Brief – Workshop “เตรียมพร้อม เติบโต เติมเต็ม: ถอดนวัตกรรมการศึกษาฉบับ Summit School สู่อนาคตของเด็กทุกคน”

“ให้ลิงหัดบิน ให้ปลาปีนต้นไม้ ให้นกว่ายน้ำ แล้วจะได้เรื่องอะไร” เสียงตัดพ้อระงมโลกออนไลน์ “ความถนัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บุคลิกภาพของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ใครๆ ก็รู้”

ใครๆ ก็รู้… แต่เด็กๆ ทั่วประเทศยังต้องผ่านแบบทดสอบปรนัยฉบับเดียวกันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ใครๆ ก็รู้… แต่เด็กๆ ยังต้องนั่งหลังตรงแน่วเหมือนกัน ฟังคำอธิบายเดียวกัน ในห้องเรียนเดียวกัน และในเวลาเดียวกัน

ใครๆ ก็รู้… แต่แนวทางที่ให้ผลสัมฤทธิ์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยยังอยู่ยั้ง รถประจำทางบุโรทั่งที่ไม่เคยพาเด็กคนใดไปถึงปลายทางแห่งชีวิตอันผาสุกยังแล่นโขยกเขยกต่อไปบนถนนขรุขระ บางครั้งโขยกรุนแรงจนผู้โดยสารพลัดหล่น บางครั้งผู้โดยสารที่อดรนทนไม่ได้กระโดดลงมาเสียเอง

แล้วต้องเปลี่ยนอะไรหรือ… ถนนลูกรังสายนั้น รถประจำทางคันเดิม หรือพลขับที่นิ่งดูดาย ไม่แยแสว่าผู้โดยสารที่ต่างหายใจไม่ทั่วท้องจะเป็นอย่างไร

หรือต้องยกเครื่องทุกองค์ประกอบ

 

Brief – Workshop “เตรียมพร้อม เติบโต เติมเต็ม:
ถอดนวัตกรรมการศึกษาฉบับ Summit School สู่อนาคตของเด็กทุกคน”

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

เกือบยี่สิบปีที่แล้ว ทุกบ่ายวันศุกร์ในร้านอาหารเม็กซิกันใกล้โรงเรียน ไดแอน ทาเวนเนอร์ จะถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้ ขณะฟังครู หรือ ‘พลขับ’ จากโรงเรียนต่างๆ ปรับทุกข์กัน ก่อนสารภาพว่าความคาดหวังของพวกเขาต่อความสำเร็จของนักเรียนลดน้อยถอยลงเพียงใด “แค่มีชีวิตรอดก็ดีแล้ว” ว่าแล้วก็ถอนใจ “เขียนเรียงความได้สักสามย่อหน้าก็ดีแล้ว”

ทว่าไดแอนไม่เชื่อว่า ‘ก็ดีแล้ว’ นั้นเพียงพอ เธอจึงมุ่งมั่นสร้าง ‘ซัมมิต’ โรงเรียนใหม่ที่เด็กๆ จะได้รู้จักและเข้าใจตนเอง พัฒนาตนเองด้วยแนวทางของตนเอง และออกเดินทางอย่างมั่นใจด้วยความช่วยเหลือของครูผู้เอาใจใส่

รถประจำทางของเธอมีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ มีพลขับที่ใส่ใจ และไดแอนยังพยายามต่อไปเพื่อเปลี่ยนแปลงถนนขรุขระเส้นนี้ ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวการเติบโตของซัมมิตใน Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต ให้เด็กๆ ทั่วโลกไปถึงฝั่งฝันเช่นเดียวกับผู้โดยสารของเธอ

ครูเด้นท์ – ศราวุธ จอมนำ รองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระบวนกรในเวิร์กช็อป “เตรียมพร้อม เติบโต เติมเต็ม: ถอดนวัตกรรมการศึกษาฉบับ Summit School สู่อนาคตของเด็กทุกคน” ก็มีความฝันเดียวกัน

