อ่าน ‘เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

[su_note note_color=”#fcf0e2″]นี่คือข้อเขียนเพื่อขยายความหนังสือ เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน เขียนโดย Philippa Perry แปลโดยดลพร รุจิรวงศ์

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เข็มทิศที่คอยชี้นำทางให้พ่อแม่ แต่เปรียบเสมือน “กระจก” ที่สะท้อนภาพความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างเข้าอกเข้าใจและไม่ตัดสิน เพื่อให้คุณและลูกเปิดใจพร้อมจะซ่อมแซมความสัมพันธ์ และก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางนี้ได้อย่างมั่นคง[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

เวลาเราโมโหลูก เป็นไปได้ว่าเรากำลังโมโหอดีตของเรา

 

เนื้อหาของบทที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยตัวอย่างหลายรูปแบบน่าจะสรุปความได้เท่านี้ หลายครั้งที่เราโมโหลูกของเรา เรามิได้โมโหลูกของเราจริงๆ แต่เรากำลังโมโหอดีตของเรา

ที่จริงมิใช่ทุกครั้งที่เป็นเช่นนี้ บางครั้งเราก็โมโหลูกที่ปัจจุบันขณะคือ here&now จริง มิได้เกี่ยวกับอดีตแต่อย่างไร แต่มีหลายครั้งที่เรากำลังทำซ้ำประสบการณ์ในอดีตจริงๆ ด้วยและเป็นจิตใต้สำนึก เรียกว่า repetition compulsion กล่าวคือแม้ว่าการกระทำนั้นคือโมโหลูก ดุด่าลูก ไปจนถึงทะเลาะกับลูกจะเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เราจะทำซ้ำอยู่เรื่อยๆ โดยไม่ทันระวัง เหตุที่ไม่ทันระวังหรือระวังไม่ได้เพราะมันมาจากจิตใต้สำนึก

กลไกทางจิตเป็นจิตใต้สำนึกมิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มันมีวัตถุประสงค์เสมอ วัตถุประสงค์เรื่องนี้มีสองข้อ

ข้อแรกคือเพื่อให้โอกาสเราแก้ตัว แล้วเราจะพบว่าเราแก้ตัวไม่สำเร็จเสียที เพราะเราไม่เคยรู้ตัวว่ามันเป็นการกระทำซ้ำรอยประสบการณ์ในอดีต อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือเพื่อระบายความเครียดที่แบกไว้มาหลายสิบปีออกไปบ้าง ขืนเก็บไว้นานกว่านี้จะบ้าเอา ข้อสองนี้จะเป็นเรื่องที่ทำความประหลาดใจให้แก่เจ้าตัวมาก หลังเหตุการณ์สงบแล้วมักจะมานั่งเสียใจว่าเราหลุดสติแตกออกไปอีกครั้งหนึ่งได้อย่างไรกัน

เพราะมันเป็นจิตใต้สำนึกนั่นเอง มันจึงผ่านการแปลงโฉมมาบ้างแล้ว มิใช่ประสบการณ์ตรงไปตรงมาเหมือนในอดีตที่พ่อแม่เคยทำกับเราอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าตัวอย่างที่หนังสือนี้ยกมาค่อนข้างกระจัดกระจายไปหลายเหตุการณ์ยากต่อการสรุป แต่ข้อเขียนชิ้นนี้จะสรุปเพื่อให้นักอ่านที่สนใจพอจับประเด็นได้

ส่วนใหญ่ของเหตุการณ์ในอดีตที่มีผลต่อเรามีไม่กี่เรื่อง พูดง่ายๆ ว่าทำบ่อย นอกเหนือจากนี้มักเป็นพยาธิสภาพทางจิตที่ซับซ้อนขึ้น

เฉพาะเรื่องที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ใครๆ ก็เป็น รวมทั้งคนเขียนบทความนี้ก็เป็น คือเรื่องที่เราเคยโมโหพ่อแม่ว่าพ่อแม่ช่างกระทำการให้เราลำบากเสียจริงๆ

ตัวอย่างง่ายๆ นะครับ เช่น วันหนึ่งลูกขอไปผ่าตัดแก้ไขจมูก เสริมคาง หรือทำตาสองชั้น แทนที่เราจะโมโหโกรธาทันทีหรือปฏิเสธทันที เราควรวางงานตรงหน้า นั่งลง แล้วสวดมนตร์ในใจ ก่อนที่จะพูดว่า “แม่สนใจนะ เล่าให้แม่ฟังซิว่าเรื่องเป็นมายังไง” แล้วก็บลาๆๆๆ คุยถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ ได้ ตรงคุยถ่วงเวลานี้เอาไปเขียนหนังสือได้อีกเล่ม

