หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล (ฉบับย่อ)

เด็กและเยาวชนยุคใหม่เติบโตมาพร้อมกับ ‘หน้าจอ’ รายล้อมรอบตัว พวกเขาดูโทรทัศน์ คุยแชตกับเพื่อน วิดีโอคอลหาพ่อแม่ หรืออ่านทวิตอัปเดตข่าวสารล่าสุด หน้าจอส่งเสียง กระพริบ ส่องสว่างทั้งที่โรงเรียน ที่บ้าน กระทั่งรุกล้ำเข้าไปถึงในห้องนอน โดยเฉลี่ยเด็กสมัยนี้เริ่มสัมผัสสื่อดิจิทัลครั้งแรกตอนอายุประมาณสี่เดือน ขณะที่ในช่วงทศวรรษ 1970 อายุเฉลี่ยที่เด็กสัมผัสกับสื่อครั้งแรกคือสี่ขวบ การเข้ามาของหน้าจอเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมการเติบโตของเด็กๆ อย่างมีนัยสำคัญ และกลายเป็นคำถาม ข้อกังวล รวมถึงความหวังของบรรดาพ่อแม่ด้วย

อันยา คาเมเนตซ์ (Anya Kamenetz) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเทคโนโลยีและคุณแม่ลูกสอง พาเราไปเพิ่มแสงหน้าจอ หรี่เสียงวิพากษ์ เบาคำวิจารณ์ และขจัดความเข้าใจผิดว่าด้วยการใช้หน้าจอของเด็กๆ ยุคใหม่ ในหนังสือ หน้าจอโลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล (The Art of Screen Time: How Your Family Can Balance Digital Media and Real Life)

มาเปิดหน้าจอและเปิดใจเพื่อสร้างสมดุลในครอบครัวยุคดิจิทัลไปด้วยกัน

เด็กๆ กับหน้าจอ

หน้าจอไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับศตวรรษ 21 แต่อย่างใด หากย้อนไปสักนิดเราคงจำได้ว่าโทรทัศน์หรือวิดีโอเกมก็ล้วนเคยเห็นประเด็นถกเถียงกันไม่รู้จบมาแล้ว พ่อแม่ตั้งแต่ยุคก่อนต่างวิตกกังวลเรื่องการใช้หน้าจอของเด็กๆ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์หน้าจอสมัยนี้เป็นแบบเคลื่อนที่ เด็กๆ พกติดตัวไปไหนต่อไหนได้ทุกที่ทุกเวลา และยังมีหน้าจอแบบสัมผัสที่ใช้งานง่ายและเป็นธรรมชาติกระทั่งสำหรับเด็กทารก คุณลักษณะใหม่ทั้งสองกลายเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งน่าหวั่นวิตกสำหรับพ่อแม่ หลายคนมองว่าหน้าจอสัมผัสที่เคลื่อนที่ได้เหล่านี้นี้มีอำนาจชักนำและทำให้หมกมุ่น หรืออย่างที่กุมารแพทย์นาม ดิมิทรี คริสทากิส (Dimitri Christakis) ใช้คำว่า “เร่งเร้า หรือก็คือ … กระตุ้นสมองที่กำลังพัฒนาอย่างไม่เหมาะสม”

หน้าจอกลายเป็นภัยร้ายที่บรรดาพ่อแม่พรั่นพรึง หลายคนเชื่อว่าการใช้หน้าจอเป็นอันตรายแก่เด็กๆ หลายแง่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำหนักเกินมาตรฐาน สายตาสั้น สมาธิสั้น ไปจนถึงโรคออทิสติก

แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อว่าการใช้หน้าจอก็เหมือนการกินอาหาร เด็กควรได้เรียนรู้ที่จะเลือกประเภทหน้าจอ และมีพฤติกรรมการใช้ที่เหมาะสม อีกทั้งเด็กแต่ละคนยังมี ‘ภูมิต้านทาน’ การใช้หน้าจอต่างกัน เด็กบางคนอาจเป็นกลุ่มเสี่ยง เราต้องระมัดระวังสื่อที่พวกเขาเสพและพฤติกรรมการใช้สื่อของพวกเขาเป็นพิเศษ แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้ เด็กบางคนมีภูมิต้านทานดีกว่า และพ่อแม่ก็วางใจให้พวกเขาใช้สื่อได้มากกว่า

สรุปแล้วหน้าจอน่าพรั่นพรึงอย่างที่พ่อแม่หลายคนกังวลหรือไม่

ศาสตร์สุดสยองของหน้าจอ

แดน โรเมอร์ (Dan Romer) ผู้อำนวยการสถาบันการสื่อสารสำหรับวัยรุ่น (Adolescent Communication Institute) ประจำศูนย์นโยบายสาธารณะแอนเนนเบิร์ก มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า

“เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเทคโนโลยีใหม่สักอย่างถือกำเนิดขึ้น … มันพาให้เราเป็นกังวล และเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ งานวิจัยจำนวนมากจึงเน้นไปที่ภัยอันตราย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ การทดลองที่แสดงผลกระทบเชิงลบจากการใช้หน้าจอจึงได้รับความสนใจมากกว่าการทดลองที่ไม่ให้ผลสรุปฟันธงชัดเจน ส่วนการทดลองที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของหน้าจอกลับไม่ได้รับการพิจารณา หรือไม่มีการจัดทำขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ

นอกจากนั้น เด็กๆ ก็แสนเปราะบาง และหน้าจอก็อาจเป็นภัยมหันต์ เราจึงไม่สามารถทำการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมโดยให้เด็กดูหน้าจอมากขึ้นเพื่อหาผลกระทบตามมา ดังนั้นงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้หน้าจอของเด็กจึงเป็นงานวิจัยเชิงวิเคราะห์ทั้งหมด ทำให้เราบอกอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในเชิงเหตุและผลได้ไม่มากนัก

