หลากความคิดเห็นจากผู้ร่วมสนุกแคมเปญ #bookscape4life

 

 

ก่อนประกาศสองผลรางวัลใหญ่ #bookscape4life หรืออ่านฟรีตลอดชีวิต! กับ Bookscape ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ขอชวนคุณๆ ไปอ่านความเห็นและรีวิวบางส่วนจากผู้ร่วมสนุกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

22 พฤษภาคม

 

Smithi Inpitack:

 

แนะนำ วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ เหตุผลที่แนะนำเพราะ อยากให้เธอเข้าใจโลกแห่งวรรณกรรม

“เพราะถ้าเธอ (Sahawat Keawpratubsri) เข้าใจวรรณกรรม เธอก็จะเข้าใจฉัน”

 

 

Anuwat Rassameesritrakool:

 

ช่วงแนะนำหนังสือ Jirapat Deethongkam

 

อ่าน 3 ใน 4 เล่ม แต่ เพึ่งจบไปแค่ 2 เล่ม ถ้าถามว่าชอบเล่มไหน ส่วนตัวคงเป็น ‘วรรณกรรม ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ’ แต่ถ้าถามว่าอยากแนะนำเล่มไหน ที่เหมาะสม เข้าสถานการณ์ และตรงกับใจ คงเป็น ‘Populism ประชานิยม’ เสียมากกว่า

 

คำนี้ในประเทศไทยปัจจุบันเหมือนเป็นคำสาปกลายๆ เป็นคำปรามาส ต่อประชาชนชนชั้นล่างผู้มักง่าย ใจเร็ว ไร้ความรับผิดชอบ และคิดเองไม่เป็น จากเหล่าชนชั้นนำ และชนชั้นกลางในเมืองใหญ่

 

และแน่นอนผู้นำประชานิยมที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาคนี้หรือประเทศไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเราคงรู้จักกันดีโดยไม่ต้องเอ่ยชื่อ (แต่ในหนังสือก็มีกล่าวถึงหลายหน)

 

หัวข้อที่ทำให้คิดต่อไปมากๆ สำหรับผมคือ การที่ผู้เขียนแยกให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างประชานิยมเชิงเศรษฐกิจ และประชานิยมทางการเมือง ในเมืองไทย คนทั่วไปมีความรู้สึกว่าประชานิยมคือการจ่ายเงินซื้อใจ หรือทำโครงการที่ยื่นผลประโยชน์โดยตรงไปสู้ฐานคะแนนเสียง ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับระบบอุปถัมภ์แบบดั้งเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากอุปถัมภ์เครือญาติ สมัครพรรคพวก เป็นมวลชนกลุ่มที่ใหญ่มากกว่าเดิมมาก ซึ่งผู้เขียนอัดเราจนสับสนตั้งแต่บทที่หนึ่ง 1. ประชานิยมคืออะไร? กันแน่?

 

และยิ่งทำให้หัวหมุนไปอีก กับการที่ผู้เขียนบอกว่า ประชานิยม เป็นอุดมการณ์ไส้บางเบา (คำแปล) ที่แท้จริงแล้ว มันสามารถอยู่ร่วมกับระบอบ หรือแนวคิดแบบใดๆ ก็ได้ที่เป็นแนวคิดเหย้าของสังคมนั้น แม้ว่าจะต่างกันสุดขั้ว ไม่ว่าซ้ายจัดหรือขวาจัด ทั้งกระแสประชานิยมต่อต้านผู้อพยพในยุโรป หรือประชานิยมของชนพื้นเมืองในนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย (และแน่นอนมันทำให้เรากลับมาคิดถึง ประชานิยมทางการเมืองรูปแบบต่างๆ ในการเมืองไทยที่ผ่านมา ในมุมมองแบบที่เราไม่เคยมองมาก่อน)

 

ในเล่ม ผู้เขียนยกกรณีตัวอย่างที่โดดเด่นจากสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก อเมริกา, ยุโรป และยิ่งโดดเด่นมากในฟากลาตินอเมริกา ซึ่ง ผู้เขียนกล่าวว่าเป็น สังคมที่มีรูปแบบประเพณีของการเมืองแบบประชานิยมที่เข้มข้นและยืนยาวมากที่สุด เนื่องจากเป็นสังคมที่มีลักษณะอำนาจนิยมจัด (เหมือนไทย) และมีความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงมาก ซึ่งง่ายต่อการเกิดกระแสประชานิยม ‘ยิ่งเหลื่อมล้ำยิ่งต้องประชานิยม’

