Brief: อย่าเพิ่งมั่นใจในวิทยาศาสตร์ เราเตือนคุณแล้ว!

ภาพ: ยุทธภูมิ ปันฟอง

 

ทำไมต้องรู้วิทยาศาสตร์ คนทั่วไปรู้วิทย์แค่ไหนถึงจะโอเค สายวิทย์กับสายศิลป์แบ่งกันไปทำไม เหตุใดในยุคกลางที่ยุโรปมืดมิด แต่โลกอิสลามกลับสว่างไสวไปด้วยวิทยาศาสตร์ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามในวงคุยสุดสนุกว่าด้วยการคัดง้างทางความคิด แลกเปลี่ยนมุมมอง บอกเล่าประวัติศาสตร์ทั้งในเมืองไทยและรอบโลก พร้อมย้ำว่า อย่าเพิ่งรีบมั่นใจในวิทยาศาสตร์!

สรุปความ Bookscape Talk x TK Reading Club “จากอนุภาคถึงเอกภพ: ไขปริศนาไม่รู้จบในโลกวิทยาศาสตร์” พร้อมเปิดตัวหนังสือ วิทยาศาสตร์: ประวัติศาสตร์การไขความจริงแห่งสรรพสิ่ง (A Little History of Science)

ร่วมไขความจริงโดย ศุภวิทย์ ถาวรบุตร สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แทนไท ประเสริฐกุล นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งรายการ WiTCast ชวนคุยโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสอนสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2662 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 Central World

 

ทำไมเราต้องรู้วิทยาศาสตร์

 

สมมติชีวิตเราไม่ได้มีความรู้ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ไม่ได้รู้จักวิทยาศาสตร์ ทำไมคนทั่วไปถึงควรจะรู้วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์นั้นน่าสนใจอย่างไร สำหรับแทนไทที่หันมาเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์อยู่หลายปี เขาลิสต์ข้อดีของการรู้วิทยาศาสตร์เอาไว้ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

“อย่างแรก ผมว่าวิทยาศาสตร์มันมีความรู้หลายๆ อย่าง ที่พอรู้ปุ๊บมันให้อารมณ์สนุก มหัศจรรย์ ตื่นเต้น ใช้คำว่า “ฟิน” ในหลายๆ อย่าง อย่างเวลาผมจัดรายการ WiTcast จะมีหลายเรื่องเลยที่คนรู้แล้วไม่ต่างอะไรกับการได้ดูหนังมันๆ ฟังเพลงเพราะๆ หรือกระทั่งดูคนต่อยกัน

วิทยาศาสตร์เป็นรสชาติหนึ่งของชีวิตที่ควรมีอยู่ในสังคมพร้อมๆ กับอย่างอื่น

“พร้อมๆ กับการกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี ฯลฯ ยกตัวอย่าง WiTcast ตอนที่คนชอบมากๆ มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟิสิกส์ของของเสียทั้งหลาย เช่น แรงโน้มถ่วงของโลกมีผลอย่างไรต่ออุจจาระและปัสสาวะบ้าง”

แทนไทยกตัวอย่างเช่น สมมติเราส่งมนุษย์อวกาศออกไปนอกโลก ไม่ใช่แค่ต้องคิดเรื่องจรวด หรืออากาศหายใจเท่านั้น แต่ต้องคิดเรื่องขับถ่ายด้วย

“เพราะเวลาเบ่งอุจจาระในอวกาศ เมื่อไม่มีแรงโน้มถ่วงที่จะดึงให้หลุดจากรูตูด แล้วคุณจะทำยังไง มันเป็นอะไรที่คิดแล้วก็สนุก ตลกโปกฮา”

หรืออย่างตอนที่พูดเรื่อง Ant Man ถ้าเกิดเราย่อส่วนเหลือตัวเล็กๆ ไม่ต้องไปปราบเหล่าร้ายหรอก แค่ปวดฉี่นี่ก็ปัญหาหนักอกแล้ว

“คุณฉี่ออกมาในโลกที่เล็กขนาดนั้น แรงโน้มถ่วงมันไม่ดึงให้ฉี่ของคุณหลุดออกจากอวัยวะฉี่ของคุณนะ มันจะกลายเป็นเม็ดน้ำก้อนใหญ่พอกพูนมาโอบรอบเอวเราอยู่ นึกภาพเวลามดมีหยดน้ำหยดใหญ่ๆ เกาะอยู่ที่ตัว คือในโลกสเกลนั้นมันมหัศจรรย์และแตกต่างจากมุมมองปกติของชีวิตเรา”

แทนไทมองว่าเวลาเอาเรื่องพวกนี้มาพูด มันจะเกิดความสนุกสนาน มีอารมณ์บางอย่างที่ ถ้าเกิดไม่พูดเรื่องวิทยาศาสตร์กันในสังคมเลย ความฟินพวกนี้จะหายไปอย่างน่าเสียดาย

“ความมันตรงนี้ หรือแม้กระทั่งสมมติบอกว่าตอนนี้ทุกคนคิดว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ คุณคิดว่ากำลังอยู่กับที่ หรือกำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วอยู่ ต้องถามว่าเทียบกับอะไรใช่ไหม จริงๆ ถ้าคุณเทียบกับห้องนี้ คุณก็นั่งอยู่กับที่ แต่ทุกคนกำลังเดินทางไปในยานอวกาศชื่อเรียกว่าโลก คือหนึ่งนาทีคุณเคลื่อนไปแล้วเกือบ 30 กิโลเมตร (ถ้าอยู่แถบเส้นศูนย์สูตร) โดยไม่รู้ตัวเลย แต่วิทยาศาสตร์ทำให้คุณได้รู้ในสิ่งที่คุณไม่รู้ แล้วมันฟินน่ะ”

สอง วิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ แต่เป็นวิธีคิด คือใครจะพูดอะไรขึ้นมาก็ได้ แต่เราจะเลือกว่าอันไหนใกล้เคียงความจริงมากที่สุดด้วยวิธีคิดนี้

วิทยาศาสตร์เป็นการตกผลึกของความคิดมาไม่รู้กี่เจเนอเรชั่นแล้วว่า คนเราหลอกตัวเองยังไงได้บ้าง วิทยาศาสตร์คือศิลปะการป้องกันตัวจากการด่วนสรุป

สาม วิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษย์ เมื่อเปิดตำราประวัติศาสตร์มา เราไม่จำเป็นจะต้องอ่านแต่เรื่องสงคราม ลัทธิการเมือง หรือบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำประเทศ แต่จะเป็นเรื่องราวอย่างที่เล่มวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอไว้ แล้วเราก็ได้รับการเติมเต็มจากเรื่องเหล่านี้เช่นเดียวกับการศึกษาประวัติศาสตร์อื่นๆ

