สาเหตุ 9 ประการที่นำไปสู่โรคซึมเศร้า

“โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล” คือคำอธิบายโรคซึมเศร้าที่เราได้ยินจนคุ้นหู ปัญหาอยู่ในหัวของคุณเอง เป็นเรื่องของสารเคมีที่ไม่สมดุล เครื่องจักรของคุณเสียและต้องซ่อม และดูเหมือนวิธีรักษาที่ใช้กันในปัจจุบันก็มักจะมุ่งไปที่การให้ยาต้านซึมเศร้าเพื่อปรับระดับสารเคมีในสมอง

แต่โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมีสาเหตุที่ซับซ้อนกว่านั้น โยฮันน์ ฮารี ผู้เขียนหนังสือ ลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา ได้ออกเดินทางเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคซึมเศร้าที่ไม่ใช่เพียงแค่ “โรค” แต่เป็นเรื่องของ “โลก” ที่เราใช้ชีวิตอยู่

นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปว่าโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมีสาเหตุหลักๆ สามประการ ได้แก่ สาเหตุทางชีววิทยา ทางจิตวิทยา และทางสังคม ซึ่งโยฮันน์ได้สกัดแก่นสาระจากการพูดคุยกับนักวิชาการและศึกษาค้นคว้างานวิจัยจำนวนมาก แล้วสรุปรวมเป็นสาเหตุ 9 ประการที่นำไปสู่โรคซึมเศร้า ได้แก่

1. การตัดขาดจากงานที่มีความหมาย
2. การตัดขาดจากผู้อื่น
3. การตัดขาดจากค่านิยมที่มีความหมาย
4. การตัดขาดจากเรื่องสะเทือนใจในวัยเด็ก
5. การตัดขาดจากสถานะและการได้รับเกียรติ
6. การตัดขาดจากธรรมชาติ
7. การตัดขาดจากอนาคตที่สดใสหรือมั่นคง
8. บทบาทของยีน
9. การเปลี่ยนแปลงในสมอง

1. การตัดขาดจากงานที่มีความหมาย

ลองสำรวจความรู้สึกของคุณเองสิ จุดที่คุณรู้สึกแย่ที่สุดในการทำงาน และอาจจะในชีวิตด้วยคืออะไร? หลายครั้งคำตอบก็คือ เวลาที่คุณรู้สึกว่าควบคุมอะไรไม่ได้เลย

ไมเคิล มาร์มอต (Michael Marmot) ได้ศึกษาปัจจัยในการทำงานที่ส่งผลต่อโรคซึมเศร้า โดยมุ่งศึกษากลุ่มข้าราชการชาวอังกฤษ และพบว่า ถ้าคุณทำงานราชการและมีอำนาจควบคุมการทำงานมากกว่า คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีความทุกข์ทางอารมณ์ระดับรุนแรงน้อยกว่าคนที่ได้รับอัตราค่าจ้างเท่ากัน มีสถานะพอๆ กัน อยู่ในที่ทำงานเดียวกัน แต่มีอำนาจควบคุมงานน้อยกว่

ไมเคิลกล่าวว่า “ความเครียดที่เลวร้ายที่สุดของคนเราไม่ใช่การต้องแบกรับภาระมากมายมหาศาล แต่คือการต้องทนกับ “งานที่ ซ้ำซาก น่าเบื่อ บั่นทอนจิตวิญญาณ ซึ่งทำให้พนักงานค่อยๆ ตายไปทีละนิดในแต่ละวันที่มาทำงาน เพราะงานที่ทำไม่ได้เชื่อมโยงกับส่วนเสี้ยวใดๆ ของตัวตนพวกเขาเลย”

การปิดกั้นศักยภาพนั้นเป็นหัวใจของสุขภาพที่ย่ำแย่ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์

2. การตัดขาดจากผู้อื่น

ในงานวิจัยของจอห์น กาโชปโป (John Cacioppo) ผู้วิจัยพากลุ่มคนเหงาเข้าเครื่องสแกนสมอง ผลปรากฏว่าคนเหล่านี้จะเห็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 150 มิลลิวินาที ในขณะที่กลุ่มคนที่คบหาสมาคมกับผู้อื่นต้องใช้เวลามากเป็นสองเท่าหรือ 300 มิลลิวินาที จึงจะสังเกตเห็นอันตรายแบบเดียวกัน

