Brief – เสวนาสาธารณะ “อยู่ได้ อยู่ดี: บ่มเพาะให้ลูกพร้อมเติบโตอย่างมั่นใจ”

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

 

วันหนึ่งในสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน ท่ามกลางฝนเดือนพฤษภาคมที่โปรยปรายนอกหน้าต่าง เด็กเล็กๆ คนหนึ่งยกมือถามว่า “ครูครับ วิชานี้ใช้สมุดปกอ่อนหรือสมุดปกแข็ง”

วันนั้นดูจะเป็นวันแสนธรรมดา คำถามนั้นก็ดูจะเป็นคำถามแสนธรรมดา

วันหนึ่งในสัปดาห์ที่ 32 ของการประกอบอาชีพ ท่ามกลางฝนเดือนพฤษภาคมที่ตกกระหน่ำ ชะดินสีน้ำตาลแดงหลากลงสู่พื้นที่ลาดเชิงเขา ชายคนหนึ่งเขม้นมองเอกสารที่จะบรรเทาปัญหานี้ได้ แล้วถามว่า “พี่ครับ ต้องย่อหน้ากี่นิ้วนะ”

วันนี้เป็นวันอันสาหัส คำถามนี้ก็จะดูเป็นคำถามที่วิกฤตอย่างสาหัส

ความกังวลว่าหวายจะลงหลังตลอดเวลาไม่ใช่ปุ๋ยที่ทำให้ต้นไม้งอกงาม ออกดอกผลได้เต็มศักยภาพของมัน กระนั้นเด็กไทยกลับถูกหล่อหลอมด้วยความกลัวตั้งแต่วินาทีที่รู้ความ กลัวว่าจะหกล้ม กลัวว่าจะถูกตัวอะไรต่อมิอะไรกินตับ กลัวว่าจะผิดพลาด กลัวว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ กลัวว่าจะไม่มีอาชีพที่มั่นคง กลัวว่าจะถูกให้ออกเพราะขวางหูขวางตาหัวหน้าแผนก

เป็นที่มาของงานเสวนา “อยู่ได้ อยู่ดี: บ่มเพาะให้ลูกพร้อมเติบโตอย่างมั่นใจ” โดยสำนักพิมพ์บุ๊คสเคป (Bookscape) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเขย่ากรอบวัฒนธรรม ขยับมุมมองของผู้ใหญ่ ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวทางเลี้ยงดูเพื่อสร้างเด็กที่อยู่เองได้ โตเองเป็น กล้าคิด กล้าตัดสินใจ พร้อมก้าวข้ามอุปสรรคในชีวิต ด้วยความสามารถในการกำกับดูแลตัวเอง (sense of control) หรือความเชื่อมั่นว่าตนเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เผชิญได้

 

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่เห็นความหวังในระบบการศึกษาไทยถึงการสร้างความสามารถดังกล่าวเลย

“สิ่งที่ผมเป็นห่วงที่สุดคือการศึกษา ถ้าไม่รีบปฏิรูปการศึกษาให้ใช้การได้ภายในวันพรุ่งนี้หรือสัปดาห์หน้า ถือว่าเรากำลังเสียเวลาไปทุกวัน หลังจากค่อยๆ เสียมันไปตั้งแต่ปี 2540 คือ 25 ปีมาแล้ว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เรามาพูดถึงความสามารถในการอยู่เองได้ โตเองเป็นกัน ก็เพื่อเตรียมลูกให้พร้อมสำหรับอนาคตที่ทำนายไม่ได้ ซึ่งการศึกษาไทยวันนี้ให้ไม่ได้ และยังไม่มีวี่แววว่าจะให้ได้เลย”

