Brief: เสวนา มองโลก + เปลี่ยนโลกด้วย ‘จิตวิทยาสังคม’

 

เรื่อง: ชาลิสา เพชรดง

เอื้อเฟื้อภาพ พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ โดย The Cloud

 

หากจะเข้าใจพฤติกรรมของคนคนหนึ่ง อาจต้องถอยออกมาหนึ่งก้าวแล้วมองในมุมที่กว้างขึ้นกว่าคนคนนั้น ซึ่งก็คือการมองไปที่สังคมและสภาพแวดล้อมที่รายรอบเขานั่นเอง เพราะการกระทำของเราต่างได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว หนังสือ จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา โดยริชาร์ด คริสป์ จะพาไปสำรวจแนวคิดเชิงจิตวิทยาสังคม ที่จะคลายข้อสงสัยถึงความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลและสังคม ว่ามีผลต่อความคิดและพฤติกรรมทุกๆ วันของเราอย่างไร

ชวนสำรวจประสบการณ์และแนวทางเชิงจิตวิทยาสังคม พิจารณาพฤติกรรมของมนุษย์ในมุมที่กว้างขึ้น และหาทางออกให้กับปัญหาสำคัญในสังคมไทย ในงานเสวนาสาธารณะ “มองโลก + เปลี่ยนโลกด้วยจิตวิทยาสังคม” ร่วมพูดคุยโดยทิชา ณ นคร รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ และปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นอาชญากร

 

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก เปิดวงเสวนาด้วยการแบ่งปันความเชื่อที่ว่า “ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นอาชญากร” ประเทศไทยมีสถานควบคุมเด็กและเยาวชนทั้งหมด 19 แห่ง สำหรับทิชา เด็กๆ เหล่านี้ไม่ใช่อาชญกร ทว่าเขาคือผู้แพ้ของสังคม การกล่าวแบบนี้ไม่ใช่การยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้อง และไม่ใช่การยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเหยื่อเป็นสิ่งที่เราไม่สนใจ

หากย้อนดูตัวเลขเด็กที่ถูกจับในแต่ละปี ก็พบว่าเขาอยู่ในสถานะไม่ต่างจากเหยื่อ เพราะเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของเด็กเหล่านี้เป็นเด็กออกจากโรงเรียนหรือถูกให้ออกจากโรงเรียนกลางคัน และส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมต้น

ทิชาตั้งคำถามต่อไปว่าจะมีพื้นที่ใดรองรับเด็กที่ออกจากโรงเรียน เขาออกมาพร้อมบาดแผล ด้วยความรู้สึกไม่มีคุณค่าหรือตัวตน เมื่อเขามาเจอกัน บทสนทนาและพฤติกรรมของพวกเขาก็เหนือความคาดหมาย

“ก่อนหน้าจะก่อเหตุ เขาไม่มีตัวตน ไม่คิดว่าตัวเองมีคุณค่าหรือความหมายสำหรับใคร ด้วยโอบกอดแรกของเรา การสื่อสารที่บอกว่าเขายังมีความดีงามหลงเหลืออยู่ แต่ยังต้องการการพิสูจน์ ไม่ใช่อยู่ๆ เรายอมรับโดยที่เด็กไม่ต้องทำอะไร เราก็เชื่อว่าเขาช่วยเราเพื่อจะพาด้านมืดนั้นออกไปจากตัวเขาและสร้างคนที่เข้มแข็งขึ้นมา”

“ด้วยหลักคิดแบบนี้ทำให้การออกแบบกิจกรรมทั้งหมดในบ้านกาญจนาภิเษกห่างไกลจากคำว่าคุกมากๆ และเราต้องกลับไปทบทวนอีกว่าเมื่อเด็กเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในนิยามของผู้ก่ออาชญากรรมสำหรับเรา แต่เป็นผู้แพ้ของสังคม เราจะต้องไม่นำสิ่งที่คุกสำหรับเด็กในไทยเคยสร้างมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 มาใช้กับพวกเขา”

ทิชาเล่าถึงแนวคิดเดิมของคนในสถานควบคุมที่มองว่าเด็กเป็นผู้กระทำผิดแต่ฝ่ายเดียว และต้องถูกดูแลให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย เช่น การให้ตั้งฉากก่อนรับประทานอาหาร หรือเด็กไม่สามารถหยิบจับเครื่องครัวที่ถูกตีความว่าเป็นอาวุธมาทำอาหารได้ แต่เมื่อเราไม่ได้มองว่าเขาเกิดมาเพื่อเป็นอาชญากร เราก็ต้องปฏิบัติกับเขาอีกแบบหนึ่ง

เมื่อนำความสัมพันธ์ทางอำนาจออกไปได้ โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมให้เด็กได้รับผิดชอบตัวเองและเห็นคุณค่าของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อเด็กก็ตามมา

ที่บ้านกาญจนาภิเษกจัดกิจกรรมที่ไม่เหมือนเรือนจำ เพราะทิชาตระหนักว่าทุกคนมีด้านมืดและด้านสว่าง เมื่อเห็นว่าทุกคนมีด้านสว่างอยู่ แม้ว่าเด็กบางคนหลังจากพ้นจากบ้านกาญจนาภิเษกไปและต้องเขาไปต่อเรือนจำนานกว่า 30 ปี ก็ควรมีพื้นที่หรือโอกาสให้ด้านสว่างนั้นฉายออกมา

ในคืนที่สองของเด็กที่เข้ามาอยู่บ้านกาญจนาภิเษก เด็กๆ มีโอกาสไปกินหมูกระทะ ถือเป็นช่วงปะทะด้านมืด เพราะเป็นโอกาสที่เขาอาจหนีไปได้ ในไดอารี่ของเด็กคนหนึ่งที่มีโทษต้องเข้าเรือนจำต่อ ได้สะท้อนให้เห็นว่าเขาได้รับโอกาสอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อนจากคนรอบข้าง ซึ่งก็คือความเชื่อมั่น ทิชาแลกเปลี่ยนว่ามีเด็กจำนวนมากเชื่อว่าเขามีด้านสว่างจริง เพียงแค่รอให้ใครเห็น และรอให้ใครเปิดพื้นที่ให้ด้านสว่างได้ฉายออกมา