“บางทีได้รับรู้ว่า อ๋อ ที่โลกทุกวันนี้เป็นแบบนี้มันมีที่มา คนนั้นคิดอย่างนี้แล้วต่อด้วยคนนี้ แล้วยุคสมัยนั้นเขาเป็นยังไง หรือบางทีเราได้รับจากการศึกษาชีวประวัติบุคคล อย่างเช่น ไปดูว่าไอน์สไตน์คิดอย่างไร แล้วชีวิตเขาเป็นอย่างไร ฟาราเดย์เกิดมาเป็นอย่างไร หรือประสบการณ์ชีวิตแบบไหนที่ทำให้ดาร์วินคิดเรื่องพวกนี้ออก มันก็เป็นบทเรียนสอนเราได้อยู่”

สี่ วิทยาศาสตร์เป็นทุกอณูของโลกปัจจุบัน ตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้ เสื้อผ้า ไฟ เสียง ทุกอย่างที่เราใช้กันอยู่ในโลกนี้ ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควันพิษ ปัญหาสภาวะโลกร้อน ปัญหาพลังงาน ต้องมีวิทยาศาสตร์เป็นองค์ประกอบในการแก้ไขทั้งนั้น

ถ้าเราไม่สนใจวิทยาศาสตร์เลย กระทั่งปล่อยให้คนไม่รู้วิทยาศาสตร์ไปคุมวิธีแก้ปัญหาด้วย เราอยากอยู่ในโลกอนาคตแบบไหน ต้องถามใจเราดู

แทนไทยกตัวอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันที่มีแนวคิดว่า ยังไงก็ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกเกิดขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้

และ ห้า ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายที่แทนไทอยากเน้นย้ำ เพราะเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากสังคมไทย

“จริงๆ สังคมไทยพูดเรื่องวิทยาศาสตร์กันเยอะ แต่พูดแบบเอาหัวใจบางอย่างของมันทิ้งไปหมดเลย วิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่กลายเป็นการเรียนพิเศษ คือการทำข้อสอบ การติว และเทคโนโลยีแก้ปัญหาที่อยู่ในระดับชีวิตประจำวัน เช่น ทำอย่างไรให้เลี้ยงกุ้งแล้วได้เนื้อเยอะ หรือยารักษาโรค”

แทนไทมองว่าสังคมไทยสกรีนหลายเรื่องทิ้งไปเยอะเลย โดยเฉพาะพวกที่เป็นปรัชญาระดับที่ว่า จักรวาลเราเกิดมาได้อย่างไร

“หรือคำถามที่ว่าชีวิตมันเป็นมายังไง ทำไมถึงเป็นแบบที่เราเห็น ทำไมคนต้องมีสองเพศ หรือหลายเพศก็แล้วแต่ ชีวิตแบบที่เราเห็น มีแค่บนดาวเคราะห์ดวงนี้หรือเปล่า มันมีที่อื่นอีกไหม ความเป็นไปได้มีอะไรบ้าง เอกภพมีชะตากรรมอย่างไร เกิดมาอย่างไรและจะจบอย่างไร ความจริงคืออะไร สิ่งที่เราเห็นในสมองเราคือความจริงตลอดเวลาหรือเปล่า ฯลฯ ตรงนี้คือปรัชญาลึกซึ้งที่ต้องคุยกันด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถึงจะสามารถถกกันอย่างจริงจังได้”

หากเข้าถึงหัวใจบางอย่างของวิทยาศาสตร์ได้แล้ว จะนำมาซึ่งความตระหนัก ตื่นรู้ แทนไทกล่าวว่า หากสังเกตประวัติศาสตร์แนวคิดของมนุษย์ จะเริ่มเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าตัวเราเองนั้นโง่ขนาดไหน

“เคยคิดว่าเราอยู่ศูนย์กลางจักรวาล ในที่สุดก็ต้องออกมาดูว่าจริงๆ แล้วจักรวาลใหญ่กว่านั้นเยอะ เคยคิดว่าตัวเองเป็นสัตว์ประเสริฐที่อยู่เหนือสัตว์อื่นทั้งมวล หลังจากชาร์ลส์ ดาร์วินก็ทำให้รู้ว่า เฮ้ย! เราก็เป็นญาติกันทั้งหมดนั่นแหละ แล้วเราก็ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการมาไม่ต่างจากสัตว์ต่างๆ ซึ่งการตระหนักรู้ตรงนี้ ผมคิดว่าเป็นการตื่นทางจิตวิญญาณด้วย ไม่ใช่แค่เรียนแล้วไปสอบอย่างเดียว”

 

 

เสน่ห์ของวิทยาศาสตร์

 

จากประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ข้อห้าในมุมแทนไท ภาคินชวนคิดต่อว่า คำถามเชิงปรัชญาแบบนี้ ทั้งที่เกี่ยวกับชีวิต จักรวาล หรืออะไรที่ใหญ่โตเกินตัวเราไปมากขนาดนั้น มีอะไรที่เราควรสนใจ

“สมมติว่าผมจะตายในอีก 5 นาทีนี้ ผมคงไม่มานั่งคิดเรื่องวิวัฒนาการหรือเรื่องอะไร ผมอาจจะรีบโทรไปหาคนที่ผมรักแล้วบอกว่าลาก่อน อะไรอย่างนี้ แต่เมื่อผมคงยังไม่ตายใน 5 นาทีนี้ ก็เลยเป็นเรื่องว่า ถ้าเรามีเวลา 70-80 ปีบนโลก เราควรจะใช้ยังไงให้ได้ชื่อว่าเป็นการใช้เวลาที่ดี” แทนไทกล่าว

แทนไทบอกว่าไม่ต้องไปมองที่ไหนไกล ยึดตามค่านิยมของมนุษย์นี่แหละ ซึ่งหนึ่งในค่านิยมนั้นที่ทุกคนมีสัญชาตญาณอยู่แล้วก็คือ เราอยากรู้ความจริง ยกตัวอย่าง ถ้าไม่อยากรู้ความจริงนีโอก็คงเลือกที่จะอยู่ใน The Matrix ต่อไป หรือกระทั่งพระพุทธเจ้าเองก็อยากรู้ว่าบรรดาความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากอะไร นี่ก็เป็นความจริงอีกรูปแบบหนึ่ง

เราก็อยากรู้ความจริงว่า ที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ จริงๆ แล้วมันคือยังไงกันแน่ ตัวเราประกอบด้วยอะไรกันแน่ แล้วทำไมจึงเป็นรูปร่างนี้ ทำไมเราถึงมีความคิดที่ว่า ของอ้วนๆ มันอร่อย ใครเป็นคนเขียนโปรแกรมนี้ให้เรา ฯลฯ

แทนไทเสนอว่า เราไม่ต้องนึกถึงวิทยาศาสตร์ตลอดเวลาทุกๆ วินาทีในชีวิตหรอก แต่ควรเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราจะคิดถึงมันขึ้นมาบ้าง