 

ชื่อของผู้นำคนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ผมสนใจ คือ อัลแบร์โต ฟูจิโมริ ผู้นำเผด็จการเชื้อสายญี่ปุ่นของเปรู ซึ่งเคยได้ยืนชื่อนี้ครั้งแรก เมื่อปลายปีก่อน (เป็นข่าวในบีบีซี) และทำให้สงสัยมานานว่า ทำไมคนเชื้อสายญี่ปุ่นแท้ๆ ถึงสามารถขึ้นเป็นประธานาธิปดีของเปรูได้

 

ผู้เขียนบอกเราว่า รูปแบบของประชานิยมทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การจำแนก แบ่งแยก ‘ประชาชนผู้บริสุทธิ์’ ออกจากกลุ่ม ‘ชนชั้นนำผู้ฉ้อฉล’ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำ ความเอารัดเอาเปรียบ และความตกต่ำในสังคมโดยรวม และแน่นอนว่า ผู้นำประชานิยมย่อมอยู่ฝ่ายเดียวกับเหล่ามวลประชาชนผู้บริสุทธิ์นั่นเอง

 

และรูปแบบการหาเสียงของ ฟูจิโมริ ที่อยู่บนพื้นฐานว่า ตนเองเป็นคนนอก เป็นเชื้อสายผู้อพยพ ย่อมไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับชนชั้นนำเดิมที่สืบทอดกันมานาน เป็นแทคติกการสร้างฐานมวลชนที่คิดไม่ถึงเลยทีเดียว etc…

 

บทที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ บทที่ว่าด้วย ผู้นำประชานิยม การสร้างบารมี ความโดดเด่นเฉพาะตัว และ การสร้างฐานเพื่อขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง

 

“…ประชานิยมมักถูกชี้นำโดยผู้นำที่เข้มแข็งซึ่งนำเสนอตัวเองว่าเป็น “เสียงของประชาชน” (vox populi) โดยผ่านพฤติกรรมและคำพูดของตน ความข้อนี้ทำให้พอล แท็กการ์ต นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวว่า ประชานิยมนั้น” เรียกร้องต้องการปัจเจกบุคคลที่พิเศษสุดมานำประชาสามัญชนที่สุด” (ย่อหน้าแรกในบทที่ 4)

 

เป็นหนังสือเล่มที่อ่านไม่ยากและไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาวจนเกินไป ที่อยากจะแนะนำให้อ่านจริงๆ

 

 

Goongging Thiranan Chouyming:

– วรรณกรรม –

 

ครั้งหนึ่ง Khanphicha Kaem Phaktoemphong เคยถามว่า…

ทำไมถึงชอบอ่านนัก พวกวรรณกรรมหรือนิยาย?

 

มันเป็นคำตอบที่ตอบได้ยากเหมือนกันนะ ถ้าได้เข้าไปในโลกของวรรณกรรม มันให้ความรู้สึกราวกับว่า “อิสระเป็นของเราอย่างแท้จริง” อิสระในการจินตนาการ อิสระจากการตีความ อิสระในการขบถต่อสังคม โลกวรรณกรรมมันปลอดโปร่ง หายใจสะดวก

 

โดยเฉพาะสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน วรรณกรรมมีวัฒนธรรมของความขบถทางสังคมเก่าบางอย่าง มันเลยรู้สึกสะใจที่ได้จินตนาการอย่างเป็นขบถ (ดูซาดิส5555) แต่ก็เป็นเพียงความคิดเห็นสั้นๆ แคบๆ ของเพื่อนคนหนึ่งเท่านั้น

 

ก็เลยอยากแนะนำเรื่องนี้ ประวัติศาสตร์วรรณกรรม เราจะได้เดินทางสำรวจบริบทที่รายล้อม พร้อมกับการเห็นคลื่นชีวิตของความเป็นวรรณกรรมร่วมกัน หรือต่อให้เราไม่เห็นอะไรเลย อย่างน้อยก็ได้ทำความรู้จักกับสิ่งนี้ สิ่งที่เรียกสั้นๆ ว่า “วรรณกรรม”

 

 

23 พฤษภาคม

 

Beam Chuenkamol:

 

