เคล็ดลับสร้างสายสัมพันธ์ที่มั่นคงกับลูก: รวมเกร็ดชวนอ่านจากหนังสือ “เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน”

เรื่อง: ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์

 

“ความสัมพันธ์ที่มั่นคงยืนยาว” คือของขวัญที่หลายคนปรารถนา ไม่ว่าในความสัมพันธ์ฉันคู่รักหรือความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะระหว่างพ่อแม่ลูก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ และนี่คือบางส่วนของเคล็ดลับในการสร้างสายสัมพันธ์ที่มั่นคง คัดสรรจากหนังสือ เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน (The Book You Wish Your Parent Had Read)

การตอบรับและสนใจซึ่งกันและกัน

นอกจากความรักที่มีให้กันแล้ว การแสดงออกก็เป็นสิ่งที่ช่วยประคับประคองความสัมพันธ์ได้ และหนึ่งในการแสดงออกสำคัญที่เราไม่ควรละเลยก็คือ “การตอบรับและสนใจซึ่งกันและกัน”

จอห์น กอตต์แมน นักจิตวิทยา จัดการทดลองชิ้นหนึ่ง โดยสังเกตคู่รัก 130 คู่ที่ใช้เวลาร่วมกันหนึ่งวันในบ้านพักตากอากาศ เขาพบว่าเวลาที่อยู่ด้วยกัน คู่รักจะทำสิ่งที่กอตต์แมนเรียกว่า “การเรียกร้อง” ที่จะสร้างสัมพันธ์

ตัวอย่างเช่น ถ้าคนหนึ่งอ่านหนังสืออยู่แล้วพูดขึ้นว่า “ลองฟังอันนี้สิ” แล้วอีกคนหนึ่งวางหนังสือของตัวเองลงพร้อมฟัง การเรียกร้องของเขาก็จะได้รับการตอบสนอง ซึ่งเป็นสัญญาณของการสนับสนุนและความสนใจ

การตอบรับคำเรียกร้องของใครสักคนเป็นการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของเขา กอตต์แมนพบว่า คู่รักที่แยกทางกันหลังจากหกปีผ่านไป มีอัตราตอบรับการเรียกร้องเพียง 3 ใน 10 เท่านั้น ปฏิสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันเช่นนี้ก่อให้เกิดความปรารถนาดีและการเยียวยากัน ซึ่งถ้าขาดทั้งสองอย่างนี้ไป ความสัมพันธ์ของเราจะไม่ยืนยาว

การตอบรับและสนใจกันเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสัมพันธ์ที่งอกงาม และสิ่งที่จริงแท้สำหรับคู่รักนั้นก็เป็นสิ่งจริงแท้สำหรับทุกความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก

ปฏิสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันก่อให้เกิดความปรารถนาดีและการเยียวยากัน ซึ่งถ้าขาดทั้งสองอย่างนี้ไป ความสัมพันธ์ของเราจะไม่ยืนยาว

การรับฟังโดยไม่ตัดสินและเปิดช่องทางสื่อสารไว้เสมอ

 

ถ้าคุณอยากให้ลูกพูดคุยกับคุณได้ทุกเรื่อง คุณต้องไม่บอกลูกว่าเขา “เพ้อเจ้อไร้สาระ”

ตอนที่ลูกยังเล็ก เด็กๆ อาจพูดถึงผีหรือสัตว์ประหลาดที่ซ่อนอยู่ใต้เตียง พ่อแม่หลายคนมักบอกปัดไปว่าผีไม่มีจริงหรอก แต่ก่อนจะตัดบทเช่นนั้น ขอให้คุณมุ่งความสนใจไปที่ความรู้สึกของลูกมากกว่าเรื่องราวหรือเหตุผลที่เขาอธิบาย

แทนที่จะรีบปฏิเสธความคิดของลูกทันที ลองพูดชื่อความรู้สึกต่างๆ ออกมาเพื่อดูว่าสัตว์ประหลาดของเขาหมายถึงอะไร เช่น “ลูกกลัวใช่ไหม เล่าให้แม่ฟังอีกสักหน่อยได้ไหม” หรือ “เรามาแต่งนิทานเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดพวกนี้กันดีกว่า มันชื่ออะไรกันบ้างนะ” คุณจะใช้วิธีไหนก็ได้ที่เหมาะกับบุคลิกของตัวเอง สิ่งสำคัญอยู่ที่การใช้เวลากับลูกจนเขาสบายใจโดยไม่ตัดบทว่าไร้สาระมากกว่า

การทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองงี่เง่าด้วยคำพูดว่า “อย่าเพ้อเจ้อน่า ลูกก็รู้นี่ว่าสัตว์ประหลาดไม่มีจริง” ไม่น่าจะช่วยปลอบประโลมเขาได้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องเปิดช่องทางการสื่อสารไว้เสมอ ถ้าคุณตัดบทด้วยการบอกว่าลูกเพ้อเจ้อ อีกหน่อยเขาก็จะอมพะนำทั้งเรื่องที่ “เพ้อเจ้อ” รวมถึงเรื่องที่คุณไม่ถือว่าเพ้อเจ้อด้วย

ถ้าคุณตัดบทด้วยการบอกว่าลูกเพ้อเจ้อ อีกหน่อยเขาก็จะอมพะนำทั้งเรื่องที่ “เพ้อเจ้อ” รวมถึงเรื่องที่คุณไม่ถือว่าเพ้อเจ้อด้วย

ถ้าคุณอยากให้ลูกพูดคุยด้วยได้ทุกเรื่อง แต่กลับบอกว่าลูกงอแงไร้สาระเวลาเขาบ่นไม่อยากกินผัก ลูกก็อาจรู้สึกว่าเขาเล่าให้คุณฟังไม่ได้ถ้าโดนครูโรคจิตลูบไล้ขา ผู้ใหญ่อย่างเราเห็นว่าสองเหตุการณ์นี้แตกต่างกันชัดเจน แต่เด็กๆ มองว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้ถือว่า “น่าขยะแขยง” เหมือนกัน

ลูกของคุณยังไม่ได้เห็นโลกหรือผ่านร้อนผ่านหนาวมาเท่าคุณ ยังไม่ได้อ่านทุกอย่างที่คุณอ่าน ยังไม่เข้าใจเรื่องเพศ และยังไม่ได้เรียนรู้ว่าต้องตกใจเมื่อโดนลวนลาม แบบเดียวกับที่ตกใจเวลากินอาหารที่ไม่ชอบ สำหรับเด็กๆ แล้ว ทั้งสองอย่างถือเป็นการคุกคามประสาทสัมผัสของเขาเหมือนกัน

เมื่อคุณบอกเด็กสักคนว่าเขาเพ้อเจ้อไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม นั่นเป็นการปิดช่องทางสื่อสารของเขากับคุณ และถ้าคุณมองข้ามเรื่องน่าขยะแขยงบางเรื่องโดยคิดว่าไร้สาระ ลูกก็จะรู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะต้องอายหากเล่าอะไรให้คุณฟังอีก

เรียนรู้วิธีสร้างความร่วมมือกับลูก และเข้มงวดในระดับที่ ‘พอดี’ 

 

 

การเข้มงวดกับลูกอาจเป็นวิธีที่พบบ่อยที่สุดเมื่อพ่อแม่ต้องการฝึกวินัยให้กับลูก เช่น ยืนกรานว่าลูกต้องทำความสะอาดห้อง ถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ แต่นี่คือวิธีที่เหมาะสมแล้วหรือ

ไม่มีใครชอบถูกบังคับให้ทำตามความต้องการของคนอื่นหรอก รวมทั้งเด็กๆ ด้วย เด็กบางคนอาจจะหัวอ่อน แต่ไม่ใช่ทุกคน การบังคับจะนำไปสู่ความห่างเหิน ความคิดว่าใครแพ้ใครชนะ ความอับอาย และความโกรธ

สิ่งที่น่ากลัวก็คือ คุณจะกลายเป็นตัวอย่างของ “การเป็นฝ่ายถูกเสมอ” “ความไม่ยืดหยุ่น” และไม่รู้จักข่มความหงุดหงิดเสียเอง เวลาคุณบังคับให้ลูกทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็อาจเป็นการสอนลูกโดยไม่ตั้งใจว่าเขาต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอ ไม่ต้องยืดหยุ่น และไม่ต้องอดกลั้น