“เด็กคนแล้วคนเล่าบอกเราว่าด้านดีของเขามีอยู่จริง แต่รอให้ใครเห็น และรอให้ใครเปิดพื้นที่ให้มันออกมา ป้าเสียดายที่เห็นเขาช้า เราเห็นเขาตอนที่เหยื่อไปแล้ว เห็นตอนที่มีคนเสียชีวิตไปแล้ว เขามีบาดแผลในใจไปแล้ว ทั้งๆ ที่เขาควรถูกเห็นก่อนหน้านั้น ตอนที่เขาเป็นลูกของพ่อแม่ในบ้านหลังหนึ่ง เป็นลูกศิษย์ของครูในโรงเรียน เป็นเด็กน้อยในชุมชน ในสังคม ถ้าเราเห็นสิ่งเหล่านี้ก่อน เราจะสามารถปิดเส้นทางการเข้าคุกของเด็กๆ ได้อย่างมหาศาล”

สิ่งที่ทิชาสังเกตเห็นตลอดเวลาสิบปีที่ผ่านมา เป็นลักษณะร่วมที่เกิดซ้ำๆ ของเด็กที่ก่อคดีก็คือ เขาเหล่านี้เป็นเด็กที่ออกจากโรงเรียน ทิชาจึงเกิดคำถามว่าทำไมจึงไม่เคยมีการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในเชิงระบบเลย

กรณีเยาวชนชาย 5 คนก่อคดีรุมโทรมเยาวชนหญิง 1 คน ในบรรดาห้าคนนั้นสามคนออกจากโรงเรียนตอน ม.2 หนึ่งคนออกจากโรงเรียนตอน ม.3 หนึ่งคนอยู่ ม.4 ไม่ไปโรงเรียนแล้ว และมีแนวโน้มจะออกจากโรงเรียน คำถามต่อมาที่ทิชามีคือโรงเรียนมีเหตุผลอะไรที่ให้เด็กๆ ออกจากโรงเรียน

“จากประสบการณ์ที่เห็นเด็กเหล่านี้ออกจากโรงเรียนมา เมื่อประตูโรงเรียนปิดใส่เขา ประตูคุกจะเปิดต้อนรับเขาทันที”

“เราต้องการครู หมอ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ทั้งประเทศหรือเปล่า โลกนี้ต้องหมุนไปด้วยความหลากหลาย และเด็กเหล่านี้ก็อาจกระจายอยู่ในอาชีพต่างๆ ได้ ถ้าโรงเรียนให้พื้นที่กับเขา ไม่ใช่ตบซ้ายขวาจนเหลือแค่คนไม่กี่กลุ่ม”

ทิชาชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาออกจากโรงเรียนกลางคัน จะแก้ที่ปัจเจกหรือในระดับครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งไม่ได้ พ่อแม่จำนวนมากอาจไม่สามารถมอบการศึกษาที่ดีให้ลูกได้ และมองว่าการโทษแต่เพียงปัจเจกเป็นการยอมรับระบบและนโยบายที่ไม่มีการออกแบบที่ดี

“แต่รัฐสามารถเพิ่มพื้นที่ดีๆ เพื่อให้เด็กที่ไม่สามารถจัดการตัวเองได้ในระบบครอบครัวเขาได้มีโอกาสดึงด้านดีของเขาออกมา”

“ทุกครั้งที่มีเด็กก่ออาชญากรรมในสังคมไทย แล้วเราฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดกับปัจเจก มันเป็นความสูญเสียซ้อนความสูญเสีย เพราะระหว่างที่เราเกรี้ยวกราดกับปัจเจก เรากำลังส่งสัญญาณว่าคนคิดระบบหรือนโยบายไม่มีความผิดเลย แต่เขาย่อมผิดด้วย”

ทิชาอธิบายต่อว่า เพราะฝ่ายกำหนดนโยบายมีการค้นหาข้อมูล ซึ่งประเทศไทยมีงานวิจัยมากมาย แต่กลับไม่มีการนำสิ่งเหล่านี้ไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดจำนวนคนที่เปราะบางและทำให้เขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

การที่สังคมเอื้อให้ฝ่ายนโยบายลอยนวลอยู่ได้ ด้วยการมองเห็นเพียงความผิดของปัจเจกเท่านั้น เท่ากับเราสมคบคิดกับคนที่ออกแบบระบบและนโยบายไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ทิชาแลกเปลี่ยนว่าจากการอ่านไดอารี่ก่อนนอนของเด็ก พบว่ามีปัจจัยผลักไสไล่ส่งเด็กออกจากครอบครัว 22 รูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ พ่อพูดถึงความสำเร็จของตัวเองซ้ำๆ ซากๆ หรือการเปรียบเทียบ นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยดึงดูดที่นำพาเด็กไปสู่การก่ออาชญากรรม ทิชานำข้อมูลจากไดอารี่ของเด็กๆ มาออกแบบกิจกรรมให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างเด็กและพ่อแม่ ซึ่งช่วยให้แต่ละครอบครัวเข้าใจปัญหาได้ตรงกันมากขึ้น

 

มองโลกมุมกว้างด้วยจิตวิทยาสังคม

 

ทิพย์นภา หวนสุริยา อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แปลหนังสือ จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดจิตวิทยาสังคม ซึ่งเป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่มุ่งมองสาเหตุของพฤติกรรมไปที่ภาพกว้างของสังคมมากกว่าปัจเจก

“จิตวิทยาสังคมคือการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่อยู่ในบริบทของสังคม ในหนังสือใช้คำว่า ‘จักรวาลทางสังคม’ เป็นคำที่ทำให้เห็นภาพชัดว่า คนเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว สิ่งที่เราทำ หรือพฤติกรรมของเราไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวเราคนเดียว แต่มีสิ่งแวดล้อมรายรอบที่กำหนดพฤติกรรมเรา”

บางคนอาจมองว่าที่เด็กนิสัยไม่ดีนั้นมาจากนิสัยและพฤติกรรมของตัวเด็กเอง ทั้งที่จริงไม่อาจฟันธงได้แบบนั้น

“การโทษปัจเจกเป็นเรื่องง่าย เพราะถ้าปัจเจกเป็นตัวปัญหา การนำเขาออกไปจากสังคมก็เป็นเรื่องง่าย เหมือนได้แก้ปัญหาแล้ว แต่หากเรามองว่า การที่คนคนหนึ่งจะทำพฤติกรรมหนึ่ง มีปัจจัยหลายอย่างมากในระบบสังคม นโยบาย และสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เราก็แก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่การนำเขาออกจากสังคมไปเฉยๆ”

“เป้าหมายที่จิตวิทยาสังคมต้องการศึกษาคือทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมมนุษย์เกิดจากอะไร เพื่อให้สามารถจัดการ ควบคุม และแก้ไขพฤติกรรมเหล่านั้นได้ นี่จึงเป็นพื้นฐานของการบริหารจัดการพฤติกรรมใดๆ ก็ตามของมนุษย์ในสังคม”

