10 เรื่องเล่าเบื้องหลัง “การ์ตูนที่รัก”: ตาสว่าง อ่านสังคมไทยและโลกผ่านการ์ตูน กับหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ และ bookscape

ปกป้อง จันวิทย์

 

1. “การ์ตูนที่รัก” คือคอลัมน์ระดับตำนานของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ใน มติชนสุดสัปดาห์ เรียกว่า ตำ ‘นาน’ ได้เต็มปาก เพราะคุณหมอเขียนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานแบบไม่เคยหยุดพัก ตั้งแต่ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2542 ในยุคคุณเสถียร จันทิมาธร เป็นบรรณาธิการบริหาร จนถึงวันนี้ก็เกือบ 23 ปีเต็ม หย่อนไปไม่กี่เดือน

ถ้าคุณตามอ่าน “การ์ตูนที่รัก” ตั้งแต่ตอนแรก ก็แปลว่าชีวิตได้ผ่านนายกรัฐมนตรีมาทั้งสิ้น 8 คน การเลือกตั้ง 5 ครั้ง รัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ

และถ้านึกไม่ออกว่ายาวนานแค่ไหน ปี 2542 คือปีที่เริ่มใช้เงินสกุลยูโรเป็นครั้งแรก กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ติมอร์ตะวันออกแยกตัวเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย โปรตุเกสส่งมอบมาเก๊าให้จีน เอ็นจีโอโลกประท้วงโลกาภิวัตน์ครั้งใหญ่ที่ซีแอตเทิล และปูตินเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรก หลังเยลต์ซินลาออกกะทันหัน!

 

2. เราไม่อยากนิยามคอลัมน์ “การ์ตูนที่รัก” ว่าคอลัมน์วิจารณ์การ์ตูน เพราะมันเป็นมากกว่านั้น หมอประเสริฐไม่ได้แค่มาแนะนำการ์ตูนน่าอ่าน สรุปเนื้อหาฉบับย่อ หรือวิจารณ์ลายเส้นและเรื่องเล่าของการ์ตูนแต่ละเรื่อง แต่ “การ์ตูนที่รัก” เป็นเหมือนคอลัมน์ “อ่านการ์ตูน-อ่านผู้คน-อ่านสังคมไทยและโลก” มากกว่า คุณหมอตั้งต้นจากการ์ตูนเป็นทางเข้า แล้วอาศัยพลังเวทมนตร์ของการ์ตูนพาผู้อ่านดำดิ่งไปสู่โลกกว้างใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในการ์ตูน ทั้งโลกการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา การพัฒนา การเลี้ยงดูลูก ศิลปะ สังคมวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา แพทยศาสตร์ และอีกสารพัด

 

3. เรียกได้ว่า “การ์ตูนที่รัก” เป็นผลงานเขียนชุดแรกที่เปิดตัวคุณหมอประเสริฐ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ (สมัยที่ยังไม่มีใครเรียกว่า “ตาหมอ” และยังไม่มีเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่าห้าแสนคน) ให้นักอ่านทั่วประเทศได้รู้จักเป็นครั้งแรก พร้อมคำถามมากมายว่าหมอคนนี้คือใคร? ทำไมถึงชอบอ่านการ์ตูน? ทำไมคุณหมอช่างคิดช่างเขียนขนาดนี้? แต่ที่สำคัญที่สุดคือคำถามที่หมอประเสริฐชวนผู้อ่านตอบ ว่าแต่ละคนมองเห็นความหมายอะไรซ่อนอยู่ในการ์ตูนแต่ละเรื่องบ้าง?

นี่เป็นคอลัมน์ที่ทำให้หลายคน โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยมองว่าการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระของเด็กๆ เปลี่ยนความคิดหันมามองการ์ตูนด้วยแว่นตาใหม่ ในฐานะสื่อสะท้อนสังคมร่วมสมัย และงานศิลปะทรงพลังในการจุดไฟเปลี่ยนแปลงสังคม

 

4. ในช่วงยุคทองของแวดวงนิตยสารและข่าวสาร แต่ละสัปดาห์ นักอ่านจะเฝ้ารอกันว่า คุณหมอประเสริฐจะเลือกหยิบการ์ตูนเรื่องไหนมาชวนอ่านกัน และคุณหมอจะอ่าน ตีความ และเชื่อมโยงการ์ตูนเรื่องนั้นอย่างไร นอกจากเราจะได้ลายแทงการ์ตูนเด็ดให้ไปตามอ่านเล่มจริงกันต่อแล้ว ยังได้เรียนรู้แนวคิดต่างๆ จากหลากหลายศาสตร์ โดยเฉพาะจิตวิทยา เป็นของแถมกลับไปด้วย ไม่นับว่านักอ่านรุ่นเยาว์หลายคนยังได้อาศัยคอลัมน์ “การ์ตูนที่รัก” เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการฝึกทักษะการอ่านจับประเด็น อ่านเชื่อมโยง และอ่านวิพากษ์ไปด้วย

