Why We Post: ส่องวัฒนธรรมโซเชียลมีเดีย (ฉบับย่อ)

 

โครงการวิจัย “How the World Changed Social Media” นำโดย เดวิด มิลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่ง University College London และคณะ ที่เป็นต้นทางของหนังสือ Why We Post: ส่องวัฒนธรรมโซเชียลมีเดียผ่านมานุษยวิทยาดิจิทัล ไม่ได้เน้นไปที่การศึกษาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่เป็นการศึกษาสิ่งที่คนโพสต์และสื่อสารกันผ่านแพลตฟอร์มเหล่านั้น รวมถึงศึกษาว่าทำไมเราจึงโพสต์ และผลพวงของการโพสต์เป็นอย่างไร

แน่นอนว่าทีมผู้เขียนไม่สามารถศึกษาโลก “ทั้งใบ” แต่ก็พยายามเลือกศึกษาสถานที่ต่างๆ ให้ได้มากพอ เพื่อจะบอกได้ว่าโลกของเราแตกต่างหลากหลายหรือคล้ายคลึงกันในด้านใดบ้าง

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้อ้างอิงผลการวิจัยของนักมานุษยวิทยา 9 คน ในพื้นที่ศึกษา 9 แห่ง ได้แก่ บราซิล ชิลี จีนเขตชนบท จีนเขตอุตสาหกรรม อินเดีย อิตาลี ตรินิแดด ตุรกี และอังกฤษ แต่ละคนใช้เวลา 15 เดือนสำรวจการใช้โซเชียลมีเดียและผลพวงที่ตามมาในพื้นที่หนึ่งๆ หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเด่นตรงที่เนื้อหาแทบทั้งหมดเป็นการเปรียบเทียบสิ่งที่พบในพื้นที่แต่ละแห่ง

หัวข้อศึกษานี้จึงกลายเป็นการบอกเล่าวิธีที่โลกเปลี่ยนโซเชียลมีเดีย พอๆ กับวิธีที่โซเชียลมีเดียเปลี่ยนโลก ประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเปลี่ยนใครและเปลี่ยนอย่างไร แต่ควรเป็นการตระหนักว่าเราศึกษาวัฒนธรรมซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามการปฏิสัมพันธ์สองทางระหว่างผู้คนกับโลกที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่

 

คำถามหลักในเล่ม

โจทย์สำคัญที่สุดของโครงการนี้คือ โซเชียลมีเดียในบริบทของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล

ทีมศึกษาต้องการสำรวจบทบาทที่สำคัญของโซเชียลมีเดียในบริบทที่หลากหลาย เช่น การสื่อสารด้วยภาพที่ทวีความสำคัญขึ้น สวนทางกับการสื่อสารด้วยตัวอักษร ผลกระทบที่โซเชียลมีเดียมีต่อการศึกษา และความเท่าเทียมบนโลกออนไลน์ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำบนโลกออฟไลน์หรือไม่

ข้อสงสัยเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่ผู้คนอยากหาคำตอบ

  • การที่คนใช้โซเชียลมีเดียเพื่อนำเสนอตัวเองนำไปสู่คำถามว่า ตัวตนในโลกออนไลน์เหมือนหรือต่างจากตัวตนในโลกออฟไลน์อย่างไร
  • จำนวนเพื่อนหรือผู้ติดตามที่ดูเหมาะกับแต่ละแพลตฟอร์ม ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนความคิดที่คนเรามีต่อคนอื่นอย่างไร และการสร้างเครือข่ายแบบนี้ถือเป็นชุมชนแบบหนึ่งได้หรือไม่
  • โซเชียลมีเดียส่งผลต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างไร ช่วงวัยใดที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่จะเริ่มใช้โซเชียลมีเดีย
  • นอกจากเด็กๆ แล้ว ผู้ปกครองและครูจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียได้อย่างไร
  • ผู้โซเชียลมีเดียกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลของบริษัทโซเชียลมีเดียมากน้อยแค่ไหน และโซเชียลมีเดียทำลายความเป็นส่วนตัวเสมอไปหรือไม่
  • โซเชียลมีเดียส่งผลอย่างไรต่อสวัสดิภาพของผู้คน ตัวอย่างเช่น มันทำให้เราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์มากขึ้นกันแน่

 

โซเชียลมีเดียคืออะไร

ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียคือที่ที่เราใช้เข้าสังคม ไม่ได้เป็นแค่ช่องทางการสื่อสาร เราจึงไม่ควรเน้นศึกษาโซเชียลมีเดียในฐานะแพลตฟอร์มที่คนใช้โพสต์ แต่ควรมุ่งศึกษาเนื้อหาที่คนโพสต์ในแพลตฟอร์มเหล่านี้

เนื้อหาที่คนโพสต์จะต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ เป็นเหตุผลให้ทีมผู้เขียนใช้วิธีศึกษาเชิงเปรียบเทียบ และไม่ควรเข้าใจว่าสิ่งที่บรรยายถึงโซเชียลมีเดียในสถานที่หนึ่งเป็นคำอธิบายที่ใช้กับโซเชียลมีเดียได้ทั่วไปในแบบเหมารวม

ก่อนมีโซเชียลมีเดีย สื่อมักแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ สื่อสำหรับสนทนาส่วนตัว และสื่อกระจายเสียงสาธารณะ

ผู้เขียนเสนอทฤษฎี “สภาวะความเป็นสังคมที่ปรับระดับได้” (scalable sociality) เพื่อแสดงให้เห็นวิธีที่โซเชียลมีเดียเข้ายึดพื้นที่ของสภาวะความเป็นสังคมแบบกลุ่ม ซึ่งอยู่ระหว่างความเป็นส่วนตัวกับสาธารณะ โซเชียลมีเดียได้สร้างและกำหนดระดับสังคมขึ้นเพื่อการนี้ ได้แก่ ขนาดของกลุ่มและระดับความเป็นส่วนตัว

มาตรวัดระดับที่สำคัญ 2 ด้าน คือ หนึ่ง มาตรวัดระดับที่เริ่มจากเป็นส่วนตัวที่สุดไปถึงเป็นสาธารณะที่สุด และ สอง มาตรวัดระดับที่เริ่มจากคนกลุ่มเล็กที่สุดไปถึงคนกลุ่มใหญ่ที่สุด ที่ปลายด้านหนึ่งของทั้งสองมาตรวัด เรายังคงพบการสนทนาส่วนตัวแบบเป็นคู่ ส่วนที่อีกด้าน เราก็ยังพบการกระจายเสียงสาธารณะเต็มรูปแบบอยู่เช่นเดิม