แทนที่เราจะเย็นพอที่จะทำแบบนั้น เรากลับสติแตกระเบิดลง ตอบปฏิเสธทันทีแล้วด่าเป็นชุดตามไปโดยไม่ทันตั้งตัว หมายถึงตัวเองนั่นแหละที่ไม่ทันตั้งตัว เหตุการณ์แบบนี้ให้ใครมาดูก็จะบอกว่าแม่กำลังโมโหลูกที่เอาตัวไปเสี่ยงทำศัลยกรรมพลาสติกโดยไม่จำเป็นหรือไม่มีเงิน ทำไมต้องมาทำให้ชีวิตของแม่ลำบากมากไปกว่านี้ ทำไม!

แต่ที่แท้แล้ว “เป็นไปได้ว่า” แม่กำลังโมโหพ่อหรือแม่ของตัวเองที่ไม่ยอมให้ตัวเองไปบีบสิวและรักษาสิวที่คลินิกห้องแถวหน้าปากซอยเมื่อยี่สิบปีก่อน

ลองยกตัวอย่างกันดูนะครับ ว่าเวลาเราโมโหลูก เรากำลังโมโหพ่อแม่เราด้วยเรื่องแบบเดียวกันนี้หรือเปล่า

ลองอีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น วันหนึ่งเราโมโหลูกที่ลูกไม่ยอมไปสมัครงานเอาแต่จะเรียนโทเรียนเอกต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้งเสียที ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ “เป็นไปได้ว่า” ที่แท้เรากำลังโมโหตัวเองที่เราเคยทำอะไรคล้ายๆ แบบนี้กับพ่อแม่ เช่น สอบตกซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้พ่อแม่ต้องส่งเราเรียนไม่สิ้นสุดเสียที พูดง่ายๆ ว่าในขณะที่เรากำลังโมโหที่ลูกทำให้เราลำบากต่อไป ที่แท้แล้วเรากำลังโมโหตัวเองที่ครั้งหนึ่งในอดีตเราทำให้พ่อแม่ลำบากในลักษณะเดียวกัน

จะเห็นว่าสองเรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้มีข้อแตกต่างของเป้าหมาย ตัวอย่างแรกเราโมโหลูกเพราะเราโมโหพ่อแม่ในอดีต ตัวอย่างที่สองเราโมโหลูกเพราะเราโมโหตัวเองในอดีต นี่คือวิธีทำงานของจิตใต้สำนึกที่พร้อมจะแปลงโฉมทั้งเนื้อเรื่องและกระบวนการอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเราจับจุดมิได้  จิตแพทย์ถึงมีงานทำไงครับ

ลองดูตัวอย่างที่สาม เช่น วันหนึ่งเราโมโหลูกที่ขี้เกียจทำงานบ้าน ไม่ทำงานบ้านจะไม่มีอีเอฟนะ คุณตาหมอประเสริฐว่าเอาไว้ แต่ “เป็นไปได้ว่า” เรากำลังโมโหที่พ่อแม่ของเราไม่มีเงินมากพอจะจ้างลูกจ้างทำงานบ้าน จึงต้องใช้เราทำงานบ้านทุกชนิดในบ้านเมื่อยี่สิบปีก่อน จะเห็นว่าเป้าของการโมโหอดีตอาจจะมิใช่ตัวบุคคลคือพ่อแม่ แต่เป็นความยากจนของครอบครัวในเวลานั้น แต่ก็ “เป็นไปได้ว่า” เรากำลังโมโหความไร้ความสามารถของพ่อแม่ที่ไม่รู้จักรวยเหมือนเพื่อนๆ ที่โรงเรียน

จะเห็นว่าประเด็นที่สามนี้ลามออกไปอีก จากที่จำเลยมิใช่พ่อแม่โดยตรง แต่ไปที่ “เนื้อหา” อีกชั้นหนึ่ง นั่นคือความยากจน และค่อยทับด้วยเรื่อง “พ่อแม่เราไม่รวย” ซ้ำลงไปอีกทีหนึ่ง จิตใต้สำนึกทำงานซับซ้อนหลายชั้นมากจนกระทั่งวันนี้เราโมโหลูกด้วยเรื่องอะไรกันแน่ แล้วเพราะอะไรโมโหได้วันเว้นวันจนบ้านไร้สุขไปเสียได้ทั้งที่ทุกคนรักกัน เพราะประเด็นที่แท้มันดิ้นได้นั่นเอง

