vdo: ทำไมการเลี้ยงลูกสมัยนี้ถึงยากจัง

 

แต่ก่อนความไม่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ถ้ำคือสัตว์ป่า เมื่อไรก็ตามเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย สมองจะสั่งให้เลือกหนึ่งในสามอย่างนี้คือ สู้ หนี หรือยอม

ปัจจุบันถามว่าสัตว์ร้ายของลูกคือใคร?
ตอบแบบไม่เกรงใจ คือพ่อแม่ผู้ปกครอง และครูที่โรงเรียนนั่นแหละ!

รู้แบบนี้แล้วอย่าเพิ่งตกใจ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ มีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ว่า “ควรเลี้ยงลูกให้รู้สึกว่าอยู่กับเราแล้วปลอดภัย เขาจะได้เปิดสมองส่วนคิด แทนที่จะมุ่งแต่สมองส่วน สู้ หนี หรือยอมตลอดเวลา”

 

ส่วนสาเหตุของปัญหาในการเลี้ยงลูกในปัจจุบันมาจากอะไรบ้าง

ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ (หมอวิน) เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกตามใจหมอ’ สรุปมาให้ว่ามีดังต่อไปนี้

1. วิธีการเลี้ยงลูกที่อาจจะไม่ถูกต้อง คนเลี้ยงซึ่งเติบโตมากับเทคโนโลยีมักจะอดทนรอคอยไม่ค่อยได้ ใช้เงินแก้ปัญหา แล้วก็พึ่งข้อมูลโซเชียลหรือข้อมูลที่หาง่าย และใช้เครื่องมือแทนการลงมือทำด้วยตัวเอง

2. การเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต มันน่าสนใจ ขณะเดียวกันก็ดึงสมาธิของเด็กออกจากสิ่งที่ควรจะได้เล่นตามวัย ไปนั่งมองหน้าจอที่เป็นการสื่อสารทางเดียว

3. สิ่งแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยน ปกติคนเรามีต้นทุนชีวิตอยู่ 5 อย่าง (ปรับปรุงจาก นพ.สุริยเดว ทรีปาตี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี) คือ หนึ่ง ตัวเด็กเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกล้อมรอบด้วย 4 อย่าง คือ ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน และสังคม

หากสี่อย่างนี้รวบกันได้แน่นดีจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า พลังแห่งตัวตน (power of self) ซึ่งจะช่วยให้เด็กอยู่รอดได้ในอนาคต แต่ปัจจุบันทั้งสี่อย่างถูกเปลี่ยนไปหมดเลย

หมอวินย้ำว่า ไม่ว่าอีกสามอย่างจะถูกสั่นคลอนแค่ไหน อย่างหนึ่งที่จะต้องเป็นฐาน และเราสามารถทำให้แข็งแรงได้คือ “ครอบครัว”

กับคำถามที่ว่า “ทำไมการเลี้ยงลูกถึงยากนัก และจะเลี้ยงลูกเชิงบวกได้อย่างไร” ชมคำตอบจากคุณหมอสองท่านได้ในคลิปนี้

นอกจากพ่อแม่ ภาครัฐและโรงเรียนจะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเด็กๆ ได้อย่างไร

เมริษา ยอดมณฑป (คุณเม) เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เสนอว่าสิ่งที่ภาครัฐทำได้เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ รวมถึงการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยในประเทศคือ

หนึ่ง เปลี่ยนแปลงการให้ความรู้ประชาชนทุกกลุ่มชนและทุกชนชั้น
สอง เปลี่ยนแปลงจากการวัดผลด้วยมาตรวัดเดียวทั้งประเทศ ด้วยการคืนอำนาจให้โรงเรียนสร้างมาตรวัดที่เหมาะสมกับนักเรียนของเขาเอง

ประเด็นน่าสนใจและประยุกต์ใช้ได้จริงจาก “จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา”

พันธุกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดมาแล้วว่าเด็กคนหนึ่งจะมีพื้นอารมณ์เป็นอย่างไร แต่สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูเป็นสิ่งสำคัญมากๆ

งานวิจัยในเล่ม จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา ที่ ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ (หมอวิน) เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกตามใจหมอ’ คิดว่าน่าสนใจและนำมาปรับใช้ในการเลี้ยงลูกได้จริง คืองานวิจัยหน้าผาจำลอง (The Visual Cliff) โดยให้เด็กเดินผ่านแผ่นกระจกใสที่ดูเหมือนจะตกลงไปได้ เวลาเดินเด็กจะดูหน้าของคุณพ่อคุณแม่หรือคนเลี้ยงว่าหน้าตากังวลแค่ไหน ถ้าไม่กังวลเด็กก็เดินผ่านมาได้เลย แต่ถ้าพ่อแม่มีท่าทีวิตกกังวล เด็กจะไม่กล้าเดินต่อ

หมอวินบอกว่าเรื่องนี้นำมาประยุกต์ใช้กับปัญหาลูกเลือกกิน กินยาก หรือไม่ชอบกินผักได้ เริ่มจากพ่อแม่ควรกินผักให้ลูกดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วก็ทำท่าทางพอใจ จากนั้นลูกจะเลียนแบบหรือกระทั่งแย่งผักจากเราไปกินเอง