สุดท้ายแล้วพ่อแม่ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบว่าการใช้หน้าจอเป็นอันตรายต่อเด็กๆ หรือไม่ หรือเด็กๆ ควรใช้หน้าจอมากน้อยแค่ไหนจึงจะถือว่าพอดีหรือเป็นอันตราย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นความเสี่ยงบางประการที่งานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ด้านสื่อพูดถึงบ่อยครั้ง แน่นอนว่าแม้จะมีความเสี่ยงก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดอันตรายขึ้นแน่นอน อีกทั้งความเสี่ยงยังแตกต่างกันไปตามบุคคล กระนั้นก็น่าจะเป็นประโยชน์หากเราจะมาพิจารณากันว่าจนถึงปัจจุบัน เรารู้อะไรกันแล้วบ้างเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงที่พ่อแม่ต่างหวาดวิตกเหล่านี้

การนอนหลับ

“เมื่อเด็กและผู้ใหญ่ดูหรือใช้หน้าจอที่มีแสงแยงตาและหน้าจอชิดใบหน้า พวกเขาจะนอนดึกกว่าเดิม นอนหลับช้ากว่าเดิม คุณภาพการนอนและเวลานอนทั้งหมดลดลง”

มีกลไกในสมองสองอย่างที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของหน้าจอต่อการนอนหลับ หนึ่งคือการได้รับแสง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงสีฟ้าที่สว่างเหมือนตอนกลางวัน ซึ่งจะยับยั้งการผลิตเมลาโทนิน ยิ่งหน้าจออยู่ใกล้ดวงตามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งได้รับแสงมากเท่านั้น

กลไกอันดับที่สองของการอดนอนเพราะใช้หน้าจอคือ การผลิตคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนแห่งความเครียดจนมากเกินพอดี ร่างกายผลิตคอร์ติซอลขึ้นเพื่อตอบสนองความเหนื่อยล้า โดยสร้างปฏิกิริยาตอบกลับซึ่งเปลี่ยนจากความรู้สึกเหนื่อยๆ มาเป็นความรู้สึกตื่นตัว ดังนั้นเด็กๆ จึงไม่ควรใช้อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ หนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน อย่าเปิดโทรทัศน์ในห้องนอนลูก และอย่าให้มีอุปกรณ์มือถือในห้องนอนตอนกลางคืน

แนวทางการแก้ปัญหาเมื่อรู้สึกว่าลูกๆ มีปัญหาการนอนจากการใช้หน้าจอ

  • เก็บจอออกจากห้องนอนและปิดจอก่อนเข้านอน
  • พิจารณาดูว่าจะปล่อยให้เด็กๆ เล่นแท็บเล็ตหรือดูทีวีแทนการนอนกลางวันซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กวัยนั้นหรือไม่ โดยอาจย้ายช่วงเวลาดูทีวีมาอยู่ในช่วงเช้า และให้ช่วงบ่ายเป็นช่วงเวลาปราศจากหน้าจอ
  • ระมัดระวังเนื้อหาบางประเภทที่ลูกดูแล้วตื่นตัวจนเกินไป

โรคอ้วน

นักวิจัยไม่รู้แน่ชัดว่าการใช้หน้าจอทำให้เด็กอ้วนได้อย่างไร ไม่มีหลักฐานบอกแน่ชัดว่าเด็กที่ดูทีวีมากกว่านั้นเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกไปเล่นข้างนอกน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม มีสมมติฐานว่าเด็กมีแนวโน้มจะกินขนมมากขึ้นระหว่างดูวิดีโอ พ่อแม่หลายคนที่มีลูกกินยากยอมรับว่าพวกเขาเปิดไอแพดระหว่างมื้ออาหารเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจตอนตักข้าวป้อนลูกๆ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ลูกติดนิสัยกินขนมจุบจิบไปเรื่อยเปื่อย

แต่ก็มีนักวิจัยแย้งว่าเด็กที่น้ำหนักเกินเพราะแนวโน้มทางกรรมพันธุ์อาจจะชอบดูวิดีโอมากกว่าค่าเฉลี่ยมาตั้งแต่เกิดก็ได้ หรือบางทีระบบเผาผลาญอาหารของพวกเขาอาจทำงานได้ไม่ดีและรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าด้วย

นักวิจัยเชื่อว่าปัจจัยสำคัญอีกประการที่เชื่อมโยงระหว่างหน้าจอกับร่างกายคือโฆษณา กุมารแพทย์นาม ทอม วอร์ชอว์สกี (Tom Warshawski) บอกว่า

“เด็กๆ กิน ขณะที่ ดู และพวกเขาก็กิน สิ่งที่ดู”

โทรทัศน์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อโฆษณา และ 90 เปอร์เซ็นต์ของอาหารและเครื่องดื่มที่ขายเด็กนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ

มีแต่ไขมัน เกลือ และน้ำตาลเยอะเกินไป เด็กๆ จดจำเนื้อหาโฆษณาได้ดี และชอบหรือขอซื้ออาหารในโฆษณาเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยบางคนแนะว่าวิดีโอ แอปพลิเคชั่น และเกมที่เข้ามาแทนที่โทรทัศน์ทำให้เด็กมือไม่ว่าง เลยกินเรื่อยเปื่อยได้ไม่ถนัด อีกทั้งพวกเขายังสามารถกดข้ามโฆษณาโทรทัศน์ระหว่างดูวิดีโอออนดีมานด์ ทำให้เด็กๆ อาจจะกินระหว่างใช้หน้าจอน้อยลง