ความสนุกส่วนตัวในฐานะคอการ์ตูนเหมือนกัน อ่านการ์ตูนเล่มเดียวกัน ก็มักเกาะขอบรั้วรอชมว่าคุณหมอจะเล่าเรื่องราวของการ์ตูนแต่ละเรื่องอย่างไร ชอบแอบเทียบว่าถ้าเราเป็นคนเล่าถึงการ์ตูนเรื่องนั้นในพื้นที่จำกัดจะเล่าออกมาอย่างไร แตกต่างจากคุณหมออย่างไร ซึ่งคุณหมอมักจะมีลูกเซอร์ไพรส์มาเขย่ามุมมองและความคิดเราเสมอ

ถึงตรงนี้อยากลองชวนผู้อ่านให้ดูศิลปะการเล่าเรื่องย่อเพื่อปูพื้น (บางทีก็เล่าเรื่องเกือบเต็ม) ของคุณหมอประเสริฐ มันเหมือนงานวรรณกรรมซ้อนอยู่ในวรรณกรรมอีกทีหนึ่ง ทั้งการเลือกไฮไลต์ประเด็นมาเล่าและการเลือกวิธีเล่าของคุณหมอต่างมีความน่าสนใจในตัวของมันเอง มันเป็นส่วนผสมของ “ศาสตร์” แห่งการจัดแต่งความคิดที่ชัด เคลียร์ เป็นระบบ และความแม่นยำในการสอดแทรกแนวคิดในระดับกำลังดี กับ “ศิลป์” แห่งการเล่าเรื่องด้วยลีลาและชั้นเชิงแบบวรรณกรรม ทำให้คนอ่านที่ไม่เห็นภาพการ์ตูนเป็นช่องๆ กลับมองภาพจินตนาการในหัวได้เหมือนกำลังดูหนังหรืออ่านการ์ตูนอยู่ทั้งที่เห็นแต่ตัวอักษร! ยากนะครับการเขียนบทความการ์ตูนเรื่องหนึ่งได้สนุกสู้ได้พอฟัดพอเหวี่ยงกับการอ่านหรือชมการ์ตูนเรื่องนั้นเอง แต่คุณหมอทำได้ และรักษามาตรฐานมาได้เกือบ 25 ปี

 

5. จริงๆ แล้ว คอลัมน์ “การ์ตูนที่รัก” มิใช่คอลัมน์การ์ตูนอันแรกและอันเดียวของคุณหมอประเสริฐ คุณหมอเดบิวต์ในวงการด้วยคอลัมน์ “การ์ตูนกะลูกรัก” ตีพิมพ์ในนิตยสาร ไลฟ์แอนด์แฟมิลี่ ปีที่ 1 ฉบับเดือนธันวาคม 2539 มีคุณสุภาวดี หาญเมธี เป็นบรรณาธิการ

บทความการ์ตูนเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ใน ไลฟ์แอนด์แฟมิลี่ คือ “3 ตาปาฏิหาริย์” ผลงานของปรมาจารย์การ์ตูนญี่ปุ่น เทซึกะ โอซามุ ผู้เขียน สิงห์น้อยเจ้าป่า และ เจ้าหนูปรมาณู ส่วนผลงานชิ้นแรกที่ตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ คือ “บากิ จอมประจัญบาน” ของอิตางากิ เคสุเกะ ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่จบ! เช่นเดียวกับวันพีซ โจโจ้ โคนัน กระทั่ง กายเวอร์ (ยังจำกันได้ไหม!)

 

6. สำนักพิมพ์มติชนเคยรวมเล่มบทความทั้งจาก ไลฟ์แอนด์แฟมิลี่ และ มติชนสุดสัปดาห์ เป็นชุดหนังสือ “การ์ตูนที่รัก” รวม 10 เล่ม ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2556 ได้แก่ การ์ตูนที่รัก, การ์ตูนสุดที่รัก, การ์ตูนเพื่อนรัก, อะนิเมะคลาสสิก, มังงะคลาสสิก, CARTOON อินเตอร์ที่รัก, การ์ตูนแห่งชาติ ชนชั้น ชีวิต, การ์ตูนติดเรต: ศตวรรษที่ 21, การ์ตูน 2 โลก และ 100 ปีการ์ตูนไทย จากสยามคลาสสิกสู่ไทยโมเดิร์น นอกจากนั้น ยังมี ตามหาการ์ตูน ของสำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ. 2546 ซึ่งรวบรวมจากงานเขียนในนิตยสาร สารคดี อีกเล่มหนึ่ง