แนะนำ a little history of literature ชอบเล่มนี้จากเล่มของศาสนา (ปกเหลือง) พอเจอเล่มนี้ออกใหม่นี่แทบไม่ลังเลเลยที่ซื้อ (หน้าปกที่ออกแบบโดยคุณนักรบก็เป็นอีกปัจจัยนึงในการตัดสินใจซื้อของเรา 5555) เนื้อหาอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวความเป็นมาของโลกวรรณกรรมตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นแค่มุขปาฐะ พัฒนามาเรื่อยๆ เริ่มมีการบันทึก จนถึงในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกหนังสือ

 

เป็นหนังสืออีกเล่มที่เปิดโลกเด็กสายวิทย์แบบเรามาก เพราะเราไม่เคยรู้เลยว่าชีวิตเบื้องหลังของเชคสเปียร์เป็นยังไง ในอดีตผู้หญิงต้องต่อสู้ดิ้นรนขนาดไหนเพื่อให้ได้เขียนหนังสือ ยุคโรแมนติก กวีในยุคสงคราม การปฏิวัติของคาฟคา อีกสิ่งหนึ่งคือโลกวรรณกรรมเป็นอีก verse นึงที่น่าสนใจไม่แพ้วิชาสายวิทยาศาสตร์ที่เราเรียนมาตลอดทั้งชีวิตเลย ด้วยภาษาที่ไม่ได้ใช้ยากจนเกินไปแม้ใครที่ไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อน (เหมือนกับเรา) ก็สามารถเข้าใจและเริ่มหลงรักได้ไม่ยากเย็น

 

หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์ มีหลากหลายแง่มุมให้ได้อ่านและตกตะกอนทางความคิดหลังจากอ่านเล่มนี้จบลง และวรรณกรรมยังได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย (การได้รู้จักกลุ่มกวีอภิปรัชญาทำเรากรี๊ดมาก เพราะบทที่ยกมาของ hymn to god my god, in my sickness อ่านแล้วประทับใจมากๆ ที่กล่าวถึงความตายของตนอย่างอาจหาญ จนอยากหาอ่านศึกษาเพิ่มเติม)

 

แม้หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้ให้ข้อมูลที่ลึกหรือละเอียดถึงระดับที่สอนกันในคณะ แต่ก็สามารถจุดประกายความอยากรู้/ความสนใจของเด็กสายวิทย์คนนี้ได้) อยากให้ลองกันจริงๆ มันจะเปิดโลกของเราไปเลย

 

คนที่อยากแนะนำคือ Krukung NB ค่ะ เพราะครูเป็นอีกคนที่ชอบอ่านหนังสือและมีแนวการอ่านที่คล้ายๆ กับหนู เลยอยากบอกต่อค่ะว่าหนังสือแนวนี้ก็สนุกไม่แพ้กัน หนูว่าครูน่าจะชอบ

 

ติดตามสำนักพิมพ์นี้มาตั้งแต่สมัยยังเป็น openworlds จนเขาแยกตัวมาทำของตัวเอง รู้สึกได้รู้อะไรขึ้นเยอะมากๆ จากการอ่านหนังสือของสนพ.นี้ ขอให้ได้ทีเถอะ ฮืออออ ไม่มีคำบรรยายใดๆ แล้วจริงๆ อยากได้มากๆ หวังว่าพี่เขาจะอ่านความเวิ่นเว้อของหนูนะคะ ;-;

 

 

Theerapat Rattanarab:

 

เรามักคุ้นเคยกับการฟังหรืออ่านนิทานตั้งแต่เด็ก แต่จินตนาการผ่านตัวอักษรเหล่านั้นต่างแทรกเรื่องราวของสังคมการเมืองและวัฒนธรรม รวมถึงสะท้อนให้เราย้อนกลับมาตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ

 

John Sutherland ชี้ให้เห็นว่าเราทุกคนล้วนข้องเกี่ยวและสัมพันธ์กับวรรณกรรม “…วรรณกรรมเป็นจิตวิญญาณของมนุษย์ที่แสดงศักยภาพสูงสุดในการถ่ายทอดและตีความโลกรอบตัวเรา…”

 

“รามายณะ” หรือที่คนไทยรู้จักกันว่า “รามเกียรติ์” เป็นวรรณกรรมที่คนทุกยุคสมัยต่างคุ้นเคยกัน แม้เนื้อหาหลักจะเล่าเรื่องราวการชิงตัวนางสีดาระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ แต่ระหว่างบรรทัดนั้นกลับสอดแทรกเรื่องราวของชนชั้นวรรณะในสังคมอินเดียโบราณระหว่างชาวอารยันกับชาวดราวิเดียนในจินตนาการสุดคาดคิดนั้นเอง

