เพราะสมองเติบโตได้: ฝึกสมองให้ยืดหยุ่น ข้ามผ่านชุดความคิดแบบตายตัว

ปวริศ อำนวยพรไพศาล เรียบเรียง

 

นักเรียนบางคนไม่มั่นใจและสิ้นหวังหลังถูกครูหรือคนใกล้ตัวตีตราว่าเป็น “นักเรียนเลว” คนรอบตัวอาจบอกว่าเขาไม่ฉลาด ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ตัวนักเรียนเองอาจคิดว่าเขาไม่มีทางเปลี่ยนอะไรได้ ชุดความคิดแบบตายตัว (fixed mindset) ขัดขวางไม่ให้เขาเชื่อว่าตนเป็นได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น หากต้องการโน้มน้าวนักเรียนให้เชื่อในศักยภาพของตนเอง บางที อาจต้องใช้เรื่องวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วและจับต้องได้

ปัจจุบันเรามีข้อพิสูจน์ที่ว่านั้นผ่านการศึกษาของนักประสาทวิทยาศาสตร์ ซึ่งเห็นพ้องว่าสมองเป็นอวัยวะที่เติบโตและพัฒนาได้ด้วยการเรียนรู้และความทุ่มเท เมื่อนักเรียนเข้าใจในเรื่องนี้ “ความฉลาด” ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนไปถึงได้หากมุ่งมั่นตั้งใจ

 

สมองเป็นเหมือนกล้ามเนื้อที่พร้อมเติบโต

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าเราสามารถพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรงได้ โดยใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นให้บ่อยขึ้น แต่สิ่งที่เรายังไม่ค่อยรู้กันคือ สมองก็สามารถพัฒนาได้เช่นเดียวกันกับกล้ามเนื้อ

สมองมนุษย์ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทกว่าหนึ่งแสนล้านเซลล์ เซลล์เหล่านี้ทำหน้าที่เก็บข้อมูล รวมถึงส่งและรับสัญญาณระหว่างกันทั่วทั้งร่างกาย เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เซลล์ประสาทจะส่งสัญญาณผ่านทางวิถีประสาทเพื่อทำให้การเรียนรู้สมบูรณ์ ยิ่งฝึกฝนในเรื่องนั้นๆ บ่อยเท่าไร สัญญาณก็จะเคลื่อนที่ผ่านวิถีประสาทเร็วขึ้นเท่านั้น แต่หากปล่อยทิ้งทักษะนั้นๆ ไป เซลล์ประสาทจะทำงานช้าลง นั่นหมายความว่า การฝึกฝนช่วยให้คุณเชี่ยวชาญทักษะซึ่งครั้งหนึ่งคุณเคยทำมันได้อย่างเชื่องช้า

“อย่ามองว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่งเลข แค่บางที คุณอาจให้เวลากับมันไม่มากพอ”

ผู้เขียน แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset (The Growth Mindset Playbook) คือ แอนนี บร็อก (Annie Brock) และ เฮเธอร์ ฮันด์ลีย์ (Heather Hundley) เปรียบการฝึกฝนเป็นดั่งการเดินป่า ครั้งแรกที่เราเดินเข้าป่า ทั้งกิ่งไม้และใบหญ้าอาจเป็นอุปสรรคขวางทางทำให้เดินไม่สะดวก แต่เมื่อเดินย่ำบนเส้นทางเดิม แผ้วถางพุ่มไม้ หลบหลีกสิ่งกีดขวางบ่อยๆ เข้า สุดท้ายเราจะได้เส้นทางราบเรียบ เดินได้สะดวกสบายกว่าเดิม แต่หากเราหยุดใช้เส้นทางนั้นสักหลายเดือน วัชพืชจะเติบโตคลุมไปหมด เช่นเดียวกัน หากเราไม่ได้ใช้งานทักษะนั้นๆ แล้ว วิถีประสาทย่อมเสื่อมสภาพไป ที่สำคัญคือนักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่า สมองของเรามีความยืดหยุ่นตลอดชีวิต ซึ่งหมายถึงความสามารถที่สมองจะเปลี่ยนแปลงและเติบโต เราสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดีแม้จะสูงวัย

 สำนวน “practice makes perfect” ซึ่งแปลว่า “การฝึกฝนทำให้เชี่ยวชาญ” ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดลอยๆ

นี่คือรากฐานสำคัญของทฤษฎีชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) เพราะเราเชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาได้

 

สมองที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

หนังสือ แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset ได้แนะนำกิจกรรมสำหรับเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของสมอง (brain plasticity) ซึ่งกิจกรรมนั้นก็ง่ายมาก คือ ให้นักเรียนลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัดทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเขียนด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด การขว้างหรือโยนสิ่งของ สิ่งสำคัญของกิจกรรมนี้คือการให้พวกเขาเข้าใจถึงความรู้สึกเมื่อได้ทำสิ่งใหม่ๆ และรู้สึกติดขัด แล้วอธิบายถึงความเชื่อมโยงกับสมองว่าอาการติดขัดนั้นสื่อถึงการเติบโตของสมองอย่างไร หากเราพยายามและหมั่นฝึกฝนก็จะคุ้นเคยและชินไปเอง

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำ เรียนเนื้อหาใหม่ หรือช่วงเวลาที่นักเรียนรู้สึกไม่สบายใจในการเรียน ให้พวกเขาอธิบายความรู้สึกดังกล่าวหรือปัญหาติดขัดนั้น เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะสมองกำลังเติบโตและเปลี่ยนแปลง

 

ฝึกฝนอย่างมีเป้าหมาย

แนวคิดหนึ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การฝึกฝนทำให้เกิดผลถาวร ปีเตอร์ บราวน์ (Peter Brown) และผู้เขียนร่วมซึ่งเป็นนักจิตวิทยา ทั้งมาร์ก แมคแดเนียล (Mark McDaniel) และเฮนรี โรดิเกอร์ (Henry Roediger) อธิบายในหนังสือ Make It Stick: The Science of Successful Learning ว่าเราต้องฝึกฝนอย่างที่เราต้องการปฏิบัติจริง เพราะคนเราจะปฏิบัติตามที่ได้ฝึกมา

โดยผู้เขียนยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดกับตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส เมื่อนายตำรวจได้ทำการปลดอาวุธของคนร้าย แต่ด้วยความเคยชินจากการส่งอาวุธคืนให้คู่ฝึกซ้อมหลังปลดอาวุธ เขาจึงลืมตัวนำอาวุธส่งคืนให้คนร้าย

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นจะทำการฝึกฝนมากเพียงใด สมองของเขาก็ยังขาดการทำความเข้าใจในสถานการณ์ที่ต่างออกไป ดังนั้นครูจึงไม่อาจคาดหวังให้นักเรียนเรียนดีขึ้นได้ด้วยการอ่านมากขึ้นหรือทบทวนคู่มือนานขึ้น ครูจำเป็นต้องสอนเทคนิคและวิธีที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ ดังที่จะกล่าวถึงในส่วนถัดไป

 

กลวิธีส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ

ด้วยข้อมูลจากงานวิจัยใหม่ๆ เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้นักเรียน โดยใช้กลวิธีต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้วิถีประสาทแข็งแรงและคงทนยิ่งขึ้น ได้แก่

  • ทดสอบย่อย แบ่งเวลาสักสามถึงห้านาทีในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกดึงความรู้ที่ได้เรียนไปมาใช้ เน้นไปที่การคิดทบทวน ไม่ใช่เพียงแค่การจดจำ และไม่นำการทดสอบย่อยเป็นตัวชี้วัดผลการเรียน
  • กระจายการฝึกฝน แทนที่จะให้ทำแบบฝึกหัดข้อใหญ่หนึ่งข้อในวันเดียว ให้กระจายเป็นการฝึกฝนทำแบบฝึกหัดย่อยๆ โดยเน้นไปที่การได้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ
  • อุปสรรคที่มีประโยชน์ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสการเรียนที่เข้มข้น แบบฝึกหัดที่ต้องใช้ความพยายามจะส่งผลดีต่อความทรงจำระยะยาว อุปสรรคจะกระตุ้นให้สมองได้เรียนรู้และทบทวนความรู้
  • 3-2-1 ให้นักเรียนเขียนทบทวนเรื่องที่ได้เรียนรู้จากเนื้อหาในคาบก่อนหน้าหรือเนื้อหาที่เรียนไปในวันนั้นๆ สามข้อ ประเด็นที่นักเรียนคิดว่าน่าสนใจสองข้อ และคำถามเกี่ยวกับบทเรียนที่สงสัยอีกหนึ่งข้อ
  • อุ่นเครื่อง กระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ หากิจกรรมให้นักเรียนได้ขบคิดและแลกเปลี่ยนไอเดีย ลองถามคำถามปลายเปิด หรือเชื่อมโยงเนื้อหาที่เรียนเข้ากับแนวคิดในชีวิตประจำวัน
  • เทคโนโลยี อาศัยเทคโนโลยีหรือโปรแกรมเข้ามาส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนการเรียนรู้ของตัวเอง
  • ประเมินความก้าวหน้า ให้นักเรียนบันทึกคำตอบและนำเสนอผลงานของตัวเอง คอยอำนวยความสะดวกให้นักเรียน พร้อมตรวจสอบความเข้าใจและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์