“น่าจะมีบางช่วงหรือบางวันที่เรานั่งอยู่แล้วตระหนักได้ว่า เออ เรานั่งอยู่บนหินกลมๆ ก้อนหนึ่ง ที่พอออกไปไกลถึงดาวเสาร์ปุ๊บ มันเห็นเป็นแค่หนึ่งพิกเซล เป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่ง แล้วถ้าซูมออกไปไกลอีก จะเห็นว่าเราหมุนอยู่รอบๆ ดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นดาวหนึ่งดวง แล้วดาวหนึ่งดวงนี้เป็นหนึ่งในสองแสนล้านดวงที่อยู่ในกาแล็กซีเรา แต่กาแล็กซีในจักรวาลทั้งหมด เท่าที่คำนวณกันในตอนนี้ ประมาณ 2 ล้านล้านกาแล็กซี แล้วแต่ละกาแล็กซี ก็ลองคิดดูว่ามีดาวกี่แสนล้านดวง

“คือพอเราคิดว่า ประวัติศาสตร์มนุษย์ทั้งหมดที่เคยมีมาตั้งแต่กำเนิดที่แอฟริกา กระทั่งถึงอารยธรรมต่างๆ อยู่ที่หลักหมื่นปีเท่านั้นเอง การที่เราอยู่บนหินเล็กๆ ก้อนนี้ท่ามกลางสรรพสิ่งทั้งหมดที่มันมหึมา โอฬาร ทั้งหลาย มันก็ทำให้เราหลุดออกจากความจริงในระดับที่ว่า วันนี้เพื่อนร่วมงานเราได้โบนัสแต่เราไม่ได้ว่ะ หรือดาราคนนั้นเลิกกับแฟนแล้ว หรือกระทั่งการจะไปบีบแตรไล่รถข้างๆ เขาอาจจะมีธุระก็ได้ แล้วการที่คุณได้ไปเร็วขึ้นประมาณ 30 วินาที มันเทียบอะไรได้กับสรรพสิ่งทั้งหมดที่มีอยู่ในเอกภพนี้”

หรือการตระหนักว่า อย่างไรสักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย เป็นสิ่งที่น่าคิด

“เพราะว่ายีนส์เรา หมายถึงดีเอ็นเอของเราถูกคัดเลือกมาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการส่งก็อปปี้ตัวเองต่อไป แล้วมันก็ทิ้งเรา คือมันไม่สนใจว่าเราจะอยู่เป็นอมตะอายุ 500 ปีหรือไม่ มันเอาแค่ก็อปปี้ของมันส่งให้รุ่นถัดไปก็คือลูกเรา แล้วมันก็เสร็จงานกับเราแล้ว

“แล้วความจริงข้อนี้ ไปบวกกับความจริงที่ว่า ถัดจากนี้ไปในหลักล้านปี จะมีอุกกาบาตลูกใหญ่เท่าตอนสมัยไดโนเสาร์มาอีกแน่ๆ มันมาแน่นอนตามสถิติ แล้วถ้าเรารอดอันนั้นไปได้ เดี๋ยวอีกกี่ล้านปี ดวงอาทิตย์ก็จะขยายวงออกมากลืนโลกหายไป แต่ถ้าเรารอดอันนั้นไปได้อีก จักรวาลที่เรารู้จักก็จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้ายมันขยายจนไม่มีอะไรสามารถเจอกับอะไรได้อีกเลย แล้วกาลเวลาก็จะหยุดนิ่งลง ทุกอย่างกลายเป็นความมืดอีกครั้ง”

แสดงว่าแสงที่เรามีตอนนี้ หรือชีวิตคนเรา นับเป็นแสงเพียงแวบเดียวมากๆ ในการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง แล้วเรามีโอกาสที่จะตื่นมารับรู้มัน คำถามก็คือ คุณอยากใช้เวลาในการตื่นนั้นยังไง แทนไทมองว่าการศึกษาเรื่ององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการยอมรับว่าวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์นี่แหละที่ทำให้เราเข้าถึงความจริงแบบนี้ได้ ช่วยเติมเต็มชีวิตได้เยอะมากๆ

หนึ่งในคลิปวิดีโอที่จะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “Pale Blue Dot” ที่อ่านโดยคาร์ล เซแกน (Carl Sagan) หนึ่งในนักดาราศาสตร์ผู้โด่งดังในทศวรรษ 70 ที่แทนไทนับถือ และเขาได้แปลซับไตเติลไทยเอาไว้ แทนไทแนะนำว่าถ้าดูเองจะได้อรรถรสกว่า (ความยาวไม่เกิน 4 นาที) แต่เขาก็อธิบายให้ฟังคร่าวๆ ว่า

“Pale Blue Dot หรือจุดสีฟ้าจางๆ จุดหนึ่ง มาจากที่นาซ่าส่งยานยานวอยเอเจอร์ 2 ออกไป แล้วพอไปไกลถึงจุดหนึ่ง คุณคาร์ล เซแกน ก็บอกว่า จริงๆ เราน่าจะหันหัวยานกลับมาถ่ายรูปโลกสักนิดหนึ่งนะ เป็นเซลฟีระยะไกลสุดของโลก ถ้าเลยไปกว่านี้จะถ่ายไม่ติดแล้ว”

พอถ่ายออกมาก็ได้รูปที่เป็นพื้นดำเกือบหมด แล้วก็มีเหมือนเลนส์แฟลร์ หรือแถบแสงพาดมาแถบหนึ่ง (ถ้ามีวงแหวนดาวเสาร์จะเป็นภาพถ่ายยุคหลังที่ถ่ายโดยยานแคสซินีเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน) แต่ในความซีดจาง เล็กและไม่ชัดนี้ คาร์ล เซแกน บอกว่ามันมีความหมายลึกซึ้ง

“นั่นคือ จุดเล็กๆ จุดนี้แหละคือจุดเดียวที่ทุกๆ คนที่เรารู้จักในชีวิตเรา ทุกๆ คนที่เคยเกิดมา เกิดแก่เจ็บตายมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น บรรดาพระมหากษัตริย์ไปจนถึงยาจก บรรดาผู้นำประเทศ บรรดาประชาชนทั้งหลาย ศาสนา อารยธรรม เกิดดับอะไรทั้งหลายทั้งแหล่ มันก็อยู่บนจุดเล็กๆ จุดนี้

“แต่เรายังเข่นฆ่ากันเพื่อที่จะแย่งพื้นที่เล็กๆ บนจุดเล็กๆ แล้วก็เพียงแค่ได้ปกครองอาณาบริเวณจิ๋วๆ นั้น ในช่วงเศษเสี้ยวของเสี้ยวของเสี้ยวของเสี้ยวของเวลาอันยาวนานของเอกภพ เราทำโลกเสื่อมโทรม ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แล้วก็คิดว่าไม่เป็นไร แต่ว่ามันเป็นจุดแค่นี้ที่เจ๊งแล้วเจ๊งเลย

“แล้วในรอบนอกรัศมีความดำมืด มันไม่มีใครจะมาช่วยเรา แล้วเราอาจจะหายไปโดยที่ไม่มีใครรับรู้เลยก็ได้ เพราะเรามัวแต่ทำลายและเข่นฆ่ากันเอง เซแกนก็เลยบอกว่า ให้ทุกคนตระหนักว่านี่คือบ้านหลังเดียวที่เรามี ทุกคนเป็นเจ้าของบ้านที่ต้องช่วยกันดูแลสมาชิกในครอบครัวแห่งนี้