 

วิธีที่ดีที่สุดในการนิยามสิ่งที่นิยมเรียกกันว่าโซเชียลมีเดีย โดยที่ยังครอบคลุมสื่อยุคก่อนหน้า ทำได้โดยระบุว่าสถานการณ์ใหม่นี้คือ “สภาวะความเป็นสังคมที่ปรับระดับได้” มากขึ้นเรื่อยๆ

ผลวิจัยในเด็กนักเรียน 2,496 คนจากพื้นที่ศึกษาหมู่บ้านในอังกฤษ พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ใช้โซเชียลมีเดียราวห้าหรือหกแบบมาตั้งแต่อายุยังน้อย

แนวทางการศึกษาที่เรียกว่า “สารพัดสื่อ” (polymedia) ทำให้ตระหนักว่า เราไม่สามารถทำความเข้าใจแพลตฟอร์มใดๆ ได้อย่างเหมาะสมเลย หากพิจารณาแพลตฟอร์มนั้นโดยแยกขาดจากแพลตฟอร์มอื่น เพราะความหมายและการใช้งานแต่ละแพลตฟอร์มล้วนสัมพันธ์กับแพลตฟอร์มอื่น เมื่อใช้สารพัดสื่อ ผู้คนก็สามารถแยกสภาวะความเป็นสังคมรูปแบบต่างๆ ได้ตามความหลากหลายของโซเชียลมีเดียที่ใช้

Timeline แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียฉบับย่อ

ปีที่ก่อตั้ง            โซเชียลมีเดีย

ปี 1999                   Cyworld / QQ

ปี 2003                   LinkedIn / MySpace

ปี 2004                   Facebook

ปี 2006                   Twitter

ปี 2009                   WhatsApp

ปี 2010                   Tinder / Instagram

ปี 2011                   Snapchat / WeChat

 

โลกออนไลน์ vs โลกออฟไลน์

เมื่อแรกเริ่มที่มีการศึกษาเรื่องอินเทอร์เน็ต คนมักพูดถึงโลกสองใบ คือโลกสมมติและโลกความจริง แต่ตอนนี้มีหลักฐานชัดเจนแล้วว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างโลกสองใบนี้ โลกออนไลน์ก็เป็นจริงพอๆ กับโลกออฟไลน์ โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากเสียจนการแยกสองโลกออกจากกันเป็นเรื่องไม่เข้าท่า คล้ายกับที่ทุกวันนี้ไม่มีใครมองว่าการสนทนาทางโทรศัพท์เกิดขึ้นบนโลกที่แยกขาดจาก “ชีวิตจริง” และเราก็เห็นชัดมากขึ้นว่างานวิจัยเรื่องโซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นแค่เรื่องของสื่อหรือการสื่อสารอีกต่อไป

ในหนังสือพบหลักฐานมากมายที่ชี้ว่า เราควรมองโซเชียลมีเดียในฐานะพื้นที่ที่พวกเราหลายคนใช้เวลาบางส่วนของชีวิตในนั้น ดังนั้นการศึกษาโซเชียลมีเดียจึงเป็นเรื่องทางสังคมพอๆ กับที่เป็นเรื่องของการสื่อสาร หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เน้นเรื่องสื่อหรือสภาวะความเป็นสังคมที่ปรับระดับได้เท่านั้น แต่ยังพูดถึงโซเชียลมีเดียในฐานะสถานที่อีกแห่งที่ผู้คนเข้าไปใช้ชีวิต เคียงคู่ไปกับชีวิตในที่ทำงาน ในบ้าน และในชุมชน

 

10 ประเด็นหลักผ่านมุมมองมานุษยวิทยาดิจิทัล

  1. การศึกษาและคนหนุ่มสาว
  2. การงานและการค้า
  3. ความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์และออฟไลน์
  4. เพศสภาพ
  5. ความเหลื่อมล้ำ
  6. การเมือง
  7. ภาพ
  8. ปัจเจกนิยม
  9. โซเชียลมีเดียทำให้คนมีความสุขขึ้นไหม
  10. อนาคต

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้คัดบางประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอ อาจไม่ครบทั้ง 10 หัวข้อ

 

ทัศนคติต่อโซเชียลมีเดีย

นอกจากการศึกษาให้รู้ว่าคนเราใช้โซเชียลมีเดียกันอย่างไร ทีมงานยังสำรวจด้วยว่าผู้คนมีทัศนคติต่อโซเชียลมีเดียอย่างไร รวมถึงผลกระทบที่มันมีต่อแง่มุมต่างๆ ของชีวิต

 

วัยที่เหมาะสมจะเริ่มใช้โซเชียลมีเดีย

เมื่อสอบถามผู้คนในพื้นที่ศึกษาทั้งเก้าแห่ง คำตอบที่ได้มีตั้งแต่อายุ 13 ปีในชนบทจีนไปจนถึง 17 ปีในอินเดียใต้ โดยช่วงคำตอบที่ได้อยู่ในช่วงค่อนข้างแคบ

 

โซเชียลมีเดียส่งผลดีหรือผลเสียต่อการศึกษา?

ผลสำรวจที่ได้มีทั้งสองแบบคือ โรงเรียนในอินเดียใต้ที่นักเรียนมาจากครอบครัวรายได้ต่ำ ส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียในฐานะเครื่องมือเพื่อการศึกษาอย่างมาก ในขณะที่โรงเรียนสำหรับคนชั้นสูงพิจารณาการสั่งห้ามใช้โซเชียลมีเดีย เพราะถือว่าทำให้นักเรียนเสียสมาธิ

ขณะที่พื้นที่ศึกษาสองแห่งในจีนกลับให้ผลแตกต่างกันชัดเจน ในเขตอุตสาหกรรมจีน พบว่าหนุ่มสาวโรงงานจากชนบทมักไม่ค่อยใส่ใจผลการเรียนในระบบและการศึกษาระดับสูงของลูกๆ นัก ซึ่งแตกต่างจากภาพการศึกษาในจีนที่คนมักตีความเหมารวมไปมาก ส่วนในชนบทจีนกลับตรงกันข้าม เพราะผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกมาก โดยพวกเขาเชื่อว่าผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการจะช่วยให้ลูกๆ มีชีวิตที่มั่นคงและสุขสบาย ในบริบทนี้ ทั้งผู้ปกครองและตัวนักเรียนเองมองว่าโซเชียลมีเดียส่งผลเสียต่อความก้าวหน้าทางการศึกษาและการเรียนรู้

 