ขณะที่สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันรักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป เสริมว่าเมื่อพิจารณาดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index – HCI) ของธนาคารโลก ซึ่งใช้ประเมินผลิตภาพในอนาคตจากผลการพัฒนาเยาวชนในปัจจุบัน “เด็กไทยมีระดับการพัฒนาเพียงร้อยละ 60 ของศักยภาพสูงสุดที่เป็นไปได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่เรามีก็จะพบว่ากว่าหนึ่งในสามของเด็กไทยขาดการพัฒนา ไม่ว่าจะด้วยพัฒนาการที่ล่าช้าในวัยเด็ก หรือเพราะติดโทรศัพท์มือถือกันทั้งบ้านทั้งเมือง เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็มีไอคิวน้อย ระดับที่ช่วยเหลือตัวเองไปวันๆ กินอยู่หลับนอนได้ แต่ไม่สามารถริเริ่มสร้างสรรค์ พัฒนาตัวเองหรือบ้านเมืองให้ดีกว่านี้ได้ กระทั่งกลุ่มที่เรียนดีก็มีเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมาก เคยคิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาของเด็กโต แต่ความจริงไม่ใช่เลย เดี๋ยวนี้เด็กอายุ 11 ขวบเป็นโรคซึมเศร้าก็มี ไม่ใช่เด็กจากครอบครัวอดมื้อกินมื้ออะไรด้วย”

ภูผา – ภูริภัทร ณ สงขลา ตัวแทนเยาวชนในวงเสวนายืนยันว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ตนกังวลเช่นกัน โดยภูริภัทรย้ำว่าการเป็นโรคซึมเศร้านั้น “ไม่ใช่เทรนด์” อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด เพียงแต่โลกไม่มีความเข้าใจหรือคำนิยามโรคดังกล่าวในยุคก่อน “ถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่เป็นโรคนี้เยอะจัง ผาอาจให้คำตอบทั้งหมดไม่ได้ แต่เท่าที่รับรู้มาคือคนรุ่นนี้มีความเครียดจากการถูกกดดัน ทั้งในแง่การศึกษาและการทำงาน”

“ผาเพิ่งจบการศึกษา กำลังจะเข้าไปเป็นแรงงานรุ่นใหม่ เพื่อนหลายคนมีงานทำแล้ว คนที่ยังไม่มีก็เริ่มรู้สึกกดดันว่าฉันจะทำอะไรต่อไปดี ยิ่งถ้าพ่อแม่หรือป้าข้างบ้านคอยถามว่า เรียนจบแล้วหรือลูก จะเรียนต่อไหม จะไปทำอะไร ลูกป้าได้งานแล้วนะ ฯลฯ ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ ต้องทำให้ดีกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น แต่เรากลับหล่อมหลอมให้เด็กเชื่อว่าสังคมมีบรรทัดฐานเดียว ทุกคนเติบโตขึ้นพร้อมกัน ซึ่งไม่มีใครในโลกนี้ทำอย่างนั้นได้ บางคนกว่าจะประสบความสำเร็จก็ในวัย 40, 50 หรือ 80 ปี มีคนเข้ามาพูดคุยกับผาเยอะ ปัญหาที่ได้ยินบ่อยคือปัญหานี้ ทำอย่างไรถึงจะทำได้ดีขึ้น ทำอย่างไรถึงจะดีเหมือนคนอื่นเสียที”

 

สิ่งที่ผมเป็นห่วงที่สุดคือการศึกษา ถ้าไม่รีบปฏิรูปการศึกษาให้ใช้การได้ภายในวันพรุ่งนี้หรือสัปดาห์หน้า ถือว่าเรากำลังเสียเวลาไปทุกวัน หลังจากค่อยๆ เสียมันไปตั้งแต่ปี 2540 คือ 25 ปีมาแล้ว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เรามาพูดถึงความสามารถในการอยู่เองได้ โตเองเป็นกัน ก็เพื่อเตรียมลูกให้พร้อมสำหรับอนาคตที่ทำนายไม่ได้ ซึ่งการศึกษาไทยวันนี้ให้ไม่ได้ และยังไม่มีวี่แววว่าจะให้ได้เลย

 

ทั้งหมดนี้ขัดกับนิยามความสามารถในการกำกับดูแลตัวเองจากหนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง อย่างยิ่ง โดยวิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) และเน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) สองผู้เขียนซึ่งมีประสบการณ์ช่วยเหลือเด็กๆ ให้เติบโตอย่างมั่นใจกว่าหลายทศวรรษอธิบายว่า ความสามารถในการกำกับดูแลตัวเองเป็นความเชื่อมั่นในตัวเองที่เกิดจากทักษะการจัดการความเครียด ความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญปัญหา การกำกับตัวเองให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวได้ ตลอดจนการเห็นคุณค่าในตนเอง