แนวทางแก้ปัญหาเมื่อรู้สึกว่าลูกมีปัญหาน้ำหนักตัวจากการใช้หน้าจอ

  • จำกัดระยะเวลาการใช้หน้าจอสองชั่วโมงต่อวัน
  • ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ต้องขยับร่างกายเป็นอันดับต้นๆ หรือให้เป็นกิจกรรมที่ต้องทำให้เสร็จก่อนอย่างอื่น
  • อาจจำกัดการรับชมโฆษณาการตลาดของบรรดาอาหารขยะ
  • ห้ามกินขนมจุบจิบระหว่างดูจอ
  • หันมาเล่นเกมแทนการดูวิดีโอ และลองหาระบบวิดีโกมที่ให้ผู้เล่นขยับร่างกายได้ รวมถึงวิดีโอที่มีกิจกรรมเป็นหลัก เช่น โยคะหรือรายการทีวีเกี่ยวกับการเต้น

ความก้าวร้าว

ขณะดูภาพกราฟิกความรุนแรง ภาพตัดฉับสลับไปมา และเสียงดนตรีอึกทึกครึกโครม อัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจก็ถี่ขึ้น รูม่านตาขยายกว้าง การสร้างภาพสมองเผยว่าร่างกายเราเกิดสัญญาณการตอบสนองแบบสู้หรือหนี ประสาทสัมผัสของเราตื่นตัวราวกับกำลังระแวดระวังภัยร้าย และความคิดแล่นไม่หยุด เราจึงมีแนวโน้มที่จะคิดน้อยลงก่อนตอบสนองต่อเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เข้ามา

กระนั้นวิดีโอและเกมที่มีความรุนแรงสูงก็เป็นเพียงปัจจัยแวดล้อมของความรุนแรงเท่านั้น เหมือนกับตะกั่วที่ปนเปื้อนในน้ำซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างน้อย เราไม่สามารถไปโทษว่าสื่อเหล่านั้นคือต้นตอของการกระทำรุนแรงใดๆ ได้ นอกจากนั้น ความก้าวร้าวไม่ใช่ผลกระทบที่พบบ่อยที่สุดจากการรับชมความรุนแรงในสื่อด้วย

แนวทางแก้ปัญหาเมื่อรู้สึกว่าลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวจากการใช้หน้าจอ

  • ระยะสั้นคุณอาจหลีกเลี่ยงได้ด้วยการตั้งเวลาและส่งสัญญาณเตือนห้านาทีก่อนหมดเวลา การเรียนรู้ที่จะจัดการตัวกระตุ้นนี้เป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของเด็ก
  • บอกลูกว่าถ้าเขาบ่นหรือร้องไห้ ครั้งต่อไปเขาจะ “ไม่ได้เล่น”
  • จำกัดการดูรายการ เว็บไซต์ หรือเกมที่ส่งเสริมพฤติกรรมก้าวร้าว
  • สำหรับเด็กที่มีความรุนแรงสูง ควรให้พวกเขาเลิกเล่นวิดีโอเกม จำกัดระยะเวลาใช้หน้าจอ และเปลี่ยนเป็นรายการโทรทัศน์ที่ดำเนินเรื่องช้า โดยเว้นระยะให้หน้าจอห่างจากคนดูด้วย

การเสพติด

การเติบโตของวิดีโอเกมตลอด 20 ปีที่ผ่านมาและอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตทำให้เราหันมาพิจารณาเรื่อง ‘การเสพติด’ เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของเด็กและเยาวชน

ต่อไปนี้คือคำถามที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ใช้เพื่อตัดสินว่าคนคนหนึ่งมีปัญหาด้านการใช้อินเทอร์เน็ตและวิดีโอเกมหรือไม่

  • คุณออนไลน์นานกว่าที่ตั้งใจบ่อยแค่ไหน
  • บุคคลอื่นๆ ในชีวิตของคุณบ่นเกี่ยวกับระยะเวลาที่คุณออนไลน์บ่อยแค่ไหน
  • ผลการเรียนหรือการบ้านย่ำแย่เพราะคุณใช้เวลาออนไลน์มากเกินไปบ่อยแค่ไหน
  • คุณตะคอก ตะโกน หรือทำท่าทางรำคาญเมื่อถูกรบกวนเวลาออนไลน์บ่อยแค่ไหน
  • คุณนอนน้อยลงเพราะการใช้อินเทอร์เน็ตบ่อยแค่ไหน

ศัพท์ทางการแพทย์เรียกการเสพติดอินเทอร์เน็ตว่า ‘การใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็นปัญหาหรือมีความเสี่ยง’ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นวิดีโอเกม ใช้แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟนอย่างโซเชียลมีเดียหรือการส่งข้อความ รวมถึงการใช้อินเทอร์เน็ตโดยทั่วไป อาการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสภาวะอื่นๆ เช่น โรคออทิสติก โรคเกี่ยวกับการจดจ่อความสนใจอย่างโรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล

ออทิสติก

แม้จะมีการพูดกันบ่อยๆ ว่าการใช้หน้าจอมากเกินส่งผลให้เด็กเป็นโรคออทิสติกได้ แต่จนถึงทุกวันนี้นักวิจัยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้แสดงความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผล หรือออกมาชี้ว่าการดูหน้าจอมากขึ้นอาจเป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคออทิสติกหรือมีอาการภาวะออทิสติกแต่อย่างใด อย่างมากสุดพวกเขาก็เพียงแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการใช้หน้าจอและโรคออทิสติกเท่านั้น

สมาธิสั้น

การชมการแสดงออกที่รวดเร็วรุนแรงมากๆ (เช่น การ์ตูนพาวเวอร์พัฟฟ์เกิร์ลส์ เกมแข่งรถ) มีความสัมพันธ์กับโรคสมาธิสั้นอยู่บ้าง

