[su_note note_color=”#fcf0e2″]นี่คือข้อเขียนเพื่อขยายความหนังสือ เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน เขียนโดย Philippa Perry แปลโดยดลพร รุจิรวงศ์
หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เข็มทิศที่คอยชี้นำทางให้พ่อแม่ แต่เปรียบเสมือน “กระจก” ที่สะท้อนภาพความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างเข้าอกเข้าใจและไม่ตัดสิน เพื่อให้คุณและลูกเปิดใจพร้อมจะซ่อมแซมความสัมพันธ์ และก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางนี้ได้อย่างมั่นคง[/su_note]
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ถ้าหนูไม่มีอะไรต่อแม่ หนูก็ไม่มีตัวตน
บทที่ 5 นี้พูดถึงการก่อเกิดปัญหาสุขภาพจิตของเด็กๆ เป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นฐานที่สุดคือความไม่มีตัวตน (self) ของเด็กๆ โดยเริ่มจาก “เรื่องง่ายๆ ที่ยากที่สุด” คือพ่อแม่ควรตอบสนองต่ออารมณ์ของเด็กให้เหมาะสม
เด็กร้องไห้ พ่อแม่จำนวนหนึ่งรู้จิตวิทยาเชิงบวกสามารถตอบสนองเหมาะสม พ่อแม่ส่วนหนึ่งสติแตกไม่ฟาดก็เดินหนี พ่อแม่อีกส่วนหนึ่งละล้าละลังอยากจะทำอะไรให้ถูกต้องแต่ไม่รู้จะทำอะไร ทำไปก็ไม่เกิดผล “มัน” แหกปากไม่รู้จักหยุด แล้วคุณหมอจะให้ทำอะไรมิทราบ
อ่านต่อ
เรามาดูเรื่องพ่อแม่ติดโทรศัพท์ หนังสือเล่มนี้ไม่เกรงใจลูกค้าที่ซื้อหนังสือซึ่งเป็นพ่อแม่เลย เขาเขียนว่าอาการติดโทรศัพท์ไม่ต่างจากติดเหล้าหรือสารเสพติด พ่อแม่ที่ติดเหล้าหรือสารเสพติดเป็นที่รู้กันว่าเลี้ยงลูกได้ไม่ดีนัก (หนังสือเขียนนะครับ มิใช่ผมเขียน) คนติดโทรศัพท์ก็ไม่ต่างกันเท่าไรนะคะ (หนังสือเขียนจริงๆ ไม่ใช่ผม) แต่ประโยคต่อมาน่าสนใจมาก
เขาเขียนว่าการไม่มีปฏิสัมพันธ์ที่มากพอกับลูกทำให้เกิด “พื้นที่ว่างเปล่า” ในตัวลูก แล้วลูกจะหา “อะไร” มาเติมพื้นที่ว่างเปล่านั้น ประโยคนี้เป็นจิตวิเคราะห์ ที่ซึ่งบางครั้งจิตใจก็เป็นสสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตใต้สำนึกนั้นมีพื้นที่และปริมาณ ผู้เขียนเขียนถูกต้องครับ
ลองนึกถึงร้านอาหารเวลานี้ พ่อแม่หลายท่านเล่นมือถือแทนที่จะนั่งพูดคุยกับลูกระหว่างรออาหาร มากกว่านี้คือลูกเล็กๆ ไม่เกิน 4-5 ขวบก็ก้มหน้าเขียนไอแพดด้วย พ่อแม่หลายท่านต้องทำงาน หารายได้ อันนี้เข้าใจ แต่กริยามือหนึ่งอุ้มทารก อีกมือหนึ่งมองมือถือ แม้ว่าทารกจะหลับก็ไม่ควรทำบ่อยนัก เพราะทารกรู้สึกได้ว่าคุณภาพการอุ้มและการกอดของคุณไม่สมบูรณ์ เชื่อยากใช่มั้ยครับ ย่อหน้านี้ผมเขียนเอง คนเขียนหนังสือมิได้เขียน ผมเขียนบนฐานจิตวิเคราะห์เช่นเดียวกัน อย่าดูหมิ่นจิตใต้สำนึก
