ชลิดา หนูหล้า เขียน
ใครเคยบอกลูกว่า “ถ้าไม่เข้ามหาวิทยาลัย ก. ต้องเตะฝุ่นหางานเป็นปีๆ แน่นอน” บ้าง ยกมือขึ้น!
แน่นอนว่าจะเห็นมือในอากาศประปราย ขณะที่หลายคนสะดุ้งเพราะเคยได้ยินประโยคเดียวกันนี้ในวัยรุ่น มหาวิทยาลัยอาจไกลตัวเกินไปบ้าง แต่หากเปลี่ยนคำในประโยคเป็น “ถ้าสอบเข้าโรงเรียน ข. ไม่ได้ก็อย่าหวังจะได้เข้ามหาวิทยาลัย ก. เลย” หรือ “ถ้าเลือกแผนการเรียนนี้ก็เตรียมตัวไส้แห้งได้เลย” หรือ “ถ้าไม่เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ วันข้างหน้าจะลำบากนะ” ละก็ …
ต้องเห็นมืออีกหลายข้างในอากาศแน่ๆ
“รู้หรือไม่ว่าเคร่งเครียดเพียงใดที่ต้องทุ่มเททุกอย่างทั้งที่รู้ว่ายังมีคนที่เก่งกว่าและคุณไม่มีทางเก่งที่สุด ยิ่งถ้าคุณมีพ่อแม่ที่ฉลาดและประสบความสำเร็จสุดๆ จบจากฮาร์วาร์ดและเป็นทนายที่เก่งกาจทั้งคู่ คุณจะสงสัยว่าจะมีวันที่คุณประสบความสำเร็จ มีปัญญาซื้อบ้าน และมีครอบครัวไหม จากนั้นคุณจะคิดว่า ‘พ่อแม่ของฉันฉลาด ฉันก็เรียนในโรงเรียนดีๆ แต่ทำไมฉันทำอย่างพวกเขาไม่ได้นะ’ และ ‘ฉันไม่รู้เลยว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ไหม แม้จะไม่ดีเท่ามหาวิทยาลัยที่พ่อแม่ได้เข้า หรือมหาวิทยาลัยที่พ่อแม่คาดหวังให้ฉันเรียนก็ตาม”
ลูกศิษย์คนหนึ่งของเน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) หนึ่งในสองผู้เขียน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง เขียนเรียงความในหัวข้อ “อุดมการณ์ของวัยรุ่นผู้เคร่งเครียด” ได้เจ็บปวดเหลือเกิน
เน็ดเป็นเจ้าของสถาบันกวดวิชาเพร็ปแมตเทอร์ส (PrepMatters) ที่เน้นแนะแนวทางเรียนรู้และให้คำปรึกษาแก่เด็กๆ ที่กังวลเกี่ยวกับการเข้ามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา จากประสบการณ์การช่วยเหลือเด็กๆ ที่มีบุคลิกภาพและความถนัดหลากหลาย เน็ดพบว่าอุปสรรคที่ฉุดรั้งศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ มากหน้าหลายตาคือความกลัวว่าจะทำหรือตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งเดิมเป็นความกลัวของผู้ใหญ่ ไม่ใช่ความกลัวที่เด็กๆ มีโดยธรรมชาติ
ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังไม่ได้ก็ต้องเป็นบัณฑิตวิทยาลัยไร้ชื่อที่ได้แต่เดินเตะฝุ่นหลังสำเร็จการศึกษา ถ้าไม่มีเกรดเฉลี่ยสะสม 3.5 ขึ้นไปในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก็เลิกหวังจะมีอนาคตที่สดใสเสียดีกว่า ถ้าเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ต้องสอบแข่งขันกับคนเรือนหมื่นไม่ได้ก็จบเห่ ถ้าเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นประจำจังหวัดไม่ได้ก็สิ้นหวังแล้ว ถ้าเข้าห้องเรียนพิเศษในโรงเรียนประถมศึกษาไม่ได้ก็อย่าหวังจะไล่ตามใคร ถ้าร้องไห้ในการสอบเข้าอนุบาลจะถูกคัดออกและไม่มีวันได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี …
ดูเหมือนหนทางสู่ความสำเร็จจะเป็นถนนแคบเลียบผาที่ก้าวพลาดเพียงนิดเดียวก็พร้อมจะหล่นร่วงสู่หายนะ