ความเหงาอันยาวนานเป็นสาเหตุให้คุณปิดกั้นตัวเองจากสังคม และระแวงสงสัยปฏิสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ มากขึ้น คุณจะระแวดระวังผิดปกติ เริ่มมีแนวโน้มจะถือสาสิ่งที่คนอื่นไม่ได้เจตนา และเกิดอาการกลัวคนแปลกหน้า คุณเริ่มกลัวสิ่งที่ตัวคุณเองต้องการที่สุด พฤติกรรมเช่นนี้เรียกว่า ผลกระทบแบบก้อนหิมะ (snowball effect) เพราะการตัดขาดจากสังคมจะหมุนวนทับถมจนทำให้คนเรายิ่งตัดขาดจากผู้คนมากกว่าเดิม

ในวิวัฒนาการของมนุษย์ บรรพบุรุษของเราเอาตัวรอดมาได้ก็เพราะอาศัยความร่วมแรงร่วมใจ ในสภาวะธรรมชาติที่ต้องแบ่งปันอาหารและช่วยกันล้มสัตว์ใหญ่ สายสัมพันธ์และความร่วมมือทางสังคมเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องบังคับ ธรรมชาติก็คือความสัมพันธ์

เมื่อคนเราอยู่คนเดียว คุณอ่อนแอและสู้สัตว์ผู้ล่าไม่ได้ ถ้าคุณล้มป่วยจะไม่มีใครคอยพยาบาลดูแล และคนอื่นในเผ่าก็จะอ่อนแอลงด้วยเช่นกันเมื่อไม่มีคุณ ถูกแล้วละที่คุณจะรู้สึกแย่เมื่ออยู่โดดเดี่ยว มันเป็นสัญญาณอันเร่งด่วนที่ร่างกายและสมองส่งออกมาเพื่อให้คุณกลับเข้ากลุ่ม

สัญชาตญาณทุกอย่างของมนุษย์พัฒนาขึ้นไม่ใช่เพื่อชีวิตของตัวเอง แต่เพื่อชีวิตในกลุ่มหรือเผ่าต่างหาก มนุษย์เราจำเป็นต้องอยู่เป็นกลุ่มพอๆ กับที่ผึ้งจำเป็นต้องมีรังนั่นเอง

3. การตัดขาดจากค่านิยมที่มีความหมาย

ทิม แคสเซอร์ (Tim Kasser) ทำงานวิจัยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการให้คุณค่ากับวัตถุและอาการซึมเศร้า ผลปรากฏว่ากลุ่มคนทีคิดว่าความสุขมาจากการสะสมข้าวของและการมีสถานะเหนือกว่าคนอื่นจะมีระดับความซึมเศร้าและความวิตกกังวลสูงกว่ามาก

นอกจากนี้ เมื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างการบรรลุแรงจูงใจภายนอก เช่น การเลื่อนตำแหน่ง มีอพาร์ตเมนต์กว้างขึ้น กับแรงจูงใจภายใน เช่น การทำตัวเป็นเพื่อนที่ดีขึ้น เป็นลูกชายที่อ่อนโยนมากขึ้น หรือเล่นเปียโนได้เก่งขึ้น ผลปรากฏว่าคนที่บรรลุเป้าหมายภายในของตนเองนั้นมีความสุขขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลน้อยลงด้วย

พอคุณกลายเป็นพวกวัตถุนิยมสุดโต่ง คุณจะสงสัยเกี่ยวกับตัวเองตลอดเวลาว่าคนอื่นตัดสินคุณอย่างไร มันบีบให้คุณจดจ่อกับความคิดเห็นที่คนอื่นมีต่อคุณ และถ้อยคำที่เขาชื่นชมคุณ จากนั้นคุณก็จะโดนขังอยู่กับความกังวลว่าคนอื่นจะมองคุณอย่างไร และคนอื่นจะให้รางวัลตอบแทนที่คุณอยากได้หรือเปล่า นั่นเป็นภาระหนักอึ้งที่คุณต้องแบกไว้ แทนที่จะได้ก้าวเดินอย่างอิสระและทำสิ่งที่คุณอยากทำได้ตามใจ หรืออยู่ท่ามกลางผู้คนที่รักคุณในแบบที่คุณเป็น