แนวทางแก้ปัญหาเมื่อรู้สึกว่าลูกสมาธิสั้นจากการใช้หน้าจอ

  • สำหรับเด็กเล็ก อาจต้องบังคับให้พวกเขาดูรายการที่ดำเนินเรื่องช้ากว่าสำหรับเด็กโต
  • อาจให้เด็กๆ ใช้แอปพลิเคชั่นอย่าง Freedom เพื่อจำกัดการทำงานหลายอย่างพร้อมกันระหว่างทำการบ้าน นอกจากนี้ยังมีเกมอย่าง NeuroRacer ที่อ้างว่าช่วยให้เด็กๆ พัฒนาการควบคุมสมาธิได้

ปัญหาด้านจิตใจ

การใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะในช่วงกลางคืน หรือการเล่นวิดีโอเกมนานๆ เกี่ยวข้องกับโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคหลงตัวเองในวัยรุ่น

แนวทางแก้ปัญหาเมื่อรู้สึกว่าลูกมีปัญหาด้านจิตใจจากการใช้หน้าจอ

  • จำกัดการใช้หน้าจอของลูก
  • ทำ ‘ดีท็อกซ์หน้าจอ’ ร่วมกับการรักษารูปแบบอื่นโดยผู้เชี่ยวชาญ

งานวิจัยเรื่องผลกระทบของการใช้หน้าจอต่อเด็กๆ ยังมีช่องว่างอยู่อีกมาก และยังคงมีการถกเถียงดำเนินไปอย่างดุเดือด ที่จริงแล้วเราควรเป็นห่วงลูกๆ และการใช้เทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหนกันแน่ เรากำลังมุ่งหน้าไปทางไหน และเราควรจัดการเรื่องนี้อย่างไร สุดท้ายแล้วเราก็ยังไม่อาจตอบคำถามใดๆ ได้อย่างชัดเจน พ่อแม่ยังคงติดอยู่ในโลกลี้ลับแห่งเทคโนโลยี สิ่งที่พอจะทำได้มีเพียงการสอดส่องภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแบบพอเหมาะพอดี ทว่าไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

การเลี้ยงลูกเชิงบวกด้วยสื่อดิจิทัล

งานวิจัยเผยว่าเมื่อพ่อแม่มีส่วนร่วมในการใช้เทคโนโลยีของลูก หรือเรียกว่าการเลี้ยงลูกเชิงบวกในยุคดิจิทัล ความเสี่ยงในการใช้เทคโนโลยีต่อเด็กๆ ก็จะลดลงมาก และผลเชิงบวกยังเพิ่มสูงขึ้นด้วย

สื่อที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็กนั้นสามารถประเทืองปัญญาเด็กและเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญได้ อีกทั้งยังสร้างโอกาสให้เด็กๆ พัฒนาทักษะด้านการอ่านออกเขียนได้ นอกจากนั้น เมื่อพ่อแม่ได้เลือกและดูสิ่งที่ตนสนใจร่วมกับลูก พวกเขายังได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับลูกๆ ได้ด้วบ

แล้วการเลี้ยงลูกเชิงบวกในยุคดิจิทัลคืออะไร

มันคือการเล่นด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ การรับสารที่ดีจากการส่งเสริมของพ่อแม่ รวมทั้งการเล่นที่ย้ายจากหน้าจอไปอยู่ในโลกสามมิติและกลับเข้าไปใหม่ พ่อแม่ที่ใช้เทคโนโลยีกับลูกให้เกิดผลบวกสามารถเริ่มต้นจากแนวทางดังนี้

  • ลงไปเล่นกับลูกและใช้สื่อร่วมกันตั้งแต่ขวบปีแรกๆ ของลูก เพื่อเป็นต้นแบบในการใช้สื่อเพื่อสื่อสาร เรียนรู้ และสร้างสรรค์อย่างกระตือรือร้นและมีสติ การเป็นแบบอย่างให้ลูกเป็นเรื่องสำคัญ การใช้หน้าจอของพ่อแม่คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ชี้การใช้สื่อของเด็กๆ
  • พ่อแม่ยังต้องเข้าใจว่าเนื้อหาและรูปแบบการใช้สื่อต่างประเภทกันนั้นเหมาะกับบริบทที่แตกต่างกัน
  • พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าความต้องการของเราไม่เหมือนกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก อีกทั้งรสนิยมและการให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ยังแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว
  • พ่อแม่ยังต้องรู้จักรักษาสมดุลระหว่างเวลาใช้จอกับกิจกรรมที่ไม่ใช้จอ หรืออาจใช้จอแทรกในกิจกรรมอื่นๆ เรียกว่าช่วงเวลา ‘เสริมจอ’
  • เมื่อลูกๆ สนใจสื่อและเทคโนโลยี พ่อแม่ก็ควรปฏิบัติต่อความสนใจนั้นเฉกเช่นความสนใจด้านอื่นๆ ของพวกเขา
  • ถกกับลูกและขอความเห็นจากพวกเขาเกี่ยวกับสื่อที่ได้ดู ลูกๆ จะได้ขบคิดถึงความซับซ้อนของสารในสื่อหรือแพลตฟอร์มทางสังคมต่างๆ เมื่อพ่อแม่ช่วยตีความและสนับสนุนให้ลูกๆ คิด ในระยะยาวจะได้ผลดีและมีประสิทธิภาพกว่าการตั้งกฎกติกาเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กๆ โตขึ้น เริ่มมีสมาธิและทักษะในการเรียนรู้จากสื่อเอง พ่อแม่ก็เริ่มปล่อยให้พวกเขาอยู่กับสื่อได้เองในระยะเวลาที่เหมาะสม แล้วค่อยชวนพวกเขาพูดคุยเกี่ยวกับรายการ เกม หรือรูปภาพด้วยกันหลังจากนั้นก็ได้

