4 นักคิดรุ่นใหม่ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

ชวนคุณไปทำความรู้จัก 4 นักคิดผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเปลี่ยนโลก ได้แก่ แชนนา เทลเลอร์แมน หญิงสาวผู้ยืนยันว่าศิลปะเลี้ยงชีพได้ แซนเดอร์ สโรดส์ นักอนุรักษ์เต่าทะเลรุ่นใหม่ จาเมียน ซิลส์ นักออกแบบรองเท้ารักษ์โลก และ เคิร์ก เฟลป์ส ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จไอโฟนรุ่นแรก กับความสำเร็จที่ได้มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจบวกกับพลังจาก “คนรอบข้าง”

 

“รักศิลปะก็เลี้ยงชีพได้” แต่แค่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ อาจยังไม่พอ

แชนนา เทลเลอร์แมน มีแววศิลปินมาตั้งแต่เด็ก เคนเนธ เทลเลอร์แมน พ่อของแชนนาเล่าให้ฟังว่าหลังกลับจากเดินป่าครั้งหนึ่ง ตอนนั้นแชนนาอายุราวเจ็ดแปดขวบ เธอประดิษฐ์วิวพาโนรามาสามมิติจากกล่องรองเท้า จำลองบรรยากาศตอนเดินอยู่กลางป่าได้อย่างน่าทึ่ง

“เราไม่เคยคาดคิดว่าที่แชนนาสนใจศิลปะจะพาแกมาถึงสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้” ดอนนา แม่ของแชนนากล่าว

เมื่อปี 2006 แชนนาอายุได้ 24 ปี เธอตั้งบริษัทสตาร์ตอัปชื่อ ซิมออปส์สตูดิโอส์ เพื่อพัฒนาเว็บแพลตฟอร์มสำหรับการออกแบบสามมิติชื่อว่า ไวล์ดพ็อกเก็ตส์

ฤดูใบไม้ร่วงปี 2010 บริษัทของเธอพร้อมด้วยทีมนักออกแบบและวิศวกรถูกบริษัทออโตเดสก์ซื้อกิจการ และตอนนี้เธอก็เป็นผู้จัดการฝ่ายสายผลิตภัณฑ์ของที่นี่ ออโตเดสก์เป็นผู้นำระดับโลกด้านการออกแบบสามมิติ วิศวกรรม และซอฟต์แวร์เพื่อความบันเทิง ส่วนไวล์ดพ็อกเก็ตส์ยังเป็นเว็บไซต์ออกแบบเกมโอเพนซอร์สที่เปิดให้ทุกคนเข้าไปใช้เครื่องมือต่างๆ ได้

ฉันไม่เพียงสร้างผลกระทบเชิงบวกให้โลกดิจิทัล แต่รวมถึงโลกจริงด้วย โดยการออกแบบอาคารและโรงงานที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ สร้างขยะน้อยลง และประหยัดต้นทุนได้มหาศาล

“ผลิตภัณฑ์ที่เราทำที่ออโตเดสก์ช่วยให้สถาปนิกและวิศวกรสามารถลงพื้นที่พร้อมอุปกรณ์มือถือ ยืนอยู่ในห้องที่สร้างเสร็จครึ่งหนึ่ง เปิดแบบดิจิทัลและซอฟต์แวร์เสมือนจริงที่เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ทรงพลังในระบบคลาวด์ และเห็นภาพว่าการออกแบบและชิ้นส่วนต่างๆ จะมารวมกันได้อย่างไร” แชนนาเล่า

เมื่อถามเคนเนธและดอนนา พ่อแม่ของแชนนาว่ารู้สึกอย่างไรที่ลูกสาวตัดสินใจเลือกเรียนเอกวิจิตรศิลป์ในมหาวิทยาลัย พวกเขาเล่าว่า