ทิพย์นภาอธิบายต่อว่า สามารถแบ่งเนื้อหาในการศึกษาจิตวิทยาสังคมได้ 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. intrapersonal คือสิ่งที่อยู่ในความคิดบุคคล และได้ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม เรานำข้อมูลทางสังคมเข้ามาและกระทบความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่เราจะทำต่อไป เช่น การเห็นคุณค่าในตัวเอง
  2. interpersonal คือการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน เช่น คนเรามีความรักชอบกัน หรือมีความสัมพันธ์กันได้อย่างไร อะไรทำให้คนดึงดูดกัน อะไรทำให้โกรธกัน มีความขัดแย้งกัน อะไรทำให้รักษาความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน
  3. group process คือการที่เราเข้าไปอยู่ในกลุ่มหรือสถานการณ์ที่มีคนอื่นอยู่ด้วย ทำให้เรามีพฤติกรรมต่างจากตอนอยู่คนเดียว เราอาจกล้าทำสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน หรือทำสิ่งที่เราไม่อยากทำ เช่น คนที่ไม่กล้าเต้น พอไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่กระโดดโลดเต้น ก็สามารถเต้นได้ หรือเด็กที่ไม่อยากทำอาชญากรรม แต่พออยู่ในกลุ่มเพื่อนก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน
  4. intergroup process คือพฤติกรรมระหว่างกลุ่ม เช่น ทำให้เราปฏิบัติต่อคนที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มอื่นต่างกันโดยไม่สนว่าตัวตนของเขาจริงๆ เป็นอย่างไร เช่น คนนี้เป็นผู้หญิง ดังนั้นทำสิ่งนี้ไม่ได้ คนนี้เป็นคนต่างประเทศ ดังนั้นเขาไม่ควรมีตำแหน่งในส่วนนี้

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วจิตวิทยาสังคมแตกต่างจากจิตวิทยาทั่วไปอย่างไร ทิพย์นภาให้ข้อมูลว่าจิตวิทยาสังคมเป็นการศึกษากระบวนการทางจิตใจของคนในเชิงวิทยาศาสตร์พื้นฐาน คือค้นหากลไกว่าเราจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อพฤติกรรมหนึ่ง เป็นการหาสาเหตุหรือเหตุผลของพฤติกรรม

มีหลายทฤษฎีในการค้นหาสาเหตุของพฤติกรรม ซึ่งมีจุดเน้นต่างกัน เช่น ทางวิทยาศาสตร์มากๆ ดูที่สารเคมี ฮอรโมน เซลล์สมองโซนต่างๆ มีผลกับพฤติกรรมหนึ่ง หรือดูที่กระบวนการคิด (cognitive psychology) หาว่ากระบวนการคิดของคนมีข้อผิดพลาดใดที่ส่งผลต่อพฤติกรรมหนึ่ง และต่อมาดูที่บุคลิกภาพที่สร้างเป็นตัวตน ปัจเจก ส่วนจิตวิทยาสังคมนั้นขยายขอบเขตการมองให้กว้างขึ้น ไม่ได้มองแค่ตัวคน แต่ดูปฏิสัมพันธ์ของสิ่งที่อยู่รอบ เป็นการมองให้รอบด้านมากขึ้น

ทิพย์นภายังกล่าวถึง Kurt Levin นักจิตวิทยาสังคมผู้เคยเป็นนักฟิสิกส์มาก่อน บอกว่าพฤติกรรมมนุษย์ก็เหมือนกับหลักฟิสิกส์ คือมีสภาพแวดล้อมมากระทบและตัววัตถุ ถ้าเปรียบเป็นมนุษย์ คือมีคุณสมบัติบางอย่างในตัวที่ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่มากระทบและทำให้เราแสดงออกไม่เหมือนกัน

 

ปัญหาพฤติกรรม สำคัญที่ยอมรับและเข้าอกเข้าใจ

 

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ที่ปรึกษาด้าน Communication Strategy โครงการ Rethink Thailand แลกเปลี่ยนว่าในการสื่อสาร ต้องเข้าใจก่อนว่าผู้ฟังเราคือใคร ทำไมเขาถึงคิดหรือต้องการแบบนี้ จิตวิทยาสังคมจะเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยทำความเข้าใจ 4-5 ปีที่ผ่านมา ในวงการธุรกิจมีการใช้ design thinking โดยการเข้าอกเข้าใจคน (empathize) ว่าปัญหาของเขาคืออะไร

ต่อมาพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers ให้ความเห็นว่าแทบทุกเรื่องในชีวิตเรามีการนำจิตวิทยาสังคมมาใช้ อยู่ที่ว่าจะมีชุดภาษาทางจิตวิทยาสังคมมาอธิบายหรือเปล่าเท่านั้นเอง

ขณะที่สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม Moral Center Thailand กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น เล่าว่าใช้หลายอย่างผสมผสานกัน “หมอจะเอาอะไรกับผมอีก ชีวิตนี้ผมถูกผู้ใหญ่กระทำมามากพอแล้ว” “หมอครับ อย่าย่ำจุดอ่อนของผมจนแม้แต่แกนชีวิตผมเสียสิครับ” คือประโยคที่คนไข้คนหนึ่งบอก และทำให้สุริยเดวพบว่าการยึดหลักจากเอกสาร เช่น การทดสอบไอคิวอาจใช้ไม่ได้เสมอไปในการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาบุคคลหนึ่ง ทำให้เห็นว่าท้ายที่สุดเราไม่สามารถพิจารณาจากเพียงเอกสาร แต่ต้องดูที่ชีวิตและจิตใจคนคนนั้นด้วย

สุริยเดวให้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการบุคลิกของบุคคลว่า มีนักจิตวิทยาเสนอว่าเมื่อสมองพัฒนาไปในระดับหนึ่งการพัฒนาบุคลิกก็จะหยุดไปด้วย เปรียบได้กับ “ไม้แก่ดัดยาก” แต่สุริยเดวเห็นต่างกับแนวคิดดังกล่าว เพราะที่บ้านกาญจนาภิเษกทำให้เห็นว่าแม้จะอายุเท่าไรก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดได้