 

วรรณกรรมจึงช่วยสร้างความเข้าใจสังคมการเมืองและวัฒนธรรมที่รัฐไม่ได้เขียนหรือสังคมไม่ได้พูด เพราะวรรณกรรมสามารถก้าวข้ามความเป็นจริง เพื่อสะท้อนความคิดของผู้เขียนและปรากฏการณ์ทางสังคมได้ด้วยตัวของมัน

 

ขณะที่เรื่องราวความรักของทศกัณฐ์ที่มีต่อนางสีดาก็ถูกนำมาตีความกันแพร่หลาย ดังเช่นเนื้อเพลงตัวร้ายที่เธอรัก “…ถึงกูจะร้าย กูก็รักไม่น้อยกว่าเขา…” หรือท่อน rap ของเพลงร้ายก็รัก “…ใครจะรู้ว่าทศกัณฐ์รักนางสีดามากกว่าเท่าไหร่…” ที่พยายามตีความและเสนอภาพความรักของทศกัณฐ์ซึ่งต่างไปจากการเป็นตัวร้ายในวรรณกรรม แต่ก็ถูกแย้งด้วยเหตุผลว่า ทศกัณฐ์เป็นพ่อของนางสีดา และพ่อกับลูกไม่ควรจะเป็นสามีภรรยากัน ทั้งในทางจารีตประเพณี กฎหมาย หรือพันธุกรรม

 

วรรณกรรมจึงช่วยให้เราพิจารณาสิ่งรอบตัวได้อย่างระวังไหว (sensitive) และยอมรับในความหลากหลายที่ไม่ได้มองโลกหยุดนิ่ง แต่มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงเสมอทุกขณะเวลา

 

ดังคำกล่าวของ John Sutherland ว่า “วรรณกรรมช่วยให้เราเป็นมนุษย์มากขึ้น”

 

วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ จึงเป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจในการสัมผัสถึงความรุ่มรวยทางปัญญาผ่านลีลาการร่ายรำทางอักษรของเหล่านักเขียน และแง่มุมระหว่างบรรทัดที่เป็นสะพานเชื่อมวรรณกรรมกับโลกแห่งความจริง

 

อยากแนะนำให้กัลยาณมิตรนักอ่านอย่าง Pop Manthana ได้มีโอกาสลองอ่าน วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ เผื่อจะได้แนวทางในการตรวจสอบตัวเองและระวังไหวต่อโลกรอบตัวเรา และเพื่อเป็นการขยายขอบฟ้าทางปัญญาในฐานที่แห่งจินตนาการสะท้อนความคิด

 

 

25 พฤษภาคม

รอนฝัน ตะวันเศร้า:

 

อยากแนะนำ “วรรณกรรม:ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ” ให้กับคนรัก แด่รุ่งเช้า ที่ไม่มีวันมาถึง (Weetaka Mitshasin) ได้อ่าน เพราะความรักของเราเปรียบดั่งวรรณกรรมที่งดงาม มีโครงสร้างที่ผ่านการขีดเขียนจากอดีตสู่อนาคต และจะยั่งยืนต่อไปจนกว่าโลกจะแตกดับ

 

ความรักคือวรรณกรรม และผมรักวรรณกรรมมากพอๆ กับที่รักเธอ

 

 

27 พฤษภาคม

 

Hikawasa Wanako:

 

ร่วมสนุกสักเล็กน้อย #bookscape4life

อ่านแนวนี้บ้างไหมคะ Nawarat Watcharothayangkoon ด้วยความที่จะเล่นเกมอ่านฟรี หนังสือของ BOOKSCAPE เราเลยอยากแนะนำเล่ม GLOBAL CHANGE 4 ค่ะ

งานเขียนของ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ ชุด Global Change ออกมา 4 เล่มแล้วค่ะ พอดีเราตามงานอาจารย์ในชุดโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ชุด Edutainment ชุดเงินของอมรินทร์ด้วย ชุด Global Change นี้ก็จดลงลิสต์หนังสือที่จะซื้อไว้ละค่ะ เล่ม 4 เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ดูมีความก้าวหน้าขึ้นมากเลย มีความว้าวหลายๆ เรื่องมาก