สำหรับสองผู้เขียน ความสามารถดังกล่าวบ่มเพาะได้ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยมีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษา ให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กๆ จะหันมาหาได้เมื่อเหน็ดเหนื่อยจากการผจญภัยในโลกกว้าง และเป็นผู้ปลอบโยนเมื่อพวกเขาผิดหวัง ด้วยการชี้ให้เห็นว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จและความสุขในโลกไม่ได้มีเพียงเส้นทางเดียว

 

 

ภูริภัทรบอกว่าตนโชคดีที่ครอบครัวเปิดโอกาสให้เลือกเส้นทางเดินเองเสมอ แต่เพื่อนๆ หลายคนไม่ได้มีโชคเช่นนั้น “พ่อแม่จะให้ผาเลือกอะไรๆ เองเสมอโดยแนะแนวทางบ้าง ทำให้ผามีภูมิคุ้มกันคำถามทำนองนี้ เพราะผารู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร แต่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกัน ผาคิดว่าโรงเรียนไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถที่ว่านี้เลย”

ภูริภัทรบอกว่าหลายครั้งระเบียบในโรงเรียนและห้องเรียนลิดรอนความเป็นตัวตนของเด็ก ไม่เปิดโอกาสให้เด็กสำรวจหรือรู้จักตัวเอง ภูริภัทรไว้ผมยาวเพราะต้องการบริจาคผมในภายหลัง แต่เด็กชายในโรงเรียนต่างๆ ที่มีความปรารถนาดีแบบเดียวกันกลับถูกบังคับให้ไว้ผมสั้น “ทั้งที่ผมเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ถ้าเด็กไม่มีแม้แต่สิทธิในร่างกายของตัวเอง เด็กก็จะได้แต่ถามว่าสิ่งที่ฉันเป็นนั้นผิดหรือ แล้วต้องทำอะไรจึงจะถูก”

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ภูริภัทรกล่าวถึง และเป็นตัวอย่างที่คนหลายรุ่นเคยสัมผัสคือการเขียนวันที่หัวกระดาษในวัยเรียน “เวลาเขียนวันที่ต้องใช้นิ้ววัดว่าห่างเท่านี้ๆ ถึงจะเขียนเดือนได้ จะแก้โจทย์คณิตศาสตร์ก็กังวลว่าต้องขีดเส้นใต้ไหม เพราะครูแต่ละคนไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกัน เด็กๆ จึงไม่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วฉันควรทำอะไร เพราะถ้าฉันตัดสินใจเอง ฉันอาจเป็นคนผิดก็ได้”

“ไหนจะของเล่นอีก พ่อแม่บางคนไม่ให้ลูกชายเล่นตุ๊กตาหรือชอบสีชมพูเลย เพราะคิดว่าทั้งสองอย่างเป็นของเด็กผู้หญิง ทั้งที่ของเล่นไม่มีเพศ เราเล่นเพราะอยากรู้ว่ามันเป็นแบบไหน พอได้ยินว่าเล่นไม่ได้ เด็กก็จะได้แต่ถามว่าแล้วสิ่งที่ฉันชอบผิดหรือนี่ สิ่งที่ฉันเลือกผิดหรือนี่ เติบโตขึ้นด้วยความรู้สึกว่าต้องชอบสิ่งที่คนอื่นบอกให้ชอบ”

 

พ่อแม่บางคนไม่ให้ลูกชายเล่นตุ๊กตาหรือชอบสีชมพูเลย เพราะคิดว่าทั้งสองอย่างเป็นของเด็กผู้หญิง ทั้งที่ของเล่นไม่มีเพศ เราเล่นเพราะอยากรู้ว่ามันเป็นแบบไหน พอได้ยินว่าเล่นไม่ได้ เด็กก็จะได้แต่ถามว่าแล้วสิ่งที่ฉันชอบผิดหรือนี่ สิ่งที่ฉันเลือกผิดหรือนี่ เติบโตขึ้นด้วยความรู้สึกว่าต้องชอบสิ่งที่คนอื่นบอกให้ชอบ

