เรื่อง : นันท์ชนก คามชิตานนท์
หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์เน้นทักษะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการดูแลและควบคุมตนเอง ทักษะทางสังคม หรือทักษะการสื่อสาร ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เยาวชนเอาตัวรอดและสร้างคุณค่าในตัวเองได้ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เข้ามาแทรกแซงชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของคนเรามากขึ้นทุกที
สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งเจ็ดประการจึงเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่สำคัญในหลักสูตรการศึกษาใหม่ของฟินแลนด์ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมทักษะความเป็นมนุษย์ของเยาวชนแห่งอนาคต
สมรรถนะที่ 1 คือสมรรถนะการคิดและการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ เน้นย้ำทักษะการคิดและการเรียนรู้ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกสมรรถนะที่จะกล่าวถึงในตอนต่อไป
ในโลก ‘หลังความจริง’ ข้อมูลจริงและเท็จต่างหลั่งไหลปะปนกันผ่านสื่อหลากหลายรายล้อมรอบตัวเรา เทคโนโลยีดิจิทัลเปิดประตูสู่ข้อมูลมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน ความกำกวมคลุมเครือก็ไหลเล็ดลอดเข้าไปด้วย ความสามารถในการแยกแยะกลั่นกรองข้อมูลกลายเป็นทักษะสำคัญที่จะนำพาให้เราเอาตัวรอดและประสบความสำเร็จได้
การเรียนรู้อย่างมีความหมายลึกซึ้ง ซึ่งยึดถือทักษะการคิดเป็นหัวใจสำคัญ และให้ผู้เรียนมีบทบาทหลักในการเรียนรู้ของตนเอง คือแนวทางปลูกฝังเยาวชนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูลและมีเหตุมีผล อันเป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความยั่งยืน
สาระสำคัญที่ 1 : การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้
การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้เป็นแนวทางการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และควบคุมการเรียนรู้ของตนเอง โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้กับความสนใจส่วนตัวและบริบทที่มีความหมาย ผู้เรียนจะเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ เพราะได้มีส่วนร่วมกับปัญหาในโลกความจริงและประเด็นที่มีความหมายสำหรับตัวพวกเขาเอง นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ที่ลึกซึ้งมากขึ้นและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา
การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ มีลักษณะดังนี้
- ผู้เรียนใช้ความสามารถในการสืบค้นผลิต ประเมิน แก้ไข รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลและแนวคิดด้วยตนเอง
- ผู้เรียนต้องเรียนรู้วิธีการตั้งเป้าหมายส่วนตัวและส่วนรวม การวางแผนการเรียน และการประเมินความก้าวหน้าของตนเอง ไม่ว่าจะแบบอิสระหรือแบบกลุ่ม
- ผู้เรียนจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองและของกลุ่ม
- ผู้เรียนควรทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหมดของการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้
- ผู้เรียนควรแยกการสร้างสรรค์ไอเดียและวิพากษ์วิจารณ์ไอเดียนั้นออกจากกัน
ประโยชน์ของแนวทางการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้
คืนความเป็นเจ้าของและอำนาจในการเรียนกลับไปให้ผู้เรียน
นักเรียนตั้งคำถามเพื่อเป็นแนวทางในกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง พวกเขาจะได้มีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการและเครื่องมือ ตัดสินใจว่าจะแบ่งบทบาทในกลุ่มอย่างไร และกระบวนการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลการเรียนรู้แบบใด รวมทั้งจะประเมินและแก้ไขผลการเรียนรู้ตามคำติชมอย่างไร เป็นการยกระดับบทบาทของผู้เรียนจากผู้บริโภคความรู้ให้กลายเป็นผู้สร้างความรู้ ในช่วงเริ่มต้นผู้เรียนอาจต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุนจากครูบ้าง แต่ระหว่างปฏิบัติไปตามขั้นตอน พวกเขาควรจะค่อยๆ เรียนรู้วิธีควบคุมการค้นหาคำตอบด้วยตัวเองและร่วมกับผู้อื่น
เตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับความยากลำบากที่จะพบจากการทำงานในอนาคต
ทักษะการถามคำถามที่ถูกต้อง การระบุและแก้ปัญหาหลัก การสร้างความรู้ใหม่ๆ และการสร้างความเปลี่ยนแปลง จะเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดสำหรับที่ทำงานในอนาคต เราจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการสร้างความรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องเรียนรู้ว่าจะรับผิดชอบพัฒนาการของตนเองได้อย่างไร รวมทั้งยังต้องรู้จักเรียนรู้จากชุมชนและมีส่วนช่วยเหลือชุมชนโดยรอบด้วย
การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้นี้สนับสนุนการคิดสองแบบที่สำคัญมากสำหรับเยาวชนในปัจจุบัน นั่นคือการคิดเชิงวิพากษ์และการคิดสร้างสรรค์
การคิดเชิงวิพากษ์
ถึงแม้ว่าการเติบโตเป็นทวีคูณของข้อมูลในปัจจุบันจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหานานัปการ เช่น ประเด็นความถูกต้องของข้อมูล รวมถึงวิธีการกลั่นกรองและประเมินข้อมูลนั้น นอกจากนั้น เรื่องราวต่างๆ ในโลกยังไม่ได้มีแค่ถูกผิด หรือขาวดำ หากแต่เต็มไปด้วยมุมมองและข้อขัดแย้งอันหลากหลาย
เด็กๆ ในยุคสมัยที่ต้องเผชิญข้อมูลอันกำกวมขัดแย้งเหล่านี้จึงต้องอาศัยการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล โดยเข้าใจว่าข้อมูลนั้นเกิดจากวิธีต่างๆ มากมาย เช่น ได้จากประสบการณ์ส่วนตัว จากการกลั่นกรองของผู้ทรงคุณวุฒิ จากผู้มีอำนาจด้านวิชาการ จากการให้เหตุผลแบบนิรนัย (จากทฤษฎี) หรือจากการให้เหตุผลแบบอุปนัย (จากข้อเท็จจริง) เด็กๆ ต้องรู้จักทำความเข้าใจความหลากหลายของข้อมูล ต้องสามารถตั้งคำถามถึงแนวคิดต่างๆ ได้
การคิดเชิงวิพากษ์จะช่วยให้เด็กๆ ได้ประเมินแนวคิดและผลลัพธ์ต่างๆ จากนั้นเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุดมาปรับใช้ พวกเขาควรโต้แย้งอย่างมีเหตุผลได้ และไม่เชื่อทุกอย่างในสื่อ แม้กระทั่งสื่ออย่างตำราเรียน
นอกจากเราจะคิดเชิงวิพากษ์เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากผู้อื่นแล้ว แง่มุมสำคัญและยากที่สุดของการคิดเชิงวิพากษ์ก็คือการประเมินความคิดและความเห็นของตนเอง ข้อโต้แย้งของฉันมีเหตุผลหรือไม่ ฉันใช้อารมณ์มากเกินไปหรือไม่ ฉันกระโจนไปสู่ข้อสรุปเร็วเกินไปหรือไม่ การตัดสินใจของฉันอ้างอิงตามหลักฐานหรือเป็นเพียงความคิดเห็นกันแน่
นอกจากนั้น เมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในโลกที่ซับซ้อน เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารอันกำกวมนี้ การคิดเชิงวิพากษ์จะช่วยให้พวกเขามีทักษะในการทำความเข้าใจมุมมองของผู้อื่น และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังคือ หากเราด่วนตัดสินอย่างผิดๆ และวิพากษ์วิจารณ์ความคิดต่างๆ เร็วเกินไป เราอาจกำลังบั่นทอนการคิดอีกแบบหนึ่งซึ่งก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือการคิดสร้างสรรค์
การคิดสร้างสรรค์
ท่ามกลางโลกและชีวิตการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนขึ้นทุกชั่วขณะ ความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) เป็นทักษะที่สำคัญยิ่ง ในสังคมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราอาจวางแผนทุกอย่างล่วงหน้าและลงมือปฏิบัติตามแผนเมื่อถึงเวลาได้ แต่ในโลกทุกวันนี้เราจำเป็นต้องปรับตัวตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปรายวันด้วยเด็กๆ ไม่อาจเอาตัวรอดในโลกที่ซับซ้อนนี้ได้ด้วยการท่องจำข้อเท็จจริงและเชื่อฟังผู้ใหญ่พียงเท่านั้น