หนังสือ การ์ตูนที่รัก เล่ม 1 คือผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิตของคุณหมอประเสริฐ ก่อนที่จะมีหนังสือตามมาอีกร่วม 70 เล่มจนถึงปัจจุบัน ไม่นับคำนำและคำนิยมสำหรับหนังสือด้านการเลี้ยงลูกและพัฒนาการเด็ก รวมถึงหนังสือภาพสำหรับเด็ก เพราะนับไม่ถ้วน

ถ้าดูตามไทม์ไลน์จะเห็นว่า “การ์ตูนที่รัก” ไม่ได้รวมเล่มมาร่วม 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ฉบับการ์ตูนไทย พ.ศ. 2556 แต่ตลอด 10 ปีมานี้ หมอประเสริฐไม่เคยหยุดเขียนคอลัมน์ “การ์ตูนที่รัก” เป็นเวลาร่วมทศวรรษ เราเลยมีต้นฉบับ “การ์ตูนที่รัก” อีกกว่า 500 เรื่องที่ยังไม่เคยรวมเล่มมาก่อน

 

การ์ตูนที่รัก ปฐมบทซีรีส์ชุดยาวกว่า 2 ทศวรรษ ภาพจาก se-ed.com

 

7. สำหรับซีรีส์ “การ์ตูนที่รัก” ฉบับพิมพ์ใหม่ล่าสุดของ bookscape เราหมายให้เป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด เราซุ่มทำงานนี้กับคุณหมอมานานกว่าหนึ่งปี หลังจากตกลงร่วมงานกันช่วงปลายปี 2563 คุณหมอก็กลับไปทำการบ้านพักหนึ่ง ก่อนส่งอีเมลฉบับแรกมาหาเรา ลงวันที่ 10 มกราคม 2564 แจ้งว่าได้คัดบทความทั้งหมดมาให้เลือกสรรจำนวน 1,025 ชิ้น (ไม่นับที่คุณหมอเขียนเพิ่มอีกหนึ่งปีเต็มขณะที่เราลงมือทำงาน) โดยรวบรวมการ์ตูนทุกประเภท ทุกสัญชาติ ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่า คอมมิก กราฟิกโนเวล มังงะ อนิเมะ แอนิเมชั่น ทั้งที่เป็นการ์ตูนดังหรือเป็นการ์ตูนที่แทบไม่มีคนไทยรู้จักเลย เพราะคุณหมอเชื่อว่า “โลกมิได้มีเพียงการ์ตูนญี่ปุ่น” และทุกครั้งที่เห็นการ์ตูนจากนักเขียนหลายคนที่บ้านเราไม่ค่อยรู้จัก โดยมากคือนักเขียนการ์ตูนฝั่งตะวันตก “ก็อดเสียดายมิได้ว่าไม่มีแปลไทยให้อ่าน” เลยขอเขียนเล่าเสียเอง

งานรวมเล่ม “การ์ตูนที่รัก” Ultimate Edition ของ bookscape นี้ไม่ใช่การเอางานเก่าเนื้อหาเก่ามาเรียงต่อกัน แต่เราเอาต้นฉบับเก่าและใหม่ทั้งหมดมากกว่าพันชิ้น มาอ่านและคัดสรรเป็นหนังสือสามเล่มอย่างลงตัว ชวนอ่าน และตอบโจทย์ร่วมสมัยที่สุด ว่าด้วยธีมการเลี้ยงดูลูกและพัฒนาการเด็ก เล่มหนึ่ง ธีมสังคมและการเมือง เล่มหนึ่ง และธีมจิตวิทยา อีกเล่มหนึ่ง

คุณหมอประเสริฐและทีม bookscape ลงมือรีไรต์และปรับปรุงต้นฉบับใหม่ทั้งหมด อัพเดตต้นฉบับให้เป็นปัจจุบัน ทันสถานการณ์ร่วมสมัย ตรวจสอบและเพิ่มเติมข้อมูลที่สำคัญ เนื้อหาหลายบทเป็นการรวบรวมผลงานที่คุณหมอเขียนถึงการ์ตูนเรื่องนั้นต่างกรรม ต่างวาระ หรือต่างภาคแยก นำมาผสานเข้าด้วยกันเป็นชิ้นเดียว เช่น ดราก้อนบอล, สตาร์วอร์ส, สตาร์เทรค และโจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ผลงานหลายชิ้นยังไม่เคยรวมเล่มที่ไหนมาก่อน สำหรับการ์ตูนดังหลายเรื่อง คุณหมอกลับไปอ่านใหม่แล้วเขียนใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าวันพีซ (100 เล่ม!) ไททัน หรือเบอร์เซิร์ก