 

สำรวจความรุ่มรวยวิทยาศาสตร์ในโลกอิสลาม

 

เมื่อพูดถึงพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ ชื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกมักผุดขึ้นในหัวเป็นส่วนใหญ่ หากใครได้อ่านเล่มนี้มาบ้าง จะเห็นว่ามีบทซึ่งกล่าวถึงช่วงเวลาที่ยุโรปเข้าสู่ยุคกลางหรือยุคมืด แต่คนในสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะสังคมมุสลิมแถบตะวันออกกลาง กลับเป็นพื้นที่เปิดรับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก

หากสงสัยว่าทำไมยุคหนึ่งวิทยาศาสตร์ถึงไปรุ่งเรืองที่โลกอิสลาม ซึ่งในความเข้าใจปัจจุบันดูจะเป็นรัฐศาสนาที่ไม่น่าจะส่งเสริมความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เท่าไรนัก ศุภวิทย์ตั้งต้นอธิบายในเชิงภูมิศาสตร์ก่อนว่า สมัยที่อิสลามขึ้นมาในยุคราชวงศ์อับบาสิด จะมีโลเกชั่นใกล้กับคอนสแตนติโนเปิล หากรู้ประวัติศาสตร์ยุโรปมาบ้างคงทราบว่า ตั้งแต่สมัยโรมัน จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันตกกับตะวันออก แล้วที่พังก่อนคือฝั่งตะวันตก พอทางตะวันตกพัง ภูมิปัญญาทั้งหลายยังเก็บรักษาไว้ที่คอนสแตนติโนเปิล ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้กับการรุ่งเรืองของจักรวรรดิอิสลามหลังจากนั้น

“ปราชญ์บางกลุ่มในโลกอิสลามยุคนั้นมองว่า คุณไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดที่มีต้นตอมาจากยิว นั่นคือ พระเจ้าคือผู้สร้างสรรพสิ่ง ปราชญ์กลุ่มนั้นมองว่า ถ้าอยากเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าสร้าง ก็ต้องเข้าใจเครื่องมือและภาษาที่ใช้ด้วย”

เมื่อพูดถึงยุคกลางที่กลายเป็นรากฐานองค์ความรู้บางอย่าง อย่างหนึ่งที่ถูกพูดถึงเลยคือเรื่องทัศนศาสตร์ (optics) ซึ่งเกี่ยวกับแสงและการมองเห็น

ในหนังสือเล่มนี้อธิบายว่า ที่พวกปราชญ์มุสลิมต้องศึกษาศาสตร์เหล่านี้ ก็เนื่องจากคติศาสนายิวที่ว่า แสงสว่างเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งพระเจ้าสร้างขึ้น ในพระคัมภีร์อาจเอ่ยถึงแสงเพียงไม่กี่ประโยค แต่เมื่อมันเป็นสิ่งที่มาจากพระเจ้า การศึกษาเกี่ยวกับแสงจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเติมเต็มเป้าหมายทางศาสนาของคนบางกลุ่มด้วย

โลกอิสลาม ณ ตอนนั้นไม่ได้มองว่าการศึกษาสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขัดกับศรัทธา แต่เป็นการแผ่ขยายขอบเขตความรับรู้ไปยังสิ่งสร้างของพระเจ้าด้วย ฉะนั้น เมื่อราชวงศ์เริ่มมีเสถียรภาพ จึงมีการส่งคาราวาน คณะทูตจากแบกแดดไปขอคัดลอกเอกสารกรีกที่คอนสแตนติโนเปิล เพราะมันมีองค์ความรู้บางส่วนของกรีกอยู่ด้วย

“ดังนั้น ช่วงยุคกลางที่ตรงกับราชวงศ์อับบาสิด จึงมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเชิงวิทยาศาสตร์หรือปรัชญาธรรมชาติเยอะมาก จนเมื่อพอยุโรปใกล้จะตื่น แล้วมองไปรอบข้าง ตำรับตำราอะไรทั้งหลายก็ไม่มีเลย เพราะมันสูญหายไปตั้งแต่ช่วงกรีกโรมัน ก็มาได้องค์ความรู้เหล่านี้กลับไป”

“ทัศนศาสตร์ถือเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะเรอเนซองส์ เวลาเราเห็นภาพ The Last Supper หรือ The School of Athens แล้วมันมีจุดรวมสายตา (vanishing point) มีมิติ เพราะผ่านการรับตรงนั้นมาจากวัฒนธรรมอาหรับที่ตื่นมาก่อน”

อีกตัวอย่างที่ทุกคนคุ้นเคยและปฏิเสธไม่ได้เลยคือตัวเลขอารบิก ซึ่งเริ่มแพร่หลายในยุโรปประมาณศตวรรษที่ 12-13

“แต่ตอนรับไม่ใช่มาถึงเป็นเลข 1 2 3 เลย มันมีวงศาวิทยาของตัวเลขชุดนี้ว่า ตอนผ่านอาหรับตะวันตกมา มันเขียนแบบนั้นแบบนี้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นหลักฐานยืนยันว่า พอโลกตะวันตกที่อยู่กับภาษาละตินจะต้องรื้อฟื้นหรือเริ่มทำความเข้าใจความรู้พวกนี้ ก็ต้องไปหยิบยืมอาหรับด้วยวิธีที่ใกล้เคียงกัน”

นี่คือเหตุผลว่าทำไมพวกปราชญ์สมัยปลายยุคกลางถึงสนใจเรื่องแสง ดาราศาสตร์ หรือคนอย่างดา วินชี ทำไมมีลักษณะของการใช้องค์ความรู้นอกเหนือจากพระคัมภีร์ ซึ่งผิดไปจาก tradition คริสเตียนสมัยนั้น

“เรื่องเหล่านี้คือสิ่งที่เราไม่ค่อยได้พูดกัน แต่ยิ่งไปศึกษาก็จะยิ่งเห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ไม่ใช่การมานั่งท่องว่าคนนั้นชื่ออะไร มีผลงานอะไร มันมีองค์ความรู้ที่มากกว่านั้น และมีมิติทางประวัติศาสตร์อยู่มากมาย”

 

 

ปัจจัยกำหนดความก้าวหน้า เพราะวิทย์ไม่ได้อยู่ของมันลอยๆ

 

จากความรุ่งเรืองด้านวิทยาศาสตร์ในโลกอิสลาม แทนไทตั้งข้อสังเกตว่า ผู้มีอำนาจ ณ เวลานั้น หรือคนนำตีความคัมภีร์ทางศาสนามีผลไม่น้อย

“คือคัมภีร์เล่มเดียวกัน แต่ตีความบอกว่า เอาละ มาศึกษาวิทยาการเฟื่องฟูกันเถอะ เพื่อจะได้เข้าใจว่าพระเจ้าคิดอะไร ก็ทำได้ แต่ผมเคยได้ยินมาว่า ขณะเดียวกัน โลกอิสลามยุคที่ดับไป ยุคที่ไม่เอาวิทยาการ ก็มาจากผู้นำทางศาสนานี่แหละบอกว่า ต่อไปนี้คณิตศาสตร์คือสิ่งต้องห้าม ถือว่าเป็นการลบหลู่หรืออะไรไป คราวนี้จากที่เคยรุ่งเรืองมาก็หยุดไปเลย”

