Brief: สร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นนวัตกรเปลี่ยนโลก

ภาพ: ยุทธภูมิ ปันฟอง

 

ร่วมมอง “นวัตกรรม” หรือการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ผ่าน 5 มุมมอง ไม่ว่าจะเป็นมุมของนักวิจัยเรื่องระบบนิเวศนวัตกรรมไทยและการปฏิรูประบบการเรียนรู้โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

มุมของผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้ากลุ่มวิจัย Freak Lab คลัสเตอร์วิจัยนวัตกรรมอนาคตที่ผสมผสานวิทย์กับศิลป์เข้าด้วยกัน รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

มุมของนักศึกษาปริญญาเอก MIT Media Lab แล็บวิจัยข้ามศาสตร์ชั้นนำที่สร้างนวัตกรรมระดับโลกมานับไม่ถ้วน และผู้ร่วมก่อตั้ง Freak Lab พัทน์ ภัทรนุธาพร ที่ร่วมพูดคุยสดจากอเมริกา

มุมนักออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมรุ่นเยาว์ สมาชิกกลุ่ม “เถื่อนเกม” ผู้ใช้บอร์ดเกมสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาสังคม แดนไท สุขกำเนิด

ปิดท้ายด้วยมุมมองจากนวัตกรผู้เปลี่ยนสังคมด้วย Design Thinking ผู้แปลหนังสือ Designing Your Life เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ก่อตั้งและ CEO Lukkid และ Asian Leadership Academy

สรุปความเสวนาสาธารณะ “Creating Innovators: สร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นนวัตกรเปลี่ยนโลก” ร่วมจัดโดยอุทยานการเรียนรู้ TK Park สสส. และสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมเปิดประเด็นใหม่ๆ พร้อมตั้งคำถามชวนคิดที่ว่า นวัตกรสร้างได้ด้วยวิธีใด ผู้ปกครอง ครู ที่ทำงาน และคนรอบข้าง มีส่วนช่วยสร้างนวัตกรมากน้อยเพียงใด และจำเป็นไหมที่เราทุกคนต้องเป็นนวัตกร

 

นวัตกรคืออะไรกันแน่

คำว่า “นวัตกร” ในมุมสมเกียรติ แบ่งได้ง่ายๆ สองแบบ คือ

“หนึ่ง คนที่ทำของใหม่ แบบปรับปรุงของเดิม ให้ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องหวือหวาอะไรมากมาย ซึ่งทำได้ทุกวี่ทุกวัน อาจจะอยู่ในโรงงาน ในออฟฟิศ ในหน่วยราชการ กับ สอง ที่น่าตื่นเต้นกว่า คือพวกที่ชอบทำของใหม่ แล้วไปทำลายของเก่าด้วยในเวลาเดียวกัน พวกนี้ออกจาก freak หน่อย disrupt หน่อย”

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สมเกียรติมองว่าเรามักให้ความสนใจนวัตกรแบบที่สอง คือพวกทำของใหม่ ซึ่งเป็น creative destruction คือสร้างของใหม่ขึ้นมาแล้ว disrupt หรือทำให้ของเดิมกลายเป็นของล้าสมัยไป

ขณะที่วีระศักดิ์ยอมรับว่า เขาไม่เคยเรียกว่าตัวเองเป็นนวัตกร หรือเรียกสิ่งที่ตัวเองทำว่านวัตกรรมแต่อย่างใด

จริงๆ แล้วคำว่านวัตกรก็คือคนที่รังสรรค์สิ่งต่างๆ จากความคิดอ่านของตัวเอง ซึ่งก็คือคนที่ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักแต่งเพลง คนเหล่านี้ก็เป็นคนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำ และนี่ก็เป็นนวัตกรรมเช่นเดียวกัน

“เพียงแต่ว่า พออยู่ในยุค 4.0 ผมเลยไม่แน่ใจว่าเราพยายามจะทำให้มันเกิด wording อะไรสักคำหนึ่งเพื่อกระตุ้นเร้าสังคมขึ้นมา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ไปๆ มาๆ มันจะเฝือ แล้วจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า buzzword แล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่เก่งมากในการใช้ wording พวกนี้จนกระทั่งมันไร้ความหมายไปในที่สุด” วีระศักดิ์กล่าว

