Brief: เสวนา ‘โลกซึมเศร้า’ คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา

เรื่อง: วัชรพงษ์ แดงปลาด

 

ในโลกยุคใหม่ที่ดูเหมือนทุกสิ่งอย่างดูจะเร่งรีบและรวดเร็วไปเสียหมด “โรคซึมเศร้า” ได้กลายเป็นโรคแห่งยุคสมัยที่ใกล้ตัวใครหลายๆ คนกว่าที่คิด และซ่อนอยู่ท่ามกลางการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ทำให้ระยะห่างระหว่างมนุษย์เราถ่างกว้างขึ้น ในขณะที่คนจำนวนมากถูกกัดกินด้วยโรคที่ว่านี้  ความเข้าใจต่อโรคซึมเศร้าในสังคมไทยกลับหดแคบ และบ่อยครั้งก็ถูกมองด้วยสายตากังขา

ในหนังสือ โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา โดย โยฮันน์ ฮารี นักเขียน นักข่าว และผู้ป่วยผู้เผชิญโรคซึมเศร้าตั้งแต่วัยรุ่น ผู้เขียนได้หยิบเอา “โรคซึมเศร้า” มาสำรวจใหม่ในฐานะ “โลกซึมเศร้า” ซึ่งขยายขอบข่ายออกไปมากกว่าโรคโรคหนึ่งที่สัมพันธ์แค่เพียงปัจจัยทางชีววิทยา แต่คือปรากฎการณ์ของยุคสมัยที่เกี่ยวเนื่องทั้งกับสังคม สภาพแวดล้อม รวมไปถึงการเลี้ยงดู และที่สำคัญที่สุดคือ หนทางออกจากวังวนของอารมณ์อันหลากหลายที่ความเศร้าเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อเรากล้าที่จะ “เชื่อมต่อ” ความสัมพันธ์กับสิ่งสำคัญที่เคยหล่นหายไปอีกครั้ง

โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape ได้จัดงานเสวนาที่ชื่อ โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา เพื่อชวนผู้คนพิจารณา “โลก” ซึมเศร้าในระดับสังคม โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทยที่ความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้าดูเหมือนจะยังไม่ก้าวไปไกลเกินกว่าเรื่องสารเคมีในสมอง

 

ร่วมเสวนาโดย

ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล -โรงเรียนแพทย์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ – นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว, ผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ R U OK

สมภพ แจ่มจันทร์ – นักจิตวิทยาการปรึกษา และผู้ร่วมก่อตั้ง Knowing Mind – ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ

ทราย เจริญปุระ – นักแสดง นักเขียน และพิธีกร

ดำเนินรายการโดย อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา

 

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของโรคซึมเศร้าในทางสังคมและทางการแพทย์

ในช่วงเริ่มเสวนา อรพิณได้ตั้งประเด็นถึงข้อสังเกตของผู้เขียนเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้าที่คลาดเคลื่อนของสังคม รวมไปถึงนิยามของตัวโรคที่ถูกอธิบายโดยอาศัยเพียงงานวิจัยทางการแพทย์เพียงบางส่วน ซึ่งเป็นการมองผ่านปัจจัยทางชีววิทยา

ในส่วนของความเข้าใจทางสังคม ทรายให้ความเห็นจากมุมมองของคนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าว่า สังคมยังคงไม่เข้าใจว่าคนเป็นโรคซึมเศร้านั้นมีอาการอย่างอื่นอีกนอกเหนือจากแค่อารมณ์เศร้า แต่ยังมีอารมณ์ด้านลบอื่น ๆ อีก เช่น อาการหงุดหงิด การไม่มีสมาธิ

ในขณะที่ทางด้านการแพทย์ หมอทานตะวันอธิบายว่า การวินิจฉัยว่าใครเป็นโรคซึมเศร้าจะใช้วิธีดูจากอาการ 9 ข้อเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น ภาวะการนอนที่ผิดปกติ ความรู้สึกอยากตาย หรือความรู้สึกด้านลบต่อในทุกเรื่องรอบตัว หากมีอาการครบตามหลักเกณฑ์ 5 ข้อขึ้นไปในระยะเวลา 2 สัปดาห์ แพทย์จะวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

