รวม misc – Growth Mindset ก้าวทีละก้าว หยิบดาวทีละดวง

ทำไมต้องอ่าน The Growth Mindset Playbook?

The Growth Mindset Playbook ฉบับภาษาอังกฤษ

นี่คือคู่มือสร้างชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) คู่โต๊ะครูที่อัดแน่นไปด้วยแบบฝึกหัดที่ใช้ได้จริง และวิธีการสอนที่อ้างอิงจากผลการวิจัย

หากเราต้องการให้นักเรียนพร้อมออกไปใช้ชีวิตที่มีความหมายและมีความสุข ไม่มีบทเรียนใดสำคัญไปกว่าการสอนให้นักเรียนเชื่อมั่นว่าตนมีความสามารถเพียงพอจะกำหนดอนาคตของตัวเอง และไม่มีขีดจำกัดใดจะมาขีดคั่นความสำเร็จของพวกเขาได้

หนังสือเล่มนี้จะชวนให้ครูทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับนักเรียนในชั้นเรียน ที่คอยสนับสนุน ให้กำลังใจ บอกให้พวกเขาก้าวต่อไป มากกว่าจะเป็นครูแบบดั้งเดิมที่คอยตัดสินว่าเด็กเก่งหรือไม่เก่งด้วยคะแนน หรือความประพฤติในห้องเรียน

แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset (The Growth Mindset Playbook) เป็นภาคต่อของ คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset  (The Growth Mindset Coach) โดยแอนนี บร็อก และเฮเธอร์ ฮันด์ลีย์ สองครูผู้ประสบความสำเร็จในการบ่มเพาะชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ให้กับนักเรียน ซึ่งอ่านเสริมกันก็ดี อ่านแยกกันก็ได้

หนังสือเล่มนี้จะติดอาวุธเพิ่มเติมให้กับครูผ่านแบบฝึกหัดที่ใช้ได้จริง และวิธีการสอนที่อ้างอิงจากผลการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นเคล็ดลับการก้าวข้ามความท้าทาย กลวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน แนวทางการให้คำวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เทคนิคสำหรับพัฒนาการสื่อสาร หรือตัวอย่างแผนการสอนที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วม

มาร่วมสร้างชั้นเรียนที่เน้นการเติบโตซึ่งจะช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงศักยภาพในตัวเอง กล้าออกสำรวจประสบการณ์ใหม่ๆ และประสบความสำเร็จทั้งในการเรียนและการใช้ชีวิต ไปกับ แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset

 

โปรดระวังชุดความคิดแบบเติบโตเทียม

แครอล ดเว็ก ผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) เริ่มศึกษาประเด็นหัวข้อนี้ในทศวรรษ 1970 กับกลุ่มนักเรียน และต่อมาเธอก็สังเกตเห็นปรากฏการณ์ชุดความคิดแบบเติบโตแบบเดียวกันนี้ในทุกที่ทุกวงการ ทั้งในแวดวงการศึกษา การเลี้ยงลูก วงการธุรกิจ วงการกีฬา เธอเรียกสิ่งที่เธอพบว่า “ชุดความคิด” และได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ Mindset

เมื่อหนังสือวางจำหน่ายและประสบความสำเร็จ ทฤษฎีชุดความคิดเริ่มได้รับความนิยม ดเว็กสังเกตเห็นแนวโน้มหนึ่งที่ดูน่ากังวล คือมีผู้นำชุดความคิดแบบเติบโตไปใช้แบบไม่ถี่ถ้วน ลดทอนความซับซ้อนของแนวคิดดังกล่าวมากจนเกินไป อย่างเช่นการใช้กลยุทธ์การกล่าวชมซึ่งเป็นอีกวิธีสำคัญในการปลูกฝังชุดความคิดแบบเติบโต แต่ดเว็กพบว่ามีครูที่กล่าวชมความทุ่มเทของนักเรียน แม้ความทุ่มเทนั้นไม่ได้ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง และดูจะเป็นการกล่าวชมแบบหลักลอยเสียมากกว่า เช่น “เยี่ยมมาก! เธออ่านหนังสือเตรียมสอบหนักมากถึงจะสอบไม่ผ่านก็ตาม!”