การศึกษาและคนหนุ่มสาว

ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน: มิตรภาพ เรื่องดราม่า และการรังแก

มีตัวอย่างหลายกรณีที่ทำให้เห็นว่าการใช้โซเชียลมีเดียในหมู่นักเรียนช่วยสร้างมิตรภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในพื้นที่ศึกษาชนบทจีน พบว่าโซเชียลมีเดียช่วยขยายปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในกลุ่มเพื่อนร่วมชั้นให้พ้นไปจากกรอบจำกัดของห้องเรียน จริงอยู่ว่านักเรียนเจอหน้ากันเป็นเวลานานอยู่แล้วที่โรงเรียน แต่กลุ่มเพื่อนร่วมชั้นก็ใช้เวลานอกโรงเรียนและนอกเวลาเรียนบนโลกออนไลน์ด้วยกันมากขึ้น การใช้กลุ่มแชต QQ เพื่อจัดงานรวมรุ่นเป็นประจำยิ่งช่วยสานต่อขนบธรรมเนียมจีนที่ถือว่ากลุ่มเพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นหน่วยสังคมที่จะคงอยู่ต่อไปทั้งชีวิต

ทั้งในชนบทและเขตอุตสาหกรรมจีน โซเชียลมีเดียมักเป็นพื้นที่ปลอดสายตาผู้ปกครองที่คอยสอดส่อง เด็กๆ จึงมองว่ามันเป็นพื้นที่ที่ใช้พูดคุยกับเพื่อนได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะเรื่องรักใคร่หรือเรื่องน่าอาย ในพื้นที่ศึกษาชนบทจีน นักเรียนมัธยมต้นราวครึ่งหนึ่งตอบแบบสำรวจว่า การส่งข้อความทางแชตเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการบอกชอบใครสักคน ส่วนนักศึกษาเองก็ใช้เครือข่ายโซเชียลมีเดียเพื่อหาแฟนในมหาวิทยาลัยกันมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงอื่นที่เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียของนักเรียนในอังกฤษนั้นได้แก่ การยุแหย่ที่ขยายขอบเขตจากที่เคยเกิดเฉพาะตอนอยู่ในโรงเรียนกลายเป็นเกิดขึ้นตลอดเวลา เรื่องที่นักเรียนรู้สึกว่า “การหลบอยู่หลังจอ” ทำให้ยุแหย่กันได้ง่ายขึ้นกว่าการแหย่กันต่อหน้า และการอัปสเตตัสแบบ “อ้อมๆ” ที่ทำให้คนที่เป็นเป้าหรือผู้รับสารไม่แน่ใจว่าสเตตัสนั้นสื่อถึงใคร การโพสต์แบบอ้อมๆ เช่นนี้มักทำให้เกิดเหตุขัดแย้งและโต้เถียง นำไปสู่ความตึงเครียดมหาศาล โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหญิง

ผลการศึกษาพบว่าโซเชียลมีเดียเสริมสร้างทั้งความสนิทชิดเชื้อและความไม่ลงรอยกันระหว่างเพื่อนนักเรียน แต่อันที่จริงครูบางคนในอังกฤษรู้สึกว่าปัญหาที่เกิดจากโซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นผลจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียนบนโลกออนไลน์ แต่น่าจะเกิดจากพฤติกรรมของผู้ปกครองมากกว่า เนื่องจากโซเชียลมีเดียทำให้ผู้ปกครองเห็นการทะเลาะกันของเด็กบนโลกออนไลน์ได้โดยตรง จึงมีแนวโน้มจะเข้าข้างลูกตัวเองโดยธรรมชาติ กระทั่งสุดท้ายก็มักเป็นผู้ปกครองเสียเองที่ทะเลาะกันหน้าประตูโรงเรียน

ในภาพรวม การใช้โซเชียลมีเดียรวมถึงการที่คนหนุ่มสาวปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกันบนโลกออนไลน์มากขึ้น ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับครูและผู้ปกครอง

วิธีที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจผลกระทบของโซเชียลมีเดียคือมุ่งศึกษาความสัมพันธ์เป็นชุดๆ อย่างเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ ระหว่างเด็กนักเรียนด้วยกัน ระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างทั้งสองกลุ่มนี้กับผู้ปกครอง

 

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง-โรงเรียน

กรณีศึกษาที่น่าสนใจที่สุด และน่าจะประสบความสำเร็จที่สุด ของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง-โรงเรียนผ่านทางโซเชียลมีเดียมาจากพื้นที่ศึกษาอังกฤษ กล่าวคือ โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง (นักเรียนอายุ 5-11 ปี) ริเริ่มทำบล็อกและบัญชีทวิตเตอร์ของโรงเรียน พร้อมโพสต์ภาพงานที่เด็กๆ ทำขึ้นในแต่ละวัน

บล็อกประสบความสำเร็จอย่างมากในหมู่ผู้ปกครอง มันช่วยแก้ปัญหาเรื้อรังที่ผู้ปกครองหลายคนเผชิญ นั่นคือ เป็นเรื่องยากที่จะรู้รายละเอียดจากลูกๆ ว่าพวกเขาทำอะไรที่โรงเรียนบ้าง ในกรณีนี้ การโพสต์ภาพผลงานของนักเรียน เช่น ภาพวาดหรือเรียงความ ลงบนโลกออนไลน์ช่วยบรรเทาความวิตกของผู้ปกครอง และช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครู-ผู้ปกครองได้อย่างมหาศาล

 

การงานและการค้า

ความกังวลของผู้ใช้

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียกังวลแค่ไหนเกี่ยวกับอิทธิพลของบริษัทเหล่านี้ที่มีต่อชีวิตพวกเขา ตัวอย่างเช่น พวกเขากังวลไหมว่าบริษัทโซเชียลมีเดียจะนำข้อมูลส่วนตัวมหาศาลที่บริษัทเข้าถึงได้ไปใช้ประโยชน์

เราไม่พบหลักฐานว่ามีความกังวลดังกล่าวเท่าไรนัก เมื่อมีข่าวว่าคนหนุ่มสาวเริ่มเอาใจออกห่างจากเฟซบุ๊ก เขาบอกว่ามันไม่ได้เกิดจากความกังวลว่าบริษัทเฟซบุ๊กจะนำข้อมูลของพวกเขาไปใช้ แต่กังวลว่าผู้ปกครองจะทำอะไรกับข้อมูลของพวกเขาต่างหาก แม้เฟซบุ๊กจะเป็นเจ้าของอินสตาแกรมกับวอตส์แอปป์ด้วย แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่ได้เปลี่ยนวาทกรรมสาธารณะนี้ไปแต่อย่างใด