“มุมมองต่อโลกอันคับแคบและบิดเบี้ยวของผู้ใหญ่ส่งผลกระทบต่อเด็กเก่งผู้มีมุมมองแบบตายตัวต่อหนทางสู่ความสำเร็จ ก่อความเครียด ความวิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตโดยไม่จำเป็น และกระทบเด็กไม่เก่งผู้ได้ข้อสรุปตั้งแต่อายุยังน้อยว่าตนเองจะไม่ประสบความสำเร็จและเลิกล้มความพยายาม” เน็ดสรุป “ทั้งเด็กที่ทุ่มเทเกินเหตุหรือเด็กที่ขาดแรงจูงใจต่างเชื่อสนิทว่าถ้าเรียนไม่เก่งเป็นอันดับต้นๆ พวกเขาจะเป็นได้แค่พวกขี้แพ้และจะทำงานที่แมคโดนัลด์ในวัย 50 ปี”
มุมมองนี้ไม่ดีต่อลูกแน่ และหากทบทวนอดีตของตนเองสักนิด พ่อแม่ก็จะพบว่ามุมมองเดียวกันนี้ไม่เคยส่งผลดีต่อตนเองเช่นกัน
แล้วจะปกป้องเด็กๆ ในวันนี้จากมุมมองคับแคบที่มีแต่จะทำร้ายพวกเขาได้อย่างไร
มุมมองอันคับแคบส่งผลต่อสมองอย่างไร
ข้อเท็จจริงหนึ่งที่พ่อแม่พึงระวังคือ มุมมองคับแคบที่ว่าหากประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์อันตายตัวผลลัพธ์หนึ่งนั้น เป็นภัยต่อการพัฒนาความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง (sense of control) ของเด็กอย่างยิ่ง
ความสามารถในการกำกับดูแลตนเองคือความรู้สึกหรือความเชื่อว่าตนสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เผชิญให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้เด็ก “อยู่เองได้ โตเองเป็น” กล่าวคือตัดสินใจได้อย่างมีวิจารณญาณ แก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม ก้าวข้ามอุปสรรคได้ด้วยตนเอง และมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรู้ว่าเมื่อไรต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
ผู้ขาดความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง หรือไม่รู้สึกว่าตนเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตได้จึงต้องเผชิญความเครียดมหาศาล เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดูจะเป็นอันตรายได้ทั้งสิ้น และเมื่อมนุษย์เครียด อะมิกดาลา (amygdala) หรือสมองส่วนที่มีหน้าที่รับมือภยันตรายก็จะทำงานเต็มที่ ปัญหาคืออะมิกดาลานั้นไม่ใช่สมองส่วนที่คิดอย่างมีวิจารณญาณ ทว่าเป็นสมองที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็วว่าจะ “หนี” หรือ “ต่อสู้” การใช้งานอะมิกดาลาจึงทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมต่อต้าน ก้าวร้าว หรือรุนแรงต่อตนเองหรือผู้อื่น ไม่เช่นนั้นก็เฉื่อยชา หลีกเลี่ยงปัญหา และขาดความรับผิดชอบ
กล่าวได้ว่ายิ่งไร้ความสามารถในการกำกับดูแลตนเองยิ่งเครียด และยิ่งเครียดก็ยิ่งไร้ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง
แน่นอนว่าไม่มีเด็กคนใดดูแลตัวเองได้ตั้งแต่เกิด หนทางบ่มเพาะความสามารถในการกำกับดูแลตนเองที่ดีที่สุดจึงเป็นการให้โอกาสพวกเขาตัดสินใจด้วยตนเองตั้งแต่ยังเล็ก จากการเลือกเครื่องแต่งกายด้วยตนเอง จนถึงการจัดการเวลา รับผิดชอบงานบ้าน และการเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โอกาสเหล่านี้จะนำไปสู่การรู้จักและเข้าใจตนเองของเด็ก การตระหนักถึงความสำคัญของการตัดสินใจอย่างรอบคอบด้วยข้อมูลที่เชื่อถือได้ และการรับผิดชอบผลการตัดสินใจของตนเอง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสามารถในการกำกับดูแล
ในบทความ อ่าน ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง’
เห็นได้ชัดว่าแนวคิดที่ว่าผลลัพธ์ของการตัดสินใจหรือการกระทำหนึ่งๆ ย่อมตายตัวโดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้นั้นขัดต่อธรรมชาติของผู้มีความสามารถในการกำกับดูแลตนเองอย่างสิ้นเชิง และย่อมถูกฟูมฟักด้วยกรอบความคิดแตกต่างกัน
หนึ่งในหนทางลัดออกจากมุมมองคับแคบนี้คือทฤษฎีปลาใหญ่ในสระเล็ก
ทฤษฎีปลาใหญ่ในสระเล็ก
หนึ่งในแนวคิดที่ทลายมุมมองอันคับแคบว่าด้วยความสำเร็จได้ชะงัดคือทฤษฎีปลาใหญ่ในสระเล็ก (big-fish-little-pond history) ซึ่งพัฒนาโดยเฮอร์เบิร์ต มาร์ช (Herbert Marsh) แนวคิดนี้เสนอว่ามนุษย์จะรู้สึกดีต่อตนเองมากขึ้นหากทำได้ดีในหมู่เพื่อนหรือคนใกล้ชิด การเป็นดาวเด่นในสถานศึกษาที่ไม่โด่งดังนัก หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่การแข่งขันไม่เข้มข้นนัก บ่อยครั้งจึงดีต่อพัฒนาการของเด็กมากกว่าการผลักดันตนเองไปสู่สภาพแวดล้อมที่เชื่อว่าเลิศเลอหรือสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงด้วยกระแสสังคมแล้วกลับต้องเคว้งคว้าง เจ็บปวดด้วยการขาดความพึงพอใจในตนเอง
ในหนังสือ David and Goliath ผู้เขียนคือมัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) กล่าวถึงเด็กหญิงหัวกะทิคนหนึ่งที่ตั้งใจจะศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบราวน์มาโดยตลอด มหาวิทยาลัยบราวน์มีชื่อเสียงมาก ทว่าสภาพแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยนั้นกลับทำให้เธอสูญเสียความมั่นใจในตนเอง เด็กหญิงจึงละทิ้งความสนใจในวิทยาศาสตร์ และเลือกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอื่น สภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยทำให้ความสามารถที่แท้จริงและหลงใหลในวิชาดังกล่าวของเธอเปล่งประกายกว่า ดังที่แกลดเวลล์บรรยายว่า “น้อยครั้งที่เราจะหยุดเพื่อพินิจ … ว่าสถาบันอันทรงเกียรตินั้นดีต่อเราที่สุดจริงหรือไม่”
ทฤษฎีปลาใหญ่ในสระเล็กเป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการต้านทานกระแสสังคมไม่ให้พัดพาเด็กไปสู่สถานการณ์คนส่วนใหญ่พิจารณาว่าดีหรือเหมาะสม หรือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ ทั้งที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อพวกเขาในระยะยาว เพราะหลายครั้งที่การเป็นปลาใหญ่ในสระเล็กซึ่งมอบความมั่นใจให้เด็กๆ จัดการคลื่นปัญหาด้วยตนเองโดยไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะถูกซัดไป ความมั่นใจว่าจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เผชิญได้เสมอนี้เองทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น บรรเทาความเครียด ลดการใช้งานอะมิกดาลา เชื่อว่ากำกับดูแลตนเองได้แม้จะรู้ดีว่ามีปลาใหญ่ในสระที่ใหญ่กว่าสระของตนรออยู่ในอนาคตก็ตาม