การชมเช่นนี้มีไว้เพื่อปลอบใจ มากกว่าเพื่อผลักดันให้ก้าวหน้า

ดูจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดไปเยอะหากเข้าใจไปว่าการกล่าวชมความทุ่มเทจะแก้ปัญหาทั้งปวง แม้ทฤษฎีของดเว็กจะเข้าใจง่าย แต่การฝึกให้มีชุดความคิดแบบเติบโตตลอดเวลานั้นทำได้ยาก การกระตุ้นให้ใครสักคนเปลี่ยนชุดความคิดถือเป็นงานช้าง และแม้คนคนนั้นจะมีชุดความคิดแบบเติบโต แต่ก็ยังมีขวากหนามไปสู่ความสำเร็จอีกนับไม่ถ้วน

ชุดความคิดแบบเติบโตเทียมอีกประเภทหนึ่งก็คือคนที่อ้างว่าตนมีชุดความคิดแบบเติบโตอยู่เต็มเปี่ยมตลอดเวลา ซึ่งนั่นเป็นไปไม่ได้ ทุกคนล้วนมีทั้งชุดความคิดแบบเติบโตและแบบตายตัวผสมผสานกันไป การยอมรับว่าตนมีชุดความคิดทั้งสองประเภทซึ่งจะแสดงออกมาในสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่ต่างกันออกไปดูจะดีกว่า จงซื่อสัตย์กับตัวเองและคนรอบข้างเมื่อต้องเผชิญตัวจุดชนวนให้เกิดชุดความคิดแบบตายตัว

การอ้างตนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชุดความคิดแบบเติบโตคือสัญญาณอันตรายว่าเรายังเข้าไม่ถึงแก่นของมัน ต่อเมื่อเข้าใจว่าสิ่งใดที่จะจุดชนวนชุดความคิดแบบตายตัวของตัวเราและเริ่มทดลองหาวิธีรับมือกับสถานการณ์นั้นนั่นแหละ จึงจะเป็นหมุดหมายว่าเรามีชุดความคิดแบบเติบโตอย่างแท้จริง

 

“อย่ายอมแพ้ ครั้งหน้าต้องทำได้แน่!”

เราอยากชวนคุณลองเปรียบเทียบท่าทีของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูระหว่างตอนที่เด็กๆ เล่นกีฬา กับตอนที่พวกเขาเรียนหนังสือ

เมื่อเด็กๆ เล่นกีฬา พ่อแม่จะตะโกนเชียร์สุดเสียง ให้กำลังใจ เป็นทั้งโค้ช แฟนตัวยง และบางครั้งก็เป็นกรรมการ หากเด็กๆ ทำพลาด จะไม่มีใครบอกให้พวกเขายอมแพ้ไปซะ แต่จะได้ยินคำพูดในทำนองว่า

“หนูทำได้!”

“อย่าคลาดสายตาจากลูกบอล!”

“ครั้งหน้าต้องทำได้แน่!”

ไวยากรณ์ชุดความคิดแบบเติบโตอึงอลอยู่ในสนาม เป็นเสียงเชียร์ที่เร้าให้เด็กๆ สร้างสมคุณลักษณะแบบเติบโต

แต่พอเป็นเรื่องเรียน ผู้ใหญ่หลายคนกลับเลือกใช้อคติแบบเหมารวมและคิดด้วยชุดความคิดแบบตายตัว ในแบบที่พวกเขาจะไม่มีทางพูดในสนามกีฬา พวกเขาให้ความสำคัญกับสติปัญญาเป็นอันดับแรก แทนที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ พยายามและพร้อมปรับตัวเหมือนกับตอนอยู่ในสนามกีฬา เราจะไม่ได้ยินใครพูดว่า “พ่อก็เตะบอลห่วยเหมือนกัน ยอมแพ้ไปเถอะลูก!” แน่นอน

พ่อแม่และโค้ชของนักกีฬาตัวน้อยจะไม่กดดันเรื่องการเอาชนะ แต่เมื่อเป็นเรื่องการเรียน พวกเขากลับโยนแนวคิดนี้ทิ้งไปและหันไปให้ความสำคัญกับผลการเรียน คะแนนที่สวยหรู หรือก็คือการประสบความสำเร็จในชั้นเรียน