“เราทั้งคู่ไม่มีใครเป็นสายศิลปะเลยครับ ผมยังวาดรูปคนแบบก้างปลาด้วยซ้ำ เราเห็นพรสวรรค์ของลูกๆ ตั้งแต่พวกเขายังเล็ก และพยายามปลุกความสนใจเหล่านั้นขึ้นมา” เคนเนธอธิบาย (ราเชล ลูกสาวอีกคนก็เป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์เช่นกัน)

ช่วงมัธยม พ่อแม่ปรับห้องเด็กเล่นของลูกๆ เป็นสตูดิโอ นั่นคือห้องที่แชนนาขลุกอยู่ครั้งละนานๆ และเป็นช่วงเวลาที่แชนนามีชีวิตชีวาที่สุด

“เราปล่อยให้แชนนาแสดงออกมาว่าอยากไปทางไหน เราเชื่อมั่นว่าลูกจะรู้เองว่าอยากทำอะไรและคงมีความสุขกว่าถ้าได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง เราไม่เคยพูดเลยว่า ลูกทำงานศิลปะเลี้ยงชีพไม่ได้”

“แต่เราก็คิดนะคะ และคอยลุ้นไปด้วย” ดอนนาเสริม “มันเป็นเส้นบางๆ ของการกำหนดขอบเขต แต่ลูกๆ ยังสามารถสำรวจได้ แชนนารู้ว่าต้องหารายได้และรับผิดชอบตัวเองให้ได้ ลูกทำสิ่งที่หลงใหลได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต ต้องทำความสะอาดห้องตัวเอง ทำงานช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนทุกปี … เราไม่เคยบอกว่า ‘โอ้โห ลูกเก่งศิลปะ เยี่ยมไปเลย’ แค่ทำสิ่งที่อยากทำ เท่านั้นไม่พอหรอกค่ะ

นอกจากศิลปะแล้ว ที่สำคัญคือ แชนนามีสำนักต่อสังคมสูงมาก ดอนนา แม่ของเธอเล่าว่า การก่อตั้งบริษัทของลูกสาวไม่เกี่ยวกับธุรกิจเลย

“สิ่งที่แกพัฒนาขึ้นในช่วงแรกๆ สมัยเรียนปริญญาโทหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 คือโครงการฝึกผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นอันน่าทึ่ง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้น แชนนาไม่เคยมองตัวเองเป็นซีอีโอบริษัทสตาร์ตอัป แต่แกมีวิสัยทัศน์และมองไม่เห็นทางอื่นที่จะช่วยให้ทำแบบนี้ได้”

 

เมื่อค้นพบความหลงใหลและเป้าหมายในชีวิตแล้ว บางครั้งเราก็ต้องการกองหนุนบ้างเหมือนกัน

แซนเดอร์ สโรดส์ ในวัย 21 ปีได้รับยกย่องระดับนานาชาติจากผลงานอนุรักษ์เต่าทะเลของเขา เขาเดินสายนำเสนอผลงานตามโรงเรียนประถมศึกษากว่า 100 แห่งทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลก รวมทั้งได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ประเทศอินเดียและญี่ปุ่น

ตอนอายุ 14 ปี แซนเดอร์เขียนสมุดกิจกรรมยาว 20 หน้าสำหรับนักเรียนประถมศึกษา ชื่อว่า “คุยเรื่องเต่า” (Turtle Talks) มีลินดา โซเดอร์ควิสต์ ซึ่งเป็นครูระดับประถมและศิลปินช่วยวาดภาพประกอบให้