เมื่อคนเราเจอวิกฤตที่สุดในชีวิต พฤติกรรมหรือความรู้สึกนึกคิดของคนเราจะละลายอีกครั้ง พอเจอวิกฤต ความเชื่อมั่นในตัวเองถึงขั้นหายไป แต่เป็นจุดที่สามารถหลอมพฤติกรรมใหม่หรือความคิดใหม่ขึ้นมาได้ ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นจะมีใครเข้ามาส่งเสริมหรือสร้างพื้นที่ให้เขาได้พัฒนาวิธีคิดและเพิ่มพลังบวกหรือไม่ และเห็นด้วยกับทิชาว่า ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่สภาพแวดล้อม รวมถึงพ่อแม่ คือหัวใจสำคัญในการเตรียมพร้อมด้านจิตใจให้กับเด็ก

ปราบเสริมว่าต้องนำปัจจัยอื่นมาพิจารณานอกเหนือจากทฤษฎีด้วย เพราะในงานศึกษาจิตวิทยามีภาวะวิกฤตการทำซ้ำ (Reproducibility Crisis) คือการนำงานวิจัยในอดีตมาศึกษาและทดลองซ้ำอีกครั้ง แต่ได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน โดยมี 2 ปัจจัยคือ คุณภาพงานวิจัยในอดีตอาจมีอคติบางอย่าง และปัจจัยที่สองคือ สังคมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่สามารถนำทฤษฎีหนึ่งมาอธิบายได้ ทุกๆ ทฤษฎีมีข้อจำกัดและเงื่อนไข

สุริยเดวได้แลกเปลี่ยน 3 ประเด็นที่อยากส่งสัญญาณไปสู่สังคม ได้แก่

  1. ระบบนิเวศหรือปัจจัยภายนอกเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าปัจจัยภายในของตัวเด็กเอง หลายครั้งที่หมอต้องรักษาเด็ก และพบว่าสาเหตุมาจากตัวเด็ก 25 เปอร์เซ็นต์ เช่น ปัญหาออทิสติก สมาธิสั้น (attention-deficit hyperactivity disorder – ADHD) ความบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disability) และอีก 75 เปอร์เซ็นต์คือระบบนิเวศหรือผู้ใหญ่ป่วยยิ่งกว่าตัวเด็ก
  2. เด็กเกิดมาเป็นผ้าสีต่างกัน ไม่ใช่ผ้าขาวสีเดียวเหมือนกันหมด ดังนั้นต้องไม่เปรียบเทียบเด็กหรือมองแบ่งแยกว่าเด็กหน้าห้องกับเด็กหลังห้อง ควรมีการ “ยอมรับในความสามารถและศักยภาพ” ของเด็ก และ “การออกแบบระบบการศึกษาต้องทำให้เด็กมีพื้นที่ยืน ไม่ใช่ทำให้เด็กไร้ตัวตน”
  3. ระบบแพ้คัดออกทารุณเด็ก การที่เด็กไปทดสอบแล้วตกซ้ำแล้วซ้ำอีก สร้างบาดแผลในใจให้เด็กได้ หลายประเทศจึงยกเลิกการสอบหรือการจัดห้องเรียนที่แบ่งเป็นห้องเด็กหน้าห้องหรือเด็กหลังห้อง

ทิชายืนยันเรื่องระบบที่ทำร้ายเด็กๆ จากประสบการณ์การอ่านประวัติการศึกษาของเด็กหลายคน พบว่า เด็กถูกให้ออกจากโรงเรียนโดยไม่มีการแก้ไขปัญหาใดๆ เช่น เมื่อเด็กทำการบ้านไม่ได้ ไม่ไปโรงเรียนหลายวัน ผอ. เรียกเด็กไปพบเพื่อให้ลาออก เพราะเกรงว่า “จะเสียประวัติ” โดยมองว่าเด็กจะทำให้คุณภาพของโรงเรียนต่ำลง จึงต้องจัดการที่เด็ก ทั้งๆ ที่มีปัจจัยภายนอกเกี่ยวข้องด้วย เช่น วิธีการสอนของครู

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงได้รับอิทธิพลจากสังคม ซึ่งไม่ได้มีเพียงเชิงลบ แต่ยังมีอิทธิพลเชิงบวกอีกมากมาย การเข้าใจจิตวิทยาสังคมก็สามารถช่วยสร้างเสริมสุขภาพของความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน ทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัว คนรัก เพื่อนพ้อง หรือที่ทำงานได้

สุริยเดวเห็นว่าหัวใจสำคัญคือทัศนคติที่เปิดใจรับฟังกัน และเสนอแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน โดยใช้สามคำถามสำคัญ คือ รู้สึกอย่างไร ได้คิดหรือเรียนรู้อะไร และจะทำอย่างไรต่อ

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของจิตวิทยาสำหรับมนุษย์ทุกคนคือการสื่อสารอย่างสันติวิธีเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และแนะนำหัวใจการส่งเสริมสุขภาวะเด็กโดยพ่อแม่ ซึ่งทำได้ด้วย 3 ขั้นตอนคือ 1) เปิดใจ 2) เป็นผู้ฟังที่ดี และ 3) ยอมรับว่าเด็กทุกคนเกิดมาล้วนมีคุณค่า

 

หรือโซเชียลมีเดียจะทำให้เราห่างกันมากขึ้น?

 

ในประเด็นอ่อนไหวอย่างเช่นการเมือง ปราบยกตัวอย่างว่าในแคมเปญรณรงค์ มักสื่อสารด้วยการเล่าเรื่องของประเทศอื่นๆ เพื่อโน้มน้าวคน โดยบอกว่าเมื่อต่างประเทศทำแบบนี้ เราก็ควรทำบ้าง ต้องยอมรับว่าในสังคมไทยมีการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมสูงมาก ด้วยการบอกว่าคนไทยมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนชาติอื่น

เมื่อนำการสื่อสารแบบเปรียบเทียบมาใช้ก็ทำให้เกิดข้อกังขาว่าประเทศไทยต้องทำแบบชาติอื่นหรือเปล่า ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมา มีวาทกรรมที่ว่า “อย่ามีเลยประชาธิปไตยแบบตะวันตก เราต้องมีประชาธิปไตยไทยๆ” ทั้งๆ ที่ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของเชื้อชาติ แต่เป็นเรื่องที่ว่าจะมีความสัมพันธ์แนวดิ่งหรือแนวราบ หรือ “เด็กไทยดื้อต้องโดนไม้เรียว” ทั้งๆ ที่ไม่ควรมีเด็กที่ไหนก็ตามถูกตี

ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจพื้นฐานของสังคมที่เรากำลังสื่อสารด้วย เช่น มีการตั้งแง่กับการเปรียบเทียบ ปราบจึงแนะนำให้สื่อสารโดยใช้ปัญหาเป็นตัวตั้ง ไม่นำการเปรียบเทียบเป็นตัวตั้ง แต่ใช้การเปรียบเทียบยืนยันในภายหลังว่า ไม่ต้องห่วง เราไม่ได้ลองทำแบบนี้คนเดียว จะทำให้การสื่อสารเปลี่ยนไป การจะสื่อสารให้มีประสิทธิภาพต้องเข้าใจว่าคนที่สื่อสารด้วยเติบโตมาอย่างไร มีวิธีคิดอย่างไร

ขณะเดียวกัน บทบาทของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียดูเหมือนจะทำให้บุคคลแยกตัวเป็นปัจเจกมากขึ้น แต่ปราบเห็นต่างและมองว่าในทางตรงข้ามเราจะเจอกลุ่มคนที่คิดเหมือนกันมากขึ้น เกิดเป็นชนเผ่าทางสังคม (social tribalism) หรือกลุ่มคนที่มีความคิดความสนใจเดียวกันขึ้นมา เช่น ในหมู่บ้านที่เราอยู่ มีเราเล่นเกมหนึ่งคนเดียวและรู้สึกแปลกแยก แต่เมื่อเข้าโลกออนไลน์ เราจะเจอคนที่สนใจเรื่องเดียวกันหรือคิดเหมือนกันได้ง่ายมาก

เมื่อเกิดชนเผ่าของตัวเองแล้ว ในแง่หนึ่งก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน เพราะทำให้การพยายามไปเจออีกชนเผ่าหนึ่งเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะไม่มีพื้นที่ตรงกลาง กลายเป็นความท้าทายใหม่ เพราะเมื่อคนสองกลุ่มไม่มาเจอกันเลย ก็จะไม่รู้ว่าต่างฝ่ายต่างคิดอย่างไร

ปราบเล่าต่อว่ามีการเสนอทางออกคือ ทำอย่างไรก็ตามให้อัลกอริธึมผลักชนเผ่าหนึ่งไปเจอกลุ่มคนอื่นๆ บ้าง เช่นใน TikTok มีการนำเสนออินฟลูเอนเซอร์คนใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้ที่ไม่เคยเจอมาก่อน

อีกตัวอย่างน่าสนใจที่ปราบยกมานำเสนอคืองานศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว Black Lives Matter ที่มีทั้งการจลาจลที่เป็นส่วนน้อยและการชุมนุมอย่างสงบ มีการศึกษาพบว่า สาเหตุที่ในหลายพื้นที่ชุมนุมไม่มีการก่อจลาจลเป็นเพราะชุมชนมีความใกล้ชิดกัน

ปราบย้ำว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำอย่างไรให้มีพื้นที่กลางให้คนที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อนได้เจอกันมากขึ้น เจอความคิดและวิถีที่แตกต่าง ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน จะทำให้ความรู้สึกแปลกแยก หรือความหวาดระแวงเพราะไม่รู้จักกันนั้นน้อยลง ทำให้อคติที่เกิดขึ้นในสังคมน้อยลงตามไปด้วย แม้โลกออนไลน์เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าใครจะรับสารจากแหล่งใดได้ แต่ในโลกจริง เราสามารถสร้างพื้นที่ตรงกลางให้คนมาเจอกัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนได้

“น่าเสียดายที่พื้นที่แสดงออกในไทย 4-5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของไทยน้อยลงไปมาก ทำให้ขาดพื้นที่ตรงกลางที่จะมาเสวนาพูดคุยระหว่างคนที่คิดต่าง คนคิดต่างไม่ได้เจอ ไม่ได้คุยกัน”

พรจรรย์แบ่งปันประสบการณ์จากที่ทำงานกับเด็กมา พบว่าเด็กทุกคนต่างมีแนวคิด มีความฝัน แต่เพียงอยู่คนละเผ่า อยู่ที่ผู้สอนแล้วว่าจะตระหนักไหมว่าเด็กมีความสนใจแตกต่างกัน จะสอนอย่างไรให้ได้ผลกับทุกคน ต่อมาคือจะสร้างพื้นที่ตรงกลางให้เด็กๆ ได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองอย่างไร สิ่งที่พยายามทำอยู่ตอนนี้คือจะสร้างเครื่องมือให้ครูอาจารย์และผู้เกี่ยวข้องเข้าใจในตัวเด็ก เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีต้นทุนไปนั่งคุยหรือเก็บข้อมูลจากเด็กได้

นอกจากโลกออนไลน์จะเป็นพื้นที่รวมคนคิดเหมือนๆ กันให้มาเจอกันง่ายขึ้น และแยกคนคิดต่างให้อยู่ห่างออกไปแล้ว ทิพย์นภายังเห็นว่าโลกออนไลน์เป็นเครื่องมือเร่งพฤติกรรมทางสังคมให้เร็วและเข้มข้นขึ้นด้วย

“เรายังคงต้องการการยอมรับจากสังคม เรายังเปรียบเทียบกับคนอื่นเพื่อดูว่าเราเจ๋งกว่าคนอื่นหรือเปล่า เรายังต้องการกลุ่มที่มาสนับสนุนเรา ในวันที่เราทำอะไร เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยให้เราทำสิ่งเหล่านั้นได้เร็วขึ้น และกระจายไปในวงกว้างมากขึ้น”

“จากเมื่อก่อน เราอยากทำอะไรสักอย่าง เราอยากรวบรวมผู้คน แล้วต้องใช้เวลายาวนาน แต่ตอนนี้เพียงแค่โพสต์ก็สามารถหาคนที่คิดเหมือนกันได้เยอะมาก ถ้าใช้ในการส่งเสริมเปลี่ยนแปลงโลก ก็จะเป็นพลังที่ช่วยให้เราเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น”

“อีกทางหนึ่งก็มีปัญหา คนที่ติดตามเพจใดก็จะรับข้อมูลจากเพียงเพจเดิม อาจทำให้คนสองกลุ่มแตกแยกมากขึ้น จิตวิทยาสังคมอธิบายว่า เมื่อใดที่เราคิด มีความเชื่อ หรือมีจุดยืนใด เราพยายามจะรักษาและปกป้องความคิดของเราว่าเป็นสิ่งที่ถูก ดังนั้นเราจึงไม่ชอบคนที่คิดต่างจากเรา เมื่อเจอคนที่ไม่ชอบสิ่งที่คนจะทำคือพยายามไม่ฟังเขา ทำให้เขาดูไม่น่าเชื่อถือ เพื่อรักษาจุดยืนของตัวเอง”