โรงเรียนกับหน้าจอ

หน้าจอติดตามเด็กๆ ไปทุกที่ รวมถึงในพื้นที่การเรียนรู้อย่างห้องเรียนด้วย บทบาทของหน้าจอในโรงเรียนดูจะเป็นทั้งมิตรและศัตรู เมื่อบางคราวหน้าจอก็บั่นทอนสมาธิและดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ไปจากการเรียน ในขณะที่บางคราว หน้าจอก็กลายร่างเป็นฮีโร่ผู้ทำหน้าที่เป็น ‘เทคโนโลยีการเรียนรู้’

คำถามคือเทคโนโลยีแบบไหนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และเทคโนโลยีแบบไหนที่บั่นทอนการเรียนรู้

ลักษณะของเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ดีมีดังนี้

  1. กระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น: ผู้เรียนต้องทำกิจกรรมที่ใช้การคิดวิเคราะห์ สำหรับแอปพลิเคชั่นของเด็ก อาจให้เด็กหารูปทรงในรูปหรือเอียงหน้าจอเพื่อเลี้ยงลูกบอลในจอออกจากเขาวงกต
  2. ดึงดูดความสนใจเด็กๆ ได้อย่างเหมาะสม: เป็นเรื่องที่ควรต้องระวัง รายการโทรทัศน์หรือแอปพลิเคชั่นมักมีสีสันสดใส เพลงเสียงดัง การเปลี่ยนฉากฉึบฉับ และกลไกการให้ ‘รางวัล’ ที่อาจเบี่ยงเด็กๆ ออกจากเป้าหมายการเรียนรู้ได้ เกมหรือแอปพลิชั่นเพื่อการเรียนรู้ที่ดึงดูดความสนใจเด็กได้ต้องเหมาะกับอายุ และยิ่งถ้าเหมาะกับความสนใจเฉพาะของเด็กด้วยก็จะดียิ่งกว่า เช่น สัตว์ ดนตรี นิทาน และตัวละครที่น่าสนใจ
  3. สร้างประสบการณ์ที่มีความหมาย: เด็กเรียนรู้จดจำเนื้อหาการศึกษาได้ง่ายกว่าเมื่อเนื้อหาเหล่านั้นร้อยเรียงเป็นเรื่องราว และจะเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเนื้อหานั้นเชื่อมโยงกับประสบการณ์อื่นๆ ในชีวิต
  4. ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคม: เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อมีอีกคนคอยรับฟัง ป้อนคำถาม ชมเชย และสะท้อนความคิดเห็น ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ มีสมาธิจดจ่ออยู่คนเดียวได้

เมื่อต้องเลือกซื้อหรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเพื่อการศึกษาให้เด็กๆ เราอาจตั้งคำถามเหล่านี้เพื่อพิจารณาหาแอปพลิเคชั่นที่เหมาะสม

  • เด็กๆ จะได้รับประสบการณ์หรือความคิดอะไรเพิ่มเติมจากแอปพลิเคชั่นนี้หรือไม่
  • ประสบการณ์นั้นดึงดูดความสนใจเด็กและมีความหมายต่อเด็กๆ ไหม หรือเพียงแค่กรอกความคิดใส่หัวเด็กด้วยการให้พวกเขาทำอะไรซ้ำๆ
  • ประสบการณ์นั้นใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในแบบที่เครื่องมือการเรียนการสอน (เช่น บัตรคำ) แบบเก่าทำไม่ได้ใช่หรือไม่
  • ผลิตภัณฑ์นี้เป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกัน แอปพลิเคชั่นที่แย่ก็เป็นเพียงแค่“การจัดการเรียนการสอนแย่ๆ ในรูปแบบดิจิทัล” เท่านั้นเอง

พ่อแม่และหน้าจอ

ไม่ใช่แค่เด็กที่ตกเป็นเหยื่อของ ‘ความเชื่อ’ เกี่ยวกับหน้าจอ พ่อแม่เองก็มักตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์เมื่อใช้เทคโนโลยีภายในพื้นที่ของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นแม่ที่ตอบแชตในโทรศัพท์มือถือขณะอยู่กับลูก พ่อที่ทำงานในโน้ตบุ๊กในวันหยุด ต่างก็ถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพของการเลี้ยงดูลูกและความสัมพันธ์ในครอบครัว

กระนั้นเมื่อพิจารณาดูให้ลึกลงไปก็จะเห็นว่าคนเราตำหนิการใช้สื่อของพ่อแม่โดยไม่ได้อิงตามหลักฐานมากนัก แต่มักตั้งอยู่บนแนวคิดว่าพ่อแม่ควรมีเวลาให้ลูกเสมอ บ่อยครั้งครอบครัวชนชั้นแรงงานก็กลายเป็นแพะรับบาปของความคิดเช่นนี้

ฉะนั้น ก่อนจะไปวิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่ที่ใช้หน้าจอ เราหันมาพิจารณาแง่มุมแวดล้อมต่างๆ กันก่อนดีไหม

หน้าจอเชื่อมโยงผู้คนถึงกันได้ แต่เมื่อตัวอยู่ใกล้กัน หน้าจอกลับยิ่งขยายช่องว่างระหว่างกันด้วยการแย่งความสนใจจากทั้งพ่อแม่และลูกๆ ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวห่างเหิน คนในบ้านไม่สนใจกัน หรือบทสนทนาน้อยลง

เมื่อพ่อแม่ว่อกแว่กเพราะสื่อดิจิทัล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกก็จะแย่ลงทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ซึ่งปฏิสัมพันธ์ที่ว่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเติบโตและพัฒนาการที่ดีของทารกและเด็กเล็ก