ต่อมามีการแปลหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นภาษาสเปนและฝรั่งเศส จากนั้นมีการแปลเพิ่มอีกสามภาษา และปัจจุบันแจกจ่ายไปแล้วรวม 250,000 เล่มใน 20 ประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ปัจจุบันแซนเดอร์ทำงานอยู่ที่สถานีวิจัยและกู้ชีพเต่าทะเล ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อลา บารอนนา ทางใต้สุดของประเทศกัวเตมาลาในมหาสมุทรแปซิฟิก ทีมเล็กๆ ที่แซนเดอร์เพิ่งเข้าร่วมนี้กำลังบุกเบิกแนวทางใหม่ด้วยการทำงานกับพวกลักลอบจับสัตว์น้ำ โดยให้ความรู้พวกเขาเกี่ยวกับความสำคัญของการบริจาคไข่ร้อยละ 15 ของจำนวนที่พวกเขาจับได้ให้แก่สถานีเพื่อช่วยชีวิตเต่าทะเล สถานีแห่งนี้ยังสอนเด็กๆ ด้วยว่าทำไมการอนุรักษ์เต่าทะเลถึงดีต่อมนุษย์ เศรษฐกิจ และระบบนิเวศ

ในงานประชุม TEDx สำหรับวัยรุ่นที่นิวยอร์ก แซนเดอร์บรรยายถึงเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ส่งผลให้เขามาทำงานนี้

“มันเริ่มขึ้นเมื่อปี 2001 ตอนผมอายุ 11 ขวบ ผมอยู่บนชายหาด กำลังจุดพลุโชว์เพื่อนตอนกลางคืน มีป้าแก่ๆ คนหนึ่งโผล่มาโวยวายใส่ผมว่า แสงสว่างพวกนี้ทำให้เต่าทะเลมองไม่เห็นพระจันทร์ มันจะกลับลงไปในน้ำไม่ได้ ตอนนั้นผมอายุ 11 กำลังคึกคะนอง แถมอยู่กับเพื่อนๆ ด้วย เลยตอบว่า ‘อย่ามายุ่ง แก่ก็อยู่ส่วนแก่’

“เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อตื่นขึ้นมาก็เจอคุณป้าคนนั้นอยู่ในบ้าน กำลังคุยกับแม่ผม ผมรู้ตัวว่าซวยแล้ว ผมออกมาหลังจากแกกลับไปแล้ว แม่บอกว่า ‘ลูกต้องไปคุยกับแก คุณป้าถือใบอนุญาตของรัฐในการอนุรักษ์เต่าทะเลบนชายหาดละแวกนี้’ ผมได้แต่คิดว่า ‘เยี่ยมเลย คนสำคัญเสียด้วย งานเข้าแน่นอน’

“ผมไปที่บ้านคุณป้า เตรียมใจว่าต้องโดนป้าวัย 50 ด่ายับเกี่ยวกับสิ่งที่ผมทำ คุณป้าพาผมเข้าไปในบ้าน และเริ่มเล่าเรื่องเต่าทะเล แกไม่ตะคอกผมเลย แค่สอนเกี่ยวกับสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์เหล่านี้

การจุดพลุของผมทำลายสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกนี้มา 65 ล้านปี และเป็นส่วนสำคัญของระบบปะการังซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกมัน ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ทุกอย่างเร็วมาก ผมไม่เคยใส่ใจอะไรมาก่อน แล้วจู่ๆ ผมก็ถามคุณป้าว่า ‘ผมจะช่วยปกป้องเต่าทะเลพวกนี้ได้อย่างไรบ้างครับ’

“แกตอบว่า ‘มีเยาวชนไม่กี่คนหรอกที่ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อปกป้องเต่าทะเล’ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ไม่มีวันไหนเลยที่ผมไม่นึกถึงสัตว์เหล่านี้

นอกจากเหตุการณ์วันนั้น แซนเดอร์ยังได้แรงหนุนสำคัญจาก ลินดา โซเดอร์ควิสต์ ครูสอนชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียน ที่ช่วยพัฒนาความสนใจเรื่องเต่าทะเลให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

“โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้นักเรียนที่สมาธิสั้นหรือมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ เรียนในหลักสูตรของนักเรียนที่มีพรสวรรค์ แต่ฉันกลับมองตรงข้ามนะคะ บางครั้งเด็กพวกนี้เป็นเด็กที่สอนแล้วน่าตื่นเต้นที่สุด พวกเขาเข้าใจว่าฉันอยากให้คิดนอกกรอบ