โครงการที่วีระศักดิ์ทำมีชื่อย่อว่า JSTP มาจาก Junior Science Talent Project ซึ่งวีระศักดิ์เรียกโครงงานที่เด็กๆ ทำว่า “เจ๋งสุดทีนโปรเจกต์”

“เราจะไม่เรียกว่าโครงงานวิทยาศาสตร์ เพราะคำว่า ‘โครงงานวิทยาศาสตร์’ ก็ถูก abuse ไปแล้วเหมือนกัน ผมเลยไม่ค่อยได้สนใจว่าสิ่งที่ทำจะเรียกว่านวัตกรรมหรือเปล่า แต่ว่าให้เขามาทำอะไรแล้วเขารู้สึกสนุกและได้เรียนรู้”

การที่นวัตกรมองตัวเองหรือจำกัดความตัวเองว่าเป็นนวัตกรอาจเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อถามคำถามนี้กับแดนไท เจ้าตัวก็ไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อนเช่นกัน

“จริงๆ ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนวัตกร แล้วก็ไม่ได้มีคำนี้โผล่ขึ้นมาในหัวเลย ตอนแรกก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นนวัตกรขนาดนั้น เราก็เอาสิ่งที่เราชอบ เราสนใจ มารวมแล้วก็ทำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาด้วย” แดนไทกล่าว

ส่วนพัทน์เองก็มองว่านวัตกรจะไม่เรียกตัวเองว่านวัตกร

“เพราะถ้าเรียกตัวเองว่านวัตกรก็เหมือนกับยอมรับสิ่งที่สังคมป้อนให้เรา ว่าเราต้องทำตาม 1-2-3-4 ต้องหน้าตาเหมือนสตีฟ จ็อบส์ ต้องเป็นคนอเมริกัน แต่จริงๆ นวัตกรคือคนที่ลุกขึ้นมาแล้วสร้างสิ่งใหม่ๆ แม้แต่กับตัวเองก็สามารถสร้างบทบาทใหม่ๆ ให้ตัวเองได้”

 

บ่มเพาะความสนุก บ่มเพาะนวัตกรรม

กลุ่มที่แดนไทมีส่วนตั้งขึ้นมีชื่อว่า deschooling game หรือชื่อเก่าคือ เถื่อนเกม ที่มาจาก มหา’ลัยเถื่อน ของคนในกลุ่มมะขามป้อมที่สนใจเรื่องการศึกษา

“คำว่าเถื่อน หมายถึงว่าไม่ได้รับการรับรองโดยกระทรวงศึกษาฯ มันคือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกันเอง” จุดเริ่มต้นก็คือ เกิดจากพ่อของเขา (เดชรัต สุขกำเนิด) และพี่ที่รู้จักอีกสองคน ตอนกลางคืนเวลาจัดกิจกรรม แล้วไม่รู้จะทำอะไรดี ก็เลยมาเล่นบอร์ดเกมกัน และแดนไทเป็นคนแนะนำให้ทั้งสามคนได้รู้จักบอร์ดเกมเป็นครั้งแรก

ตัวเขาเองหลงใหลความสนุกของบอร์ดเกมตั้งแต่ช่วงประถมสี่ เพราะเลือกชมรมบอร์ดเกม จากนั้นก็ได้มีโอกาสออกแบบบอร์ดเกมเองด้วย แต่แรกๆ ที่ได้ลองทำคือเปลี่ยนเนื้อเรื่องของเกม เช่น เปลี่ยนจากติดเกาะ มาเป็นลอยคอในทะเลแทน

“ผมรู้สึกว่าเราทำอะไรได้มากกว่านั้น คือไม่คิดว่าจะเปลี่ยนได้แค่เนื้อเรื่อง เราอยากลองเปลี่ยนกติกา หรือสร้างกติกาใหม่เลยได้ไหม ก็เลยมาเป็นกลุ่มเถื่อนเกม” และแม้จะเรียกว่าบอร์ดเกม แต่จริงๆ แดนไทบอกว่าจะเป็นเกมแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น