อย่างไรก็ตาม บางครั้งพ่อแม่ก็ไม่ได้ใช้สื่อดิจิทัลเมื่ออยู่ในครอบครัวเพราะ ‘ต้องการ’ แต่เป็นเพราะ ‘จำเป็น’ ต่างหาก แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจดึงให้พ่อแม่ออกห่างจากลูก สื่อดิจิทัลในมือพ่อแม่จึงอาจเป็นเงื่อนไขที่พ่อแม่ต้องยอมแลกเพื่อให้ได้ใช้เวลาอยู่เคียงข้างลูกมากขึ้น เมื่อพ่อแม่ต้องทำงาน พวกเขาจึงใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ตัวเองปรากฏตัวในสองสถานที่และรับบทบาทสองอย่างพร้อมกันตลอดเวลาได้

เราจึงควรมองการใช้โทรศัพท์เมื่ออยู่กับลูกๆ เสียใหม่ ถ้าแม่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์ที่สนามเด็กเล่น ก็อาจไม่ได้ไปสนามเด็กเล่นเลย แต่ต้องเข้าไปออฟฟิศเพื่อร่วมบทสนทนายาวเหยียด โทรศัพท์อาจทำให้พ่อแม่ลดการระวังภัยเมื่อลูกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลร้ายอย่างยิ่ง แต่ก็ช่วยเพิ่มโอกาสให้พ่อแม่ได้พาลูกๆ ออกไปนอกบ้านด้วย

พ่อแม่ย่อมอยากอยู่กับลูกอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากพลาดเสียงหัวเราะคิกคักแสนน่ารัก คำถามของเด็กน้อยขี้สงสัย หรือช่วงเวลาแค่พริบตาเดียวที่พวกเขาเติบโต แต่ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ต้องการพื้นที่ในการหลบลี้หนีความอ่อนล้าทั้งทางใจและกายที่เกิดจากการตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่หยุดหย่อนของพวกเขา และถ้าเราไม่สามารถหาพื้นที่ทางกายภาพได้ เราก็แวบมาหาการผ่อนคลายทางอารมณ์ด้วยสื่อดิจิทัลเป็นสิ่งทดแทนเล็กๆ น้อยๆ

บางทีพ่อแม่ก็อาจเหนื่อยหนักกับภาระที่เราต้องแบกรับเป็นชั่วโมงๆ ในแต่ละวัน พวกเขาอยากรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในโลกรอบตัว อยากสื่อสารกับคนอื่น หรือบ่อยครั้งก็จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่สองแห่งในเวลาเดียวกัน ถ้าพ่อแม่มีโทรศัพท์มือถือติดตัวไปที่สนามเด็กเล่นด้วย พวกเขาก็จะสามารถทำเช่นนั้นได้ โดยแลกกับความรู้สึกพะว้าพะวังว่าจะไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่

มาดูแนวทางการเลี้ยงลูกแบบใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้พ่อแม่ได้ใช้เวลาส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้ลูกๆ ได้เติบโตด้วยตัวเองด้วย

ทรัพยากรสำหรับผู้สอนและเลี้ยงดูทารก หรืออาร์ไออี (RIE – Resources for Infant Educarers)

เป็นผลิตผลทางความคิดของแม็กดา เกอร์เบอร์ (Magda Gerber) นักบำบัดเด็กและผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิดเชื้อสายฮังการี หลักคิดของอาร์ไออีคือการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์พัฒนาการเด็กกับอุดมคติแบบตะวันตกร่วมสมัยที่ว่าด้วยปัจเจกนิยม

แนวคิดนี้เน้นให้เลี้ยงลูกโดยให้ความสำคัญกับพวกเขาอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ยังเป็นทารก เข้าหาลูกอย่างอ่อนโยน พูดกับลูกอย่างให้เกียรติด้วยภาษาง่ายๆ เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ให้โอกาสลูกได้โต้ตอบ คุณควรพูดคุย ร้องเพลง และสานสัมพันธ์กับลูกระหว่างเปลี่ยนผ้าอ้อม ให้นม อาบน้ำ และเวลาเข้านอน

สำหรับเวลาที่เหลือ ตราบใดที่ลูกน้อยไม่ได้เรียกร้องความสนใจจากเราอย่างชัดเจน ก็ควรปล่อยให้ลูกออกไปสำรวจในพื้นที่ปิดที่ปลอดภัย ให้หยิบจับของง่ายๆ เช่น กระจกแบบมีด้ามจับ ผ้าเช็ดหน้า พูดง่ายๆ ก็คือปล่อยให้ลูกได้ผ่อนคลายและได้ทำในสิ่งที่เด็กควรทำ

ให้เด็กมีพัฒนาการตามจังหวะของพวกเขาเอง เช่น การให้เด็กนอนคว่ำเยอะๆ การพูดกับเด็กทารก และการบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว วิธีที่ว่ามาได้รับการสนับสนุนโดยหลักวิทยาศาสตร์พัฒนาการที่ดีที่สุด

เมื่อปล่อยให้ลูกน้อยได้มีปฏิสัมพันธ์กับของเล่นในพื้นที่ปลอดภัยแบบเปิดกว้างโดยไม่ถูกขัดจังหวะ และยอมฝืนใจตัวเองไม่เอาของเล่นที่ส่งเสียงหรือปล่อยแสงไฟให้ลูกเล่นเพื่อแลกกับการซื้อเวลาไม่กี่นาทีให้ตัวเอง เมื่อนั้นลูกน้อยจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กวัยเตาะแตะที่รู้จักหาความสุขกับการเล่นลูกบอลยางคนเดียวได้ 45 นาที

หลักการสำคัญของแนวทางอาร์ไออีคือการใส่ใจลูกอย่าง “ให้เกียรติ” เมื่อทำสิ่งต่างๆ ด้วยกันหรือเมื่อลูกแสดงออกว่าต้องการเรา การที่เราให้ความสนใจกับลูกในเวลาที่เหมาะสมก็เท่ากับว่าเราอนุญาตให้ตัวเองและลูกได้มีพื้นที่ไปสนใจสิ่งอื่นๆ ใน เวลาอื่นๆ ด้วย พูดอีกอย่างก็คือ ให้เราเปลี่ยนจากการทำกิจกรรมแบบสลับไปมาและการถูกรบกวนสมาธิเป็นการหันมาใส่ใจอย่างมีสติ