ครูเด้นท์ปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปออนไลน์อย่างที่เขาหวังให้แต่ละคนปฏิบัติต่อนักเรียนของตน ด้วยการให้แนะนำตัว บอกประสบการณ์การทำงาน และแรงจูงใจในการเข้าร่วมเวิร์กช็อปของตนเอง บ้างเป็นแม่ของลูกน้อย บ้างเป็นนักดนตรี บ้างเป็นครู เป็นว่าที่ครู หรือผู้สร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก ต่างบทบาท ต่างเรื่องราว แต่ทุกคนมีความหวังเดียวกัน คือการผลักดันเยาวชนสู่ฝั่งฝันด้วยกำลังที่ตนมี

เด็กทุกคนก็เป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ ต่างภูมิลำเนา ต่างฐานะ ต่างจุดแข็ง ต่างข้อจำกัด และแม้จะปรารถนาความผาสุกในชีวิตเหมือนกัน ความสุขนั้นก็ย่อมมีรูปร่างแตกต่างกัน และมีหนทางสมหวังไม่เหมือนกัน ปัญหาคือไม่มีผู้ใหญ่คนใดถาม และไม่มีผู้ใหญ่คนใดกระตุ้นให้พวกเขาตระหนักว่า ความแตกต่างนั้นไม่ใช่เครื่องกีดขวางบนเส้นทางสู่ความสำเร็จ

 

เด็กทุกคนก็เป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ ต่างภูมิลำเนา ต่างฐานะ ต่างจุดแข็ง ต่างข้อจำกัด และแม้จะปรารถนาความผาสุกในชีวิตเหมือนกัน ความสุขนั้นก็ย่อมมีรูปร่างแตกต่างกัน และมีหนทางสมหวังไม่เหมือนกัน ปัญหาคือไม่มีผู้ใหญ่คนใดถาม และไม่มีผู้ใหญ่คนใดกระตุ้นให้พวกเขาตระหนักว่า ความแตกต่างนั้นไม่ใช่เครื่องกีดขวางบนเส้นทางสู่ความสำเร็จ

 

 

เมื่อบอก ‘กฎ’ ของห้องเรียนออนไลน์ห้องนี้คือ “ทุกคนเท่ากัน เป็นกันเอง มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และรับฟังกันและกัน” แล้ว ครูเด้นท์จึงให้แต่ละคนหลับตา ระลึกถึง ‘การเรียนรู้’ ในอดีตที่ประทับใจที่สุด

“ไม่ต้องเป็นการเรียนรู้อะไรสำคัญๆ ก็ได้ ไม่ต้องเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้นก็ได้” เขาอธิบาย “จะเป็นการเรียนรู้หรือการตกผลึกของความคิดที่ไหน เมื่อไรก็ได้”

“การเรียนรู้ที่ประทับใจเกิดขึ้นในซานฟรานซิสโกค่ะ” ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปคนหนึ่งบอก “ที่ซานฟรานซิสโก อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวมีพายุ เมื่อเห็นความผันผวนของอากาศบ่อยๆ ก็คิดได้เองว่า ทุกสิ่งในชีวิตไม่ว่าจะหนาวหรือร้อน วันหนึ่งก็จะผ่านไป ไม่ต้องกังวล”

“ทุกคนรู้จัก ‘ไมโลโรงเรียน’ ใช่ไหมครับ อร่อยมาก แต่บางครั้งก็ร้อนมาก” ผู้เข้าร่วมอีกคนหนึ่งเล่าด้วยดวงตาเป็นประกาย “อาจไม่ใช่การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่การรอดื่มไมโลโรงเรียนทำให้ผมรู้วิธีสัมผัสเครื่องครัวที่ร้อนอย่างถูกต้อง ที่สำคัญคือรู้จักรอ เพราะต้องรอให้ไมโลโรงเรียนอุ่นพอจะดื่มได้”