กระบวนการทั้งหมดที่เล่ามานี้ใช้เวลานานกว่าหนึ่งปี! เราถึงกล้าเรียกอย่างเต็มปากว่า นี่คือ “การ์ตูนที่รัก” ฉบับ Ultimate Edition 3 เล่ม 3 รส 3 episode

 

“การ์ตูนที่รัก” ฉบับ Ultimate Edition ว่าด้วยการเลี้ยงลูก สังคมการเมือง และจิตวิทยา

 

การ์ตูนที่รัก EP.1 PARENTING “ขอเพียงปล่อยให้เด็กๆ เติบโต”
จากเวทมนตร์ (magic) สู่เหตุผล (logic) อ่านวิชาเลี้ยงลูกผ่านการ์ตูน
https://bookscape.co/books/intelligences/dear-cartoon-parenting

 

การ์ตูนที่รัก EP.2 POLITICS “โลกใหม่มาแล้ว เราไม่ยอมอีกต่อไป”
ตาสว่าง อ่านสังคม-การเมืองผ่านการ์ตูน
https://bookscape.co/books/intelligences/dear-cartoon-politics

 

การ์ตูนที่รัก EP.3 PSYCHOLOGY “ปมอีดิปัส ดาบยักษ์ และหน้ากากเสือ”
ไขปริศนาจิตใต้สำนึก อ่านจิตวิทยาผ่านการ์ตูน
https://bookscape.co/books/intelligences/dear-cartoon-psychology

 

อยากให้ซื้อกันยกเซ็ตเลยครับ ใครอยากอ่านเป็นเล่มๆ แบบจบในตัวก็ได้ แต่เราหมายมั่นออกแบบมาให้อ่านยกชุดสามเล่มจะได้อรรถรสมากที่สุด เพราะจะได้สัมผัสความคิดและผลงานของหมอประเสริฐที่ครบถ้วนรอบด้าน อีกทั้งนี่คือบทบันทึกสังคมไทยและโลกตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

ถึงไม่ใช่พ่อแม่ก็ลองอ่าน EP.1 จะได้แง่มุมที่ไม่เคยมองมาปรับใช้กับชีวิตส่วนตัวและการงานได้ ไม่ชอบการเมืองก็ลองอ่าน EP.2 ดู จะรู้ว่าการเมืองมันอยู่รอบตัวเรานี่แหละ หนีไม่พ้น ใกล้ตัว และโคตรสนุก ไม่มีความรู้เรื่องจิตวิทยา ยิ่งต้องอ่าน EP.3 เพราะเรื่องจิตใจ โดยเฉพาะจิตใต้สำนึก เป็นปริศนาที่มีเสน่ห์ชวนไขเหลือเกิน และช่วยให้เราเข้าใจคนและเข้าใจโลกในแบบที่เราคาดไม่ถึง

 

8. สำหรับชื่อซีรีส์ เราต้องการคงชื่อ “การ์ตูนที่รัก” ไว้ เพราะมันเป็นตำนานไปแล้ว และมีประวัติศาสตร์ของมันอยู่ แต่ไม่อยากตั้งชื่อตามลำดับเลขเป็นการ์ตูนที่รักเล่ม 11, 12, 13 ต่อไป อยากจะรีบูตแล้วเติมชีวิตสดใหม่ให้กับมัน หายไปหนึ่งทศวรรษทั้งที เลยคิดว่าแต่ละเล่ม แต่ละธีม ควรจะมีชื่อปกของตัวเอง

EP.1 ว่าด้วยการเลี้ยงลูกและพัฒนาการเด็ก คิดชื่อไม่ยาก ธีมในเล่มชัดเจน เราชอบคำในบทความเรื่อง “Mai Mai Miracle” คุณหมอเขียนโปรยรองชื่อบทความไว้ว่า “เด็กๆ โตเองได้” ตอนแรกตั้งใจจะใช้ชื่อนี้เป็นชื่อเล่ม แต่สุดท้ายทีมงานติดใจประโยคจบของบทความที่รู้สึกว่างดงามเหลือเกิน – “ขอเพียงปล่อยให้เด็กๆ เติบโต”

มาถึง EP.2 ว่าด้วยการเมือง การ์ตูนชูโรงของเล่มนี้คือสามการ์ตูนโด่งดังที่สุดในทศวรรษหลัง วันพีซ ดาบพิฆาตอสูร และผ่าพิภพไททัน เรามองหาชื่อเล่มจากบทความวันพีซก่อน หมอประเสริฐเขียนว่าวันพีซสะท้อนความหวังใหม่ของคนรุ่นใหม่

“ศัตรูที่พวกแกกำลังเผชิญอยู่คือยุคสมัยใหม่ต่างหาก” มัลโก้บอกกับคิงและควีน ขุนพลของจอมจักรพรรดิไคโด ในแง่นี้คนรุ่นใหม่คือตัวปัญหาจริงๆ ของเหล่าชนชั้นนำ