ในแง่การวินิจฉัย สมภพเสริมเรื่องข้อมูลสำคัญที่ทางวงการแพทย์ยังตอบคำถามไม่ได้ นั่นก็คือการวิเคราะห์โดยดูจากอาการนั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะระบุอย่างแม่นยำว่าใครเป็นหรือไม่เป็นโรคซึมเศร้า เนื่องด้วยตัวนิยามของโรคที่แตกต่างหลากหลายไปตามความเข้าใจของแต่ละคน เพราะฉะนั้นข้อสันนิษฐานโดยดูจากอาการจึงมีลักษณะเป็นข้อตกลงร่วมกันในทางการแพทย์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์โดยดูจากอาการก็ยังจำเป็นอยู่ หมอทานตะวันให้เหตุผลว่า เนื่องจากความเศร้านั้นจะมาใน 2 รูปแบบ อย่างแรกคือ “ภาวะซึมเศร้า” ซึ่งเป็นความเศร้าทั่วไปที่สามารถหายได้เอง อย่างที่สองคือ “โรคซึมเศร้า” ซึ่งมีความรุนแรงกว่า บางกรณีผู้ป่วยอาจไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ โดยพบว่าในกลุ่มผู้ที่ฆ่าตัวตาย พบผู้ป่วยเป็นโรคนี้สูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการแยกคนออกเป็นสองกลุ่มจะทำให้หมอสามารถช่วยเหลือคนไข้กลุ่มเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที

 

เมื่อสภาพสังคมกลายเป็นบ่อเกิดโรคซึมเศร้า

คำถามต่อมาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงก็คือปัจจัยหลากหลายที่เป็นบ่อเกิดของโรคซึมเศร้า โดยแบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ ชีววิทยา จิตวิทยา และสังคม ซึ่งสองอย่างหลังมักจะไม่ค่อยถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญเท่ากับหัวข้อแรก

โยฮันน์ ฮารี ผู้เขียนได้อธิบายไว้ว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าก็คือความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่สามารถออกแบบหรือกำหนดอนาคตของตน และความรู้สึกเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะสลัดทิ้งไปได้ง่ายๆ ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ทรายตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวก็คือ “ภาวะอำนาจนิยม” ที่ครอบงำตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับสังคม

“ภาวะแบบนี้สร้างให้เกิดความกดดันบางอย่างเวลาที่เราแสดงความคิดเห็น ทุกคนจะมีชั้นของตัวเองอยู่ และคุณไม่สามารถข้ามชั้นนั้นได้นะ! มันมีกติกากำกับไว้ ซึ่งสภาวะแบบนี้เอื้อให้เราป่วยได้อย่างมาก ไม่ว่าเราจะนิยามคำว่าป่วยอย่างไร”

“นี่คือสิ่งที่พวกเราทุกคนเจอตั้งแต่ยังเด็ก มันทำให้เราตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของตัวเอง ทำไมเราถึงพูดหรือตั้งคำถามอะไรไม่ได้เลย ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิ์แสดงความรู้สึกว่าไม่ชอบสิ่งที่ครูพูดไม่ได้ ทำไมแม่ต้องสั่งอย่างนั้นอย่างนี้”

 

หมอทานตะวันอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากสาเหตุทางชีววิทยาที่เป็นปัจจัยภายในแล้ว สาเหตุของโรคซึมเศร้าที่เกิดจากปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบจิตใจยังสามารถเกิดขึ้นได้หากใครคนหนึ่งต้องเผชิญสภาพบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกไม่เชื่อมโยงกับสังคม ปัจจัยทางสังคมอาจเกี่ยวข้องกับความกดดันด้วยเช่นกัน ถึงแม้ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่เผชิญกับภาวะดังกล่าวแล้วจะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถปรับตัวเมื่อเจอสถานการณ์บีบคั้น การที่ต้องตกอยู่ในภาวะเศร้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อการทำงานของสารในสมอง 2 ตัว คือ Serotonin และ Norepinephrine

 

เมื่อยาต้านเศร้าอาจไม่ใช่ทางออกเพียงหนึ่งเดียว

นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว อีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคซึมเศร้าที่มักไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงในเมืองไทยก็คือการทำจิตบำบัด วิธีที่รู้จักกันมากที่สุดคือการพูดคุยเกี่ยวกับบาดแผลและเรื่องราวในอดีต อย่างไรก็ตาม หมอทานตะวันให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การทำจิตบำบัดในต่างประเทศกับประเทศไทยนั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากในต่างประเทศ จิตแพทย์กับนักจิตบำบัดจะทำงานแยกขาดจากกัน แต่ในกรณีของประเทศไทย จิตแพทย์สามารถทำจิตบำบัดได้ด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนของแพทย์