บางครั้ง การเรียนรู้ก็เรียบง่ายกว่าที่ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจ และบางครั้ง — หรือหลายครั้งเสียด้วยที่การเรียนรู้งอกงามตามธรรมชาติ ผ่านการใช้ชีวิต การเล่น การสังสรรค์กับผู้อื่น นิยามของการเรียนรู้กว้างขวาง ผลแห่งการเรียนรู้หลากหลาย ไม่ใช่เพียงการมุมานะอ่านแบบเรียน หรือการทำแบบทดสอบมาตรฐานได้ดีเท่านั้น

“ทัศนคติของผมต่อการเรียนประวัติศาสตร์และตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปเมื่อตัดสินใจลงทะเบียนเรียนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยจริงๆ จังๆ ” อีกคนหนึ่งบรรยาย “ผมเกือบจะถอนรายวิชานั้นแล้ว ดีใจที่ตัดสินใจไม่ถอน”

‘ข้อมูล’ เชิงประวัติศาสตร์ของผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปคนนี้อาจไม่เปลี่ยนแปลง แต่เพียงการเปลี่ยนแปลง ‘ทัศนคติ’ หรือมุมมองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็นับเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่า เพราะขณะเผชิญหลายปัญหา หลากวิกฤตในชีวิตประจำวัน เพียงปรับเปลี่ยนทัศนคติได้ก็เหมือนมีชัยไปแล้วกว่าครึ่ง

“ชอบอ่านหนังสือมาก แต่จะซื้อหนังสือทุกเล่มพร้อมกันเงินคงขาดมือแน่ ตั้งแต่นั้นมาก็ตั้งใจศึกษาวิธีออมเงินจนหาแนวทางจัดการเงินของตัวเองได้ และก็ได้ช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่จัดการเงินไม่ได้ด้วย” อีกคนบอกอย่างภูมิใจ

 

บางครั้ง การเรียนรู้ก็เรียบง่ายกว่าที่ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจ และบางครั้ง — หรือหลายครั้งเสียด้วยที่การเรียนรู้งอกงามตามธรรมชาติ ผ่านการใช้ชีวิต การเล่น การสังสรรค์กับผู้อื่น นิยามของการเรียนรู้กว้างขวาง ผลแห่งการเรียนรู้หลากหลาย ไม่ใช่เพียงการมุมานะอ่านแบบเรียน หรือการทำแบบทดสอบมาตรฐานได้ดีเท่านั้น

 

เมื่อผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปทุกคนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ที่ประทับใจแล้ว ครูเด้นท์จึงชวนพวกเขาทบทวนว่า แล้วประสบการณ์เรียนรู้เหล่านี้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะได้คำตอบในไม่ช้าว่าลักษณะและผลของการเรียนรู้เหล่านั้นไม่ตายตัว มนุษย์ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตน กระบวนการเรียนรู้และความเร็วในการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะมนุษย์ต่างมีภูมิหลัง ทักษะ และบุคลิกภาพเฉพาะ ดังภาพด้านล่าง

 

 

เมื่อเข้าใจธรรมชาติแห่งการเรียนรู้แล้ว ก็ถึงเวลาที่พลขับกลุ่มนี้จะได้ถกเถียงกันว่าสภาพการสัญจรในปัจจุบันเป็นอย่างไร อะไรคืออุปสรรคขัดขวางไม่ให้พวกเขา รวมถึง ‘รถประจำทาง’ หรือพาหนะที่พาเด็กๆ ไปสู่จุดหมายอย่างห้องเรียนและโรงเรียน ตลอดจน ‘ถนน’ หรือการจัดการศึกษา นำเยาวชนสู่ปลายทางแห่งความสำเร็จ