ทารกฟังรู้เรื่องแม้ว่าเขาจะไม่รู้เรื่อง มีข้อแนะนำว่าเราควรฝึกพูดขณะหรือก่อนจะทำอะไรบางอย่างให้ทารกรับรู้ เช่น บอกเขาว่าเราจะแกะเข็มขัดที่ล้อเข็นนะคะ จะอุ้มลูกไปที่รถนะคะ จะวางลูกที่เก้าอี้นิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัยที่รถนะคะ ฝึกพูดแล้วเว้นช่วง รอเวลาให้ลูกซึมซับกริยาและท่าทีของเรา จากนั้นค่อยลงมือทำสิ่งที่พูด อะไรๆ จะง่ายขึ้นมาก นี่เป็นข้อแนะนำที่ดีเหลือเกินและควรทำมาก นัยยะของคำแนะนำนี้คือเราใส่ใจและเคารพ “ตัวตน” ของลูก แม้ว่าเขาจะเป็นทารกก็ตาม เปรียบเสมือนเราดูแลลูกค้าหรือผู้มารับบริการด่านหน้าที่สถานที่ราชการใดๆ ก็ตาม มองเห็นเขา ตอบรับเขา พูดอะไรบ้าง ว่าจะทำอะไรเพื่อเขา ขอเท่านี้เอง
หากเรามาสนใจลูก เขาจะเรียกร้องความสนใจมากขึ้น ประโยคนี้เป็นความจริง และหากเขาเรียกร้องความสนใจมากขึ้น แล้วเรายังไม่ตอบสนอง เขาจะเรียกร้องความสนใจมากขึ้นอีก ประโยคนี้ก็จริงอีก หนังสือเล่มนี้ว่าเรื่องจะไปจบที่เกเร ผมขอเติมว่าเรื่องอาจจะไปจบที่การโกหกและลักขโมยด้วย เมื่อถึงตอนนั้นเราจะหนาว
เกเร โกหก ลักขโมย พลันที่สามประการนี้เกิดขึ้น ตรรกะข้อนี้ง่ายมาก เราไม่เอาไหนมากจนถึงกับปล่อยให้สามเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ เราผู้ก่อเหตุจะแก้ไขได้อย่างไรกัน พฤติกรรมทั้งสามอย่างจะวนลูปทำร้ายตัวเองให้หนักข้อขึ้นทุกวัน โจทย์ยากอยู่แล้วทวีความยากมากขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้ป้องกันได้อย่างไร – อุ้มและตอบสนองทารก – เท่านั้นเอง
“การฝึกให้ลูกนอนเองไม่ได้ทำให้ลูกไม่ต้องการคุณอีก แค่ทำให้เขาไม่ร้องหาคุณเท่านั้น” คนเขียนเขียน มิใช่ผม!
ช่างเป็นประโยคที่ชวนหนาวมาก ทารกที่อีกห้องหนึ่งไม่ร้องหาเราแล้วจะไปร้องหาผีที่ไหน ไม่นับว่าผีบ้านเราชุมมากชอบออกมาตอนตีสองตีสาม เป็นที่สังเกตว่าระยะหลังมีหนังสือที่ชาวตะวันตกเขียนเรื่องการแยกห้องนอนและฝึกลูกนอนเองว่าก่อผลเสียมากกว่าผลดีมากขึ้นทุกที เรื่องนี้ผมตอบคำถามพ่อแม่ที่ถามทุกคนว่าไม่น่าจะมีประเด็นทางจิตวิทยา เป็นประเด็นทางวัฒนธรรมเสียมากกว่า บ้านเราผีเยอะ ปู่ย่าตายายไม่สบายใจจะทำให้เราและทารกไม่สบายใจไปด้วยก็เอามานอนด้วยกันเถอะ บ้านฝรั่งผีน้อยกว่าทุกคนเฉยๆ ชิลๆ ก็เฉยๆ ชิลๆ ไม่น่าจะมีอะไร ผมมักสำทับไปด้วยว่าสังคมวิทยาเขียนว่าตะวันตกหนาวมากถึงตาย ทารกและเด็กจำเป็นต้องช่วยตัวเองเร็วมาก บ้านเราจะอย่างไรก็มีกินสามฤดูเราประคบประหงมมากกว่าได้ไม่เป็นไร แต่หนังสือฝรั่งบางเล่มเริ่มมีประโยคที่ว่าตะวันตกแยกห้องนอนเพื่อให้ตัวเองมีเวลาไปสร้างฐานะมากขึ้น เป็นคำพูดที่โหดร้าย
นอกจากเรื่องการนอนแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มหนึ่งที่พูดเรื่องจังหวะ หากเราเลี้ยงทารกและเด็กเล็กให้รู้จักจังหวะชีวิต เขาจะทำอะไรต่อมิอะไรส่วนที่เหลือได้เอง แต่คำว่าจังหวะในที่นี้ดูเหมือนจะมีความหมายบางส่วนแตกต่างกัน เราเคยมีคำแนะนำว่าเลี้ยงลูกให้รู้จักจังหวะเวลา เวลาไหนควรทำอะไร เขาจะทำอะไรต่อมิอะไรที่เหลือได้เอง หนังสือเล่มนี้ขยายความคำว่าจังหวะไปอีกลักษณะหนึ่ง กล่าวคือหากเราปล่อยให้ทารกและเด็กเล็กพัฒนาจังหวะชีวิตของตัวเองด้วยตัวเอง แล้ววันหนึ่งเขาจะทำอะไรต่อมิอะไรได้เอง เช่นนี้พ่อแม่อย่างเราๆ ก็จะมีคำถามว่าสรุปแล้วอยากให้เราเคร่งครัดกับจังหวะเวลาหรือเราควรปล่อยให้ลูกรู้จังหวะชีวิต