คุณหมอประเสริฐทิ้งท้ายบทความวันพีซความยาว 20 หน้า ด้วยประโยคว่า “เด็กที่เกิดปีที่วันพีซเริ่มเขียน วันนี้อายุ 25 ปีแล้ว เป็นเจเนอเรชั่น Z ผู้ปฏิเสธทุกอย่าง คือเจเนอเรชั่นวันพีซ ผู้จะโค่นล้มทรราชแล้วนำโลกไปสู่ยุคใหม่”

เช่นนี้แล้ว ชื่อเล่ม EP.2 คงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากถ้อยความที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทวันพีซ “โลกใหม่มาแล้ว เราไม่ยอมอีกต่อไป” – เอกฉันท์

EP.3 ว่าด้วยจิตวิทยา เป็นเล่มที่ตั้งชื่อยากที่สุด แกนหลักของเล่มนี้คือปมอีดิปัส ซึ่งการ์ตูนที่สะท้อนเรื่องนี้ได้โดดเด่นเป็นที่สุดก็คือ BERSERK คุณหมอตีความเรื่องนี้ไว้อย่างวิจิตรพิสดาร โปรดหาอ่านกัน แต่ตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า

“… เพราะกัสไม่รู้จักตนเองดีพอ เขาจึงพาตนเองกลับมาหา ‘มารดา’ กรีฟีสอีกครั้ง เปิดโอกาสให้ ‘บิดา’ กรีฟีสทำลายเขา บัดนี้เขารื้อฟื้นปมปิตุฆาตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว เขาพาร่างไร้แขนหลบหนีไปจนพบกับริเคลโดที่แยกตัวออกจากกองพันเหยี่ยวไปก่อนหน้าการทำลายล้าง เขาได้แขนใหม่เป็นปืน และได้ดาบที่มีขนาดใหญ่ยักษ์กว่าเล่มเดิม ใหญ่มากเสียจนไม่เหมือนดาบ ใหญ่ยิ่งกว่าร่างกายของเขา บัดนี้เขามิใช่เป็นเพียงอาวุธ แต่เขาเป็น ‘ดาบยักษ์’ หนึ่งเดียวนั้น อันเป็นสัญลักษณ์ขององคชาตบิดา ที่เขาจะถือไปทุกหนแห่งเพื่อฆ่าฟันผู้คนไปทั่วหล้า จนกว่าความโกรธที่มีต่อตัวเองและต่อกรีฟีสจะหมดสิ้น”

 

BERSERK ภาพจาก Dexclub.com

 

อ่าน BERSERK มานาน ไม่เคยตีความว่า ดาบยักษ์ = องคชาต มาก่อน เลยนึกชื่อแรกไว้ว่า “ปมอีดิปัส ดาบยักษ์ และองคชาต” แต่พอปรึกษากับผู้เขียน คุณหมอปราม “ไม่น่าจะดี” (ฮา) เราเลยต้องหาชื่อใหม่ คือหาอะไรมาแทนองคชาตนั่นเอง (ฮา) คุยไปคุยมาก็เลยได้ “ปมอีดิปัส ดาบยักษ์ และหน้ากากเสือ”

หนังสือเล่มนี้มีแกนเป็นปมอีดิปัสก่อนแตกแขนงต่อขยายไปหลากหลายแนวคิดจิตวิทยา ตั้งแต่อาการหวาดระแวงหมู่ทั้งสังคม โรคย้ำคิดย้ำทำขั้นสุด ความเศร้าที่ไม่มีวันสูญหายจนกว่าจะสูญสิ้นความเป็นคน ฯลฯ หนังสือเปิดเล่มด้วย BERSERK และปิดเล่มด้วย “หน้ากากเสือ” การ์ตูนที่คุณหมอประเสริฐเคยบอกว่า “หากให้ตัดใจเลือกการ์ตูนเพียงเรื่องเดียวในความทรงจำวัยเด็ก ย่อมต้องเป็นหน้ากากเสือ!” คุณหมอบอกว่า หน้ากากเสือในชื่อเล่มไม่ได้หมายความเท่ากับหน้ากากเสือที่เป็นชื่อการ์ตูน แต่มันคือหน้ากากเสือที่ผู้คนในสังคมต่างก็สวมใส่กัน (มันคือสามานยนาม ไม่ใช่วิสามานยนาม!)