คำตอบนั้นหลากหลายทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น “หลักสูตรและเนื้อหาที่ปราศจากความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน” “ครูที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะด้วยทัศนคติของครูต่อการเรียนรู้ จำนวนนักเรียนต่อห้องเรียน หรือภาระงานของครู” “ความสงสัยที่นำไปสู่การเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่งอกงาม ด้วยแนวทางการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการศึกษาที่ตายตัว” หรือ “เด็กขาดพื้นที่ปลอดภัยในการลองผิดลองถูก เข้าใจตนเองและกระบวนการเรียนรู้ของตน”

ฟังแล้วชวนกังวลเพราะแต่ละอุปสรรคพันตูเป็นร่างแหใหญ่ รัดรึงระบบการศึกษาไว้ไม่ให้กระดิกกระเดี้ย ถึงอย่างนั้น ครูเด้นท์ก็ยังให้กำลังใจ ‘นักเรียน’ ในวันนี้ของตน ด้วยการบอกว่าพวกเขาเริ่มแก้ไขปัญหาทั้งหลายวันนี้ ที่นี่ พร้อมกันได้ “ก่อนอื่น มาจับกลุ่มกันและออกแบบห้องเรียนที่ใช่ด้วยกันเถอะ! ”

ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปถูกแบ่งเป็นห้ากลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน ร่วมกันออกแบบห้องเรียนในฝันจาก ‘ความว่างเปล่า’ โดยจินตนาการว่าหากไม่มีเงื่อนไขเชิงนโยบายใดที่เหนี่ยวรั้ง ห้องเรียนเพื่อการเรียนรู้ที่แท้จริงจะ “มีบรรยากาศอย่างไร” “ครูมีบทบาทอย่างไร” และ “นักเรียนมีบทบาทอย่างไร”

เพราะขณะที่เป็นนักศึกษาปริญญาโทในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนั้น ครูคนหนึ่งของไดแอน ทาเวนเนอร์ ก็ขอให้เธอออกแบบโรงเรียนในฝันบนกระดาษเปล่าเช่นกัน การได้วาดฝันอันชัดเจนและไร้ข้อจำกัดนำไปสู่คำตอบใหม่ของการศึกษา ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ไดแอนได้มหาศาล เธอจึงสร้างหนึ่งในโรงเรียนที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเป็นโรงเรียนที่ ‘ไม่เหมือนใคร’  ได้ในที่สุด

 

 

เมื่อแต่ละกลุ่มออกแบบห้องเรียนในฝันเรียบร้อย และได้นำเสนอห้องเรียนนั้นด้วยความภูมิใจแล้ว ไม่ว่าใครก็ต้องประหลาดใจเพราะห้องเรียนที่ ‘ใช่’ หรือห้องเรียนที่เกื้อหนุนธรรมชาติแห่งการเรียนรู้ของพวกเขานั้นคล้ายคลึงกันมากทีเดียว

“ห้องเรียนต้องปลอดภัย” ดูเหมือนจะเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่ทุกคนเห็นพ้อง “ต้องทำให้เด็กๆ รู้ว่า ความผิดพลาดและการลองผิดลองถูกเป็นธรรมชาติของการเรียนรู้และพัฒนาการของมนุษย์” ดังนั้น เด็กๆ ต้องไม่ถูกตัดสินหรือตีตราว่า ‘ล้มเหลว’ เพียงเพราะความคิดเห็นของพวกเขาไม่ใช่ความคิดเห็นที่ครูคุ้นเคย หรือเพียงเพราะพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จในวันนี้

แน่นอนว่าห้องเรียนจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยเช่นนั้นได้ ครูย่อมไม่ใช่ “ผู้ตัดสิน” หรือ “ผู้ผูกขาดองค์ความรู้” หรือเป็นเพียง “ผู้บรรยาย” ที่ไม่รู้และไม่ใส่ใจว่าผู้ฟังเข้าใจหรือไม่ ทว่าครูต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator) คือเป็นผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและเอาใจใส่เด็กทุกคน เข้าใจกระบวนการเรียนรู้และความต้องการของพวกเขา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เด็กๆ ในห้องเรียนอย่างเหมาะสม