“เด็กมี ‘พรสวรรค์’ หลายคนอยากรู้แค่ ‘คำตอบที่ถูกต้อง’ แต่หลายๆ คำถามของฉันไม่มีคำตอบถูกหรือผิด นักเรียนอย่างแซนเดอร์จะลุกขึ้นยืน เดินทั่วห้อง และมีความคิดมากมายเต็มไปหมด เขามักจะมีความคิดที่ตัวเองตื่นเต้น เด็กมีพรสวรรค์เป็นแบบนี้

ครูหลายคนคาดหวังให้เด็กนั่งเรียบร้อยอยู่กับที่ ฉันคิดว่าครูต้องเข้าใจว่า แค่เด็กเป็นตัวป่วนไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีอะไรดี ครูต้องหาวิธีดึงศักยภาพออกมาให้ได้”

 

“อย่าเอาความรัก ความหลงใหล มาทำเป็นงาน” ใครหลายคนเตือนคุณด้วยความหวังดี แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่คุณต้องการจะทำจริงๆ อย่าให้คำพูดเหล่านี้ทำลายความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณได้

จาเมียน ซิลส์ เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน เขาโตมากับแม่ที่เป็นครูในเมืองเมมฟิส จาเมียนชอบไมเคิล จอร์แดนมาตั้งแต่แปดขวบ วันหนึ่งจาเมียนเห็นจอร์แดนแข่งบาสเกตบอลทางโทรทัศน์ ตอนเขากระโดดโยนลูกที่ทำให้ทีมชนะ จาเมียนก็ขอให้แม่ซื้อรองเท้าแบบไมเคิล จอร์แดนให้บ้าง แม่มีข้อแม้เพียงเขาต้องเรียนได้เอ

“ผมเริ่มวาดรองเท้าและสะสมรองเท้ารุ่นใหม่ๆ ผมคลั่งไคล้แฟชั่น ซึ่งได้เปลี่ยนจากความหลงใหลกลายเป็นความหมกมุ่น ผมเริ่มทำงานที่ร้านขายรองเท้าตอนอายุ 15 เพื่อจะได้ซื้อรองเท้าก่อนใครและได้ส่วนลดด้วย”

แม่จาเมียนกังวลว่าลูกดูหมกมุ่นเรื่องแฟชั่นมากไป แต่เพราะเขาทำตัวเรียบร้อยและสอบได้คะแนนดี แม่เลยไม่ว่าอะไร จะถามบ้างบางครั้งว่า “ลูกจะซื้อรองเท้าไปอีกสักกี่คู่”

แม้จาเมียนจะไม่เคยรู้ว่ามีใครหาเงินได้จากการออกแบบรองเท้า แต่เขาก็ไม่ทิ้งความหลงใหลนี้

สมัยมหาวิทยาลัย จาเมียนเลือกเรียนเอกวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และไม่มีความสุขเลย เขาจึงตัดสินใจเรียนวิชาเอกคู่สาขาออกแบบกราฟิกและโฆษณา อาจารย์สอนออกแบบถามเขาว่า “เธอแน่ใจจริงๆ เหรอว่าอยากเป็นนักออกแบบรองเท้า” และไม่สนับสนุนให้เขาเรียนวิชาเอกคู่

“ตอนทำโครงงานออกแบบสมัยปีสี่ ผมสร้างบริษัทรองเท้าขึ้นมา มีทั้งสายผลิตภัณฑ์ การออกแบบ โลโก้บริษัท ทุกอย่างเลย นักศึกษาคนอื่นๆ และผู้ปกครองที่มานั่งฟังการนำเสนอวันนั้นต่างก็ลุกขึ้นยืนปรบมือให้ อาจารย์ทุกคนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากให้ผมได้เกรดเอ”