ทิพย์นภาแลกเปลี่ยนต่อว่าทุกวันนี้เราปิดรับความคิดอื่นที่ขัดแย้งกับความคิดเราได้ง่าย ความคิดเห็นจะแบ่งขั้วมากขึ้น เพราะคนที่คิดเห็นต่างไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน อย่างในอเมริกา พบว่าคนที่สนับสนุนต่างพรรคมีความเห็นต่อประเด็นหนึ่งที่ต่างกันสูงมาก จากที่เมื่อก่อนยังมีความเห็นตรงกันบ้าง แต่ภายหลังพบว่าพลังของโซเชียลมีเดียทำให้มีความแตกต่างทางความคิดมากขึ้น

 

เปิดมุมแลกเปลี่ยนเพื่อให้เห็นคนเท่ากัน

 

ในยุคปัจจุบันยังคงมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และมองผู้อื่นต่ำกว่ามนุษย์ จึงเกิดคำถามว่าในทางจิตวิทยาสังคม จะมีวิธีดึงคนคิดต่างให้เข้าหากันและเชื่อมช่องว่างทางความคิดอย่างไร

ทิพย์นภาให้ข้อมูลว่าแนวคิดที่มองว่าคนคิดต่างไม่ใช่มนุษย์ และปฏิบัติกับคนคนนั้นไม่เหมือนมนุษย์หรือคิดว่าเขาสมควรตาย ถูกใช้ในยุคสงครามที่ทำให้คนคิดว่าสมเหตุสมผลแล้วที่จะฆ่าคน เพราะเขาไม่ได้มีความเป็นมนุษย์เท่าเรา

“เวลาที่เรามองคนอื่นว่าต่ำว่ามนุษย์ หมายความว่าเรามองไม่เห็นเขาว่ามีชีวิตเหมือนเรา มีความฝัน มีความต้องการอะไรเหมือนๆ เรา เวลาที่มองว่าอีกกลุ่มไม่มีความคิด ความรู้สึกอะไรเหมือนเรา ทำให้ง่ายที่จะมองว่า ไม่เป็นไร จะทำอะไรกับเขาก็ได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราอาจไม่ได้มีพื้นที่มาคุยกัน”

ทิพย์นภายกเล่าต่อว่าในทางจิตวิทยาสังคมมีการวิจัยเพื่อลดปัญหานี้ เช่น ในอเมริกา วิธีที่พบว่าได้ผล คือการทำให้คนมาเจอกันและมีปฏิสัมพันธ์ โดยต้องมีเงื่อนไขว่าทุกคนต้องมาในฐานะที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ใครสั่งให้มา และได้ทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน เพื่อให้เห็นว่ามีเป้าหมายร่วมกัน

“การทำให้คนยอมรับความหลากหลาย ไม่ใช่การให้ทุกคนใส่เครื่องแบบเหมือนกัน หรือทุกคนต้องทำตัวเหมือนกัน การทำแบบนั้นไม่ได้ทำให้คนเกิดความสมานฉันท์กลมเกลียว เป็นเพียงการกดทับ ไม่ให้เขาได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย”

“การที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ระยะยาวและสงบได้ ต้องทำให้คนได้เจอความคิดเห็นที่แตกต่าง และเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจกัน จึงจะเกิดความยั่งยืนได้ เพราะถ้ากำหนดไว้ว่าห้ามแสดงออก ห้ามแสดงความคิดเห็น ต้องคิดให้เหมือนกันทั้งหมดจึงจะสงบสุข ในระยะยาวจะระเบิด เพราะถูกกดทับไว้”

ทิชายกตัวอย่างเพิ่มเติมจากกรณีที่บ้านกาญจนาภิเษก ความขัดแย้งข้างภายในบ้านกาญจนาภิเษกมีเยอะ แต่ละคนล้วนมีบาดแผล มีคู่ขัดแย้งมาเจอกันที่บ้านกาญจนาภิเษก แต่สิ่งที่ทำให้ความขัดแย้งในบ้านกาญจนภิเษกไม่เคยไปสู่ความรุนแรงเลยคือการชวนคู่ขัดแย้งมานั่งคุยกัน รวมถึงพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย

“เมื่อคุยกันทุกคนก็พบว่าต่างก็ลำบากเหมือนกัน เมื่อผู้ใหญ่เริ่มจับมือ โอบกอดและขอโทษกัน สิ่งเหล่านี้มีพลังอย่างมากที่ส่งไปถึงลูกหลานเขา การนำคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ขัดแย้งมาคุยกันป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง เมื่อมีพื้นที่กลางให้คนมาคุยกัน ในที่สุดคนจะเข้าหากันเอง”

สุริยเดวแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างพื้นที่ให้คนสองกลุ่มมาเจอกันและการใช้พลังบวกมาเป็นประเด็นหลักในการพูดคุย โดยมีโอกาสพาคนที่เห็นต่างทางการเมืองสองกลุ่มมาคุยกัน และเกือบเกิดความรุนแรงจากการพูดคุยกันในครั้งนั้น จึงได้ตั้งโจทย์ในการพูดคุยกันใหม่ โดยมีโจทย์ว่าจะช่วยกันอย่างไรให้แม่ค้าที่รถเข็นก๋วยเตี๋ยวพังจากการถูกกระสุนยิงได้กลับมามีรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวต่อไป ทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างช่วยกันตามที่ตนถนัด และถอดบทเรียนว่าทำไมจึงทำสำเร็จได้บนหลักสุนทรียสนทนา เป็นการพูดคุยด้วยพลังบวก ไม่นำพลังลบเข้ามาในบทสนทนา ท้ายที่สุดสองกลุ่มจับมือกัน เกิดการเจรจาเพราะมีประเด็นร่วมบนพลังบวก

สุริยเดวเสริมอีกประเด็นว่ายังมีความท้าทายในอนาคต คือการที่ไม่รู้ว่าคู่ขัดแย้งในโลกโซเชียลมีเดียคือใคร อาจต้องติดเครื่องมือทางปัญญาให้เด็กๆ โดยการใส่พลังบวก เติมการเรียนรู้เรื่องวิธีปรองดอง วิธีการเจรจา เพื่อให้เกิดกลุ่มคนที่มีพลังบวกมากขึ้น

 

สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยจิตวิทยาสังคม

 

มีการกล่าวถึงภาวะผู้นำและบุคลิกแบบอำนาจนิยมในหนังสือ จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา เป็นเรื่องน่าสนใจว่าหากมองผ่านมุมมองของจิตวิทยาสังคม ผู้นำที่ดี ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงควรมีบุคลิกอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในระดับองค์กร บริษัท หรือประเทศ