“เกมที่ทำที่ TEDxYouth @ Bangkok เมื่อปีที่แล้ว ใช้แค่จอโปรเจกเตอร์ไปฉายเหมือนโจทย์ แล้วให้คนดูนับนิ้วเอาว่า เราเลือก A หรือ B ถ้าเลือก A ให้พับนิ้ว ถ้าเลือก B ให้ชูนิ้วขึ้น อันนี้ก็ถือเป็นบอร์ดเกมแบบหนึ่งที่เล่นง่ายมาก” หรืออีกเกมหนึ่งที่เขาชอบมากและออกแบบเองเป็นเกมเกี่ยวกับการจัดการไข้เลือดออก

“ฝั่งหนึ่งเล่นเป็นยุงลาย อีกฝั่งหนึ่งเป็นหมอที่กำจัดยุงลาย ซึ่งทั้งสองฝั่งจะมองไม่เห็นกันและกัน คือหมอก็จะไม่รู้ว่ายุงอยู่ตรงไหน ยุงก็ไม่รู้ว่าหมอทำอะไรไปแล้วบ้าง จะรู้ก็ต่อเมื่อโดนจัดการไปแล้ว โดยที่หมอจะมีหลายวิธีในการจัดการ เช่น ฉีดยาฆ่ายุง สร้างเขตกักกัน กำจัดลูกน้ำ ก็เล่นแล้วแข่งกันว่าฝ่ายไหนจะชนะ”

 

นวัตกรรมด้านการเรียนรู้ที่ชื่อว่า Freak Lab

กรณีของ freak lab ที่วีระศักดิ์ร่วมก่อตั้งขึ้น เขามองว่ามันเป็นเหมือนนวัตกรรมแบบหนึ่ง

“คำว่า freak ถ้าแปลตรงตัวก็คือเพี้ยนนั่นแหละ แต่ชื่อเต็มของมันคือ Futuristic Research in Enigmatic + Aesthetic Knowledge คือสิ่งที่เราทำเป็นทั้ง Enigmatic และ Aesthetic ด้วย แล้วมันก็เกิดความรู้ขึ้นมาด้วย ก็เลยใช้ว่า freak lab ซึ่งเราอยากทำอะไรที่เป็น Future ให้มากๆ กับคิดไปให้ไกลกว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้”

คณะทางฝั่งวิทยาศาสตร์ ปกติจะมีห้องปฏิบัติการต่างๆ และในส่วนวิธีการ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปีก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือมีกำลังคนเป็นนักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา เข้ามาทำงานวิจัย

“freak lab เป็นการ disrupt ตัว laboratory เสียเอง ก็คือเป็นใครก็ได้ที่สนใจและอยากมาร่วมงานกัน เราก็จะหาคนที่สามารถลงงาน ‘มือเปียก’ ได้ ความคิดอ่านต่างๆ จะเกิดขึ้นจากคนตั้งแต่ชั้นมัธยม จนกระทั่งคนที่เกษียณอายุไปแล้วที่มานั่งทำงานร่วมกัน” นี่เป็นวิธีสร้างนวัตกรในแบบของวีระศักดิ์และ freak lab

เรียกได้ว่าขาข้างหนึ่งของเขาก็ทำงานวิจัยตามปกติในฐานะหัวหน้าห้องปฏิบัติการ แต่ขณะเดียวกัน ขาอีกข้างของเขาคือหัวหน้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพสำหรับเด็กและเยาวชน โครงการของ สวทช. ที่ทำให้เขาได้คลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่อายุ 12-14 ปี เมษ์และพีพีเองก็มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้

“ถ้าเราเปิดเวที เปิดความคิดอ่าน ที่ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน เขาน่าจะไปได้ไกล แล้วเขาคิดได้เยอะ เขากล้าหาญ เหมือนกับได้เป็นนักผจญภัย แล้วเราก็สนับสนุนให้เขาไปผจญภัยกัน ซึ่งมันสนุก ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้”

ความสนุกใน freak lab ก็คือ เมื่อได้ร่วมกันคิดเป็นทีม ก็เกิดความคิดหลากหลายขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัว วีระศักดิ์ยกตัวอย่างโปรเจกต์หอยเล่นเปียโนให้ฟังว่า