สำหรับแนวทางการทำจิตบำบัดรูปแบบอื่นๆ ดุจดาวได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ โดยอิงจากงานบำบัดที่ตัวเองทำอยู่ แทนที่จะใช้โรคเป็นตัวตั้ง เธอเปลี่ยนสมการการรักษาโดยยึดเอาคนเป็นที่ตั้งแทน เน้นให้ผู้เข้าร่วมทบทวนปัจจัยรอบตัวว่าส่งผลต่อการเป็นโรคหรือไม่ ผู้ที่มาเข้ารับการบำบัดไม่จำเป็นต้องถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป เธอมองว่าการรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ทั้งคนที่กำลังเผชิญกับโรคอยู่หรือคนที่ยังไม่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสัมผัสได้ว่าตัวเองยังมีอำนาจในการจัดการโรค หรือแม้แต่เรียนรู้ว่าปัจจัยรอบตัวอะไรบ้างที่อาจกลายเป็นบ่อเกิดของความป่วยไข้ทางใจ

อย่างไรก็ตาม สมภพมองว่า แม้เราจะมีทางเลือกในการรักษาโดยที่ไม่ต้องใช้ยา แต่ในความเป็นจริง โรคซึมเศร้ายังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องของชีววิทยาเป็นหลัก ในขณะที่ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าอีกสองปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางจิตวิทยาและสังคมนั้น เพิ่งจะเพิ่มเข้ามาเมื่อปี 1977 แม้ว่าจะมีหนทางรักษาด้วยการทำจิตบำบัด แต่เมื่อใช้โรคเป็นตัวตั้ง หมอก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายยาต้านเศร้าเพื่อรักษาเบื้องต้นได้ ยิ่งไปกว่านั้นในประเทศไทยยังมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่ามีหนทางอื่นในการรักษาโรคซึมเศร้านอกเหนือจากการใช้ยา เหตุเพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านั้น

 

การฟังอย่างเข้าใจ: หนึ่งในกุญแจสำคัญของการรักษา

ในฐานะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ทรายได้สะท้อนเรื่องราวการรักษาที่เธอเคยประสบมา กุญแจสำคัญอย่างหนึ่งในการรักษาก็คือ เธอมีจิตแพทย์ที่พร้อมรับฟังเรื่องราวของเธอโดยไม่ตัดสินว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด แม้การฟังจะดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่แท้จริงแล้วยังมีมิติที่ลึกซึ้ง และไม่ใช่ทุกคนที่ ”ฟัง” เป็น

“ทุกคนมีเรื่องเล่าหมด แต่ไม่มีใครฟัง หาได้น้อยมาก อย่างเราก็กลายเป็นคนตอบปัญหาส่วนตัวของเด็กๆ ที่ถามเข้ามา เพราะเขาบอกพ่อแม่เขาไม่ได้ ซึ่งในระหว่างที่เขาเล่า เขาก็ได้ทบทวนเรื่องของตัวเองไปด้วย”

“สำหรับบางปัญหา ผู้ป่วยอาจมีคำตอบอยู่แล้วว่าเขาต้องการอะไร เพียงแค่ไม่กล้าพูดออกมา เขาอาจแค่ต้องการคนมาบอกว่า คิดแบบนี้ก็ได้ ทำแบบนี้ก็ได้ เขาต้องการคำยืนยันว่าสิ่งที่เขาคิดหรือทำไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่คิดแล้วจะต้องตกนรก”

 

สมภพอธิบายเสริมว่าการฟังอย่างเข้าใจนั้นสำคัญมากในการช่วยเหลือและทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แม้จะไม่ใช่หนทางที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายขาด แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วย

“การจะช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เราต้องตั้งต้นด้วยการฟังคนคนนั้นว่าความทุกข์ในชีวิตของเขามีที่มาอย่างไร เราต้องทำหน้าที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดี แม้จะเพียงแค่เล็กน้อย มันอาจไม่สามารถเปลี่ยนเขาได้ทั้งหมด แต่ก็ยังพอจะช่วยได้บ้าง”