ในพื้นที่ศึกษาทั้งเก้า ผู้คนใช้อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และวอตส์แอปป์ในแบบที่ต่างกันไป โดยอาจใช้เป็นแพลตฟอร์มทดแทนหรือเติมเต็มซึ่งกันและกันก็ได้ โดยไม่เกี่ยงว่าเจ้าของจะเป็นบริษัทเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้และไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ

หลักฐานของเราชี้ว่า ผู้ใช้อาจให้ความสำคัญกับการสื่อสารด้วยวิดีโอ แต่ไม่ได้สนใจนักว่าแพลตฟอร์มที่ทำได้นั้นจะเป็นสไกป์ เฟซไทม์ หรือเฟซบุ๊ก และไม่ได้สนใจว่าแพลตฟอร์มที่ใช้ส่งข้อความจะเป็นวอตส์แอปป์ เฟซบุ๊ก หรือข้อความทางโทรศัพท์

ในเมื่อสิ่งแวดล้อมปัจจุบันเป็นแบบสารพัดสื่อ นัยเชิงวัฒนธรรมต่างหากที่น่าจะเป็นเหตุผลให้คนใช้สื่อแตกต่างกันไป ซึ่งนัยเชิงวัฒนธรรมนี่เองที่สำคัญต่อผู้ให้ข้อมูลของเราในทุกพื้นที่ หาใช่คุณสมบัติทางเทคนิคของแพลตฟอร์มหรือบริษัทที่เป็นเจ้าของ แต่เราก็เห็นได้ชัดว่าคนสนใจโทรศัพท์ของแอปเปิลมากกว่าโทรศัพท์ที่ใช้ระบบแอนดรอยด์หรือไมโครซอฟต์ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะเหตุผลทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน เช่น การอวดโทรศัพท์ใหม่ หาใช่ความสนใจที่มีต่อตัวบริษัท

 

อั่งเปาวีแชตและวิถีปฏิบัติใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล

สองตัวอย่างที่กินความหมายกว้างกว่า “การค้า” แบบเดิมๆ กรณีแรกคือการเปลี่ยนวีแชตเป็นพื้นที่ทำธุรกรรมการเงินผ่าน “อั่งเปา” โดยระบบนี้อิงกับการให้เงินใส่ซองแดงในช่วงเทศกาลอย่างปีใหม่และพิธีแต่งงาน ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ในกรณีนี้ เงินที่ใช้เป็นเงินดิจิทัล โดยผสานเรื่องโชคลาภเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นคุณลักษณะแบบจีนอย่างมาก

“มีรายงานว่านับจากวันก่อนตรุษจีนจนถึง 4 โมงเย็นของตรุษจีนวันแรก (31 มกราคม 2014) ผู้ใช้กว่า 5 ล้านคนลองใช้ฟังก์ชั่นใหม่นี้ และส่งอั่งเปาดิจิทัลมากกว่า 75 ล้านซอง” ฟังก์ชั่นนี้ของวีแชตทำให้ผู้ใช้มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับวีแชตยิ่งขึ้นอีก ขณะที่ตามธรรมเนียมเดิม คนอายุมากกว่าจะเป็นฝ่ายให้อั่งเปาแก่คนที่เด็กกว่า แต่อั่งเปาในวีแชตมักเป็นอั่งเปาที่ให้กันระหว่างเพื่อน

ขณะที่ขนบของโลกตะวันตก นิยามข้อหนึ่งของชีวิตส่วนตัวและชีวิตที่บ้านคือ ต้องเป็นโลกที่ไม่มีเรื่องเงินทองมาเกี่ยวข้อง การให้เงินสื่อถึงความสัมพันธ์ส่วนบุคคลน้อยกว่าการให้ของขวัญอื่นๆ แต่ในจีน เรื่องเงินทองถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในบ้านและความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อมานานแล้ว หาใช่เรื่องต้องห้ามแต่อย่างใด ในสังคมเอเชียหลายแห่ง เงินถือเป็นวิธีแสดงออกซึ่งความรักและความห่วงใยในครอบครัวที่เหมาะสม และอาจถึงขั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุด

กรณีที่สอง หากพิจารณาคนหนุ่มสาวในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา เราจะพบปรากฏการณ์คู่ขนานที่น่าสนใจมาก โซเชียลมีเดียกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมมากมายที่แทบไม่มีให้เห็นในโครงการวิจัยของเราเลย เช่น แพลตฟอร์มอย่าง Kickstarter, Crowdsourcing และ CouchSurfing แม้บางกิจกรรมจะมีศักยภาพในการหาเงิน แต่ส่วนใหญ่กลับตรงกันข้าม เพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความเอื้อเฟื้อและเห็นแก่ผู้อื่น โดยส่งเสริมให้คนมอบเงินและบริการให้ผู้อื่นในแบบที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนโดยตรง

นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับแนวโน้มอื่นๆ ด้วย เช่น การเข้าถึงแบบเปิดกว้าง (Open Access) และซอฟต์แวร์แบบเปิดเผยต้นฉบับโปรแกรมหรือโอเพ่นซอร์ซ (Open Source) ซึ่งกลายเป็นหลักการสำคัญของวิถีปฏิบัติแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ผู้คนที่เชื่อในขบวนการเคลื่อนไหวแนวใหม่เหล่านี้จะลงทุนกับแนวคิดและการพัฒนาที่อาจไม่ได้รับเงินทุน ในกรณีนี้โซเชียลมีเดียจึงเผยให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวเอื้อเฟื้อและเห็นแก่ผู้อื่น โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดว่าด้วยสิ่งที่เป็นสาธารณะ

 

ความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์และออฟไลน์

เปิดเผยความสัมพันธ์ออนไลน์ = ประกาศอย่างเป็นทางการ

ในกรณีของโซเชียลมีเดียที่มีความเป็นสาธารณะมากขึ้น การเปิดเผยความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ก็ตีความได้ว่าเป็น “การรับรองอย่างเป็นทางการ” ในกรณีของพื้นที่ศึกษาอินเดียใต้ การสื่อสารที่ค่อนข้างใกล้ชิดสนิทสนมซึ่งเกิดจากวอตส์แอปป์นั้นมักเป็นการสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัว แต่กับเฟซบุ๊กซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีความเป็นสาธารณะสูงสุด ผู้คนกลับจงใจใช้มันเพื่อแสดงออกถึงสายสัมพันธ์แบบเครือญาติและครอบครัวให้คนอื่นได้เห็นด้วย