ความฝันของผมคือ เปิดบริษัทรองเท้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และเปิดโรงงานรองเท้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงแห่งแรกของโลก

เราจะพบว่า พวกผู้ใหญ่ ไม่ว่าผู้ปกครอง ครู หรือที่ปรึกษาก็ตามแต่ หลายๆ ครั้งก็ย่ำยีความฝันหรือจินตนาการของเด็กอย่างจาเมียนได้ง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือตลกขบขัน และนั่นคือสิ่งที่อาจารย์สมัยมหาวิทยาลัยทำกับความฝันของเขา พฤติกรรมของผู้ใหญ่เช่นนี้เองที่กดความสงสัยใคร่รู้ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการไว้ไม่ให้เบ่งบาน

ผู้ใหญ่บางคนตอบสนองแบบนี้โดยเชื่อว่ากำลังหยิบยื่นความช่วยเหลือและทำให้บางคนไม่ต้องเสียเวลากับความคิดที่ “ไม่ได้เรื่อง” แม้จะเข้าใจได้ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยของจาเมียนไม่ได้มีเจตนาร้าย พวกเขาแค่ “อยู่ในโลกแห่งความจริง”

 

คุณเรียนอะไรมันไม่สำคัญขนาดนั้นหรอกครับ การรู้ว่าจะหาสิ่งที่คุณสนใจเจอได้อย่างไรต่างหากที่สำคัญกว่า สำคัญกว่ามาก ผมมีแรงกระตุ้นนี้ และหลักคิดก็คือ หาโอกาสน่าสนใจรอบๆ ตัวให้เจอ และใช้โอกาสนั้นพาคุณไปยังจุดหมายต่อไป – เคิร์ก เฟลป์ส ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไอโฟนรุ่นแรก

 

เคิร์กรู้ได้อย่างไรว่า “การรู้ว่าจะหาสิ่งที่คุณสนใจเจอได้อย่างไร” นั้นสำคัญกว่า “สิ่งที่คุณเรียนมา”

น่าทึ่งที่พ่อแม่ของเคิร์กมองว่าการเล่นเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัยเด็ก คอร์ดและลีอา เฟลป์ส พ่อแม่ของเคิร์กกำหนดโครงสร้างและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนให้ลูกเยอะมากเรื่องเวลาอ่านหนังสือ เวลาหน้าจอ ไปจนถึงเวลานอน แต่พวกเขากลับยืนกรานให้ลูกใช้เวลาเล่นและมีอิสระที่จะค้นพบ สำรวจ และทดลองด้วยตัวเอง และถึงพวกเขาจะยืนยันให้ลูกอ่านหนังสือวันละหนึ่งชั่วโมง แต่ลูกๆ ก็ได้เลือกเองว่าจะอ่านหนังสือเล่มไหน ตราบใดที่ไม่ใช่หนังสือเรียน

สมัยยังเด็ก เคิร์กได้รับการส่งเสริมให้สำรวจและค้นพบโลกกว้าง รวมถึงสิ่งที่เขาสนใจที่สุดด้วย “การเล่น” ระหว่างนั้น เขาบ่มเพาะ “ความหลงใหล” วิทยาศาสตร์และการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ของเคิร์กไม่ได้ทึกทักว่าวันหนึ่งเขาจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร และไม่ได้จ้ำจี้จ้ำไชให้ลูกมุ่งไปเป็นอาชีพนั้นอย่างที่ผู้ปกครองของเด็กเก่งหลายคนชอบทำ

พ่อแม่ของเคิร์กสนับสนุนให้เขาสำรวจ เคิร์กพูดถึงพ่อแม่ว่า “ไม่ได้ใส่ใจมากหรอกว่าผมสนใจ ‘อะไร’ สิ่งที่พ่อแม่สนใจมากกว่าคือ ‘กระบวนการ’ ที่ผมใช้หาคำตอบว่าสนใจอะไร”