“เราคุยกันถึงเรื่องหอยกาบน้ำจืดที่เอามาใช้เป็นเซ็นเซอร์วัดน้ำเสียที่มีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้าง เพื่อจะไปควบคุมให้นาข้าวปลอดสารพิษ พอเริ่มทำปุ๊บ ก็ตั้งคำถามว่าแล้วเราจะใช้หอยอย่างไร ก็ลองตั้งกล้องไว้ 24 ชั่วโมงแล้วมานั่งดูกัน ปกติแล้วหอยกาบน้ำจืดจะอยู่นิ่งๆ แต่จะขยับตัวเมื่อเจอสารเคมี ก็มาคิดเป็นเรื่องสนุกกัน คือทดลองกับหอยสองตัว แล้วเอาไป synchronize กับโน้ต เหมือนกับหอยกลายเป็นมือซ้ายกับมือขวาบนคีย์เปียโน”

ที่สุดแล้ว สิ่งที่เป็นนวัตกรรมไม่ใช่หอยเล่นดนตรี แต่เป็นการใช้หอยเป็นเซ็นเซอร์ตรวจวัดสารเคมีที่อยู่ในลำธาร ลำคลอง แล้วมันจะกลายเป็น IoT (Internet of Things) เพื่อเปิดปิดประตูน้ำ ก่อนที่น้ำจะเข้าไปที่นาข้าว

ส่วนโครงการ JSTP นั้นมีมาตั้งแต่ปี 2541 โดย สวทช. มีเป้าหมายจะสร้างคนไทยให้ได้รางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์ หากสิ่งที่ทำคือการเติมกิจกรรมเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่เด็กๆ มัธยมต้นที่ยังไม่จำเป็นต้องแบ่งวิทยาศาสตร์เป็นฟิสิกส์ เคมี หรือชีวฯ

“เรา enrich ทั้งทางด้านศิลปะ ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทั้งวรรณกรรม ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะจริงๆ แล้วเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเป็นนวัตกรรม ไม่เคยบอกว่าต้องเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีอย่างเดียว มันต้อง integrate แทบทั้งหมด ฉะนั้น สิ่งที่เราฟูมฟักเด็กในวัยนี้ก็คือให้เขาได้เล่น ได้สนุก ได้ทำกิจกรรมกับสิ่งเหล่านี้”

“เด็กๆ จะมาเข้าร่วมช่วงปิดเทอม แล้วก็มีโครงงานเจ๋งสุดทีนโปรเจกต์ให้ไปทำ ให้ไปคิดเองว่าอยากทำอะไร แล้วพอครบปีก็มานำเสนอให้ฟัง พวกเราเรียกว่าเป็นพี่เลี้ยง (mentor) คือคนที่จะไปยั่วยุ ทำให้อยากคิด อยากทำ อยากตั้งคำถามมากกว่าว่าปลายทางที่ได้จากเจ๋งสุดทีนโปรเจกต์นี้คืออะไร เราจะทำให้เขารู้จักกระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการหาคำตอบ กระบวนการตั้งคำถาม เด็กๆ ก็เป็นอิสระในเรื่องเหล่านี้ ในที่สุดก็เลยเกิดคนเหล่านี้ขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ”

 

ถอดรหัสนวัตกร: ครูพี่เลี้ยง

จากหนังสือ Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก สมเกียรติอ่านแล้วสะดุดตรงที่สถานะของครูซึ่งเป็นพี่เลี้ยงที่คอยเอาใจใส่นวัตกรจนพวกเขาประสบความสำเร็จนั้น แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกา อย่างฮาร์วาร์ด เอ็มไอที หรือสแตนฟอร์ด ซึ่งสมเกียรติมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนวัตกรรมสุดขีดแล้ว แต่กับบางเรื่องก็ยังโบราณเกินไปสำหรับคนที่อยากทำนวัตกรรม