ตัวอย่างเช่น หากอัปเดตเรื่องทารกแรกเกิดในเฟซบุ๊ก คนในครอบครัวก็จะมากด “ถูกใจ” และแสดงความเห็นกันอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะโพสต์ ทุกคนก็ได้อวยพรกันไปแล้วไม่ว่าจะทางโทรศัพท์หรือบอกกับเจ้าตัวโดยตรง ผู้คนแสดงออกทางโซเชียลมีเดียแบบนี้เพื่อให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัวและสาธารณชนคนอื่นที่ใช้เฟซบุ๊กได้เห็น

ขณะที่ในชิลีตอนเหนือ ความสัมพันธ์ของคู่รักจะได้รับการรับรอง “อย่างเป็นทางการ” ก็ต่อเมื่อมีการอัปเดต “สถานภาพความสัมพันธ์” บนเฟซบุ๊ก หรือไม่ก็โพสต์คำบอกรักบนวอลล์ของอีกคนหนึ่ง เช่นเดียวกับในเขตอุตสาหกรรมจีน คู่รักหนุ่มสาวต้องการให้คนใน QQ เป็นประจักษ์พยานความรักหวานแหววอยู่เสมอ ในบางกรณี หนุ่มสาวที่ย้ายถิ่นมาทำงานในโรงงานถึงขั้นตั้งกลุ่มใน QQ โดยมีทุกคนในรายชื่อเพื่อนออนไลน์ของเจ้าตัวอยู่ในนั้น เพื่อจะบอกแฟนหนุ่ม/แฟนสาวว่า “ฉันรักเธอ” ต่อหน้าธารกำนัล (กลุ่มแชตออนไลน์) ในกรณีนี้ ความสัมพันธ์ออฟไลน์จึงต้องเป็นที่รับรู้ในโลกออนไลน์เสียก่อน จึงจะถือว่าความสัมพันธ์นั้น “จริงแท้”

 

ภาพ

โซเชียลมีเดียทำให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในตอนนี้คนอาจโพสต์ภาพหลายสิบภาพได้ในเวลาไม่กี่นาทีราวกับเป็นบทสนทนาต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้น เมื่อสมาร์ตโฟนได้รับความนิยมแพร่หลาย ประชากรมากมายจากทั่วโลกจึงกลายเป็นช่างภาพที่ถ่ายภาพในชีวิตประจำวัน

ทีมศึกษาตั้งข้อสังเกตเรื่องภาพไว้ 2 ประการ คือ หนึ่ง การถ่ายภาพมากมายทุกวันนี้เป็นการถ่ายภาพเพื่อใช้ในโซเชียลมีเดีย สอง ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อภาพมาถึงจุดที่ภาพกลายเป็นเรื่องดื่นดาษแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ และเมื่อไม่นานมานี้ เราก็ได้เห็นว่าคลิปวิดีโอสั้นๆ ได้รับความนิยมขึ้นมาก รวมถึงการโพสต์วิดีโอและการแชร์วิดีโอจากยูทูบด้วย

 

ที่มา: pexels.com

 

ภาพเซลฟี่และมุมมองที่เปลี่ยนไป

ผู้คนมักวิจารณ์ว่าเซลฟี่เป็นเพียงความหลงตัวเองรูปแบบหนึ่ง ทั้งที่ความจริงแล้วอาจมองได้ว่าเซลฟี่เป็นการโพสต์รูปแบบหนึ่งที่สำคัญต่อการทำความเข้าใจประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ ความใฝ่ฝัน และความคาดหวังทางสังคม

แน่นอนว่าในการถ่ายภาพเซลฟี่ คนคนนั้นต้องพยายามปั้นแต่งภาพจำที่ต้องการนำเสนอ ทำให้ภาพนั้นเป็นการแสดงออกรูปแบบหนึ่งที่มีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี คำว่าหลงตัวเองชี้ว่าคนมุ่งความสนใจไปที่ตัวตนของบุคคลนั้น ขณะที่ส่วนใหญ่แล้ว คนโพสต์ภาพเซลฟี่โดยมีกลุ่มผู้รับสารเฉพาะเจาะจงและใช้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม

ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ศึกษาอังกฤษ คนหนุ่มสาวโพสต์รูปเซลฟี่เป็นกลุ่มในเฟซบุ๊กมากกว่ารูปเซลฟี่เดี่ยวถึงห้าเท่า ซึ่งภาพเซลฟี่และภาพถ่ายอื่นๆ จะมียอดไลก์และแชร์มากกว่าโพสต์แบบอื่น ฉะนั้น เซลฟี่จึงเป็นตัวแทนของกิจกรรมทางสังคมมากกว่าการถ่ายภาพแบบดั้งเดิม และเป็นกิจกรรมที่เน้นตัวปัจเจกบุคคลน้อยกว่าเดิมด้วย ซึ่งนี่เป็นข้อสังเกตที่ตรงข้ามกับที่คนทั่วไปมักกล่าวอ้างกัน

ภาพเซลฟี่อีกรูปแบบหนึ่งที่เห็นได้ทั่วไปคือภาพเท้า หรือ “ฟุตตี้” (footie) ซึ่งแทบทุกครั้งจะถ่ายในท่านั่งเหยียดแข้งขาระหว่างดูโทรทัศน์หรือเล่นวิดีโอเกม ภาพเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ผู้พบเห็นสัมผัสถึงความธรรมดาสามัญของชีวิตที่ภาพต้องการจะสื่อ แต่ยังแสดงให้เห็นว่าการโพสท่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น ภาพ “ฟุตตี้” เป็นภาพสบายๆ ที่ผู้ถ่ายไม่ต้องขยับตัวเปลี่ยนจากท่าที่ผ่อนคลายด้วยซ้ำ

 

ทำไมต้องส่ง “สวัสดีวันจันทร์”

ในปัจจุบัน ภาพถ่ายยังเชื่อมโยงกับการ์ดอวยพร เมื่อผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ผ่านการส่งและแชร์ภาพต่างๆ รวมถึงการส่งมีมที่มีลักษณะเป็นการอวยพรในโอกาสพิเศษ โดยเฉพาะในตรินิแดดและอินเดียใต้ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ วันเกิด หรือวาระสำเร็จการศึกษา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโอกาสพิเศษที่คนในตรินิแดดจะส่งการ์ดให้กันมาแต่เดิม ในปัจจุบัน ผู้คนมักใส่ใจโอกาสพิเศษเหล่านี้ผ่านการส่งต่อภาพให้กันในเฟซบุ๊ก