ครูต้องมีหัวใจที่เปิดกว้าง เคารพความหลากหลายและไม่ตัดสินนักเรียน ทั้งยังพร้อมพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเชื่อว่ามนุษย์นั้นเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้ไม่ได้สิ้นสุดเมื่อสำเร็จการศึกษา เมื่อครูเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่ตีตราเด็กคนใดว่าไม่มีวันประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น

 

ครูต้องมีหัวใจที่เปิดกว้าง เคารพความหลากหลายและไม่ตัดสินนักเรียน ทั้งยังพร้อมพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเชื่อว่ามนุษย์นั้นเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้ไม่ได้สิ้นสุดเมื่อสำเร็จการศึกษา เมื่อครูเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่ตีตราเด็กคนใดว่าไม่มีวันประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น

 

ขณะเดียวกัน นักเรียนก็ต้องได้รับการบ่มเพาะให้กล้าคิด กล้าพูด กล้ามีส่วนร่วมในชั้นเรียน อันเป็นผลจากความพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยของผู้ใหญ่นั่นเอง เมื่อนักเรียนได้เป็นตัวของตัวเอง กล้าเสนอความคิดเห็นของตน กล้าบอกว่าตนต้องการอะไรและต้องเรียนรู้ด้วยวิธีใด ด้วยความเชื่อว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการเติบใหญ่ พวกเขาก็จะเป็นผู้พัฒนาตนเองได้อย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน ยิ่งกว่านั้น ผู้สนับสนุนการเรียนรู้ของพวกเขาก็จะส่งเสริมเด็กๆ เหล่านี้ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพด้วย

ห้องเรียนในซัมมิตซึ่งสามารถผลักดันเด็กๆ กว่าร้อยละ 99 ให้เข้ามหาวิทยาลัยและประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วน ทั้งยังไม่ใช่เพียงห้องสี่เหลี่ยมที่หลายคนคุ้นเคย! ซัมมิตมีทั้งห้องเรียนที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง มีครูและไม่มีครู มีทั้งห้องเรียนยามวิกาล ยามเช้า และยามบ่าย ที่นักเรียนจะเก็บเกี่ยวองค์ความรู้เมื่อไรก็ได้ตามแต่พวกเขาต้องการ

 

แนวทางการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่ซัมมิต

 

เพราะซัมมิตเชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้ของแต่ละคนแตกต่างกันนี่เอง ‘ห้องเรียน’ ของซัมมิตจึงมีทั้งห้องเรียนทั่วไป ทั้ง ‘เพลย์ลิสต์การเรียนรู้’ ที่คณะครูเป็นผู้ออกแบบและเรียบเรียงเนื้อหาตลอดจนแบบฝึกหัด ให้เด็กๆ เรียนรู้และเลือกเวลาทดสอบความเข้าใจด้วยตนเอง ทั้ง ‘บาร์กวดวิชา’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านไอทีในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งนักเรียนที่ประสบปัญหาในการเรียนรู้สามารถไปที่บาร์และขอความช่วยเหลือจากครูวิชานั้นๆ ได้โดยตรง

เห็นได้ชัดว่าห้องเรียนที่ใช่ย่อมเป็นไปได้ในโรงเรียนที่ใส่ใจ และในระบบการศึกษาที่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างแท้จริง ครูเด้นท์ปล่อยให้นักเรียนของเขาอิ่มเอมด้วยความหวังและความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเยาวชนสู่ปลายทางแห่งชีวิตอันผาสุกครู่หนึ่ง แล้วถามพลขับทั้งหลายว่า “โรงเรียนและระบบการศึกษาแบบใดที่จะให้ชีวิตแก่ห้องเรียนในฝันของพวกเราได้”