มนุษย์จะรู้สึกดีต่อตนเองมากขึ้นหากทำได้ดีในหมู่เพื่อนหรือคนใกล้ชิด การเป็นดาวเด่นในสถานศึกษาที่ไม่โด่งดังนัก หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่การแข่งขันไม่เข้มข้นนัก บ่อยครั้งจึงดีต่อพัฒนาการของเด็กมากกว่าการผลักดันตนเองไปสู่สภาพแวดล้อมที่เชื่อว่าเลิศเลอหรือสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงด้วยกระแสสังคมแล้วกลับต้องเคว้งคว้าง เจ็บปวดด้วยการขาดความพึงพอใจในตนเอง
“ตัวอย่าง” ไม่ใช่ “ต้นแบบ”
ดังที่กล่าวแล้วว่ามุมมองอันคับแคบและไม่ยืดหยุ่นที่ว่าหนทางสู่ความสำเร็จนั้นแคบเหลือแสนขัดต่อธรรมชาติของผู้กำกับดูแลตนเองได้ ตลอดจนได้รับการฟูมฟักด้วยกรอบความคิดแตกต่างกัน หนึ่งในกรอบความคิดที่บ่มเพาะมุมมองสุดอันตรายนี้คือกรอบความคิดตายตัว (fixed mindset) ที่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งเป็นบ่อเกิดของสิ่งหนึ่งร่ำไปโดยไม่พิจารณาความเป็นไปได้อื่นๆ ที่อาจงอกเงยจากสถานการณ์เดียวกันนั่นเอง
หนทางหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้ว่าชีวิตนั้นอุดมความเป็นไปได้และไร้แบบแผนคือการเปิดโอกาสให้เด็กรู้จักชีวิตที่หลากหลาย พ่อแม่หรือครูอาจพาเด็กๆ ในความดูแลไปเรียนรู้ชีวิตของคนที่พวกเขาชื่นชมว่าผ่านจุดที่รุ่งเรืองและล้มเหลวใดมาบ้าง หรือมอบหมายให้เด็กศึกษาเรื่องราวในชีวิตของบุคคลนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เด็กเห็น “ตัวอย่าง” ของความผันผวนและไร้แบบแผนในชีวิตที่ย่อมฟันฝ่าได้ด้วยความอดทน มุ่งมั่น และความยืดหยุ่น ไม่ใช่เฝ้าหา “ต้นแบบ” ในการดำเนินชีวิตที่รังแต่จะทำลายความยืดหยุ่นและมุมมองอันกว้างขวางต่อความสำเร็จและความล้มเหลวที่พวกเขาต้องเผชิญในอนาคต
หนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง มอบตัวอย่างน่าสนใจของชีวิตที่ผันผวนน่าทึ่งให้ผู้อ่านด้วยจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของบิล หรือวิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) หนึ่งในผู้เขียนซึ่งปัจจุบันเป็นนักประสาทจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา หญิงสาวผู้เป็นอดีตเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวที่ฝึกฝนโยคะให้ทหารผ่านศึกษาที่มีบาดแผลฉกรรจ์ในจิตใจ หรือเด็กชายที่สำเร็จการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 1.0 แต่ไปได้สวยในโลกแห่งศิลปะ
เริ่มต้นด้วยวิลเลียม สติกซ์รัด ในวัยที่ดนตรีเป็นชีวิตจิตใจของเขา
บิล หรือวิลเลียม สติกซ์รัด
