต่ละด้าน หรือแต่ละบริบทของการจัดการเรียนรู้

ธนิตา สมบูรณ์ ศูนย์การศึกษาพิเศษ จ.นครพนม คิดว่าจะนำสิ่งที่ได้จากเวิร์กช็อปไปใช้ในการกระตุ้นผู้เรียน และทำความเข้าใจผู้เรียนเป็นรายบุคคล สร้างทักษะชีวิต และเตรียมพร้อมให้เด็กรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ด้วยตนเอง โดยครูเป็นผู้คอยช่วยเหลือ

“ชุดความคิดที่จะนำไปปรับใช้ได้จริงคือ ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วม ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วม ในช่วงการเรียนการสอน แจ้งวัตถุประสงค์ และเป้าหมายการเรียนรู้แต่ละครั้งเพื่อให้เด็กเตรียมตัว กระตุ้นถามนักเรียนเพื่อให้มีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย เช่น การเคลื่อนไหว พูดตามครู เล่นเกมเข้าสู่บทเรียน ให้นักเรียนออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน จับกลุ่มคุยถกประเด็นปัญหาที่ครูให้ นำเสนอในรูปแบบต่างๆ ที่นักเรียนสนใจ” ธนิตากล่าว

จีระนัน เสนาจักร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เห็นว่าทุกชุดความคิดสามารถนำไปใช้ได้จริง เพราะในการพัฒนานักศึกษาครูควรได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้นำชุดความคิดทั้งหมดไปใช้ในการปฏิบัติงาน ไม่ว่าการฝึกประสบการณ์ หรือออกไปประกอบอาชีพจริง

“เดิมได้มีการจัดการเรียนการสอนโดยการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับ 7 ชุดความคิดอยู่แล้ว เพียงแต่อาจไม่มีการแยกชุดความคิดอย่างชัดเจน เมื่อเข้าร่วมเวิร์กช็อปครั้งนี้จึงต้องกลับมาทบทวนในสิ่งที่เคยทำ ซึ่งเป็นการย้ำว่าไม่ควรละเลยกิจกรรมที่สอดคล้องกับ 7 ชุดความคิด และจะนำแนวทางที่ได้มาปรับใช้ให้เป็นระบบมากขึ้น

“นอกจากนี้ จะร่วมกับนักศึกษาคิดกิจกรรมให้หลากหลายมากขึ้นเพื่อจะได้นำตัวอย่างไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะการเปลี่ยน growth mindset ที่มีต่อ Poor Students’ และการเปลี่ยนวิธีสอนให้พัฒนาทั้งความรู้และความเป็นมนุษย์” จีระนันกล่าว

การญ์พิชชา กชกานน มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี มองว่าทั้ง 7 ชุดความคิดที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นชุดความคิดที่สามารถนำไปใช้ได้กับห้องเรียนในทุกระดับ เนื่องจากเป็น 7 ชุดความคิดที่ใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนในสภาพที่แตกต่างกัน

“หลังจากได้เข้าร่วมเวิร์กช็อป ยิ่งได้เห็นว่า ห้องเรียนที่มีความแตกต่างกันตามระดับของวัยผู้เรียนนั้น ผู้สอนเองก็ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างกันด้วย และผลที่เกิดกับผู้เรียนก็ต่างกัน ซึ่งทำให้ฉุกคิดได้ว่า การใช้ชุดความคิดทั้ง 7 ต้องมีความละเอียดลออมากขึ้น”

“สำหรับแนวทางการปรับใช้ในห้องเรียน คิดว่าจะนำชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพนักเรียนไปใช้จริงมากขึ้น เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมี growth mindset เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ ต้องขอบคุณเทคนิคดีๆ ที่ทุกคนได้แลกเปลี่ยนกันในเวิร์กช็อปครั้งนี้” การญ์พิชชากล่าว

 

หมายเหตุ: กิจกรรมเวิร์กช็อปออนไลน์ “POOR STUDENTS, RICH TEACHING – สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน” ต่อยอดจากหนังสือเล่มสำคัญที่สลายมายาคติเกี่ยวกับโอกาสและความสำเร็จ เพราะมีงานวิจัยยืนยันว่า ความเก่งไม่ได้มาจากดีเอ็นเอเท่านั้น เด็กทุกคนสามารถเติบโต พัฒนา และมุ่งสู่ความสำเร็จได้ หากเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถพัฒนาและเติบโตได้

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่