4. การตัดขาดจากเรื่องสะเทือนใจในวัยเด็ก

ประสบการณ์เลวร้ายทุกประเภทที่คุณเผชิญในวัยเด็ก เช่น การถูกทารุณทางเพศ ถูกทารุณทางอารมณ์ หรือโดนปล่อยปละละเลย ล้วนส่งผลให้คุณมีแนวโน้มที่่จะเป็นโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง

ในวัยเด็ก เมื่อคนเราต้องเผชิญบางอย่างที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง คุณมักจะคิดว่ามันเป็นความผิดของคุณ นั่นเพราะตอนคุณเป็นเด็ก คุณแทบจะไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่คุณอยู่เลย คุณย้ายหนีไปหรือห้ามใครทำร้ายคุณไม่ได้

คุณจึงมีทางเลือกสองทาง คุณอาจยอมรับกับตัวเองว่าคุณไม่มีอำนาจ คุณจะถูกทำร้ายจนเจ็บหนักเมื่อไรก็ไม่รู้ และคุณทำอะไรไม่ได้เลย หรือคุณจะบอกตัวเองว่าเรื่องนี้เป็นความผิดของคุณก็ได้ ซึ่งถ้าทำแบบนั้น คุณจะมีอำนาจเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็ในใจคุณเอง เพราะถ้ามันเป็นความผิดของคุณ คุณย่อมควบคุมมันได้

แต่ความคิดแบบนี้มีราคาที่ต้องจ่าย ถ้าคุณเคยเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบต่อความเจ็บปวด สักวันคุณจะคิดว่าคุณสมควรโดนเช่นนั้น คนที่คิดว่าตัวเองสมควรได้รับบาดแผลตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ย่อมคิดว่าตนไม่สมควรได้รับอะไรมากมาย

เราไม่ควรใช้ชีวิตแบบนี้ นั่นเป็นผลลัพธ์ที่ผิดพลาดจากการโทษตัวเอง แม้มันจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณฝ่าฟันเอาตัวรอดมาได้ในช่วงชีวิตวัยเยาว์ก็ตาม

5. การตัดขาดจากสถานะและการได้รับเกียรติ

โรคซึมเศร้าเชื่อมโยงกับสถานะในสังคมมากอย่างคาดไม่ถึง งานวิจัยพบว่า ยิ่งสังคมเหลื่อมล้ำเท่าไร อาการป่วยทางจิตสารพัดรูปแบบก็ยิ่งแพร่หลายขึ้นเท่านั้น สังคมที่เหลื่อมล้ำสูงเช่นในสหรัฐอเมริกาจะพบระดับความทุกข์ในจิตใจมากกว่า และสังคมที่เท่าเทียมมากอย่างนอร์เวย์จะมีระดับความทุกข์ในจิตใจน้อยกว่า

เมื่อคุณอยู่ในสังคมที่มีช่องว่างของรายได้และสถานะถ่างกว้าง มันจะสร้างความรู้สึกว่า “บางคนดูมีความสำคัญเป็นพิเศษ ขณะที่คนอื่นๆ ไม่สำคัญแม้แต่น้อย”

สภาพเช่นนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะคนในระดับฐานล่างของสังคมเท่านั้น เพราะในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำรุนแรง ทุกคนต่างต้องคำนึงถึงสถานะของตนเองอย่างมาก ฉันจะรักษาตำแหน่งของฉันไว้ได้ไหม ใครกำลังเลื่อยขาเก้าอี้ฉัน ฉันจะร่วงไปไกลไหม เวลาที่ความเหลื่อมล้ำขยายตัว และสถานการณ์บีบบังคับให้คุณต้องถามคำถามเหล่านี้ ความเครียดในชีวิตจะยิ่งเพิ่มพูนขึ้นทุกที

นี่เป็นปัญหาร่วมกันของเราทุกคน และมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากลักษณะสังคมแบบที่เราอาศัยอยู่นี่เอง

6. การตัดขาดจากธรรมชาติ

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าปัญหาสุขภาพจิตทุกรูปแบบในเมืองใหญ่นั้นหนักหนาสาหัสกว่าในชนบทพอสมควร รวมถึงโรคที่รุนแรงอย่างโรคจิตเภทด้วย

