อ่าน ‘เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)

[su_note note_color=”#fcf0e2″]นี่คือข้อเขียนเพื่อขยายความหนังสือ เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน เขียนโดย Philippa Perry แปลโดยดลพร รุจิรวงศ์

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เข็มทิศที่คอยชี้นำทางให้พ่อแม่ แต่เปรียบเสมือน “กระจก” ที่สะท้อนภาพความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างเข้าอกเข้าใจและไม่ตัดสิน เพื่อให้คุณและลูกเปิดใจพร้อมจะซ่อมแซมความสัมพันธ์ และก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางนี้ได้อย่างมั่นคง[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

นั่งลงเป็นเพื่อนแล้วฟังลูก

 

บทนี้พูดเรื่องพ่อแม่ที่คิดว่าเวลาลูกร้องไห้ หรือขัดใจ หรือโมโห ที่ควรทำคือเฉยเมย เบี่ยงเบนไปเรื่องอื่น หรือทิ้งเขาไว้คนเดียว ทั้งสามประการเป็นความผิดพลาด

พ่อแม่บางท่านคิดว่าเราเป็นพ่อแม่ธรรมดา มิใช่นักจิตวิทยา เราไม่รู้จะสะท้อนความรู้สึกอย่างไร ควรใช้ประโยคอะไรพูดกับลูก บ้างถึงกับขอประโยคสำเร็จรูปเอาไว้พูดกับลูกเวลางอแง ที่จริงแล้วท่านไม่ต้องเป็นนักจิตวิทยา ท่านเป็นพ่อแม่ก็พอ เด็กๆ ไม่ต้องการคำพูดหรือท่าทีที่เรียนมาจากหลักสูตรพัฒนาพ่อแม่อะไร เด็กๆ ต้องการความจริงใจและพ่อแม่ที่ไว้ใจได้เท่านั้น

ผมพูดเสมอ ปฏิกิริยาแรกของเราคืออุ้มและกอด จนกว่าจะพิสูจน์ได้แล้วว่าเขาไม่ยอมให้อุ้มและกอดแน่นอนแล้ว เราจึงวางลงแล้วนั่งเป็นเพื่อน ไม่ทิ้ง ไม่เดินหนี และไม่ขัง นั่งไปเรื่อยๆ พูดไม่เป็นก็ไม่ต้องพูด ขอท่านสละเวลารอได้ก็พอ ของทำได้ไม่ยาก

บทที่ 3 ของหนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างดีๆ และคำอธิบายดีๆ อ่านง่ายกว่าสองบทแรกที่ผ่านไป

เมื่อเด็กโกรธหรือเสียใจ เราไม่ควรปล่อยเขาอยู่กับอารมณ์นั้นตามลำพัง เพราะเขาเด็กเกินกว่าจะจัดการมันได้ด้วยตัวเอง ที่เราควรทำคือรับรู้ ใส่ใจ และรับฟัง เลิกคิดเรื่องตามใจเด็กแล้วจะเคยตัว หรือว่าถ้าเราสนใจเขาเขาจะทำใหม่ สองประโยคนี้ไม่เป็นความจริง

เรารับรู้อารมณ์ของลูกด้วยความจริงใจและไว้ใจได้ เรื่องง่ายๆ เท่านี้เท่ากับหารสองอารมณ์ของเขาแล้ว ปริมาณที่เหลืออยู่เขาจะจัดการได้ง่ายขึ้น วันหน้าเขาจะจัดการได้ดีขึ้น แล้ววันหนึ่งเขาจะจัดการอารมณ์เศร้าหรือผิดหวังไม่ได้ดั่งใจได้เก่งขึ้น มิใช่ปล่อยให้อารมณ์เศร้าไล่ถลุงอยู่ฝ่ายเดียว

พ่อแม่หลายท่านไม่มีเวลา ไม่มีเวลาจริงๆ มิใช่แกล้งไม่มี การนั่งลงรับรู้อารมณ์ของลูกเป็นเรื่องเสียเวลามากจริงๆ มิใช่แกล้งเสีย อย่างไรก็ตามหากท่านไม่ยอมเสียเวลาวันนี้ท่านจะได้เสียหนักกว่าในอนาคตค่อนข้างแน่ คำแนะนำง่ายๆ เรื่องการได้เวลาคืนมาคือท่านควรตื่นเช้ามากกว่าเดิม ถ้าท่านรบกับลูกทุกเช้าก่อนไปโรงเรียนเพราะลูกไม่เคยทำอะไรทัน ท่านเองควรตื่นเช้ากว่าเดิม 1-2 ชั่วโมงแล้วลากเขาตื่นด้วย เราจำเป็นต้องมีเวลาผ่อนคลายต่อกัน เรื่องยากจะกลายเป็นเรื่องง่าย นั่นนำไปสู่วินัยการนอนของทั้งสองฝ่าย  หรือไม่ก็ทำแบบที่ผมพูดเสมอ กินกาแฟดำไปเรื่อยๆ