นอกเหนือจากโอกาสพิเศษแล้ว ผู้คนในพื้นที่ศึกษาอินเดียใต้ยังส่งภาพอวยพรกันทุกวันราวกับเป็นพิธีกรรม ทั้งนี้เพราะคนทั่วไปเชื่อว่าจำเป็นต้องแชร์เรื่องดีๆ กับคนในเครือข่ายสังคมของตัวเอง เพื่อถ่วงดุลกับเรื่องร้ายๆ ที่อยู่รอบตัวคนเหล่านั้น ซึ่งนี่เป็นความเชื่อที่อิงกับหลักคิดเรื่องกรรมในศาสนาฮินดู โพสต์เหล่านี้มักเป็นคำพูดบนฉากหลังสีพื้นหรือภาพทิวทัศน์ที่มาพร้อมกับสเตตัสอย่าง “อรุณสวัสดิ์” “สวัสดีวัน…” หรือ “ขอให้เป็นวันที่ดี”

ในพื้นที่ศึกษาตุรกีตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้าจะมีโซเชียลมีเดีย ภาพถ่ายมีความเป็นส่วนตัวสูง มีเพียงรูปถ่ายทางการหรืองานแต่งงานเท่านั้นที่คนจะแขวนในบ้าน ไม่ก็เก็บไว้อย่างดีในอัลบั้ม ภาพที่คนเก็บใส่กล่องมักเป็นภาพที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งสมาชิกครอบครัวแต่งตัวสบายๆ เนื่องจากมีแต่คนในบ้านที่เห็นภาพเหล่านี้ อันเป็นสถานการณ์ที่จำกัดวงแคบและควบคุมได้

หลังจากมีเฟซบุ๊ก ภาพงานครอบครัวธรรมดาๆ อย่างมื้อกลางวันหรือมื้อเย็นก็กลายเป็นงานสำคัญยิ่งขึ้นเพราะคนอื่นเห็นได้มากขึ้น กระนั้น เนื่องจากมีธรรมเนียมท้องถิ่นที่จำกัดการโพสต์ภาพบุคคลให้เป็นภาพสาธารณะ ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนจึงเริ่มหาวิธีอื่นในการแสดงออกถึงความผูกพันที่มีต่อกันและการใช้เวลาดีๆ ร่วมกันโดยไม่ต้องให้เห็นหน้าบุคคล ผลก็คือ เวลามีงานรวมญาติ พวกเขามักถ่ายภาพอาหารที่เสิร์ฟในคืนนั้น รวมถึงโต๊ะอาหารก่อนที่งานจะเริ่มแทน

 

ปัจเจกนิยมและเครือข่าย

ให้ความสำคัญกับกลุ่มมากขึ้น

แทนที่จะมองว่าโซเชียลมีเดียเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ต เรากลับพบตัวอย่างมากมายที่สวนทางกับแนวโน้มดังกล่าว สภาวะความเป็นสังคมที่ปรับระดับได้อันเป็นคำจำกัดความหลักที่เราใช้กับโซเชียลมีเดียชี้ว่า โซเชียลมีเดียอาจเป็นตัวแทนของการให้ความสำคัญกับกลุ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่นขึ้นด้วย หาใช่การขยายตัวของเครือข่ายที่ผู้คนเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางดังเช่นที่เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ตในยุคก่อนหน้า กลุ่มเหล่านี้อาจมีมาแต่เดิม เช่น วรรณะและครอบครัวในอินเดีย หรืออาจเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่อย่างหนุ่มสาวโรงงานในจีนก็ได้ อย่างไรก็ดี คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของโซเชียลมีเดียคือการที่มันสามารถเชื่อมรอยร้าวในกลุ่มแบบดั้งเดิม (เช่น ครอบครัว) อันเป็นผลจากชีวิตสมัยใหม่

 

ซ่อมเสริมความเป็นสังคมที่สูญเสียไป

ในพื้นที่ศึกษาอังกฤษ เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้ใหญ่หันมาใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก เป็นเพราะต้องการชดเชยสภาวะความเป็นสังคมที่พวกเขามองว่ากำลังเสื่อมถอย โซเชียลมีเดียยังมีบทบาทสำคัญกับคุณแม่มือใหม่ เพราะพวกเธอใช้มันสร้างเครือข่ายสังคมกับคุณแม่คนอื่นในช่วงเวลาที่ต้องการกำลังใจหรือต้องโดดเดี่ยวอยู่กับบ้าน

หนุ่มสาวในพื้นที่ศึกษาบราซิลเองก็สบายใจขึ้นด้วยความคิดที่ว่า โซเชียลมีเดียจะช่วยให้พวกเขายังต่อติดกับเพื่อนได้เช่นเดิม ขณะที่ตัวเองออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทางการศึกษา การงาน หรือเรื่องอื่นๆ การซ่อมเสริมความสัมพันธ์เป็นเหตุผลหลักที่ครอบครัวชาวตรินิแดดที่อยู่คนละประเทศใช้โซเชียลมีเดียเช่นกัน

 

โซเชียลมีเดียทำลายความเป็นส่วนตัว?

จากข้อถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบของโซเชียลมีเดีย การอภิปรายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและโซเชียลมีเดียดูจะเป็นประเด็นที่คนต่างพื้นที่มีความคิดต่างกันอย่างยิ่ง

การถกเถียงอันร้อนแรงในเรื่องความเป็นส่วนตัวครอบคลุมหลายมิติ มิติหนึ่งคือความกังวลว่าบริษัทสามารถดึงข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของเราไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ หรือไม่ก็นำไปใช้เพื่อการสอดส่องโดยรัฐ แต่ในทางปฏิบัติ เรากลับไม่เห็นคนในพื้นที่ศึกษาจริงกังวลเรื่องนี้มากเท่าที่คาดการณ์

คนในพื้นที่ศึกษาตุรกีตะวันออกเฉียงใต้พูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเสียความเป็นส่วนตัว โดยกังวลเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาในสถานการณ์ที่มีเหตุขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง ขณะที่คนในพื้นที่ศึกษาอังกฤษกังวลว่าจะถูกนำข้อมูลไปใช้เพื่อการค้า โดยเฉพาะการโฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ดี หากมองโครงการวิจัยในภาพรวม ข้อกังวลนี้ก็ดูจะด้อยความสำคัญลงไป