มอนเตสซอรี (Montessori)

มาเรีย มอนเตสซอรี (Maria Montessori) ผู้คิดปรัชญาการเลี้ยงลูกแบบมอนเตสซอรี เขียนไว้ว่า

สภาพแวดล้อมจะเป็นตัวสอนเด็กเอง … โดยไม่ต้องมีการแทรกแซงจากพ่อแม่หรือครูที่ควรจะเป็นผู้สังเกตการณ์ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ

เมื่อผู้ปกครองทำงานบ้าน เช่น กวาดบ้าน ทำอาหาร ก็อาจให้โอกาสลูกน้อยได้ช่วยทำด้วยเครื่องมือขนาดเล็กสำหรับเด็ก หรือปล่อยให้เด็กได้วุ่นกับการเล่นและสำรวจด้วยของเล่นปลายเปิด (open-ended toys) หากเราปล่อยให้เด็กได้ใช้เวลากับตัวเองในปริมาณที่เหมาะสมเด็กวัยเตาะแตะหรือเด็กก่อนวัยเรียนก็จะกลายเป็นเด็กที่สามารถตั้งใจในชั้นเรียนได้มากขึ้น ใช้จินตนาการในการเล่นและอดทนเพื่อนๆ ได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ระหว่างที่คอยดูลูกไปด้วย เราก็จะมีเวลาว่างมากมาย พอจะคุยกับหัวหน้า ส่งข้อความถึงคนรัก ล้างจาน หรือทักหาเพื่อน

แนวทางการใช้โทรศัพท์มือถือเมื่ออยู่กับลูกๆ

ถ้าหากคุณเป็นพ่อแม่ที่ทำงานซึ่งจะได้เจอลูกๆ แค่วันละ 3 ชั่วโมงในวันทำงาน ไม่ได้เป็นผู้ดูแลเด็กเต็มเวลาที่ไม่ยอมปล่อยให้เด็กคลาดสายตาวันละ 14 ชั่วโมง และหากคุณกังวลเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างอยู่กับลูก ลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • อย่าใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถและเวลาไปสระว่ายน้ำ
  • พยายามอย่าชาร์จโทรศัพท์มือถือในห้องนอนตอนกลางคืน
  • ลองปิดหน้าจอโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอนหนึ่งชั่วโมง
  • พยายามอย่าดูโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งแรกในตอนเช้า
  • ลองปิดการแจ้งเตือนของแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของคุณให้เหลือไว้แค่ที่สำคัญที่สุด
  • โหมดห้ามรบกวนของไอโฟนจะอนุญาตให้แค่หมายเลขฉุกเฉินสำคัญเท่านั้นที่จะสามารถติดต่อคุณได้ คุณอาจใช้โหมดนี้ตอนอยู่ในโรงภาพยนตร์
  • ลองลบแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊กหรือแอปพลิเคชั่นที่คุณคิดว่าติดที่สุด
  • กำหนดเขตสำหรับพักมือถือไว้ใกล้ๆ กับประตูบ้าน และเสียบชาร์จโทรศัพท์ไว้ตรงนั้นเมื่อคุณเดินเข้าบ้าน

เรายังสามารถแสดงให้ลูกเห็นว่าเราอยู่กับปัจจุบันขณะด้วยการวางโทรศัพท์ลงระหว่างมื้ออาหาร หรือที่ไหนก็ตามที่ลูกต้องการความสนใจจากเรา

การตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราเองกับการใช้สื่อเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญ และควรตระหนักด้วยว่าการหยุดใช้ในบางครั้งนั้นยากขนาดไหน เข้าใจว่าอะไรทำให้เราเครียดเป็นพิเศษ หรืออะไรที่เปลี่ยนการควบคุมภาวะอารมณ์ของเราเอง ใช่เฟซบุ๊กไหม อีเมลจากที่ทำงานหรือเปล่า ถ้ารู้ตัวว่าการใช้งานเทคโนโลยีประเภทไหนปลุกเร้าเรา ก็ควรเอามันออกไปจากเวลาที่อยู่ร่วมกับครอบครัว

นอกจากนั้น เมื่อหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาต่อหน้าลูก ให้บอกพวกเขาว่าเรากำลังทำอะไร เพื่อแสดงความรับผิดชอบและความโปร่งใส

สรุปข้อปฏิบัติ 10 ประการสำหรับพ่อแม่ ว่าด้วยใช้หน้าจอของลูกๆ

แทนที่จะมองหน้าจอด้วยอคติและปฏิเสธการใช้หน้าจอ โลกยุคใหม่เรียกร้องให้พ่อแม่หันมาทำความเข้าใจและเรียนรู้การใช้หน้าจออย่างสร้างสรรค์ ต่อไปนี้คือแนวทาง 10 ประการสำหรับพ่อแม่เพื่อใช้หน้าจอในครอบครัวอย่างมีสมดุล