ตอบแบบเอาตัวรอดดังที่นักวิชาการชอบทำกันคือ ถูกทั้งคู่
บางเรื่องเราให้ลูกรู้จังหวะชีวิตเอง ตัวอย่างคลาสสิกคือเรื่องที่เด็กเป็นผู้พัฒนาการกินและการกลืนด้วยตนเอง (Baby Led Weaning – BLW) แต่เรื่องเดียวกันนี้เรามีข้อแนะนำเรื่องจังหวะเวลาด้วย เด็กควรกินข้าวตรงเวลาและเสร็จสิ้นในเวลา เนื่องจากการกินเป็นกระบวนการแรกสุดของชีวิต อวัยวะที่ใช้กินและย่อยรวมทั้งขับถ่ายอยู่ที่ศูนย์กลางของร่างกายซึ่งอยู่ที่ศูนย์กลางของจักรวาล เราจึงแนะนำให้ควบคุมตนเองที่เรื่องนี้ให้ดีที่สุดก่อน อะไรๆ จะดีได้ง่ายๆ เองภายหลัง
ถัดจากการกินคือการนอน เราแนะนำให้เด็กเข้านอนกลางคืนตรงเวลา แต่เรื่องนอนกลางวันอาจจะดูลักษณะของเด็กๆ เป็นคนๆ ไป เขาควรพัฒนาจังหวะการนอนได้ด้วยตัวเองถ้าเราไม่ยุ่มย่ามกับเขามากจนเกินไป พ้นจากการกินและการนอนก็ตัวใครตัวมันละครับ
ในตอนท้ายๆ ของบทที่ 5 นี้มีถึงกับบอกว่าเราไปกำหนดจังหวะอะไรเด็กๆ ไม่ได้ผลหรอก สุดท้ายเขาก็จะทำแบบที่เขาเป็นอยู่ดี ประโยคอะไรแบบนี้ผมพูดบ่อยกับกรณีวัยรุ่น สุดท้ายเราพูดอะไรไปก็ไม่เป็นผลหรอก สุดท้ายวัยรุ่นจะทำตามที่เขาอยากทำอยู่ดี และถ้าผมจะเอาตัวรอดอีกครั้งหนึ่งก็จะบอกว่า “ถูกทั้งคู่”
ทารกก็ดี วัยรุ่นก็ดี สุดท้ายก็จะมีอะไรบางอย่างที่เราไม่ปล่อยปละละเลย ทารกคือการกินและการนอน วัยรุ่นคืออันตรายที่ถึงแก่ชีวิต พ้นจากเรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของเด็กๆ แต่ละคนจริงๆ
กลับไปที่ตอนต้นของบทที่ 5 นี้ ประเด็นของเรื่องคือเด็กจำเป็นต้องมีตัวตน ดังนั้นเราไม่ทำเขาเป็นมนุษย์ล่องหน เราต้องตอบสนอง สมมติว่าตอบสนองไม่เป็นเพราะเราไม่ฉลาดพอจะสรรหาคำพูดเด็ดๆ อะไรมาสะท้อนความรู้สึกลูกได้ทุกครั้ง หลายครั้งเราสติแตกไปเสียก่อนแล้ว ที่ผมแนะนำเสมอคือนั่งลง อย่าเดินหนี อย่าทิ้ง อย่าขัง พูดไม่เป็นก็ไม่ต้องพูด นั่งหน้าง่าวอยู่อย่างนั้นเป็นเพื่อนเขาก็ดีแล้ว เท่านี้ลูกก็เห็นคุณแคร์เขาแล้วครับ เห็นคุณ มีสายสัมพันธ์ มีตัวตน พัฒนาการสามขั้นแรกเกิดได้ตลอดเวลา ไม่ยาก แน่นอนว่าถ้าท่านรู้วิธีสะท้อนความรู้สึก สะท้อนอารมณ์ หรือสะท้อนคำพูดของเด็กๆ ได้ดีย่อมดีกว่า แต่ไม่เป็นไรหรอก คนเราฉลาดไม่เท่ากันอยู่แล้วรวมทั้งเราด้วย
บทที่ 5 นี้โหดร้าย บทที่ 6 อันเป็นตอนจบก็ยาวมาก ขอต่ออีกตอนนะครับ
เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน
Philippa Perry เขียน
ดลพร รุจิรวงศ์ แปล
280 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่