ประเด็นที่เป็นหัวใจของการอภิปรายเรื่องนี้คือข้อสมมติที่เป็นภูมิหลังของการถกเถียงในยุโรปและอเมริกาเหนือ นั่นคือความเชื่อที่ว่าความเป็นส่วนตัวเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ กำลังถูกคุกคามจากการปรากฏเห็นบนโลกออนไลน์ ในพื้นที่ศึกษาอังกฤษ ผู้คนพูดถึงความกังวลว่ามีใครบ้างที่อาจใช้โซเชียลมีเดียเพื่อหาทางล่วงรู้ชีวิตส่วนตัวของตน ทว่าสถานการณ์ในจีนต่างไปมาก

นับตั้งแต่อดีต ความเข้าใจที่คนในท้องถิ่นมีต่อประเด็นนี้แตกต่างไปจากหลักคิดเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว” ในชีวิตทางสังคมดั้งเดิมแบบตะวันตก กระทั่งทุกวันนี้ แม้คนจีนในเมืองจะคุ้นเคยกับหลักคิดเรื่องความเป็นส่วนตัวแล้ว แต่สำหรับคนในพื้นที่ชนบท ความเป็นส่วนตัวยังถือเป็นคำตามกระแสนิยมหรือคำของโลกตะวันตกอยู่ ครอบครัวแบบดั้งเดิมในชนบทมีลักษณะเป็นหน่วยสังคมแบบรวมกลุ่มมากกว่า ซึ่งไม่ได้คาดหวังให้คนต้องมีหรือต้องการพื้นที่ส่วนตัว พวกเขาไม่มี “กรอบ” ว่าด้วยความเป็นส่วนตัวที่คาดหวัง

กระทั่งในพื้นที่ศึกษาเขตอุตสาหกรรมจีน ถ้าคนงานไม่อาศัยด้วยกันในหอรวมของโรงงานซึ่งพนักงาน 6-8 คนอยู่ร่วมกันในห้องเดียว พวกเขาก็จะอาศัยในห้องเช่ากันทั้งครอบครัว พวกเขาทำอาหารในพื้นที่ส่วนกลางและเข้าห้องคนอื่นโดยไม่เคาะประตู นอกจากนี้ ในด้านชีวิตส่วนตัวก็ยังมีความเป็นส่วนรวมสูง คนส่วนมากเชื่อว่าสิ่งที่ใครสักคนจะปกปิดไม่ให้สาธารณชนล่วงรู้คือเรื่องแย่ๆ ที่เป็นความลับ ในบริบทเช่นนี้ การใช้โซเชียลมีเดียจึงนับเป็นสถานการณ์แรกๆ ที่ความเป็นส่วนตัวได้มีความชอบธรรม และทำให้ผู้คนได้สัมผัสถึงความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการใช้โซเชียลมีเดียส่วนมากในจีนเป็นการใช้แบบนิรนาม

ในโซเชียลมีเดีย พนักงานที่ย้ายถิ่นมาทำงานในโรงงานสามารถบันทึกความคิดและความลับของตัวเองได้ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว โดยไม่ต้องกังวลว่าคนที่อาศัยในพื้นที่เดียวกันบนโลกออฟไลน์จะตัดสินความคิดเช่นนั้นอย่างไร เห็นได้ชัดเจนว่าในกรณีนี้ การเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคนงานย้ายถิ่นในจีนอย่างมีนัยสำคัญ ทว่าผลกระทบดังกล่าวกลับตรงข้ามกับวิวาทะทั้งหลายที่ทึกทักไปก่อนว่าโซเชียลมีเดียทำลายความเป็นส่วนตัว

 

ที่มา: pixabay.com

 

“สังคมก้มหน้า” คำวิจารณ์ตกยุค?

คำอ้างที่ว่าการอยู่ติดหน้าจอทำให้เราเป็นคนต่อต้านสังคมนั้นมีความขัดแย้งในตัวเอง ตัวอย่างเช่น คำกล่าวอ้างนี้ดูมีเหตุผลมากกว่าในยุคที่เกมคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เป็นเกมสำหรับปัจเจกเล่นคนเดียว อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันที่คนใช้อุปกรณ์มีหน้าจอเพื่อปฏิสังสรรค์กับคนอื่นผ่านโซเชียลมีเดีย (หรือกระทั่งเล่นเกมเป็นกลุ่ม) คำวิจารณ์นี้ก็น่ากังขามากขึ้น

การที่คนในพื้นที่ศึกษาตุรกี ตรินิแดด และบราซิล ใช้เวลามากมายไปกับการส่องโปรไฟล์คนอื่นบนโซเชียลมีเดียนั้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาพูดคุยกันน้อยลงเวลาพบหน้า อันที่จริงตรงข้ามเลยด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาค้นพบเรื่องที่เหมือนๆ กันมากขึ้นจากหน้าจอ ทำให้มีเรื่องคุยมากขึ้นเวลาเจอกัน

ขณะที่การใช้เว็บแคมทำให้เส้นแบ่งระหว่างการสนทนาบนโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์พร่าเลือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนใช้เว็บแคมแบบ “เปิดตลอด” โดยซ่อนไว้ในพื้นหลังและไม่ต้องพูดจากันก็ได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างยิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องสมเหตุสมผลกว่าหากจะคิดว่าความจริงแล้วผู้คนก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนั่นละ เพียงแต่ย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์เท่านั้น

 

การเมือง

ในวงอภิปรายเชิงวิชาการ ประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจคือขอบเขตของการที่โซเชียลมีเดียเข้ามาพลิกโฉมการเมือง คำว่าการเมืองในที่นี้หมายถึงสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองและการถกเถียง รวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ในงานศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ทีมศึกษาไม่ได้ยกให้เรื่องนี้เป็นประเด็นหลักของการวิจัย สิ่งที่พวกเขาทำคือ พยายามลดความสำคัญของการเมืองลงให้เหลือเพียงสิ่งที่เราเห็นได้จากการสังเกตการใช้โซเชียลมีเดียของผู้ให้ข้อมูล

แม้วิธีการที่ผู้คนมีส่วนร่วมทางการเมืองในโซเชียลมีเดียจะหลากหลาย แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็พอจะหาข้อสรุปภาพรวมที่ใช้กับพื้นที่ศึกษา
ทั้งเก้าได้ กล่าวคือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในเมืองเล็ก เมืองขนาดกลาง และพื้นที่กึ่งเมืองนั้น ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความสัมพันธ์ทางสังคมในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กเหล่านี้ ผู้ให้ข้อมูลให้ความสำคัญกับการรักษาและเสริมความแข็งแกร่งให้ความสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับคนรู้จักในโซเชียลมีเดีย และไม่อยากเสี่ยงเสียเพื่อนหรือเสียความสัมพันธ์กับญาติหรือเพื่อนร่วมงาน