 

สุภาวดีซึ่งมีความสนใจในทักษะบริหารจัดการของเด็ก หรือ EF (Executive Function) เป็นทุนเดิมเชื่อว่าความสามารถในการกำกับดูแลตนเองนี้เป็นปลายทางหนึ่งของการบ่มเพาะ EF ในเด็ก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จและความสุขในอนาคตด้วย เพราะ EF นั้นครอบคลุมการเข้าใจบุคลิกภาพ จุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง ตลอดจนความโอบอ้อมอารี ความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับตัว ซึ่งหลอมรวมเป็นความสามารถในการกำกับดูแลตนเองที่สำคัญต่อการเข้าสังคมโดยไม่ล่วงล้ำก้ำเกินผู้อื่น และไม่ให้ผู้อื่นล่วงล้ำตนเอง “การเป็นมนุษย์นั้นเสี่ยงต่อการปะทะกับผู้อื่น เรากำหนดพฤติกรรมของใครไม่ได้ แต่กำหนดพฤติกรรมของตัวเองได้ ความสามารถในการกำกับดูแลตัวเองคือสิ่งนี้ คือการพึ่งพาตนเองได้ ไม่รุกล้ำใคร และไม่ต้องเป็นทาสความอุปถัมภ์ของใคร”

โดย EF ที่เป็นพื้นฐานของความสามารถดังกล่าวนั้นเริ่มฝึกฝนได้ตั้งแต่อายุ 2-3 ปี เมื่อเด็กเริ่มไว้ใจแม่และคุ้นเคยกับโลก พร้อมกับที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่บริเวณแขนขาเริ่มแข็งแรง ยืน กระโดด วิ่ง เตะได้ กล้ามเนื้อลำคอก็แข็งแรงเพียงพอจะสั่นศีรษะปฏิเสธได้ ความรู้สึกว่าควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านี้ได้จะนำไปสู่ความภาคภูมิใจในตัวเอง และค่อยๆ พัฒนาเป็นความรู้สึกว่าตนกำกับดูแลสิ่งต่างๆ ได้

“ปัญหาคือเด็กไทยมักถูกห้าม บางทีเพราะไปโรงเรียน บางทีเพราะพ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ต้องฝากคนอื่นเลี้ยง คนเลี้ยงไม่ได้มีเวลาเฝ้าเด็กตลอดเวลา โรงเรียนอนุบาลบางแห่งก็ไม่มีการจัดการที่ดี เด็กจึงไม่ได้รับการฝึกฝนให้รู้สึกว่าควบคุมกล้ามเนื้อของตัวเองได้ ถ้ากระโดดด้วยแรงเท่านี้ๆ จะไปได้ไกลเท่านี้ๆ นะ เป็นต้น ซึ่งวงจรประสาทในสมองที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการนี้จะถูกใช้เมื่อเด็กๆ ต้องเข้ามหาวิทยาลัย ทะเลาะกับเจ้านาย ทะเลาะกับแฟน หางาน ถูกเจ้านายลวนลาม มันคือความเป็นอิสระในตนเอง (autonomy) หรือความรู้สึกว่าเราเป็นเราและเราเลือกได้” นายแพทย์ประเสริฐอธิบาย

“อายุ 4-7 ขวบ พัฒนาการที่ว่าจะเคลื่อนจากกล้ามเนื้อมัดใหญ่มาถึงกล้ามเนื้อนิ้วมือ เด็กควรรู้ว่าตัวเองใช้นิ้วมือได้ ซึ่งการศึกษาไทยก็ไม่อนุญาตให้เด็กรู้อีก ไม่ให้เล่นดินน้ำมัน ไม่ให้ปั้นนู่นปั้นนี่ แต่ให้เขียน ให้คัดเลขไทยสวยๆ ทั้งหมดนี้ขัดขวางพัฒนาการตามธรรมชาติ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ใช้นิ้วมือได้ไหม แต่อยู่ที่ความรู้สึกว่าตัวเองใช้มันได้ ซึ่งช่วงเวลาพัฒนากล้ามเนื้อส่วนนี้อยู่ที่ระหว่าง 7-8 ขวบเท่านั้นเอง แล้วธรรมชาติก็จะปิดบัญชีการสร้างวงจรประสาทที่เป็น EF ของเด็กคนนั้นๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตัดแต่งมันตั้งแต่ 9 ขวบเป็นต้นไป”