 

การดึงความรู้ออกมาใช้

คนเราล้วนมีความแตกต่างกันไปเป็นปกติธรรมดา วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละคนนั้นมีมากมายและหลากหลาย ในที่นี้มีกลวิธีการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ การดึงความรู้ออกมาใช้ (retrieval practice)

ปูชา อัครวัล (Pooja Agarwal) ผู้เป็นทั้งอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์การรู้คิด (cognitive scientist) และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ retrievalpractice.org บอกว่ากลวิธีการเรียนรู้ที่นักเรียนใช้กันอยู่นั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เราหมกมุ่นอยู่แต่กับการยัดข้อมูลมากเกินไป สนใจอยู่แต่กับการจดจำเนื้อหา ทั้งการไฮไลต์โน้ตหรืออ่านทวนซ้ำหลายรอบจนเกินจำเป็น ซึ่งเขามองว่าเป็นการเรียนแบบระยะสั้นและไม่น่าสนับสนุน

สิ่งที่อัครวัลส่งเสริมคือการเรียนแบบระยะยาว การดึงข้อมูลออกมาใช้เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เค้นข้อมูลออกมาจากสมองอย่างช้าๆ (และบางทีก็ลำบากยากเย็น!) การทำแบบทดสอบคือตัวอย่างหนึ่งของการดึงข้อมูลออกมาใช้ เช่น หลังจากที่ครูสอนเนื้อหาแล้ว ในวันถัดมาก็ให้นักเรียนทำแบบทดสอบเพื่อดึงความรู้ออกมา

อัครวัลและทีมวิจัยชี้ให้เห็นว่านักเรียนที่ใช้กลวิธีการดึงความรู้ออกมาใช้ จะรู้สึกกังวลกับการสอบน้อยลงถึง 67 เปอร์เซ็นต์ และแนะนำให้ปรับใช้กลวิธีนี้ควบคู่กับการสอนในแต่ละวันโดยไม่มีการลงโทษหรือตัดคะแนน

บร็อกและฮันด์ลีย์ได้ออกแบบใบงานกิจกรรมการดึงความรู้ออกมาใช้สำหรับแจกก่อนและหลังเลิกเรียนไว้ดังนี้ โดยแนะนำให้ปรับใช้กับการสอนในทุกวันและปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของนักเรียน

ความยืดหยุ่นของสมอง พื้นฐานของการเติบโต

แก่นของเนื้อหาในบทความนี้คือต้องการสอนให้นักเรียนเข้าใจพลังความยืดหยุ่นของสมอง เพื่อให้นักเรียนมั่นใจในศักยภาพของตนเองว่าพวกเขาสามารถเติบโตและพัฒนาได้อีกมาก การสอนวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดเรื่องชุดความคิดเป็นส่วนสำคัญที่ไม่อาจตัดออกจากขั้นตอนการสร้างห้องเรียนที่เน้นการเติบโตได้

การทุ่มเทและฝึกฝนเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการพัฒนา จำไว้ว่าความผิดพลาดเป็นเพียงความพยายามของสมองที่จะสร้างการเชื่อมต่อใหม่ๆ ความหงุดหงิดรำคาญใจระหว่างนั้นก็เป็นแค่ความรู้สึกตอนที่สมองกำลังสร้างวิถีประสาทขึ้นใหม่ เมื่อนักเรียนเข้าใจความมหัศจรรย์ของสมอง พวกเขาจะเริ่มมองอุปสรรคและความท้าทายว่าเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการเรียนรู้ จะไม่มองว่าตนด้อยความสามารถ

 

The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset

The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success

Annie Brock และ Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปกอ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่