ปราบเสนอว่าในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ขั้นแรกสิ่งที่ผู้นำต้องเข้าใจและต้องทำคือ ต้องยอมรับว่าปัญหาคืออะไร ทั้งปัญหาความขัดแย้ง ความเกลียดชังในสังคม ปัญหาสำคัญคือกลไกการสร้างความเกลียดชังเป็นระบบ แม้กระทั่งองค์ความรู้จิตวิทยาทางสังคมอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้เพียงลำพัง

ควรรวมองค์ความรู้ กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา และพยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ แม้จะสามารถนำคนมาคุยกันได้ แต่หากความอยุติธรรมที่เป็นปมยังไม่ถูกคลี่คลาย ความขัดแย้งก็จะยังอยู่ เป็นและไม่มีทางพาคนสองกลุ่มมาเจอกันและอยู่ในสถานะที่เท่ากันได้

ทิชาเห็นด้วยและอยากยืนยันเรื่องความยุติธรรมเช่นกัน โดยเล่ากรณีที่บ้านกาญจนาภิเษก สิ่งที่ทำให้ไม่เกิดความขัดหนึ่งในนั้นคือความยุติธรรม ทุกครั้งที่เกิดเหตุ จะให้เด็กบอกทุกครั้งว่าเขาต้องการอะไร เราต้องไม่ลืมเสียงเขา ล่าสุดกรณีมีคำสั่งจากระทรวงยุติธรรม คือ ห้ามเยี่ยม ห้ามกลับบ้านในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 สำหรับเด็กการได้กลับบ้านและมีครอบครัวมาเยี่ยมคือสิ่งที่ผ่อนคลายที่สุด

ทิชาจึงคุยกับเด็กๆ ว่าอะไรทำให้เด็กเยียวยาที่สุด และมาสู่ข้อสรุปว่า อนุญาตให้เด็กทุกคนมีโทรศัพท์มือถือได้ และให้เขาคิดกติกาเอง หลังโควิดผ่านไป เมื่อเขามีโทรศัพท์แล้ว ก็จะต้องสร้างกติกาต่อไปอีก แน่นอนว่าต้องมีคนละเมิดกติกา ก็ต้องถามคนที่ทำงานที่บ้านกาญจนาภิเษกว่าเราหลงลืมอะไร ต้องฟังเสียงทุกๆ เสียง

สุริยเดวเสริมจากประสบการณ์ว่า คนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและช่วยลดความขัดแย้งควรมีคุณสมบัติ 3 ข้อต่อไปนี้ 1) ต้องยึดหลักใจชนใจ (heart by heart) 2) ยึดหลัก hand in hand คือมีธรรมชาติของความเป็นผู้ประสาน สร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณค่า และ 3) ใช้สติ ไม่ใช้อารมณ์ อยู่บนหลักการและเหตุผล

อีกทั้งสุริยเดวได้แนะนำวิธีสร้างภาวะผู้นำที่เข้าถึงความรู้สึกผู้อื่น โดยกล่าวว่าผู้นำต้องเปิดใจต่อความคิดเห็นต่าง แม้กระทั่งในชั้นเรียนอนุบาลหรือประถม ในวิชาที่มีการถกประเด็นทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน ทำให้พัฒนาคนเพื่อรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะสามารถอยู่ร่วมได้กับคนทุกกลุ่ม นี่เป็นวิธีสร้างภาวะผู้นำ ประเด็นที่สอง คือเราจะต้องให้เขามีวิธีคิดแบบเปิดกว้าง สามารถหาทางออกร่วมกันได้ ภาวะผู้นำเหล่านี้สามารถฝึกได้ตั้งแต่ระดับอนุบาล

พรจรรย์แลกเปลี่ยนความคิดว่า ผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการควรมีคุณสมบัติดังนี้

  • มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (empathy)
  • มีความคิดสร้างสรรค์
  • มีทักษะวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล
  • มี pioneer spirit เปิดโอกาสตัวเอง ให้ตัวเองบุกเบิกไปทำ
  • ไม่ล้มเลิก เห็นอุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ
  • มีความสามารถในการสื่อสารเพื่อสร้างความร่วมมือ เพราะการเปลี่ยนแปลงทำคนเดียวไม่ได้ ต้องหาเพื่อนหรือสมาชิกที่จะร่วมทำไปด้วยกัน

พรจรรย์เล่าต่อว่าการทำกิจการเพื่อสังคมทำให้คนเห็นคุณค่าหรือด้านดีของตัวเอง หลายครั้งที่คนรุ่นใหม่ที่อยากแก้ปัญหาสังคมไม่เริ่มทำสักที เพราะไม่รู้ว่าต้องเริ่มอย่างไร และถูกคนรอบข้างตั้งคำถามว่าตัวเองดีพอที่จะทำเพื่อคนอื่นแล้วหรือ

School of Changemakers จึงเข้ามาสร้างพื้นที่หรือระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนให้คนเหล่านี้ได้เริ่มลงมือทำ โดยสนับสนุนในสองส่วน คือ เปิดโอกาสให้เด็กจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้ดึงด้านดีของตนเองออกมา และอีกส่วนคือให้เงินสนับสนุนเพื่อดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งการสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมาไม่ได้ส่งผลดีเพียงกับเด็ก แต่ยังส่งผลเชิงบวกกับคนในท้องถิ่นที่เด็กๆ เข้าไปทำกิจกรรมด้วย

ทิพย์นภาเสริมว่าการจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างโดยปัจเจก วันหนึ่งอาจหมดแรง แต่ถ้าพาคนรอบข้างไปด้วยกัน มีการสื่อสารกัน เราจะก่อเกิดผลกระทบที่ดีกับคนรอบข้าง และร่วมกันเดินต่อไป

 

หนทางเชื่อมคนต่างวัยให้เข้าใจกัน

 

เพราะทุกวันนี้เด็กได้รับการเลี้ยงดูด้วยการใช้สื่อแบบผิดๆ ตั้งแต่วัยแรกเกิด จึงเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เด็กกลับมาสู่การเลี้ยงดูอย่างถูกทิศทางมากที่สุด

สุริยเดวกล่าวว่าสำหรับเด็กเล็ก การบูรณาการประสาทสัมผัสและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกมีความสำคัญมาก เวลาที่ลูกอยู่กับพ่อแม่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปียังไม่ควรใช้สื่อ เพราะยังไม่มีความเข้าใจมากพอ ถัดมาในวัย 2-6 ปี ควรใช้ให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นเพียงสะพานเชื่อมในการสร้างปฏิสัมพันธ์ แต่ไม่ให้มาเป็นหัวใจหลักแทนพ่อแม่