บันทึกไว้อีกชื่อที่ไม่ได้ใช้เพราะมันยาวและไม่ถึงกับฟาดไปตรงใจกลางแก่นเล่มและมู้ดแอนด์โทนของเล่มนี้เท่าชื่อข้างบน แต่ทีมงานก็ชอบกันมากและเสียดายมากเช่นกัน (หลายคนคิดว่ามีเสน่ห์กว่า และเข้ากับแนวชื่อสองเล่มแรกมากกว่า) ชื่อนี้มาจากตอนจบของบทแบทแมนและโจ๊กเกอร์ ชื่อนั้นคือ “เพียงวันแย่ๆ วันเดียวก็พอแล้วที่เราจะเกลียดกันต่อไป” ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่คุณหมอเสนอคือ “เราเกลียดกันเรื่องอะไรนะ?”

 

9. ปกหนังสือชุด “การ์ตูนที่รัก” ออกแบบโดย นุชชา ประพิณ กราฟิกดีไซเนอร์ประจำ bookscape งานนี้เป็นงานหิน เพราะดีไซน์ต้องตอบหลายโจทย์ 1. ความเป็นการ์ตูน (และต้องหลากหลายด้วยทั้งคอมมิค มังงะ อนิเมะ แอนิเมชั่น) 2. ความเป็นซีรีส์ เรียงกันต้องเป็นชุดเดียวกัน 3. ธีมหลักของแต่ละเล่ม ปกต้องสะท้อนแก่นเนื้อหาที่แตกต่างกันในแต่ละเล่ม 4. ความร่วมสมัยที่ส่งพลังให้ชีวิตใหม่กับงานรวมเล่มชุดนี้ ซึ่งต้องฉีกออกไปจาก 11 เล่มที่เคยทำกันมาแล้ว และต่างจากหนังสือหมอประเสริฐในตลาด หมอประเสริฐและการ์ตูนที่รักเวอร์ชั่น bookscape ต้องเท่ ต้องใหม่สด แต่สปิริตต้องได้

แล้วนุชชาก็ตอบโจทย์ทุกอย่างได้อย่างงดงาม ผ่านฉลุยตั้งแต่ไอเดียแรก (หลังจากซุ่มคิดมาจนหัวแทบระเบิด) เราตั้งใจออกแบบปกให้มีความเป็นช่องการ์ตูน แต่ละเล่มมีโทนสีต่างกัน พาผู้อ่านเคลื่อนผ่านแดดใสยามเช้า (เล่มเด็กและครอบครัว) แดดร้อนแรงแผดเผายามกลางวัน (เล่มการเมืองและสงคราม) และความมืดมิดลี้ลับยามค่ำคืน (เล่มจิตวิทยา) โดยวางดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้ที่ตำแหน่งหลักตรงกันทุกปก นุชชาทำฟอนต์ใหม่เองให้ดูมีความเป็นการ์ตูนร่วมสมัย ใช้สำหรับเขียนชื่อเล่มและชื่อซีรีส์ นอกจากนั้น หน้าปกแต่ละเล่มยังวาดภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการ์ตูนเรื่องเด็ดในแต่ละเล่ม ผู้อ่านค้นหา easter eggs กันได้ครบไหมครับว่า หน้าปกแต่ละเล่มวาดด้วยแรงบันดาลใจอยากเปิดหมวกคารวะการ์ตูนเรื่องไหนกันบ้าง

 

10. ขอเอาบางบทบางตอนในเล่มมาลงเป็นน้ำจิ้มให้อ่านกัน เพื่อแสดงลีลาภาษาและเนื้อหาสไตล์หมอประเสริฐ

 

:: วันพีซ ::

มังงะหลายเรื่องก็ออกจะโม้ แต่พวกเขาก็โม้ซ้ำๆ อย่างไม่ยอมเหน็ดเหนื่อยจนกว่าจะเอาชนะและคว่ำผู้ร้ายได้ทุกครั้ง การ์ตูนญี่ปุ่นไม่เกรงใจเลยที่จะพูดเรื่องเดิมเป็นร้อยเป็นพันครั้งในการ์ตูนนับร้อยนับพันเรื่องมานานหลายทศวรรษ นั่นคือ ความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย ไม่ยอมแพ้ ล้มแล้วลุกเสมอ บาดเจ็บปางตายเลือดท่วมก็ไม่ปล่อย จนกว่าจะชนะศัตรูหรืออธรรม เป็นการส่งสารเรื่องความมุ่งมั่นอย่างมุ่งมั่น จนคนรับสารต้องยอมแพ้