ตอนเรียนมัธยม เคิร์กค้นพบว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่เขาหลงใหลเสียทีเดียว และหันไปลองวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ไม่ค่อยเหมาะกับเขาอีกเช่นกัน สุดท้าย เขาค้นพบความหลงใหลใหม่ช่วงเรียนปริญญาโท นั่นคือการทำงานร่วมกับคนอื่นเพื่อสร้างของที่จับต้องได้ จากการเรียนชุดวิชาอันเยี่ยมยอดที่เรียกว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์สมาร์ต (Smart Product Design) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

“ตอนปริญญาโท ผมได้เจอชุดวิชาการเรียนออกแบบที่เรียกว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์สมาร์ต ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางการศึกษาของผม การออกแบบผลิตภัณฑ์สมาร์ตหลักๆ แล้วก็คือการสร้างหุ่นยนต์นั่นเอง”

“ชุดวิชาเหล่านี้ตั้งขึ้นเพื่อสอนวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมซอฟต์แวร์ให้วิศวกรเครื่องกลพอที่จะสร้างระบบสมองกลฝังตัวได้ ระบบสมองกลฝังตัวคืออะไรก็ตามที่เป็นคอมพิวเตอร์แต่ไม่ได้วางอยู่บนโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นรถ เครื่องบิน แปรงสีฟันไฟฟ้า ของเหล่านี้ล้วนเป็นคอมพิวเตอร์ทั้งนั้นแต่มีหน้าตาแตกต่างกันไปตามการใช้งาน

“วิชาเหล่านี้พลิกชีวิตผมเลยครับ ไม่ใช่ด้วยเนื้อหา แต่ด้วยกระบวนการเรื่องคน ก่อนหน้านั้น การเรียนวิศวกรรมที่สแตนฟอร์ดของผมค่อนข้างโดดเดี่ยว โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คุณไปเขียนโปรแกรมนี้มา แต่คุณก็ไม่สามารถไปได้ไกลกว่าความเป็นจริงของวิศวกรรมในโลกแห่งความจริงอยู่ดี วิศวกรรมในโลกแห่งความจริงคือการทำงานเป็นทีม คือการคิดว่า ถ้าฉันจะสร้างบางอย่างขึ้นมา จะแก้ปัญหาการเมือง ปัญหาสังคม และปัญหาเทคนิคอย่างไร

“ผมไม่เคยเป็นนักเรียนที่ลึกซึ้งที่สุดหรือแม้แต่ฉลาดที่สุดในห้อง แต่ผมค้นพบว่าจุดที่ผมอยากเพิ่มมูลค่าคือจุดที่สิ่งต่างๆ เหลื่อมซ้อนกันอยู่ ผมอยากหาวิธีเพิ่มมูลค่านั้น ซึ่งในทางวิศวกรรมก็คือการเป็นวิศวกรบูรณาการนั่นเอง คุณต้องนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบกันขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ สำหรับผมวิชานี้สุดยอดเลยครับ เพราะผมได้ทำงานเป็นทีมเพื่อแก้ปัญหาข้ามสาขาวิชา ซึ่งต้องใช้เครื่องมือหลายอย่างประกอบกันเพื่อหาทางออก

“การเรียนวิชาเหล่านี้จึงสำคัญมาก แต่พอมองย้อนกลับไป สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นยิ่งสำคัญกว่าในการพาผมมาอยู่บนเส้นทางอย่างทุกวันนี้ อาจารย์ชวนผมไปเป็นผู้ช่วยสอนวิชานี้ในปีต่อมา ประสบการณ์ครั้งนั้นเองที่เปิดโอกาสให้ผมวางเป้าหมายให้ตัวเอง และทำให้แอปเปิลเจอผม”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก

Tony Wagner เขียน

ดลพร รุจิรวงศ์ แปล

328 หน้า

365 บาท