ถ้าคุณมักใช้อำนาจกับลูก ก็เสี่ยงจะทำให้ลูกมีปัญหาเมื่อต้องสัมพันธ์กับอำนาจหน้าที่ในแง่ต่างๆ ต่อไปในอนาคตด้วย โดยอาจปิดกั้นให้เขาไม่สามารถร่วมมือกับผู้มีอำนาจหรือไม่อาจเป็นผู้นำเองได้ หรือไม่คุณก็อาจบ่มเพาะผู้นำเผด็จการขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

สรุปง่ายๆ ว่า การบังคับลูกให้ทำตามคุณตลอดเวลาไม่ใช่วิธีสร้างเสริมคุณธรรมหรือความร่วมมือที่ดีเลย และไม่ใช่วิธีที่ดีหากคุณจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกด้วย

อย่างไรก็ตาม การตามใจลูกก็คงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเช่นกัน วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาร่วมกันได้คือการสร้างความร่วมมือ เมื่อคุณกับลูกจับเข่าคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร คุณจะกลายเป็นคนชี้แนะมากกว่าออกคำสั่ง

วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาร่วมกันได้คือการสร้างความร่วมมือ เมื่อคุณกับลูกจับเข่าคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร คุณจะกลายเป็นคนชี้แนะมากกว่าออกคำสั่ง

แล้ววิธีสร้างความร่วมมือเป็นอย่างไร ลองดูตัวอย่างกรณีที่คุณอยากให้ลูกทำความสะอาดห้อง

  1. นิยามปัญหาด้วยการบอกความต้องการของคุณ เช่น “แม่อยากให้ห้องของลูกสะอาดและอยากให้ลูกเก็บของในห้องให้เรียบร้อย”
  2. ค้นหาความรู้สึกเบื้องหลังการแสดงออกของลูก ลูกอาจต้องการให้คุณช่วยเรื่องนี้ เช่น “ลูกคิดว่าไม่ยุติธรรมหรือเปล่าที่ลูกต้องเก็บห้องอยู่คนเดียวทั้งที่เพื่อนเป็นคนทำรก” หรือ “ลูกรู้สึกว่างานนี้ยากเกินไปและทำเท่าไรก็ไม่เสร็จหรือเปล่า”
  3. ทวนถามความรู้สึกเหล่านั้น เช่น “แม่เข้าใจว่าลูกรู้สึกไม่ยุติธรรม” หรือ “เวลาที่เราเริ่มทำงานใหญ่ ก็อาจรู้สึกหนักหนาแบบนี้ละ”
  4. ระดมสมองเพื่อหาวิธีแก้ปัญหา เช่น “แม่ยังอยากให้ห้องสะอาดอยู่ดี วิธีไหนถึงจะง่ายที่สุดสำหรับลูก”
  5. ทำตามแผน และกลับมาทำขั้นตอนเหล่านี้อีกครั้งถ้าจำเป็น

สิ่งสำคัญก็คือ นอกจากห้องจะสะอาดแล้ว ทั้งคุณและลูกยังได้เปิดอกคุยกันด้วยว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไร เป็นการดูแลความสัมพันธ์กับลูก เรียนรู้ที่จะประนีประนอมและแก้ปัญหาร่วมกัน อย่าลืมว่างานที่แท้จริงของพ่อแม่ไม่ใช่การทำความสะอาด แต่เป็นการอยู่กับลูกและช่วยให้เขาพัฒนาตัวเองต่างหาก

วิธีสร้างความร่วมมือนี้ยังช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับพฤติกรรมการเข้าสังคม ได้แก่ การข่มความหงุดหงิด ความยืดหยุ่น ทักษะการแก้ปัญหา และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอีกด้วย

อย่าลืมว่างานที่แท้จริงของพ่อแม่ไม่ใช่การทำความสะอาด แต่เป็นการอยู่กับลูกและช่วยให้เขาพัฒนาตัวเองต่างหาก

เรียนรู้วิธีสานสัมพันธ์ที่มั่นคงในครอบครัว พร้อมคำแนะนำที่นำไปประยุกต์ใช้ได้จริงได้ในหนังสือ

เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน
(The Book You Wish Your Parents Had Read)
Philippa Perry เขียน
ดลพร รุจิรวงศ์ แปล