วิลเลียม สติกซ์รัด นักประสาทจิตวิทยาคลินิกชื่อดัง หนึ่งในสองผู้เขียน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง
“ผมจบมัธยมปลายด้วยเกรดเฉลี่ยสะสม 2.8 ผมสนใจการเล่นดนตรีร็อกแอนด์โรลล์มากกว่าการเรียน และผมสอบตกวิชาภาษาอังกฤษกลางภาคเรียนแรกเมื่อเรียนชั้น ม.6 ความสนใจด้านวิชาการของผมเพิ่งผุดขึ้นเมื่ออายุ 19 ปี ผมจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ผมจินตนาการว่าจะเรียนปริญญาเอกและเป็นศาสตราจารย์สติกซ์รัดตอนอายุ 26 แต่ทุกอย่างไม่เป็นดังหวัง”
“ผมเป็นโรควิตกกังวล ขาดความมั่นใจในตนเอง ติดคาเฟอีนมาก แล้วก็เชี่ยวชาญการหลบเลี่ยงการบ้านยิ่งกว่าสิ่งใด … ไม่แปลกเลยที่ผมต้องออกจากมหาวิทยาลัย ผมอายแทบแทรกแผ่นดินหนีและกลัวว่าจะหมดอนาคต จากนั้นผมกลับไปที่บ้านที่ซีแอตเทิลเพื่อไตร่ตรองว่าจะทำอะไรต่อไปดี”
“ผมใช้แรงงาน ตรวจสินค้าในโกดัง นั่นไม่ใช่ช่วงชีวิตที่น่าอภิรมย์นัก ผมมีเวลาว่างมากหลังเลิกงาน และพบว่าผมชอบใช้เวลานั้นกับหลานสาววัยสี่ขวบ … แม้จะไม่อยากยอมรับ ผมก็ชอบอยู่กับเด็กเล็ก สิ่งนี้จุดประกายให้ผมอยากทำงานกับเด็ก ผมกลับไปเล่าเรียนในเส้นทางนักการศึกษา … ปีที่ผมสอนเต็มเวลาผมต้องปวดหัวทุกวันจันทร์เลยละ … จุดนี้ทำให้ผมระลึกได้ว่าหากยังอยากทำงานร่วมกับเด็ก ผมต้องทำในบริบทอื่น ตอนอายุ 32 ปี ผมจบปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาการศึกษา ก่อนจะศึกษาต่อในหลักสูตรหลังปริญญาเอกด้านประสาทจิตวิทยาคลินิก ตลอด 43 ปีมานี้ ผมไม่เคยเสียใจภายหลังเลย”
“ผมตระหนักได้ภายในระยะเวลาหกเดือนหลังออกจากเบิร์กลีย์ว่าการถูกไล่ออกเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นกับผมได้ หลายครั้งขณะที่ทุกอย่างไม่เป็นดังหวัง สิ่งต่างๆ อาจกำลังถูกจัดระเบียบใหม่ในทิศทางที่ดีอย่างที่เราคาดไม่ถึง”
โรบิน
เข้าถึงองค์ความรู้ว่าด้วยการปฏิบัติโยคะสำหรับผู้ผ่านประสบการณ์รุนแรงได้ที่ https://warriorsatease.org/
“โรบินเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางในรัฐแมริแลนด์ สมัยมัธยมต้นเธอเป็นที่หนึ่งในโรงเรียนและเป็นประธานนักเรียน เมื่ออยู่ ม.2 เธอก็ขอข้ามเนื้อหาส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่ง และขยับขึ้นไปเรียนชั้น ม.3 รวมถึงจบการศึกษาได้ภายในเทอมเดียว ทว่าเธอเริ่มออกนอกลู่นอกทางในฤดูร้อนถัดมา เธอตั้งครรภ์ หนีตามพ่อของลูกและใช้ชีวิตเข้าๆ ออกๆ บ้านเอื้อเฟื้อและโรงแรมซอมซ่อ”
“เธอสอบเทียบได้วุฒิระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แยกทางกับสามีวัยรุ่นและแต่งงานใหม่ สามีคนที่สองเป็นนายแพทย์จอมบงการและใช้ความรุนแรงกับเธอ”
“เธอหาหนทางเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคีนสเตตในนิวแฮมป์เชอร์ได้ และจบการศึกษาเมื่ออายุ 27 ปีด้วยเกรดเฉลี่ยสะสม 4.00 เธอมีความสนใจด้านจิตวิญญาณมาตลอด จึงสมัครเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทววิทยาแห่งฮาร์วาร์ด แล้วก็ต้องประหลาดใจเมื่อเธอได้รับการตอบรับเข้าเรียน เธอเรียนได้หนึ่งภาคเรียน จากนั้นจึงตระหนักว่าหากเธอต้องการมีเงินมากพอที่จะแยกทางกับสามี เธอต้องมีรายได้มากกว่าเดิม”