นั่นจึงเป็นที่มาที่หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อว่า “แบบฝึกเล่น” หรือ Playbook เพราะต้องการสร้างพื้นที่ให้เหมือนกับเมื่อเด็กๆ วิ่งเล่นอยู่ในสนาม ในบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อการสร้างชุดความคิดแบบเติบโต

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมกลวิธี เทคนิค ไอเดีย และงานวิจัยที่จะช่วยให้เข้าใจเรื่องชุดความคิดและตระหนักว่ามันช่วยสร้างผลลัพธ์เชิงบวกได้อย่างไร และเจาะลึกไปถึงแนวคิดและหลักการหลายหัวข้อ ไม่จำกัดเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับชุดความคิดเท่านั้น

หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงสถานการณ์ชวนลำบากใจที่พบได้ในโรงเรียนและวิธีการนำชุดความคิดแบบเติบโตรวมถึงกลยุทธ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปใช้นำทางให้ได้ผลจริง หนังสือจะว่าด้วยการสร้างความสัมพันธ์ การควบคุมวินัย การเอาชนะอุปสรรค และการท้าทายวิธีคิดเก่าๆ พร้อมแสดงให้เห็นว่าการรับมือด้วยชุดความคิดแบบเติบโตนั้นให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้อย่างไร

นี่คือหนังสือแบบฝึกเล่นสำหรับโค้ชอย่างคุณ เอาละ โค้ช ได้เวลาเริ่มเกมแล้ว!

 

ไม่ต้องรีบร้อน ก้าวทีละก้าว หยิบดาวทีละดวง

บางครั้งคุณอาจจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่คุณทำสำคัญแค่ไหน

คุณตั้งใจทำงานตรงหน้าเต็มที่

แต่งานของคุณมีคุณค่าจริงไหม เปลี่ยนชีวิตของใครได้จริงหรือเปล่า

นี่เป็นปัญหาสามัญของเหล่าครูที่ต้องสอนนักเรียนร้อยกว่าคนในแต่ละวัน จนบางครั้งก็ไม่มั่นใจว่าสามารถดูแลนักเรียนทุกคนได้ครบถ้วนหรือไม่ ผู้เขียน แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset มองว่าทำไมไม่ลองดูสักตั้งล่ะ คุณอาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่จะสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับนักเรียนทุกคน แต่ในระหว่างที่พยายามอยู่นั้น ก็อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้วกับนักเรียนหลายคน

ไม่ว่าคุณจะทำอะไร แต่หากคุณท้อหรือคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่มีประโยชน์ ให้นึกถึงเรื่องเล่าต่อไปนี้

ชายคนหนึ่งกำลังเดินคิดอะไรเพลินๆ อยู่ริมชายหาด

เขามองเห็นคนคนหนึ่งทำท่าทางแปลกๆ อยู่ไกลออกไป

จึงเดินตามไปดูด้วยความสงสัย

แล้วเขาก็เห็นว่าเพื่อนร่วมหาดกำลังโยนปลาดาวลงทะเล

“คุณทำอะไรน่ะ” เขาถาม

ชายที่กำลังโยนปลาดาวตอบว่า น้ำซัดปลาดาวพวกนี้ขึ้นมา เขาจึงโยนมันกลับลงไปในทะเล ไม่เช่นนั้นพวกมันคงตายกันหมด

“คุณไม่รู้เหรอว่าชายหาดนี้ยาวหลายไมล์และมีปลาดาวเป็นพันๆ ตัว คุณไม่มีทางโยนได้เร็วพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอก”

ชายหนุ่มหยิบปลาดาวตัวหนึ่งขึ้นมาและโยนมันลงทะเล พร้อมกล่าวว่า

“ผมเพิ่งเปลี่ยนแปลงเจ้าตัวนี้ไป”

จงทำสิ่งที่ทำได้ตามความสามารถที่มีและไม่หยุดแสวงหาวิธีที่จะทำให้ดีขึ้นและมากขึ้น

นี่คือหลักแห่งการเติบโตซึ่งยังผลให้เกิดเรื่องดีๆ ขึ้นและดีกว่าการไม่พยายามทำอะไรเลย

“ก้าวทีละก้าว หยิบดาวทีละดวง”

 

แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset

The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success

Annie Brock และ Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก

อ่านรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่นี่