 

เชื่อมต่อกับโลกภายในและโลกภายนอกอีกครั้ง

สิ่งหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอในฐานะกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ก้าวข้ามโรคซึมเศร้าได้ก็คือการเชื่อมต่อ (connection) ทั้งกับภายนอกและภายในตัวผู้ป่วย หมอทานตะวันเห็นด้วยในประเด็นนี้ โดยสิ่งแรกที่ผู้ป่วยควรทำก็คือการหาทางเชื่อมต่อกับตัวเอง รวมไปถึงความเจ็บปวดในอดีต

“จากชื่อของหนังสือ Lost Connections สาเหตุที่คนเราเป็นโรคซึมเศร้าก็เพราะเราสูญเสียความรู้สึกเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิต การเชื่อมต่อเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นอาหารใจของมนุษย์ อย่างแรกคือเราต้องเชื่อมโยงกับตัวเองก่อน ทบทวนความหมายและคุณค่าของตัวเอง”

“การเชื่อมโยงในที่นี้ยังรวมถึงการเชื่อมโยงกับอดีตของตัวเองด้วย ไม่ว่าอดีตนั้นจะดีหรือร้าย เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น การกลับไปแก้ความรู้สึกในอดีต แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่อาจส่งผลกับเราไปตลอดชีวิต มันจะทำให้เราสามารถก้าวต่อไปได้โดยที่รู้ว่าอะไรคือความหมายของชีวิต นี่คือจุดเริ่มต้นในการที่เราจะเชื่อมโยงกับโลกภายนอกและสังคม”

 

แต่การสื่อสารเองก็สามารถทำได้หลากหลายวิธี นอกเหนือไปจากการใช้ภาษาพูด ดุจดาวอธิบายถึงรูปแบบการรักษาโรคซึมเศร้าผ่านการสื่อสารหรือเชื่อมต่อกับร่างกายของตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป การเคลื่อนไหวร่างกาย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงาม โดยมุ่งเน้นทำให้ใจภายในที่คล้ายจะจับต้องไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ผ่านการใช้ร่างกาย

 

ซึมเศร้าในวัยรุ่นสะท้อนปัญหาอะไร?

ในสังคมปัจจุบัน คำว่า “โรคซึมเศร้า” ดูเหมือนจะกลายเป็นคำฮิตติดปากในหมู่วัยรุ่นที่พบเห็นได้ตามโซเชียลมีเดีย แต่ในความเป็นจริง แก่นแกนของปัญหาเหล่านั้นแทบไม่ได้แตกต่างไปจากในสมัยก่อนเลย เพียงแค่มีตัวแปรเพิ่มมากขึ้น สมภพอธิบายเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งในหมู่วัยรุ่น ซึ่งซ้อนทับอยู่กับปัญหาในชีวิตอื่นๆ อีกหลายอย่าง

“ถ้าเทียบกับวัยรุ่นยุคก่อน ปัญหาของวัยรุ่นยุคนี้แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย ยังคงเกี่ยวกับเรื่องความรัก ครอบครัว การเรียน และอนาคต เพียงแต่มีบริบทที่เพิ่มมากขึ้น อย่างเรื่องความรักก็มีแอปพลิเคชั่นหาคู่เข้ามาเป็นตัวแปรเสริม ถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่า ไม่ว่าวัยรุ่นยุคไหน พ่อแม่จะเป็นตัวละครสำคัญในทุกปัญหาเสมอ”

“ถ้าอยากรู้เรื่องสถานการณ์ของโรคซึมเศร้าในยุคนี้ แค่คุณไปค้นแฮชแท็กโรคซึมเศร้าในทวิตเตอร์ คุณจะเห็นมันได้อย่างชัดเจนมากๆ การทำร้ายตัวเองอย่างการกรีดแขนมีให้เห็นอยู่ทุกชั่วโมง ซึ่งพอมันถูกมองว่าเป็นอาการของโรคซึมเศร้า มันกลับทำให้ปัญหาอื่น ๆ ในชีวิตของเด็กคนนั้นหดแคบลงมาอยู่ภายใต้นิยามของโรคซึมเศร้า เพียงแค่พาไปกินยาหาหมอ ซึ่งมันไม่ช่วย ถ้าเราไม่กลับมาพูดคุยกันว่าอะไรคือปัญหาในชีวิตของเขากันแน่”

 

ทำไมหลายคนถึงอยากนิยามว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า?