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเอสเซกซ์ในประเทศอังกฤษได้จัดทำงานวิจัยที่ศึกษาคำถามนี้ โดยติดตามสุขภาพจิตของผู้คนกว่า 5,000 ครัวเรือนเป็นเวลากว่าสามปี พวกเขาเจาะจงพิจารณาครอบครัวสองกลุ่ม ได้แก่ คนที่เคยอยู่ในชนบทอันเขียวชอุ่มแล้วย้ายเข้าเมือง และคนที่ย้ายออกจากเมืองไปยังชนบทอันเชียวชอุ่ม

ผลการวิจัยออกมาชัดเจน คนที่ย้ายไปอาศัยในเขตพื้นที่สีเขียวมีอาการซึมเศร้าลดลงอย่างมาก ส่วนคนที่ย้ายออกจากพื้นที่สีเขียวมีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง

ในทำนองเดียวกัน เมื่อศึกษาเปรียบเทียบคนที่วิ่งบนลู่วิ่งในยิมกับคนที่วิ่งท่ามกลางธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์พบว่าการวิ่งทั้งสองแบบทำให้อาการซึมเศร้าลดลง แต่คนที่วิ่งท่ามกลางธรรมชาติลดลงได้มากกว่า

เวลาที่เราออกมาใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือความรู้สึกเกรงขาม เวลาที่คุณอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์ธรรมชาติ คุณจะรู้สึกว่าตัวคุณและความกังวลต่างๆ ของคุณนั้นเล็กน้อยเหลือเกิน และโลกเราช่างแสนกว้างใหญ่ไพศาล ความรู้สึกเช่นนี้สามารถลดทอนอัตตาของมนุษย์ให้หดลงเหลือขนาดที่ควบคุมได้ และรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอันยิ่งใหญ่นี้

7. การตัดขาดจากอนาคตที่สดใสหรือมั่นคง

อาการอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลเป็นกันมากคือ โรคนี้มักจะทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนกลายเป็นคน “มองการณ์ใกล้” อย่างสุดโต่งผิดปกติ เมื่ออาการกำเริบ พวกเขาอาจจะคิดไปไกลได้แค่สองสามชั่วโมงข้างหน้าเท่านั้น คิดเพียงว่ามันจะยาวนานแค่ไหนและเจ็บปวดเพียงใด ราวกับว่าอนาคตหายวับไปกับต

งานวิจัยของไมเคิล แชนด์เลอร์ (Michael Chandler) ศึกษาวิจัยเด็กสองกลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งมีอาการซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตาย เขาให้เด็กๆ อ่านหนังสือการ์ตูนที่ดัดแปลงจากนิยาย แล้วถามเด็กๆ ว่า พวกเขาคิดว่าตัวละครเหล่านั้นจะเป็นอย่างไรในอนาคต

ผลปรากฏว่า สิ่งที่แทบจะเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มที่คิดฆ่าตัวตายก็คือ ทุกคนไม่เข้าใจว่าคนคนหนึ่งจะเป็นคนเดิมไปตลอดได้อย่างไร เด็กที่ซึมเศร้ามากๆ สามารถตอบคำถามอื่นๆ ทุกข้อได้ตามปกติ แต่เมื่อมาถึงคำถามจำพวกว่าตัวเขาหรือคนอื่นจะเป็นอย่างไรในอนาคต พวกเขาจะดูสับสนงุนงง ไม่รู้จะตอบอย่างไรดี

การสูญเสียอนาคตผลักดันให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น เพราะความรู้สึกว่ามีอนาคตที่ดีรออยู่นั้นคือสิ่งที่คอยปกป้องคุณ ถ้าวันนี้ชีวิตมันแย่ คุณก็ยังคิดได้ว่า ถึงตอนนี้ฉันจะเจ็บปวด แต่มันจะไม่เจ็บปวดชั่วกาลนาน

ทว่าเมื่อมีคนพรากอนาคตของคุณไป คุณจะรู้สึกเหมือนความเจ็บปวดนั้นไม่มีวันจางหายตลอดกา

8. บทบาทของยีน

โรคซึมเศร้าอยู่ในยีนของเรามากแค่ไหน?