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ เสริมว่า งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการที่เด็กมีความมั่นคงในจิตใจ ไม่เพียงสร้างขึ้นจากตัวเด็กเองเท่านั้น แต่ผ่านการตอบสนองของพ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากๆ

ถ้าดูรายละเอียดของงานวิจัย จะพูดถึงทั้งสีหน้าและน้ำเสียงของคุณแม่ด้วย ซึ่งหมอโอ๋แนะนำว่า น้ำเสียงที่ดูกระตือรือร้นและร่าเริง หรือที่คุ้นกันว่าเป็น “เสียงสอง” นั้นจะช่วยให้เด็กพัฒนาด้านภาษาได้ดีกว่าเสียงโทนปกติ
“ฉะนั้นเวลาอ่านนิทาน อ่านอะไรให้ลูกฟัง เต็มที่เลย แล้วเสียงสอง ไม่ต้องสงสัยในศักยภาพของมัน เสียงสองนี่นำไปสู่การเรียนรู้ทางภาษาที่ดีกว่า”

เมริษา ยอดมณฆป (คุณเม) เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ ช่วยเติมประเด็นว่าเด็กเล็กๆ แม้จะยังไม่ถึงหนึ่งเดือน ก็สามารถเลียนแบบสีหน้าท่าทางของพ่อแม่ได้แล้ว ชัดเจนเลยว่าเด็กเลียนแบบผ่านการกระทำ มากกว่าคำพูดของพ่อแม่

“สมมติพ่อแม่พูดว่า ทำนี่สิ! สนุกนะ! (ใส่อารมณ์) กับ ทำนี่สิสนุกนะ (โมโนโทน) เด็กจะเลือกทำอันแรก คือพ่อแม่หน้าตาไปด้วย ถ้าเราอยากให้ลูกทำอะไร รู้สึกดีกับอะไร สีหน้าท่าทางของพ่อแม่ต้องไปก่อนคำพูดของเราด้วยซ้ำ”

 

วิธีรับมือเด็กๆ วัย 2-7 ปีที่อยู่ในวัยพลังเยอะประหนึ่งนักวิ่งมาราธอน

เนื่องจากบริบทเมืองไทย พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำงานด้วยกันทั้งคู่ เด็กๆ สมัยนี้จึงถูกส่งเข้าระบบโรงเรียนก่อนอายุ 7 ปี ซึ่งการแยกจากตามธรรมชาติยังไม่สมบูรณ์ ทราบหรือไม่ว่า เด็กวัย 2 ปีนั้นมีสมาธิครั้งละประมาณ 5-7 นาที

“5-7 นาทีนี่ บางครั้งอ่านนิทานหนึ่งเล่มยังไม่จบเลย แต่เราคาดหวังว่าเขาต้องเข้าใจการเรียนทั้งชั่วโมงเลย แล้วก็วัดผลเขา” เมริษา ยอดมณฑป (คุณเม) เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ ให้ข้อมูล

เมเล่าว่า ในเด็กวัย 2-7 ปีจะมีความภาคภูมิใจจากการช่วยเหลือตัวเองได้ อย่างเช่นการติดกระดุมหรือผูกเชือกรองเท้า ถ้าพ่อแม่จะสอนอะไรเด็กสักอย่างหนึ่ง เมแนะว่าควรจะซอยเป็นขั้นตอนย่อยๆ (task analysis) เพื่อให้เด็กเห็นภาพ เข้าใจ ทำตามได้ง่าย และไม่งง

“ส่วนคุณครูที่จะสอนเด็ก 2-7 ปี ต้องมองในมุมของเด็กด้วยว่า เขารู้ไหมว่างานชิ้นนี้ต้องทำอะไรบ้าง แล้วเราก็ทำให้เป็นภาพ เพราะเด็กไม่ได้เข้าใจนามธรรม เช่น ถ้าบอกเขาว่า ใส่รองเท้าสิ นี่นามธรรมมากเลย ยิ่งกว่าตีความภาพปีกัสโซ่อีก เด็กจะงงว่า ต้องเริ่มจากอะไรล่ะ มันละเอียดมาก

“การจะใส่รองเท้าสักข้างหนึ่ง ซ้ายขวาเขารู้ไหม สอดเข้าไปคืออะไร ดึงขึ้นมาคืออะไร เด็กบางคนไม่เข้าใจ ดึงกับผลักเด็กยังไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไร คำกริยาละเอียดมาก ทุกอย่างเลย”

บางทีเราคิดว่า แค่ผูกเชือกรองเท้าจะอะไรนักหนา แต่สำหรับเด็กๆ มันต้องละเอียดเบอร์นั้นจริงๆ

ฟังคำแนะนำวิธีรับมือเด็กๆ วัย 2-7 ปีที่อยู่ในวัยพลังเยอะประหนึ่งนักวิ่งมาราธอนจากคุณเมได้เลย