 

 

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ประเสริฐเห็นว่าสถานการณ์ “ความไม่พร้อม” ดังกล่าวอยู่ในระดับที่จวนสายเกินการ เพราะขาดการสนับสนุนจากรัฐอย่างเรื้อรัง ไม่ว่าจะด้วยการส่งเสริมให้พ่อแม่ได้ใช้เวลาที่มีคุณภาพกับลูก โดยเฉพาะระหว่างที่เด็กเรียนรู้การใช้งานกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ซึ่งต้องมีผู้ใหญ่ดูแล หรือการยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัย ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน ดังนั้น “พ่อแม่กล้าหาญได้แล้ว คนชอบคิดว่าผมพูดเล่นเวลาบอกให้พ่อแม่ช่วยลูกทำการบ้าน จะได้เสร็จเร็วๆ แล้วไปเล่นเสียที”

 

พ่อแม่กล้าหาญได้แล้ว คนชอบคิดว่าผมพูดเล่นเวลาบอกให้พ่อแม่ช่วยลูกทำการบ้าน จะได้เสร็จเร็วๆ แล้วไปเล่นเสียที

 

“ก็ท่านไม่ปฏิรูปการศึกษาเสียที เรารอไม่ได้นะ ลูกอายุแปดขวบต้องตัดสินใจในประเด็นที่ซับซ้อนขึ้นแล้ว อย่างทะเลาะกับเพื่อนจะต่อยเพื่อนหรือทำอย่างไรต่อไป จบ ม.6 จะเรียนต่อไหม เรียนต่อแล้วไม่ชอบจะทำอย่างไร ทำงานแล้วไม่ชอบจะออกหรือทำอย่างไร ถูกรังแกแล้วจะสู้ จะเจรจา หรือจะหนี ความสามารถนี้มาจากวงจรประสาทที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่สองขวบ ถ้าเอาเวลาทั้งหมดนี้ไปเรียน ผมว่าไม่น่ารอด”

นอกจากนี้ นายแพทย์ประเสริฐยังย้ำความสำคัญของเวลาคุณภาพในครอบครัวในฐานะวัตถุดิบสำหรับสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือความรู้สึกว่าบ้านและครอบครัวจะสนับสนุนเด็กเสมอเมื่อพลาดพลั้งขณะสำรวจโลกกว้างด้วย

ความรู้สึกปลอดภัยที่ว่าย่อมงอกงามจากความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความเชื่อมั่นว่าจะไม่ถูกตัดสิน ดูแคลน หรือด่าทอเมื่อตัดสินใจผิดพลาด โดยภูผาเสนอวิธีหนึ่งที่ถักทอสายใยดังกล่าวได้ แม้ในครอบครัวที่อาจเคอะเขิน ไม่คุ้นเคยกับการแสดงความรู้สึกอ่อนหวานต่อกันอย่างตรงไปตรงมา

“ถ้าเราไม่สามารถพูดออกมาได้ ลองใช้การเขียนไหมครับ เขียนเป็นจดหมายน้อยวางไว้บนโต๊ะของพ่อแม่หรือของลูก วิธีนี้ครอบครัวของผาใช้ พี่สาวใช้ก่อน แล้วผาก็ใช้ตาม ผาจำได้ว่าจดหมายฉบับแรกเป็นจดหมายขอโทษตอนผาอายุ 5-6 ขวบ ผาเขียนว่าผาทำอะไรไม่ดีบ้าง แล้วสัญญาว่าจะปรับปรุงตัวเอง”