“อาจารย์หลายคนที่เป็นพี่เลี้ยงให้นวัตกร กลับไม่ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำ เพราะมหาวิทยาลัยจะมีดัชนีชี้วัด (KPI) บอกว่า จะต้องมีผลงานวิชาการ ต้องทำวิจัย แต่สำหรับคนที่สอน คนที่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กที่เป็นนวัตกรนั้น กลายเป็นคนที่เป็น ‘แกะดำ’ ในหมู่นักวิชาการทั่วไป” เป็นสิ่งที่ทำให้สมเกียรติยอมรับว่า การเป็นนวัตกรไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เมษ์ช่วยเสริมในมุมของคนที่พยายามจะเอาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เข้าไปในองค์กรต่างๆ ด้วยแนวคิด Design Thinking หรือการคิดเชิงออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือภาคสังคม ซึ่งเธอพบก็เหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้

“คือคิดเก่งอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคิดด้วยว่าจะเอาตัวรอดในองค์กรได้ไหม หรือคิดต่างก็จะถูกมองว่าคนนี้เป็นตัวประหลาดในองค์กร ก็เหมือนเป็น freak ในองค์กรเหมือนกัน เมษ์คิดว่ามันอยู่ในทุกบริบท ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนอย่างเดียว แต่ในที่ทำงานก็ไม่ต่างกัน”

 

อัปเดตนวัตกรรมจากฝั่งอเมริกา

แม้จะอยู่กันคนละซีกโลกก็สามารถคุยกันได้ เพราะเรามีนวัตกรรม อย่างที่พัทน์หรือพีพี แม้จะอยู่ที่อเมริกาแต่ก็ร่วมพูดคุยกับวงเสวนานี้ได้ในแบบเรียลไทม์

ขณะนี้พีพีเรียนปริญญาโท-เอกอยู่ที่ MIT Media Lab ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็พูดถึงว่าเป็นหนึ่งในแล็บที่สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกมาแล้วหลายชิ้น อย่างเช่นจอสัมผัสที่เราใช้กันก็เป็นผลงานของมีเดียแล็บ แต่จอสัมผัสนี่เองที่ได้ชื่อว่านวัตกรรมยอดแย่ที่สุดของมีเดียแล็บแห่งนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียอี. โคไล (E. coli) จากปฏิกูลของคนได้ดีมาก

พีพีสนใจทำวิจัยเกี่ยวกับไซบอร์ก (cyborg) เป็นการทำให้คนกับ AI หรือคนกับหุ่นยนต์รวมร่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ฟังแล้วก็เป็นไอเดียที่ค่อนข้าง freak มากๆ แต่ก็ท้าทายและน่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน

สตีฟ จ็อบส์ เคยบอกว่า สิ่งที่นวัตกรทำก็แค่การลากเส้นต่อจุดต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคม หรือมีอยู่แล้วในโลกนี้ แล้วก็เอามารวมกันเพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา

หลายคนคิดว่าพอพูดถึงนวัตกร ต้องนึกถึงคนอเมริกัน ต้องนึกถึงสตีฟ จ็อบส์ บิล เกตส์ หรือคนที่สร้างบริษัทใหญ่ๆ แต่พีพียกตัวอย่างเวลาที่เราไปร้านรถเข็นแล้วมีที่ปัดแมลงวัน ซึ่งเป็นมอเตอร์หนึ่งอันแล้วติดไม้หรืออะไรที่หมุนเป็นวงกลมที่ช่วยไล่แมลงวันได้จริง

“นี่ก็เป็นนวัตกรรมที่เห็นอยู่รอบๆ ตัว เพียงแต่พอมันทำงานปุ๊บ เราเลยไม่รู้สึกว่ามันแปลกแยกอะไร แต่ตอนที่เกิดขึ้นครั้งแรก มันก็แก้ปัญหาทำให้สังคมเราดีขึ้น หรืออย่างน้อยเราก็ซื้อของไปกินแล้วท้องไม่เสีย”

เนื่องจากการสร้างนวัตกรรมไม่อาจทำให้คนได้โนเบลวิทยาศาสตร์ (สมเกียรติเล่าเกร็ดว่า คนที่เคยได้คนเดียวที่เป็นนวัตกรคือ มูฮัมมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำเรื่อง micro finance และได้โนเบลสาขาสันติภาพ) พีพีเล่าว่า ที่เอ็มไอทีตั้งอีกรางวัลหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า disobedience award เป็นรางวัลให้กับคนขบถ เพิ่งตั้งใหม่สดๆ ร้อนๆ แล้วก็มีคำพูดที่ว่า เราไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ถ้าทำในสิ่งที่ทำตามๆ กันมา