“เธอศึกษาต่อปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจและทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมและพัฒนา เมื่อฐานะทางการเงินมั่นคงแล้ว โรบินแยกทางกับสามี … ชีวิตการทำงานของโรบินหักเลี้ยวอีกครั้งหนึ่ง เธอไม่ชอบงานในบริษัทจึงฝึกฝนโยคะและการเต้นเพื่อสอน … ภายในไม่กี่ปีหลังจากนั้น เธอเริ่มทำงานกับทหารประจำการที่ป่วยด้วยโรคเครียดจากเหตุการณ์รุนแรงและ/หรือมีอาการบาดเจ็บทางสมอง”
“เธอร่วมก่อตั้งองค์กรวอริเออร์สแอตอีส (Warriors at Ease) ซึ่งฝึกอบรมครูโยคะเพื่อสอนโยคะให้ทหารด้วยแนวทางที่เหมาะสำหรับผู้ผ่านประสบการณ์ฝังใจ … ขณะนี้วอริเออร์สแอตอีสให้บริการสมาชิกของกองทัพนับหมื่นคนต่อปี”
ล็อคแลน
“ตั้งแต่สมัยอนุบาล ล็อคแลนชอบซ่อมแซมสิ่งต่างๆ เขาอยากซ่อมอุปกรณ์ที่เสียหายในห้องเรียนมากกว่าพักผ่อน เมื่อเรียนชั้นมัธยมต้น ครูประทับใจในความฉลาดของเขา แต่ไม่ใช่กับความรับผิดชอบต่อการบ้าน เขายังเคยแสดงพฤติกรรมต่อต้านอีกด้วย ในวัย ม.2 เขาเชื่อมต่อสายไฟในระบบกริ่งของโรงเรียนเพื่อที่เขาจะได้กดปุ่มให้กริ่งดังบอกเวลาเลิกเรียนเมื่อใดก็ได้”
“เมื่ออายุ 16 ปี ล็อคแลนเริ่มทำงานที่ปั๊มน้ำมันเชลล์ เขาเริ่มต้นจากการเปลี่ยนยางและเติมน้ำมัน ไม่นานนักก็ได้ขยับไปแยกส่วนและประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ใหม่ในฐานะช่างซ่อม เขาออกจากบ้านและโดดเรียนแทบทุกวิชาในวัยมัธยมปลาย เมื่อจบ ม.5 เกรดเฉลี่ยของเขาอยู่ที่ 0.9 เขาจบมัธยมด้วยผลการเรียนคาบเส้นและเริ่มทำงานเป็นวิศวกรเสียง เมื่ออายุ 21 ปี เขาได้เซ็นสัญญากับศูนย์เคนเนดี ที่ซึ่งเขาได้ออกแบบระบบเสียงให้โรงละครและหอประชุม”
“แล้วเขาก็เปลี่ยนเส้นทางชีวิตสู่อาชีพวิศวกรโทรทัศน์อีกครั้งจนได้ แม้จะมีประสบการณ์บ้างแล้ว เขาก็ทุ่มเทและเรียนรู้ระหว่างทำงาน ด้วยความสนใจ ความสามารถ และความพยายาม เขาได้พบกับผู้คนที่เปิดโอกาสให้เขาได้เจริญงอกงาม เขาเริ่มทำงานในแผนกการจัดการงานวิศวกรรมให้เครือข่ายโทรทัศน์แห่งชาติและยึดอาชีพนี้กว่า 20 ปี เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เขาได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนกวิศวกรรม จริงอยู่ที่ล็อคแลนมีพรสวรรค์ ทว่าเขาก็รู้วิธีทำสิ่งที่จะสร้างรายได้และจดจ่อกับการพัฒนาฝีมืออย่างไม่หยุดยั้งด้วย”
เบน
บัญชีอินสตาแกรมของแบรนด์อาร์มี นอกจากนี้ยังเข้าชมผลงานอื่นๆ ของแบรนด์อาร์มีได้ที่เว็บไซต์ https://www.brandarmy.org/
