เรื่อง : นันท์ชนก คามชิตานนท์
หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์เน้นทักษะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการดูแลและควบคุมตนเอง ทักษะทางสังคม หรือทักษะการสื่อสาร ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เยาวชนเอาตัวรอดและสร้างคุณค่าในตัวเองได้ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เข้ามาแทรกแซงชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของคนเรามากขึ้นทุกที
สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งเจ็ดประการจึงเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่สำคัญในหลักสูตรการศึกษาใหม่ของฟินแลนด์ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมทักษะความเป็นมนุษย์ของเยาวชนแห่งอนาคต
การงานอาชีพคือด่านสำคัญที่รอเยาวชนอยู่ในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อโลกยุคใหม่เอื้อให้หลายคนเป็นผู้ประกอบการเองได้ พวกเขาต้องเรียนรู้ทั้งทักษะและทัศนคติที่เหมาะสมเพื่อจะก้าวสู่โลกการทำงานอย่างพร้อมและมั่นคง
โรงเรียนคือแหล่งเตรียมความพร้อมให้เยาวชนก้าวสู่โลกแห่งการเป็นผู้ใหญ่ และแน่นอนว่าแง่มุมที่จะขาดไปเสียมิได้ก็คือชีวิตการทำงาน อันเป็นด่านสำคัญที่รอเด็กๆ อยู่ในอนาคต
เด็กๆ อาจก้าวไปเป็นลูกจ้างรับเงิน หรืออาจเป็นผู้ประกอบการเองก็ได้ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน สิ่งที่พวกเขาควรได้เรียนรู้จากโรงเรียนคือ ทัศนคติที่ดีต่อการทำงานและชีวิตการทำงาน รวมถึงต้องสมรรถนะสำคัญต่างๆ ที่พวกเขาจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ว่าจะทำงานสาขาวิชาใดหรือในฐานะอะไร
ด่านการทำงานที่รอเด็กๆ อยู่ยังเป็นปราการชั้นเหล็กเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในที่ทำงานด้วย ธรรมชาติของงานกำลังจะเปลี่ยนไป ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์เข้ามารับช่วงงานที่เคยทำโดยมนุษย์ โดยเฉพาะงานรูทีนทั้งหลาย ดูเหมือนว่าเราต้องการมนุษย์ในที่ทำงานน้อยลงทุกที อย่างไรก็ตาม งานส่วนที่เทคโนโลยียังไม่อาจสู้มนุษย์ได้ทั้งในตอนนี้และอนาคตอันใกล้นี้คือ การคิดวิเคราะห์และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะเมื่อการทำงานในอนาคตจะเป็นแบบข้ามสายงานมากขึ้น เราต้องสื่อสารและทำงานร่วมกับคนต่างสาขาวิชา รวมถึงต้องควบคุมและใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ และข้อมูลข่าวสารมากมายด้วย
สาระสำคัญที่ 1 : ความพร้อมสำหรับชีวิตการทำงาน
โลกสมัยใหม่นำพาการเปลี่ยนแปลงถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน คนทำงานควรรู้จักยืดหยุ่นต่อปัญหา ปรับตัว มองเห็นโอกาสใหม่ๆ รวมถึงอยู่กับความรู้สึกไม่แน่นอนเป็นครั้งเป็นคราวได้ โรงเรียนมีหน้าที่หล่อหลอมคุณลักษณะเหล่านี้ให้เด็กๆ เพื่อให้พวกเขาพร้อมก้าวสู่ชีวิตการทำงาน
วิธีคิดแบบผู้ประกอบการ
เมื่อนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในสังคมสมัยใหม่ หลายคนก็มีแนวโน้มจะเป็นนายตัวเองหรือเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มขึ้น เด็กๆ ควรได้ปลูกฝังวิธีคิดแบบผู้ประกอบการเสียตั้งแต่ในวัยเยาว์ ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
- การคิดและลงมือทำแบบผู้ประกอบการ แม้แต่คนทำงานในองค์กรที่มั่นคงก็ควรเรียนรู้คุณลักษณะที่เรียกว่า “ผู้ประกอบการภายใน” ที่คิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในองค์กรของตัวเอง ส่วนผู้ประกอบการทางสังคมก็ต้องรู้จักจัดการปัญหาทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมด้วย