นอกจากนี้เอ็มไอทีก็มีการตั้งกติกาใหม่ในการรับอาจารย์ โดยเฉพาะมีเดียแล็บ โดยถามสองคำถามคือ หนึ่ง สิ่งที่คุณทำ ถ้าคุณไม่ได้มาอยู่ที่เอ็มไอที จะมีคนอื่นจ้างไหม

“ถ้าตอบว่ามีคนจ้างปุ๊บ เขาจะบอกว่าอย่างนั้นคุณก็ไปอยู่ที่อื่นเลย แต่ถ้าคิดว่าไม่มีคนจ้าง แสดงว่ามีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจที่คนยังมองไม่เห็น มันมีโอกาสใหม่ๆ อยู่ และอีกคำถามคือ ถ้าเกิดคุณไม่ได้อยู่ที่เอ็มไอที จะมีคนให้ทุนคุณหรือเปล่า ถ้าเกิดมี คุณก็ไปรับทุนที่อื่นเลย ไม่ต้องมาที่เอ็มไอที” พีพีมองว่าความคิดขบถแบบนี้เป็นอย่างหนึ่งที่ทำให้เอ็มไอทีขยับไปข้างหน้าได้

คงเหมือนกับที่แดนไทพูดเรื่องเกม คือความขบถมันเกิดจากการเล่น คือคนเราเล่นแล้วสนุก แล้วก็อยากชนะเกมให้ได้ ที่เอ็มไอทีก็สร้างบทเรียนขึ้นมาอันหนึ่งพูดถึงว่า การทำให้คนกลายไปเป็นผู้เรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ (creative learner) มีด้วยกัน 4 P คือ หนึ่ง Project ถ้าเด็กได้ทำโปรเจกต์ที่ตัวเองสนใจเขาจะสนุกและได้เรียนรู้เยอะ สอง Passion พอได้ทำโปรเจกต์ มันเกิดความกระหายที่อยากจะทำต่อ สาม Peers คนรอบข้าง มีเพื่อน มี community ให้เขาได้เรียนรู้ เขาก็จะสามารถทำต่อไปได้ และ สี่ Playful พอมีสามอย่างที่ว่ามา ความสนุกสนานจะเกิดขึ้นตามมา

 

จำเป็นไหมที่ทุกคนต้องเป็นนวัตกร?

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะชวนให้ผู้ปกครอง คุณครู และคนรอบข้าง มาช่วยกันสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ซึ่งตอนแรกสมเกียรติอ่านด้วยความสนใจ แต่ก็เริ่มมีเครื่องหมายคำถามตามมาเช่นกันว่า ตกลงแล้ว ทุกคนต้องเป็นนวัตกรหรือไม่

“จริงๆ ผมเชื่อมาตลอดว่า นักนวัตกรรมหรือนวัตกรเป็นคนที่ได้ทั้งพรและคำสาป แล้วพอเปิดหนังสือเล่มนี้ถึงบทสุดท้าย ก็เจอว่านวัตกรมีทั้งพรและคำสาปจริงๆ คือคนที่เป็นนวัตกรที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจะมีความสุขมาก ได้รับความอิ่มเอมจากการทำของใหม่ๆ ได้รับความตื่นเต้น อยู่ใน flow ของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ในชีวิต เนื่องจากความเป็นคนแตกต่าง เป็นประเภท freak ก็จะมีคนในสังคมที่ไม่เข้าใจเยอะ โดยเฉพาะถ้าเป็นสังคมแบบประเทศไทย การทำอะไรแปลกๆ จะเป็นอะไรที่เหนื่อยนิดหนึ่ง”