“การเขียนเงียบๆ คนเดียวง่ายกว่าการพูด เพราะไม่มีคู่สนทนาให้เรารู้สึกกดดัน การเขียนสื่อสารกันช่วยลดความเครียดได้ เพราะต้องอาศัยการกลั่นกรองมากกว่า คนอ่านเองก็ต้องคิดขณะอ่าน พร้อมเมื่อไรค่อยเปิดใจพูดคุยกัน แต่ถ้าเขียนก็ไม่กล้า พูดก็ไม่กล้า หาที่ปรึกษาก่อน ไปผ่อนอารมณ์กับคนกลางก่อน แทนที่จะส่งสารตอนมีอารมณ์ ให้สงบสติอารมณ์ก่อนแล้วค่อยพูดจากัน อีกอย่างหนึ่งคือทุกคนต้องลดทิฐิลง ลดความยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดว่าฉันโตแล้ว ฉันดูแลตัวเองได้ หรือการคิดว่าตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อน การลดทิฐิลงจะทำให้เราเชื่อมั่นในกันและกันว่าต่างฝ่ายจะพูดจากันด้วยเหตุผล และพูดคุยกันได้จริง”

 

 

โดยสุภาวดีเห็นว่าอุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดต่อการพัฒนาความสามารถในการกำกับดูแลตัวเอง น่าจะเป็นวัฒนธรรมและค่านิยมนั่นเอง

“เราอยู่ในสังคมที่ไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้มั้ง ไม่เชื่อว่าแต่ละคนจะกำกับดูแลตัวเองได้ เรามักเชื่อว่าคนไทยต้องถูกควบคุม ฟังที่ภูผาพูดถึงการขีดเส้นใต้ ก็ได้แต่คิดว่าสมัยก่อนไม่มีนะ แสดงว่าเดี๋ยวนี้อาการหนักขึ้น การดูแลคนด้วยวิธีนี้เองที่หล่อหลอมสังคมให้เป็นแบบนี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นระบบที่แข็งแกร่งที่สุดในแง่ความคงทนไม่เปลี่ยนแปลง แต่อ่อนแอที่สุดเชิงประสิทธิภาพ สมัยนี้ดีขึ้นบ้างเพราะเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์จัดการตัวเองได้มากขึ้น ถือว่าเป็นเทรนด์ของโลก เทคโนโลยีส่งมาแล้ว ภาคเอกชนส่งมาแล้ว แต่เมื่อค่านิยมพื้นฐานไม่ใช่ มันก็ไปได้ไม่ไกล”

 

การเขียนเงียบๆ คนเดียวง่ายกว่าการพูด เพราะไม่มีคู่สนทนาให้เรารู้สึกกดดัน การเขียนสื่อสารกันช่วยลดความเครียดได้ เพราะต้องอาศัยการกลั่นกรองมากกว่า คนอ่านเองก็ต้องคิดขณะอ่าน พร้อมเมื่อไรค่อยเปิดใจพูดคุยกัน แต่ถ้าเขียนก็ไม่กล้า พูดก็ไม่กล้า หาที่ปรึกษาก่อน ไปผ่อนอารมณ์กับคนกลางก่อน แทนที่จะส่งสารตอนมีอารมณ์ ให้สงบสติอารมณ์ก่อนแล้วค่อยพูดจากัน อีกอย่างหนึ่งคือทุกคนต้องลดทิฐิลง ลดความยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดว่าฉันโตแล้ว ฉันดูแลตัวเองได้ หรือการคิดว่าตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อน การลดทิฐิลงจะทำให้เราเชื่อมั่นในกันและกันว่าต่างฝ่ายจะพูดจากันด้วยเหตุผล และพูดคุยกันได้จริง

 

“พ่อแม่เองก็ต้องถามตัวเองนะว่าโตมาได้อย่างไร โตมาเพราะถูกตี หรือโตมาเพราะลองโน่นลองนี่ กล้าคิดกล้าทำ พ่อแม่ต้องมีสติ ชีวิตไม่ได้มีหนทางเดียว วิธีอยู่รอดและประสบความสำเร็จไม่ได้มีวิธีเดียว”