“เบนมีปัญหาด้านการเรียน และจำได้ว่าวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ยากเป็นพิเศษ เขาขาดแรงจูงในการทำการบ้าน และจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (อย่างหวุดหวิด) ด้วยเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 1.0 ทว่าเขาทำได้ดีในชั้นเรียนศิลปะ และวิชาอักษรวิจิตรที่เคยเรียนตอน ม.1 ก็ประทับใจไม่รู้ลืม พ่อแม่ของเขาสนับสนุนให้เขาไปต่อในเส้นทางนี้และส่งเขาเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมด้านศิลปะ”
“พี่ชายของเขานำร่องเส้นทางนี้ด้วยการศึกษาต่อด้านการถ่ายทำภาพยนตร์หลักสูตรสองปี และไปได้สวยที่ลอสแอนเจลิส แม้เบนจะเข้าเรียนหลักสูตรศิลปะสามปี เขากลับเรียนไม่ครบสามภาคเรียนเต็ม แต่ก็ได้พัฒนาทักษะที่เพียงพอต่อการทำงานออกแบบหลายชิ้น และพบงานที่ดึงดูดใจมากที่สุดซึ่งเน้นการสร้างสรรค์แบรนด์ เมื่อเบนมีอายุเพียง 29 ปี เขาก่อตั้งบริษัทแบรนด์อาร์มี (Brand Army) ช่างลักลั่นเหลือเกินที่แม้เขาไม่มีปริญญาสักใบ ลูกค้ารายใหญ่กลับเป็นมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน และมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์”
“เบนและพี่ชายทำตามความฝันและประสบความสำเร็จจนสร้างรายได้มากกว่าพ่อหรือแม่ของพวกเขา ดังที่พ่อของพวกเขากล่าวว่า ‘สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คือ ถ้าคุณเห็นประกายไฟในตัวเด็ก ให้ราดน้ำมันเสีย’”
ทำอะไรได้เดี๋ยวนี้บ้าง
วิลเลียม สติกซ์รัด และเน็ด จอห์นสัน ยังแนะนำกิจกรรมในครอบครัวที่ประยุกต์ใช้ได้ทันทีเพื่อขยายมุมมองของลูก อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง ดังนี้
- เขียนรายการอาชีพทั้งหมดเท่าที่นึกออกกับลูก ไม่ใช่แค่งานที่ใครคนใดคนหนึ่งสนใจ แต่เป็นงานใดก็ตามที่ มีคนทำ คนเหล่านั้นน่าจะชอบงานของพวกเขาเพราะอะไร พวกเขาน่าจะเก่งด้านใดบ้าง
ลองปลุกจินตนาการและเปิดมุมมองของลูกให้กว้างด้วยอาชีพที่หลายคนไม่รู้จักอย่างนักชิมน้ำ (water sommelier)
ผู้ตรวจสอบรสชาติและคุณภาพน้ำดื่ม
- เล่าเรื่องราวของทางเลือกอื่นในบทนี้ให้ลูกฟัง เล่าเรื่องราวของคนอื่นที่คุณรู้จักให้ลูกฟังด้วย และถามว่าลูกรู้เรื่องราวของใครบ้างหรือเปล่า
- เปิดใจให้ความประหลาดใจหรือผิดหวังในเส้นทางชีวิตของคุณ ของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของคุณ และแบ่งปันวิธีรับมือ
- ถามว่าลูกชอบทำอะไร คิดว่าตัวเองเก่งด้านใด อยากฟังความคิดเห็นของคุณหรือไม่
หรืออ่านเทคนิคการตั้งคำถามว่า “ลูกชอบทำอะไร”
จากหนังสือ Prepared เพื่อหาเส้นทางอนาคตที่ใช่ได้ที่โพสต์นี้
- ถามลูกว่าอยากแบ่งปันอะไรให้โลกใบนี้บ้าง และจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร
- สนับสนุนให้ลูกหาที่ปรึกษา ใครสักคนที่ลูกชื่นชมและชี้แนะลูกได้ เด็กมักจะเปิดใจรับฟังคำแนะนำจากคนนอกมากกว่าจากพ่อแม่ของตัวเอง
หรือศึกษาแนวทางบ่มเพาะความสามารถในการกำกับดูแลตนเองเพิ่มเติมได้ใน
อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง
William Stixrud และ Ned Johnson เขียน
ศิริกมล ตาน้อย แปล
320 หน้า
อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่