มังกี้ ดี. ลูฟี่ มีความมุ่งมั่น เขาตั้งใจจะเป็นเจ้าแห่งโจรสลัดทั้งปวง จะทำเช่นนั้นได้ เขาต้องเข้าไปในแกรนด์ไลน์เพื่อตามหาและครอบครองวันพีซ สมบัติหนึ่งเดียวในใต้หล้า ตลอดระยะเวลาหลายปี ลูฟี่แสดงออกให้เห็นด้วยการพูดซ้ำ ทำซ้ำ และยืดซ้ำ เขาแหกปาก ตะโกน ใช้อักษรตัวหนาถมดำตัวใหญ่ในการดำเนินชีวิตและต่อสู้เรื่อยมา เขาตามหาเรือ หาผู้ช่วย หาต้นหน หานักดาบ หาพ่อครัว หาหมอประจำเรือ เขาทำไปทีละขั้นตอน เขาไม่รอให้ครบแล้วค่อยไป เขาเป็นพวกไปก่อน หาทีหลัง

ภาษาจิตวิทยาพัฒนาการเรียกว่า construct เขาสร้างหรือค่อยๆ ประกอบร่างอนาคตแบบที่เขาต้องการขึ้นมา จนกว่าจะไปถึงเป้าหมาย นี่คือรากฐานของการศึกษาที่เรียกว่า “การประกอบสร้างความรู้” หรือ constructivism ซึ่งประเทศเราไม่ยอมทำ

ความข้อนี้สำคัญ เด็กที่มี EF (Executive Function) ดีกว่าจะมีความคิดว่าตนเองเป็นผู้กระทำ มิใช่ผู้ถูกกระทำ เรียกว่ากระบวนทัศน์พัฒนา (growth mindset) เราคือบุคคลที่พัฒนาได้ มีพลวัต มิใช่อยู่นิ่ง ไม่ยอมถูกแช่แข็ง แตกต่างจากเด็กที่มีกระบวนทัศน์ตายตัว (fixed mindset) มักคิดว่าเราโง่ เราแย่ เราพัฒนาไม่ได้อีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะพ่อแม่หรือครูบอกมา บางทีก็เป็นรัฐและผู้ปกครองที่บอกมา

วันพีซ ภาพจาก se-ed.com

………

:: ดาบพิฆาตอสูร ::

ความยากจนกลายเป็นเชื้อโรค สามารถติดต่อได้ ทำผู้คนบ้าคลั่งได้

“ข้าจะต้องหาคนที่ฆ่าครอบครัวข้าให้ได้” ทันจิโร่ประกาศ

วรรณกรรมปราบผีบางตระกูลจะเน้นที่เรื่องความเกลียดชังของสองเผ่าพันธุ์ บางตระกูลไปจับเอาเรื่องการรุกรานของคนนอก เรื่องนี้ผีเป็นความยากจน ฆ่าผีคือฆ่าความยากจน แต่ต้องฆ่ามากเท่าไรจึงหมด

ไม่มีใครช่วยทันจิโร่ได้ เขาต้องช่วยเหลือตัวเองคือแก่นของเรื่อง ไม่มีรัฐใดหรือวิชาชีพไหนจะมาช่วยได้ มีแต่ชาวบ้านเท่านั้นที่ต้องช่วยเหลือตัวเอง

นักดาบหนุ่มเตือนต่อไปด้วยว่า เมื่อเนซึโกะ น้องสาวของทันจิโร่ที่กลายเป็นอสูร หิวกระหายจนถึงระดับหนึ่ง แม้เป็นครอบครัวเดียวกัน เธอก็จะกิน เพราะเธอเป็นอสูร คนจนมักกินคนจนด้วยกัน เป็นสาเหตุหนึ่งที่คนจนถูกเหยียดหยามเรื่อยมา เนซึโกะจะได้พิสูจน์ตัวเองอีกหลายครั้งว่า แม้เธอหิวเพียงใดก็ไม่กินคนด้วยกัน ข้างทันจิโร่ก็เลิกร้องขอชีวิตจากใคร แต่ออกเดินทางเพื่อขจัดความยากจนที่ต้นเหตุ

ดาบพิฆาตอสูร ภาพจาก naiin.com

………

:: Batman: The Killing Joke ::

โจ๊กเกอร์เล่าเรื่องคนไข้โรคจิตสองคนที่หนีออกจากโรงพยาบาล ทั้งสองหนีขึ้นดาดฟ้าแต่ไปจนมุมที่ช่องว่างระหว่างตึกสองตึกที่กว้างเกินกว่าจะกระโดดข้ามไปได้

คนไข้คนที่หนึ่งบอกว่าไม่เป็นไร จะฉายไฟฉายเป็นสะพานให้เดินข้ามไป

คนไข้คนที่สองบอกว่า ได้ไงวะ แล้วถ้าแกปิดไฟฉายตอนฉันอยู่กึ่งกลาง ฉันก็ร่วงลงไปน่ะสิ

แล้วแบทแมนกับโจ๊กเกอร์ก็หัวเราะขึ้นพร้อมกัน

เสมือนหนึ่งจะบอกว่าแบทแมนกับโจ๊กเกอร์เป็นคนบ้าสองคนที่ขาดกันไม่ได้ นอกจากขาดกันไม่ได้แล้วยังไม่สามารถวางใจกันได้อีกด้วย