  1. ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ล้วนใข้สื่อเอ็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวันกันทั้งสิ้น
  2. การรับสื่อในปริมาณมากเกินไป รวมถึงสื่อที่เปิดทิ้งไว้เฉยๆ มีผลกระทบต่อเด็กทุกช่วงอายุเล็กน้อย แต่ก็มากพอจะวัดได้ ผลกระทบที่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดที่สุดคือโรคอ้วนและปัญหาการนอนหลับไม่สนิท และยังอาจมีความเสี่ยงต่อการใช้งานจนติด ความก้าวร้าว (เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในสื่อที่มีความรุนแรงโดยเฉพาะ) ปัญหาด้านสมาธิ และปัญหาด้านภาวะอารมณ์ เด็กที่รับสื่อตั้งแต่ตอนอายุน้อยกว่าจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีปริมาณการรับสื่อที่ปลอดภัยและเป็นพิษระบุเอาไว้ตายตัว เด็กแต่ละคนแตกต่างกัน
  3. แต่นอกจากข้อเสียแล้ว สื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังสร้างผลเชิงบวกด้วย ทั้งการอ่าน ความพร้อมในการเข้าเรียน การมีสมาธิจดจ่อ และการเรียนรู้ นอกจากนั้นยังช่วยสานสัมพันธ์ภายในครอบครัว เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกที่สร้างสรรค์ และสร้างความสนุกสนานได้
  4. นิสัยของเด็กมักบ่มเพาะในวัยก่อนเรียน เพราะเป็นวัยที่พ่อแม่ควบคุมได้มากที่สุด แต่เมื่อไรก็ไม่สายเกินที่พ่อแม่จะสร้างอิทธิพลเชิงบวก
  5. กฎและทัศนคติที่พ่อแม่มีต่อเทคโนโลยีคือตัวกำหนดว่าลูกจะได้รับผลดีจากสื่อเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหนในช่วงวัยรุ่นและหลังจากนั้น
  6. เวลานอนกับเวลาหน้าจอห้ามปนกัน ห้ามใช้อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ หนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน อย่าเปิดโทรทัศน์ในห้องนอนลูก อย่าใช้หน้าจอในการทำกิจวัตรก่อนเข้านอน และอย่าปล่อยให้มีอุปกรณ์มือถือในห้องนอนตอนกลางคืน
  7. บางครอบครัวต้องการบังคับใช้กฎเวลาการใช้หน้าจอ เวลาคือมาตรวัดที่ชัดเจนและทำความเข้าใจได้ อีกทั้งยังมีวิธีการบังคับใช้กฎต่างๆ ด้วยแอปพลิเคชั่นและการตั้งค่าบนอุปกรณ์ ขอให้จำไว้ว่าหน้าจอไม่ได้มีพิษมีภัยในตัวมันเอง
  8. ถ้าไม่อยากจำกัดเวลาใช้งาน อาจใช้ลำดับความสำคัญและสัญญาณเตือนแทน โดยชักชวนลูกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ให้มากำหนดการจำกัดเวลาและลำดับความสำคัญร่วมกัน

ลำดับความสำคัญ:

  • เด็กๆ จำเป็นต้องเคลื่อนไหวร่างกายทุกวัน
  • พวกเขาต้องรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบ ปลอดสิ่งรบกวนระหว่างรับประทาน
  • อาหาร
  • พวกเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์แบบเจอหน้าค่าตากับเรา ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่ห่วงใยเขา และเพื่อนฝูง
  • พวกเขาอาจต้องการพักจากสิ่งที่ดึงดูดใจให้ทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมๆ กัน มาฝึกให้มีสมาธิจดจ่อกับการทำงานทีละอย่าง
  • พวกเขาต้องนอนหลับให้เหมาะสมต่อช่วงอายุของเขา

สัญญาณเตือนซึ่งบอกว่าเราควรให้ลูกพักใช้หน้าจอสักหนึ่งชั่วโมง หนึ่งวัน หรือหนึ่งสัปดาห์

  • – น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
  • – อาการนอนไม่หลับ
  • – ภาวะสับสนระหว่างเวลานอนกับเวลาตื่น
  • – อาการซุกซนอยู่ไม่นิ่ง
  • – อารมณ์หงุดหงิดขี้รำคาญ
  • – ปัญหาที่โรงเรียน ปัญหาเรื่องเพื่อน
  • – การหมดความสนใจในกิจกรรมโปรด
  • – อารมณ์เหวี่ยงสลับไปมา ภาวะซึมเศร้า และความก้าวร้าว
  1. ใช้สื่อร่วมกับลูกและให้ลูกได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสื่อบ้างนานๆ ครั้ง เช่น ชวนเขาคุยเรื่องการ์ตูนที่ดูด้วยกัน หรือให้ลูกสอนเล่นวิดีโอเกม สานสัมพันธ์กับพ่อแม่คนอื่นๆ หรือญาติพี่น้อง ที่จะคอย“เป็นหูเป็นตา” แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และส่งเสริมนิสัยที่ดีในการใช้โซเชียลมีเดีย โดยที่เราไม่ต้องสอดส่องดูแลลูกๆ ด้วยตัวเองโดยตรง นอกจากนั้น ต้องส่งเสริมให้ลูกใช้ความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออกเมื่อใช้สื่อด้วย สนับสนุนและผลักดันประสบการณ์เรียนรู้ด้วยสื่อของลูก
  2. เฝ้าสังเกตช่วงเวลาปลอดหน้าจอ อย่างเช่นระหว่างมื้ออาหารเย็นของครอบครัว พ่อแม่เองก็ควรจัดการการใช้สื่อของตัวเองด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกๆ เป้าหมายคือการสร้างนิสัยรู้จักรับผิดชอบให้แก่เด็กๆ โดยใช้บรรยากาศแห่งความไว้วางใจและการช่วยเหลือสนับสนุน

ในยุคสมัยที่หน้าจอครอบงำโลกความจริง และโลกความจริงหลั่งไหลเข้าไปในหน้าจอ เราไม่อาจหลีกหนีหรือปฏิเสธการใช้หน้าจอได้ ทางเลือกที่ดีกว่าคือประยุกต์ใช้หลักการอันโด่งดังของนักขียนด้านอาหาร ไมเคิล พอลลัน (Michael Pollan) มาใช้กับหน้าจอ นั่นคือ

“จงสนุกกับการใช้หน้าจอ อย่าใช้มากเกินไป และขอให้ใช้ด้วยกันให้มาก”

 

หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล

Anya Kamenetz เขียน

บุณยนุช ชมแป้น แปล

360 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่