ในยุคที่เยาวชนแสดงออกทางความคิดกันมากขึ้น เป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัยตามไม่น้อยว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจเห็นความสำคัญของเยาวชนมากขึ้น และเปิดใจยอมรับความคิดเห็นของพวกเขา

ปราบมองว่าบางครั้งผู้ใหญ่อาจแค่ไม่ใส่ใจฟังก็ได้ ในระดับผู้นำเรามีโอกาสเลือกผู้นำใหม่ได้ แต่ในระดับใกล้ตัว อาจต้องใช้กลยุทธ์ให้และรับ เด็กๆ ต้องพิสูจน์ตัวเอง และพ่อแม่ต้องเปิดใจด้วย

พรจรรย์เห็นว่าการที่ผู้ใหญ่ไม่ฟังเด็กอาจเป็นเพราะไม่มีเวลาฟัง และไม่ได้อยู่ในสถานการณ์หรือพื้นที่ที่ต้องฟัง มีข้อมูลจากโครงการของเด็กๆ ที่ทำเกี่ยวกับสุขภาพจิตวัยรุ่น พบว่าสาเหตุสำคัญที่เด็กมีภาวะซึมเศร้าคือความไม่เข้าใจหรือขัดแย้งกับผู้ใหญ่ และพบว่าคนตั้งแต่เจเนอเรชันเอ็กซ์ไม่มีทักษะเข้าใจหรือพูดคุยกับคนที่วัยสูงกว่า ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ต้องเข้าใจเด็ก เด็กก็ต้องเข้าใจผู้ใหญ่ด้วย และเรียนรู้วิธีการสื่อสารกับผู้ใหญ่ เพื่อจะอยู่ร่วมกันได้

ทิชายังให้คำแนะนำในการทำความเข้าใจวัยรุ่นโดยแบ่งปันว่าต้องมีพื้นที่ตรงกลางทางสังคมที่เปิดให้เติมเต็มระหว่างครอบครัว กลไกต่างๆ ในสังคมที่เข้ามาสนับสนุนควรมีหลายรูปแบบ และมีกระจายครอบคลุมหลายพื้นที่

นอกจากนี้ สุริยเดวได้เสริมถึง 5 สิ่งที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาในเด็กวัยต่างๆ คือ

  • รักอบอุ่นและไว้วางใจ มีปฏิสัมพันธ์และสร้างสัมพันธภาพที่ดี
  • เป็นผู้ฟังที่ดี
  • มีกฎร่วมกัน ที่พ่อแม่ร่วมปฏิบัติไปพร้อมกับลูก
  • คุมอารมณ์ตัวเอง หากคุมไม่ได้ สามารถสะท้อนอารมณ์ตัวเอง โดยบอกลูกตรงๆ ว่ารู้สึกอย่างไร แล้วกลับมาคุยกันตอนที่อารมณ์นิ่งแล้ว ทำให้เด็กได้เรียนรู้กระบวนการจัดการอารม์โดยมีพ่อแม่เป็นตัวอย่าง
  • เปิดใจ ไม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น

 

วิธีแบบผึ้งและดอกไม้ สู่ความสัมพันธ์แนวราบ

 

เมื่อผู้มีอำนาจถ่ายทอดความสัมพันธ์แนวดิ่งไปผ่านนโยบายสู่สังคมอีกทอด เป็นเรื่องสำคัญที่ควรหาทางแก้ไขเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์แนวราบอย่างแท้จริงและนำมาสู่พื้นที่งอกงามของปัจเจกและสังคม

สุริยเดวกล่าวถึงว่าการกระจายอำนาจที่ไม่ยากเกินไป โดยใช้หลัก honey bee approach ซึ่งเป็นวิธีเหมือนอย่างผึ้งที่ทำงานด้วยกัน กลายเป็นชุมชนที่ไม่มีใครเป็นผู้นำ ทุกคนมีความหมายและความสำคัญทัดเทียมกัน

วิธีนี้เป็นการกระจายอำนาจแบบใช้พลังบวก ไม่จับผิด แต่หาจุดแข็งและบอกต่อคนอื่นๆ ว่าเขามีดีอย่างไร หรือรวมตัวกันเหมือนรังผึ้งและนำสิ่งดีงามมาเล่าสู่กันฟัง จะทำให้เกิดสมัชชาท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งมาก และเกิดการพัฒนากลไกของท้องถิ่นและเกิดกระบวนการในการพัฒนาคน ซึ่งนำไปสู่การกระจายอำนาจ การวางนโยบายแบบบนลงล่างจะลดลง

ทิพย์นภาเสริมว่า หากอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดความสัมพันธ์แบบแนวราบนั้นไม่จำเป็นต้องออกเป็นนโยบาย แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ควรลงไปรับฟัง เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในแนวราบได้แก้ปัญหาเอง และคอยสนับสนุนให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองได้ และสิ่งสำคัญคือ การทำให้เห็นเป้าหมายร่วมกัน เมื่อเห็นเป้าหมายร่วมกันแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีคนคอยชี้สั่ง

ทิชามองว่าการสร้างความสัมพันธ์แนวราบต้องเริ่มจากความเชื่อของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบาย เราต้องเชื่อว่าความสัมพันธ์แนวราบจะดึงศักยภาพของคนออกมา

“เราไม่ค่อยเชื่อว่า นโยบายจะสร้างกลไกเพื่อความสัมพันธ์แนวราบให้เรา เพราะอะไรที่มาจากอำนาจก็จะรักษาอำนาจนั้นไว้ แต่ในภาคปฏิบัติ ยิ่งเราไม่ใช้อำนาจ เรากลับยิ่งมีอำนาจ เพราะพื้นที่แห่งการยอมรับและรับฟังมีมากขึ้น ทำให้คนรู้สึกมีตัวตนและมีคุณค่า”

ทิชามองว่าต้องเริ่มทำจากแนวราบไปก่อน เปรียบเหมือนกับปลูกดอกไม้ดอกเล็กๆ ที่งดงาม เมื่อมีประสบการณ์จากสิ่งที่เริ่มทำแล้ว จากนั้นต้องสื่อสารต่อสาธารณะ เพื่อส่งผ่านสิ่งนี้ไปสู่ระบบและนโยบายอีกทอดหนึ่ง

“ขอให้มั่นใจว่าการเป็นดอกไม้ดอกเล็กๆ ที่ไปหล่อเลี้ยงนโยบาย ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราทำได้” ทิชาทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่น