เหมือนที่แบทแมนพูดไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง คนสองคนจะเกลียดกันมากมายขนาดนี้ได้อย่างไร เขาสองคนเกลียดกันมานานมาก จนลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าเริ่มต้นอย่างไร ที่แน่ๆ คือต่างฝ่ายต่างกระทำซ้ำไปซ้ำมาแล้วจำได้เฉพาะเรื่องหลังๆ

แบทแมนปรากฏตัวครั้งแรกเดือนพฤษภาคม ปี 1939 โจ๊กเกอร์ปรากฏตัวครั้งแรกเดือนเมษายน ปี 1940 หลังจากนั้นทั้งสองก็ขับเคี่ยวและก่อกรรมทำเข็ญกันและกันตลอดมา แบทแมนเป็นต้นเหตุทำให้เขากลายเป็นโจ๊กเกอร์ ในขณะที่โจ๊กเกอร์คือคนสังหารโรบินและยิงบาร์บาราจนเป็นอัมพาต เป็นเพียงเรื่องใหญ่ๆ ที่ “เรา” พอจะจำกันได้

มีเหตุการณ์อีกมากมายเหลือเกินที่จำไม่ได้แล้ว แม้กระทั่งเจ้าตัวเองก็จำไม่ได้ ไม่นับว่าบางเรื่องก็จำผิด เหมือนที่โจ๊กเกอร์พูดกับแบทแมน “เพียงวันแย่ๆ วันเดียวก็พอแล้ว”

ความเกลียดชังของคนเราเป็นแบบนี้จริงๆ เราเกลียดกันจนลืมสาเหตุไปแล้ว แต่จำเรื่องเลวร้ายที่สาดใส่กันรายวันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ล่าสุด

เพียงวันแย่ๆ วันเดียวก็พอแล้ว … ที่เราจะเกลียดกันต่อไป

Batman: The Killing Joke ภาพจาก amazon.com

………

 

นักอ่านการ์ตูน นักอ่านโลก นักอ่านสังคมไทย ผู้สนใจจิตวิทยา และพ่อแม่รุ่นใหม่ ห้ามพลาดหนังสือสะสมชุด “การ์ตูนที่รัก” Ultimate Edition! วางแผงครั้งแรกที่บูธ bookscape หมายเลข D20 (ชั้นลอยระหว่างประตูที่ 2 และ 3) ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วันนี้ถึงวันที่ 6 เมษายน ณ สถานีกลางบางซื่อ

และติดตาม talkscape สนทนาสดคุยกันสดๆ ถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง “การ์ตูนที่รัก” คอลัมน์อ่านการ์ตูน-อ่านสังคมไทยและโลก ที่ยืนหยัดยืนยาวกว่า 25 ปี และเจาะลึกหนังสือใหม่สามเล่ม – “ขอเพียงปล่อยให้เด็กๆ เติบโต” (อ่านวิชาเลี้ยงลูกผ่านการ์ตูน) “โลกใหม่มาแล้ว เราไม่ทนอีกต่อไป” (อ่านสังคม-การเมืองผ่านการ์ตูน) และ “ปมอีดิปัส ดาบยักษ์ และหน้ากากเสือ” (อ่านจิตวิทยาผ่านการ์ตูน)

พร้อมสนทนาเรื่อง “พลังของการ์ตูน: from magic to logic” เวทมนตร์จากการ์ตูนสร้างระบบคิดในตัวเด็กและผู้ใหญ่อย่างไร และชวนคุณหมอประเสริฐอ่านสังคม-การเมืองไทยและโลก ผ่านการ์ตูนเรื่องเด็ดๆ ในใจผู้อ่าน

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม เวลาสองทุ่มตรงเป็นต้นไป ทาง bookscape ทุกช่องทาง ทั้ง facebook และ clubhouse

มาอ่านการ์ตูน อ่านสังคมไทยและโลก กันครับ!

 

Talkscape Live: อ่านการ์ตูน (ที่รัก) ฉบับ ultimate กับ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เปิดวงสนทนาว่าด้วยการเดินทางกว่า 25 ปีของคอลัมน์ ‘การ์ตูนที่รัก’ ที่หลายคนรักและคิดถึง

เบื้องหลังการวิเคราะห์เจาะลึกการ์ตูนนับร้อยนับพันเรื่อง ผ่านแว่นตานักจิตวิทยา

ชวนพูดคุยโดย ปกป้อง จันวิทย์

บรรณาธิการหนังสือซีรีส์ ‘การ์ตูนที่รัก’

พฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2565

เวลา 20.00 – 21.30 น.