กระนั้น “สิ่งที่เราจะต้องพูดถึงกันอีกมากๆ คือสถานศึกษา มันเป็นเบ้าหลอมที่ใหญ่ที่สุด เราใช้เวลากับมันตั้งสิบกว่าปี ถ้าไม่ได้ประโยชน์อะไรจะอยู่ทำบ้าอะไรตั้งสิบกว่าปี ซึ่งระบบการศึกษาไทยก็ไม่เรียนรู้ ไม่สนใจว่ามีองค์ความรู้อะไรใหม่เกี่ยวกับสมองของมนุษย์บ้างเลย บางครั้งเพราะมักง่าย บางครั้งเพราะผลประโยชน์ ก็คงอย่างที่หมอพูด คงต้องกลับมาที่พ่อแม่ ต้องกล้าหาญให้มากในสภาวะที่ไม่มีใครช่วยเหลืออะไรได้อย่างนี้ สิ่งที่ต้องถามตัวเองให้มากที่สุดคือ ถ้าเราไม่อยู่แล้วลูกอยู่ได้ไหม ถ้าอยู่ไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร พอตั้งคำถามแบบนี้ เราจะพบว่ามีสถานการณ์ที่เราทำอะไรได้อยู่บ้าง ไม่ใช่ไม่มีเลย”

ในที่สุด คำถามจึงถูกส่งกลับไปหานายแพทย์ประเสริฐผู้คุ้นเคยกับคำถามและความกังวลของพ่อแม่มากหน้าหลายตา ว่าขณะที่วงเสวนากระตุ้นให้พ่อแม่ “กล้าหาญ” ยืนหยัดในหนทางที่เป็นประโยชน์ต่อบุตรหลานนั้น ความกลัวชนิดใดกันที่ฉุดรั้งพ่อแม่ไว้

นายแพทย์ประเสริฐตอบว่า “ความกลัวของพ่อแม่นั้นเข้าใจได้และพบได้ทั่วโลกอย่างที่ว่าไว้ในหนังสือ คือหนึ่ง ลูกจะทำอะไรกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศนี้ เราอาจวิจารณ์ได้ว่าหนังสือเล่มนี้ฝรั่งเขียน ต่อให้เรียนไม่จบก็มีสวัสดิการในประเทศนั้นรองรับ แต่เมื่อหนังสือเล่มนี้เข้ามาในประเทศไทย ผมคิดว่าพ่อแม่หลายคนตั้งข้อสงสัย เพราะการไม่มีกินในประเทศนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก”

“ความกลัวที่สองคือกลัวอันตราย ซึ่งผมต้องวิจารณ์ว่าเป็นห่วงที่ไม่พาตัวเองไปไหน เพราะห่วงไปก็ไม่มีใครปฏิรูปการศึกษาเสียที โรงเรียนก็หมดสภาพลงทุกทีๆ โรงเรียนไม่มีประโยชน์แน่นอนแล้วตอนนี้ การไปโรงเรียนกลายเป็นการเสียเวลา แต่บ้านเรียน (homeschool) กับโรงเรียนทางเลือกก็เป็นทางเลือกที่พ่อแม่เลือกไม่ได้ ดังนั้นเราต้องบริหารเวลาใหม่ สอนให้ลูกบริหารเวลาใหม่ ต้องขโมยเวลาคืนจากการศึกษาที่ไม่ยอมพัฒนา ขโมยเวลาแปดชั่วโมงที่โรงเรียน เวลาเตรียมสอบ เวลาทำการบ้าน ทำรายงาน เวลานั่งฟังบรรยายวิชาที่ไม่ชอบไปทำอย่างอื่นที่ชอบ ไปพัฒนาอิสระในตนเองด้วยการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ไปพัฒนาทักษะการริเริ่มและลงมือทำ (initiating) ด้วยการพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก เพื่อสร้างวงจรสมองส่วนที่จำเป็นต่อตัดสินใจประเด็นยากๆ ในอนาคต”

 