ความรู้ในบทที่ 1 นี้มีประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ธรรมดาๆ ว่าควรระลึกว่าหลายครั้งเรามิได้โมโหลูกเราจริงๆ หรอก เรากำลังโมโห “อะไรบางอย่าง” ในอดีตของเรา ส่วนเราโมโหเรื่องอะไรในอดีตของเรานั้นเรียนตามตรงว่ายากที่จะเดา เดาไปก็ผิด อันนี้เป็นงานของจิตแพทย์สายจิตวิเคราะห์โดยตรง อย่างไรก็ตามขอเพียงระลึกได้ เราจะเบาลงหรือหยุดได้ชั่วขณะ นั่นก็ถือว่าดีมากแล้ว พูดสั้นๆ ก็ว่า “สติคืนมา” สักสองวินาทีก็ยังดี

มีเคล็ดลับหนึ่งที่ช่วยได้ บางทีเราควรระลึกเสมอว่าในอดีต ณ ปี พ.ศ. นั้นๆ คุณพ่อคุณแม่ของเราด้วยบริบทของบ้านเมืองและของบ้านเราเวลานั้น คุณพ่อคุณแม่ของเรามีปัญญาทำเท่านั้นจริงๆ ต่อให้ท่านย้อนเวลากลับไปท่านก็จะด่าเราด้วยเรื่องเดิมเสมอ เพราะเหตุการณ์นั้นเลี่ยงมิได้จริงๆ การระลึกเรื่องราวในอดีตที่เกี่ยวกับพ่อแม่ทำนองนี้จะช่วยให้ท่านปล่อยพวกท่านไปง่ายขึ้น และรักท่านมากขึ้น

จะว่าไปเนื้อหาของบทที่ 1 มิเพียงใช้ได้กับลูกๆ แต่ใช้กับคู่สมรสและชีวิตสมรสได้ด้วย เวลาเราโมโหคู่สมรสพึงรู้ไว้ว่าเรากำลังโมโหตัวเองในอดีต หรือพ่อแม่ในอดีตหรือเหตุการณ์บางอย่างในอดีตได้เช่นกัน นั่นนำไปสู่บทที่ 2

 

เมื่อมีปากเสียงกับคู่สมรส  ให้หยุดใช้เหตุผลแล้วใช้อารมณ์แทน

 

เป็นประโยคที่แปลกแต่จริง เนื้อหาในบทที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องการตอบโต้กันด้วยข้อเท็จจริงของกรณีพิพาทในครอบครัวใดๆ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างพ่อแม่กับลูก หรือระหว่างพ่อกับแม่ หรือระหว่างพ่อแม่กับปู่ย่าตายาย รวมทั้งหลานกับปู่ยาตายาย แต่ตัวอย่างคลาสสิกยังคงเป็นเรื่องทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคู่สมรส

เรื่องนี้เข้าใจไม่ยาก อยู่ที่จะยอมเข้าใจหรือเปล่าเสียมากกว่า การตอบโต้กันด้วยข้อเท็จจริงหรือการใช้เหตุผลนั้นไม่เคยได้ผลในชีวิตสมรส พูดให้ตลกคือชีวิตสมรสมิได้เกิดจากเหตุผลตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ชีวิตสมรสเกิดจากความรักต่างหาก ดังนั้นเวลามีปัญหาเราควรแก้ปัญหาด้วยความรักมิใช่ด้วยเหตุผล ความรักนั้นเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง

การบลั๊ฟกันด้วยเหตุผลจะทำให้กรณีพิพาทในครอบครัวหลายเรื่องไม่มีทางออก การหยุดใช้เหตุผลแล้วรีบกู้คืนความรัก ความอาทร ความปรารถนาที่จะให้ฝ่ายตรงข้ามอารมณ์เย็นลงต่างหากที่เป็นเครื่องมือที่ดีกว่า ส่วนวิธีทำทำอย่างไรนั้นแล้วแต่บุคคล บ้างแค่หยุดตอบโต้ก็เสร็จ บ้างอาจจะต้องซื้อดอกไม้งามๆ มาให้สักช่อในวันรุ่งขึ้น เป็นต้น

 

เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน

Philippa Perry เขียน

ดลพร รุจิรวงศ์ แปล

280 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่