“กระชากห่วงโซ่อารมณ์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษให้ขาดออกจากกัน” เป็นประโยคดุเดือดในบทที่ 3 นี้แต่เป็นประโยคสำคัญ เรื่องสืบเนื่องจากบทที่ 1 เมื่อยี่สิบปีก่อน คุณพ่อคุณแม่ถูกพ่อแม่ตัวเองทอดทิ้งอย่างไรคุณพร้อมจะทำอย่างนั้นกับลูกของตัวเองในวันนี้จริงๆ ปรากฏการณ์นี้เป็นจิตวิเคราะห์ อธิบายไปแล้วในบทที่ 1 สมมติว่าอ่านไม่เข้าใจก็อย่าเข้าใจเลย ที่เราควรทำคือ “กระชากห่วงโซ่อารมณ์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษให้ขาดออกจากกัน” เท่านั้นเอง

บทที่ 3 นี้เล่างานวิจัยแผ่นดินไหวที่แคลิฟอร์เนีย ปี 1989 ที่ดีมาก เป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนไม่ทราบ นักวิจัยพบว่าเด็กๆ ที่วาดรูปเหตุการณ์หลังแผ่นดินไหวอย่างมีความสุขจะเกิดโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่าเด็กๆ ที่วาดรูปเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างเศร้าหมอง งานนี้ยืนยันว่าท่อระบายของเสียของจิตใจเป็นเรื่องจำเป็น และเราอย่ากลัวถ้าเด็กจะเล่นอะไรที่ดูจะดาร์กหรืออ่านนิทานที่มีเนื้อเรื่องมืดหม่น ความมืดหม่นนั้นเป็นส่วนสำคัญของการเจริญเติบโตเพื่อรับมือเรื่องมืดหม่นสารพัดที่จะได้พบในอนาคต

“เด็กๆ มีความสุขเวลาไปซ่อน แต่ถ้าไม่มีคนมาเจอสักทีคือหายนะดีๆ นี่เอง” เป็นอีกประโยคที่กินความที่เรารู้อยู่แก่ใจกันแต่ไม่ทำหรือทำไม่ได้ในบ้านเราจริงๆ นั่นคือคำถามที่ผมได้รับเสมอว่าระหว่างเอาลูกฝากตายายเลี้ยงที่ต่างจังหวัดแล้วเรากลับไปหาลูกสัปดาห์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง เปรียบเทียบกับเอาลูกไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ เพราะพ่อแม่ทำงานที่กรุงเทพฯ โดยที่กลางวันต้องฝากเนิร์สเซอรีแต่ได้พบหน้ากันทุกวัน แบบไหนดีกว่ากัน คงไม่มีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคนไหนเผลอตอบคำถามเช่นนี้ เพราะการตัดสินใจขั้นสุดท้ายต้องกลับไปที่ตัวคุณพ่อคุณแม่เองเสมอ หากท่านอ่านประโยคที่ยกมาไม่เข้าใจถึงเวลาออกไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านเองแล้วละครับ

“เรื่องไม่เป็นเรื่องเลย นั่งตรงไหนก็เหมือนกันนั่นละ” เล่าเรื่องเด็กคนหนึ่งที่จะโวยวายงอแงทุกรอบถ้าใครมานั่งที่นั่งของเขา ที่ผ่านมาคุณพ่อพูดประโยคนี้ประจำ และไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย วันหนึ่งคุณพ่อนั่งลงแล้วเริ่มสะท้อนความรู้สึกของเด็กว่าเขาไม่ชอบใช่ไหมที่มีคนมานั่งตรงที่ที่เขาเคยนั่ง เพียงเท่านี้เองเด็กก็อ่อนลงอย่างน่ามหัศจรรย์และยินยอมให้คนอื่นนั่งที่ “ของตัว” แต่โดยดี เรื่องเล่าทำนองนี้พ่อแม่ที่ไม่อดทนกล่าวหาได้ว่าโม้ ทีฉันทำไม่เห็นได้ คำตอบคือหน้าตาท่านไม่ให้ กริยาและสำเนียงท่านไม่ไป ท่านไม่จริงใจและไม่น่าไว้ใจมากพอ ไปฝึกใหม่

การสะท้อนความรู้สึกนี้ใช้ได้กับเรื่องพี่ไม่รักน้องด้วย เพียงเรานั่งลงแล้วรับรู้ว่าเขาถูกแย่งตำแหน่งมากเพียงใด เพียงเท่านี้คนเป็นพี่ก็อ่อนลง และเริ่มใส่ใจน้องมากกว่าเดิม