สิ่งที่เราจะต้องพูดถึงกันอีกมากๆ คือสถานศึกษาว่าเป็นอย่างไรบ้าง มันเป็นเบ้าที่ใหญ่ที่สุด เราใช้เวลากับมันตั้งสิบกว่าปี … ซึ่งระบบการศึกษาไทยก็ไม่เรียนรู้ ไม่สนใจว่ามีองค์ความรู้อะไรใหม่เกี่ยวกับสมองของมนุษย์บ้างเลย … ก็คงอย่างที่หมอพูด คงต้องกลับมาที่พ่อแม่ ต้องกล้าหาญให้มากในสภาวะที่ไม่มีใครช่วยเหลืออะไรได้อย่างนี้ สิ่งที่ต้องถามตัวเองให้มากที่สุดคือ ถ้าเราไม่อยู่แล้วลูกอยู่ได้ไหม ถ้าอยู่ไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร พอตั้งคำถามแบบนี้ เราจะพบว่ามีสถานการณ์ที่เราทำอะไรได้อยู่บ้าง ไม่ใช่ไม่มีเลย

 

 

เขาย้ำว่า “ทั้งหมดนี้ต้องทำในวัยเด็ก เพราะทำในวัยรุ่นจะน่ากลัวเกิน โจทย์ของวัยรุ่นซับซ้อนกว่า ยากกว่า ความเสี่ยงของวัยเจ็ดปีคือกระโดดแล้วจะคะมำไหม เอาปากกาเคมีไปขีดเฟอร์นิเจอร์แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ตัดสินใจผิดอย่างมากก็เข่าแตก ตัดสินใจผิดอย่างมากก็ถูกพ่อว่า เป็นโจทย์ที่ง่ายที่สุดแล้ว ลูกริเริ่มสร้างสรรค์ได้โดยไม่มีกฎกติกามารยาทมากเท่าไร”

ยิ่งกว่านั้น การสร้างเสริมความเชื่อมั่นในตนเองอาจเริ่มต้นได้ตั้งแต่อายุเพียงแปดเดือน ด้วยการให้ลูกเลือกอาหารที่ต้องการรับประทานเอง โดยทุกพฤติกรรมของพ่อแม่จะก่อรูปร่างเป็นวงจรในสมองของลูก “หากสอนให้ลูกเชื่อตลอดเวลา เราจะได้เด็กที่มีสมองประเภททำอะไรก็ได้เพื่อให้คนอื่นปลื้ม จากพ่อแม่ปลื้ม ก็เป็นเพื่อนปลื้ม เจ้านายปลื้ม คนรักปลื้ม ถูกทุบตีก็พยายามทำให้เขาปลื้ม เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเองเพื่อตัวเอง มันไปไกลถึงขั้นทำให้คนทั้งโลกปลื้ม คนเดียวที่ไม่ปลื้มคือตัวเอง”

หากสอนให้ลูกเชื่อตลอดเวลา เราจะได้เด็กที่มีสมองประเภททำอะไรก็ได้เพื่อให้คนอื่นปลื้ม จากพ่อแม่ปลื้ม ก็เป็นเพื่อนปลื้ม เจ้านายปลื้ม คนรักปลื้ม ถูกทุบตีก็พยายามทำให้เขาปลื้ม เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเองเพื่อตัวเอง มันไปไกลถึงขั้นทำให้คนทั้งโลกปลื้ม คนเดียวที่ไม่ปลื้มคือตัวเอง

 

อาจถึงเวลาแล้วที่เราควรตั้งคำถามว่าเด็กต้องขีดเส้นใต้สองเส้นด้วยปากกาสีแดงเพราะต้องทำหรือเพราะทำแล้วขัดหูขัดตาครูประจำวิชาน้อยกว่า และเรากำลังสร้างทรัพยากรมนุษย์แบบใดจากคำสั่งนั้น ทรัพยากรมนุษย์ที่ตัดสินใจได้อย่างมีวิจารณญาณ พร้อมรับมือโลกอันผันผวนในศตวรรษที่ 21 หรือทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องรอคำสั่งร่ำไป

หรือจริงๆ อาจไม่ใช่ “อาจถึงเวลาแล้ว” แต่เป็น “ถึงเวลานานแล้ว และเวลานั้นก็ผ่านเลยไปแล้ว” ต่างหาก!

 

 

อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

William Stixrud และ Ned Johnson เขียน

ศิริกมล ตาน้อย แปล

416 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่