ในบรรดาสิ่งที่ผู้คนยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เรื่องหนึ่งที่พบได้บ่อยครั้งก็คือการแปะป้ายว่าโรคซึมเศร้าเป็นเพียงเครื่องมือ “เรียกร้องความสนใจ” แต่แท้ที่จริงแล้ว ในฐานะของคนที่มีโอกาสได้คุยกับเด็กๆ ที่วางใจนำเรื่องส่วนตัวมาเล่าให้ฟัง ทรายมองว่าเบื้องหลังของทุกคนที่หยิบเอาโรคซึมเศร้ามาเป็นเกราะกำบัง นั่นก็เพราะว่าพวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาบางอย่างในชีวิต

“สาเหตุเบื้องหลังของคนที่หยิบเอาเอาโรคนี้มาใช้ ส่วนหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความป่วยไข้แบบอื่นๆ รวมถึงความต้องการได้รับการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน การที่ใครคนหนึ่งอยากให้มีคนรับฟังหรืออยากได้ความสนใจ นั่นเพราะมีปัญหาเกิดขึ้นจริง ๆ ในชีวิต เพราะเด็กๆ รู้ว่าเขาไม่สามารถนำปัญหาที่พวกเขาเจอไปคุยกับผู้ใหญ่ได้”

ดุจดาวมองคล้ายกับทราย เพราะหากสังคมยังมองเห็นแค่ป้ายแปะว่าใครคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่า เบื้องหลังป้ายตีตราเหล่านั้นของแต่ละคนมีอะไรเกิดขึ้น และอะไรคือสิ่งที่เขาคนนั้นต้องการ

“เราอาจจะต้องมองคำว่า ‘โรค’ เป็นบริบทรองในทางสังคม แล้วมองให้เห็นปัญหาที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อที่เราจะสามารถสื่อสารกันได้”

 

ยอมรับว่าอะไรคือปัญหา

จากการพูดคุยร่วมกันในครั้งนี้ หนึ่งในข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดก็คือ โรคซึมเศร้าไม่ใช่แค่เรื่องของสารเคมีในสมองเพียงอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงกับปัญหาและเรื่องราวอื่นๆ ในชีวิต ซึ่งการกินยาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยได้ แต่ยังต้องมีกระบวนการอื่นร่วมด้วย ซึ่งทรายได้อธิบายโดยยกตัวอย่างจากชีวิตของตัวเอง นั่นก็คือการยอมรับว่าอะไรคือ “ปัญหา” ในชีวิตอย่างเข้าใจ

“เราเพิ่งมาเข้าใจปัญหาในชีวิตของเรา นั่นก็คือเราต้องรับมือกับความคาดหวังของแม่ ก่อนหน้านี้การมองแบบนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้าหากเราไม่ยอมรับว่าปัญหาก็คือปัญหา เราจะไม่สามารถจัดการได้เลย ทำได้มากสุดก็แค่รักษาไปตามอาการ โดยไม่ไปแก้ที่ต้นตอ”

“แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างตัวเรา กว่าที่จะยอมรับว่านั่นคือปัญหาก็ตอนที่เราเข้าวัยกลางคน แม่เสียไปทั้ง ๆ ที่เรายังไม่เคยคุยกับแม่เลยว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ อะไรคือสิ่งที่เราต้องการ”

ขณะเดียวกัน ในฐานะของคนรอบข้าง ไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าเป็นภาระของเราทั้งหมดที่จะต้องช่วยอีกฝ่าย ให้มองว่าตัวเราพอจะทำสิ่งใดได้บ้างที่จะเป็นประโยชน์กับเขา เพื่อเอื้อให้อีกฝ่ายได้แก้ปัญหาในส่วนของตนเองได้

ท้ายที่สุดแล้ว อรพิณทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวของผู้เขียนถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องทางออกต่างๆ จากปัญหาโรคซึมเศร้าที่ผู้คนเผชิญอยู่ ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องยาก แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ มากมายที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

“จริงอยู่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการช่างใหญ่หลวง อาจจะใหญ่พอๆ กับการปฏิวัติวิธีปฏิบัติต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันด้วยซ้ำ แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นได้ในที่สุด”