- ความตื่นตัวแบบผู้ประกอบการ ต้องรู้จักมองเห็นศักยภาพและความเป็นได้ที่คนอื่นมองไม่เห็น มองหาข้อมูลและเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ รวมถึงประเมินโอกาสอยู่เสมอด้วย
- ความสนใจแบบผู้ประกอบการ คือเจตนารมณ์ที่จะเริ่มธุรกิจหลังจบการศึกษา
- บุคลิกแบบผู้ประกอบการ คือเปิดรับสิ่งกระตุ้น ชอบเข้าสังคม และขยันหมั่นเพียร
สาระสำคัญที่ 2 : ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในที่ทำงาน
งานในอนาคตจะเกี่ยวโยงกับหลากหลายสาขาวิชากว่าเดิม เราต้องอาศัยสมรรถนะข้ามสายงาน และต้องพบเจอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาต่างๆ หลากหลาย โรงเรียนจึงความส่งเสริมให้นักเรียนได้มีทักษะและประสบการณ์กับกลุ่มคนจากภูมิหลังและสาขาวิชาหลากหลาย ได้ขัดเกลาปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และเข้าใจว่าทักษะทางสังคมสำคัญต่อหน้าที่การงานอย่างไร
การร่วมมือและทำงานเป็นโครงงาน
ในอนาคตงานจะมีลักษณะเป็นโครงงานมากขึ้น คนจะรวมตัวกันทำงานเป็นกลุ่มเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันภายในกรอบเวลาที่กำหนด เราจึงต้องเข้ากับผู้คนได้หลากหลาย รวมถึงเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนในการทำงานขอบเขตใหญ่ขึ้น เด็กๆ ฝึกฝนคุณลักษณะนี้ในโรงเรียนได้โดยทำกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
- แบ่งความรับผิดชอบ
- ตั้งเป้าหมายร่วมกับกลุ่ม
- ร่วมมือกัน
- ประเมินผลความร่วมมือ
- ต่อยอดผลลัพธ์จากโครงงาน
- รับมือกับอารมณ์และปัญหาจากการทำงานร่วมกัน
การสร้างเครือข่าย
ข้อมูล ความรู้ และโอกาสทางอาชีพหรือธุรกิจนั้นเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยเครือข่ายต่างๆ ทั้งในโลกดิจิทัลและโลกความจริง นอกจากนั้น ข้อมูลหรือภูมิปัญญาของคนเรานั้นจะงอกงามและตกผลึกก็เมื่ออยู่ในเครือข่ายผู้คนมากมาย เราไม่อาจฉลาดขึ้นมาได้เพียงลำพัง หากแต่ต้องแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และเผยแพร่ข้อมูลความรู้กันในสังคม เด็กๆ ควรรู้ความสำคัญของเครือข่าย และรู้ว่าจะใช้เครือข่ายอย่างไรให้บรรลุผลของตัวเอง
นักเรียนควรเรียนรู้ทักษะทางสังคมและอารมรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเครือข่าย ดังนี้
- การแนะนำตัวเอง
- การพบปะผู้คนใหม่ๆ
- การแสดงความสนใจผู้อื่น
- การนำเสนอความสนใจและความสามารถของตนอย่างเปิดเผยและเข้าใจง่าย
- การฟังอย่างมีคุณภาพ
สาระสำคัญที่ 3 : ชีวิตการทำงานในทางปฏิบัติ
หากโรงเรียนสามารถร่วมมือกับองค์กรหรือผู้อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียงได้ พวกเขาอาจสร้างโอกาสให้นักเรียนได้ลองทำงานร่วมกับเครือข่ายในละแวกโรงเรียน จะเป็นประสบการณ์เรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการที่ดีมาก การร่วมมือนี้อาจเป็นการทัศนศึกษา หรือการสังเกตการณ์ในที่ทำงาน เป็นต้น
ทักษะชีวิตการทำงานและทักษะผู้ประกอบการสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างอนาคตที่มั่นคงให้แก่เด็กๆ ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำยังครอบงำไปทั่วทุกมุมเมือง โรงเรียนมาหน้าที่โอบอุ้มช่วยเหลือนักเรียนให้มีโอกาสได้ทำงานที่มีคุณค่าในอนาคต สุดท้ายแล้วทั้งปัญหาความยากจนและสุขภาวะอันเป็นปัญหาระดับชาติ ก็คือผลพวงส่วนหนึ่งจากการที่ประชาชนไม่มีงานทำนั่นเอง