“เพ้อเจ้อ” เป็นคำพูดเด็ดขาดที่สรุปเรื่องราวทั้งหมดของบทที่ 3 นี้ การที่เราไม่ใส่ใจอารมณ์ของลูกในวัยเด็ก การตัดบทสนทนาของลูกว่าเพ้อเจ้อ การไม่พยายามรับฟังเวลาลูกจะบอกว่ามีสัตว์ประหลาดซ่อนอยู่ใต้เตียง ขอให้ระวังว่าวันหนึ่งเมื่อลูกถูกครูสอนเปียโนลูบขาอ่อน ลูกจะคิดว่าเรื่องนี้เพ้อเจ้อเกินกว่าจะมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง

บ้านเรามีวัฒนธรรมตีพื้นเวลาเด็กหกล้ม เป็นเรื่องที่ปู่ย่าตายายทำกันเป็นธรรมดาไม่เห็นจะผิดตรงไหนแต่พ่อแม่เจนวายไม่ชอบกันมาก เรื่องนี้มีคำอธิบายทางจิตวิทยาสมัยใหม่ในบทที่ 3 นี้ด้วย เราไม่ควรใช้กลยุทธ์เบี่ยงเบนความสนใจกับเด็กมากจนเกินไป เพราะอะไร เพราะวันหนึ่งเมื่อเราขอพูดกับลูกเรื่องสมุดพกของลูก ลูกอาจจะบอกว่า “นั่น! กระรอก!”

 

คุณเป็นพ่อแม่แบบไหน

 

วิธีแบ่งประเภทพ่อแม่มีหลายแบบ บทที่ 4 นี้แบ่งอย่างง่ายเป็นสองประเภท คือเป็นผู้คุมกฎ หรือเป็นกระบวนกร

พ่อแม่ประเภทผู้คุมกฎหมายถึงพ่อแม่ประเภทพยายามจัดการให้อะไรต่อมิอะไรอยู่ในการควบคุม แต่เป็นคนละความหมายกับการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด พ่อแม่ส่วนมากเป็นผู้คุมกฎอยู่แล้วและเป็นมากขึ้นเมื่อชีวิตสมัยใหม่ทำให้ไม่มีใครมีเวลา พ่อแม่ที่สามารถจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้เข้าที่หรือวางตารางปฏิบัติงานของลูกๆ ให้ตรงเวลาได้อย่างสม่ำเสมอน่าจะสบายกว่า

อีกด้านหนึ่งคือพ่อแม่ประเภทเป็นกระบวนกร คอยดูแลกระบวนการให้เป็นไปตามพัฒนาการด้วยจังหวะก้าวของเด็กเอง แต่เป็นคนละความหมายกับการเลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลยหรือตามใจ ทำหน้าที่เปิดโอกาสหรือสร้างโอกาสให้เด็กได้พัฒนาและเจริญเติบโตตามลักษณะของเด็กแต่ละคน พ่อแม่ประเภทนี้อาจจะมีงานเพียงแค่คอยป้องกันอันตรายเท่านั้นเอง มิได้ถึงกับต้องส่งเสริมหรือเร่งพัฒนาการอะไร มีความเชื่อว่าเด็กแต่ละคนเติบโตเองได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและผ่อนคลาย

พ่อแม่ทั้งสองประเภทมีจุดเด่นคนละอย่างและดีทั้งคู่ ในโลกแห่งความเป็นจริงเราควรเป็นพ่อแม่ทั้งสองประเภทอยู่แล้ว เพราะการสอนให้ลูกรู้จังหวะเวลาหรือจังหวะชีวิตเป็นเรื่องควรทำ ในขณะเดียวกันการไม่เร่งรัดพัฒนาการก็เป็นเรื่องควรกระทำเช่นกัน

“โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกๆ ลูกต้องรู้ว่าพวกเขาเป็นคนมีเลือดเนื้อที่เชื่อมโยงกับพ่อแม่ ไม่ใช่ภาระหน้าที่ที่พ่อแม่มอบหมายให้ใครจัดการก็ได้” ข้อเขียนเช่นนี้มิได้แปลว่าพ่อแม่มอบหมายให้คนอื่นทำงานแทนมิได้เลย ในความเป็นจริงเรามอบหมายให้พี่เลี้ยง ครู หรือปู่ย่าตายายช่วยดูแลเป็นช่วงๆ อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นมากที่เด็กต้องมี “แม่” ที่เป็นหลักอย่างน้อยหนึ่งคนให้ยึดเกาะเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการ มิเช่นนั้นเด็กจะว่างเปล่าและไม่มีอะไรเลย