การยกเครื่องรถประจำทางทั้งคันและปรับปรุงถนนใหม่อาจเกินกำลังพลขับคนหนึ่ง ทว่าครูเด้นท์กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปเชื่อว่า หากสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีความปรารถนาดีต่อเยาวชนได้แล้ว ฝันนั้นย่อมไม่ไกลเกินฝัน ก้าวแรกของพวกเขาอาจเป็นก้าวเล็กๆ แต่หากทุกคนก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน และเป็นกระบอกเสียงส่งต่อความหวังนี้ถึงผู้มีความฝันคนอื่นๆ ก้าวน้อยๆ ในวันนี้ ก็จะเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของระบบการศึกษาไทยในวันหน้า

เมื่อได้รับกำลังใจแล้ว พวกเขาจึงเริ่มต้นถกเถียงกันอีกครั้ง ผู้บริหารแบบใดกันที่เปิดโอกาสให้ครูสร้างห้องเรียนที่ใช่ หากไม่ใช่ผู้บริหารที่มีหัวใจเปิดกว้างและเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ที่หลากหลาย ผู้บริหารที่เปิดโอกาสให้บุคลากรโรงเรียนและกระทั่งนักเรียนเองออกแบบแนวทางการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้ข้อเสนอแนะและชี้ให้เห็นปัญหาในโรงเรียนอย่างตรงไปตรงมา

จะสร้างผู้บริหารเช่นนั้นได้ ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาก็ต้องเป็นผู้มีหัวใจเปิดกว้างเช่นกัน ต้องยอมรับแนวทางที่แตกต่างจากความปรารถนาของตนอย่างบริสุทธิ์ใจโดยเห็นแก่ประโยชน์ของเยาวชน เพราะการยอมรับและเข้าใจความหลากหลายเป็นประตูสู่การพัฒนานโยบายอย่างตรงจุด เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง การออกแบบหลักสูตรการศึกษา และการกำหนดแนวปฏิบัติด้านการศึกษาโดยคำนึงถึงความต้องการของคนทุกกลุ่ม เปิดโอกาสให้ทุกคนประสบความสำเร็จด้วยความสามารถและแนวทางของตนอย่างเท่าเทียม

 

ผู้บริหารแบบใดกันที่เปิดโอกาสให้ครูสร้างห้องเรียนที่ใช่ หากไม่ใช่ผู้บริหารที่มีหัวใจเปิดกว้างและเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ที่หลากหลาย ผู้บริหารที่เปิดโอกาสให้บุคลากรโรงเรียนและกระทั่งนักเรียนเองออกแบบแนวทางการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้ข้อเสนอแนะและชี้ให้เห็นปัญหาในโรงเรียนอย่างตรงไปตรงมา

 

 

การได้เรียนรู้ว่ากระบวนการเรียนรู้ของแต่ละคนแตกต่างกันอาจเป็นการเรียนรู้เล็กๆ แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นการก้าวแรกที่แท้จริงของการพัฒนาเส้นทางสู่ความสำเร็จของเด็กๆ ในวันหน้า ทั้งในระดับห้องเรียน โรงเรียน และสังคม ยิ่งกว่านั้น ทั้งหมดนี้ยังเริ่มต้นได้อย่างง่ายดาย เพียง ‘ผู้ใหญ่’ จะ ‘ถาม’ และ ‘ฟัง’ ความต้องการของ ‘ผู้น้อย’ โดยไม่ถือว่าองค์ความรู้และการตัดสินใจของตนนั้นเป็นที่สุดแล้ว

ผู้กำหนดนโยบายถามบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนถามครู ครูถามนักเรียน เป็นพลขับที่ใส่ใจผู้โดยสาร เป็นผู้ออกแบบรถประจำทางโดยคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ เป็นผู้สร้างถนนที่หวังให้ทุกคนไปถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ

นวัตกรรมฉบับ Summit School จึงอาจไม่ได้อยู่ห่างไกลถึงสหรัฐอเมริกา แต่อยู่ใกล้… เพียงการเปิดหัวใจของพวกเราเอง

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต

Diane Tavenner เขียน

รสลินน์ ทวีกิตติกุล แปล

304 หน้า