ประเด็นที่สมเกียรติอยากเปิดให้ร่วมกันขบคิดคือ นวัตกรแบบปรับปรุงเล็กน้อย ค่อยเป็นค่อยไป แบบนี้น่าจะเป็นกันได้ทุกคน แต่ถ้าจะเริ่มเป็นนวัตกรประเภทที่ทำอะไรใหม่ๆ แล้วไปทำให้ของเก่าใช้ไม่ได้ อย่างนี้สมควรทำ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวังตัวเอง กระทั่งต้องมีความสามารถเฉพาะตัวหรือทักษะที่คล้ายๆ กับสามารถ “แอบทำ” ให้เป็น

“ในหนังสือยกตัวอย่างน่าสนใจ เช่น พ่อแม่ของนวัตกรหลายคนมักปล่อยให้ลูกมีอิสระ แต่ถึงจุดหนึ่ง พอไปเจอความจริงในโรงเรียนซึ่งโรงเรียนจะเอาเกรด โรงเรียนจะเอาความรู้ โรงเรียนจะสอบ มันก็จะเกิดแรงกดดันและความขัดแย้งกันอยู่ลึกๆ ว่า ถ้าเกิดจะปล่อยไปแบบโรงเรียน ลูกก็ไม่มีความสุข ลูกก็เบื่อ ในเวลาเดียวกัน ถ้าปล่อยให้ลูกไปโลดเลย ครูก็ไม่พอใจ คนรอบข้างก็ไม่พอใจ คนก็ไม่เข้าใจกัน”

สมเกียรติย้ำว่า ไม่ได้แปลว่าทุกคนเป็นนวัตกรไม่ได้ แต่การเป็นนวัตกรในสังคมที่บางครั้งไม่ค่อยเปิด จำเป็นต้องใช้ศิลปะบางอย่าง

“อีกตัวอย่างในหนังสือคือ พ่อเป็นคนเล่าว่าลูกชายเขาทำได้ทุกอย่างเลย จะให้เล่นดนตรีก็เล่นได้ แต่เขาไม่ทำการบ้าน จะให้ร่วมกิจกรรมแปลกๆ ยากๆ ทำได้ทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่ทำการบ้าน จนวันหนึ่ง คุณพ่อทนไม่ไหว ก็จะจับลูกให้ทำการบ้านให้ได้ ลูกก็ทำการบ้านสำเร็จโดยการวาดชิ้นงานไปส่งครู ปรากฏว่าพ่อกลับมาบ้านแล้วถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น ครูตรวจการบ้านแล้วเป็นอย่างไร ลูกตอบว่าครูไม่ได้ให้คะแนนว่าชิ้นงานดีไม่ดี แต่บอกว่ากระดาษที่เขียนคำตอบขนาดมันไม่ถูก ก็เลยโดนปรับตก

“นี่เป็นความทุกข์ของนักนวัตกรรม และนี่คือตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา เราลองมานึกตัวอย่างในสยามประเทศดูว่าจะเป็นอย่างไร”

สมเกียรติกล่าวว่าอยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่ ผู้กำหนดนโยบาย คุณครู ตัวเด็กๆ เองก็อ่านได้ แต่อย่าคิดว่าจะต้องเป็นนวัตกรทุกคน ต้องดูก่อนว่ามีปัญญาเอาตัวรอดในสังคมซึ่งการเป็นนวัตกรมีความเสี่ยงหรือไม่ คำเตือนจากสมเกียรติคือ ถ้าอยากทำ ก็ค่อยๆ ทำทีละเล็กทีละน้อย แล้วลองดูว่าแบบไหนปลอดภัย เช่น ถ้าเบื่อในห้องเรียน ในหนังสือก็แนะนำว่า ให้เอาอะไรบางอย่างที่ตัวเองชอบไปแอบอ่าน แต่อย่าให้ครูเห็น เป็นต้น

“โจทย์ในเชิงนโยบายสาธารณะอย่างหนึ่งก็คือ ทำอย่างไรให้โรงเรียนของไทยปลอดภัยสำหรับการทำสิ่งแผลงๆ ทำอะไรที่พิสดารอย่างนี้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ต้องไปแอบสร้างนวัตกรรมนอกเวลาหรือหลังเลิกเรียน ทำอย่างไรให้เราสร้างนวัตกรรมกันได้ตลอดเวลา”