ใครก็เป็น “แม่” ได้ เช่น พ่อ พ่อแม่บุญธรรม พ่อแม่ข้ามเพศ ปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอา หรือพี่เลี้ยงสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า แต่คนนั้นจำเป็นต้องแสดงตัวว่าเป็นเสาหลักของพัฒนาการ

เสาหลักของพัฒนาการจะเป็นจุดเริ่มต้นของสายสัมพันธ์หรือความผูกพัน ถัดจากนั้นเด็กจะพัฒนาการคงอยู่ของวัตถุขึ้นโดยใช้แม่เป็นต้นแบบ วัตถุที่หนึ่งจึงเป็นต้นกำเนิดของจักรวาลรอบตัว ไม่มีแม่ไม่มีความผูกพันและไม่มีจักรวาล ตามด้วยการไม่มี “ตนเอง” ในที่สุด

ความผูกพันที่เป็นปัญหาจึงมีสองชนิด คือแบบไม่มั่นคง และแบบหลีกหนี

ความผูกพันแบบไม่มั่นคงเกิดจากการไม่ได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมในวัยเด็ก เช่น การปล่อยให้เด็กร้องไห้เป็นเวลานานโดยไม่ตอบสนองหรือทอดทิ้ง อาจจะเกิดโดยความจำเป็นเช่นพ่อแม่ไปทำงานไม่มีเวลาจะดูแลเด็ก หรือเกิดโดยไม่เจตนาด้วยคิดว่าการอุ้มเด็กมากเกินไปเป็นเรื่องไม่ดี หรือโดยเจตนาคือเป็นพ่อแม่ที่ไม่สมควรเป็นพ่อแม่ตั้งแต่แรก ด้วยการเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมเช่นนี้เด็กจะสร้างความผูกพันที่ไม่มั่นคงกับพ่อแม่และกับจักรวาลรอบตัว นั่นทำให้จักรวาลรอบตัวประกอบด้วยวัตถุที่ไม่มั่นคงไปด้วย สุดท้ายไม่มีอะไรมั่นคงเลย

ความผูกพันแบบหลีกหนีเกิดจากเด็กรับรู้ความเจ็บปวดและไร้ทางสู้ของการถูกทอดทิ้ง หลังจากการร้องไห้อย่างเอาเป็นเอาตายอยู่นาน และไม่ได้รับการตอบสนองอะไรเลยซ้ำๆ อาจจะสำทับด้วยสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เช่น หิว ร้อน หนาว หรือมดแมลงไต่ตอม เด็กจะสร้างความผูกพันแบบหลีกหนีจากพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เป็นบุคคลที่ไว้ใจมิได้ นั่นนำไปสู่จักรวาลที่ไว้ใจมิได้ด้วย เด็กจะหลีกหนีจากความสัมพันธ์ทุกแบบในอนาคต สุดท้ายไม่ผูกพันกับอะไรเลย

บทที่ 4 นี้เขียนว่าแม้เด็กจะร้องไห้จนหลับไปแล้ว แต่ระดับของคอร์ติซอลซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับความเครียดมิได้ลดลงตาม

มีบ้างที่คุณแม่รู้สึกไม่อยากมีลูกภายหลังการคลอดไปจนถึงซึมเศร้าภายหลังการคลอด วิธีจัดการกับความรู้สึกนี้คือพูดออกมา และหวังว่าจะมีคนข้างเคียงยอมรับฟังแล้วยอมรับความรู้สึกนั้นว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ อาจจะเพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง หรืออาจจะเพราะเราสองคนกำลังจะพบความยากลำบากของการเลี้ยงลูกจริงๆ เช่น ไม่มีคนช่วยหรือไม่มีเงิน ไม่ว่าจะเป็นแบบใดลำพังการรับฟังและยอมรับก็ช่วยให้คุณแม่ผ่านเรื่องนี้ไปได้ไม่ยาก ดีกว่านี้คือคุณพ่อเข้าไปช้อนรับความรู้สึกและภาระเลี้ยงลูกที่เกิดขึ้นในช่วงแรกโดยไม่ย่อท้อ ความร่วมทุกข์ร่วมสุขที่แสดงออกโดยการลงมือทำนั้นเองจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยประคับประคองให้คุณแม่หลังคลอดมีความรู้สึกที่ดีกลับคืนมาได้ พ้นจากนี้เป็นเวลานานพอสมควรหรือมีอารมณ์เศร้ารุนแรงมากจึงไปพบจิตแพทย์

 

เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน

Philippa Perry เขียน

ดลพร รุจิรวงศ์ แปล

280 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่