ศุภวิทย์เสริมว่า จากการสอบถามผู้รู้ก็ยืนยันว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ

“เรื่องพวกนี้มันเป็น reaction ระหว่างมนุษย์ คนซึ่งอยู่ในอำนาจตอนนั้นจะว่ายังไง จะเห็นว่าในสมัยราชวงศ์อับบาสิด จุดเด่นคือ ตัวกษัตริย์หรือผู้นำในราชวงศ์มีวิธีคิดแบบนี้ การเข้าใจธรรมชาติหรือโลกเราว่าพระเจ้าสร้าง มันยังสามารถเติมเต็มได้ด้วยองค์ความรู้เหล่านี้ ฉะนั้น มันจะไม่ได้ต่อต้านคัดค้านอะไร

“แต่ถ้าถามว่า ในพระคัมภีร์พูดถึงคณิตศาสตร์ไหม ก็ไม่มี คือไม่มีทางที่จะมี เพราะมันเป็นความรู้ซึ่งก่อตั้งขึ้นทีหลัง แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นที่แทนไทยกมามันจริง แล้วจากนั้นก็มีแนวโน้มเป็น fundamentalist มากขึ้น ชื่อก็บอกอยู่ว่า ต้องกลับไปหา fundamental” ศุภวิทย์กล่าว

คุณก็จะมองว่าเรื่องเหล่านี้มีลักษณะเป็นความรู้ทางโลก ในเมื่อเป็นความรู้ทางโลก ในแง่ความถูกต้องจริงแท้ก็ต้องอยู่ในระดับที่รองจากศาสนาลงไป

แทนไทแลกเปลี่ยนว่าเขาเพิ่งได้ดู The Last Emperor มา แล้วเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างการเมืองต่อความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์

“จีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมก็มีการทำลายความรู้เก่า อะไรที่เป็นความรู้ เป็นภูมิปัญญา เอามาทำลายให้หมด เพราะเป็นตัวแทนของชนชั้นศักดินาที่เคยกดขี่ประชาชนมาก่อน แสดงว่าการเมืองก็น่าจะมีผลเยอะเหมือนกันในเรื่องราวของแต่ละยุคสมัย”

ศุภวิทย์เห็นด้วยและบอกว่า จริงๆ เรื่องพวกนี้ก็เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ อย่างตอนที่แบกแดดรุ่งเรืองมาก พอชนชั้นนำเปลี่ยน ทุกอย่างก็ซบเซาลงอีกครั้ง

“ตามตำนานบอกว่า เมื่อไม่เอาด้วยกับวิธีการตีความพวกนี้แล้ว ม้วนกระดาษ เอกสารต่างๆ ซึ่งเก็บอยู่ในหอสมุดที่นั่นถูกโยนทิ้งแม่น้ำหมดสิ้นเลย ถ้าถามว่ามีผลไหม ก็ใช่ แต่ในความโชคดีของประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์คือมันพังที่หนึ่ง แล้วก็ไปผุดที่อื่น มันยังมีที่หลุดรอดไปได้ ตอนนั้นต้นฉบับภาษาอาหรับหายไปเยอะมาก แต่ส่วนที่ถูกแปลเป็นละตินแล้วก็จะไปอยู่ในยุโรป”

 

 

ศาสนาอาจไม่ใช่คู่ปรับตัวจริงของวิทยาศาสตร์

 

หนึ่งในความเชื่อฝังหัวคือ เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์กับศาสนาน่าจะเป็นศัตรูกัน นักวิทยาศาสตร์ต้องไม่เชื่อสิ่งลี้ลับ แต่ถ้าย้อนไปอ่านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์จริงๆ จะพบว่าแทบไม่เป็นแบบนั้นเลย

ภาคินเล่าว่าช่วงหลายพันปีในประวัติศาสตร์ ผู้ที่ศึกษาสิ่งที่ในเวลาต่อมากลายเป็นวิทยาศาสตร์ ล้วนแต่มีความเชื่อหรือศรัทธาบางอย่างเป็นตัวตั้งต้น ซึ่งศุภวิทย์ยกตัวอย่างว่าในเล่มนี้พูดถึงกาลิเลโอและนิวตัน ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มีปัญหากับศาสนา เนื่องจากเข้ามาศึกษาด้วยความตั้งใจจะแก้ไขให้ถูกต้อง

“คือพวกเขาอยากทำให้มันถูก ศาสนจักรคาทอลิกอธิบายจักรวาลมาแบบนี้ ทำไมมันไม่ตรงกับข้อมูลเลย ถ้าไปดูงานพวกนี้ เขาพยายามจะรื้อเพราะว่า เขาเชื่อว่าถ้าพระเจ้าสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ต้องสร้างมาอย่างถูกต้องหรือสอดรับกับตรรกะและข้อมูลต่างๆ และเขาไม่เชื่อว่า สิ่งซึ่งเคยพูดมาก่อนหน้านี้ คนซึ่งมีอำนาจมากกว่าเคยพูดคำอธิบายชุดนี้แบบอริสโตเติล มันจะต้องถูกโดยตัวมันเอง” ศุภวิทย์กล่าว

ศุภวิทย์เล่าว่า หลังช่วงปฏิวัติวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 19 ด้วยความที่วิทยาศาสตร์รุ่งเรืองมาก ลอร์ดเคลวินเคยกล่าวว่า หลักจากแมกซ์เวลพบแม่เหล็กไฟฟ้า เราเหลือแค่ minor clouds หรือเมฆหมอกเล็กๆ เท่านั้นที่โลกของวิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้

“ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จะมีความเชื่อว่า มนุษย์มาถึงจุดที่มันอธิบายทุกอย่างได้ครอบคลุมแล้ว แรงทุกประเภทที่เจอตอนนั้น ความร้อน ไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็มาหมดแล้ว แต่พอเข้าศตวรรษที่ 20 ไอน์สไตน์เริ่มมา รวมถึงพวกที่ศึกษาเกี่ยวกับอะตอม ความมั่นใจเหล่านั้นก็กลายเป็นว่า เฮ้ย! มันไม่ใช่ minor clouds แล้วละ มันแบบมหาศาลเลย ทำให้ความเชื่อแบบนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว” ศุภวิทย์กล่าว

แทนไทเสริมว่า ลอร์ดเคลวินมักชอบทำนายนู่นนี่ เช่น มีคนถามว่าคิดยังไงกับรังสีเอกซเรย์ ลอร์ดเคลวินก็ตอบว่า ไร้สาระ หรือไม่มีจริง เป็นต้น

“คือเขาพูดไว้หลายเรื่องเลยที่ทุกวันนี้กลายเป็นว่า โลกอนาคตไม่ใช่อย่างที่คุณบอกไว้เลย ผมจำไม่แม่นว่ามีอะไรบ้าง แต่ก็เป็นอุทาหรณ์ว่า ทีหลังถ้าจะทำนายอะไรให้บอกว่าเป็นไปได้ไว้ก่อน”

วิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นว่าอย่าเพิ่งรีบมั่นใจในอะไรก็ตาม และอย่าลืมว่าคุณอยู่บน Pale Blue Dot ซึ่งมาจากการปรับแก้และเพิ่มความถูกต้องของการโต้ตอบกันของความรู้ไปเรื่อยๆ

 

ความหมายของวิทยาศาสตร์ ที่เด็กสายวิทย์อยากได้ยิน

 

เมื่อค้นความหมายของคำว่า “วิทยาศาสตร์” ในอดีตกว่า 80 ปีมาแล้ว อย่างเช่นในปาฐถาของปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วงปี 2470 ภาคินพบความน่าสนใจและแตกต่างจากความเข้าใจคำว่าวิทยาศาสตร์ของคนยุคนี้

แม้ปาฐกถานั้นจะพูดเรื่องกฎหมายอาญา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เลย ความว่า แต่ละประเทศจะมีกฎหมายอาญารุนแรงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวิธีคิด แล้วฐานคิดในการออกกฎหมายอาญาลงโทษคนหนักเบาอยู่ที่อะไร ก็อยู่ที่ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และสังคม แล้วอะไรจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์และสังคม ปรีดีบอกว่า “ต้องใช้วิทยาศาสตร์” แล้ววิทยาศาสตร์อะไรบ้างที่ใช้อธิบายมนุษย์และสังคม ปรากฏว่าวิทยาศาสตร์ในปาฐกถาฉบับนั้น ปรีดีพูดถึงสังคมวิทยา มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ รวมถึงชีววิทยาด้วย

ความเข้าใจที่เรามีต่อวิทยาศาสตร์แบบปัจจุบันต้องเป็นของใหม่ วิทยาศาสตร์เลยเหลือแค่ “วิทย์” ในความหมายของฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางแยกการศึกษาที่เด็กมัธยมปลายไทยคุ้นกันดี

ศุภวิทย์บอกว่า ที่ปรีดีอธิบายแบบนั้น ไม่แปลกเลยในยุคนั้น เพราะคนรุ่นปรีดีคือคนซึ่งไปเรียนยุโรปในจังหวะที่ยังรับอิทธิพลศตวรรษที่ 19 อยู่ ซึ่งการแยกฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ยังไม่เกิดขึ้นเลย

“ในสังคมตะวันตก ช่วงศตวรรษที่ 18-19 การที่ศาสตร์ต่างๆ พยายามอิงตัวเองกับวิทยาศาสตร์นั้นเป็นข้อหนึ่ง เวลาอิงก็ไม่ได้อิงแต่ชื่อ แต่อิงวิธีการซึ่งจะอธิบายเรื่องราวต่างๆ โดยที่มีเซนส์ของวิทยาศาสตร์ ถือเป็น tradition ของช่วงนั้นเลย แม้แต่ประวัติศาสตร์เองก็เป็น

“ฉะนั้น ไม่ว่าเศรษฐศาสตร์ หรือมานุษยวิทยา ก็ทำให้คนในรุ่นซึ่งยังเรียนภายใต้กรอบคิดนี้มองว่า ความเป็นวิทยาศาสตร์สำคัญที่วิธีการศึกษา การแสดงให้เห็นว่าความรู้เหล่านี้ได้มายังไง แล้วคำตอบที่ได้ ได้มาจากข้อมูล ไม่ได้มาจากการมโน”

ศุภวิทย์มองว่าจุดเปลี่ยนจริงๆ อยู่ที่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในแง่การเมืองก็คือโลกเสรีอยู่ใต้อิทธิพลของอเมริกา ซึ่งการขยายระบบความรู้ในช่วงนั้น  ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความ Americanization สูง การแยกสายวิทย์สายศิลป์แบบที่ต้องเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ จึงค่อยตามมาหลังจากนั้น

“คนที่ไปเรียนในยุคหลังสงครามโลก หรือเบบี้บูมเมอร์เป็นต้นมา จะไม่ได้มี spirit ของการเข้าถึงศาสตร์ต่างๆ แบบรุ่นปรีดี ดังนั้นจะเห็นว่า บรรยากาศในการพูดถึงวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยหลังจากนั้น โดยเฉพาะบวกลบ 2500 จะได้กลิ่นอายอเมริกันแล้ว คำอธิบายของปรีดีในขณะนั้นก็เป็นตัวอย่างว่ายุคสมัยมันมีอิทธิพล”

จากความหมายของวิทยาศาสตร์ มาถึงคำถามที่ว่า การเรียนแบบแบ่งสายวิทย์สายศิลป์แบบนี้เป็นเรื่องดีหรือแย่กันแน่ จากประสบการณ์ส่วนตัว ศุภวิทย์แลกเปลี่ยนว่า หากไม่แบ่งเลยจะยากในแง่หลักสูตร เพราะมีมาตรฐานอยู่ว่าเด็กชั้นม. 4-5-6 ควรต้องรู้อะไรมากน้อยแค่ไหน การต้องมาประเมินรวมกันหมด น่าจะเป็นเรื่องยาก

แต่ไม่ว่าเราจะเรียนมาในศาสตร์ไหน เราควรจะต้องมีโอกาสมากพอในการพัฒนาตรรกะ หรือเท่าทันมัน เพราะเรากำลังอยู่ในยุคสมัยซึ่งทุกอย่างมันมาเร็ว ทุกคนมีสิทธิ์โพสต์ในสิ่งที่คิด การจะยืนหยัดอยู่ได้ สิ่งหนึ่งซึ่งต้องแม่นคือตรรกะ ดังนั้น ผมว่าทุกคนควรได้มีโอกาสฝึกฝนเรื่องตรรกะอย่างเต็มที่

ส่วนแทนไทมองว่า การแบ่งการเรียนเป็นสายต่างๆ เพราะทุกวันนี้ความรู้มนุษย์มันสั่งสมมาเยอะมาก จนกระทั่งคนหนึ่งคนไม่สามารถรู้ได้ครบเหมือนสมัยก่อน ดังนั้นจึงต้องเลือกว่าจะไปเชี่ยวชาญด้านนี้ แต่หลังจากเลือกแล้ว ด้านอื่นๆ ก็ไม่ควรปิดประตูใส่เสียทีเดียว

ขณะที่ในระดับสังคม แทนไทเสนอว่าน่าจะมีสะพานเชื่อมระหว่างสายวิทย์กับสายศิลป์ให้มากกว่านี้ อย่างเช่นในมหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์กับคณะวิทยาศาสตร์ควรมีหลายๆ คอร์สที่เรียนร่วมกัน เพื่อให้เด็กนิเทศฯ มารู้เบสิกของวิทยาศาสตร์ ทั้งองค์ความรู้และวิธีคิด ขณะเดียวกัน เด็กวิทยาศาสตร์ก็ควรไปเรียนฝั่งนิเทศฯ บ้าง เพื่อเชิญชวนคนอื่นๆ ให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองเรียน รวมทั้งแบ่งปันความรู้กัน