เราต้องสอนให้เด็กๆ มีทัศนคติและค่านิยมหลักที่ควรยึดถือไม่ว่าในสถานการณ์ใด เช่น การให้เกียรติผู้อื่น การควบคุมตัวเองให้เหมาะสม และการเป็นคนที่ไว้ใจได้ กระนั้นโลกภายนอกก็เปรียบเสมือนโรงละครไร้บท หากเราเขียนบทให้เด็กๆ แคบเกินไป พวกเขาจะสูญเสียความสามารถในการใช้สมองด้วยตนเอง เราจึงต้องสอนให้พวกเขารู้จักคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่ความสามารถราวกับเวทมนตร์หรือพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่เกิด แต่เป็นทักษะการคิดและทัศนคติที่สามารถเรียนรู้ได้ เราทุกคนก้าวสู่ความคิดสร้างสรรค์ชั้นยอดได้หากเปิดใจกว้างเพื่อเรียนรู้มุมมองใหม่ เรื่องราวใหม่ และแนวทางใหม่
วิธีการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กๆ
- จัดหาเวลาและสถานที่สำหรับใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเด็กๆ จะได้ใช้จินตนาการ ตรึกตรอง และเล่นสนุกกับไอเดียที่หลากหลาย
- ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- มอบความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการคิดสร้างสรรค์ การคิดสร้างสรรค์อย่างลึกซึ้งต้องอาศัยความเข้าใจและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ด้วย
- สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย อบอุ่น เคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลายที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเอง
- กระตุ้นและหล่อเลี้ยงอารมณ์ต่างๆ ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เช่น ความสับสน ความอยากรู้อยากเห็น และความสนใจ
- สนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ก่อนว่าเคยมีการสร้างสรรค์สิ่งใดมาแล้วบ้าง เราต้องปีนไหล่ของคนรุ่นก่อนเพื่อที่จะมองได้ไกลออกไป ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้หมายความว่าเราต้องละทิ้งของเก่าจนหมดสิ้น หากจะคิดนอกกรอบ เราก็ต้องเรียนรู้กรอบที่ล้อมอยู่เสียก่อน
กระบวนการคิดสร้างสรรค์
การคิดสร้างสรรค์แบ่งออกเป็นระยะที่ชัดเจน เช่น ระยะเตรียมพร้อม ระยะฟักตัว ระยะค้นพบ ระยะพัฒนาความคิด และท้ายสุด ระยะลงมือทำ กระบวนการนี้ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน มักข้ามกลับไปมาเมื่อจำเป็น
กระบวนการคิดสร้างสรรค์ต้องอาศัยความอดทน และโดยมากมักเกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย ความคิดที่แปลกใหม่และแหวกแนวมักเกิดจากการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่างหนัก และการแวดล้อมด้วยผู้คนที่คอยให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม เราควรมองความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์ และให้ความสนใจกระบวนการสร้างสรรค์มากกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น การได้ลองทำกระบวนการคิดสร้างสรรค์ระยะต่างๆ อย่างเป็นระบบนั้นมีคุณค่ายิ่งกว่าผลลัพธ์ใดๆ นอกจากนั้น เมื่อสนใจที่กระบวนการ โดยมากเราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าด้วย
กระบวนการคิดสร้างสรรค์อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วยบริบทอันธรรมดาสามัญที่เราคุ้นเคยดีก็ได้ เช่น ในห้องครัวหรือที่ทำงาน หากเราฝึกมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป เราก็จะค้นพบสิ่งใหม่ๆ ได้รอบตัว แม้จะไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่พลิกประวัติศาสตร์ แต่ก็เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยให้เราผ่านชีวิตประจำวันไปได้อย่างราบรื่น
สาระสำคัญที่ 2 : การเรียนรู้ที่จะเรียนรู้
หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติของฟินแลนด์ปี 2016 เน้นย้ำให้นักเรียนมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง พวกเขาต้องมีสิทธิ์ในการเสนอแนะเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียน โดยแสดงความคิดเห็นและประสบการณ์อย่างอิสระ ตัดสินใจจากข้อมูลที่เพียงพอ รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง และควบคุมกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง
นักเรียนจะมีบทบาทในกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้เมื่อมีปัจจัยดังนี้
- สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับผิดชอบและตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ของตนเอง รวมทั้งแสวงหาความเป็นไปได้หลากหลายเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
- ยิ่งนักเรียนอายุน้อยเท่าใดก็ยิ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือมากขึ้น ด้วยการจัดหาเครื่องมือที่จะช่วยให้พวกเขาควบคุมการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
- เด็กๆ ต้องรู้สึกว่าตนมีความสามารถและค้นพบจุดแข็งของตนเอง จึงจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายให้ตนเอง และไม่ยอมแพ้อย่างง่ายดายเมื่อเกิดปัญหา นอกจากนั้น พวกเขาจะมองเห็นแนวทางของตนเอง และเริ่มต้นพัฒนาทักษะเหล่านั้นตามความเหมาะสมด้วย
- นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้การประเมินทักษะและความรู้ของตนเองโดยไม่พึ่งพาคนอื่น กระบวนการนี้เรียกว่าทักษะอภิปัญญา (metacognition) ซึ่งรวมถึงการประเมินว่าจะบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ได้อย่างไร เพื่อให้พวกเขาสร้างเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองและมีเครื่องมือเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- การตั้งเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่พวกเขาสนใจ ช่วยให้เยาวชนเข้าใจว่าพวกเขาสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้อย่างอิสระ
- นักเรียนต้องได้รับประสบการณ์เรียนรู้ที่หลากหลาย ได้ทดลองวิธีการต่างๆ ปรับใช้วิธีการแตกต่างกันในสถานการณ์ที่หลากหลาย รวมทั้งเรียนรู้ที่จะประเมินด้วยตนเองว่าวิธีการใดเหมาะสมกับภารกิจตรงหน้า
สาระสำคัญที่ 3 : ชุมชนการเรียนรู้
สังคมมีบทบาทสูงมากต่อการเรียนรู้ เราอาจเรียนรู้อะไรได้มากมายจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และยังอาจเอาชนะข้อจำกัดของตัวเองได้เมื่อร่วมมือกับผู้อื่น
ในห้องเรียน การเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนแบ่งความรับผิดชอบเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเรียนรู้เดียวกัน และการพยายามบรรลุเป้าหมายไปพร้อมกับการสนับสนุนเพื่อนๆ พวกเขาจะได้เรียนรู้คุณค่าของการทำงานร่วมกัน
เมื่อทำงานกลุ่มร่วมกับผู้อื่น นักเรียนยังได้เรียนรู้การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และหารือกันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันโดยที่ทุกคนต่างรู้สึกว่าตนเป็นสมาชิกกลุ่ม และการแบ่งงานอย่างเท่าเทียมกันภายในกลุ่ม เด็กๆ จะได้ร่วมกันสร้างความรู้ผ่านกระบวนการโต้ตอบกัน โดยที่แต่ละคนอาจมีจุดแข็งและบทบาทในกลุ่มที่แตกต่างกันไป
แม้การเรียนรู้แบบฟินแลนด์จะเน้นบทบาทของผู้เรียนเป็นหลัก แต่ครูมีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ครูอาจชี้แนะให้นักเรียนทำงานและพัฒนาความคิดร่วมกันเป็นกลุ่ม และครูยังมีบทบาทในฐานะตัวอย่างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพด้วย
นอกจากในห้องเรียนแล้ว ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับชุมชนภายนอกโรงเรียนก็ยังมีบทบาทในการเรียนรู้ของเด็กๆ ด้วยเช่นกัน นักเรียนอาจ ‘เรียนรู้ด้วยงานบริการสังคม’ ซึ่งหมายถึงการให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการให้บริการแก่ชุมชน หรือการจัดโครงการให้นักเรียนเยี่ยมบ้านพักคนชราหรือสถาบันอื่นๆ อาจเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับทั้งสองฝ่ายเช่นกัน
ในฟินแลนด์มีโครงการมากมายที่ทำร่วมกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยให้เด็กๆ มีหน้าหนังสือพิมพ์และนำเสนอข่าวของตนเองได้ โครงการในลักษณะนี้ยิ่งเป็นไปได้ง่ายขึ้นเมื่อทำผ่านรูปแบบออนไลน์ กำแพงห้องเรียนไม่สามารถปิดกั้นผู้เรียนได้อีกต่อไป
สมรรถนะการคิดและการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้มุ่งพัฒนาเยาวชนตั้งแต่รากฐาน นั่นคือวิธีการคิดและเรียนรู้ เพื่อต่อยอดไปสู่สมรรถนะอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและคิดเป็น