ที่จริงแอบหวังอยากให้พัฒนาก้าวล้ำได้เร็วกว่านี้สมัยยายเรายังอยู่ละค่ะ เราสนใจการแพทย์ที่จะสามารถย้ายสมองไปอยู่ในร่างใหม่ อยากให้ยายได้ร่างใหม่จะได้อยู่กับเราไปนานๆ แล้วเล่ม GLOBAL CHANGE 4 นี้มีเรื่องของโรงพยาบาลสมัยใหม่ด้วย ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องมาตรวจที่โรงพยาบาลถี่ๆ ก็ได้ เพราะทางศูนย์โรงพยาบาลจะมีประวัติ และอุปกรณ์ที่ตรวจโรค ตรวจอะไรได้เกือบทุกอย่างที่บ้านผู้ป่วยเอง จนถึงขั้นไม่ไหวจริงๆ ถึงค่อยมาโรงพยาบาลค่ะ

นี่พอเราอ่านตัวอย่างแล้วก็ว้าวอีก อยากให้ยายได้รับการรักษาแบบนี้ที่บ้านจัง สะดวกกับผู้ป่วยติดเตียงมากๆ เสียดายวิทยาการนี้มาช้าไปหน่อย ยายเราไม่มีโอกาสละ ตอนนี้กำลังจะทดลองใช้ที่คลีฟแลนด์เองค่ะ โอวว เราก็ร่ายมายาวมาก เล่มนี้น่าอ่านมากอะ เตรียมตัวรับอนาคตวิทยาศาสตร์การแพทย์ล้ำๆ กันค่ะ <3

 

 

28 พฤษภาคม

 

Patipan Ponsirisave:

 

ผมต้องการชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของประชานิยมกับประชาธิปไตย … ผมอยากรู้จริงๆ ว่าไอประชานิยมที่รังเกียจนักและห้ามปรามกันหนา มันต่างยังไงกับประชารัฐ และนโยบายอื่นๆ

 

ถ้าต้องเลือกเพียงหนึ่งเล่ม

เล่มที่ผมจะเลือกก็คือ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา

และถ้าจะให้ใครสักคน

คนคนนั้นก็คงเป็น Teeraphon Silmun

 

เหตุผลที่ผมเลือกเล่มนี้

– อาจารย์เกษียรก็เป็นอาจารย์ท่านหนึ่งของผม

– และเนื่องจากผมเคยเรียนกับท่าน ผมก็เลยมีความหลังกับเล่มนี่อยู่หน่อยๆ (หรอ?) (ฮ่าๆๆๆ)

 

เหตุผลที่ผมเลือกให้คุณ

– ผมต้องการชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของประชานิยมกับประชาธิปไตย (ซึ่งอาจดีหรือไม่ดีต่อกันก็ได้)

– ผมอยากรู้จริงๆ ว่าไอประชานิยม ที่ประชาชนรังเกียจนัก และ คสช. ห้ามปรามกันหนา มันต่างยังไงกับประชารัฐ และนโยบายอื่นๆ ที่ไทยหรือต่างประเทศได้ทำ

 

กูแทบไม่ได้เจอและคุยกับมิงมานานแล้ว ขณะที่ตอนนี้กุเรียนเน้นเรื่องการเมือง (ถ้ากุเข้าใจไม่ผิด) มิงคงเรียนเน้นเรื่องการบริหารภาครัฐมากกว่า … หวังว่าเราคงมีโอกาสได้สนทนากันผ่านหนังสือเล่มนี้

 

ปล. ถ้ามีโอกาสเจอทั่นประยุทธ กุฝากมึงเอาให้ท่านด้วย

 

 

30 พฤษภาคม

 

Wongpen Nastith:

 

อยากแนะนำ วรรณกรรม ให้ Siripen Sukstith ชื่อหนังสือที่เหมือนจะน่าเบื่อนี้จะเปิดโลกใบใหม่ให้ เพ็ญ รู้จักถึงสิ่งที่เรียกว่า วรรณกรรม จริงๆ แล้วคืออะไร ยิ่งคนชอบอ่านหนังสือ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า น่าจะชอบ เราอ่านแล้วชอบมาก

 

จากที่เราคิดว่าเรามีความรู้ รู้จักวรรณกรรมในโลกเยอะแล้ว ก็พบว่า จริงๆ แล้วเรารู้จักแค่บางส่วนเท่านั้น ยังมีอีกมากที่เรายังไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่เคยรู้จัก …มาเปิดโลกแห่งวรรณกรรมพร้อมๆ กันนะ…