กระทั่งในประเทศอย่างตุรกีและจีน ซึ่งรัฐควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียอย่างโจ่งแจ้งและมีระบบมากกว่าที่อื่น การควบคุมเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก โดยตัวมันเอง ที่ส่งผลต่อการแสดงออกทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย สิ่งที่มีผลมากกว่าคือการที่อำนาจรัฐแสดงตัวผ่านบรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งถือเป็นกติกากำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ข้อค้นพบหลัก 3 ประการ

  1. ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลคือปัจจัยหลักที่ส่งอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมและการกระทำทางการเมืองบนโลกออนไลน์ ประเด็นใหญ่ที่คนกังวลคือ โพสต์ของพวกเขาจะส่งผลอย่างไรต่อครอบครัวและมิตรภาพ ในพื้นที่ศึกษาหลายแห่ง คนรู้สึกว่าการแสดงมุมมองทางการเมืองอาจเป็นการสร้างศัตรูหรือความขัดแย้ง ผลก็คือ การเมืองกลายเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น และการถกเรื่องการเมืองก็จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่ส่วนตัวและกลุ่มญาติมิตรที่สนิทสนมกัน เฉพาะในพื้นที่ที่คนใช้บัญชีปลอมหรือนามแฝงเท่านั้นที่เราจะพบการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาได้
  2. บรรทัดฐานทางสังคม ประเภทของสื่อ และขอบเขตที่คนยอมรับได้ ล้วนมีอิทธิพลต่อการที่คนคนหนึ่งจะตัดสินใจอภิปรายเรื่องการเมือง ตัวอย่างเช่น เราพบว่าในพื้นที่ศึกษาจีนทั้งสองแห่งไม่มีการปรามการแสดงความเห็นทางการเมืองส่วนบุคคล และอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นด้วยซ้ำ สิ่งที่สำคัญกว่าคือประวัติศาสตร์การพัฒนาของโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้คนมองว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นที่สำหรับความบันเทิงและมิตรภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
  3. โซเชียลมีเดียมักเป็นหนทางที่คนปฏิสัมพันธ์และปฏิสังสรรค์กันในกลุ่มเล็กๆ ดังนั้นสำหรับคนส่วนใหญ่ การฉวยใช้การเมืองมาส่งเสริมโซเชียลมีเดียจึงเข้าท่ากว่าการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อ “กระทำ” การเมือง

เมื่อสอบถามผู้คนในพื้นที่ศึกษาทั้งเก้าว่าโซเชียลมีเดียทำให้ผู้ใช้ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นหรือไม่ คนในชิลี (เหนือ) และอิตาลีส่วนใหญ่ยืนยันว่าไม่ ขณะที่คนในบราซิล อินเดีย (ใต้) และตุรกี (ตะวันออกเฉียงใต้) มีความเห็นแตกเป็นสองขั้ว โดยคนตุรกียอมรับว่าโซเชียลมีเดียช่วยให้พวกเขาตื่นตัวทางการเมืองที่ร้อยละ 47

 

โซเชียลมีเดียทำให้เรามีความสุขมากขึ้นหรือน้อยลง?

หนึ่งในคำถามที่มีคนถามบ่อยก็คือ โซเชียลมีเดียทำให้เรามีความสุขกว่าเดิม ไม่ต่างจากเดิม หรือมีความสุขน้อยลงกันแน่

จากผลสำรวจพบว่า พื้นที่ศึกษาที่มีลักษณะอนุรักษนิยมอย่างอินเดียใต้และตุรกีตะวันออกเฉียงใต้คือพื้นที่ที่โซเชียลมีเดียเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของผู้คนมากที่สุด เพราะมันช่วยเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ส่วนในอีกด้านหนึ่ง หนุ่มสาวโรงงานในจีนกลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องพึ่งโซเชียลมีเดียมากที่สุดในการทำให้ความใฝ่ฝันของตัวเองเป็นจริง และชดเชยสภาวะไร้สุขจากสภาพความเป็นอยู่ในโลกออฟไลน์

อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบที่ชัดเจนก็คือ ในภาพรวมพบว่าจำนวนคนที่มีความรู้สึกเชิงลบมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับข้อมูลตามรายงานข่าว

 

ข้อสังเกต: อย่ารีบด่วนสรุป หรือเหมารวมพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียรอบโลก แต่ควรทำความเข้าใจผลที่ได้ผ่านบริบทของพื้นที่ศึกษานั้นๆ ก่อน

เนื่องจากความหลากหลายของคำตอบที่ได้ในแทบทุกคำถามสนับสนุนประเด็นหลักอย่างหนึ่งของโครงการนี้ในภาพรวมคือ การนำผลการวิจัยเชิงปริมาณจากที่หนึ่งไปตีความครอบคลุมอีกพื้นที่นั้นเป็นวิธีที่มีปัญหา อย่างน้อยผลลัพธ์เหล่านี้ก็ช่วยให้เราพอเห็นภาพว่าการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันได้ขนาดไหน

 

อนาคตของโซเชียลมีเดีย

การทำนายอนาคตของสิ่งที่มีพลวัตสูงยิ่งอย่างโซเชียลมีเดียถือเป็นงานยาก คำทำนายเดียวที่เรามั่นใจก็คือ คำพยากรณ์มากมายเกี่ยวกับอนาคตจะผิดพลาด อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญสำหรับหนังสือเล่มนี้คือการตระหนักว่า ในบางแง่มุม การเรียนรู้ปัจจุบันก็ยากไม่แพ้การทำนายอนาคต

ถึงที่สุดแล้ว เป้าหมายของโครงการวิจัยนี้คือการโต้แย้งว่า ข้อสมมติมากมายที่เรามีเกี่ยวกับสิ่งที่เราคิดว่าตัวเองรู้จักดีแล้วนั้นน่ากังขาอย่างยิ่ง เมื่อเราตระหนักแล้วว่าการรู้ซึ้งเรื่องโซเชียลมีเดียไม่ใช่การพรรณนาถึงคุณลักษณะของแพลตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ หากแต่เป็นการตระหนักว่าโลกใบนี้เปลี่ยนโซเชียลมีเดียไปอย่างไรแล้วบ้าง เมื่อนั้นการศึกษาเนื้อหาในโซเชียลมีเดียก็จะเผยให้เห็นว่าโจทย์ที่เราต้องตอบมีขนาดใหญ่ยักษ์เพียงใด