“ในชีวิตนี้ ผมจะพยายามตั้งหลักสูตรสื่อสารวิทยาศาสตร์ขึ้นมา” แทนไทกล่าว

 

 

ห้องเรียนวิทย์ไทย ยังขาดอะไรไปบ้าง

 

ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์สอนระดับมัธยมมาก่อน แทนไทมองเห็นจิ๊กซอว์ที่ยังโหว่ๆ ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ไทยอยู่หลายชิ้น ซึ่งชิ้นสำคัญเลยคือการเชื่อมต่อสิ่งที่เรียนเข้ากับสถานการณ์ล่าสุด

“ในยุคสมัยผม มันไม่มีการไปเชื่อมต่อกับความก้าวหน้าที่กำลังเกิดขึ้นจริง ณ วันนี้ของวงการ หมายความว่า เราจะรู้แต่ว่าตำราบอกมาแล้วเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เราจะไม่ได้ออกมานอกห้องแล้วไปติดตามข่าวว่า วันนี้ล่าสุดนักชีวะค้นพบอะไร นักฟิสิกส์ค้นพบอะไร ซึ่งตรงนี้กำลังมีเพิ่มมากขึ้นแล้ว ถึงแม้ไม่ใช่ในห้องเรียน แต่ก็อยู่ในสังคม มีการนำเสนอข่าวสารวิทยาศาสตร์มากขึ้นในโลกโซเชียล มีอาชีพที่เรียกว่านักสื่อสารวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น”

จิ๊กซอว์อีกชิ้นที่ขาดหายไปก็คือการอัปเดตข่าวสาร แทนไทยกตัวอย่างเว็บไซต์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอย่าง sciencenews หรือ sciencedaily วันหนึ่งนำเสนอข่าวเยอะมาก ไม่ว่าความก้าวหน้าด้านพันธุกรรม ด้านอวกาศ แม้กระทั่งด้านการขุดค้นทางโบราณคดี ทางบรรพชีวิน มีข่าวน่าสนใจออกมาตลอดเวลา แต่คุณครูอาจไม่ได้หยิบข่าวเหล่านี้มาเล่าให้เด็กฟัง

“อีกอย่างที่คิดว่ายังขาดไปก็คือ บรรยากาศการพูดคุย คือการเรียนก็คือการเรียนเลย เป็นการเลกเชอร์ คือมีคนหนึ่งคนพูด แล้วที่เหลือฟัง ทำให้บรรยากาศของการพูดคุยหายไป อันนี้ผมพยายามจะเติมในการทำพอดแคสต์ของผม คือให้เรียนรู้ผ่านบทสนทนา ฟังคนคุยกัน แล้วเราก็นั่งฟังอยู่ด้วย แล้วภาษาที่ใช้ก็ไม่ใช่ลักษณะปาฐกถา เป็นการนั่งคุยแลกเปลี่ยนกัน

“เช่นเดียวกับที่เราเม้าดารา เม้าเรื่องนู้นเรื่องนี้ หรือถกกันเรื่องสังคม คราวนี้เราก็เอาประเด็นทางวิทยาศาสตร์มาเม้ากันบ้าง ผมว่าก็เป็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่น่าจะมีในสังคมไทย” แทนไทกล่าว

 

 

คนทั่วไปรู้วิทย์แค่ไหนถึงจะโอเค

 

สำหรับคนธรรมดาที่อาจไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์มากนัก หรือไม่เคยเรียนสายวิทย์ ควรมีความรู้วิทยาศาสตร์มากน้อยแค่ไหนจึงจะไม่ถูกโลกทอดทิ้ง แทนไทมองว่า รู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมีแรงและมีความสนใจ แต่ก็คงไม่บังคับให้ทุกคนต้องสนใจ

“มันพูดยากว่ามาตรฐานอยู่ตรงไหน แต่อย่างเรื่องเบสิก เช่น อย่างน้อยๆ ทุกคนควรรู้ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ โลกเป็นดาวเคราะห์ โลกกลมนะ หรือเบสิกอย่างเช่น ดีเอ็นเอคืออะไร คือมันมีเรื่องเบสิกอยู่ว่า ถ้าคุณใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 คุณควรจะรู้เรื่องเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นแล้วจะตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโลกไม่ทัน แล้วคุณก็จะไปหลงในอะไรที่พาไปเจอทางตันได้หลายเรื่องเลย ทั้งสุขภาพ การเงิน เวลา ความรัก” แทนไทกล่าว

ศุภวิทย์เองก็ไม่กล้ายืนยันว่าเรื่องเบสิกนั้นต้องแค่ไหน

“ถ้าเอาแบบอุดมคติเลย อย่างน้อยทุกคนก็ควรต้องรู้อะไรที่มันเบสิกแล้ว แต่คำนี้ก็ subjective ถ้าสมมติให้ผมมั่นใจว่า ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยทุกคนจะไม่พูดเรื่องเทือกเขาอัลไตแล้ว ผมก็ไม่กล้าฟันธง”

“ถ้าบอกว่าอย่างน้อยเรื่องนี้มันต้องเปลี่ยนแล้ว เราก็โยนไปว่า คุณอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยคุณต้องรู้แล้วว่าเรื่องเทือกเขาอัลไตนั้นแต่งขึ้นมา เรื่องนี้สะท้อนว่า การที่ชุดความรู้บางอย่างในสังคมหนึ่งๆ จะกลายเป็นเบสิก มันไม่ใช่สิ่งซึ่งคุณทำได้เร็ว ทำไมวันนี้เรายังได้ยินคนพูดเรื่องอัลไต ก็เพราะว่ามันถูกสั่งสมมาเป็นเวลานาน”

ศุภวิทย์ขยายความว่า การแต่งเรื่องแบบนี้ขึ้นเพราะมีเป้าหมายตามยุคสมัยนั้น ว่าต้องการสร้างประวัติศาสตร์ของไทยให้มีความเป็นชนชาติอันหนึ่งอันเดียวกันมา แต่ถามว่าถ้าจะแก้เรื่องนี้ใช้เวลากี่ปี เขาก็บอกว่าไม่มีทางเร็วกว่าเวลาที่มันถูกสร้างขึ้นมาแน่

ผมยังไม่เคยศึกษานะว่าตอนที่เปลี่ยนจากความเชื่อที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลาง ไปเป็นดาวเคราะห์ที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ ใช้เวลากี่ปีในการเปลี่ยนความคิดคน

พอสังคมคาดหวังสิ่งที่เรียกว่าเบสิก ว่าอย่างน้อยทุกคนควรจะมี มันก็เป็นเรื่องยาก เพราะกว่าที่สังคมหนึ่งๆ จะถึงเบสิกอันนี้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา

“มองมุมกลับก็คือ ไม่ว่าจะเรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์มา การจะไปแตะเบสิกของยุคสมัย มันน่าจะทำได้ง่ายขึ้นในยุคนี้ แล้วภาระอาจจะไม่เท่ากัน ถ้าคุณขายของทั้งวัน ไม่ได้ต้องไปพูดต่อสาธารณะหรือแสดงความเห็น มันก็ไม่เรียกร้องหรอกว่าคุณต้องรู้ว่า มีคนค้นพบอีกหนึ่งกาแล็กซีแล้ว มันอาจจะไกลตัวไป แต่สำหรับคนทั่วไป ไม่ว่าจะเรียนสาขาไหนมา

“หรือผมเพิ่งดูคลิปอาจารย์สมเกียรติ (ตั้งกิจวานิชย์) พูดว่า ตอนนี้ด้านการศึกษามีการจัดอันดับแล้วว่า พอคุณจบไป ความรู้ที่เรียน ณ วันที่จบ จะล้าสมัยภายในกี่ปี สาขาหนึ่งซึ่งความรู้ไปไวมากคือวิศวะ สมมติเรียนไป ภายในห้าปีบางอย่างอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว ทุกคนก็จะเจอภาระในลักษณะนี้มากขึ้น และถ้าเรายิ่งต้องพูดต่อสาธารณะด้วย ถ้าไม่อยากปล่อยไก่ ก็มีความจำเป็นมากพอสมควร

“แต่ถึงขั้นระดับที่ว่า ทุกคนจะได้ทั้งสังคมพร้อมกัน ผมคิดว่าถ้ามองในเชิงประวัติศาสตร์คือ กว่าที่แต่ละเรื่องราวจะมีที่ทางขนาดนี้ในสังคม เอาเข้าจริงก็ใช้เวลามาตั้งนาน แล้วพอถึงเวลาจะต้องแก้มัน ก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่านั้น ถ้าใครเรียนประวัติศาสตร์ไทยจะเห็นตัวอย่างเพียบเลย” ศุภวิทย์กล่าว

แทนไทเปรียบเรื่องการรู้วิทยาศาสตร์เข้ากับการออกกำลังกาย

คุณไม่สามารถเรียกร้องให้ทุกคนในประเทศออกกำลังกายหรือแข็งแรงได้ ทุกคนรู้ว่าการออกกำลังมันดีแน่ แต่ก็ทำตามที่ชีวิตของตนเองจะเอื้ออำนวยว่าออกได้แค่ไหน เท่าไหร่

อีกเรื่องที่แทนไทอยากฝากไว้คือ บางคนชอบโปรโมตวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ขณะที่เขามองว่าเป็นจุดดึงดูดที่จำกัดไปสักหน่อย

“คำว่า ต้องรู้เพราะมันใกล้ตัว ผมเอาคำว่า ‘ต้อง’ ออก และเอา ‘ใกล้ตัว’ ออกด้วย คือคุณไม่ต้องรู้วิทยาศาสตร์หรอก วิทยาศาสตร์คุณไม่ต้องรู้

“คำว่า ‘ต้อง’ ของคุณ มาจากการที่คุณมองตัวเองเป็นมนุษย์ที่ตื่นมาแล้วก็ไปทำงาน แล้วก็กลับมาหาครอบครัว แล้วก็นอน แล้วก็ดูหนังบ้าง ถ้าคุณเอาแค่นี้ คุณไม่ต้องรู้เลย แต่ว่าคุณจะเอาแค่นั้นหรือเปล่าล่ะ มัน optional” แทนไทกล่าว

เขายกตัวอย่างทางเลือกให้ฟัง เช่น ตาเรามองเห็นได้แค่คลื่นแสงช่วง visible light ตั้งแต่สีม่วงถึงสีแดง เจ็ดสี คุณอยากรู้อะไรเกี่ยวกับอินฟราเรดไหมล่ะ แล้วอยากรู้อะไรที่อยู่เลยม่วงไปไหม เป็นยูวี เป็นเอกซเรย์ เป็นแกมมา ถ้าไปอีกทางหนึ่ง คุณอยากรู้เรื่องคลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟไหม

“คือคุณไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่คุณรู้ปุ๊บ คุณกำเนิดมือถือ คุณกำเนิดนู่นนี่นั่นเยอะแยะเต็มไปหมด ก็แล้วแต่ว่าอยากรู้หรือเปล่า แต่ไม่ต้องรู้ก็ได้” แทนไทย้ำ

“ยิ่งใกล้ตัวเท่าไหร่ ยิ่งตัดส่วนสำคัญของวิทยาศาสตร์ทิ้งไปมากเท่านั้น หลุมดำนี่ใกล้ตัวตรงไหน หรือสัมพัทธภาพก็ไม่ใกล้ตัว คือคำว่า ‘ตัว’ ของเรามันคือลิงชนิดหนึ่งที่วิวัฒนาการมาให้สนใจแค่นี้ว่า วันนี้อิ่มหรือยัง ร้อนไหมหนาวไหม ญาติสบายดีไหม เพื่อนเป็นยังไง แล้วก็จบ แล้วอย่าให้เผ่าตรงข้าม ฝูงข้างๆ มายึดที่เรานะ ถ้าใครหน้าไม่เหมือนเราให้ไล่ออกไป อาจจะมาจากที่อื่น นี่คือตัวเรามันสนใจแคบมาก คุณจะเอาแค่นี้เหรอ ก็นั่นแหละครับ”

 

* ถ้าอยากตามต่อ

แทนไทเอ่ยชื่อบรรดานักวิทยาศาสตร์ระดับปรมาจารย์ที่พูดถึงทั้งวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ด้วยถ้อยคำที่กินใจมากๆ จนเราไม่กล้าปล่อยผ่าน

“หลายคนที่ผมประทับใจมาตั้งแต่เด็ก แล้วทำให้ผมอยากเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์บ้าง นอกจากคาร์ล เซแกน ก็มีริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Feynman) ไฟน์แมนเป็นคนพูดจาคมคายมาก แล้วก็มีอารมณ์ขันเยอะด้วย เป็นนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล น่าจะเล่มแรกๆ เลยที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่านักวิทยาศาสตร์เท่

“ส่วนคนที่มีอิทธิพลต่อผมมากที่สุดน่าจะเป็นริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) เขาอธิบายเรื่องวิวัฒนาการ ซึ่งคนไทยไม่ค่อยพูดถึง นับเป็นการตระหนักรู้อย่างหนึ่งของมนุษยชาติที่ผมว่ายิ่งใหญ่ไม่แพ้การรู้ว่ามีกาแล็กซีอื่นอยู่

“ถ้ายุคปัจจุบัน คนที่พูดเก่งๆ คือไบรอัน คอกซ์ (Brian Cox) นักฟิสิกส์อังกฤษ แล้วก็นีล เดอกราสส์ ไทสัน (Neil deGrasse Tyson) ที่เป็นลูกศิษย์รุ่นต่อมาของคาร์ล เซแกน” แทนไทกล่าวและเสริมว่าถ้าลองเอาชื่อคนเหล่านี้ไปเสิร์ชกูเกิลหรือยูทูบ จะมีคลิปขึ้นมาเต็มไปหมด ใครสนใจไปตามต่อกันได้

 

ชมคลิปย้อนหลังได้ที่นี่