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดยนักพันธุศาสตร์ชื่อ แอฟชาลอม แคสปี (Avshalom Caspi) ได้ทำงานวิจัยโดยติดตามเด็กในนิวซีแลนด์จำนวน 1,000 คนเป็นเวลา 25 ปี ตั้งแต่ยังแบเบาะจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สิ่งหนึ่งที่พวกเขาพยายามหาคำตอบคือ ยีนตัวไหนที่ทำให้คุณมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าง่ายขึ้น

หลังจากเฝ้าศึกษาอยู่หลายปี พวกเขาก็ค้นพบข้อมูลที่น่าตกใจ นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่าการแปรผันของยีนชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า 5-HTT นั้นเชื่อมโยงกับการเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ยีนของคุณนั้นถูกกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณสามารถเปิดหรือปิดสวิตช์ยีนได้ ถ้าคุณมีรูปแบบบางชนิดของยีน 5-HTT ความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคซึมเศร้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณเผชิญเหตุการณ์ตึงเครียดสุดขีดหรือเคยเจอเรื่องสะเทือนใจในวัยเด็กอย่างรุนแรง

หลักฐานในปัจจุบันบ่งชี้ว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลนั้นมีอยู่จริง แต่จำเป็นต้องมีตัวกระตุ้นทางสิ่งแวดล้อมหรือจิตวิทยาด้วย ยีนของคุณจึงจะสามารถเร่งปัจจัยเหล่านั้นได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรมันก็ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ด้วยตัวเอง

9. การเปลี่ยนแปลงในสมอง

ลองจินตนาการว่าคุณต้องเผชิญสาเหตุของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลอย่างน้อยหนึ่งประการจากหลากหลายประการที่เล่ามาก่อนหน้านี้ เมื่อกระบวนการนี้เริ่มขึ้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง

คุณจะรู้สึกถึงความเจ็บปวดอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน สมองของคุณเลยเข้าใจว่านับแต่นี้คุณจำเป็นต้องอยู่รอดในสภาวะดังกล่าว จึงเป็นไปได้ที่มันจะเริ่มกำจัดจุดประสานประสาทที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขและเพลิดเพลิน และทำให้จุดประสานประสาทที่เกี่ยวข้องกับความกลัวและความสิ้นหวังแข็งแรงขึ้น

นั่นคือเหตุผลข้อหนึ่งว่าทำไมคุณมักจะรู้สึกว่าถูกตรึงให้อยู่ในสภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของความเจ็บปวดจะผ่านไปแล้วก็ตา

อย่างไรก็ตาม การที่หมอบอกคนไข้โรคซึมเศร้าว่า “ตอนนี้สมองของคุณพังอยู่นะ เพราะมันไม่เหมือนสมองปกติ” นั้นอาจไม่ตรงตามจริงเสียทีเดียว เพราะเรารู้ว่าสมองเชื่อมต่อใยประสาทใหม่ตลอดเวลา สรีรวิทยาดำเนินควบคู่กับจิตวิทยาเสมอ ทั้งความทุกข์ต่างๆ ที่มีสาเหตุจากโลกภายนอก รวมถึงความเปลี่ยนแปลงภายในสมองนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น “ควบคู่กัน”

 

เบื้องหลังแต่ละสาเหตุเหล่านี้ยังมีรายละเอียดมากมายที่เกี่ยวพันกับโรคซึมเศร้าทั้งในแง่วิถีชีวิต สังคม จิตวิทยา และชีววิทยา รองรับด้วยงานวิจัยหลากหลายที่อ่านสนุกและมีผลลัพธ์ชวนทึ่ง ซึ่งจะเปลี่ยนมุมมองที่คุณมีต่อโรคซึมเศร้าไปจากเดิม

เพราะภาวะซึมเศร้าไม่ใช่แค่เรื่องของ “โรค” ที่ต้องใช้ยารักษา แต่เกี่ยวพันกับ “โลก” และสังคมของเราทุกคน

อ่านเรื่องราวการเดินทางเพื่อหาคำตอบของ “โรค” และ “โลก” ซึมเศร้าอย่างเจาะลึกได้ในหนังสือ


โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวย
(Lost Connections: Uncovering the Real Causes of Depression – and the Unexpected Solutions)
Johann Hari เขียน
ดลพร รุจิรวงศ์ แปล
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดได้ที่นี่